เมื่อปัญหาบังคับให้ต้องเรียนรู้


และเมื่อเราพบว่าการเสาะแสวงหาความรู้นั้นสามารถทำให้เรานำมาใช้แก้ปัญหาได้ผลก็จะเกิดการทำซ้ำจนเกิดเป็นความพึงพอใจและความรักไปในที่สุด

ไม่แน่ใจว่าจากเวทีสนทนาหรือเว็บไหนจำไม่ได้แล้วเขาบอกว่า การอัพสเตตัสในเฟสบุ๊คคือการเขียนบันทึกสำหรับให้ตัวเองอ่าน ผมเองก็ห่างเหินจากการเขียนบันทึกใน G2K มาหลายเดือน แต่ก็แอบเข้ามาอ่านเกือบทุกวัน(ส่วนใหญ่ไม่ได้ Login) ยังอดมองแบบขำๆไม่ได้ว่าที่นี่กำลังจะกลายเป็นเฟสบุ๊คฉบับ Multi-user ไปแล้วหรือเปล่า ขำๆนะขำๆ

ปกติเวลาเขียนบันทึกผมไม่ได้คิดว่าจะให้ตรงกับกิจกรรมของอาจารย์จันทวรรณหรอกนะครับ แต่ครั้งนี้หัวข้อมันตรงกับ Concept ของ G2K ซึ่งผมยังคงฝังใจที่อยากจะเห็นที่แห่งนี้เป็น Knowledge Pool สำหรับทุกคน แล้วอีกอย่างก็มีวัตถุดิบอยู่บ้างแล้วก็จะขออนุญาตใส่ Keywords "การเรียนรู้" เข้าไว้ด้วยสักบันทึก (หรืออาจหลายบันทึก) นะครับ




อุปกรณ์ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์และอะไหล่ที่เตรียมไว้เปลี่ยน


เมื่อเดือนที่แล้วหลานสาวของ ผบทบ.เอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาให้ช่วยดูเพราะมีความผิดปกติประเภทเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย จะว่าเป็นที่ติดไวรัสทั่วไปก็คงไม่ใช่ (เดิมเคยเป็นปัญหาแต่แก้ไขไปแล้ว) ที่สำคัญก็คือเครื่องนี้ต้องใช้สำหรับรับงานลูกค้าเสียด้วย เคยให้ช่างเอาไปดูแล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ผมรับมาแล้วเปิดดูอาการ ตั้งข้อสัญนิษฐานและทำการแก้ไขไล่ไปตามลำดับคือ

อาจติดไวรัสที่ Boot Sector ซึ่งการใช้โปรแกรมฆ่าไวรัสจากตัวเครื่องจะไม่ได้ผล วิธีการตรวจสอบและแก้ไขคือใช้โปรแกรม Anti Virus ที่บู๊ตจากแผ่นซีดีที่เรียกว่า Bootable Anti Virus Rescue CD  ซึ่งสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตโปรแกรมแอนตี้ไวรัสเกือบทุกแห่งได้ฟรี แล้วนำมาทำเป็นแผ่นซีดี ดีวีดี หรือ USB flash drive ให้บู๊ตได้ด้วยตัวเอง (มีคำอธิบายวิธีทำมาให้เรียบร้อยแล้วแต่อาจต้องมีทักษะทางด้านไอทีบ้าง ถ้ามีโอกาสจะมาเขียนบันทึกเผยแพร่ให้ลองทำกันดู) ปรากฏว่าครั้งแรกๆพบไวรัสอยู่บ้าง (น่าจะติดจาก flash drive ของลูกค้าเนื่องจากไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมป้องกัน) ซึ่งสามารถกำจัดได้ทั้งหมด แต่ต่อมาพบว่าระบบมีความผิดพลาด ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ บางครั้งหยุดการทำงาน หลายครั้งเกิดการ Reboot ซ้ำๆ ซึ่งไม่ใช่อาการของการติดไวรัสเพราะระบบปฏิบัติการของแผ่นซีดีเป็นลินุกซ์จากแผ่น CD-R ซึ่งจะไม่ติดไวรัสต้องลองแก้ไขด้วยวิธีอื่นต่อไป

ตรวจสอบระบบปฏิบัติการซึ่งเป็น MS Windows XP พบว่ามีการแจ้งเตือนความผิดพลาดหลายแบบ มีการ Restart บ่อยๆ รวมถึงขึ้น Blue screen (Blue Screen of Death หรือ BSOD) ทุกครั้งจึงได้ทำการสำรองข้อมูลแล้วติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นไม่สามารถติดตั้งได้ (ติดตั้งไปได้ 50-60 เปอร์เซ็นต์จะแสดงข้อความผิดพลาดและทำต่อไม่ได้)

ตรวจสอบ RAM (Random Access Memory) หรือหน่วยความจำหลักว่ามีปัญหาอาจจะเสียหรือเข้ากันไม่ได้หรือไม่ ขั้นตอนนี้ค่อนข้างมีปัญหาเพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ของที่บ้านกับของหลานสาวมีรวมกันประมาณ 4-5 เครื่องที่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี สามารถหยิบยืม RAM มาทดลองเปลี่ยนปรากฏว่าใช้ RAM คนละแบบกันเรียกว่าแทบไม่เหมือนกันเลยสักเครื่อง คือเทคโนโลยีที่มันพัฒนาไปเร็วมากทำให้แม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผลิตมาในยุคไล่เลี่ยกันยังมีอุปกรณ์ที่แตกต่างทางเทคโนโลยีจนไม่สามารถทดแทนกันได้ (เช่นระบบ BUS ชนิดของ Conector, Slot, Socket ฯลฯ) แต่ก็ยังดีที่เขาเคยซื้อ RAM ไว้อัพเกรดเครื่องก็เลยลองเอามาเปลี่ยนแล้วทดสอบด้วยโปรแกรมที่ใช้ Test RAM โดยตรง (มีให้ดาวน์โหลดฟรี) ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าไม่ได้เป็นที่แรม (ช่วงที่ Test RAM เครื่องสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ)
 
Hard disk drive (HDD) อาจมีปัญหาทดลองถอดออกมาติดตั้งกับเครื่องอื่นแล้วใช้โปรแกรม Diagnostic disk tool ตรวจสอบพบว่าปกติดี

ในที่สุดจำเป็นต้องรื้อเอา Motherboard ออกมาดูครับแต่เพราะผมไม่มีเครื่องมือตรวจสอบและไม่ใช่ช่างมืออาชีพ โดยเฉพาะไม่เคยเรียนมาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ (จบด้านบริหารธุรกิจ) เพียงแต่ช่วงที่ทำงานในบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และการประกอบแผงวงจรไฟฟ้า (Printed Circuit Board Assembly) จากหลายๆแห่งก็เลยมีโอกาสเรียนรู้เรื่องพวกนี้บ้าง เลยใช้การตรวจสอบวิธีเดียวที่สามารถทำได้คือ Visual Inspection ก็ใช้ตานี่แหละครับตรวจสอบดูว่ามีความผิดปกติหรือความเสียหายกับอุปกรณ์อะไรบ้างหรือไม่ พบว่ามีตัวเก็บประจุชนิดที่เรียกว่า Electrolytic Capacitor ความจุ 1000 ไมโครฟารัด 6.3 โวลท์ จำนวน 3 ตัวมีรูปทรงที่เปลี่ยนไป (Deform) ภาษาช่างทั่วๆไปเขาเรียกว่า "ซีบวม" จากประสบการณ์ลักษณะที่เห็นนี้ถือว่าเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ (เราสามารถวัดค่าของ Capacitor ได้โดยใช้เครื่องมือวัดที่เรียกว่า Capacitance Meter หรืออาจตรวจสอบการเสียได้โดยมัลติมิเตอร์ทั่วๆไปแต่ไม่สามารถบอกค่าได้) ซึ่งก็สอดคล้องกับอาการเสียของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ ส่วนสาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ดังกล่าวเกิดจากอะไรได้บ้างสามารถเสิร์ชหาดูได้จากเว็บไซต์ด้านช่างทั่วๆไป



Electrolytic Capacitor ตัวที่เสียสังเกตจากด้านบนที่มีรอยบากจะโป่งพองออกมา


สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือการตัดสินใจว่าจะทำการซ่อมแซมโดยการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสียนี้เองหรือไม่ โดยจะต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุความเสียหายของอุปกรณ์ว่านอกจากที่เห็นนี้แล้วยังจะมีความเสียหายในส่วนอื่นๆด้วยหรือเปล่า เนื่องจากแผงวงจรไฟฟ้ามักจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปได้ทั้งหมด โดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์ประเภทที่เป็นตัวเก็บประจุ ส่วนใหญ่จะเสียหายจากกรณีที่แรงดันกระแสไฟฟ้ามีความผิดปกติเช่น จากไฟเกิน ไฟตก การกระชากของกระแสไฟฟ้าซึ่งแน่นอนว่าจะต้องส่งผ่านมาจากอุปกรณ์จ่ายไฟ (Power Supply) ของเครื่อง (ผมเคยมี Power Supply เสียที่เกิดจาก Electrolytic Capacitor บวมในลักษณะนี้เมื่อเปลี่ยนใหม่ก็สามารถใช้งานได้มาจนทุกวันนี้) แต่เมื่อนำไปตรวจสอบพบว่ายังคงใช้งานได้ปกติดีแม้ว่า Specification ของ Power Supply ที่มากับเครื่องจะมีวัตต์ต่ำกว่าของยี่ห้ออื่นๆเล็กน้อยก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรหากไม่ได้เพื่มอุปกรณ์ให้มากไปกว่าที่มีอยู่แล้ว ตัวอุปกรณ์ที่เสียหายสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ราคาไม่แพง จึงตัดสินใจซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนเอง

ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ไม่ใช่ว่าผมเป็นมืออาชีพด้านนี้นะครับแต่การที่ต้องทำให้เครื่องมือทำมาหากินของหลานใช้งานได้มันเป็นตัวผลักดันให้ต้องแสวงหาความรู้เพื่อมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ตรงหน้านี้ ซึ่งสำหรับตัวผมคิดว่ามันประกอบด้วยหลายๆสิ่งคือ พื้นความรู้เดิมจากประสบการณ์ในการทำงาน ความพยายามในการสืบค้นจากแหล่งเรียนรู้(ในที่นี้คือจากอินเทอร์เน็ต)และความรักความสนใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้

สิ่งที่ผมได้มาจากอินเทอร์เน็ตคือความรู้ แน่นอนว่าเราต้องการ แต่มากกว่านั้นคือความรู้ที่ได้มานั้นต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงด้วย ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานทำให้สามารถนำเอาความรู้ที่ได้นั้นมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยพบเห็น ก็จะทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าความรู้ที่ได้มานั้นเป็นความรู้ที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้จริง

แต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็ยังไม่ได้ทำให้ปัญหานี้ถูกแก้ไขจนสำเร็จ เมื่อเราได้องค์ความรู้ที่พิสูจน์และเชื่อได้ว่าสามารถนำมาใช้ในการซ่อมแซมคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ได้แล้ว ปัญหาต่อไปก็คือการได้ลงมือทำ มีความจริงอย่างหนึ่งคือตัวแผงวงจรหลักนี้มีความเปราะบางมาก แผ่นวงจรบางๆที่เรียกว่า PCB (Printed Circuit Board) ความหนาไม่ถึง 2 มิลลิเมตรที่เราเห็นจะมีเส้นแถบทองแดงซึ่งเป็นลายวงจรซ้อนกันอยู่ 4 ถึง 6 ชั้น การใช้เครื่องมือ (เช่นหัวแร้งและกระบอกดูดตะกั่ว) เพื่อถอดอุปกรณ์ตัวนี้ออกต้องใช้ทักษะและความชำนาญมากพอสมควร สำหรับคนที่ไม่เคยลงมือทำมาก่อนนอกจากจะไม่สามารถถอนอุปกรณ์ออกมาได้แล้ว โอกาสที่จะสร้างความเสียหายให้กับแผงวงจรหรืออุปกรณ์ข้างเคียงมีสูงมาก ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นก็หมายถึงความเสียหายอย่างถาวรนั่นเอง และที่ผมกล้าที่จะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์นี้ด้วยตัวเองก็เพราะผมเคยมีประสบการณ์ เคยได้ลงมือทำสิ่งเหล่านี้มาก่อน อย่างไรก็ตามกว่าที่จะเปลี่ยนเจ้าสามตัวนี่สำเร็จก็ต้องใช้สมาธิใช้ความอดทนรวมถึงต้องลุ้นด้วยใจระทึกอยู่นานมากทีเดียว

หลังจากทำการเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จสิ้นเมื่อประกอบเครื่องใหม่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Software ที่จำเป็นในการใช้งาน และทำการทดสอบการทำงานของเครื่องมาตลอดหนึ่งสัปดาห์แล้วพบว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้สามารถทำงานได้เป็นปกติและยังไม่พบปัญหาแบบที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์อีกเลย นั่นหมายถึงเราได้นำความรู้ที่ได้จากการถูกผลักดันให้ต้องไปเสาะแสวงหามาเพื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ ความรู้ที่เราได้มานี้ไม่เป็นเพียงแค่องค์ความรู้ แต่จะรวมถึงทักษะที่ทำให้เราสามารถนำเอาทั้งหมดนี้มาบูรณาการเข้าด้วยกันแล้วลงมือปฏิบัติจนประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ และเมื่อเราพบว่าการเสาะแสวงหาความรู้นั้นสามารถทำให้เรานำมาใช้แก้ปัญหาได้ผลก็จะเกิดการทำซ้ำจนเกิดเป็นความพึงพอใจและความรักไปในที่สุด

อย่างไรก็ตามนี่คงเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เทคนิควิธีที่ทำให้รักการเรียนรู้ยังมีอีกหลากหลาย ผมอยากจะแบ่งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความสนใจการเรียนรู้หลักๆเป็นสองประเภท คือทำให้เกิดแรงจูงใจพวกหนึ่ง และทำให้เกิดแรงผลักดันอีกพวกหนึ่ง เทคนิคการถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาก็คงเป็นเป็นเทคนิคประเภทที่เกิดจากการทำให้เกิดแรงผลักดันนั่นเองครับ

หมายเลขบันทึก: 531340เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2013 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเขียนโปรแกรมได้แต่เรื่องฮาร์ดแวร์นี่ผมไม่ถนัดเลยครับ คุณบัณฑิตแก้ปัญหาได้จนเจอเยี่ยมเลยครับ เป็นผมนั้นถอดใจไปตั้งแต่ต้นแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท