ว่าด้วยกระบวนการเรียนรู้เล็กๆ ผ่านคำถามง่ายๆ กว้างๆ ....


การจับประเด็นต่างๆ ในเวลาอันจำกัดนั้นอาจยังไม่ตกผลึก คมชัดลึกมากนัก แต่ผมความสำคัญอันเป็นหลักคิดที่ผมยึดมั่นถือมั่นสำหรับกระบวนการนี้ก็คือการ “บอกเล่า” ให้แต่ละคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการ “สำรวจความคาดหวังของตนเอง พร้อมๆ กับการปลุกเร้าให้แต่ละคนพยายาม “มีสมาธิ” กับการเรียนรู้ ภายใต้ประเด็นอันเป็นความคาดหวังของตนเองและเพื่อนร่วมเวที

ระยะหลังๆ  ของการเป็นวิทยากรกระบวนการ  ผมมักสร้างคำถามง่ายๆ และเป็นคำถามกว้างๆ ที่ฟังดูไร้อาณาจักรของการสื่อสารกลับมาไม่ได้  จนบางทีผู้เข้าร่วมกระบวนการก็ออกอาการงงอยู่บ่อยๆ เพราะมันกว้างจนไม่รู้จะโฟกัสอะไร

อันที่จริงจะว่าไปแล้ว  หากไม่คิดว่าผมเข้าข้างตัวเองมากนัก  ผมยังยืนยันว่าคำถามที่ผมสื่อสารไปนั้น  มันชัดเจน และเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้หวนกลับไปท่องอาณาจักรแห่งใจ หรืออาณาจักรแห่งความคิดของตนเองได้อย่างแจ่มชัด มีความเป็นรูปธรรมในมโนทัศน์อย่างไม่ผิดเพี้ยน(อยู่นะ)

และเมื่อสื่อสารกลับมายังผม  ผมจะเน้นการสะท้อนกลับอย่างทันทีทันด่วน  ถึงแม้จะยังไม่สามารถจัดกระทำสังเคราะห์เป็น “ประเด็น” อย่างเป็น “รูปธรรม”  ก็เถอะ  ผมก็จะคืนข้อมูลนั้นโดยด่วนจี๋  พอหลังไมค์ค่อยไปสังเคราะห์อีกทีว่าเรื่องราวที่สะท้อนกลับมานั้น  มี “อะไร”  บ้าง !





BAR :  ถามทักก่อนลงเรือ : ประหนึ่งชาวประมงลงเรือไปลากอวนอย่างมีจุดหมาย


กรณีการจัดเวทีการเรียนรู้แก่ผู้นำของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
ก็เช่นเดียวกัน  ด้วยกลุ่มเป้าหมายคือ “นักศึกษา” หรือ “ผู้นำนักศึกษา”  ผมก็นำพาการเรียนรู้ด้วยคำถามในทำนองเดียวกัน  คือถามทักถ่ายๆ ในบางกระบวนการให้แต่ละคนเขียนเป็นบัตรคำ  หากแต่ในบางกระบวนการก็เปิดวงให้แต่ละคนได้ “พูดออกไมค์” แบบตรงไปตรงมา  กล่าว คือ...

เวที BAR  (Before Action Review)  ซึ่งคณะทำงานไม่ได้จัดเตรียมไว้  ผมจึงอาสาทำ BAR แบบง่ายๆ  โดยถามนักศึกษาว่า “อยากได้อะไรจากเวทีวันนี้บ้าง”  

แต่เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์ยังเดินทางมาไม่ถึง  เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา ผมจึงเกริ่นกลับนิสิตว่าจะให้นักศึกษาแต่ละคนพูดออกไมค์โดยตรง  แต่ดูเหมือนแต่ละคนยังเขินๆ อายๆ อยู่มากมิใช่ย่อย  ผมจึงพลิกสถานการณ์ด้วยการหยิกแซวและเปิดวีดีทัศน์ให้ชมเพื่อเป็นการผ่อนคลาย พร้อมๆ กับการละลายพฤติกรรมทางความคิดผ่านสื่อที่เตรียมมา  ครั้นวัสดุอุปกรณ์เดินทางมาถึง  จึงหวนกลับเข้าสู่กระบวนการ BAR อีกครั้ง พอแต่ละคนส่งบัตรคำเรียบร้อย  ก็ปล่อยให้พักผ่อนด้วยการรับประทานอาหารว่าง  

และเมื่อกลับเข้ามายังห้องประชุม  ก็เปิดวีดีทัศน์คั่นเวลาให้ดูให้ชมกันพอเป็นพิธี  -  
ครั้นพอดูเสร็จก็ทักทาย ชวนคิดชวนคุยสั้นๆ เกี่ยวกับ “เรื่องราวในวีดีทัศน์”   ที่สุดแล้วจึงคืนข้อมูลอันเป็น BAR  ให้นักศึกษาได้รับรู้ร่วมกันว่า “พวกเขาอยากได้อะไรจากเวทีวันนี้บ้าง”  

 




แน่นอนครับ  การจับประเด็นต่างๆ ในเวลาอันจำกัดนั้นอาจยังไม่ตกผลึก คมชัดลึกมากนัก  แต่ผมความสำคัญอันเป็นหลักคิดที่ผมยึดมั่นถือมั่นสำหรับกระบวนการนี้ก็คือการ “บอกเล่า”  ให้แต่ละคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการ “สำรวจความคาดหวังของตนเอง  พร้อมๆ กับการปลุกเร้าให้แต่ละคนพยายาม “มีสมาธิ” กับการเรียนรู้  ภายใต้ประเด็นอันเป็นความคาดหวังของตนเองและเพื่อนร่วมเวที 

รวมถึงการชี้ประเด็นให้แต่ละคนได้ให้ความร่วมมือกับผม  มิใช่ให้ผมสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างโดดเดี่ยวแต่เพียงผู้เดียว  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น  ความคาดหวังเหล่านั้น ย่อมไม่บังเกิดเป็นดอกผลใดๆ เลยก็ว่าได้

และที่สำคัญ  ผมจะผูกประเด็นสรุปในสไตล์ฝันๆ ของผมว่า BAR คือการถามทักความคาดหวังของตนเองที่มีต่อการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  มันสอนให้เราได้รู้ว่าก่อนการลงมือทำสิ่งใดนั้น  เราควรมีหมุดหมายเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ  เหมือนชาวประมงที่แล่นเรือออกจากฝั่งก็ล้วนมีหมุดหมายในเวิ้งน้ำว่าปรารถนาลากอวนให้ได้ปลา  มิใช่แล่นเรือออกจากฝั่งโดยไม่รู้เลยว่า “จะไปไหน...ไปทำอะไร...เพื่ออะไร”





สำรวจตัวตน : ค้นหาคุณค่าและมูลค่าตัวเองและองค์กร


ภายหลังการ  BAR ผ่านคล้อยไป  ผมเห็นได้ชัดว่าแววตาของนักศึกษาดูเปล่งประกาย ฉายชัดถึงหมุดหมายการเรียนรู้ร่วมกันอย่างชัดแจ้ง  ถัดจากนั้นผมก็ไม่ลังเลที่จะปรับแต่งกระบวนการใหม่  ไม่รีบร้อนที่จะเข้าสู่ “หัวข้อหลัก”  ของการบรรยายเชิงปฏิบัติการนั่นก็คือ “บทบาทหน้าที่ของผู้นำสโมสรนักศึกษารุ่นใหม่กับการจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์”    ซึ่งผมชักชวนให้นักศึกษาได้สะท้อนถึงเหตุผลของการก้าวเข้ามาทำกิจกรรม พร้อมๆ กับการสะท้อนถึงศักยภาพของแต่ละคนว่ามีอะไรที่พอจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในความเป็นทีม/องค์กรกันได้บ้าง นั่นคือ

·  ทำไมต้องมาทำกิจกรรม  (ทำไมต้องมาเป็นผู้นำ)
·  มีความสามารถพิเศษอะไรบ้าง

คำถามสองคำถามข้างต้น เป็นคำถามง่ายๆ แต่ก็เปิดกว้างให้แต่ละคนมีอิสระในการขบคิดว่า “ตัวเองทำอะไร เพื่ออะไร หรือแม้แต่มีอะไรที่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการนำมาร่วมสร้างสรรค์องค์กรร่วมกันได้”

และนั่นยังอาจหมายถึง การสื่อสารให้คนอื่นได้รับรู้ว่าเราคิดอะไร และมีอะไรดีพอที่จะนำมาหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันได้บ้าง  รวมถึงการสื่อสารให้หน่วยงานต้นสังกัดได้เห็นถึง “ต้นทุน” ของทรัพยากรตนเองว่า “มีอะไร มีอะไรแค่ไหน อะไรคือจุดอ่อน อะไรคือจุดแข็ง และอะไรคือสิ่งที่ต้องถอดรหัสไปขยายเป็นแผนในการที่จะพัฒนาบุคลากรของตนเอง”

แต่ที่แน่ๆ คราวนี้  ผมไม่ให้ใช้บัตรคำ หากแต่ให้แต่ละคนพูดผ่านไมค์ เสมือนสร้างสถานการณ์ให้เกิดความกล้า  หรือสถานการณ์ให้แต่ละคนได้เผชิญและคลี่คลายผ่านกระบวนยุทธของตนเอง   ส่วนผมนั้นนก็พยายามทำหน้าที่เชื่อมร้อย หรือแม้แต่การหยิกแซว สร้างอารมณ์ขันไปพร้อมๆ กัน  เพื่อให้นักศึกษาเกิดความผ่อนคลายในการที่จะ "บอกเล่า"  อย่างไม่เขินอาย




ครับ,ผมว่านี่แหละ คือส่วนหนึ่งในการชวนให้แต่ละคนได้ทบทวนตัวเองและแบ่งปันตัวเองสู่สังคม   

รวมถึงนี่แหละคือกระบวนการง่ายๆ  ผ่านคำถามง่ายๆ ของการค้นหาคุณค่าและมูลค่าของผู้คน  ทั้งในมิติเชิงปัจเจกและสังคมแบบเนียนๆ   แต่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ต้องสื่อสารกลับมาอย่างซื่อสัตย์ ไม่บิดเบือนข้อมูล ให้รายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะให้ได้  
ขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแล-พัฒนาศักยภาพของนักศึกษาก็คงต้องให้ความสำคัญกับการ “ถอดรหัส”  คำตอบของคำถามง่ายๆ เหล่านั้น ว่าต้องเดินต่อกันอย่างไร ! เพื่อพัฒนาให้นักศึกษาเติบโตอย่างมีศักยภาพ เป็นพลเมืองที่ดี มีจิตอาสาในการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

แต่สำหรับผมนั้น  ผมยังหลงรักกระบวนการผ่านคำถามง่ายๆ และกว้างๆ ของตนเองเสมอ




หมายเหตุ
ในบางกระบวนการจากเวทีกระบวนการเรียนรู้ในหัวข้อ
“บทบาทหน้าที่ของผู้นำสโมสรนักศึกษารุ่นใหม่กับการจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์
” 
วันที่ 18 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด


หมายเลขบันทึก: 537953เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ๆ จ้ะ

..... ขอชื่นชมกิจกรรทดีดี นี้ นะคะ .... 

ขอบคุณ คุณมะเดื่อ  มากครับ
กิจกรรมนี้เป็นเหมือนปฐมนิเทศผู้นำนักศึกษานั่นเอง
พยายามใช้กระบวนการ บันเทิง เริงปัญญา เป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้ร่วมกัน
ระยะต้น ผมเน้นการทบทวนตัวเอง และเชื่อมโยงให้แต่ละคนสื่อสารตัวเองสู่ผู้อื่นแบบง่ายๆ ....
พอถึงช่วงบ่ายก็เน้นรูปธรรมเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติการ ...

ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณ  พี่ Dr. Ple  มากครับ

การเข้ามาทำกิจกรรมของนักศึกษาเหล่านี้
คือภาพสะท้อนทุนที่ดีในตัวตนของพวกเขา
นั่นก็คือเรื่องจิตอาสา, จิตสาธารณะ...

ผมสื่อสารในเวทีว่า...
บทบาทและสถานะที่เขาเป็นอยู่นั้น
ไม่ใช่แค่เรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างเดียว
หากแต่ตองหมายถึงการสร้างกระบวนการพัฒนาเพื่อนๆ น้องๆ พี่ๆ ในต้นสังกัดด้วย
เพราะเขามีสถานะของการเป็น "ผู้นำ" นั่นเอง

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะอาจารย์

ขอบคุรสำหรับแนวคิดค่ะ ดีมากๆๆค่ะ


กระบวนการน่าสนใจมากครับพี่เอาใช้จะดียิ่ง ยืมเอาไปใช้นะครับพี่ ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท