ความเห็นของผมเกี่ยวกับภาพรวมของระบบการศึกษาไทย



          ในการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง “การศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  เมื่อบ่ายวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๕๖  ในห้องย่อยเรื่องเสวนา UNESCO และ OECD : นโยบายการศึกษาไทย เรื่องภาพรวมระบบการศึกษาไทย (Overall Assessment of Education Systems)  ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นำเสนอโครงสร้างของการศึกษาไทย รวมทั้งสถิติทางการศึกษา  แล้วนักการศึกษาของ UNESCO และ OECD ชี้จุดแข็งของระบบการศึกษาไทย  และตั้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลหรือให้ความเห็น 

          มีคนให้ความเห็นหลากหลายเรื่อง  ผมได้ให้ความเห็นในประเด็นสำคัญ ๔เรื่อง คือ  (๑) inequity ที่พบบ่อยที่สุดในระบบการศึกษาไทย  (๒) ระบบการศึกษาไทยไม่เป็น Learning Systems  (๓) ผลของการกระจายอำนาจต่อห้องเรียน  (๔) ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบแห่งศตวรรษที่ ๒๐  คือเป็นระบบเพื่อการถ่ายทอดความรู้  ไม่ใช่เพื่อ active learning ให้เด็กได้ทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้

          จากข้อมูลผลการทดสอบ PISA ที่มีการนำเสนอตอนเช้า ว่าความแตกต่างในผลการทดสอบระหว่างโรงเรียน น้อยกว่าความแตกต่างของผลการทดสอบในนักเรียนห้องเรียนเดียวกัน  แสดงว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ของนักเรียนห้องเดียวกันต่างกันมาก  สะท้อน inequity ระดับสูงในห้องเรียน  ผมขออธิบายว่า เป็นเพราะครูไทยเอาใจใส่เด็กเรียนเก่งหรือหัวไว ทอดทิ้งเด็กหัวช้า  จึงเกิด inequity ระหว่างเด็กหัวไวกับเด็กหัวช้า

          ผมจึงให้ความเห็นว่า ในระบบการศึกษาไทย inequity สูงที่สุดอยู่ในห้องเรียนนั่นเอง  เป็น inequity ของการที่จะบรรลุผลการเรียนแบบ mastery learning  ที่มีสาเหตุจากการที่ครู (และวงการศึกษาไทยทั้งหมด) เอาใจใส่เด็กหัวไว ทอดทิ้งเด็กหัวช้า

          ผมให้ความเห็นว่า ระบบการศึกษาไทยไม่เป็น Learning Systems เห็นได้จาก ระบบไม่มีความสามารถ ในการปรับตัวให้ดีขึ้น  ไม่มีกลไกสร้างข้อมูลหลักฐาน เพื่อการปรับตัว  ซึ่งก็คือกลไกวิจัยระบบการศึกษา ไม่มี ESRI (Education Systems Research Institute) แบบที่ทางระบบสุขภาพมี HSRI (Health Systems Research Institute)  มีการเสนอและผลักดันให้ตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษา เป็นระยะๆ ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา  แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

          ในประเด็นนี้ นักวิจัยจาก OECD บอกว่า ทางแคนาดา ก็บอกว่า งบประมาณวิจัยระบบสุขภาพของเขา คิดเป็น ๑๕ เท่าของงบวิจัยทางระบบการศึกษา

          ในประเด็นการกระจายอำนาจทางการศึกษา ผมเสนอให้ทีมวิจัยตรวจสอบสิ่งที่อยู่ในกระดาษ กับสิ่งที่ปฏิบัติจริง  ซึ่งผมคิดว่าไม่ตรงกัน  ผมมีความเห็นว่า มองจากมุมที่ห้องเรียน การเรียนรู้ในห้องเรียนไม่ได้รับการกระจายอำนาจ หรือให้อิสระเพิ่มขึ้นเลย  การสั่งการจากส่วนกลางยังมาก หรืออาจยิ่งมากขึ้น เพราะเพิ่มการสั่งการจากเขตพื้นที่เข้ามาอีก  ครูต้องทำเอกสารส่งส่วนกลางมากเกินไป  จนมีเวลาเอาใจใส่ศิษย์น้อย 

          ผมมีความเห็นว่า การกระจายอำนาจต้องประเมินที่ห้องเรียน  หากมีการกระจายอำนาจจริง ครูต้องได้รับอิสระจากงานที่ไม่จำเป็น เพื่อเอาใจใส่ศิษย์เพิ่มขึ้น

          ประเด็นที่สี่ เกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยในภาพรวม คือมันยังเป็นระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐  ที่เน้นสอนวิชา เน้นให้นักเรียนเรียนและรู้เหมือนๆ กัน  ไม่เป็นระบบที่ฝึกความแตกต่างให้แก่เด็ก  ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี ว่ามันเป็นของศตวรรษที่ ๒๐ ทั้งการผลิตครู  การพัฒนาครู  การให้คุณให้โทษครู  บทบาทของผู้บริหาร ฯลฯ  พูดง่ายๆ ว่าล้าหลังทั้งระบบ

          ที่จริงผมมีประเด็นจะให้ความเห็นอีกมาก แต่เกรงใจผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ  เพราะเขาก็อยากออกความเห็นเหมือนกัน  จึงนำความเห็นที่ยังไม่ได้พูดมาลงบันทึกไว้

          ประเด็นที่ห้า วงการศึกษาไทยหลงเน้น teach to test  สอนเพื่อสอบ  เมื่อตอนเช้าก็ยังมีวิทยากรตั้งเป้ายกระดับผลการทดสอบ PISA เป็นอันดับที่ ๒๐  เป็นตัวอย่างของกระบวนทัศน์ที่ผิด คือเน้นสอนเพื่อสอบ  นำไปสู่การเรียนรู้ที่ให้น้ำหนักพัฒาการของเด็กเพียงด้านเดียว คือ intellectual development  ในขณะที่การศึกษาที่ดี เด็กต้องพัฒนาครบทุกด้าน ทั้ง ๕ ด้าน คือ emotional, social, physical และ spiritual

          ประเด็นที่หก  การไม่ร่วมมือ ไม่ประสานงานกันระหว่างหน่วยงานใหญ่ ๕ หน่วยภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ  การประชุมในวันนี้มันฟ้อง  ไม่มี ซีอีโอ ในอีก ๔ หน่วยงานมาร่วมงานเลย 

          ประเด็นที่เจ็ด ยังไม่มีคนย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่จะมีผลต่อระบบการศึกษาอย่างมาก  และจริงๆ แล้ว เราได้เห็นผลอยู่ตำตา ที่การมีโรงเรียนขนาดเล็กถึง ๑๔,๐๐๐ โรงเรียน

          ประเด็นที่แปด เวลานี้ในประเทศไทย โรงเรียนราษฎร์มีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนของรัฐบาล  เพราะโรงเรียนราษฎร์เขามีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลง  กลายเป็นโรงเรียนกระแสทางเลือก และเป็นตัวอย่างแก่ครูในโรงเรียนของรัฐที่ต้องการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนของตน


วิจารณ์ พานิช

๒๓ มิ.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 544073เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะที่มีกระบอกเสียงแทนคนเล็ก ๆ ใช่เลยค่ะทุกวันนี้มีเอกสารมากมายที่ครูต้องทำ ครูไม่ได้มีแค่งานสอนเพียงอย่างเดียว มีงานพัสดุ  งานการเงิน และอีกจิปาถะ  แต่นั่นก็งาน งานสอนก็ไม่ได้ละ  ทุก ๆ อย่างสำคัญทั้งสิ้น

 

อยากให้ท่านอาจารย์เขียนลงสื่งที่จะสะท้อนเข้าหูของผู้บริหารการศึกษาทุกระดับค่ะ เช่น นสพ.ใหญ่ ๆทุกฉบับ นาน ๆจะมีคนพูดได้อย่างอาจารย์สักคน พูดสั้น แต่คมชัดทุกประเด็น  

อันที่จริงแนวคิดทฤษฏีทางการศึกษาที่เน้น Active learning เน้น  whole child หรือพํฒนาเด็กทั้งกาย สมอง อารมณ์ สังคม

แนวคิด Child-centered เป็นต้น มีมานานและถูกนำมาใช้แพร่หลายมากใน สหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 นักวิขาการไทย และ ศธ. ก็รับมาใช้ซึ่งยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติหรืออาจจะกล่าวได้ว่าล้มเหลว หลายคนคงจำได้ว่านักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมคนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์การจัดการศึกษาแบบ child center ว่าเป็น ควาย เซ็นเตอร์ นัยว่าครูทุกวิชาพากันมอบหมายงานและกิจกรรมให้เด็กจนรับไม่ไหว มากมาย และโกลาหลกันไปหมด  แนวคิดเหล่านี้ยังอยู่มาถึงศตวรรษที่ 21 สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดคือการใช้  ICT ในการเรียนการสอน การจัดการศึกษา 

ในศตวรรษที่ 20 insructional model ที่โด่งดังมากในวงการศึกษา คือ Mastery Learning  ของ ฺำ Benjamin S. Bloom ซึ่งสาระสำคัญของ  model นี้คือ เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ (มีผลสัมฤทธิ์) สูงเหมือนกันหมดถ้าให้เวลาเท่าที่เขาจำเป็นต้องได้รับ หรือมากเท่าที่เขาต้องการ  ตัวแปรที่สำคัญคือ  เวลา (time on task)  เป็นรูปแบบที่ไม่ทิ้งใครในห้องให้ล้มเหลว สร้าง equity in education ทางหนึ่ง 

ถ้าเป้าหมายของการเรียนการสอน คือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อ---- ได้  เด็กบางคนอาจใช้เวลา 1 ชั่วโมง บางคนต้องใช้เวลามากกว่านั้นแล้วทำได้ ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายเหมือนกัน ได้เกรดเดียวกัน

แต่การจัดการศึกษาบ้านเราไม่คำนึงถึงทฤษฏีำีหรือตัวแปรใด ๆ ทั้งสิ้น เอาความสะดวกในการบริหาร จัดตารางสอนอัดแน่นเพื่อให้มีเวลาว่างสำหรับอาจารย์ไปทำอย่างอื่น จัดเรียน 3 ชั่วโมงรวดทั้ง ๆ ที่เป็นวิชายากและนักเรียนอ่อน เร่งรัดให้ส่งเกรดจนต้องออกข้อสอบแบบเลือกตอบ ฯลฯ  วันหยุดมากมาย 

ผมอยากให้ดอกไม้สำหรับความเห็นของ อ.ทะเลงาม ด้วยจังเลยครับ ความเห็นอาจารย์เปิดมุมมองให้ผมได้มากทีเดียวครับ

ขอบคุณค่ะ ดร. ธวัชชัย อาจารย์เองก็เขียนดีมาก น่าจะเขียนหนังสือขายเล่มเล็ก ๆ เรื่องการสอนภาษาอังกฤษก็ได้

เห็นด้วยอย่างมากกก กับเรื่อง"เสนอให้ทีมวิจัยตรวจสอบสิ่งที่อยู่ในกระดาษ กับสิ่งที่ปฏิบัติจริง  "ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท