๒๒. นำปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยผ่านปฏิบัติการวิจัยชุมชน


กับคนทำงานวัยคนหนุ่มคนสาว มีความสด มีกำลังทางวิชาการ และมีกำลังของความเป็นผู้มีจิตใจสาธารณะ เอาธุระกับสังคม เป็นมือดีจากหลายคณะหลายสถาบัน ออกแบบให้มีกระบวนการพาไปมีประสบการณ์กับสังคมและเห็นความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการทำงานในชุมชนมหาวิทยาลัย ก็จะเป็นกำลังขับเคลื่อนระบบที่้สามารถนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีๆในอนาคตได้อีกหลายสิบปี

 

 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ผมไปจัดกระบวนการเพื่อถอดบทเรียนเสริมศักยภาพเครือข่ายวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการย่อยประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (Food Securities) เครือข่ายวิจัยเป็นเครือข่ายสหวิทยาการและปฏิบัติการวิจัยชุมชนแบบข้ามศาสตร์โดยใช้ความเป็นชุมชนเชิงพื้นที่เป็นตัวตั้ง ดำเนินการในสังคมและสิ่งแวดล้อมเมืองโดยมีอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมเป็นพื้นที่ชุมชนตัวอย่าง พี่เอื้อยหลายคนของผมเป็นคนดูแลในเรื่องนี้ให้กับคนมหิดลคือ รองศาสตราจารย์ดวงพร คำนูณวัฒน์ ดูแลโปรแกรมการวิจัย คุณหมอสุพัตรา ศรีวนิชชากร สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ดูแลทางด้าน Community Health Related Intevention และ Technical Support System ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสฬส สิริไสย์ ดูแลประเด็นย่อยทางด้านความมั่นคงทางอาหาร และเครือข่ายนักวิชาการ นักวิจัย กับกลุ่มบุคลากรจากคณะและสถาบันต่างๆ มาระดมพลังทำงานด้วยกัน

กับผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.โสฬส สิริไสย์ กลุ่มนักวิจัยทรานส์ทีม (Transdisciplinary Research Network) มหาวิทยาลัยมหิดล, เครือข่ายนักวิจัยชุมชน,นักวิชาการแนว Integration Anthropology ผู้เขียนหนังสือ Dialogue กับการวิจัยแบบข้ามศาสตร์ที่แพร่หลายที่สุดเล่มหนึ่งของประเทศ

  

ในเครือข่ายวิจัย ได้ออกแบบกระบวนการให้มีการถอดบทเรียนมิติต่างๆและจะมีการเสริมศักยภาพทางด้านต่างๆอยู่เสมอ ผมจึงได้รับเชิญในหลายฐานะ ทั้งให้ไปถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะที่ได้ทำงานวิจัยในแนวทางนี้บนความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลมาระยะหนึ่งก่อนจะออกไปตั้งหลักปักฐานอยู่กับการทำงานบนฐานชีวิตอีกแบบหนึ่งในปัจจุบัน แล้วก็คงพอจะมีเครื่องมือและวิธีเชิงกระบวนการสำหรับการทำงานหลายอย่าง ที่ได้เรียนรู้และพัฒนาไปกับชุมชน จากการได้เดินออกไปทำงานด้วยกันในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆของประเทศกับชาวมหิดลและเครือข่ายนักวิชาการแนวประชาสังคม ที่คงจะอิงอยู่กับประสบการณ์เฉพาะสาขาของผมและพอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้าง

เป็นต้นว่า การใช้การวาดรูปและวิธีการทางศิลปะมาเป็นเครื่องมือการวิจัย การใช้สื่อ การสื่อสาร และกระบวนการทางการศึกษา การรู้จักข้อมูลและวิธีเก็บข้อมูลทั้ง Text, Visual, Audio-Sound, Object and Specimen ที่สามารถเข้าถึงความรู้และพลังปัญญาชุมชนได้นอกเหนือกว่าผ่านตัวหนังสือและสิ่งถ่ายทอดด้วยการพูด ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางประชากรศึกษาและการทำงานชุมชน เพื่อเป็นการปฎิบัติการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมให้มีนัยสำคัญต่อประเด็นสังคมและสามารถบรรลุจุดหมายหลายอย่างไปบนกระบวนการเดียวกัน รวมทั้งเรื่องเล็กๆน้อยๆแต่ผมคิดว่าคงมีส่วนมากก็คือ หมู่มิตร พี่ๆน้องๆ ชาวมหิดล กลัวผมซบเซาหงอยเหงาในชีวิตทางวิชาการ เลยอยากให้ได้กลับไปเยือนมหิดล ซึ่งเหมือนกับเป็นบ้านเกิดในชีวิตการศึกษาและชีวิตการทำงานของผมเลยทีเดียวบ้าง ไม่ให้ขาดหายกันไปเลย ซึ่งสำหรับผมเองนั้น คิดว่าน่าจะเป็นประการหลังนี้แน่แท้เชียว

กับคณาจารย์ ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน พี่ๆน้องๆ ที่การทำงานด้วยกันต่างกรรมต่างวาระโน้มนำให้ได้มาเจอกัน สุภาพสตรีที่ยืนด้านขวามือของผม คือ รองศาสตราจารย์ ดร.โสภณา ศรีจำปา ผู้เชี่ยวชาญอินเดียศึกษาท่านหนึ่งของประเทศ อดีตรองผู้อำนวยการและกำลังจะเข้ารับเป็นผู้อำนวยการอีกคำรบหนึ่งของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

    จุดหมายที่สำคัญของเวที      ทางทีมประสานงานของเครือข่าย ช่วยคุยแนวคิดและทบทวนความเป็นมาต่างๆ รวมทั้งแจกแจงจุดหมายหลักๆ และให้สรุปความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆในระยะที่ผ่านมาให้ฟังเท่าที่จะทำได้เป็นอย่างดีที่สุด จากนั้นก็ช่วยการแชร์จุดหมาย พอสรุปได้ว่าควรจะให้สามารถครอบคลุมทางด้านต่างๆ คือ 

              (๑) ได้นำเอาประสบการณ์ของเครือข่ายจากการทำงานกับพื้นที่ชุมชนสะเนพ่อง จังหวัดกาญจบุรี มาทบทวนหาบทเรียน เพื่อนำเอาเครื่องมือและบทเรียนต่างๆที่ได้รับ มาขยายผลและตรวจสอบในต่างบริบท พัฒนานวัตกรรมการวิจัยใหม่ๆให้ต่อเนื่อง

              (๒) ได้มีกลไกและกระบวนการสะท้อนข้อวิพากษ์ทางวิชาการและจัดกระบวนการให้เครือข่ายค้นพบ Entry Point เพื่อทำวิจัยในประเด็นความมั่นคงทางอาหารในชุมชนเขตเมือง(Urban Community) ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ เหมาะสมกับต้นทุนประสบการณ์ของเครือข่ายวิจัย เหมาะสมกับยุทธศาสตร์เครือข่ายวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อการพัฒนาพลังปัญญาของประเทศชาติ และมีพลังต่อการขับเคลื่อนความเป้นชุมชนในพื้นที่ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สืบเนื่องกับการวิจัย

              (๓) ได้พัฒนาทักษะเครื่องมือ เสริมศักยภาพเชิงกระบวนการคิดและกระบวนการทำงานปฏิบัติต่างๆ เพื่อการทำงานกับชุมชนในเขตเมือง

  การพาทีมทบทวนแนวคิดและระเบียบวิธีการวิจัยชุมชน เพื่อเป็นจุดเข้าสู่การสร้างปัญญาข้ามศาสตร์ของสังคม  

ผมคุยกับเครือข่ายวิจัยอย่างพี่ๆน้องๆและคนกันเอง เลยสามารถทำงานเชิงกระบวนการต่างๆบนเวทีกันในเชิงลึกได้หลายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่ขอย้ำให้กับเครือข่ายวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยได้มีความแม่นต่อการ Approach ทางระเบียบวิธีการวิจัย ที่บูรณาการกับการปฏิบัติการสังคม ก็คือ การวิจัยชุมชนในแนวทางนี้ ไม่ใช่ทำวิจัยโดยมีชุมชนเป็นเป้าหมายของการวิจัย หรือความเป็นชุมชนนั้น ไม่ใช่เพียงเป็น Target Area เพราะการทำวิจัยบนความเป็นมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ควรทำเหมือนเป็นเพียงกลไกปฏิบัติการเชิงนโยบายหรือกลไกทำ Implementation Program ซึ่งภาคส่วนอื่นๆจะทำได้ดีกว่า แต่การปฏิบัติการต่างๆของมหาวิทยาลัยนั้น ต้องมุ่งปฏิบัติการเพื่อเป็นวิธีศึกษาค้นคว้าบนของจริง พิสูจน์ตรวจสอบความรู้จริงอยู่ตลอดเวลากับสังคมในหน่วยปฏิบัติการเรียนรู้ที่เหมาะสม สร้างพลังทางปัญญา และพัฒนาบทบาททางการศึกษาให้มีองค์ประกอบด้านการปฏิบัติ ไม่แยกส่วนและไม่ขาดจากความเป็นจริงของสังคม ทำการวิจัยให้เป็นเวทีเปิดประสบการณ์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่องให้กับสังคมวิชาการของมหาวิทยาลัย 

ในความเป็นการแก้ปัญหาและการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น ชุมชนต่างๆที่เป็นพื้นที่ทำงาน ย่อมมีเป้าหมายของตนเอง ดังนั้น จุดหมายหลักของเครือข่ายการวิจัยที่เข้าไปเชื่อมโยงกับชุมชนจึงไม่ควรไปมีความทับซ้อนกับจุดหมายของชุมชน แต่จะอยู่ในฐานะพลังวิชาการและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะเข้าไปเป็นภาคีหนุนเสริมการจัดการตนเองต่างๆของชุมชนอย่างเป็นตัวของตัวเอง มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกัน ขณะเดียวกัน ก็มีจุดหมายที่เป็นภารกิจเฉพาะในฐานะที่เป็นระบบสร้างกำลังทางปัญญาของสังคม จึงต่างก็มีจุดหมายย่อยของตนเองคนละด้าน แต่ทำให้การวิจัยชุมชนเป็นเงื่อนไขการได้ลงไปเจอกับของจริงที่ในชุมชน เพื่อจัดความสัมพันธ์กันด้วยกระบวนการทางปัญญา พากันสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันในระดับที่แยกส่วนทำไม่ได้

ในมิติวิจัยและปฏิบัติการทางสังคมนั้น ชุมชนเชิงพื้นที่กับเครือข่ายวิจัยต่างก็เป็นเพื่อนเรียนรู้ไปด้วยกัน เป็นการเรียนรู้ด้วยการสร้างประสบการณ์จริงต่อสังคม และร่วมกันตรวจสอบความรู้และสร้างปัญญาต่างๆที่จะนำมาใช้ ในประเด็นสำคัญต่างๆของสังคมไทยและสังคมโลก เข้ากับของจริงบนหน่วยทางสังคมขนาดเล็กที่เรียกว่าชุมชน โดยการพัฒนาการวิจัยบนหน่วยทางสังคมระดับชุมชนดังกล่าว จะเป็นวิธีที่ทำให้ได้เห็นภาพสะท้อนความจริงอันซับซ้อนของสังคมที่มีผลต่อเรื่องต่างๆ ที่การสร้างคนให้กับสังคมจำเป็นต้องรู้ ซึ่งก็จะเป็นการพัฒนาสร้างความก้าวหน้าให้กับการพัฒนาวิธีวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมไปด้วย

โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมืองดังเช่นอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งจัดว่าเป็นปริมณฑลกรุงเทพมหานคร เมืองที่นับว่าเป็น ๑ ใน ๒๐ เมืองมหานครของโลก (Mega City) ที่ขยายตัวอย่างซับซ้อนและรวดเร็วมากที่สุด มีแบบแผนเฉพาะหลายอย่างที่ประสบการณ์จากสังคมอื่นไม่มีให้ มีความผสมผสานทั้งสภาพที่เชื่อมโยงอยู่กับสภาพดั้งเดิมของสังคมเกษตรกรรมและสังคมที่อยู่กับความก้าวหน้าที่สุดของโลกในอนาคต นับว่ามีความครบถ้วนในการเป็นมนุษยนิเวศ (Human Ecology) ที่จะสามารถให้ภาพสะท้อนและบอกเล่าได้ทั้งปัจจัยสังคมวัฒนธรรมชนบท ความเป็นเมือง สังคมผสมผสานทางวัฒนธรรมนานาชาติ ความเป็นท้องถิ่น ความเชื่อมโยงกับสังคมโลก พัฒนาการของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนามิติต่างๆ ทั้งสุขภาพ คุณภาพชีวิต สุขภาวะสังคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งจัดว่าเป็นพัฒนาการความเป็นจริงของอีกหลายเมืองในประเทศไทยและของโลก ที่มาถึงและปรากฏให้เราได้ศึกษาเพื่อสร้างคนและเตรียมทุกอย่างที่จำเป็นได้ก่อน ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ จึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคน สร้างอาจารย์ที่มีความรู้เชิงลึกอยู่ในตนเองอยู่แล้วให้มีความรอบด้านบนปรากฏการณ์หนึ่งๆของสังคมและเห็นความเชื่อมโยงของความรู้เชิงทฤษฎีกับความเป็นจริงของสังคมด้วยตนเอง ซึ่งจะส่งผลทั้งต่อการพัฒนาการวิจัย พัฒนาการศึกษา การเรียนการสอน การให้ประสบการณ์ทางสังคมแก่นักศึกษา การสร้างองค์ความรู้ และสร้างภูมิปัญญา ชี้นำการปฏิบัติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมหาวิทยาลัยและสังคมได้หลายอย่าง

ดังนั้น การลงไปทำงานวิจัยชุมชน ชุมชนจึงอยู่ในฐานะเป็นหน่วยความมีประสบการณ์การเรียนรู้กับของจริงแบบข้ามศาสตร์ หรือเป็นหน่วยสร้างความรู้ที่อิงอยู่กับข้อพิสูจน์ด้วยข้อมูล ซึ่งในทางการวิจัยเรียกว่า หน่วยทำการสังเกตและเก็บข้อมูล หรือ Unit of Data นั่นเอง การวิจัยชุมชนจึงมีความเป็นแหล่งสำหรับทำการตรวจสอบความมีประสบการณ์จริงต่อสังคม เป็นหน่วยปฏิบัติการเพื่อเข้าถึงความจริงด้วยระเบียบวิธีที่ดี ลดข้อจำกัดและแก้ช่องว่างของการที่จะทำให้ดีไม่ได้บนหน่วยทางสังคมขนาดใหญ่

แต่หน่วยของการวิเคราะห์และสร้างตัวปัญญา หรือ Unit of Analysis เพื่อทำการสังเกตการณ์บนหน่วยข้อมูลของจริงที่หน่วยปรากฏการณ์ระดับชุมชนนั้น ไม่ใช่ชุมชน แต่เป็นระบบสังคมอันซับซ้อน ที่ใหญ่กว่าชุมชน เช่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และหรือระดับความเชื่อมโยงกับสังคมโลก ที่ลงไปตรวจสอบและเห็นปรากฏการณ์ของจริงได้ในชุมชน การวิจัยชุมชนจึงเป็นวิธีสร้างภูมิปัญญาและความรู้เชิงทฤษฎีที่สามารถเกิดความครบถ้วนของการมีองค์ประกอบทางการปฏิบัติ มีวิธีพิสูจน์กลั่นกรองดีแล้วด้วยการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ สามารถนำมาสร้างคนและชี้นำการปฏิบัติให้สังคมด้วยทรรศนะแบบข้ามศาสตร์ ทำให้คนที่มหาวิทยาลัยสร้างออกไปมีปัญญาและทรรศนะในการมองปัญหาต่างๆทั้งลึกซึ้งและรอบด้าน มีความเป็นทั้งนักปฏิบัติวิชาชีพ และสามารถเป็นผู้นำทางปัญญาในสาขาต่างๆให้กับสังคม มีทรรศนะที่กว้างขวาง จิตใจเปิดกว้าง เห็นกฏเกณฑ์ความเป็นส่วนรวมที่ลงตัวบนความแตกต่างหลากหลายได้ดีกว่าคนที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความแยกส่วน ซึ่งเป็นลักษณะคนรุ่นใหม่ที่สังคมขาดแคลน

ผมได้ยกตัวอย่างการวิจัยเรื่องวิถีสังคมของชาวนาบัวในพุทธมณฑล ซึ่งทำให้เราสามารถเห็นสภาวการณ์สังคมและแบบแผนของสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนมิติต่างๆในบริบทที่เป็นจริงในเงื่อนไขใหม่ๆ ซึ่งเป็นสภาพความเป็นจริงที่เมื่อก่อนนี้ยังไม่เคยมีของสังคมไทย ท้องถิ่น รวมไปจนถึงสังคมโลก ทำให้เห็นความยึดโยงกันของกลุ่มสังคมย่อยๆ ๑๑ กลุ่ม จึงสามารถพิสูจน์และตรวจสอบสภาพความเป็นจริงได้ว่าการทำนาบัว สุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของคนทำนาบัวนั้น ไม่ได้แยกส่วนเป็นเอกเทศอยู่กับกลุ่มประชากรเพียง ๑ กลุ่มที่เป็นคนทำนาบัว รวมทั้งสามารถเห็นแบบแผนที่เชื่อมโยงกับระบบสังคมอันซับซ้อนได้ว่ามีลักษณะอย่างไร เห็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทยและสังคมโลกได้แจ่มชัดมากขึ้น การสร้างความรู้ใหม่ๆเพื่อเข้าใจความเป็นจริงต่อปรากฏการณ์ต่างๆในบริบทจำเพาะของสังคมวัฒนธรรมไทย ที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะต้องสร้างคนออกไปสู่สังคม ก็จำเป็นต้องมีความรู้ในลักษณะเดียวกันนี้มาใช้

เป็นต้นว่า ความสัมพันธ์ของการขยายตัวของความเป็นเมืองและปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้แบบแผนอุบัติการทางสุขภาพของประชาชน ที่มีการวิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบด้าน ว่าเป็นอย่างไร การสร้างบุคลากรทางสุขภาพรวมทั้งการมีปัญญาชี้นำสังคม จึงจะสามารถทำได้อย่างพอเพียงกับสภาพการณ์ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต การวิจัยชุมชนจึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยบ่มเพาะพลังการวิจัยของอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อมีความแตกฉานและเกิดการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง สามารถก้าวทันความเป็นจริงของสังคมและมีปัญญาความรอบรู้ข้ามศาสตร์ ชี้นำให้กับสังคมได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะหาจากที่ใดไม่ได้เพราะเป็นตัวปัญญาที่ต้องเข้าถึงด้วยการปฏิบัติให้ตัวเองบนปรากฏการณ์และของจริงที่เลือกสรรอย่างมีระเบียบวิธี  (Transdisciplinary Research-Oriented Methodological Approach)

แนวดำเนินการอย่างนี้ ก็จะทำให้การวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมในหน่วยการวิจัยระดับชุมชน มีพลังต่อการสร้างปัญญาและสร้างความมีประสบการณ์จริงต่อสังคมได้เป็นอย่างดี ดีกว่าการถ่ายทอดความรู้ความจำจากตำรา สามารถเป็นเวทีสำหรับนำเอาสถานการณ์สังคมทั้งทางด้านสาธารณสุข สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และความสร้างสรรค์อื่นๆ มาศึกษา วิเคราะห์ ในวาระเดียวกันของเครือข่ายวิจัยสหวิทยาการและข้ามศาสตร์ โดยไม่ได้ใช้ศาสตร์สาขาเป็นตัวอ้างอิง แต่ใช้สถานการณ์และความมีประสบการณ์จริงต่อสังคมบนสถานการณ์การวิจัยเป็นกรอบทำงาน หลอมหลวมพลังปัญญา เป็นครูของกันและกันทั้งระหว่างชุมชนกับคนมหาวิทยาลัย และระหว่างชุมชนวิชาการอันหลากหลายของมหาวิทยาลัย

พาเครือข่ายนักวิจัยชุมชนลงสนาม พร้อมกับฝึกทักษะการใช้เครื่องมือวิจัยปฏิบัติการชุมชนแบบผสมผสานกระบวนการ dialogue การสนทนากลุ่มแบบมีโครงสร้าง และการสนทนาเพื่อมีส่วนร่วมสังเกตการณ์จากประสบการณ์ตรง พร้อมกับพัฒนาเครือข่ายชุมชนกับชาวนาบัว เกษตรกร และผู้นำชุมชน ณ ศาลากลางน้ำ บ้านลุงแจ่ม สวัสดิ์โตและลูกหลาน บ้านรศาลาดิน ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

 

ด้วยวิธีการทางความรู้ดังกล่าวนี้ สังคมก็จะได้พลังการเรียนรู้และพลังการอธิบายอย่างรอบด้านต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่ค่อยๆเคลื่อนไหวไปกับกระบวนการวิจัยที่คืบหน้าไปทีละเล็กละน้อย รวมทั้งอย่างมีปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มคนหลากสาขา ซึ่งจะหาไม่ได้จากการวิจัยด้วยศาสตร์เชิงเดี่ยว

ขณะเดียวกัน ครูบาอาจารย์ นักศึกษา กลุ่มบุคคลากรทุกสาขาในระบบและโครงสร้างของความเป็นมหาวิทยาลัยที่ออกไปทำงานด้วยกันในทุกเวทีของการวิจัยชุมชน ก็จะสามารถมีประสบการณ์ทางสังคมด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบบนกระบวนการวิจัย ซึ่งย่อมดีกว่าการต้องรอให้เกิดวิกฤติและออกไปประท้วงหรือใช้วิธีเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบเก่าๆ ซึ่งจะมีข้อจำกัดมากสำหรับสร้างประสบการณ์ความลึกซึ้งต่อสังคมให้กับคนส่วนใหญ่ และบริหารจัดการเพื่อการเรียนรู้สร้างปัญญาชนให้กับสังคมไม่ได้

รวมทั้งย่อมดีกว่าใช้ความรู้เก่าๆและใช้ความรู้ที่นำมาจากต่างประเทศ ซึ่งแยกส่วน ไม่รอบด้าน และอาจจะไม่สะท้อนเชื่อมโยงกับความเป็นจริงซึ่งมีพลวัตรอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถนำเอาความรู้ ตัวปัญญา ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆมาตรวจสอบอย่างรอบด้าน เป็นสหวิทยาการ และข้ามศาสตร์ กับสถานการณ์จริงของสังคมด้วยการจัดการที่พอดีในระดับชุมชนได้อยู่เสมอ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสุขภาพ คนทำงานสาธารณสุข ตลอดจนกำลังคนสาขาต่างๆของประเทศที่สร้างออกไปจากมหาวิทยาลัยมหิดล จะมีกลุ่มอาจารย์ กลุ่มบุคลากร และขุมความรู้ คอยพาเรียนรู้และให้ประสบการณ์ทางสังคม ที่ลึกซึ้งและสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ดีที่สุด

ซ้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอี่ยม ทองดี อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมข้าว และเครือข่ายนักวิจัยชุมชนมือดีคนหนึ่งของมหิดล กลาง รองศาสตราจารย์ดวงพร คำนูณวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย และผู้อำนวยการโปแกรมการวิจัย เครือข่ายการวิจัยชุมชน มหาวิทยาลัยมหิดล

แวะเดินเยี่ยมครูอาจารย์และหมู่มิตร พร้อมกับถ่ายภาพร่วมกับน้องๆจากสำนักงานเลขานุการ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝ่ายบริหาร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

 

วิธีทำวิจัยชุมชนในแนวทางดังกล่าว จะช่วยเพิ่มพูนพลังทางปัญญาและเพิ่มพูนพลังความมีเหตุมีผลให้กับการเชื่อมโยงกันของความรู้ แนวคิด แนวนโยบาย และทฤษฎี กับการปฏิบัติ ในเรื่องต่างๆของสังคมอยู่เสมอ มีเหตุผลหนักแน่นมากกว่าทรรศนะทางปัญญาเชิงเดี่ยว สามารถสร้างความรู้และตัวอย่างของจริงที่ผ่านการตรวจสอบอย่างพอดี สะท้อนเชื่อมโยงกันไปมากับการพัฒนยาการวิจัย การสร้างนักศึกษา การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาการเรียนรู้ ทำหน่วยการวิจัยในชุมชนให้เป็นเสมือนห้องปฏิบัติการทางสังคม หรือ Social Lab ที่ดี สามารถสัมผัสกับสถานการณ์และเห็นแนวโน้มที่มีความหมายในอนาคต สร้างพื้นฐานทางปัญญาใหม่ๆสำหรับการก่อเกิดขุมปัญญาแบบข้ามศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะที่มีสุขภาพเป็นแกนสำหรับผสมผสานศาสตร์และวิทยาการอื่นๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลควรจะเป็นผู้นำให้กับประเทศ

เมื่อมีความชัดเจนและสร้างกลุ่มคนให้พอจัดการตนเองได้พอสมควรแล้ว ก็จะเป็นเวทีที่มีความหมายมากสำหรับสร้างคนกลุ่มต่างๆให้ไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชีวิตและการงานต่างๆที่ตนเองมีอยู่แล้ว ทั้งกลุ่มอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา กลุ่มบุคลากรบริหาร และสายสนับสนุนต่างๆในระบบ เครือข่ายวิจัยชุมชน จึงควรทำวิจัยให้มีชีวิต เป็นแหล่งร่วมกันพัฒนาการตั้งคำถามการวิจัย เป็นเวทีสำหรับพัฒนาการเรียนรู้ให้ทันกับสถานการณ์ของสังคมว่ามีความเชื่อมโยงและมีผลอย่างไรต่อมิติสุขภาพและเรื่องต่างๆที่้มหาวิทยาลัยมหิดลทำ เพื่อนำไปวิจัยเฉพาะด้านหรือทำวิจัยเชิงเดี่ยวที่ใช้ศาสตร์สาขาเป็นตัวตั้ง เป็นการปฏิสัมพันธ์กันของระบบการศึกษากับโลกแห่งความจริงด้วยมิติความรอบด้านทางสหวิทยาการและข้ามศาสตร์ซึ่งยังขาดอยู่ในระบบเดิม

ดังนั้น การวิจัยชุมชน(Community-Based Research) นอกจากจะเป็นการวิจัยที่ควรมุ่งมั่นทำที่มีความน่าสนใจอยู่ในตัวเองแล้ว จึงเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาพลังการวิจัย เพื่อปฏิบัติการสังคม ให้มีผลกระทบสืบเนื่องต่อการปฏิรูปการศึกษา ทั้งทางด้านการวิจัยสร้างปัญญาให้กับสังคม การสร้างคน การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในกรอบใหม่ๆ ให้มหาวิทยาลัยกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของสังคม ดำเนินไปด้วยกัน และต่างเป็นปัจจัยส่งเสริมเกื้อหนุนกันอย่างดีที่สุดในอีกวิธีหนึ่ง.

หมายเลขบันทึก: 504203เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เรียนอาจารย์ วิรัตน์ ขอจด จำ ประโยคนี้ของอาจารย์ ไว้คำนึงตลอดไป

(ดังนั้น การวิจัยชุมชน นอกจากจะเป็นการวิจัยที่ควรมุ่งมั่นทำที่มีความน่าสนใจอยู่ในตัวเองแล้ว จึงเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาพลังการวิจัย เพื่อปฏิบัติการสังคม ให้มีผลกระทบสืบเนื่องต่อการปฏิรูปการศึกษา ทั้งทางด้านการวิจัยสร้างปัญญาให้กับสังคม การสร้างคน การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในกรอบใหม่ๆ ให้มหาวิทยาลัยกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของสังคม ดำเนินไปด้วยกัน และต่างเป็นปัจจัยส่งเสริมเกื้อหนุนกันอย่างดีที่สุดในอีกวิธีหนึ่ง.)

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ

ดีใจครับดีใจ แนวคิดและแนวทางการทำงานในเชิงปฏิบัติการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเดินออกไปทำงานให้บังเกิดผลทางการปกิบัติจริงๆกับชุมชน พร้อมกับเป็นการเรียนรู้จากความเป็นจริงกับสังคม เรียนรู้จากของจริงด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ จะเป็นแนวคิดที่ไม่ใช่แค่เรื่องการไปทำงานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา ที่ระดับชุมชน แต่จะทำให้คนทำงานชุมชนและคนทำงานที่เป็นนักเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติการด้วย มีความรอบรู้ รู้จริงทางการปฏิบัติ เห็นภาพสะท้อนระบบสังคมและโลกกว้างจากชุมชนซึ่งเสมือนเป็นเซลล์และโมเลกุลของสังคม ที่จะทำให้ได้ปัญญาที่ทันใช้ทัดเทียมกับความเรวและซับซ้อนในการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆของสังคม มีโลกทัศน์ที่ข้ามศาสตร์ เป็นสหวิทยาการ กอปรด้วยจิตใจที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง เป็นวิธีวิทยาและญาณวิทยาของนักปฏิบัติมากกว่าจะเป็นแค่ Research Target Area เฉยๆ เรื่องนี้อยากให้นักวิจัยแนวปฏิบัติการชุมชน กับนักเรียนรู้บนการทำงานสาขาต่างๆได้มีความชัดเจนมากๆเลยครับ จะทำให้ได้ผู้นำทางปัญญาจากหมู่นักปฏิบัติ เป็นทุนทางปัญญาในแนวนี้ของสังคมมากยิ่งๆขึ้นในขอบเขตต่างๆครับ

ขอบคุณอาจารย์หมอ ป.และคุณแผ่นดิน
ที่แวะมาเยือนและคลิ๊กให้กำลังใจกันครับ

ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีศิษย์เก่ามหิดลครับ

สิ่งดีดี ใครๆก็รำลึกถึง

หากเป็นปูชนียบุคคลแล้ว ต้องบอกว่า..โชคดีที่ได้พบเจอ

อาจารย์สบายดีนะครับ @ด้วยความระลึกถึงครับ@ 

อาจ อาจารย์ณัฐพัชร์ดูสดใสจังเลยนะครับ

ได้รับคำชมอย่างนี้นี่ มือที่กำลังง้างเตรีมกดไลค์
ก็ต้องกดให้กับคุณแสงแห่งความดีอย่างเต็มที่เลยละ

ขอบพระคุณพี่ใหญ่ครับ
เรื่อง แสงเงากับไรแดด ที่ร่วมเขียนกับพี่ใหญ่ คนเข้ามาอ่านและชมเยอะมากเลยครับ 
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/403970 ดีใจที่มีคนสนใจเรื่องที่พากันเดินข้ามพรมแดนทางศาสตร์ได้เยอะเลยนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

  • ขอบพระคุณสำหรับประสบการณ์ดีๆ ให้กับคลื่นลูกใหม่ที่ทำงานเชิงบูรณาการแบบ Multidisciplinary ที่คาดหวังว่าจะช่วยสลายกำแพงบางอย่างจากวิธีการทำงานและมุมมองของคนทำงานแนว community based research เหมือนกัน ซึ่งทำให้เกิดพลังปัญญา และพลังกายที่จะไปสร้างแรงกระเพื่อมจากการค่อยๆ เคลื่อนตัวไปในแนวทางเดียวกันกับสังคมปัจจุบันอย่างส่งผลประทบให้น้อยที่สุด
  • พี่ๆ น้องๆ จากหลายสาขาเริ่มกระบวนการทำงานวิจัยชุมชนอย่างเข้มแข็งและเข้าใจในหลักคิดและวิธีการมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ส่งผลมากค่ะจากเวทีในวันนั้น
  • ขอบพระคุณอีกครั้งสำหรับการกลับมาอย่างมีความหมาย และมีความหวังสำหรับชาวมหิดลที่ทำงานชุมชน และต่อชุมชนที่พวกเรากำลังเคลื่อนตัวไปค่ะ ..

                        

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนครับ
คุณแสงแห่งความดี, บังวอญ่า, อาจารย์หมอ ป., คุณเอก จตุพร
อาจารย์ณัฐพัชร์, คุณหมอธิรัมภา, อาจารย์ธนิตย์ สุวรรณเจริญ, พี่ใหญ่ นงนาท
คุณแผ่นดิน, อ.นุ, และคุณคบเพลิงกับงู 
มีความสุขมากๆทุกท่านครับ

  • ขอบคุณค่ะคุณแสงแห่งความดีหรับคำชม ^^

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
ภาพเหมือนถ่ายจากการจัดแสงสตูดิโอเลยนะครับ ชัดและสวยดีจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท