“โอเน็ต”ต้องมีมากกว่าข้อสอบและความรู้


สิ่งที่ควรทำ? ถ้าตอบแบบอุดมคติ ซึ่งคล้ายหาเรื่อง ก็ทำโรงเรียนให้เหมือนกันก่อน แล้วค่อยวัดด้วยผลโอเน็ต จึงจะแม่นยำ เป็นที่ยอมรับ รูปธรรมที่สุดก็คือ สนับสนุนงบประมาณ ห้องหับ อาคาร สื่อ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี ครูที่ขาดแคลน รวมถึงคละเด็กที่มีความพร้อมและไม่พร้อมให้ทุกโรงมีเท่าๆกัน จากนั้นลงโทษอย่างเฉียบขาดต่อผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือครูที่ไม่สามารถพัฒนาศิษย์ให้ได้ตามเกณฑ์หรือเงื่อนไขเวลาที่ร่วมกันกำหนด

งานพัฒนาคนหรืองานจัดการศึกษาบ้านเรา ตกอยู่ในสภาพยักแย่ยักยันมาโดยตลอด สถิติการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเราเป็นแชมป์เอเชียและเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ผลสอบ PISA ซึ่งเป็นการวัดระดับนานาชาติเราเกือบรั้งท้ายทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ อีกทั้งผลสอบโอเน็ต(O-NET)หรือที่เราวัดความรู้พื้นฐานกันเองทุกปี คะแนนก็ได้ไม่ถึงครึ่งอยู่เนืองๆ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เคยสรุปเมื่อต้นปี งบประมาณด้านการศึกษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ไม่ต่ำกว่าประเทศอื่นในเอเชีย แต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำเป็นลำดับท้ายๆของโลก การแสดงความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษามีน้อย คำกล่าวของTDRI น่าจะมาจากที่ผ่านๆมา มักไม่มีผู้เกี่ยวข้องฝ่ายใดได้รับผลกรรมนี้เลย หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างลอยนวล(ฮา)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จึงไม่อาจอยู่เฉย คิดค้นกลวิธีต่างๆที่จะขยับผลสัมฤทธิ์นี้ให้ได้ ประเดิมด้วยการประกาศให้โรงเรียนนำผลคะแนนโอเน็ตไปถ่วงเกรดเฉลี่ย(GPAX)ของนักเรียนแต่ละคนในอัตรา 80:20 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์จากทั้งนักวิชาการและตัวนักเรียนเองว่าเร็วเกินไป ล่าสุด สพฐ. เสนอแนวคิดในการนำผลโอเน็ตไปผูกติดกับการประเมินวิทยฐานะครู ทั้งหมดคงพยายามจะหาผู้รับผิดชอบหรือผู้รับผลกรรมตามที่ TDRI เปรยไว้กระมัง(ฮา)

อันที่จริงจากความไม่สำเร็จในการจัดการศึกษาที่ผ่านมา ไม่เนิ่นนานพอที่จะสรุปได้แล้วล่ะหรือ? ว่าแนวทางแก้ไขที่กระทำกันนั้นไม่ตรงเหตุ หรือเกาไม่ถูกที่คัน โดยเฉพาะการนำผลโอเน็ตไปใช้

เราเริ่มจากนำไปคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย หวังให้สนใจเรียนในชั้นเรียนปกติตัวเองมากขึ้น มิใช่เอาแต่กวดวิชา ซึ่งน่าจะเป็นดัชนีความล้มเหลวการจัดการศึกษาอย่างหนึ่ง แต่ผลกระทบที่เกิด นักเรียนยิ่งกวดวิชาหนักเข้าไปอีก น่าจะมีสาเหตุจากโอเน็ตเป็นการสอบมากถึง 8 กลุ่มสาระวิชา

ต่อมาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ใช้ผลโอเน็ตเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่จะประเมินตัดสิน ว่าโรงเรียนจัดการศึกษาได้มาตรฐานคุณภาพแล้วหรือไม่ เจตนาคงเป็นความปรารถนาให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และประเมินผลตามสภาพจริง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ใช้วิจารณญาณ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเพื่อสร้างโรงเรียนให้มีมาตรฐานคุณภาพเดียวกัน

เกณฑ์ สมศ.นี้สร้างความความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้โรงเรียนเล็กที่มักขาดความพร้อม เพราะวันดีคืนดีก็ถูกบังคับให้เนรมิตลูกศิษย์ให้เก่งกล้าสามารถเท่ากับโรงเรียนใหญ่ ซึ่งพร้อมสรรพกว่าทุกด้าน แม้จะพยายามอธิบายว่า โอเน็ตเป็นการวัดความรู้พื้นฐานที่ควรรู้ แต่ความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือ เด็กทุกคนมีความแตกต่างเป็นธรรมชาตินั้นเล่า โดยเฉพาะลูกศิษย์ตัวเองซึ่งมักขาดความพร้อม จึงถูกต้องแล้วหรือ? ที่จะนำคะแนนมาเปรียบเทียบด้วยเกณฑ์เดียวกัน

ขณะผลที่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบัน ยิ่งน่าห่วงกังวล แทนที่โรงเรียนจะเน้นจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนมากขึ้น หาวิธีสอนดีๆ เตรียมสื่ออุปกรณ์ หรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มาจัดสรรให้ลูกศิษย์ เพื่อหวังถึงผลการสอบโอเน็ตช่วงปลายปี เพราะอาจชี้เป็นชี้ตายโรงเรียนได้เลย การณ์กลับมิใช่อย่างนั้น สิ่งที่หลายโรงเรียนเลือกทำมักเป็นทางลัด ด้วยการระดมทุนอาจเป็นท้องถิ่น ผู้ปกครอง หรือแม้แต่เจียดงบประมาณที่มีอยู่ จ้างติวเตอร์ตามสถาบันกวดวิชาต่างๆให้เข้ามาสอนในโรงเรียนเองเลย อาจใช้ชั่วโมงเรียนปกติด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้เพราะเล็งแล้วว่าคุ้ม ถ้าเด็กๆทำคะแนนสอบได้ดี ก็มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ชื่อเสียงโรงเรียนจะขจรขจาย ได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้ปกครอง ยิ่งถ้าผลคะแนนของเด็กๆโดยเฉลี่ยดีด้วยแล้ว โรงเรียนจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพไปในคราวเดียวกันเลย

วันนี้เจตนานำผลโอเน็ตมากระตุ้นการจัดการเรียนรู้ให้เป็นไปตามหลักสูตร หรือพัฒนามาตรฐานคุณภาพโรงเรียนจึงดูท่าจะเป็นหมัน เนื่องจากการกวดวิชาที่ระบาดเข้าไปถึงชั้นเรียนปกตินั้น เป็นรูปแบบการสอนที่เน้นครูเป็นสำคัญ เน้นให้รู้เนื้อหาสาระ หรือเน้นให้ทำข้อสอบได้เท่านั้น สำคัญว่าบ้านเมืองต้องการคนในชาติที่สามารถทำข้อสอบได้แค่นั้นหรือไม่ ถ้าแค่นั้นการนำผลโอเน็ตมาใช้ตามที่กล่าว ก็สมเหตุสมผลแล้ว

กลวิธีล่าสุด สพฐ.จะนำผลโอเน็ตไปผูกติดกับการประเมินวิทยฐานะครู เพื่อให้มีเจ้าภาพ ผลสัมฤทธิ์ไม่ตรงเป้า เจ้าภาพควรต้องรับผิดชอบ ผิวเผินแล้วดูดี คะแนนโอเน็ตก็น่าจะสูงขึ้นได้บ้าง แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่น่าจะเกิดตามประสบการณ์ก่อนหน้า นับว่าอันตรายอีกแล้ว

หนึ่งครูโรงเรียนเล็กที่ทำงานหนักกับความไม่พร้อมจะลำบากยิ่งขึ้น นอกจากยากจะพัฒนาโรงเรียนให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแล้ว ยังยากที่จะพัฒนาตนเองให้มีวิทยฐานะสูงขึ้นด้วย สองงานครูที่โรงเรียนยังมีงานอื่นอีกพะเรอเกวียน มิได้สอนเด็กๆอย่างเดียว แถมในทางปฏิบัติแล้วงานสอนมักจะสำคัญน้อยกว่างานอื่นๆ ทั้งสองอย่างนี้ อาจทำให้ครูยิ่งจะหมดกำลังใจจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์

สำหรับครูที่ไม่หมดกำลังใจ ยังมุ่งมั่น ก็จะเน้นสอนลูกศิษย์แบบให้ทำข้อสอบได้(อีกแล้วครับท่าน) เพื่อผลคะแนนโอเน็ตเท่านั้น แล้วอย่างนี้เราจะได้พัฒนาอะไร มิหนำซ้ำไม่เป็นการซ้ำเติมปัญหาการจัดการศึกษาที่หนักหน่วงอยู่แล้วให้รุนแรงยิ่งขึ้นดอกหรือ?

สิ่งที่ควรทำ? ถ้าตอบแบบอุดมคติ ซึ่งคล้ายหาเรื่อง ก็ทำโรงเรียนให้เหมือนกันก่อน แล้วค่อยวัดด้วยผลโอเน็ต จึงจะแม่นยำ เป็นที่ยอมรับ รูปธรรมที่สุดก็คือ สนับสนุนงบประมาณ ห้องหับ อาคาร สื่อ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี ครูที่ขาดแคลน รวมถึงคละเด็กที่มีความพร้อมและไม่พร้อมให้ทุกโรงมีเท่าๆกัน จากนั้นลงโทษอย่างเฉียบขาดต่อผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือครูที่ไม่สามารถพัฒนาศิษย์ให้ได้ตามเกณฑ์หรือเงื่อนไขเวลาที่ร่วมกันกำหนด 

แต่ถ้าตอบแบบเอาจริง สิ่งที่ควรทำ ทำได้จริง รวมทั้งน่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆได้จริง

ประการแรก การสอบโอเน็ตหรือวัดความรู้พื้นฐานต้องไม่วัดจากข้อสอบเพียงอย่างเดียว แต่ควรทำด้วยหลากหลายวิธีการ อาทิ สังเกต สัมภาษณ์ ศึกษารายกรณี ผลงาน ชิ้นงาน หรือประเมินตามสภาพจริง ฯลฯ นอกจากนั้นทักษะกระบวนการ คุณธรรมจริยธรรม เจตคติ และการนำไปใช้ ก็ต้องวัดประเมินไปพร้อมๆกันด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างให้เด็กๆของเรามีพัฒนาการครอบคลุมทุกด้านตามที่หลักสูตรกำหนด

ประการที่สอง ผลคะแนนโอเน็ตต้องเทียบกับตัวเองหรือดูพัฒนาการ มิใช่ไปเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ หรือเกณฑ์มาตรฐานอื่น หมายถึงปีการศึกษานี้ตัวเองได้เท่าไร ปีหน้าควรดีขึ้น ปีโน้นควรสูงยิ่งขึ้น อะไรทำนองนั้น

โดยสรุปการนำผลโอเน็ตไปใช้ ไม่ว่าคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ตัดสินคุณภาพโรงเรียน หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ เลื่อนวิทยฐานะครู เพื่อให้โรงเรียนหรือครูจัดการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักเรียนตามหลักสูตร แต่ด้วยข้อจำกัดของโอเน็ตเอง ซึ่งเน้นวัดเพียงความรู้ด้วยข้อสอบ ละเลยการวัดประเมินทักษะกระบวนการ คุณธรรมจริยธรรม เจตคติ รวมถึงการนำไปใช้ เป็นผลให้การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนมุ่งไปที่ครูเป็นสำคัญ ละเลยประเมินตามสภาพจริงอย่างหลากหลายรูปแบบ หลายโรงถึงกับจ้างติวเตอร์เข้ามาสอนในชั่วโมงเรียนเสียเลย โอกาสจะฝึกให้เด็กๆคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ใช้วิจารณญาณ ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ดีๆหรือนักเรียนเป็นสำคัญจึงแทบไม่มี

ดังนั้นที่หวังจะให้ลูกหลานเราเป็นคนดี มีศีลธรรม คิดได้ ทำเป็น เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองให้แข่งขันได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมักมีการจัดการศึกษาที่เข้มแข็ง นับวันจึงยิ่งดูเลือนราง ทั้งที่รู้สึกว่าเราก็พยายามคิดและลงมือทำ รวมทั้งทุ่มเทงบประมาณไปในแต่ละปีมากมายเหลือเกินแล้ว

หมายเลขบันทึก: 505459เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2012 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2019 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (46)

การศึกษาจึงเกาไม่ถูกที่คันสักที อนิจจา

จุดมุ่งหมายของครู นักเรียน ผู้ปกครองคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะที่คิดว่าดีให้มากที่สุด การแข่งขันคือเหตุที่กระตุ้นให้เกิดสิ่งต่างๆ ตามมา นอกจากการแข่งขันกับคนอื่นแล้ว สิ่งที่ทุกคนจะทำได้คือการแข่งขันกับตัวเอง กับจุดหมายที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น

สงสัยปริมจะคิดเลื่อนลอยเกินไป ;))

อ่านตามถ้อยความของอาจารย์ผนวกกับประสบการณ์ตรง...รู้สึกอาหารย่อยยากมากค่ะ....เหนื่อยค่ะ แต่ไม่ท้อ อยากให้เด็กมีคนดีและคนเก่งค่ะ สู้กับตัวเองให้ชนะก็ขาดลอยแล้วค่ะคนเราเนี่ย

การศึกษาไทยน่าเป็นห่วงมากครับ เราจะพบได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาน้อยกว่าเรื่องอื่น ๆ ดังการย้ายผู้บริหารระดับสูงสุด ก็นำบุคคลอื่นที่มิใช่คนในวงการศึกษามาเป็นปลัดกระทรวง ท่านที่ย้ายมาไม่เคยแม้แต่จะเดินเข้ามาในกระทรวงเราเลย ไฉนจะมาแก้ไขปัญหาและบริหารกระทรวงศึกษาให้พัฒนาดีขึ้น เข้าสู่มาตรฐานสากลได้ครับ เขียนมาด้วยความจริงใจครับ ไม่มีเจตนคติใส่ร้ายผู้ใดครับ แต่เพื่อประโยชน์แก่นักเรียนของประเทศไทยทุกคนครับ

  • ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน หรือลูกศิษย์ ตอนนี้หัวโตแล้วค่ะ  ทั้งเรียนทั้งติว
  • สงสารพวกเขาค่ะ ต้องเครียดไปตามๆกัน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย
  • นับวันการศึกษาจะมุ่งไปที่การแข่งขัน (แย่งชิง) มากกว่าการเรียนรู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

 

      อยู่แบบนี้ดูเขาจะมีความสุขมากกว่านะคะ

คนที่มีความพร้อม ใฝ่คว้าหาแต่ความรู้ ทั้งเรียนในเวลาเรียน และเรียนนอกห้องเรียน ติวกับสถาบันเก่งๆ มีคะแนนโอเนตสูงๆ เข้าเรียนในสถาบันที่เป็นที่ยอมรับของสังคม จบออกมามีงานดีดีทำ แต่ ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม รู้กลวิธีการโกงชาติบ้านเมือง เอาเปรียบคนจน ในขณะที่คนด้อยโอกาส ขอให้เรียนจบตามเกณฑ์บังคับ หรือออกนอกเส้นทางก่อนเกณฑ์ ไม่มีโอกาสเลือกงาน ทำงานเพียงขอให้อยู่รอด เป็นคนจน คนรากหญ้า แต่เขาอาจมีคุณธรรมจริยธรรม มากกว่า ... อย่างนี้แล้วหวังจะเอาคะแนนโอเนต สูงๆ ไปเพื่ออะไร????????? ขอโอกาสให้ทุกคนอยู่ในสังคมที่เท่าเทียมกันก่อนดีไหม ? เหมือนที่ อาจารย์ ว่า...ทำโรงเรียนให้เหมือนกันก่อน แล้วค่อยวัดด้วยผลโอเน็ต จึงจะแม่นยำ เป็นที่ยอมรับ รูปธรรมที่สุดก็คือ สนับสนุนงบประมาณ ห้องหับ อาคาร สื่อ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี ครูที่ขาดแคลน รวมถึงคละเด็กที่มีความพร้อมและไม่พร้อมให้ทุกโรงมีเท่าๆกัน

เป็นความจริงที่น่าจะมีคนเห็นด้วยค่อนประเทศ แต่เป็นคนที่ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงระบบแต่อย่างใด ทำอย่างไรความจริงนี้จะเข้าไปถึงสมศ.คะนี่ เท่าที่ผ่านมาฟังจากลูกๆเล่า ติวเตอร์ที่มาสอนในโรงเรียนทำให้วัฒนธรรมของการมีคุณครูในโรงเรียนเปลี่ยนไปด้วยนะคะ เพราะติวเตอร์ทั้งหลายนี่อยู่ในช่วงอายุไม่มากเลย เด็กๆเรียก"พี่"เสียด้วยซ้ำ เรียนเพื่อสอบกันจริงๆ น่าอนาถแทนทั้งเด็กและคุณครู

อ่านหลาย ๆ รอบ ตกใจ เห็นใจ และกังวลใจ

ในฐานะที่มีลูก ที่กำลังคิดว่า เรียนต่อไป ณ ต่างประเทศ (นิวซีแลนด์) ซึ่งลูกบอกเล่าว่า เรียนสนุก ลุกนั่งตั้งคำถามคุยกับครู ทำรายงานโดยออกไปค้นที่ห้องสมุด ซึ่งมีทั้งในโรงเรียนและส่วนกลางคือท้องถิ่น เป็นห้องสมุดของเมือง ห้องสมุดของหน่วยงานประวัติศาสตร์เมืองฯ หรือกลับมาเรียนต่อเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองไทย

ตกใจ เพราะไม่อยากให้ลูกต้องเรียนหรือติววิชาจน เข้าเส้นเลือด ตามที่เห็น ๆ ไม่อยากให้ลูกเก่งแค่ การทำข้อสอบได้

เห็นใจ คุณครู และโรงเรียนทุกแห่งที่มีความตั้งใจ มีคุณครูต้นแบบ แต่ขาดหรือไม่ครบเรื่องกำลังและทรัพยากร

กังวลใจ เพราะดูเหมือน ระบบการศึกษาของไทย วนกลับไปมา กี่รอบต่อกี่รอบ 

มีหนทาง ทางสว่างหรือไม่

ตัวเองไม่รู้ทั้งหมดค่ะ ยังไม่ได้ศึกษาจนละเอียด

 

..รอคุณครูธนิตย์ตอบ และท่านอื่น ๆ ชี้ทางสว่างด้วย

ขอขอบคุณค่ะ

  • พี่ครูธนิตย์ครับ
  • อ่านแล้วเห็นภาพการศึกษาบ้านเราชัดเจน
  • เราตัวเล็กๆคงต้องช่วยกันต่อไป
  • สู้ๆๆครับ

ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกๆท่าน ผู้อุทิศตนให้กับเด็กๆและเยาวชนของชาติค่ะ สู้ๆนะค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์..

-แวะมาเยี่ยม..ครับ..

-ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณครูทุกๆ ท่านครับ..

-วันก่อนมีโอกาสไปสอนเด็ก ๆยุวเกษตรกรที่ อ.ลานกระบือ โรงเรียนบ้านหนองมะเกาะ

-โรงเรียนนี้มี ผอ.ที่เก่งด้านการเกษตรมากครับ มีกิจกรรมหลายอย่าง น่าสนใจ หากมีโอกาสผ่านมาทางนี้อยากจะให้อาจารย์แวะชมกิจกรรมดี ๆ ที่ลานกระบือครับ...

-ขอบคุณครับ..

รวมให้กำลังใจที่จะไม่ทำให้เกิด "ห้องเรียนทำลายฝัน" ต่อไป .....:):)

 

  • ขอบคุณที่ให้ความรู้เรื่องระบบสอบ เดี๋ยวนี้ซับซ้อนขึ้นมากคะ
  • ที่ยังไม่เปลี่ยนไป และอาจมีในเกือบทุกระดับตั้งแต่อนุบาล - อุดมศึกษา- วิชาชีพ (บางแห่ง) คือ การให้ความสำคัญแก่ "นักสอบ" มากกว่า "นักศึกษา"  
  • กวดวิชา ซึ่งน่าจะเป็นดัชนีความล้มเหลวการจัดการศึกษาอย่างหนึ่ง...สะกิดใจมากมายคะ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ ดีใจกับความตั้งใจและทุ่มเทนะครับ การแข่งขันนั่นคือสาเหตุของเรื่องราวทั้งหมดกระมัง น่าสนใจที่มีบางท่านบอกไว้ การสอนลูกหรือศิษย์ให้แข่งขันกับตัวเอง ตรงนี้น่าจะช่วยได้เยอะเลย สำหรับระบบการศึกษาของเราน่าจะเดินต่อไปแบบนี้แหละ ขอบคุณนะครับกับบันทึกดีดี มีความสุขกับวันอังคารครับ

ให้กำลังใจแก่ทุกคนค่ะ...ได้อย่าง..อาจเสียหลายอย่าง..ขอเพียงให้มีการทบทวนแก้ไข เพื่อความเหมาะสมอยู่เสมอบนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย..

  • เชื่อและพยายามที่จะให้เด็กเข้าใจอย่างนั้นเหมือนกันครับ "เราเป็นเรา..แข่งกับตัวเอง จุดหมายไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่นๆ"
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆครับคุณปริม
  • "คุณธรรมนำความรู้" เราพูดกันบ่อยขึ้นนะครับ เนื่องจากปัญหาที่พบ แต่การปฏิบัติโดยเฉพาะที่โรงเรียน โดยรวมยังไม่เป็นในแนวทางนั้นนะครับ
  • ขอบคุณครูนกครับ

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับอาจารย์ธนิต ทำให้ทุกโรงมีความพร้อมให้เท่ากันก่อน

  • มักได้ยินคำพูดว่า"การศึกษาสำคัญ" แต่..ที่เห็นความเป็นไปอยู่นี้ ยังไม่ใช่นะครับอาจารย์
  • ขอบคุณอ.ดร.วรกาญจน์ครับ
  • ก็เหมือนว่ารู้และเข้าใจกันนะครับอาจารย์ ทั้งพรบ.การศึกษาและหลักสูตรจึงออกมาในแนวทาง เก่ง ดี มีสุข แต่จนแล้วจนรอดการปฏิบัติก็ยังเน้นที่เก่งอย่างเดียว โดยเฉพาะยิ่งจะมาเน้นโอเน็ตกัน.. 
  • ขอบคุณอาจารย์NU11ครับ
  • ด้วยความเห็นส่วนตัวแล้ว ไม่อยากให้เน้นโอเน็ตเลยครับ เพราะไม่เป็นธรรมที่จะนำผลสัมฤทธิ์ของแต่ละคน หรือแต่ละโรง มาเปรียบเทียบกัน ด้วยความต่างที่มีเป็นธรรมชาติ แต่บางคนบอกก็ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีเกณฑ์สิ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรนำโอเน็ตมาใช้กับทุกๆเรื่อง ไม่ควรนำมาตัดสิน มาลงโทษ หรือมาให้รางวัล ควรใช้แค่เป็นข้อมูล เพื่อให้รู้สภาพ รู้ปัญหา รู้สาเหตุ หรือเพื่อใช้ในการพัฒนาเท่านั้น..
  • แต่ถ้าส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องใช้จริงๆ หลีกเลี่ยงโอเน็ตไม่ได้หรอก ส่วนตัวแล้ว..ก็เพื่อไม่ให้ทิศทางการเรียนรู้ หรือการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนหรือครู เทไปที่เน้นให้รู้เนื้อหาสาระหรือความรู้เพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุผลง่ายๆ ประเดี๋ยวก็ลืม ถ้ารู้แค่ความรู้ ดังนั้นโอเน็ตควรจะวัดให้ครอบคลุมอย่างที่หลักสูตรหรือพรบ.การศึกษากำหนด จุดประสงค์การจัดการศึกษาเพื่อต้องการให้คนในชาติเป็นอย่างไร ก็ต้องวัดให้ครบตามนั้นครับ เพราะดูแล้วการวัดผลสุดท้ายนั่นเอง ที่เป็นตัวกำหนดให้วิธีการจัดการเรียนรู้เป็นเช่นไร
  • ขอบคุณอ.หมอภูสุภามากๆครับ
  • พยายามนำเสนออย่างที่ตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้กว่าครับอาจารย์..
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ
  • การใช้โอเน็ต ผลสอบโอเน็ต คงคิดว่าเพื่อให้เป็นรูปธรรม ให้เป็นตัวเลขชัดๆ ที่จะบอกว่าการจัดการศึกษาสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่งั้นไม่รู้จะบอกยังไง อย่างนั้นกระมังครับ จึงพยายามที่จะใช้กันให้ได้ แถมลามไปถึงเรื่องอื่นๆ ทั้งที่ข้อจำกัดต่างๆมากมายนานัปการ แปลกอย่างยิ่งตรงทำโรงเรียนให้เหมือนกันก่อนนี่ ทำได้ง่ายๆเลย ก็ยังทำไม่ได้เลยนะครับ..
  • ขอบคุณพี่ครูดาวเรืองครับ
  • เห็นอย่างนั้นเช่นกันครับ..ปัญหาจ้างติวเตอร์มาสอนที่โรงเรียน คงไม่ใช่ที่เราเห็นแค่สอนเน้นความรู้เท่านั้นแล้วนะครับ 
  • ขอบคุณคุณโอ๋-อโณมากครับ
  • ขอบคุณกำลังใจแทนเพื่อนครูทุกๆท่านด้วยครับ
  • ขอบคุณคุณเด็กภูมิครับ
  • ชัดเจนมาก "ห้องเรียนทำลายฝัน" ช่วยกันครับ..
  • ขอบคุณกำลังใจครับคุณวิชญธรรม
  • ดีจังเลย เด็กๆได้เรียนรู้ ด้วยการปฏิบัติจริง ขอบคุณกำลังใจและขอบคุณแทนเด็กๆหรือยุวเกษตรกรที่โรงเรียนบ้านหนองมะเกาะด้วยครับ
  • สบายดีนะครับ ย้ายมาปฏิบัติราชการที่อ.ลานกระบือเสียแล้วหรือครับ?
  • ขอบคุณคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ

อ่านไปก็ถอนใจไปค่ะคุณครูธนิตย์ เป็นปัญหาการศึกษาไทย ถือเป็นปัญหาที่น่าจะอยู่ในกลุ่ม"ปัญหาโลกแตก"ไปเสียแล้ว ด้วยประสบการณ์ของตนเองกับความพยายามกับการทำแบบต้านกระแส ยอมรับว่าเหนื่อยค่ะ แต่เมื่อได้เห็นดวงตาแป๋วๆของลูกศิษย์ ก็ทำให้แป๋มมีกำลังใจขึ้นมาอีกโข ขอบคุณค่ะที่ให้โอกาสได้ระบายออกมาบ้าง..

  • นักสอบกับนักศึกษาต่างกันมากเลยนะครับ ตัวเองรู้สึกว่าวันนี้เราเน้นนักสอบจนเกินงามแล้วครับ..
  • ขอบคุณอ.หมอป.ครับ
  • "สำหรับระบบการศึกษาของเราน่าจะเดินต่อไปแบบนี้แหละ" ฟังแล้วเศร้าจังครับ ก็น่าจะต้องดีขึ้นบ้างแหละครับ หวังๆๆ แต่เท่าที่เห็นนี้ ช้าเหลือเกินครับ ไม่ทันใจวัยรุ่น(ฮา) เพราะเอาแต่ถอยหน้าถอยหลังอยู่นั่นเอง..
  • ขอบคุณกำลังใจครับคุณเพชร พรหมสูตร์
  • ดูเหมือนเรื่องนี้จะได้อย่างเสีย(หลาย)อย่างจริงๆครับ 
  • ขอบคุณกำลังใจจากพี่ใหญ่ นงนาทครับ
  • แล้วค่อยวัดด้วยโอเน็ตนะครับอาจารย์ ถึงจะยุติธรรม..
  • ขอบคุณอ.กานต์ชนกครับ
  • ให้กำลังใจครูแป๋มนะครับกับการยืนหยัดต้านกระแสนี้อย่างองอาจ ชื่นชมครับ
  • ขอบคุณครูแป๋มครับ

-สวัสดีครับอาจารย์...

-ยังทำงานอยู่ที่พรานกระต่ายครับ..

-วันก่อนทางอำเภอลานกระบือเขาชวนไปช่วยงาน..น่ะครับ....

-งานกล้วยไข่เริ่มแล้วอาจารย์กลับมาเที่ยวหรือเปล่าครับ....

-เมื่อวานพากลุ่มแม่บ้านไปร่วมงานกล้วยไข่..ปีนี้มี "ทองม้วนกล้วยไข่"ครับ..

 

  • นึกว่าขยับที่ทำงานซะแล้ว..มีโอกาสผ่านแค่แว้บๆเองครับ งานกล้วยไข่
  • ขอบคุณคุณเพชรน้ำหนึ่งอีกครั้งครับ

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์

  • ทำไมผู้บริหารไม่คิดเรื่องดีดีแบบนี้บ้างนะ หรือว่าคิดอยู่ในใจไม่กล้าเอ่ยออกมาเพราะเกรงจะกระทบกระเทือน????
  • เด็กม.1 ( บางคน) ที่คุณยายไปเป็นวิทยากรอบรมจริยธรรม เขียนหนังสือไม่ออก อ่านไม่ได้ แค่ประโยคง่ายๆเช่น " ทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ "  เขียนเป็น "ทุขที่เกิดจากการกระธรรมของมนุสษ์ " เป็นต้น
  • ที่ครูทำผลงานคศ. 3 เพื ่อเผยน่าน น่ะ ก็เรื่องจริงนะคะ ไม่ใช่แค่ขำๆ
  • คุณยายแค่เล่าให้ฟังนะคะ ไม่ได้ตำหนิใคร เพราะคุณครูที่คุณยายรู้จักน่ะเป็นคนดีทุกท่านเลยจ้า

-สวัสดีครับอาจารย์..

-แวะมาเยี่ยมอีกทีตอนบ่าย ๆ ครับ.

-วันนี้เริ่มงานศาลเจ้าพ่อปึงเถ่ากงพรานกระต่ายครับ..

-มีแห่งมังกรในตลาด..

-เก็บภาพมาฝากอาจารย์ครับ..

 

 

หมอเปิ้น ขอบคุณ ท่าน อจ.ธนิตย์ มากนะคะ 

 

ไม่ได้เข้ามาอ่านนานเลยค่ะ พอมาอ่านที่พี่เขียน ก็สะท้อนถึงตัวเองว่า เมื่อไรนึกอยากเริ่มทำผลงาน ไอ้คำว่า O-NET มันคอยมาหลอกหลอนทุกที เลยยังไม่ได้เริ่มทำเลยค่ะ

  • อ่านแล้วอ่านอีก ๒ รอบ
  • อ่อนใจ...ขอให้กำลัง ครูเพื่อแผ่นดินครับ

เข้าเทศกาล การติวโอเน๊ตอีกครั้งนะคะ เพราะไม่ทำไม่ได้ จัดลำดับชัดเจนด้วยแท่งกราฟระดับกลุ่มสาระ ระดับสพม.ระดับประเทศ ครูต้องรักษาหน้าตาต้องติวเตอร์เท่านั้นหน้าถึงจะเด้งเช้งวับๆๆ...

ที่โรงเรียนครูดาหลาก็ได้ครูอัตราจ้างจากเขตมา 2 คน เพื่อติวONET วิชาคณิตศาสตร์ กับวิทยาศาสร์ค่ะ และเครือข่ายก็ให้นักเรียนเข้าค่ายวิชาการเพื่อติว ONET อีกค่ะ  ติวที่โรงเรียนแล้วยังไม่พอ ต้องติวระดับเครือข่ายอีก ครูดาหลาก็มีชั่วโมงติวในวิชาที่สอนด้วย  พูดไปสองไพเบี้ยค่ะ  ใครจะเป็นหนูที่เก่งเอาลูกกระพรวนไปผูกคอแมวล่ะคะ

ขอบคุณบันทึกดีๆที่นำมาแบ่งปันกัน และส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๖ ค่ะ

  ภาพจากสายบริหารงานสื่อสารองค์กร SCB  

ช่วงนี้การติวโอเน๊ตกำลังเข้มข้น เพราะไม่ทำไม่ได้ จัดลำดับชัดเจนด้วยแท่งกราฟระดับกลุ่มสาระ ระดับสพม.ระดับประเทศ    แม้บางรายวิชายังสอนไม่ครบสาระก็ต้องเข้าขบวนติวไปด้วย..ทั้งๆที่เด็กๆก็ยังเรียนไม่ถึง

- ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชีวิตความเป็นครูดูท่าก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดพอ ๆ กับลูกศิษย์ของเราเช่นกันค่ะอาจารย์  ที่โรงเรียนติวเข้มแบบมาราธอนโดยการเพิ่มคาบเช้าเย็น จากที่เคยเรียนคาบละชั่วโมง หกคาบต่อวัน  เป็นแปดคาบต่อวันสำหรับลูกศิษย์ชั้น ม.๓ บวกกับวันเสาร์อีกหนึ่งวันเต็ม  ฮ่า ๆ ชีวิตมันเจี๊ยบมากเลยค่ะอาจารย์

- ไม่รู้ว่าคนที่ผลิตนโยบายพัฒนาการศึกษาจะเข้าใจคำนี้ไหม ? "ความแตกต่าง"  

- บางครั้งสถิติเบื๊อก ๆ (โอเน็ต เอ็นที) ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเราเป็นที่สุดแล้วนะคะ  อาจารย์ว่าไหม ?

- สุดท้ายเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่า ด้วยห่วงอนาคตของชาติเหมือนกับอาจารย์ค่ะ หากย้อนไปที่สมัยอาจารย์และหนูเคยเป็นนักเรียนกัน  ป.๑ ป.๒ ป.๓ เราเรียนกันอย่างมีความสุข อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ลายมือสวย (หรือไม่สวยก็ยังรู้ว่าเป็นลายมือมนุษย์เขียน)  แต่ยุคนี้ ป.๑ ป.๒ ป.๓  เรียนกันสนุกสนาน ครบ แปดกลุ่มสาระ แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ เราเอาเด็กวัย ป.๑ - ป.๓ มาขังใจเขาไว้เกินสาระหรือเปล่า ?  ทั้ง ๆ ที่วัยของเขาควรจะฝึกให้อ่านออก อ่านคล่อง เขียนเป็น คิดเลขได้  และได้ออกกำลังกายด้วยการเรียน  การเล่น  อย่างเช่น  ดินน้ำมัน พละ  ซึ่งเป็นพัฒนากการไปตามวัยของเด็กช่ วงอายุนี้ แต่ทุกวันนี้เรากำลังเพิ่ม  บ่มเพาะนิสัยปิศาจ  ตั้งแต่ตัวน้อย ๆ โดยสังเกตได้จาก  เด็กสมาธิสั้น  อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้  และไม่ทนต่อสภาวะใด ๆ เลย 


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท