"วิถีชีวิตในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา" ... ช่างเป็นเรื่องน่าคิดเหลือเกิน


ผมนั่งอ่านตัวอย่าง "วิถีชีวิตในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา" จากหนังสือ "วุฒิภาวะของความเป็นครู" ของ "ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง" ... โอ้ มันมีแง่คิดคำนึงถึงระบบการศึกษาทางเลือกอีกแบบหนึ่งที่ "รัฐ" พึงหันมามองและนำไปใช้บ้าง เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ก้าวไกลไปกว่าที่เป็นอยู่นี้



ตัวอย่าง "วิถีชีวิตในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา"


๗.๓๐ - ๘.๐๐ น.

ระดับอนุบาลและประถม จะให้เด็กเล่นร่วมกันในสนามเด็กเล่นหรือสนามหญ้า เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ก็เล่นกระโดดยาง เด็กผู้ชายบ้างก็เล่นฟุตบอล เล่นดีดลูกแก้ว เพื่อให้เด็นได้เรียนรู้ที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การเคารพกติกา การจัดการสถานภาพภายในกลุ่ม การแก้ไขความขัดแย้งจากการกระทบกระทั่งกัน

ระดับมัธยม ให้ได้ดูแลสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และห้องเรียนเพื่อปลูกฝังสำนึกรับผิดชอบต่อคนอื่น สิ่งอื่น และส่วนรวมให้ได้เห็นการทำงานที่มีความหมาย การจดจ่อกับงานที่ทำ


๘.๐๐ - ๘.๑๕ น.

กิจกรรมหน้าเสาธง ทำเพียงระยะสั้น ๆ สงบ ๆ เพื่อเป็นพิธีกรรมการเริ่มต้นวันที่มีความหมาย และเพื่อการแสดงออกถึงการขอบคุณ การนอบน้อม การมีสติ หลังจากกิจกรรมหน้าเสาธงสั้น ๆ นั้น ก็ไม่มีครูต้องมาอบรมหน้าเสาธงอย่างขนบของโรงเรียนทั่วไป


๘.๒๐ - ๘.๔๐ น. ใช้ฐาน "ใจ" เป็นหลัก

กิจกรรมจิตศึกษา เพื่อการเตรียมความพร้อมของนักเรียนให้อยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำ สงบ และผ่อนคลาย ทั้งเพื่อพัฒนาความฉลาดในด้านจิตวิญญาณ และความฉลาดด้านอารมณ์ ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การน้อมนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก


๘.๔๐ - ๑๒.๐๐ น. ใช้ฐาน "สมอง" เป็นหลัก

การเรียนในรายวิชาหลัก คณิต ไทย อังกฤษปูพื้นฐานทางวิชาการ เพื่อความรู้ความเข้าใจในรายวิชาพื้นฐานไปเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในระดับที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้


๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. ใช้ฐาน "กาย" เป็นหลัก

เรียนรู้แบบบูรณาการโดย PBL (Problem Based Learning) การผสมผสานกันของแต่ละวิชา จะทำให้เกิดการเชื่อมโยง ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย สอดคล้องกับการใช้จริง เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ฯลฯ


๑๕.๐๐ - ๑๕.๓๐ น.

กิจกรรมคนบันดาลใจ อ่านวรรณกรรม ดูหนัง หรือ สารคดีชีวิตบุคคล เช่น รายการคนค้นคน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในวิถีทางที่ดีงาม เป็นเครื่ืองขัดเกลาอารมณ์ เกิดสุนทรียะ เข้าใจวิถีชีวิต ความคิดและจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน ทั้งยังเป็นการค้นพบความถนัดและความสนใจของตนเอง

(ช่วงนี้อยู่ในกระบวนการสอนนักศึกษาครูของผมเช่นกัน)

พิธีกรรม (พิธีชา การจัดดอกไม้) การดำเนินชีวิตอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบัน นอบน้อม เชื่อมโยง การได้ชื่นชมความงามสู่ความเข้าใจตนเอง เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง

การทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มาทั้งวัน

การสื่อสารความเข้าใจ เรื่องราวหรือกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างบ้านกับโรงเรียน




วิถีเป็นการกระทำซ้ำที่จะช่วยการบ่มเพาะทั้งความมีวินัยและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นเครื่องมือกำกับตนเองจากด้านใน เมื่อกลายเป็นอุปนิสัย จิตของเด็กจะไม่รู้สึกขัดขืน ในที่สุดโรงเรียนก็ไ่ม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมจากภายนอก เช่น เสียงระฆัง กฎ หรือ ข้อตกลงร่วมกันจะน้อยข้อลงไปเอง ทั้งนี้ครูต้องอยู่ร่วมในวิถีอย่างคงเส้นคงวาเช่นกัน การออกแบบวิถีชีวิตในโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพยังต้องคำนึงถึงธรรมชาติของร่างกายและสมอง ช่วงเช้าตั้งแต่เด็กาถึงโรงเรียนจนถึงช่วง "จิตศึกษา" ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่บ่มเพาะความงอกงามด้านในโดยใช้ฐาน "ใจ" เป็นหลัก ช่วงสายเป็นการเรียนรู้ที่ใช้ฐาน "สมอง" เป็นหลัก ช่วงบ่ายให้เด็กได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติคือ การใช้ฐาน "กาย" เป็นหลัก

ในการดำเินินตามวิถียังต้องระวังความเป็น Comfort Zone หรือ การติดสุข ติดอยู่กับความสบาย ในวิถีจะต้องมีระดับความยากพอต่อการขัดเกลาข้างในได้ด้วย



...................................................................................................................................................................................


โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนากล้าหาญที่จะใช้วิธีการสอน
ที่มุ่งไปยังเด็กมากกว่าผลงานด้านต่าง ๆ

เป็นวิถีที่ควรเรียนรู้ในกระบวนการเรียนอย่างยิ่ง

ถึงแม้ครูที่อยู่ในโรงเรียนของรัฐจะนำไปใช้ไม่ได้ทั้งหมด
แต่ก็สามารถนำเข้าใส่ในกระบวนการเรียนการสอนได้จริง

ผมเชื่อได้เลยว่า ผลผลิตที่ออกไปจากโรงเรียนนี้จะแตกต่างจาก
ผลผลิตจากโรงเรียนของรัฐอย่างสิ้นเชิง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความดีงาม" ที่เด็กจะได้ติดตัวไป

ชื่นชมครับ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...



..................................................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือ ...



วิเชียร ไชยบัง.  วุฒิภาวะของความเป็นครู.  บุรีรัมย์ : โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา, ๒๕๕๖.


หมายเลขบันทึก: 539870เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ. เสือ อยากอ่านค่ะ และแล้วนักการศึกษาก็เล่งเห็นว่าควรลดคาบเรียนและเรียนนอกห้องเรียน ..เพื่อพัฒนา ใจ /สมอง /กาย 

ครูตุ่ม krutoom ครับ ...

สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์มีครับ ;)...

ครูนกเห็นด้วยกับวิถีการเรียนรู้ที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพ และมีความสุขนะค่ะ  หากเรายังเรียนเพื่อสอบเรียนต่อ....การศึกษาก็ยังแค่บทเรียนสำเร็จรูป หรือประโยคบอกเล่า(สู่กันฟัง) ห้องเรียนก็ยังมีกรอบแข็งขัน และทำให้คนเราเมื่อมีปัญหาชีวิตแก้ไม่ได้เพราะ...มองว่าเป็นเรื่องนอกตำรา

อย่างที่ ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ได้บอกไว้ใช่ไหมครับ คุณครูนก noktalay ว่า

"ปัญญาการใช้ชีวิต" สำคัญกว่า "ความรู้"


สวัสดีค่ะอาจารย์ ...แต่ยังเชื่อมั่นในความรู้และของเพิ่มเทคโนโลยี่ด้วยนะคะ...ที่จะสามารถนำไปสู่ความมีปัญญา...ส่วนการจะนำปัญญาไปใช้ในชีวิตจริงได้มากน้อยแค่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างหลายประการด้วย...ที่แน่ๆคือการมี flexibility ในการปรับตัวให้เข้ากับผู้คน สังคม สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ต่างๆรอบๆตัวได้เป็นอย่างดี เพราะโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางความรู้และเทคโนโลยี่ตลอดเวลา คนเราจะจัดการความรู้และเทคโนโลยี่เหล่านั้นได้อย่างไร?นั้นคือปัญญาในการใช้ชีวิตนะคะ

ขอบคุณทัศนะจากท่านอาจารย์ ดร. พจนา แย้มนัยนา ด้วยครับ ;)

ได้อ่านเมื่อวาน เป็นหนังสือที่คุณหมอธิรัมภาส่งมาให้คะ รู้สึกแสนถูกที่ถูกเวลาในยาม ไฟในการเป็นครูริบหรี่..

ยินดีครับ คุณหมอบางเวลา ป. ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท