หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เรื่องเล่าจากอาจารย์รัตนา หอมวิเชียร (ว่าด้วยความสุขจากการเรียนรู้คู่บริการ)


จากงานวิจัยดังกล่าว ก็นำมาใช้เป็นงานบริการวิชาการสู่ชุมชนบ้านท่าขอนยาง จนพ่อใหญ่แถวและเพื่อนๆ แห่งบ้านท่าขอนยาง ได้เรียนรู้จริงและทำได้จริง ยิ่งเป็นสิ่งที่นำพาความสุขมาสู่ตัวเอง และยิ่งเป็นการทำงานครั้งแรกกับชุมชน ยิ่งพลอยให้ตัวเองรู้สึกสุขใจมากเป็นพิเศษ

คำชี้แจง

ในช่วงของการขับเคลื่อนกิจกรรมบริการวิชาการ (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน)  ในปี 2555 ที่ผ่านมา  นอกจากการเขียนบทความวิชาการ หรือการเขียนรายงานวิชาการแล้ว  สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามเชิญชวนให้อาจารย์และนิสิตได้เขียนเพิ่มเติมก็คือเรื่องเล่าเร้าพลัง (story telling)  เพื่อก่อให้เกิดการสื่อสารสร้างสุขที่หลากหลายรูปแบบ อ่านสนุก ไม่เครียด...

แต่แน่นอนครับ การเขียนคือทักษะใหญ่ไม่แพ้ทักษะของการคิด หรืออื่นๆ ประสบการณ์ผ่านการฝึกฝนคือหัวใจหลักของการเขียนเพื่อการสื่อสาร

นี่คือเรื่องเล่าของอาจารย์รัตนา หอมวิเชียร  หนึ่งในคณะทำงานโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชนของคณะวิศวกรรมศาสตร์  ที่ได้ถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าเล็กๆ  ซึ่งผมอ่านแล้วพลอยมีความสุขไปด้วย  ถึงแม้ชั้นเชิงการเล่าจะไม่ลื่นไหลเช่นนักเล่ามืออาชีพ  แต่ผมอ่านแล้ว  ผมก็มีความสุข  และเห็นมิติอันเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างน่าสนใจ

เชิญครับ – เชิญร่วมเรียนรู้ด้วยกัน




บูรณาการภารกิจ 4 In 1 และการสร้างทักษะการเรียนรู้แก่นิสิต

             

การบริการวิชาการโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างอาคารดินอบสมุนไพรเพื่อความยั่งยืนของชุมชนบ้านท่าขอนยาง” เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2555   โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์  ซึ่งมีความคาดหวังหลักๆ ในการดำเนินการคือการร่วมพัฒนาและทำประโยชน์แก่สังคมผ่านการบูรณาการภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน  (4 In 1)  คือด้านบริการวิชาการ การเรียนการสอน งานวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  
 

นอกจากนั้นยังรวมถึงการสร้างระบบและกลไกของการพัฒนานิสิตผ่านรูปแบบกิจกรรมต่างๆ  เพื่อให้นิสิตมีคุณธรรมจริยธรรม  รู้จักการให้ รู้จักการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม   เรียนรู้การทำงานร่วมกัน และการนำความรู้ไปใช้งานผ่านการลงมือปฏิบัติจริง  ตลอดจนการส่งเสริมให้นิสิตได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชีวิตอันเป็นสุนทรียภาพของการใช้ชีวิตที่ผูกโยงใยกับศิลปวัฒนธรรม ผู้คน วัด และสถานศึกษา (บวร)  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมกล่อมเกลาให้นิสิตมีคุณลักาณะตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”




กระบวนการขับเคลื่อน : เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

 

นอกจากนี้คณาจารย์ยังสามารถนำประโยชน์จากการบริการวิชาการมาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและต่อยอดการทำวิจัย   มีการจัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความต้องการ  หรือโจทย์จากชุมชนเป้าหมาย (ชุมชนบ้านท่าขอนยาง)  โดยพบว่า ชุมชนเป้าหมายเป็นชุมชนของ "ชาวญ้อ"  ที่มีภูมิปัญญาเดิมเกี่ยวกับการสร้างบ้านดินเป็นที่อยู่อาศัย  และประมาณปี พ.ศ. 2521 ทางวัดเจริญผล   ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงของบ้านท่าขอนยางได้มีการสร้างห้องอบไอน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน  แต่ในระยะหลังได้เกิดปัญหาเชื้อเพลิง-ฟืนขาดแคลน  จึงไม่มีการใช้งานห้องอบไอน้ำสมุนไพรต่อไป   ดังนั้นชุมชนจึงมีความต้องการห้องอบไอน้ำสมุนไพรกลับมาอีกครั้ง   และเพื่อเป็นการอนุรักษ์บ้านดินของชาวญ้อ คณะกรรมการดำเนินงานและชุมชนจึงร่วมกันทำอาคารดินอบไอน้ำสมุนไพร   โดยในส่วนของหม้อไอน้ำจะใช้เชื้อเพลิงก๊าซหุงต้ม  ซึ่งหาง่ายและราคาค่อนข้างถูก  จากนั้นคณะกรรมการดำเนินงานได้ทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน   บริบทต่างๆ และตำนานความเป็นมาของชุมชน เตรียมแหล่งวัสดุในการจัดสร้างอาคารดิน และหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการอบไอน้ำสมุนไพร  โดยการไปศึกษาดูงานยังวัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี และวัดโนนสำราญ จังหวัดมหาสารคาม



ช่วงกลางน้ำคณะทำงานมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และการให้ความรู้ความเข้าใจในการสร้างอาคารดินและการอบไอน้ำสมุนไพร เพื่อให้ชุมชน นิสิต และบุคลากร  สามารถนำไปปฏิบัติได้เอง   และสามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่ชุมชนภายนอกได้  

ในส่วนของกิจกรรมการสร้างอาคารดิน   นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และชาวชุมชนบ้านท่าขอนยางได้ร่วมกันก่อสร้างโดยใช้ระยะเวลาประมาณ  4 เดือน  อาคารดินจึงเสร็จสมบูรณ์
                     
สำหรับการบูรณาการงานด้านการเรียนการสอนนั้น   มีการมอบหมายงานให้นิสิตทดสอบหม้อไอน้ำสมุนไพร จัดทำคู่มือการใช้งาน  และคำนวณหาความหนาของฉนวนที่เหมาะสมแล้วดำเนินการติดตั้งฉนวนเพื่อลดปริมาณความร้อนสูญเสียผ่านผิวหม้อไอน้ำ   ซึ่งทำให้นิสิตได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยนำความรู้ที่ได้ในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้งาน





เรียนรู้วิถีชุมชน : ไม่มีที่ใดปราศจากตำนาน-เรื่องเล่า


นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนิสิตกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของสโมสรนิสิตซึ่งเป็นการบอกเล่าตำนาน “จระเข้เจ้าเฮ้า”  ที่มีชื่อเสียงผ่านลวดลายบนผนังอาคารดิน  ซึ่งจากการบอกเล่าของพ่อใหญ่แถว  (นายแถว เนื่องวรรณะ) ปราชญ์ชาวบ้านของชุมชน เล่าว่า ในอดีตบริเวณแม่น้ำชี บ้านท่าขอนยางมีจระเข้อยู่อาศัย วันหนึ่งมีคนเอาลูกจระเข้มาให้ทางวัดเจริญผลเลี้ยงเอาไว้  โดยมอบหมายให้เณรรูปหนึ่งเป็นผู้ดูแลนำข้าวปลาอาหารมาให้จระเข้กิน และเรียกจระเข้ตัวนี้ว่า “เจ้าเฮ้า”

เจ้าเฮ้าเป็นจระเข้ที่เชื่องมาก จนแม้แต่เณรและลูกเจ้าเมืองสองคนสามารถขึ้นขี่หลังได้ ด้วยเหตุนี้  จึงเป็นที่กล่าวขานถึงเจ้าเฮ้าว่าเป็นจระเข้ที่เชื่อง

ต่อเมื่อเจ้าเฮ้าเติบโตขึ้นก็เริ่มดุร้ายและถึงขั้นแอบกินผู้คน  จนในที่สุดวันหนึ่งก็ได้กินธิดาเจ้าเมือง (ท้าวสุวรรณภักดี) ทั้งสองเข้าไป นั่นก็คือ “นางหมัดและนางฮุย”   เจ้าเมืองจึงประกาศให้หาหมอปราบจระเข้  และสิ้นสุดการล่าหรือการปราบลงที่อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรในปัจจุบัน   ซึ่งชื่ออำเภอวังสามหมอก็มีตำนานมาจากการที่จระเข้ได้ที่กินหมอปราบจระเข้ไปสามคนนั่นเอง และก็มีไม่น้อยที่เชื่อว่าน่าจะเป็นจระเข้ตัวเดียวกันคือเจ้าเฮ้า 

แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นเรื่องกล่าวขานถึงเจ้าเฮ้าไปต่างๆ นาๆ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงรายละเอียดบางประการ  เช่น  บ้างก็ว่าเจ้าเฮ้าไม่ได้ฆ่าลูกเจ้าเมืองทั้งสอง  เพียงแต่คาบศพลูกเจ้าเมืองที่จมน้ำกลับมาให้เจ้าเมือง บ้างก็ว่าจระเข้ที่กินลูกเจ้าเมืองเป็นคนละตัวกับเจ้าเฮ้า

จากคำบอกเล่านี้ จึงนำมาสร้างลวดลายที่ได้รับการร่างแบบโดยพ่อใหญ่แถว หลังจากนั้นนิสิตจึงได้ประดับตกแต่งภาพศิลปะนูนต่ำดังกล่าวลงบนผนังอาคารดิน





ความเข้มแข็งยั่งยืน : โจทย์ที่ยังต้องใช้เวลาขับเคลื่อน พิสูจน์


ส่วนการบูรณาการงานวิจัย คณะกรรมการดำเนินงานได้มีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัย “บ้านดินรักษ์โลก จากงานวิจัยสู่ชุมชน” ในงานนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ  (Thailand Research Expo 2012) ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2555 

ในการนี้มีงาน "วิจัยวัสดุฉาบบ้านดินจากวัสดุธรรมชาติ"  ที่พัฒนาขึ้นให้มีความสามารถในการป้องกันน้ำมากขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีการเดิม ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมทั่วไป  ช่วงปลายน้ำ คณะทำงานได้มีการส่งมอบและสาธิตวิธีการใช้อาคารดินอบไอน้ำสมุนไพร  รวมถึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับห้องอบไอน้ำสมุนไพร และติดตามผลการดำเนินงานว่าชุมชน นิสิต และบุคคลทั่วไปที่สนใจ สามารถนำความรู้ความเข้าใจไปปฏิบัติเองได้จริงเพียงไรและสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นหรือชุมชนอื่นได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน และยังเป็นการนำผลประเมินหรือความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของการบริการวิชาการในครั้งนี้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยต่อไป

ในภาพรวมพบว่า ชุมชน นิสิต อาจารย์ และบุคลากร มีความพึงพอใจต่อโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากถามถึงความเข้มแข็งของชุมชนและความยั่งยืนจำเป็นต้องมีการติดตามผลการใช้บริการห้อง  อบไอน้ำสมุนไพรและกิจกรรมที่ต่อยอดจากโครงการนี้ต่อไป

ในอนาคต เป็นไปได้ว่าหากมีการรวมกลุ่มหรือสร้างเครือข่ายของชุมชนที่เข้มแข็ง  เชื่อว่าจะนำพาความยั่งยืนตามมาแก่สังคมนี้ได้  โดยเฉพาะการปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น 
จากที่ติดตามพบว่า ทางวัดมีการปลูกสมุนไพรทั่วไปในพื้นที่วัดและสถานปฏิบัติธรรม  รวมถึงชาวบ้านนิยมปลูกพืชสมุนไพรไว้ใช้เป็นยารักษาโรค  ซึ่งอาจต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ สำหรับเป็นสินค้าประจำท้องถิ่นได้ และทางวัดมีแนวคิดที่จะสนับสนุนและเผยแพร่ให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรให้เพิ่มมากขึ้น  อันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเอง





ที่สุดของการเรียนรู้คือ “ความสุข”


จากการดำเนินการโครงการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น หากย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานบริการวิชาการของตนเอง  เดิมทีตนเองเป็นเพียงอาจารย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เริ่มจากทำงานด้านกิจการนิสิตของคณะ   จะได้พบปะกับนิสิตทั้งคณะอยู่เป็นประจำ  ตนเองมีความคิดจะพัฒนาการเรียนการสอนโดยการนำกิจกรรมง่ายๆ ที่ใกล้เคียงกับสาขาวิชาที่สอน และหวังที่จะให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน มีส่วนร่วมในกิจกรรม สร้างความภาคภูมิใจ และมีความสนุกสนานในตัวของกิจกรรมเอง จึงได้นำเอาบ้านดินมาใช้เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับอาจารย์ เพราะการทำบ้านดินมิได้มีความสลับซับซ้อน

เหนือสิ่งอื่นใดบ้านดินให้คุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างมาก  จากที่เป็นแค่กิจกรรมก็ได้ขยับเข้าสู่การทำงานวิจัยร่วมกับท่าน ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ และจากงานวิจัยดังกล่าว  ก็นำมาใช้เป็นงานบริการวิชาการสู่ชุมชนบ้านท่าขอนยาง จนพ่อใหญ่แถวและเพื่อนๆ แห่งบ้านท่าขอนยาง  ได้เรียนรู้จริงและทำได้จริง  ยิ่งเป็นสิ่งที่นำพาความสุขมาสู่ตัวเอง  และยิ่งเป็นการทำงานครั้งแรกกับชุมชน ยิ่งพลอยให้ตัวเองรู้สึกสุขใจมากเป็นพิเศษ 




การทำงานครั้งนี้ ค้นพบความสุขหลากหลายประการ

อย่างแรกเลยก็คือความสุขที่ได้ลงไปเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชน เรียนรู้ผู้คน ความเอื้ออาทรจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน  
อย่างที่สองคือความสุขที่เห็นชาวบ้านเข้าใจและทำบ้านดินได้ด้วยตนเอง  เพราะเดิมไม่ได้คาดหวังว่าคนในชุมชนจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดไปสร้างเองได้จริงๆ  ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปเพียงสามเดือน  ก็เห็นพัฒนาการหลายอย่างของชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ทำบ้านดินได้ แต่ยังหมายถึงการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ในบริเวณวัดและบ้านดินนั่นเอง

เช่นเดียวกับครั้งหนึ่ง เกิดการปรานผิดพลาด  เมื่อลงพื้นที่แล้วไม่มีอุปกรณ์ทำงาน  พ่อใหญ่แถวกับเพื่อนพ้องที่มักจะเป็นคนไม่ค่อยพูด ดูเงียบขรึมและอมยิ้มเป็นระยะๆ ก็หายออกไปจากวัด จากนั้นไม่นานก็กลับมาใหม่ทีละคนสองคน โดยแต่ละคนก็มีอุปกรณ์ติดไม้ติดมือมาคนละอย่างสองอย่าง  ถึงจะไม่มากมายนัก แต่นั่นก็คือการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม และน้ำใจของชาวบ้านที่มีต่อมหาวิทยาลัย หรือมีต่อการเป็นเจ้าของในสิ่งที่กำลังสร้างขึ้นในชุมชนของตนเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความสุขและความประทับใจที่ยังจดจำได้จนบัดนี้


เรียนรู้นอกชั้นเรียน : เรียนรู้จิตใจกันและกัน


นอกจากนี้ยังมีความสุขกับการทำงานในระดับสาขาและคณะ เพราะการทำงานครั้งนี้ถือว่าเข้มข้นกว่าเดิมมาก มีการระดมกำลังจากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตในคณะ เพราะคณะเราเป็นคณะไม่ได้ใหญ่โต  สิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้คือการที่ได้ทำงานกับอาจารย์ต่างสาขาที่มักเจอกัน แต่ไม่ได้มีโอกาสที่ได้ทำงานร่วมกัน  ได้เรียนรู้อุปนิสัยใจคอของนิสิต เวลาอยู่ในชั้นเรียน  เราจะสังเกตไม่ลึกซึ้งเท่าการได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ในชั้นเรียนเห็นเพียงนิสิตนั่งเรียนแล้วฟังบรรยาย พูดคุยกัน  หรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเพียงเล็กน้อย  แต่การได้ทำบริการวิชาการครั้งนี้  ทำให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอของนิสิตแต่ละคน - คนนี้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อน คนนี้เป็นที่รักของเพื่อน คนนี้เป็นคนเงียบชอบทำ ไม่ชอบอยู่เฉย  คนนี้คุยเก่ง ร่าเริง คนนี้รักเพื่อน ทุกคนมีดีของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป  ซึ่งไม่ได้เห็นกันง่ายในชั้นเรียน  แต่เมื่อได้ออกมาทำกิจกรรมด้วยกัน จึงรู้จักมักคุ้น รู้จักนิสัยใจคอกันมากขึ้น  ใครจะรู้ว่าจากที่ไม่เคยรู้จักกันกลับสนิทสนมกัน  ช่วยเหลือกัน จากคนที่มีเพื่อนน้อย  ก็กลับมีเพื่อนมากขึ้น



หลังจากจบโครงการนี้ไป ไม่ใช่แค่นิสิตที่ได้ อาจารย์เองก็ได้ เป็นการเรียนรู้นอกชั้นเรียนที่ให้ประโยชน์ นอกจากนี้ทุกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของลูกศิษย์  ทำให้รู้สึกเหมือนกันว่าเป็นส่วนที่มาเติมเต็มชีวิต  ให้มีกำลังใจในการทำงานในวันต่อๆ ไปได้ และเชื่อด้วยว่านิสิตเองก็รู้สึกดีที่ได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเพื่อนนิสิตด้วยกัน

การงานครั้งนี้เป็นการทำงานที่เข้มข้น  แต่แฝงด้วยความสนุกสนาน รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะที่จะประทับใจตนเองไปอีกนานแสนนาน จนปัจจุบันนิสิตที่ได้ร่วมกันสร้างก็ยังคอยถามข่าวคราวของบ้านดินหรือนำเอาภาพประทับใจในการทำบ้านดินขึ้นเป็นรูปประจำตัวหรือแม้แต่ในหนังสือรุ่น แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจของนิสิตที่มีต่อผลงานที่ทำมากับมือของตนเอง



หมายเลขบันทึก: 538903เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นตาม่วนคักขนาดเลยน้อครับ อาจารย์

ขอบคุณค่ะ...อ่านด้วยความสุขใจมากๆค่ะ

เป็นบันทึกที่เปิดให้เห็นมุมมองที่กว้างไกลได้มากทีเดียวจ้ะอาจารย์ ขอบคุณจ้ะ

สวัสดีครับ คุณอักขณิช

การงานที่เรารัก มักนำซาความ "มวนซืน" มา "ยาม" หัวใจเสมอ
อ่านเรื่องราวที่อาจารย์รัตนาเขียนแล้ว...
เห็นกระบวนการโโยย่อของการทำงาน
แต่เห็นความเชื่อมโยงของการบริการวิชาการในมิติของอาจารย์และนิสิตสู่ชุมชน
ในแบบบูรณาการ โดยไม่ละเลยที่จะให้ชุมชนมีบทบาทร่วมตั้งแต่ต้น
สิ่งเหล่านั้น คือวิธีการที่ถูกต้องในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน...
และความถูกต้องนั้น ก็นำพามาซึ่งความสุข อย่างไม่ต้องสงสัย...


ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมยามนะครับ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท 

พื้นที่ตรงนี้ เป็นที่ตั้งของการงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ลงแรงไว้เช่นกันครับ...
ความสุขที่สัมผัสได้ ไม่ใช่แค่ความสุขในระดับปัจเจก 
หากแต่เป็นความสุขในระดับสังคม
ที่แต่ละคนได้ทำเพื่อกันและกัน
แลกเปลี่ยนกันและกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตร

ขอบพระคุณครับ


สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ  เป็นบันทึกที่เห็นมุมกว้างมากเลย
มิติของการเรียนการสอนที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การใช้ชุมชนและกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้
การถ่ายทอดและเรียนรู้ร่วมกัน  ไม่ใช่เน้นการถ่ายทอดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
และที่สำคัญคือ เห็นผลลัพธ์เล็กๆ ที่เป็นรูปธรรม
ที่ยังสามารถสานต่อได้อีก  ทั้งในมิติการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ขอบคุณครับ

ด้วยร้อยยิ้ม และเสียงหัวเราะมีความสุขไปด้วยค่ะ พี่ดาเพิ่มกำลังให้มากๆอีกด้วยนะคะ

มาขอเป็นลูกศิษย์ด้วยคนค่ะอาจารย์

เริ่มต้นดี  ร่วมทำอย่างมีความสุข....ที่ยั่งยืนได้

ขอบคุณเรื่องราวกว้าง - ลึก - เชื่อมโยง  หลายมิตินะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท