พระนิภากรโสภณ(ไกร ศรสุรินทร์) เจ้าคณะอำเภอหนองบัว นครสวรรค์


พระนิภากรโสภณ
(ไกร  ฐานิสฺสโร)

ภาคฆราวาส

          กำเนิด มีนามเดิมว่า ไกร ศรสุรินทร์  เกิดเมื่อ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2486 ตรงกับทางจันทรคติขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม ที่บ้านโคกขี้เหล็ก  เลขที่ 150 หมู่ที่ 12 (เดิมหมู่ที่ 6)  ตำบลหนองกลับ  อำเภอบางมูลนาก  จังหวัดพิจิตร (ปัจจุบันอำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์)  บิดาชื่อ ลัพธ์ (อดีตผู้ใหญ่บ้าน)  มาดาชื่อ คอย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน  คือ

      1. นางกลอย       2. นายไกร (ตัวข้าพเจ้า)     3. นางใบ (จันทราภรณ์)        4. นางบัว

       5. นางบุญ          6.นายทวีศักดิ์                    7. นางวีระ                 8. นางมะลิ

การศึกษาสายสามัญ

           เมื่ออายุถึงเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ  ปี พ.ศ. 2492  ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนบ้านหนองกลับ(เทพวิทยาคม)  ตำบลหนองกลับ  กิ่งอำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์ ขณะนั้นย้ายไปอยู่ที่อาคารเรียนที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในโรงเรียนหนองบัว (เทพวิทยาคม) แล้ว เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว  ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนบ้านหนองกลับ (เทพวิทยาคม) ซึ่งย้ายจากศาลาวัดหนองกลับไปตั้งเอกเทศบริเวณเดียวกันกับโรงเรียนประถมศึกษา  ทางด้านทิศตะวันออกของวัดหนองกลับ ปัจจุบันคือพื้นที่โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)

        จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่3  ในปี พ.ศ. 2500  เมื่ออายุ 15 ปี ซึ่งเป็นชั้นการศึกษาสูงสุดของอำเภอหนองบัวที่มีอยู่ขณะนั้น  ไม่มีโอกาศได้ศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม

บุคคลิกภาพส่วนตัว

          เมื่อเกิดแม่เล่าให้ฟังว่าเป็นเด็กลูกแฝด  แต่คู่แฝดได้เสียชีวิตเมื่อคลอดใหม่ๆ  จึงเป็นลูกชายคนแรกในครอบครัว  มีผิวกายท่าทางเหมือนคุณตา พ่อเฒ่าน้อย (นายน้อย  โอภาษี) เป็นที่โปรดปรานของคุณตาน้อย  ใครจะตีหรือทำอะไรต่อหน้าคุณตาไม่ได้  คุณตาเรียกชื่อเล่นว่าไอ้แห้งเรียกหาตลอดเวลาถ้าอยู่บ้าน  เมื่ออายุประมาณ 5 ขวบ  ตามคุณตาไปไร่ที่เขาพระ  ตอนเย็นปล่อยให้กลับบ้านเอง  เพื่อให้แสดงความกล้าหาญคุณตาเป็นพรานเรียกหลานๆมาพร้อมกันแล้วกล่าวว่าใครกล้ายิงปืนดาบศิลาปืนยาวลูกปืนหนัก 10 สลึงบ้าง  ไม่มีหลานคนใดกล้ายิง  เพราะปืนทั้งใหญ่และยาว  ไอ้แห้งอาสายิง  ทั้งๆจับปืนยกไม่ไหว  คุณตาต้องประคองง้างไกปืน  จนปืนดังคุณตาน้อยจึงยกปืนให้  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไอ้แห้งชอบเที่ยวป่า  เมื่ออายุ 14 ปี  ตามน้าไปดง ได้สู้กับหมูหริ่ง โดยมีขวานเป็นอาวุธหมูหริ่งลักษณะตัวเหมือนหมูมีขนเหมือนหมูแต่ปากเหมือนหมา  ตีนเหมือนหมา ถูกหมูหริ่งกัดที่หัวเข่า 14 แผล มีรอยแผลเป็นที่เข่าซ้ายติดตัวอยู่จนทุกวันนี้  โดยทั่วไปคนที่เป็นพรานรักปืนคู่ชีพมากหากไม่รักจริงไม่ยอมยกให้เป็นเด็ดขาด  เมื่อเล็กมีความสุขเพราะเป็นที่รักของคุณตา

            ตั้งแต่เด็กๆมีนิสัยเล่นกับเด็กด้วยกันมักจะเล่นเป็นหัวหน้าหรือหัวโจก  เพื่อน เด็กๆ ด้วยกันยอมรับ  รักพวกพ้องเพื่อนฝูง  เพื่อนฝูงถูกรังแกหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจะช่วยปกป้อง  ผู้หลักผู้ใหญ่  ครูอาจารย์เห็นแล้วรัก  ให้ความเมตตา เข้าหาคนเก่ง ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ เป็นคนใจเร็วใจใหญ่ เผื่อแผ่เมตตาคนและสัตว์ชอบคบเพื่อนและมีเพื่อนที่อายุสูงกว่า

            เดินทางไปอำเภอชุมแสงครั้งแรก  อายุประมาณ 7 หรือ 8ขวบ  ตามพ่อไปโดยพาหนะเกวียน  เดินทางผ่านบ้านเกาะแก้ว  บ้านทำนบ จะมีเจ้าของที่ดินมาคอยเก็บเงินค่าผ่านทางในที่ดินตนเอง  เก็บเงินเกวียนเล่มละ 1
บาท ไปนอนพักเกวียนที่หนองอีขัดใกล้ตลาดชุมแสง เช้าตื่นขึ้นเดินเข้าตลาดชุมแสงของที่ซื้อจะเป็นน้ำมันก๊าด  กบมือ เสื้อผ้าและอื่นๆ แต่จะขาดไม่ได้ คือขนมปังปีบเล็กมาฝากลูก เมื่อเวลาเดินทางกลับมาถึงบ้านลูกๆ จะวิ่งมาเพื่อรับขนมฝาก

           ไปนครสวรรค์ครั้งแรกเมื่ออายุ 20  ปี บวชแล้วตามหลวงพ่ออ๋อยไปวัดนครสวรรค์ ตลาดปากน้ำโพ ต้องข้ามเรือจากสถานีรถไฟปากน้ำโพไปฝั่งตลาด

สาเหตุที่ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4-6  

           เพราะพ่อแม่มีบุตรถึง   8 คน  เป็นหญิง 6 คน  ชาย 2 คน  น้องชายยังเล็ก พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ใกล้ที่ว่าการกิ่งอำเภอและต่อมายกฐานะเป็นอำเภอ  อุทิศตนเองต่อหน้าที่การงาน  ละทิ้งครอบครัวจึงต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการทำนา  ญาติพี่น้องไม่เคยช่วยเหลือ  ต้องอาศัย น้าลอ  โอภาษีซึ่งเป็นน้องแม่ บรรดาอาน้องพ่อไม่เคยดูดำดูดีเลยใจร้ายจริงๆ

          ออกเที่ยวป่าดงหนองบัว  คบแต่คนที่มีอายุรุ่นน้า  รุ่นลุงเป็นส่วนมาก  ทั้งที่ตนเองมีอายุ 15 ปี  เคยยิงวัวป่าอาการสาหัส  ตามไปกลางป่า 1 คืน 2วัน  ไม่ได้กินข้าวเลย  โดยมีปืนลูกซอง  เบอร์ 12  เป็นอาวุธมีความชำนาญในการใช้เป็นอาวุธประจำกายสามารถยิงปืนยาวมือเดียวได้

         เกือบฆ่าคนหลายครั้ง เมื่อตอนหนุ่มมีร่างกายเล็ก  แห้ง แกร่ง สมกับคุณตาเรียกว่าไอ้แห้ง แต่เดินเก่ง มีความกล้าเป็นทุน ครั้งหนึ่งได้ไปเที่ยวป่า เดินสะพายปืนลูกซองอยู่หลังน้าชาย พบกับนักเลงเก่าที่หนีไปอยู่ป่าเดินมากับเมีย 2 คน  พอเดินหลีกทางกันได้ประมาณ 5 วา ได้ยินเสียงเมียนักเลงห้ามว่าอย่าพี่ อาศัยที่เป็นนักเดินป่า เขาจะสอนกันให้ใช้หูให้มีความสัมผัสไวจึงได้ยิน  จึงเอามือใส่ไปในโกร่งไกปืน ชำเลืองดูว่าถ้ามันเอาปืนลงจากบ่าเราก็จะหมุนตัวยิง  ได้ยินเมียเขาห้ามถึง 2 ครั้ง  สมองสั่งทันทีว่า ต้องฆ่าเมียด้วย เมียกำลังท้องคิดสงสารเมียคนร้าย  จึงระวังเชิงกันจนห่างจากกันเป็นอันว่า ไม่ได้ทำบาป  ถ้าเกิดเหตุขึ้นคงไม่ได้บวชเรียนแน่นอน  เมื่อเดินทางถึงชุมชน (ที่พักกลางป่า) ไม่บอกใครด้วยเกรงจะถูกคนโตดุเอาด้วยธรรมเนียมนักเดินป่า  เขามีกฎว่า

          1. ไม่สะพายปืนเวลามีเหตุ  จะได้พร้อมเหมือนระพิน  ไพรวัลย์  ไม่มีพลาด

          2. ต้องหูไว ตาไว  เมื่อพบคนแปลกหน้า  ถ้าถือปืนพร้อมอยู่เขาจะไม่กล้าลงมือ แต่อย่าแสดงกริยาให้คนแปลกหน้ารู้จะเป็นการเผชิญหน้ากัน

การผจญไพรในป่าดงหนองบัว

           ครั้งหนึ่งชวนเพื่อนไปต่อไก่ป่าที่เขาสูงมีข้าวคนละห่อเดียวติดตัวไปเป็นมื้อกลางวัน ชวนกันไปนั่งห้างที่คุ้งกระสังบริเวณดงดิบมีนายถวิล  ใยนวล  นายประสิทธิ์ และนายไกร ศรสุรินทร์ ปรากฎว่าไม่ได้สัตว์อะไรจึงชวนกันกลับบ้าน ด้วยความเป็นเด็กไม่รู้ว่าคนโตเขาห่วงใยอย่างไร

           ทางบ้านรอตะวันขึ้นในวันใหม่ยังไม่กลับ  คนโบราณหนองบัว  ถ้าลูกหายไปในป่าหรือหลงป่า  เขาจะทำสำรับกับข้าวไว้กลางแจ้ง  แล้วเรียกให้ลูกที่หายมากินข้าวเอาเคล็ด  การเดินทางกลับมาช้าเพราะตอนเย็นกินข้าวเดนที่เหลือกลางวันเป็นพิษท้องเสีย  กินมะละกอข้างทางจนถึงบ้าน  แปลกใจว่าทำไมคนจึงมารับกันมากมาย  ทุกคนพูดดีไม่ดุด้วยพอขึ้นบ้านเหมือนได้เป็นพระ  มีกับข้าวกลางนอกชานของดีๆ ทั้งนั้น  3 คนเพื่อนไม่สนใจอะไรกินข้าวจนอิ่ม

            ด้วยเพื่อน 3 คนไปเที่ยวป่าค้างคืน 1 คืน  กับครึ่งวันไม่ได้กินข้าว 3 เวลา  พ่อแม่ร้องไห้ไปตามกัน  แล้วก็บ่นว่า “จะเอาอย่างไอ้เณรได้อย่างไร  มันเคยป่า แต่ลูกข้าไม่เคยเข้าป่าจะเป็นอย่างไรไม่รู้

จับจองไร่ในดงหนองบัว

           พ.ศ. 2500  อายุ 15 ปี  ได้ไปจับไร่ที่เขาบ่อผักไห  โดยเดินทางจากบ้านไปถึงไร่  ประมาณ 10 กิโลเมตร 
อยู่กลางป่าไปพักในป่าคนเดียวในตอนเช้าเย็นกลับทุกวัน  สมัยนั้นนิยมทำไร่กล้วยตามเชิงเขา  วันที่ไปจับไร่นั้น  ในหุบเขาคนโตเขาชิงกันหมด  เราคนเล็กจึงได้ส่วนนอกทำให้มีที่มากประมาณ
300 ไร่  สมัยนั้นไร่กล้วยเขาจะเลือกทำเลหุบเขาด้านใน  ปลูกกล้วยงามดี  และป้องกันขโมย  ไร่อยู่ด้านนอกจะถูกขโมยก่อน  เป็นบุญของเราได้ที่มากเป็นป่าดงไม่ใช่ป่าไผ่

ชอบการต่อสู้

             เมื่อเป็นเด็กชอบนักมวย  ยุคสมเดช ยนตรกิจ  เป็นแชมป์มวยไทยดัง  จึงฝึกหัดวิชามวยสากลกับอาจารย์ดำรงค์  เอียบเอื้อยุทธ  ค่ายมวย ส.สะแกระหง  และมาหัดมวยไทย  กับนายบุญธรรม มีวิชาติดตัว ด้วยเหตุตัวเล็กเสียเปรียบคู่ต่อสู้เรื่องกำลัง  จึงศึกษาเชิงมวยแบบมีครู  ชกมวยในหมู่บ้านรุ่นเดียวกันหาคู่ชกยาก

            ครั้งหนึ่งท้าชกกับเพื่อน 2 คน  ต่อ 1 คน  ให้เพื่อน 2 คน  ปรากฎว่าตั้งแต่ชกมาครั้งนี้หนักมาก  กลายเป็นมวยหมู่เกิดขึ้น  ตนเองอยู่กลางจึงเจ็บมาก  ชอบขึ้นต้นไม้เป็นงานท้าทาย  หรือเดินทางไกลๆ เป็นต้น

เป็นคนมีหลายชื่อ

            1. ชื่อไอ้แห้ง  เป็นชื่อพิเศษที่คุณตาน้อยเรียกในนามคนโปรด

             2. เณร  เป็นชื่อพ่อแม่พี่น้องเรียกก่อนบวช

             3. ชื่อไกร ศรสุรินทร์  เป็นชื่อจริง

         คนหนองบัวนั้นลูกคนที่พ่อแม่รักจะเรียกกันว่าไอ้เณร และมีชื่อพ่อพ่วงต่อท้ายในฐานะเพื่อนสนิทว่า ไอ้เณรลัพธ์

         ชื่อพิเศษที่เพื่อนเรียกกันจนชินปากและทำให้ศิษย์บางคนเห็นว่าไม่สมควรคือ  ฮ่องเต้ แต่ไม่ถือเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ชื่อที่รักที่สุดคือชื่อ ไอ้แห้ง ด้วยเป็นชื่อที่คนเรียกด้วยใจรัก และบริสุทธิ์เพราะคุณตาน้อยเป็นพ่อของแม่

เมื่อเราบวช

          ได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เมื่ออายุครบ 20 ปี  ณ วัดหนองกลับ  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2506  มีพระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงพ่ออ๋อย) เป็นพระอุปชฌาย์ บวชแล้วตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย สอบได้นักธรรมตรี  นักธรรมโท  และได้นักธรรมเอกในพรรษาที่ 4  จึงเป็นครูสอนพระศึกษานักธรรมวัดเทพสุธาวาส  และวัดหนองกลับ  ทำหน้าที่อุปฐากพระอุปัชฌาย์  ทำงานให้ทุกอย่าง

          ปี  พ.ศ. 2510  ย้ายไปอยู่วัดอมรกายิการาม (วัดใหม่ยายมอญ)  เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร (สมัยนี้) 
กลางคืนไปเรียนภาษาอังกฤษที่วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์อยู่
1 ปี  โยมมารดาขอร้องให้มาอยู่วัดใกล้ๆ บ้าน

         ปี พ.ศ. 2511 ย้ายมาอยู่วัดนครสวรรค์ตามคำขอร้องของโยมมารดา

         ปี   พ.ศ. 2517  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ  ปีเดียวกับที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายก รัฐมนตรี 

          วันที่  5 ธันวาคม พ.ศ. 2520  ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวาปีทุมรักษ์

          วันที่   5 ธันวาคม พ.ศ. 2545  ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระนิภากรโสภณ พระราชาคณะชั้นสามัญ

           ความนึกคิดระยะแรกอยากออกจากเจ้าอาวาสปีละหลายครั้ง  ด้วยการปกครองยุ่งมาก  ประกอบกับเป็นคนตรง  ได้อาศัยกำนันแหวน บุญบาง  และกำนันเทียน ท้วมเทศเป็นญาติผู้ใหญ่ค้ำจุนไว้

            ต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัว จึงศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องในการปกครองคณะสงฆ์นำไปใช้ในการพัฒนา  โดยมีนายอำเภอสมหมาย  ฉัตรทอง เป็นเพื่อนต่างเพศพรหมจรรย์เป็นเพื่อนคู่คิดทำงานด้วยกันด้วยความกลมเกลียว  มีโยมบิดาของนายอำเภอสมหมายชี้แนะว่าควรทำเช่นไร  ท่านสอนดุจดั่งบิดาสอนบุตร  จึงจดจำไว้ปฏิบัติสืบมา

การศึกษาพิเศษเมื่อเป็นพระ

            1. หัดเรียนวิชาคาราเต้  สอนเณรเล็กๆเพื่อป้องกันตัว

            2. หัดเรียนวิชาวาดเขียน  จิตรกร  งานศิลป์  สามารถเขียนรูปในหลวงได้

            3. เรียนวิทยุไฟฟ้า  สามารถประกอบวิทยุทรานซิสเตอร์ได้่

            4. วิชาช่างไม้  การเขียนแบบ แผนผังต่างๆ ได้ 

             5. เรียนภาษาจีนแต้จิ๋ว  หัดพูด และเขียนด้วยตนเอง

             6. เขียนภาษาขอม  สามารถเขียนตัวหนังสือขอมได้

             7. เรียนภาษาอังกฤษที่วัดมหาธาตุฯ  ท่าพระจันทร์

             8.เรียนหมอแผนโบราณจากอาจารย์เดิม  นครสวรรค์

             9. เรียนวิชากฎหมายเบื้องต้นเพื่อเสริมความรู้

            10. เรียนนักธรรมตรี  โท  เอก  สอบได้ทุกชั้น

            11. เรียนภาษาบาลี  ที่วัดนครสวรรค์

             12. เรียนศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 4 เรียนที่วัดนครสวรรค์รุ่นแรก

             13. เรียนวิชาโหราศาสตร์จากเจ้าคุณพระธรรมญาณ (บุญนาค)  วัดเศวตฉัตร  กรุงเทพมหานคร

ประวัติส่วนตัวในภาคฆราวาส  และภาคเมื่อเราบวชเป็นภาคพิสดารหาอ่านได้ยากคงมีเท่านี้

       หมายเหตุ นายสมหมาย ฉัตรทอง ขอบันทึกประวัติของ   พระนิภากรโสภณ  เมื่อตอนเป็นวัยเด็ก วัยหนุ่ม ก่อนจะบวชไว้ด้วยตนเอง เพื่อนำมาบันทึกลงในหนังสือ ๖๐ ปี จารึกไว้บนแผ่นดินหนองบัว ท่านเต็มใจเล่า  ผมเป็นผู้บันทึกไว้  แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นประวัติส่วนตัวช่วงเป็นฆราวาสดังนี้แล

 

มิตรต่างเพศพรหมจรรย์

        ในเอกสาร พระครูวาปีปทุมรักษ์ พระนักพัฒนาท้องถิ่นแห่งอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์” รวบรวมและเรียบเรียงโดยนายบุญเรือง  อินทวรัตน์ (เอกสารโรเนียวไม่ระบุ เดือนปีที่พิมพ์) ในหน้า 11 หัวเรื่องนายอำเภอคู่บารมี สมหมาย ฉัตรทอง กล่าวไว้ว่า “ในฐานะพระภิกษุสงฆ์ นักพัฒนาของท่านพระครูวาปีปทุมรักษ์นั้น ท่านดำเนินงานโดยอาศัยแนวนโยบายของทางราชการซึ่งมีนายอำเภอเป็นหลักสำคัญ ท่านผู้นั้น คือ นายสมหมาย ฉัตรทอง ซึ่งเป็นนายอำเภอนักพัฒนาคู่บารมีกับท่านพระครู”  

       ขอเปิดหัวใจรับด้วยความจริงว่าท่านเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดมิตรร่วมปรึกษาได้ไปมาหาสู่ท่านมิได้ขาดระยะทีดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัวขณะนั้นเนื่องจากนายอำเภอสมหมายพูดได้อย่างเต็มปากว่าโตมาในวัดรู้ว่า
ท่านพระนิภากรโสภณมีญาติเยอะ และเป็นที่นับถือของคนทั้งอำเภอแม้แต่พระทุกรูปในอำเภอหนองบัวก็ต้องเชื่อฟังท่านเมื่อเอาท่านออกเดินหน้าแล้วนายอำเภอสมหมายเดินตาม งานสำเร็จออกมา ต่างก็นำไปใช้อ้างอิงกันได้พระท่านคงไม่แย่งไปขอความดีความชอบของนายอำเภอสมหมาย ดังนั้นเมื่อผลงานบังเกิดขึ้นจึงเป็นที่พอใจของทั้งนายอำเภอฝ่ายสงฆ์ และนายอำเภอของประชาชน ยิ่งกว่านั้นท่านยังเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัยให้ในบางโอกาส
ซึ่งนายอำเภอสมหมายมิได้ล่วงรู้เลย
 เมื่อก่อนพระสงฆ์มุ่งแต่จะพัฒนาในวัดแต่นายอำเภอสมหมายเป็นผู้ชักนำพระนิภากรโสภณมาสร้างผลงานพัฒนานอกวัดให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมทั้งตั้งแต่บัดนั้นจากวันนั้นจนถึงขณะนี้
และเดี๋ยวนี้ดังได้เกิดประโยชน์ในรูปโครงการสำคัญที่สำเร็จเป็นประโยชน์แก่ชาวหนองบัวมากมาย

 วิเคราะห์เชิงอรรถ
พระนิภากรโสภณเกิดวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2486 นายอำเภอสมหมายเกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2584 วัยวุฒิใกล้เคียงกับท่านเจ้าคุณท่านมีความคิดแบบผู้ใหญ่คบคนที่วัยสูงกว่ามาแต่เด็ก ฉะนั้นจึงไปได้ดีกับท่านนายอำเภอ
สมหมาย ความคิดต่างๆ จึงใกล้เคียงกันเข้าใจความคิดกันง่ายนับว่าเป็นโชคดีของนายอำเภอสมหมายที่ได้พบและร่วมงานกับทรัพยากรบุคคลที่ดีของอำเภอหนองบัว



หมายเลขบันทึก: 534280เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุญาตนำภาพพระเดชพระคุณพระนิภากรโสภณ(หลวงพ่อไกร  ฐานิสฺสโร : ศรสุรินทร์)และข้อมูลจากบันทึกดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ มาประกอบบทความ จากบันทีกนี้  http://www.gotoknow.org/posts/433625

Nong Bua Pictorial : ๑.วัดหนองกลับ : จารึกธรรมและบอกเล่าวิถีสังคมบนงานศิลป์


                            
                          พระครูวาปีปทุมรักษ์(พระนิภากรโสภณ)หรือหลวงพ่อพระครูไกร เจ้าอาวาสหนองบัวองค์ปัจจุบัน สืบต่อจากหลวงพ่ออ๋อยหรือพระครูนิกรปทุมรักษ์และหลวงพ่อเดิมหรือพระครูนิวาสธรรมขันธ์ กับ ดาบน้ำพี้ กำลังสาธยายให้ผู้เขียนได้ทราบถึงความสำคัญของศาสตราวุธ ศิลปะในอาวุธและการต่อสู้ของคนไทย และระบบเงินตรา ซึ่งเป็นแนวคิดและแรงบันดาลใจอันสำคัญให้ท่านได้รวบรวมสิ่งของเพื่อจัดแสดง เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้มิติต่างๆของสังคม ทั้งสังคมท้องถิ่น สังคมไทย และสังคมประเทศต่างๆของโลกที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ทำให้วัดหนองกลับเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาสิ่งแสดงเพื่อการศึกษาเรียนรู้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ(ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์ : มีนามค ๒๕๕๔) ที่มา :  http://www.gotoknow.org/posts/433625          

เจริญพรท่านรองผวจ.สมหมาย

เมื่อวาน(๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖)อาตมาภาพได้เขียนบทความรำลึกถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อไกร ชื่อบทความ "หลวงพ่อไำกร : พระผู้ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิด(หนองบัว)"

เขียนเสร็จแล้วนำไปบันทึก บันทึกไม่ได้ พิมพ์ถึงสองครั้ง(พิมพ์ในเวอร์ด แล้วก็อปไปวางก็ไม่ได้ พิพม์ที่เพิ่มบันทีก ก็ไ่ม่ได้อีก ไม่ทราบว่าเป็นทีคอมฯอาตมาหรือว่าเป็นเพระาอะไร ยังไม่รู้)

ขอกราบคารวะบูชาคนดีศรีหนองบัว ขอกราบดวงวิญญาณนักพัฒนาแห่งเมืองหนองบัวที่เสียสละทำเพื่อชุมชนตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิดมาทั้งชีวิตขอให้ดวงวิญญาณแห่งความกตัญญูของพระเดชพระคุณที่มีต่อบ้านเกิดนี้จงไปสู่สัมปรายภพเบื้องหน้าด้วยเ่ทอญ.

หมายเหตุ : หลวงพ่อไกร มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท