ถอดบทเรียนจากการไปอบรมเรื่อง Writing and Publishing Research (ตอนที่ 1)


วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 18-19 พฤษภาคม 2556 ได้ไปอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “The Writing and Publishing in Library and Information Science at International level Workshop” ที่หลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ. จัดขึ้น โดยมีวิทยากรผู้ฝึกอบรมคือ Assoc. Prof. Diljit Singh จาก University of Malaya — จบการอบรมแล้วได้รับประกาศนียบัตรมา 1 ใบ และได้รับเทคนิคดีๆ มามากมาย เลยเอามาถ่ายทอดต่อค่ะ

ทำไมต้องอบรม : เนื่องจากมีหลายแรงผลักดันที่เราจะต้องเขียนและตีพิมพ์ผลงานวิจัย เช่น นโยบายของมหาวิทยาลัย ความจำเป็นของนักศึกษาปริญญาเอกที่จะต้องตีพิมพ์ก่อนจบ (นักศึกษาปริญญาเอกของ U of Malaya จะจบได้ต้องตีพิมพ์ 2 papers) เป็นประโยชน์ต่อตนเองในการเลื่อนขั้น ได้รางวัล หรือเป็นประวัติที่ดีเวลาไปสมัครงาน ฯลฯ ถ้าลองเข้าไปสืบค้นและวิเคราะห์ผลงานวิจัยประเทศไทย โดยใช้ Country Search จากเว็บไซต์ http://www.scimagojr.com จะพบว่างานวิจัยทางสังคมศาสตร์ของไทยมีน้อย ยิ่งสาขา Library and Information Science (LIS) ยิ่งน้อยอย่างน่าใจหาย 16 ปีผ่านไป (1996-2011) ก็ยังตีพิมพ์ไม่ถึง 10 เรื่องต่อปี เทียบไม่ได้เลยกับมาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งโตวันโตคืน — วิทยากรบอกว่า การตีพิมพ์นั้นไม่ยาก ถ้ามีปัจจัย 3 ประการคือ knowledge, skills และ attitude ที่ดี ถ้าเคยอ่านหนังสือของ Stephen R. Covey เรื่อง 7 Habits of Highly Effective People จะรู้ว่าเราต้อง “Begin with the End in Mind” ตั้งเป้าหมายตอนจบไว้เลย ว่าอยากได้ อยากเป็นอะไร — ให้ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดู 1. My goals in life are … 2. Ten years from now, I shall …. 3. Research and publishing is related to my goals in that … 4. Publishing is important to me because …

เป้าหมายของการอบรมครั้งนี้ : เมื่อจบการอบรมแล้ว หวังว่าผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถเข้าใจขั้นตอนและกระบวนการของตีพิมพ์วารสารวิชาการ รู้จักวิธีการหารายชื่อวารสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเราได้ วิทยากรบอกว่า งานนี้เป็น workshop ไม่ใช่ seminar ดังนั้น ทุกคนต้อง “work” .. ในการฝึกอบรมครั้งนี้จะให้คัดเลือกวารสารที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย (target journals) มาสัก 2-3 ชื่อ ศึกษาเงื่อนไขของการส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสารเหล่านั้น จากนั้นลองเขียนโครงร่างของบทความขึ้นมา เพื่อเตรียมที่จะไปตีพิมพ์ในวารสารที่คัดเลือกไว้แล้ว วางแผนปฎิบัติการว่าจะเริ่มเขียนบทความฉบับร่างเมื่อไหร่ จะเขียนเสร็จเมื่อไหร่ และจะส่งไปตีพิมพ์เมื่อไหร่ ต้องมุ่งมั่นจริงจังที่จะบรรลุเป้าหมาย และให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามตีพิมพ์ให้ได้อย่างน้อย 1 paper ภายในปลายปี 2013 นี้ให้จงได้ !!

Understanding Scholarly Publishing : ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ เป็นผลมาจากองค์ความรู้ใหม่ องค์ความรู้ใหม่เป็นผลมาจากการวิจัย การวิจัยจะมีค่าต่อเมื่อมันได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ การติดต่อสื่อสารทางวิชาการ (scholarly communication) มีหลายรูปแบบเช่น การพบปะพูดคุยระหว่างนักวิจัยภายในเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการ การเผยแพร่ผลงานในการประชุมวิชาการ และการตีพิมพ์ในวารสาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการติดต่อสื่อสารและบันทึกผลการค้นพบใหม่ที่เป็นทางการที่สุด ขั้นตอนของการตีพิมพ์บทความไปลงวารสารคือ ส่งต้นฉบับไปให้บรรณาธิการ บรรณาธิการอาจปฏิเสธ (reject) หรือส่งต่อให้ reviewer อ่านและแสดงความคิดเห็น จากนั้นส่งกลับมาให้ author ทำการแก้ไขบทความ (revise) ตามที่ reviewer เสนอแนะหรืออาจปฏิเสธ (reject) บทความก็ได้ เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วส่งกลับไปยังบรรณาธิการ จนกว่าจะได้รับการยอมรับ (accept) ให้ตีพิมพ์ได้ โดยทั่วไปมักเป็น double-bind reviewing process คือ ปิดบังชื่อทั้ง author และ reviewer เพื่อความโปร่งใส

Characterizing Your Research : จะดีพิมพ์ได้ ต้องรู้จักงานวิจัยของตนเองก่อนเป็นอย่างดี ว่าเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับอะไร เป็นงานวิจัยชนิดไหน ทำไมมันจึงสำคัญ ทำไปทำไม มีประโยชน์กับใคร ใครสนใจเรื่องแบบนี้ จากนั้นจึงจะตัดสินได้ว่าจะไปตีพิมพ์ที่ไหนดี มีวารสารใดบ้างที่สนใจเรื่องของเรา ลองตอบคำถามต่อไปนี้ 1. My research is about … 2. The problem I’m trying to address is … 3. My objectives are … 4. My research is important because …

Identifying Target Journals : วารสารมักมีผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เราต้องกำหนด keywords ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเรามาสัก 4-5 คำ จากนั้นลอง search ดูใน Google Scholar, Microsoft Academic Search หรือฐานข้อมูลต่างๆ เช่น Web of Science, Scopus เพื่อหาว่ามีวารสารใดบ้างที่ตีพิมพ์บทความคล้ายๆ งานวิจัยของเรา จากนั้น นำรายชื่อวารสารเหล่านั้นมากศึกษารายละเอียดเพื่อคัดเลือกวารสารที่เป็น target journals โดยพิจารณาคุณลักษณะต่างๆของวารสาร เข้าไปดูข้อมูลจากเว็บไซต์ของวารสาร อ่านคำอธิบาย scope ของวารสาร และอ่าน Instruction to Authors ดูว่าวารสารนี้มี peer review หรือไม่ ได้รับการทำดรรชนี (indexed) อยู่ในฐานข้อมูล ISI Web of Science, Scopus หรือไม่ มีค่า Impact factor หรือไม่ กองบรรณาธิการวารสารมีใครบ้าง มาจากประเทศอะไร มีชาวเอเชียหรือใครที่เรารู้จักหรือสามารถไปติดต่อสอบถามได้บ้าง ผู้แต่งบทความมาจากประเทศอะไรกันบ้าง สำนักพิมพ์มีชื่อเสียงหรือไม่ วารสารตีพิมพ์มานานแค่ไหนแล้ว ปีหนึ่งตีพิมพ์บ่อยครั้งแค่ไหน ปีละกี่ฉบับ กี่บทความ (เพื่อดูโอกาสที่บทความของเราจะได้ลงตีพิมพ์) วารสารกำหนดความยาวของบทความไว้เท่าไหร่ ให้เขียนกี่คำต่อบทความ เช่น 4,000-6,000 words หรือ 10,000 words ถ้าให้เขียนยาวมาก ก็จะยากขึ้น ถ้าภาษาไม่ดีพอ (ดูจำนวนคำได้โดยใช้คำสั่ง word count เวลาพิมพ์ใน MS word) rejection rate กี่เปอร์เซ็นต์ (ต้อง email ไปถามบรรณาธิการดู โดยปกติจะอยู่ที่ 50-60% แต่ถ้าวารสารชื่อดังมากเช่น science, nature จะประมาณ 97%) turnaround time นานแค่ไหน (บทความวารสารจะแสดงวันที่ received และวันที่ accepted เอาไว้ ดูว่าห่างกันกี่เดือน) กำหนดให้ใช้ citation style แบบไหน และต้องจ่ายค่าตีพิมพ์หรือไม่ ราคาเท่าไหร่ (โดยเฉพาะวารสาร Open access) ลองวิเคราะห์รายละเอียดของบทความที่คล้ายคลึงกับงานวิจัยของเรา ย้อนหลังไปสัก 3 ปี ดูว่าเป็นเรื่องอะไร ใช้ชื่อเรื่องว่าอย่างไร มีเรื่องทำนองนี้ได้ตีพิมพ์บ่อยแค่ไหน วิธีการวิจัยและผลการวิจัยเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้แต่ง เราคุ้นเคยชื่อเหล่านั้นหรือไม่ เช่นรู้จัก หรือใช้เป็น reference สำหรับงานวิจัยของเราอยู่แล้ว ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อดูว่า เราจะมีโอกาสได้ตีพิมพ์ในวารสารนี้หรือไม่

 

[ อ่านต่อ ตอนที่ 2 ]

หมายเลขบันทึก: 536488เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2013 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่นำมาถ่ายทอดให้อ่านค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท