สังคมสูงอายุ


สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ

     องค์การสหประชาชาติให้นิยามว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรือ อายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 14

    สำหรับประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ ร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งหมด ในปี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พยากรณ์โครงสร้างประชากรไว้ว่า ภายในไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มเป็น ร้อยละ 23.5 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

การเข้าสู่สังคมสูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุมากขึ้น และวัยแรงงานเริ่มลดลง ซึ่งจากการศึกษาของ ดร. มัทนาพบว่า ภาระการดูแลผู้สูงอายุใน พ.ศ. 2553 มีสัดส่วนวัยแรงงานที่สามารถเกื้อหนุนดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉลี่ยวัยแรงงาน 4 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนเป็นวัยแรงงาน 1.6 คน ต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน  ซึ่งในภาครัฐก็ได้มีการเตรียมแผนงานรองรับไว้แล้ว แต่ในภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้สูงอายุในปัจจุบัน หรือผู้ที่กำลังจะก้าวสู่วัยผู้สูงอายุในอีก 30 ปี ข้างหน้า ควรมีการเตรียมการไว้รองรับสถานการณ์สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ โดยการใช้หลักง่ายๆ คือ 5 อ. ในการเตรียมร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวกันนะคะ

                1. ออกกำลังกาย เราควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ร่างกายของเรามีสมรรถภาพที่ดี เกิดความคล่องตัว  ลดปัญหาการหกล้มและลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งหากไม่มีโรคประจำตัว แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น

                2. อาหาร ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สำหรับวัยสูงอายุ ร่างกายมีการใช้พลังงานน้อยลง จึงควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน ให้เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะปลา และเพิ่มอาหารประเภทผัก (หลากหลายสี) ผลไม้(ไม่หวาน) และธัญพืชต่างๆ (ข้าวกล้อง ถั่ว) และควรปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารเป็นประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนวิธีการผัด ทอด  นอกจากนี้ควรดื่มนมวันละ 1 แก้ว และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน

                3. อารมณ์  เราควรทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอเสียแต่ตอนนี้ วิธีการง่ายๆ คือการยิ้ม ซึ่ง การยิ้ม ทำให้จิตใจเบิกบาน ร่าเริง มีความสุขและช่วยให้มีอายุยืน อีกทั้งควรมีการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นคนแก่ หรือเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อที่เราจะได้ยอมรับและเผชิญได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ควรมีการฝึกทำจิตใจให้สงบ โดยการอ่านหนังสือ คำสอนทางศาสนา หรือการสวดมนต์เป็นประจำ

                4. อโรคยา เราควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆของร่างกาย เช่น คลำได้ก้อน โดยเฉพาะก้อนที่โตเร็ว แผลเรื้อรัง มีปัญหาการกลืนอาหาร ท้องอืดเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย และควรมีการตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือการสุขภาพประจำปีเป็นประจำทุกปี

                5. ออม เรื่องการออมกำลังอยู่ในประเด็นที่ภาครัฐกำลังจัดระบบประกันสังคมสำหรับวัยสูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีการออมมากขึ้นและครอบคลุมประชากรให้มากขึ้น ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุไทย ร้อยละ 68.7 มีการออม แต่ก็ยังมีมูลค่าในการออมเพิ่มต่ำ ดังนั้นเราควรที่จะออมไว้เพื่อวัยสูงอายุในอนาคตเสียแต่เนิ่นๆ ไม่ควรรออมเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว เพราะ ในอนาคต (20 – 30 ปีข้างหน้า) เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและเด็กลดลง วัยทำงาน 1.6 คนต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และ ไหนจะต้องดูแลเด็กอีก ดังนั้นการเกื้อหนุนจากครอบครัวจึงไม่ได้เป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญของผู้สูงอายุอีกต่อไป ...ออมไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า...หากไม่มีใครเจือจุน ก็จะได้เกื้อหนุนตนเอง

                ดังนั้น เราจึงไม่ควรชะล่าใจที่จะเตรียมรับมือกับความสูงวัย เมื่ออายุเลย 60 ปีไปแล้ว แต่ควรเตรียมตัวเตรียมใจไว้แต่เนิ่นๆ  เพื่อให้เราได้นำพลังของผู้สูงอายุมาทำประโยชน์แก่สังคม หรือสร้างสรรค์สังคมไทย   ให้สังคมทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของผู้สูงอายุ และให้ผู้สูงอายุได้ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี สมดังคำกล่าวที่ว่า “สูงวัยอย่างมี “พลัง

 

 

เอกสารอ้างอิง

                อนาคตสังคมสูงอายุไทยยังน่าห่วง.2555. ประชาชาติธุรกิจ. 18 มกราคม 2555.

                 

หมายเลขบันทึก: 500250เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

สังคมสูงอายุ....ทำอย่างไร?....กับการใส่ใจสุขภาพนะคะ....ต้องร่วมด้วย ช่วยกันนะคะ... ขอบคุณมาก....กับบทความดีดีมีคุณภาพนี้ค่ะ

 

แนวนโยบายผู้สูงอายุในปี 2573 ชาติเขาวางนโยบายไว้ที่นี้ เชิญแลกเปลี่ยน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/489822

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท