ชาลี


ระหว่างบวช ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หอบหนังสือไปอ่านสองสามเล่ม อันที่จริงอยากจะอ่านอะไรหลายเล่ม แต่เลือกเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา น่าจะเหมาะกว่า

เล่มแรกคือพระเวสสันดรชาดก คือ พระมหาชาติ นั่นเอง อ่านไปเพลินๆ แป๊บเดียวก็จบ เพราะภาษาไม่ยาก มีติดศัพท์อยู่คำเดียวคือ "เมาะ" กลับมาเปิดพจนานุกรมดูแล้ว...


ที่สะดุดก็คือ ชื่อพระกุมาร กัณหา และชาลี

กัณหา นั้นฟังดูเข้าใจได้ ว่าเป็นภาษาบาลี แปลว่า ดำ

ส่วน ชาลี นั้น คิดว่าบางท่านอาจไม่เข้าใจ จึงนำมาเฉลยไว้ที่นี่


ชาลี (ไม่ใช่ Charlie) ในภาษาบาลีและสันสกฤตพบได้บ่อยๆ แต่เป็นรูป "ชาล" มากกว่า คำนี้ หมายถึง ตาข่าย เช่น ในคัมภีร์มหายาน เมื่อเล่าถึงพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ ก็มักจะประดับประดาด้วยตาข่ายทองคำ ท่านใช้คำว่า "ชาล" นี้

คำว่า ชาลี ย่อมขยายมาจาก ชาล ดังเนื้อความปรากฏในกัณฑ์หิมพานต์ว่า เมื่อประสูติพระโอรส พระนมทั้งหลายเอาข่ายทองเข้ารองรับ ถึงเรียกพระนามว่า ชาลีกุมาร

ตามหลักภาษาสันสกฤต ชาลี เป็นเพศหญิง ไม่น่าจะเหมาะกับชื่อพระโอรส ศัพท์เดิมควรจะเป็น ชาลินฺ แปลว่า ผู้มีตาข่าย ใช้รูปประธานเป็น ชาลี จึงจะตรงกับหลักไวยากรณ์ แต่ในภาษาบาลีท่านวิเคราะห์ไว้อย่างไรก็ไม่ทราบ ดูตามคาถาแล้ว สะกด ชาลิ หรือชาลี ก็มี (สันสกฤตไม่มีรูป ชาลิ)

เหตุที่ต้องกล่าวถึงทั้งภาษาสันสกฤตและบาลี ก็เพราะนิทานเก่าๆ ของเขา แม้ในปัจจุบันจะปรากฏว่าได้เค้ามาจากคัมภีร์ภาษาบาลี แต่บางครั้งก็ใช้ชื่อจากภาษาสันสกฤต ดังเช่น นางมัทรี ตามพระบาลีว่า มัทที (มทฺที) แต่เราใช้ว่า มัทรี ตามรูปสันสกฤต (มทฺรี ศัพท์เดิมอ่านว่า มัท-รี madrī, แต่เมื่อเห็น ท กับ ร เราจึงอ่านควบเป็น มัด ซี ไป) รวมทั้งศัพท์อื่นๆ อีกมากแม้เรื่องในพุทธศาสนาก็ตาม

ดังนั้น เมื่อค้นชื่อในวรรณคดีเก่าๆ จึงต้องสืบสวนทัั้งรูปสันสกฤตและบาลีไปพร้อมๆ กัน


เล่าไว้สั้นๆ เผื่อบางท่านสงสัยว่า ทำไมในชาดกภาษาบาลีถึงได้มีชื่อ ชาลี เหมือนฝรั่งมังค่า ก็จะได้ทราบที่มา เล่าให้ลูกๆ หลานๆ ฟังได้... 

หมายเลขบันทึก: 533627เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2013 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2013 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

กัณหา และชาลี .... แปลว่า .... ดำ และ ตาข่าย (ทองคำ) .... ขอบคุณความรู้ใหม่ๆ และดีดีนี้ค่ะ


         


 ได้คำแปล ชื่อคุณสามีแล้วคะ   ชาลี  ตาข่ายทองคำ

From พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
เมาะ

เมาะ ๑: น. ที่นอนทําคล้ายฟูก แต่ยัดนุ่นหลวม ๆ สําหรับเด็ก.
เมาะ ๒: สัน. คือ.
เมาะ ๓: น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Alocasia odora C. Koch ในวงศ์ Araceae ลําต้นอวบ ใบใหญ่ ก้านใบกินได้ มีมากทางภาคใต้.


From Thai-English Lexitron Dictionary 2.0
เมาะ

N. child's mattress
  def:[ที่นอนทำคล้ายฟูก แต่ยัดนุ่นหลวมๆ สำหรับเด็ก]
  syn:[ฟูก, ที่นอน, เบาะ]
  sample:[มีแต่เด็กไม่เดียงสายังนอนอยู่ในเมาะเท่านั้น]

"เมาะ" ในข้อความข้างล่างนี้ครับ

สา เทวตาวิคฺคหิตา หุตฺวา วันนั้นนางอมิตตดา เทวตา เมาะ ภุมฺมเทวตา มีภูมินทรเทพยดามเหศรศักดิ์สุรเทเวศร์

มหาพฺรหฺเม ดูกรมหาพราหมณ์พฤฒาเฒ่าผู้ถือสาส์น เอส เมาะ เอโส ปพฺพโต ... ภูมิพนัสบรรพตพิสัยสูงเสมอเมฆ เสโล เมาะ เสลมโย เทียรย่อมศิลาลายแลอดิเรกอร่ามรุ่ง

เคยสงสัยและถามพระอาจารย์สมัยเรียนที่โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ค่ะ

แต่บันทึกของคุณครูให้ความรู้ที่ลึกลงไปมากกว่า

ขอบคุณค่ะ

สมัยเด็ก ๆ เคยดู ลิเก ตอนมีงานเทศน์มหาชาติ

แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องนี้ 

ขอบพระคุณที่ให้ความรู้ค่ะ

ไม่แน่ใจว่า มาจาก ณี ปัจจัยหรือเปล่า ชาลี+ณี  = ชาลี ถ้าเป็นหญิงใช้รูป ชาลินี

ศัพท์ทำนองนี้ ที่พบเห็นก้ ธมฺมจารี ธมฺมจาริณี วาที วาทินี

ธรรมะจัดสรร ให้บันทึกนี้มาเตือนใจ   ......พระเวสสันดรชาดก  ผมกำลังคิดที่จะกลับไปอ่านเรื่องราวถึง เหตุผลจริงที่ พระเวสสันดรยอมสละได้ถึงขนาดนั้น..... 

เพราะชาวต่างชาติชอบมี commnet มากในเรื่องนี้  จะเอาไปตอบให้เขาเข้าใจซะที

ขอบคุณครับ พี่เปิ้ล, ชื่อกัณหา ซับซ้อนกว่านี้อีกหน่อยนึงครับ ;)

คุณพี่ ประกาย~natachoei ที่~natadee ดีใจจัง ได้ช่วยแปลชื่อคุณสามี อิๆๆ

ขอบคุณครับ ท่าน Sr สงสัยว่า เมาะ ในความหมายว่า "คือ" ครับ แต่ยังไม่สนิทใจ

ดอกเตอร์ หยั่งราก ฝากใบ ครับ ชื่อเก่าๆ มีประวัติน่าสนุกครับ

อาจารย์ อิงจันทร์  ครับ ผมเคยดูตลก ที่มีกัณหา กับชาลี (แชปลิ้น) ตลกมากๆๆ 

ขอบคุณครับ คุณ miryone  เห็นจะเป็นในแนวนั้นครับ

อ.วิชญธรรม ควรอ่านเป็นอย่างยิ่งครับ อ่านแบบผู้ใหญ่ ได้ข้อคิดแบบผู้ใหญ่

เคยมีเพื่อนถามอาจารย์ถึงการทำทานของพระเวสสันดร อาจารย์บอกว่า อย่าเอาความคิดปุถุชนไปตัดสินพระโพธิสัตว์ อิๆๆ ... จริงๆ แล้ว เนื้อหาในเรื่องก็เน้นไว้หลายตอนเหมือนกันครับว่าบริจาคเพื่อเหตุใด

 '' อย่าเอาความคิดปุถุชนไปตัดสินพระโพธิสัตว์ ''

ชอบมากค่ะ เพราะเมื่อก่อนหนูก็แอบคิดหาเหตุผลเหมือนกันว่าทำไม อิอิ

.... มาหา ... และเติมเต็ม.......สิ่งที่ไม่เคยรู้ค่ะ

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

ชาลีแปลว่าตาข่าย

กัณหาแปลว่าธรรมอันดำ(อกุศล)

มัทรีแปลว่าความตระหนี่

ถ้าไม่ตัดสามสิ่งนี้ทิ้ง จิตจะบริสุทธิ์จนบรรลุธรรมได้อย่างไร?

เราหาความหมายชื่อมาตั้งนานค่ะ เราก้อชื่อ กัญหา สะกดคนละแบบค่ะ หาความหมายไม่มี



สำหรับความเห็นที่ว่าอย่าเอาความคิดปุถุชนไปตัดสินพระโพธิสัตว์ ผมว่าพูดถูกแล้ว แต่ให้ถูกกว่าต้องอย่าเอาความคิดเราไปตัดสินใคร...อยากเป็นยอดคนอย่างพระพุทธองค์ ต้องคิดให้ใด้ว่าทำไงเราจึงจะเหนือและเข้าใจในความเป็นมนุษย์มากกว่าพระพุทธองค์...สำหรับผมมองเรื่องราวคำสอนของท่านแล้วเอามาเป็นแบบแผน...ครับ

ที่ผมเข้าใจและได้ฟังมาเมื่อสมัยเด็กๆที่มีละครพระมหาเวสสันดร พระมหาเวสสันดรหรือพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงรู้ว่าชูชกจะต้องผ่านเมืองของพระองค์ จึงตั้งค่าตัวกัณหาและชาลีไว้สูงมากเป็นทองคำสูงเท่าตัว ช้างม้าข้าทาสเพื่อแลกกัณหาและชาลี เมื่อพระบิดาของพระมหาเวสสันดรทรงทราบถึงค่าตัวเด็กที่เป็นทาส2คนของชูชกทำไมถึงสูงมาก จึงสามารถรู้ด้วยปรีชาชาญว่าเด็กทั้งสองที่เป็นทาสของชูชกต้องไม่ใช่เด็กธรรมดา ต้องเป็นหลานของพระองค์แน่ จึงได้เรียกชูชกเข้าวังและถ่ายค่าตัวกับชูชก พระมหาเวสสันดรไม่ได้ทิ้งลูกแต่พระองค์ทรงรักลูกมาก พระองค์รู้ว่าถ้ากัณหาชาลีอยู่ในป่าก็ได้รับความลำบาก จึงสละทานให้ชูชกเพื่อนำกลับมาสู่วังโดยกุศโลบายตั้งค่าตัวสูงๆดังกล่าว พระนางมัทรีก็เช่นกันพระองค์สละเพื่อให้ไปอยู่สบาย ผิดถูกประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ แต่ถ้าผมเข้าใจถูกกรุณาช่วยกันแชร์ให้คนอื่นได้รู้ เพื่อไม่ให้ปรามาสพระพุทธเจ้าเป็นกรรมหนักมากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท