ตำบลนาเลิง อำเภอเสลภูมิ : ที่มาของคำว่า "เลิง"


      ตำบลนาเลิง เดิมทีที่มาของชื่อตำบลน่าจะมาจากชื่อบ้านนาเลิง ที่คนท้องถิ่นเรียกติดปาก ก็คือ “ บ้านอีเลิง” หมู่บ้านแถวนี้ก็มีชื่อลักษณะเดียวกันนี้อยู่หลายหมู่บ้าน อย่างหมู่บ้านหนึ่งซึ่งตั้งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำชี ก็มีชื่อว่าบ้าน “อี่โก่ม” ปัจจุบันก็ยังใช้ชื่อเดิม และอีกหมู่บ้านหนึ่งในลุ่มน้ำชีเหมือนกันก็มีชื่อว่า “บ้านอี่ด่อน” ชื่อ “อี่ด่อน” นี้จะไม่ไพเราะหรืออย่างไรไม่ทราบ ปัจจุบันเห็นใช้ชื่อว่า “บ้านวังทอง” คำว่า อี หรือ อี่ นี้เป็นคำภาษาถิ่นอีสาน เป็นคำนำหน้าชื่อผู้หญิง ถ้าเป็นภาษากลาง (มาตรฐาน) ก็คือนางนั่นเอง  จาก อีเลิง มาเป็นนางเลิง อันนี้ถ้าพิจารณาจากคำว่าอีเลิงก็น่าจะเป็นอย่างนั้น มีอีกคำหนึ่งที่ออกเสียงใกล้กันกับคำว่าอีเลิง ก็คือคำว่า “อีเลิ้ง” ซึ่งเป็นคำเรียกตุ่มหรือโอ่งใหญ่ว่า ตุ่มอีเลิ้ง หรือตุ่มนางเลิ้ง แต่เมื่อสอบถามดูในอดีตหมู่บ้านนี้ก็ไม่มีปรากฏว่าเป็นหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น โอ่ง ไห ถ้วย ชาม อะไรเลย แต่หมู่บ้านที่ทำอาชีพนี้ในอดีตก็คือบ้านแห่ ก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลนาเลิงนั่นเอง คำว่า “นางเลิ้ง” เป็นอันตกไป ทีนี้มาพิจารณาคำว่า “นาเลิง” คำนี้เป็นคำประสม คำประสมก็มาจากคำมูล (คำดั้งเดิม,คำที่มีอยู่แต่เดิม,) ๒ คำ คือคำว่า “นา” กับ “ เลิง” ประสมกันเข้า เป็นคำว่านาเลิง มีพระผู้ใหญ่บางรูปท่านให้ความเห็นว่า “นาเลิง” มาจากคำว่า “อีเลิง” และท่านยังให้ความหมายว่าหมายถึงการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ตอนที่ท่านพูดเรื่องนี้ข้าพเจ้าผู้เขียนยังไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ เลยไม่ได้จดจำว่า การเล่นนั้น เล่นอย่างไร

     แต่เมื่อได้บอกแล้วว่าคำว่า “นาเลิง” เป็นคำประสม แยกออกเป็นคำว่า “นา” และ”เลิง”  คำว่า “นา” นี้ก็คงเป็นที่ทราบกันดี ว่าคือพื้นที่สำหรับทำนาข้าว ปัจจุบันคนในถิ่นนี้จะทำนาปีละสองครั้ง คือทำนาปีและนาปรัง นาปีก็คือการทำนาในฤดูกาลตามปกติ นาปรังก็คือการทำนาครั้งที่สอง ทำนอกฤดูฝน คือทำในหน้าแล้ง อาศัยสูบน้ำจากแม่น้ำชี้มาหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา พันธุ์ข้าวนาปรังก็จะเป็นข้าวที่มีอายุการเพาะปลูกไม่นาน ประมาณ ๓ เดือนก็ได้เก็บเกี่ยวนำไปขาย

     ทีนี้มาพิจารณาคำว่า “เลิง” คำว่าเลิงนี้ข้าพเจ้าเคยอ่านนิราศชีวิตของพระสุทธิสารมุนี เจ้าอาวาสวัดสำราญนิเวศ เจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ (ธรรมยุต) โดยท่านใช้นามปากกาว่า ส.บุญญารักษ์ ปัจจุบันท่านได้ถึงมรณภาพไปนานแล้ว ในนิราศนั้นท่านพรรณนาความเป็นมาของท่านว่า เป็นชาวอำเภอเลิง สมัยก่อนขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดยโสธร ในนิราศตอนที่กล่าวถึงชื่ออำเภอมีใจความว่า

           “คำว่าเลิงหมายถึงแหล่งแห่งใกล้น้ำ   ดินชุ่มฉ่ำพงหนาน่าสรรเสริญ

           จะทำนาหรือไร่ให้เพลิดเพลิน           ไม่ขาดเขินการทำมาหาเลี้ยงตน”

     ปัจจุบันอำเภอเลิง เปลี่ยนเป็นเลิงนกทาดังที่ทราบกัน ที่ได้สร้อยต่อท้ายว่า “นกทา” ก็เพราะสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ ได้เพิ่มให้เพื่อให้มีความหมายดีกว่าเดิม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในตอนที่เสวยพระชาติเป็นนกทาโพธิสัตว์ ด้วยหวังจะให้ชื่ออำเภอมีความหมายผูกพันกับพระพุทธศาสนา อันจะเป็นสิริมงคลต่อไปในภายภาคหน้า

 

     ความหมายของคำว่า “เลิง” ดังที่พระคุณท่านได้พรรณนาไว้ก็เห็นจะตรงกับสภาพภูมิประเทศบริเวณนี้ คือ “หมายถึงแหล่งแห่งใกล้น้ำ” ความจริงก็ใกล้จริงๆ บริเวณนี้มีแหล่งน้ำมาก แหล่งน้ำใหญ่ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนก็คือแม่น้ำชี  อีกด้านของหมู่บ้านก็มีหนองน้ำตามธรรมชาติหลายแห่ง เช่น หนองไชยวาน หนองโดน หนองสิม หนองนาแซง หนองอีเลิง หนองโพธฺ์ หนองแฮด  บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์จริงๆ ฤดูน้ำ น้ำก็จะมาก จะแห้งแล้งนี้มีน้อยมาก มีแต่น้ำท่วม สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ สมดังที่ท่านว่า “ไม่ขาดเขินการทำมาหาเลี้ยงตน” คำว่าเลิงก็คงจะต้องยุติลงเพียงนี้  ท่านผู้ใดเป็นคนถิ่นนี้มีความคิดเห็นอย่างไร อันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนของเรา ก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝากข้อคิดเห็นไว้ จักเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

                                                                 พระมหาวินัย

                                                  ๑๔.๑๘ น. : ๔ เมษายน ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 532122เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2013 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อันนี้ดีมากครับ ผมเคยถามพ่อ พ่อบอกว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะอะไรทำนองนั้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับผิดซะทีเดียวอย่างที่ท่านพระมหาได้ให้ความหมายไว้ข้างต้น วันนี้ได้ทราบแล้วครับ ขอบพระคุณท่านพระมหาวินัยมากๆครับที่แบ่งปันข้อมมูลดีๆ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท