คำตรัสขัดกัน?? ชีวิตคือทุกข์ การแบกขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระ แต่ทำไมพระพุทธองค์ ตรัสสอนว่า หากปรารถนาอายุยืน ให้ปฏิบัติหลักอิทธิบาท ๔


หลายวันก่อน ผู้ศึกษาพุทธศาสนาท่านหนึ่งถามดิฉันว่า ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ การต้องแบกขันธ์ก็เป็นทุกข์ แล้วทำไมท่านจึงตรัสว่า หากอยากจะมีอายุยืนให้ปฏิบัติหลักอิทธิบาท ๔ การที่ตรัสอย่างนี้

คำตรัสไม่ขัดกันเองหรือ??

เรียนท่านไปตามความเข้าใจในขณะนี้ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่าพระธรรมนั้น อันที่จริง พระธรรม มีความหมายมากกว่าความหมายว่า "คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า" มากมายนัก

เพราะธรรมมีความหมายถึง “ทุกสิ่ง” หรือ "ทั้งปวง" ซึ่งพอจะแยกได้ว่าหมายถึง

ตัวธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติทั้งหมด อันมีทั้งฝ่ายนามและรูป ฝ่ายรูปก็คือ ดินฟ้าอากาศ ร่างกาย สิ่งที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติทั้งหมด ฝ่ายนามก็คือ ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ เป็นต้น เรียกว่า สภาวธัมม์

กฎของธรรมชาติทั้งหมด เช่น ทุกขลักษณะ  ทุกสรรพสิ่งทั้งที่เราจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ทุกขลักษณะนี้ เช่น ก้อนหิน อาคาร ร่างกายของเรา หรือแม้แต่ความสุข ก็จัดเป็นทุกข์ด้วย เพราะไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดเวลา เป็นต้น เรียกว่า สัจจธัมม์

การปฏิบัติตนของมนุษย์ตามกฎธรรมชาติ เช่น การแสวงหาอาหาร การหลบหลีกอันตราย การขวนขวายดับทุกข์ เรียกว่า ปฏิปัตติธัมม์

ผลที่ได้รับจากการทำการปฏิบัติ เช่น เมื่อเมื่อทำงานสำเร็จ ก็ได้ปีติที่เกิดจากความพยายาม ได้รับผลตอบแทนตามที่สมมุติรับรู้ร่วมกัน ปฏิบัติตามธรรม ก็ได้มีมรรค ผล นิพพาน  เรียกว่า วิปากธัมม์

เราคงต้องพิจารณาดูว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น หมายถึงธรรมในแง่ไหน

ความต้องการมีอายุยืนยาวเป็นเรื่องของสภาวธรรม

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นกฎของธรรมชาติ

อิทธิบาท ๔ เป็นการที่มนุษย์ปฏิบัติตนตามกฎธรรมชาติ

ส่วน อายุยืน เป็นผลของการปฏิบัติตามกฎ

ซึ่งเมื่อท่านปรารถนาจะมีอายุยืนยาว พระพุทธเจ้าก็ได้ให้วิธีปฏิบัติคืออิทธิบาท ๔ ไว้ เพราะเมื่อเรามีความปรารถนาจะทำอะไรสักอย่าง (ฉันทะ) ก็คือชีวิตมีจุดหมาย เมื่อมีจุดมุ่งหมาย มีใจใฝ่รักที่จะทำให้ได้ผลดียิ่งๆขึ้นไป เมื่อได้ลงมือทำอย่างเข้มแข็ง มีความเพียร ไม่ท้อถอย (วิริยะ) มีการตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำด้วยความคิด จิตจดจ่อ ไม่ฟุ้งซ่านไปในทางอื่น (จิตตะ) และมีการไตร่ตรอง ใช้ปัญญาตรวจตราหาเหตุผลเพื่อวางแผน คิดหาวิธีการทำงาน การประเมินผล การปรับปรุงแก้ไข (วิมังสา) ก็จะรู้สึกว่าตนมีคุณค่า

ความที่ "ธรรม "ก็คือ "ทั้งปวง" (สภาวธรรม,สัจจธรรม,ปฏิบัติธรรม และ วิปากธรรม) สำหรับพระธรรมที่หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น โดยอรรถแยกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ธรรมที่เป็นส่วนเหตุ (เช่น ทศบารมีเป็นเหตุ) ธรรมที่เป็นส่วนผล (เพราะบำเพ็ญทศบารมีเป็นเหตุ จึงมีอนุตตรวิมุตติเป็นผล) และ อมตธรรม ซึ่งหากสังเกตุดูก็จะพบว่าพระธรรมทั้งหมดก็คือ "ทั้งปวง" นั่นเอง

ใครปฏิบัติอย่างไร ก็ได้ผลตามการปฏิบัตินั้นๆ

เมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม* คือมีการหาเหตุที่จะทำให้สำเร็จ ลดเหตุที่จะทำให้เสื่อมถอย ทั้งในแง่ของวิธีการทำงานเอง การดูแลตน (เช่น ดูแลสุขภาพตน) รักษาตน (สำรวมในด้านต่างๆ) ดูแล และรักษาผู้อื่น รักษากาย วาจาให้เรียบร้อย เพื่อลดโอกาสเกิดความขัดแย้ง เพียรประกอบการงานดี สุจริต เพียรในสิ่งที่ดี จึงทำให้วิถีชีวิตเป็นไปอย่างปกติ  เมื่อวิถีชีวิตเป็นปกติ (ศีล) มีจิตตั้งมั่น ระลึกชอบ (สมาธิ) หมั่นพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ มีทัศนคติต่อโลก ต่อสิ่งที่ทำอย่างถููกต้อง (ปัญญา) ก็ทำให้ได้เสพปีติเป็นระยะๆ ก็เท่ากับได้ให้อาหารแก่จิตอยู่เสมอ

รูปกายมีอาหารคือคำข้าวเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ส่วนจิตมีธรรมปีติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อทั้งกายและใจได้รับอาหาร ได้รับการบริหาร ได้ปีติ สุข อยู่เรื่อยๆ จะไม่ให้มีอายุยืนได้อย่างไร

ตอบท่านไปอย่างนี้ ท่านก็หายสงสัย

เพราะอันที่จริงท่านลืมไปเองค่ะว่าท่านเองก็เคยปรารภ ว่าอยากมีชีวิตยืนๆ เพื่อศึกษาพุทธศาสนาไปยาวๆ....... เหมือนกัน

...................................

*ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึง ปฏิบัติข้อปฏิบัติเบื้องต้น พร้อมทั้ง ศีลเพื่อบรรลุโลกุตตรธรรม
๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑”

อง.ปญจก. (แปล)๒๒/๑๔๓/๒๓๙

“หากภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดเพื่อดับชราและมรณะ ควรเรียกได้ว่า“ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

สิ.นิ.(แปล)๑๖/๑๖/๒๕

“ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงการปฏิบัติหลักเบื้องต้นมี ศีลเป็นต้น ให้สอดคล้องกับโลกุตตรธรรม

ปฏิบัติชอบ หมายถึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั่นเอง

ปฏิบัติตามธรรม หมายถึงการประพฤติหลักเบื้องต้นให้สมบูรณ์”

หมายเลขบันทึก: 539886เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

"ถ่องแท้..มาก..เจ้าค่ะ..."...โมทนาสาธุ..กับ..ทุกรูป..ที่..ถึง..โลกุตตรธรรม..เจ้าค่ะ..(ยายธี)

ขอบคุณ คุณยายธี ค่ะ ที่มาเยี่ยมกัน

(รวมถึงทุกๆท่านด้วยค่ะ)

ลึกซึ้งถึงแก่นธรรม...อ่านแล้วต้องพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์...บันทึกอย่างนี้หาอ่านยาก...ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

ขอติดไว้ก่อนนะพี่.... ให้พ้นเรื่องวุ้นๆไปซะหน่อยก่อนจะมาติดตามผลงานนะครับ....:)

ในส่วนของของวิริยะในอิทธิบาทนั้น ต้องเป็นความเพียรที่พอเหมาะ เป็นวีริยุเปกขา ไม่เช่นนั้นก็อาจกลายเป็นสมุทัยได้

เช่น หากยึดมั่นในความเพียร (ยึดในส่วนเหตุ) มากไป ก็สามารถทำให้กลายเป็นอัตตกิลมถานุโยคได้ เกิดทุกข์เพราะภวตัณหา ( เช่น อยากจะมีเวลามากๆเพื่อปฏิบัติธรรม อยากบวชเพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติเต็มที่ทั้งๆที่ยังมีภาระที่ทำให้ไม่สามารถปลีกตัวไปตามลำพังได้)

ทุกข์เพราะวิภวตัณหา (เช่น ไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ไม่อยากมีเรื่องราวให้ต้องรับผิดชอบมากจนเหลือเวลาปฏิบัติไม่มากเท่าที่อยากให้เป็น)


หรือแม้จะเพียรพอเหมาะแล้ว แต่ยึดมั่นในผลของความเพียร (ยึดในส่วนผล) เช่น เมื่อพิจารณาจนเข้าใจองค์ธรรม ก็จะเกิดปีติ แต่เพราะไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่าปีติก็เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย เมื่อเสพปีตินั้น แล้วยึดมั่นในปีติ ก็จะเกิดความอยากเสพปีติอยู่เรื่อยๆ จึงเพียรมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด ก็อาจกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยคไปได้

และยังสามารถมีผลตามมาต่างๆ เช่น หากไม่รู้เท่าทันโลกธรรม เมื่อแจ้งธรรมในบางส่วน ก็มักอยากให้ผู้อื่นสรรเสริญ จึงนำมาซึ่งการหาช่องทางให้ผู้อื่นสรรเสริญ หากได้สรรเสริญ ก็ยิ่งย้อมติดในโลกธรรม หรือ หากไม่ได้ ก็ขัดใจ เป็นต้น

ความเพียร แม้ว่าจะสามารถกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้ แต่ก็อาจกลายเป็นสมุทัยไป เพราะเพิ่มพูนกิเลสอย่างละเอียดได้

ในส่วนของวิริยะนั้น ต้องเป็นความเพียรที่พอเหมาะ เป็นวีริยุเปกขา ก็อาจกลายเป็นสมุทัยได้ เช่น หากยึดมั่นในความเพียร (ยึดในส่วนเหตุ) มากไป ก็สามารถทำให้กลายเป็นอัตตกิลมถานุโยคได้ เกิดทุกข์เพราะภวตัณหา ( เช่น อยากจะมีเวลามากๆเพื่อปฏิบัติธรรม อยากบวชเพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติเต็มที่ทั้งๆที่ยังมีภาระที่ทำให้ไม่สามารถปลีกตัวไปตามลำพังได้)

ทุกข์เพราะวิภวตัณหา (เช่น ไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ไม่อยากมีเรื่องราวให้ต้องรับผิดชอบมากจนเหลือเวลาปฏิบัติไม่มากเท่าที่อยากให้เป็น)

หรือแม้จะเพียรพอเหมาะแล้วแต่ยึดมั่นในผลของความเพียร (ยึดในส่วนผล) เช่น เมื่อพิจารณาจนเข้าใจองค์ธรรม
ก็จะเกิดปีติ แต่เพราะไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่าปีติก็เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย เมื่อเสพปีตินั้น แล้วยึดมั่นในปีติ ก็จะเกิดความอยากเสพปีติอยู่เรื่อยๆจึงเพียรมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด ก็อาจกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยคไปได้

และยังสามารถมีผลตามมาต่างๆ เช่น หากไม่รู้เท่าทันโลกธรรม เมื่อแจ้งธรรมในบางส่วน ก็มักอยากให้ผู้อื่นสรรเสริญจึงนำมาซึ่งการหาช่องทางให้ผู้อื่นสรรเสริญหากได้สรรเสริญ ก็ยิ่งย้อมติดในโลกธรรม หรือ หากไม่ได้ ก็ขัดใจ เป็นต้น

ความเพียร แม้ว่าจะสามารถกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้ แต่ก็อาจกลายเป็นสมุทัยไป เพราะเพิ่มพูนกิเลสอย่างละเอียดได้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท