หลัก 8 ข้อในการฟันธงพระเนื้อผงปูนเปลือกหอย


ผมจึงขอแจงหลักทั้ง 8 ข้อ ที่ยังอ้างอิงหลัก 3+2 ไว้ก่อน แต่ต่อจากนี้ไปผมจะขอเปลี่ยนเป็นหลัก 3+5 แทน

เพื่อเป็นการขยายความและสรุปประเด็นของการจำแนกฟันธง เก๊-แท้ พระเนื้อผงปูนเปลือกหอย

ตามหลักการที่ผมคิดขึ้นมาเดิมคือ 3+2

แต่ผมมาเพิ่มอีก 3 ข้อ เป็น 3+2+3 หรือ 3+5 ให้แตกต่างจากความรู้ของท่านผู้รู้อื่นๆ

เพื่อแสดงว่า หลักที่ผมใช้นี้พัฒนามาจากหลักวิทยาศาสตร์ ที่แตกต่างจากหลักของความเชื่อ ตามคำเขาว่าพอสมควรทีเดียว

ผมจึงขอแจงหลักทั้ง 8 ข้อ ที่ยังอ้างอิงหลัก 3+2 ไว้ก่อน แต่ต่อจากนี้ไปผมจะขอเปลี่ยนเป็นหลัก 3+5 แทน ดังนี้

หลักข้อที่ 1 ของ 3+2 คือ ผิวพื้นและรอยปริแยกขาวนวล
ที่ดูได้ง่ายที่สุด ในจำนวน 3 ข้อแรก

ในพระเก๊ตาเปล่า จะมันเรียบ ถ้ามีรอยปริ อาจจะมีสีดำๆ มันๆ ของเนื้อพลาสติก
ในพระฝีมือธรรมดา จะมีคราบแป้งโรยที่ผิว หรือทา "ขาววอก" เกินกว่าธรรมดา
ในพระฝีมือจัด จะมีร่องรอยการแต่งผิวในร่องด้วยน้ำแป้ง และมักมีคราบน้ำแป้ง
และ/หรือ การแต่งสีให้ดูขาวนวล จึงอาจจะมีผงแป้งเกินกองเป็นที่ๆ ไม่เป็นระบบ หรือผิวในซอกเลื่อมมันผิดปกติ ที่ขัดแย้งกับหลักการเคลื่อนที่และการตกตะกอนของน้ำปูนสุก

หลักข้อที่ 2 ของ 3+2 คือ เนื้อปูนดิบงอก เป็นผลืกหินอ่อน

มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ใสๆ
กระจายตัวไม่สม่ำเสมอ อยู่เป็นกระจุกๆ ตามเส้นทางการไหลของน้ำ
ถ้าทับซ้อนมากจะเป็นก้อนบนผิวเดิม บนสันนูนเดิมของทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ทำให้เกิดผิวเหี่ยว แกร่ง แข็งดั่งหินปูน
ถ้าใช้เข็มโลหะลูบผิวปูนที่เซทตัวดีแล้ว เนื้อโลหะจะหลุดติดอยู่เนื้อพระ

พระเก๊ตาเปล่า จะเป็นผิวเรียบๆมันๆธรรมดา
พระฝีมือธรรมดา จะใช้เม็ดพลาสติกพ่น เห็นเป็นเม็ดใสๆ กระจายตัวอยู่ทั่วไป ไม่เป็นกระจุก หรือใช้พลาสติกโปะเป็นก้อนๆ
พระฝีมือจัดจะทำเป็นก้อนๆ ริ้วๆ คล้ายผิวเหี่ยว และทำให้ผิวเป็นเม็ด แต่งผิวเหลืองๆ

การแบ่งแยกก็ดูลักษณะของการงอกอย่างเป็นระบบ และทดสอบความแข็ง
การทดสอบความแข็งให้ระวังกาวเหล็ก ที่จะแข็งมากพอๆกับเนื้อปูนหินอ่อน แต่จะอยู่ไม่เป็นระบบ

จึงควรทดสอบความแข็งเป็นปัจจัยสุดท้ายเท่านั้น

หลักข้อที่ 3 ของ 3+2 คือ คราบตั้งอิ้ว รอบเม็ดหรือก้อนปูนดิบ
จะลอยขึ้นมาอย่างเป็นระบบสอดรับกับการงอกของปูนดิบ ตามรอยปริ และรูน้ำตา
มากน้อย ตามความแก่ตั้งอิ้วและสภาพการใช้ (ใช้มากเกิดมาก)

พระเก๊ตาเปล่า จะไม่มีคราบตั้งอิ้ว อย่างมากก็ทาสีเหลืองเลอะๆบนผิว
พระฝีมือ จะแต่งสีเป็นเส้นๆ แต่ไม่สอดคล้องกับรอยปริ รูน้ำตา
พระฝีมือจัด จะแต่งสีเกือบเป็นระบบ แต่อาจจะเลอะมาถึงยอดก้อนปูนดิบ และคราบปูนสุก
ประเภทเหลืองอ๋อย เลอะเทอะมาเลยนั้น มักจะเก๊ครับ
(ถ้าแท้ก็น่าจะใช้งานมามาก ที่ควรมีร่องรอยการใช้มากพอสมควร จึงจะสอดรับกัน)

หลักข้อที่ 4 ของ 3+2 คือ ความเหี่ยวของผิวปูนเปลือกหอย

ที่เกิดจากการงอกทับซ้อนของปูนดิบ อย่างเป็นระบบ บนสัน และตามเส้นทางการไหลของน้ำ
จะเกิดกับพระผงปูนเปลือกหอยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป ก็จะเริ่มเหี่ยว
ความเหี่ยวจัดๆ จะเกิดหลังจาก 80 ปีขึ้นไป
จึงสามารถจำแนกอายุของพระเนื้อผงได้จาก "ระดับของความเหี่ยว"

พระเก๊ตาเปล่า จะไม่เหี่ยว อย่างมากที่สุดก็ทำเป็นคลื่นหยาบๆ
พระฝีมือจะมีการบิด แต่งโปะ หรืออบผิว ให้ดูปริแยก ที่ก็ยังไม่เหี่ยว
พระฝีมือจัด จะมีการโปะแต่งผิวให้ดูเหี่ยว แบบแต่งหน้าสาวๆ ให้ดูเป็นคุณยาย ในละครทีวี

ความเหี่ยวของพระเนื้อปูนจึงแยกแยะง่ายๆ และกำหนดอายุพระเนื้อผงได้อีกด้วย

หลักข้อที่ 5 ของ 3+2 คือ ความพรุนของเนื้อพระเนื้อผงปูนเปลือกหอย

ที่จะเกิดกับพระที่มีอายุมากๆเท่านั้น
โดยเฉพาะพระที่มีอายุกว่า 100 ปีขึ้นไป

เพราะ

"การพรุน" ก็คือ การละลายตัวของเนื้อปูนในกระบวนการงอกของปูนสุกและปูนดิบ
ที่จะเห็นได้ชัดหลังจากการงอกมานาน จนเกิดรูพรุนที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
และจะพบเนื้องอกกองหรือเกาะตามปากรูพรุนนั้นเสมอ 
ปากรูก็มักจะมีขอบมนจากการงอกของปูนมาเกาะตามขอบ

พระเก๊ตาเปล่า มักจะไม่มีรูพรุน อย่างมากก็ใช้วัสดุปลายแหลมกดทำเป็นหลุมๆบนผิวด้านหลัง
พระฝีมือธรรมดา จะมีการโปะเนื้อตามรูที่ทำขึ้นแบบหยาบๆ
พระฝีมือจัด จะมีการแต่งผิวและแต่งคราบตามรูที่ทำไว้ หรือมีการฝังสนิมตะกั่วหมักให้งอกออกมานวลๆ ที่ผิดหลักการงอกของปูนดิบและตั้งอิ้ว จะออกไปคล้ายๆปูนสุกมากกว่า

แต่รูพรุนพระเก๊ก็จะมีรูพรุนไม่มาก และไม่เนียนนุ่มตา สังเกตไม่ยากครับ

หลักข้อที่ 6 ของการดูเนื้อพระเนื้อผง คือ ความแกร่ง

พระเนื้อปูน จะต้องแข็งเหมือนหินอ่อนหินปูน ที่แข็งกว่าโลหะหลายๆชนิด
โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นปูนดิบ และเซทตัวดีแล้ว

ใช้เข็มหมุดลูบเบาๆ เนื้อโลหะจะไปติดกับเนื้อปูนแบบเดียวกับการเอามีดไปลูบหินอ่อนสากๆ

พระเก๊ส่วนใหญ่จะใช้พลาสติกอ่อน จะเกิดรอยในเนื้อพระ
บางองค์ใช้เรซินแข็งอัดผสมปูน ที่แข็งพอๆกับเนื้อปูน แต่ลักษณะอื่นก็ไม่ผ่านอยู่แล้ว ไม่น่าเป็นห่วงมาก
ยึดหลัก 3+2 ให้แน่น แล้วจะไม่พลาดครับ

หลักข้อที 7 ของการดูเนื้อพระเนื้อผง คือ ความกร่อน และสภาพการใช้

พระเนื้อผงอายุร้อยกว่าปี จะต้องผ่านสภาพการใช้มาอย่างหนึ่งอย่างใดแน่นอน
แม้พระที่เก็บไว้เฉยๆ ก็ถือว่าเป็นการใช้อีกแบบหนึ่ง
ที่จะมีการพัฒนาการของเนื้อ แบบธรรมชาติของปูน
พระที่ใช้แล้วเก็บ เก็บแล้วใช้ ก็จะมีลักษณะผิวไปอีกแบบ

ที่จะต้องเข้าใจว่าพระส่วนใหญ่ในอดีต จะมีการลงรักรักษาเนื้อพระ เพราะมักไม่มีตลับ หรือกรอบพระเหมือนสมัยนี้
การใช้ก็อาจจะเป็นการห่อผ้า พกติดตัว ที่จะทำให้เกิดการขัดสีกับผ้า
การงอกของเนื้อปูนก็จะทำให้รักร่อนหลุดได้อีก

ในระยะหลังมีความนิยมล้างรักออก ให้เห็นเนื้อและพิมพ์พระ ก็เป็นอีกยุคหนึ่งของการดูแลพระเนื้อผง

ดังนั้นสภาพการใช้ต่างๆ ก็จะทำให้เกิดความกร่อนในส่วนที่สัมผัส

เช่น ส่วนนูน ขอบ แร่ดอกมะขาม เม็ดทราย เปลือกหอยที่ยังเป็นชิ้น ฯลฯ

ส่วนที่กร่อนแบบนี้จะต้องเป็นกร่อนเก่าเท่านั้น เพราะยุคใหม่แทบไม่มีการใช้แบบนี้แล้ว

ดังนั้นทุกรอยกร่อนจึงจะต้องมีเนื้อปูนดิบและตั้งอิ้วงอกทับซ้อนบนรอยกร่อนนั้น
ถ้าไม่มีก็น่าจะเก๊แกล้งกร่อนใหม่ๆ

การประเมินจากการกร่อนและสภาพใช้นี้สามารถมองได้จากระยะไกลโดยไม่ต้องหยิบพระ แต่ถ้าจะหยิบก็ส่องดูเนื้อปูนดิบงอก ถ้ามี ก็ถือว่าน่าจะดีเลยละครับ

หลักข้อที่ 8 ของการดูเนื้อพระเนื้อผง คือ การอ่านเนื้อ
ที่ต้องสอดคล้องกับอายุ และสภาพการใช้

ที่จะต้องประเมินย้อนไปถึงส่วนประกอบของพระเนื้อผงปูน ว่า
ปูนดิบ ปูนสุก ตั้งอิ้ว ความหยาบ ความชื้นขณะกดพิมพ์ ความหนา แรงที่ใช้กด การตากแห้ง การลงรัก และการใช้ที่ผ่านมา อย่างสอดคล้องกัน

กล่าวคือ ถ้าพระอยู่ในสภาพไม่ใช้นานๆ การงอกของปูนสุกปูนดิบจะเกิดได้ดี
ถ้าใช้ การงอกของตั้งอิ้วจะเกิดได้ดี
การแก่ปูนดิบ พระจะมีเนื้อแกร่ง ปริรานที่ผิวมาก
การแก่ปูนสุกมากพระจะดูเนื้อนุ่ม
การเกิดและการกระจายของตั้งอิ้วจะเกิดตามความแก่ขององค์ประกอบ ความพรุน และสภาพการใช้
ความชิ้นในขณะกดพิมพ์ ทำให้เนื้อแน่นหลวมต่างกัน ที่ทำให้พัฒนาการของผิวไปคนละแบบ
ความหนาทำให้การงอกของผิวเกิดได้ดีกว่าพระเนื้อบาง
การลงรัก ล้างรัก ก็จะทำให้พัฒนาการของผิวต่างกันออกไปอีก

การอ่านแบบนี้จะทำให้เข้าใจกระบวนการสร้างและการใช้พระสมเด็จที่ผ่านมา
เมื่ออ่านแล้วไม่สะดุด ไม่มีข้อสงสัย ก็ตีได้ว่าน่าจะแท้ครับ

ก็ประมาณนี้ครับ ต่อไปก็เป็นการอ่านพิมพ์ว่า วัดไหน พิมพ์อะไร ตำหนิถูกต้องไหม ที่ตำราในตลาดมีมากพอสมควร ผมอาจจะไม่จำเป็นต้องเขียนก็น่าจะได้ครับ

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องนำหลัก พิมพ์และตำหนิมาประกอบอีก 2 ข้อ จึงจะเป็น 3+5+2

ที่อาจเรียกว่าเป็น "บัญญัติ 10 ประการ" จากผม ในการดูพระเนื้อผงปูนเปลือกหอย

แต่เพื่อความสะดวก ผมจะขอใช้ สัญญลักษณ์ 3+5+2 เป็นการสื่อความหมายนะครับ

เพื่อเป็นหลักการที่แตกต่างจากท่านอื่น และชี้ชัดว่า ผมให้ความสำคัญกับเนื้อมากกว่าพิมพ์และตำหนิครับ

หมายเลขบันทึก: 543663เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
นายฤทธิกร ชอบทำทาน

 

ตื่อมาเช้าวันเสาร์เห็นเมลล์จากอาจารย์คงเป็นความโชคดีวันนี้ไม่ใด้ไปส่งลูกสาวไปโรงเรียนพอมีเวลานั่งอ่านคิดถึงอาจารย์อยู่ไม่น้อยแต่ช่วงนี้ไม่ค่อยจะว่างงานเข้ามาไม่ขาด นี่ขนาดศึกษาเรื่องสมเด็จงานยังมากขนาดนี้ถ้าใด้ครอบครองสมเด็จงานจะมากขนาดใหนอิอิอิอิอิอิอิ ขอบคุณครับ

ไม่จริงมั้ง ลองคิดดูใหม่ อิอิอิอิอิอิ

ขอบพระคุณครับ เสียดายน่าจะมีรูปประกอบนะครับ สมาชิกใหม่

รูปมีในบันทึกอื่นๆ และในเฟสบุค

บันทึกนี้เป็นแค่บทสรุป

อย่าทำเป็นคนโบราณครับ เนตกว้างไกลทุกมิติ การพูดอ้างลอยๆเล่นๆอย่างนี้หมดสมัยแล้วครับ

ของแท้มีอยู่ทั่วไป รอให้คนมีความรู้ไปหยิบครับ

ช่วงนี้ไม่ค่อยว่างก็เลยไม่ได้เข้ามาดู ขออนุญาตแสดงความเห็นเพิ่มเติมในหลักการข้อที่ 5 เรื่องรูพรุนเพราะถ้าเป็นสมเด็จแล้วสิ่งหนึ่งที่สร้างรูพรุนในองค์พระก็คือสารอินทรีย์ที่เป็นมวลสารที่ผสมลงในการสร้างพระของท่านเช่นกล้วยสุก ข้าวสุก เกสรดอกไม้ สำหรับส่วนของพิมพ์ทรงนั้น ส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับหนังสือหรือตำราของค่ายไหนจะยึดหรือตีปี๊ปได้ดังกว่ากัน ในอดีตอาจารย์ที่สอนผมก็ให้เน้นที่เนื้อหาและมวลสารเป็นหลักเพราะพิมพ์ทรงเกิดจากคนไปชี้ว่าใช่หรือไม่ใช่ แม้แต่ตำราโบราณของท่านตรียัมปวาย ผมก็เคยได้ยินคนพูดว่าใช้ไม่ได้ ต้องของสำนักนี้หรือเซียนคนนี้ ฟังๆดูแล้วก็นึกขำ เพราะผู้พูดไม่ได้มีภูมิความรู้หรือวิจารณญาณเสียเท่าไหร่เลย ถ้าจะหาพระตามรูปที่ลงในหนังสือนั้น ก็ต้ององค์นั้นแหละครับ ถ้าเจออีกองค์ที่เหมือนกัน ก็สงสัยว่าเก๊แน่ๆ พระเนื้อผงที่สร้างแบบโบราณจะมีเนื้อหาและพิมพ์ทรงแตกต่างกันบ้าง ไม่เป็นหลักตายตัวหรอกครับ การพิจารณาก็ดูภาพรวมและยึดหลักการดูของแต่ละสำนักแบบคร่าวๆ เมื่อประมวลผลแล้วถ้าโอกาศเกิน95 %ก็ถือว่าน่าจะแท้ครับ เซียนใหญ่กับเซียนใหญ่ยังงัดข้อกันบ่อยๆไป สำหรับท่านที่อยากให้มีรูปประกอบก็คงต้องรอท่านอาจารย์พิมพ์ตำราขึ้นมาขายครับ แต่ท่านจะพิมพ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับท่าน และพิมพ์มาแล้วท่านจะซื้อหรือไม่ก็ขึ้นกับท่านเหมือนกัน ผมเห็นบางคนตำรากองเป็นตั้ง ก็ยังมานั่งถามผมเหมือนเดิม บางครั้งอยากจะถามว่าใจคอจะไม่คิดฝึกฝนตนเองเลยเหรอ อยากได้ของดี ตังน้อยก็ต้องใช้ความสามารถครับ วงการนี้ขี้เกียจไม่ได้ครับ เผลอเป็นโดน อย่ารอคอยวาสนาแต่ต้องฝึกฝนตนเองแล้วท่านจะเห็นว่าพระแท้มีทั่วไปครับ ........โชคดีมีพระแท้ทุกคน..สวัสดี 

ขอขอบคุณครับ...อาจารย์ และทุกท่าน ได้ความรู้เยอะเลย...

อ่านแล้วประทับใจมากครับ ขอบคุณมากๆๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท