เมื่อคีรีบูนถึงเวลาต้องบิน


"โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาล เจ้าอาจแหลกราญเมื่อมีภัย เสียงหวานหวานขนสวยสวยช่วยอะไรไม่ได้ จะไม่ปลอดภัยเสมือนในกรง"

 

เช้านี้ก่อนออกจากบ้านก็ไม่ได้รีบร้อนอะไรเพราะไม่ต้องมีปัญหากับเรื่องรถติดเหมือนในเมืองใหญ่ๆ ได้ยินเสียงเพลงคีรีบูนบินที่คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติขับร้องดังมาจากบ้านพี่สาวของ ผบทบ.(ผู้บัญชาการที่บ้าน) เลยนั่งฟังจนจบเพราะไม่ได้ฟังเพลงนี้มานานเท่าไหร่จำไม่ได้แล้วครับ

ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่ชอบมากๆ และก็เชื่อว่าสมาชิกชาว G2K หลายท่านคงรู้จัก เคยได้ยิน หรืออาจเคยชื่นชอบนะครับกับบทเพลงนี้ บทเพลงที่เริ่มต้นว่า..

"..โบกบินไปแล้วหรือคีรีบูน
อาดูร สิ้นสูญเสียดายใจปอง
โอ้คีรีบูนเสียงทอง
เจ้าลืมหอห้อง กรงทองสิ้นแล้วหรือนี่..."

ฟังเพลงคีรีบูนบินได้ที่นี่ครับ

เพลงคีรีบูนบินประพันธ์คำร้องและทำนองโดยครูพยงค์ มุกดา ก่อนที่สุเทพ วงศ์กำแหงจะนำมาขับร้องนั้น อุดม เขียนเอี่ยม ได้ขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรก เนื้อหาของเพลงบรรยายถึงคนรักที่จากไปโดยเปรียบกับนกคีรีบูน ที่ต้องการอิสระเสรีโดยไม่คำนึงว่าโลกภายนอกนั้นเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่างๆนานาแอบแฝงอยู่

ผมหาความหมายและแรงบันดาลใจซึ่งเป็นที่มาของเพลงนี้จากผู้ประพันธ์ไม่ได้ครับ หากเป็นเพลงสากลเราสามารถเข้าไปดูได้จากเว็บไซต์ที่ชื่อ songfact (http://www.songfacts.com/)ได้ ถึงจะไม่ครบแต่ก็ครอบคลุมเพลงที่เป็นที่รู้จักมากมายพอสมควร (เพลงไทยก็น่าจะมีกูรูด้านนี้นำเสนอเผยแพร่แบบนี้ไว้บ้างก็น่าจะดีเหมือนกัน)

ทำนองเพลงคีรีบูนบิน เมื่อมาประสานเข้ากับเสียงร้องของนักร้องมืออาชีพระดับศิลปินแห่งชาติอย่างนี้ คิดว่าทุกท่านคงยอมรับถึงความไพเราะของบทเพลงเช่นเดียวกับผมเหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง ท่วงท่า ทำนอง ล้วนสามารถสร้างให้ผู้ฟังเกิดสุนทรียภาพได้ทุกครั้ง ก็เหมือนที่บอกนั่นแหละครับ เมื่อเริ่มฟังก็ต้องฟังให้จบไม่อย่างนั้นจะรู้สึกเสียดายที่ขาดอะไรสักอย่างหนึ่งไป

แล้วก็เป็นเพลงนี้เช่นกันครับ ที่ทำให้ผมรู้สึกย้อนแย้งมาตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก บทเพลงมีความไพเราะรื่นหู ศิลปินก็เป็นมืออาชีพที่เราชื่นชมชื่นชอบ แต่เนื้อหาของมันต้องบอกตรงๆครับว่าผมเองรู้สึกเหมือนเป็นการครอบงำ เอารัดเอาเปรียบของคนที่มีอำนาจมากกว่าอย่างไรบอกไม่ถูก เป็นความรู้สึกเหมือนมองเห็นผู้มีอำนาจแสดงความเป็นเจ้าของแม้กระทั่งชีวิตของคนอื่น สามารถขีดเขียน บงการและกำหนดชะตากรรมของคนอื่นให้เป็นอย่างไรก็ได้

มองในด้านหนึ่ง เสมือนผู้ใหญ่หรือผู้ที่แข็งแรงกว่า มีความปรารถนาดี ต้องการที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอกว่าให้ได้รับความปลอดภัย และมีความสุขอยู่กับสิ่งที่เขาจะจัดหาให้ด้วยความรักความเสน่หา มองว่าคนเหล่านี้อ่อนแอเกินไปจนไม่สามารถออกไปเผชิญกับโลกภายนอกที่โหดร้ายได้ ต้องถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตที่เขาสามารถให้ความคุ้มครองได้เท่านั้น

"เจ้าทรนงหลง เริง ลม บน
ดิ้น รน อำลาหาทางเสรี
ปีกเจ้ายังอ่อน เพียงนี้
เพียงพอหรือที่ หลบหนี พี่ไป

โลก นี้ กว้าง ใหญ่ ไพศาล
เจ้าอาจแหลกราญเมื่อมีภัย
เสียงหวานหวานขนสวยสวยช่วยอะไรไม่ได้
จะไม่ปลอดภัยเสมือนในกรง"

แต่หากมองในมุมของผู้ที่ต้องถูกจำกัดเสรีภาพนั้นเล่า ก็จริงนะครับว่าอาจมีบางคนที่ยอมรับได้ แต่มันจะเป็นแบบเดียวกันเช่นนี้ทุกคนหรือเปล่าล่ะครับ ? เพราะสำหรับบางคนหรือหลายๆคนคำว่าเสรีภาพมันมีความสำคัญเสียจนแม้จะต้องแลกมาด้วยความลำบากยากเข็ญ หรือต้องแลกด้วยชีวิต ก็ยังยินดีที่จะไขว่คว้าแสวงหามาให้จนได้

ในอดีต สังคมของเราอาจเป็นสังคมที่ยอมรับในเรื่องที่ผู้ใหญ่หรือผู้ที่แข็งแรงกว่าสามารถเป็นเจ้าของผู้น้อยหรือบุคคลที่อ่อนแอกว่าได้ สามีเป็นเจ้าของภรรยา พ่อแม่เป็นเจ้าของลูก นายเป็นเจ้าของบ่าว กษัตริย์เป็นเจ้าของพลเมือง เฉกเช่นการเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติจะทำการใดๆกับคนเหล่านั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับที่เป็นทรัพย์สินข้าวของๆตน

ถ้าจะถามว่าค่านิยมแบบนี้มีอยู่เฉพาะในภูมิภาคของเราหรือไม่ ด้วยสติปัญญาความรู้อันน้อยนิดที่มีอยู่ ผมคงตอบไม่ได้ แต่เมื่อฟังเพลงนี้แล้วก็คิดถึงเพลง Take Good Care of My Baby (เขียนโดย Carole King และ Gerry Goffin ปล่อยเป็นซิงเกิ้ลแรกโดยมี Bobby Vee ขับร้องเมื่อปี 1961 : http://en.wikipedia.org/wiki/Take_Good_Care_of_My_Baby) ทำให้รู้สึกว่าฝรั่งเองก็มีความคิดเป็นเจ้าข้าวเจ้าของแบบนี้เหมือนกัน ต่างกันเพียงเขายังยอมรับในสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจของผู้อื่น(คนที่ตนเองอยากเป็นเจ้าของ) ไม่ได้คิดที่จะจับมากักขังไว้แต่อย่างใด

สำหรับเพลง Take Good Care of My Baby มีศิลปินนำมาร้องใหม่หลายครั้ง ซึ่งรวมทั้งวง The Beatles ด้วย แต่ผมชอบเวอร์ชั่นของ Smokie มากกว่าครับเพราะดนตรีค่อนข้างเร้าใจกว่า

ฟังเพลง Take Good Care of My Baby ได้ที่นี่ครับ

ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่านั่นหมายถึงวิธีคิดที่ครอบงำผู้อื่นนั้นมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก เพียงแต่จะมีความเข้มข้นในภูมิภาคไหนมากกว่ากันเท่านั้น สำหรับในยุคปัจจุบัน ค่านิยมแบบนี้น่าจะลดน้อยลงไปมากแล้วนะครับ โดยเฉพาะเมื่อการติดต่อสื่อสารสามารถเป็นไปได้รวดเร็วแทบจะในทันทีทันใด การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนในโลกไม่ได้ถูกจำกัดโดยเงื่อนไขใดๆอีกต่อไปแล้ว การให้ความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเป็นเรื่องปกติแล้วสำหรับสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน การข่มขู่คุกคามต่อเสรีภาพของผู้อื่นเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมโลก

สังคมไทยของเราล่ะครับปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง เราได้มีพัฒนาการก้าทันตามความเจริญของโลกแล้วหรือ การรัฐประหารเมื่อครั้งที่ผ่านมามันเหมือนกับเป็นตัวชี้วัดว่ายังมีกลุ่มคนบางส่วนในสังคมที่ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองให้ทันกับยุคสมัยได้ ยังมีซากเดนความคิดของความลุ่มหลงในอำนาจ คิดว่ามีความรู้ความสามารถ คุณงามความดีเหนือกว่ามนุษย์คนอื่นๆทุกคน มองว่าคนทั่วไปยังไม่สามารถใชัชีวิตในสังคมนี้ได้ด้วยตัวเอง ต้องมีพวกเขาเหล่านั้นคอยปกป้องคุ้มครองและบงการอยู่เสมอ

จนถึงวันนี้เศษซากของการลุแก่อำนาจก็ยังคงอยู่ทั้งในรูปขององค์กรอิสระ หน่วยงาน องค์กร คณะบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเหล่านั้น ยังคอยเป็นตัวขัดขวางถ่วงความเจริญของสังคมอยู่ไม่ลดละ วันนี้หากเปรียบประชาชนเป็นดังนกคีรีบูนเราก็ยังคงอยู่ในกรง เพียงแต่กรงใบนี้...
..เป็นกรงที่มองไม่เห็น แต่ก็ออกไปไม่ได้ !

ถึงเวลาที่คีรีบูนต้องบินแล้วหรือยังครับ ?


คีรีบูนบิน สุเทพ วงศ์กำแหง
http://www.youtube.com/watch?v=EWq56Hyh50Y

Take good care of my baby / Chris Norman : Smokie
http://www.youtube.com/watch?v=KoebOk9H2KI

ภาพนกคีรีบูน http://pet.kapook.com/view1120.html

หมายเลขบันทึก: 503076เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2012 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท