เลขประจำตัวประชาชน (๑๓ หลัก) ถูกผู้อื่นแอบอ้างเอาไปใช้


เลขประจำตัวประชาชน (๑๓ หลัก) ถูกผู้อื่นแอบอ้างเอาไปใช้

เลขบัตรที่ได้คืน

31 มกราคม 2556

อยากทราบว่าบัตรประชาชนที่ช้ำช้อนแล้วได้คืนกลับไปเป็นของอีกคนแล้วนั้น

ทางเจ้าหน้าที่จะใช้เลขที่บัตรประชาชนเลขเดิมที่มีปัญหาหรือเปล่าหรือว่าทำการเพิ่มเลขใหม่ไปเลยค่ะ แล้วข้อมูลต่างๆ ที่เราเคยทำก่อนหน้านั้นละ

โดย หนูรี

http://www.gotoknow.org/questions/16155

จากคำถามของคุณหนูรี ถามว่า "เลขประจำตัวประชาชน (๑๓ หลัก) ถูกผู้อื่นแอบอ้างเอาไปใช้  เมื่อตัวจริงได้คืนเลขประจำตัวประชาชนเดิมที่ผู้อื่นเคยใช้กลับคืนมาแล้ว  จะต้องใช้เลขเดิม หรือออกเลขใหม่" (น่าจะหมายถึงคุณหนูรี ไปใช้เลฃประจำตัวประชาชนของคนอื่น)

ในความหมายนี้น่าจะหมายถึง กรณีที่มีการแอบอ้างใช้ชื่อและรายการบุคคลของผู้อื่น หรือ การแอบอ้างใช้รายการผู้อื่น (ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๑๑๐ ข้อ ๑๑๐/๑)


หลักการของเลขประจำตัวประชาชนก็คือ บุคคลคนหนึ่งต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก เพียงเลขเดียวเท่านั้น  บุคคลคนเดียวจะมีเลขประจำตัวประชาชน ๒ เลขไม่ได้เด็ดขาด

ฉะนั้น หากมีการจำหน่ายเลขประจำตัวประชาชนไปโดยผิดพลาด เช่น ถูกจำหน่ายว่า "ตาย" แต่ข้อเท็จจริง "ยังไม่ตาย" หรือจำหน่ายรายการบุคคลออกไป โดยผิดพลาด ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็จะขอคืนเลขประจำตัวประชาชนหมายเลขเดิมกลับคืนมาได้  โดยแจ้งผู้อำนวยการศูนย์ทะเบียนภาค ดำเนินการพร้อมเอกสารการสอบสวน

แต่กรณีของคุณหนูรี น่าจะเป็น "กรณีที่มีรายการบุคคลที่มิชอบ" เพราะไปใช้รายการบุคคลของคนอื่น  หากเป็นกรณีเช่นนี้ เมื่อคุณหนูรีได้มีการขอเพิ่มชื่อใหม่ของตนให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว คุณหนูรีก็จะต้องกำหนดเลขประจำตัวประชาชนใหม่ (เลขใหม่) สำหรับเลขประจำตัวประชาชนเดิมเป็นของบุคคลตัวจริง (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) ก็มีสิทธิใช้เลขประจำตัวหมายเลขนั้นได้


สรุปสั้น ๆ รายละเอียดมีมาก ตามหนังสือสั่งการ

ปกติ หากเป็นการทุจริต หรือมิชอบ ก็จะมีการสั่งการให้จำหน่ายรายการที่ทุจริตออกทั้งหมด แยกเป็น ๓ กรณีได้แก่

(๑) ทางทะเบียนราษฎร ได้แก่ การแจ้งเกี่ยวกับบ้าน การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การแจ้งย้ายที่อยู่ การแก้ไขรายการในทะเบียนบ้าน

หากมีการทุจริตในรายการใดก็ให้เข้าไปแก้ไขให้คืนสภาพเดิม โดยการเข้าไปหมายเหตุ ยกเลิกไว้

ตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ และ ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๑๑๐ ข้อ ๑๗๐

(๒) ทางทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ก็เช่นเดียวกัน

(๓) ทางทะเบียนทั่วไป ก็เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากทะเบียนทั่วไปมีหลายประเภท ได้แก่ ทะเบียนครอบครัวทั้งหมด (ทะเบียนการสมรส ทะเบียนการหย่า ทะเบียนการรับรองบุตร ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนบันทึกฐานะครอบครัว) ทะเบียนชื่อตัว ทะเบียนชื่อสกุล ทะเบียนพินัยกรรม ฯลฯ


ฉะนั้น  เมื่อจำหน่ายรายการต่าง ๆ ที่ทุจริตออกไปแล้ว  เลขประจำตัวประชาชนเดิมก็ยังอยู่  บุคคลที่ใช้เลขประจำตัวนั้นอยู่เดิม (หมายถึงบุคคลที่เป็นตัวจริงที่ถูกต้อง) ก็ยังคงมีสิทธิใช้รายการเลขประจำตัวประชาชนหมายเลขนั้นอยู่  เพราะตนเองไม่ได้ทุจริต  แต่มีบุคคลอื่นมาใช้รายการเลขประจำตัวประชาชนของเราไปใช้โดยทุจริต

  เป็นคนละกรณีกับการ “จำหน่าย” รายการบุคคลออกไป โดยมิชอบหรือโดยทุจริต หรือเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาล ในกรณีดังกล่าวจะใช้เลขเดิมไม่ได้ จะต้องออกเลขประจำตัวประชานเลขใหม่ ในกรณีที่มีการจำหน่ายรายการบุคคล (จำหน่ายเลขประจำตัวประชาชน) โดยผิดพลาด หรือโดยวิธีอื่นใด  (มิใช่กรณีโดยมิชอบหรือโดยทุจริต หรือเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาล) ก็สามารถเรียกคืน “เลขประจำตัวประชาชนหมายเลขเดิมกลับคืนมาได้” (ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๙๙/๑)


หมายเหตุ

(๑) หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องการจำหน่ายรายการบุคคลการยกเลิก /เพิกถอนหลักฐานเอกสารทางทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน

* หนังสือกระทรวงมหาดไทย ปกปิด ที่ มท 0310.3/ว 174 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2537

(บัตรที่ไม่ได้ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์)

* หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0310.3/ว 2505 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2540

(บัตรที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์)

* หนังสือกระทรวงมหาดไทย ปกปิด ที่ มท 0310.1/ว 8 ลงวันที่ 19 มกราคม 2544 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีมีการกระทำทุจริตทางทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน

(๒) พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๖ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ใช้คำว่า "ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด" , พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ใช้คำว่า "ผู้ใด" , พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔


อ้างอิง

"ปัญหา /การแก้ไขกรณีทุจริตทางทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน"

http://202.28.68.11/admin/downloadin%20/Hq3C5yFTue53210.ppt

ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน

กรมการปกครอง, "รวมหนังสือสั่งการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน."  http://www.pdf-archive.com/2012/03/27/mini/

หมายเลขบันทึก: 519879เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้รับความรู้เพิ่มเติมอีก ขอบคุณครับ

ไม่ทราบว่าคนที่ทำงานด้านนี้บนอำเภอ เขาทราบกันบ้างไหม ? ทำไมจึงกล้าปลอมแปลง แอบทำเอกสารซ้อนเพื่อเงินกันบ่อยมาก โดยเฉพาะแถวๆชายแดน..ได้เงินแล้วรีบลาออกบ้าง..ขาดและหนีราชการไปบ้าง..ทางการได้เอาจริงเอาจังบ้างไหม ? หรือปล่อยให้ลอยนวลและคนหลังๆจะได้เอาอย่างกันอย่างไม่จบสิ้น..ชาวเขาเดี๋ยวนี้มีที่ดิน.. มีบ้าน มีสมบัติมากกว่าคนที่ทำงานสุจริตอีกหลายๆคน..เฮ้อ..ปาเทกทาย..มิได้เขียนผิด..ตั้งใจเขียนต่างหาก.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท