การประยุกต์สถิติเพื่อการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ (ตอนที่ 2)


สรุปจากการไปฟังบรรยายและฝึกอบรมเรื่อง การประยุกต์สถิติเพื่อการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งทางหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ. จัดขึ้น เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 25-26 พฤษภาคม 2556 โดยมี รศ.พวา พันธุ์เมฆา เป็นวิทยากรผู้สอน 

เพื่อเป็นแนวทางในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งประกอบด้วย 5 บทคือ

  • บทที่ 1 บทนำ การออกแบบการวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัย สมมุติฐาน นิยามศัพท์
  • บทที่ 2 ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • บทที่ 3 วิธีการวิจัย
  • บทที่ 4 ผลการวิจัย
  • บทที่ 5 อภิปรายผล

(เล่าต่อจากตอนที่ 1)

การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง

  • ถ้าเป็นการวิจัยเชิงปริมาณที่มีประชากรจำนวนมาก ใช้วิธีการสุ่มโดยใช้ความน่าจะเป็น เช่น simple random ทุกหน่วยมีโอกาสถูกเลือกเท่ากัน  สุ่มแบบ systematic สำหรับประชากรที่มีการจัดระบบเรียงไว้แล้ว เช่น รายชื่อ เลขประจำตัวนักเรียน เลขที่บ้าน เป็นต้น ถ้ามีการกำหนดตัวแปรต้นหลายตัว ต้องใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratefied random sampling) ซึ่งอาจเป็นแบบ แบ่งชั้นแบบสัดส่วน (ประชากรมาก สุ่มมาก ประชากรน้อย สุ่มน้อย) หรือแบ่งชั้นโควต้า (Quota stratefied random sampling) ซึ่งสุ่มแต่ละกลุ่มออกมาในจำนวนเท่าๆกัน เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาก
  • อย่างไรก็ตาม วิทยากรผู้บรรยายให้ความเห็นว่า การเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสุ่มของยามาเน่ (Yamane) หรือของเครซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) มักได้ประมาณ 200-400 ราย ดังนั้นจะมาสรุปเป็นภาพรวมของประชากรทั้งประเทศไม่น่าจะได้ ไม่น่าเชื่อถือ ถ้าเป็นเพียงจังหวัดหรือภูมิภาคก็น่าจะดีกว่า เพราะปกติการทำแบบทดสอบความถนัดสำหรับนักเรียน จะต้องทดสอบกับเด็กนักเรียนจำนวนเป็นหมื่นๆคน กว่าจะเป็นข้อสอบมาตรฐานได้
  • ถ้าเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีประชากรจำนวนไม่มาก ใช้วิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง โดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น ตัวอย่างเช่น ศึกษาหน่วยงาน 6 แห่ง ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ก่อนอื่นต้องศึกษาเบื้องต้นก่อนโดยการสังเกต จากนั้นสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารสูงสุด ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ เป็นการตรวจสอบข้อมูลแบบ 3 เส้า เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผลการสัมภาษณ์ จะดีกว่าการใช้แบบสอบถาม เพราะได้ข้อมูลลึกซึ้งกว่า แต่ผู้วิจัยต้องเข้าใจปัญหาวิจัยของตนเองอย่างชัดแจ้ง ต้องลองสัมภาษณ์มาสัก 2-3 รายก่อนแล้วถอดเทปดูว่า ถามได้ตรงประเด็นหรือไม่
  • จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ได้ เป็นจำนวนขั้นต่ำที่สามารถพยากรณ์ไปยังประชากรได้ (error .05%) เวลาเก็บข้อมูล ควรส่งแบบสอบถามออกไปให้เกินจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ประมาณ 20% — ได้กลับคืนมา ยิ่งเยอะยิ่งดี

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

  • เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบทดสอบ
  • ต้องนำความรู้ที่ได้ทบทวนวรรณกรรม และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและเชื่อถือได้ (เรียบเรียงไว้ในบทที่ 2) มาเป็นหลักในการออกแบบเครื่องมือวิจัย
  • แบบสอบถาม คำถามตอนที่ 1 เป็นตัวแปรต้น เช่น ข้อมูลส่วนตัว ตัวแปรเชิงคุณลักษณะ ทำเป็นตัวเลือกตอบ ตัวแปรเชิงปริมาณ ให้ตอบแบบเติมคำ คำถามตอนที่ 2 เป็นคำถามหลักของการวิจัย มีการใช้ทฤษฎีเป็นแนวทางในการกำหนดข้อคำถาม เป็นการถามตัวแปรตาม ควรให้ตอบแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ หรือคิดเป็นคะแนนได้ ในระดับอันตรภาค (interval scale) ที่สามารถนำไปคำนวณหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานได้
  • แบบสอบถาม ควรมีคำชี้แจงในการตอบที่ชัดเจน ใช้ถ้อยคำอ่านเข้าใจง่าย สร้างเสร็จแล้วต้องให้คณะกรรมการควบคุมตรวจสอบเบื้องต้น
  • ต้องมีการหาค่าความตรง (validity) โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆจำนวน 3 คน ช่วยดูว่าถามได้ตรงประเด็นหรือไม่ หาค่าความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามแต่ละข้อกับวัตถุประสงค์  (IOC) เห็นด้วย +1 ไม่แน่ใจ 0 ไม่เห็นด้วย -1  ถ้าข้อใดมีค่าเฉลี่ยเกิน 0.5 ข้อนั้นถือว่าใช้ได้
  • การหาค่าความเที่ยง (reliability) นำไปทดสอบความเชื่อมั่นกับกลุ่มที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างอย่างน้อยสัก 30 คน จะได้คำตอบที่ตรงกัน เป็นการหาค่าสัมประสิทธิ์ของความเชื่อมั่น ครอนแบคอัลฟา (Cronbach’s alpha) 
  • แบบทดสอบต้องมีการหาค่าความยากง่าย (ลองทำสัก 30 คน ถ้าส่วนใหญ่ตอบผิด ต้องมาปรับ) ค่าอำนาจจำแนก (แยกคนเก่ง และไม่เก่งออกจากกันได้ ต้องไม่ติดลบ คือคนไม่เก่งทำได้มากกว่าคนเก่ง) และค่าความเที่ยง

การวางแผนเก็บรวบรวมข้อมูล
ทำสำเนาแบบสอบถาม หนังสือนำของบัณฑิตวิทยาลัย จดหมายนำของผู้วิจัย คำชี้แจงเรื่องแบบสอบถาม พร้อมคำขอบคุณ จะเก็บข้อมูลด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ หรือใช้ทั้ง 2 วิธีก็ได้ ทำสำเนาแบบสอบถามให้มากกว่าจำนวนขั้นต่ำประมาณ 20% แล้วจึงดำเนินการส่งไปยังแหล่งเป้าหมาย ต้องกำหนดกลุ่มผู้ตอบตามตัวแปรที่กำหนดไว้ให้ได้จำนวนในแต่ละตัวแปรไม่น้อยกว่า 30 คน เพื่อจะได้นำไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเปรียบเทียงได้อย่างเชื่อมั่น ระหว่างรอแบบสอบถามกลับคืนมา ควรออกแบบตารางนำเสนอข้อมูล ตามลำดับวัตถุประสงค์การวิจัย (บทที่ 4) ไว้ล่วงหน้า

การจัดกระทำและการวิเคราะห์ข้อมูล

  • ตรวจสอบแบบสอบถาม คัดฉบับที่สมบูรณ์ไว้ บางข้อที่ไม่ตอบ อย่างเพิ่งทิ้ง ให้คัดแยกไว้ก่อน ถ้าแบบสอบถามที่เหลือมีจำนวนมากกว่าขั้นต่ำ แสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าน้อยกว่าขั้นต่ำ ให้นำฉบับไม่สมบูรณ์มาปรับแก้ โดยอนุโลมให้ใช้ระดับ 3 ปานกลาง หรืออาจสั่งคำนวณหาค่าเฉลี่ยเฉพาะข้อนั้น เพื่อนำค่ามาใช้ก็ได้
  • จากนั้นกำหนดรหัสและป้อนข้อมูลลงในโปรแกรม SPSS เมื่อครบแล้ว ตรวจทานความผิดพลาดและแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน คำนวณค่าต่างๆตามที่ต้องการ คัดลอกค่าสถิติจาก print out ลงในตารางที่ออกแบบไว้
  • ตารางแสดงข้อมูลส่วนตัว (ตัวแปรต้น) ควรทำเป็นตารางแบบไขว้ เพราะให้รายละเอียดหรือแจงนับได้ดีกว่า ข้อมูลตัวแปรตาม ให้แสดงผลในภาพรวมก่อน (ตอบวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ก่อน) แล้วค่อยแสดงแต่ละข้อ แต่ละด้าน และรวมทั้งหมด
  • การนำเสนอตารางและการอ่านตาราง (เรียบเรียงบทที่ 4) วิธีอ่านคือ อ่านเฉพาะจุดเด่น หรือจุดด้อยที่พบ ไม่ต้องอ่านทั้งหมด ให้คำนึงว่า สิ่งที่พบมีอะไรสำคัญที่น่าอภิปรายถึง (เพราะคำอ่านตารางจะต้องนำไปเสนอแนะต่อในบทที่ 5) ต้องอ่านให้ครบถ้วน เช่น ตารางเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม โดยใช้ t-test ต้องอธิบายว่า ทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับสมมุติฐาน และต้องแจ้งต่อด้วยว่า กลุ่มใดมีค่ามากกว่ากลุ่มใด เป็นต้น

การอภิปรายผล

  • การเรียบเรียงบทที่ 5 ให้เสนอวัตถุประสงค์การวิจัย สมมุติฐานการวิจัย (โดยคัดลอกมาจากบทที่ 1) แสดงวิธีดำเนินการวิจัย (สรุปย่อมาจากบทที่ 3) สรุปผลการวิจัย (นำมาจากคำอ่านตารางในบทที่ 4) คำบางคำไม่น่าสนใจมากนักอาจไม่ต้องนำมากล่าวในตอนสรุปนี้ก็ได้ การอภิปรายผลการวิจัย ต้องแสดงศักยภาพของตนเองให้ชัดเจน ส่วนนี้สำคัญมาก ต้องนำวรรณกรรมที่ศึกษาไว้ในบทที่ 2 มาอ้างอิงด้วย ควรคิดข้อเสนอแนะต่อผู้บริหาร หรือข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป หากพบประเด็นที่น่าสนใจที่ควรศึกษาต่อจากประเด็นที่ศึกษาไว้ในครั้งนี้ (แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเสนอ)
  • เมื่อบทที่ 5 มีคุณภาพระดับหนึ่งแล้ว นำวิทยานิพนธ์ทั้ง 5 บทส่งให้คณะกรรมการอ่านและแก้ไข ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
  • ตอนเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ ให้เขียนบทที่ 1, 2, 3 ว่าจะทำอะไรบ้าง แต่พอทำวิจัยเสร็จแล้ว บทที่ 3 ต้องเขียนใหม่ตามความเป็นจริง ใช้ข้อมูลที่ปฏิบัติจริง
  • ดำเนินการแก้ไข จนคณะกรรมการเห็นชอบให้สอบปากเปล่าได้ ยื่นเรื่องขอจบ ทำสำเนาส่งเล่มตามจำนวนที่กำหนด

[ อ่านต่อ ตอนที่ 3 ]


หมายเลขบันทึก: 537116เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท