"มนุษย์" มาจากไหน


  • ภาษาไทย : มนุษย์ 
  • ภาษาสันสกฤต มนุษฺย (manuṣyá मनुष्य) 
  • ภาษาบาลี มนุสฺส (manussa मनुस्स)

     มนุษย-, มนุษย์ [มะนุดสะยะ-, มะนุด] น. สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).   (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542)

     เคยได้ยินมานานแล้ว ว่า มนุษย์ มาจาก คำว่า มนะ แปลว่า ใจ) และ อุษย แปลว่า สูง  มนุษย์ จึงแปลว่า ผู้มีจิตใจสูง

     ผมเป็นนักอ่าน แต่ไม่ค่อยมีวิจารณญาณ อ่านแล้วก็รีบเชื่อ แถมยังเผยแพร่ความคิดนี้ไปอีกต่างหาก  แต่เมื่อค้นคว้าจริงจังแล้ว ดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างที่ว่า...

     จึงเห็นควรเขียนบทความนี้เพื่อไถ่โทษ ที่เคยเล่าอะไรผิดๆ ;)

ภาษาสันสกฤต

     ชัดเจนว่า "มนุษย์" ที่เราใช้ในภาษาไทยนี้ มาจากภาษาสันสกฤต  แต่ในภาษาสันสกฤต ไม่ได้แปล มนุษย์ ว่าผู้มีจิตใจสูง แต่แปลว่า คน มนุษย์ ผู้เป็นเพื่อนของมนุษย์ หรือมีประโยชน์ต่อมนุษย์ แปลว่าผู้ชายก็ได้ แปลว่า สามี ก็ได้ หรือบรรพบุรุษ(ผู้ล่วงลับ)จำพวกหนึ่ง ซึ่งจะต้องได้รับก้อนข้าวจากทายาทที่ยังมีชีวิต (ตรงนี้คงเป็นคติสร้างขึ้นจากการที่พราหมณ์ขอข้าวจากชาวบ้าน ในภายหลังก็เป็นพระภิกษุด้วย)
     ความจริงแล้ว ในภาษาสันสกฤต มีศัพท์เรียกผู้ที่มีจิตใจสูงส่ง นั่นคือ มหาตมา หรือ มหาตมัน (มห + อาตมัน) หรือคำว่า มหาสัตว์ ก็มีความหมายทำนองอย่างนี้


มัตสยะ(ปลา) คุ้มครอง มนุ และสัปตฤษี เมื่อคราวน้ำท่วมโลก
(ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Manu_%28Hinduism%29)

กลับมาที่ มนะ + อุษฺย
   ผมกลับไปค้นดู ก็ไม่เห็นช่องที่จะแปลได้เลย
   "มน" ในภาษาสันสกฤตนั้น จริงๆ แล้วมีสองคำ คือ มนัส (มนสฺ manas) เป็นคำนาม แปลว่า ใจ
   อีกคำหนึ่งคือ มัน (มนฺ man) เป็นกริยา แปลว่า คิด
   ส่วน อุษยะ นั้น ไม่มีศัพท์เหมาะๆ ที่จะแปลได้ มีเพียงคำว่า อุษฺย แปลว่า เหมาะที่จะนำไปต้ม (เนื้อ)
   คำว่า  อุสฺ (us) แปลว่าตอนเช้าตรู่, อุษัส แปลว่า เทพีแห่งแสงอรุณ เพราะ อุษฺ ศัพท์เดิมนั้น แปลว่า เผา หรือ ทำให้ไหม้
   จึงไม่น่าจะแปลว่า สูง
   *จริงอยู่ อาจมีวิธีสร้างศัพท์แบบอื่นๆ ได้มากมาย เพราะในภาษาสันสกฤตนั้นมีปัจจัยให้นำไปเติมเพิ่มได้ แต่ก็ไม่มีร่องรอย ที่จะทำเช่นนั้น


แล้ว มนุษย์ มาจากไหน

  หมายถึงคำศัพท์นะครับ
  คำว่า "มนุษย์" มีปรากฏมาตั้งแต่ในคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของภาษาสันสกฤต ทั้งเล่มที่ 2 ซึ่งถือว่าเก่าสุด และเล่มที่ 10 ซึ่งถือว่าใหม่สุด
   ตำราส่วนใหญ่ว่า มนุษฺย มาจากศัพท์ มนุ หรือ มนุสฺ

   มนุ คือ บรรพบุรุษของคนนั่นเอง(ในภาษาไทยอาจเรียกว่า มนู) มนุ นี้แหละ อาจจะมาจากศัพท์ มนฺ  ที่แปลว่าคิด
   ฉะนั้น มนุ คือ สัตว์ที่คิดได้? 
   ส่วนคำว่า มนุ นั้นเขียนได้สองแบบ มนุ และ มนุสฺ ในสมัยพระเวท พบคำนี้มากกว่า มนุษย์ อันที่จริงในภาษาสันสกฤตโบราณ (ในคัมภีร์พระเวท) ยังมีศัพท์ มนุษ อีกด้วย)

การสร้างคำ

   ตามหลักภาษาสันสกฤต พอจะเห็นร่องรอยการสร้างคำดังนี้

  • มนุษย์ มาจาก มนฺ (√man) เป็นธาตุ หรือรากศัพท์ชนิดกริยา แปลว่า คิด
  • มนฺ เป็นธาตุ จึงต้องเติมปัจจัยลำดับที่ 1, ปัจจัยที่เหมาะกับศัพท์นี้คือ อุสฺ
  • มนฺ + อุสฺ = มนุสฺ  (mánus) ได้มาเป็นคำนาม ตอนนี้เราได้รูป มนุสฺ แล้ว คำแปลได้เล่ามาแล้วข้างบน
  • จาก มนุสฺ เรานำไปเติมปัจจัยลำดับที่ 2 ปัจจัยที่เหมาะกับศัพท์นี้คือ ย
  • มนุสฺ + ย ควรจะได้ มนุสฺย แต่ตามหลักสนธิ สฺ อยู่ข้างหลัง อุ ต้องเปลี่ยน สฺ เป็น ษฺ
  • มนุสฺ + ย จึงเป็น มนุษฺย (manuṣyá) แปลว่า ลูกหลานของมนุสฺ

  นี่เป็นทฤษฎีที่ยอมรับกันมากในแวดวงภาษาสันสกฤต ส่วน มน + อุษย์ นั้น คงจะไม่ตรงกับรูปคำนัก และไม่ปรากฏในตำราโดยทั่วไป (เข้าใจว่าเทียบจากคำแปลในภาษาบาลี).

คำสำคัญ (Tags): #มนุษย์#มนุ#มนู
หมายเลขบันทึก: 516475เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2013 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2013 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

..... ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ .... สรุปได้ว่า เราหยิบยืมภาษาจาก "ภาษาบาลีและสันสกฤต" มากมายเลยนะคะ ท่านอาจารย์ ....

ขอบคุณมาก  กับความรู้ดีดีนี้นะคะ

สวัสดีค่ะคุณครู

อ้าว ผิดคาดไปเสียแล้ว  นี่ล่ะเขาว่า "จับแพะชนแกะ" 

คิดและตีความแบบคนที่ไม่มีความรู้ (กว้างขวาง)พอ ก็คิดง่ายๆตามประสาว่า...

เมื่อ  "มน"  คือ มนัส (มนสฺ manas) เป็นคำนาม แปลว่า ใจ   อีกคำหนึ่งคือ มัน (มนฺ man) เป็นกริยา แปลว่า คิด  

สรุปเองว่า ถ้า "มน" หมายถึง ใจ/คิด

อุสฺ (us) แปลว่าตอนเช้าตรู่, อุษัส แปลว่า เทพีแห่งแสงอรุณ

ดังนั้น  "มนุษย์" คือ อรุณรุ่ง/แสงอรุณ/แสงแรก ของ จิตใจ/ความคิด  

ทำนองว่า "มนุษย์นั้นย่อมเป็นไปตามที่ใจคิด"......ฮาๆๆๆ  

พวกนอกครูและรู้ไม่มาก ก็ชอบเอาสีข้างเข้าถูอย่างนี้เองค่ะ  :)

ขอบคุณมากครับ พี่เปิ้ล คงมีอีกเยอะ เอามาเล่าไม่หวาดไม่ไหวครับ...

คุณหยั่งรากฯ ผมก็ค้นอยู่นาน ครับ คือภาษาบาลีสันสกฤตมีหน่วยคำสั้นๆ เยอะมาก

จะเอา อิ อุ อะ อะไรมาต่อกันก็เป็นศัพท์ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าได้รูป แต่ไม่มีหลักฐาน ก็เชื่อยาก

"มนุษย์นั้นย่อมเป็นไปตามที่ใจคิด" ข้อนี้สงสัยจะจริง อิๆๆ

เป็นความหมายที่เหมาะสมดีนะคะ "สัตว์ที่รู้จักคิด" สำคัญมากนะคะ คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ ...

ขอบคุณค่ะ


ค่าว่ามนุษย์ ที่โบราณว่า ใจสูง มีวิเคราะห์ว่า มนสฺส อุสฺสนฺนตฺตา วา มนุโส เป็นภาษาบาลีแปลว่า ผู้มีใจสูง,ผู้ที่รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์,ผู้เป็นเหล่ากอของผู้รู้ก็ได้  คำว่า อุสฺส ในภาษาบาลี เป็นคุณนาม แปลว่า สูง,สูงกว่า

ใช่แล้วครับ อาจารย์ จันทวรรณ

ท่านกัลยาณมิตร วิเคราะห์ตามบาลีเห็นจะเป็นอย่างนั้นครับ

แต่ถ้าตามศัพท์สันสกฤต ดูเหมือนจะไล่ตามปัจจัยข้างต้น, ส่วน มน กับ อุษย นั้นไม่ถูกแน่ๆ คงเทียบจากบาลีมาแผลงเป็นสันสกฤต เลยไม่เข้าแบบแผนอะไร  ขอบคุณมากครับ


งั้นเริ่มต้น คำว่า มนุษย์ มาจากบันทึกตามคำภีร์พระเวท หรือว่า มีมาทีหลังที่บันทึกพระไตรปิฎกบาลี ลงศิลาหินคะ

แล้วถ้าเติม สระ อา เข้าไป เป็น อุษยา แปลว่าอะไรค่ะ

อุษา แสงเงินแสงทอง หรือ dawn ความหมายหลากหลาย เทพีอุษา แสงจากพระอาทิตย์ที่เผาไหม้แต่ก็ทั้งสวยและอันตราย ซึ่งสูงก็แปลได้ เพราะแสงอุษามาจากที่สูง

ส่วนอุษย์ ก็มาจากรากเดียวกัน แปลได้ทั้งมวลเช่นกันแล้วแต่กาลและวาจกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท