ช่วยกันทำฝันให้เป็นจริง


ผมโดดเข้าไปสู่แวดวงการศึกษาอย่างถลำลึกเสียแล้ว เริ่มจากการเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีภูเก็ตที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน ต่อมาพอลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีภูเก็ตก็ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีภูเก็ต ครั้นเป็นครบสองวาระก็มาเป็นประธานกรรมการสถานศึกษา

ในขณะที่รัฐบาลเริ่มปฏิรูปการศึกษา ผมก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานเขตพื้นที่การศึกษานำร่อง ๑ ใน ๕ ของประเทศ ต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และปัจจุบันมีการแยกสายมัธยมกับประถมออกจากกัน เขากำหนดให้เป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

ระหว่างเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีภูเก็ตก็เชิญคณาจารย์จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมาสอนเสริมให้กับนักเรียน ม.๖ ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยให้นักเรียนทั้งจังหวัดเข้าเรียนฟรีโดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตจัดสรรเงินให้ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ปีถัดมาเชิญนักเรียนไปถึงพังงาและกระบี่เรียนฟรีเช่นกัน คนในแวดวงการศึกษาจึงมองผมในรูปแบบต่างกัน ครูบางคนมองว่าผมทำความวุ่นวายให้เขาเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้พักผ่อนต้องมาคอยดูคอยช่วยเหลือนักเรียน ครูบางคนก็เสียรายได้จากการเป็นติวเตอร์ ครูส่วนใหญ่เขาก็ว่าดีค่หางอึ่ง…อิอิ

ช่วงปีเศษที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ต มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผมได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ เมื่อกระบวนการคัดเลือกครูสอนดีเสร็จสิ้นลง ผลปรากฎว่าจังหวัดภูเก็ตเป็น ๑ ใน ๑๐ จังหวัดทั่วประเทศที่มีกระบวนการคัดเลือกที่ดีเด่น มีส่วนร่วมและโปร่งใสได้รับรางวัลเป็นเงินมาบริหารจัดการเพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตเป็นเงินสามล้านบาท เท่านั้นยังไม่พอยังได้รับรางวัลจังหวัดที่มีการสื่อสารดีเด่นซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ ของประเทศอีกหนึ่งหมื่นบาท

คราวนี้แหละครับที่ทำให้ผมกลุ้ม ผมจะทำยังไงกับเงินสามล้านบาทดี ได้นำเสนอที่ประชุมไปว่าผมอยากตั้งสภาการศึกษาจังหวัด เพื่อระดมความคิดจากทุกภาคส่วนมาจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชน โดยมีความคิดว่าปัญหาผลผลิตทางการศึกษาไทยที่ไม่ค่อยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เด็กจบการศึกษาแล้วไม่เป็นคนดี คนเก่งอย่างที่สังคมคาดหวัง จบแล้วทำงานไม่เป็น ขาดความอดทน เด็กในจังหวัดภูเก็ตยังต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างรุนแรงเนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่แทนที่เด็กภูเก็ตจะเก่งภาษา สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลกได้ ก็กลับกลายเป็นว่าพูดเป็นแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็ยังอ่อน ในขณะที่แรงงานในภูเก็ตซึ่งเป็นชาวอาเซียนกำลังรุกกระหน่ำเข้ามาทำงานในภูเก็ตมากขึ้น เราจะทำอย่างไรกับการศึกษา ถ้าคนภูเก็ตไม่ลุกขึ้นมาจัดการศึกษากันเองให้ลูกหลานของเราเป็นเด็กที่เราต้องการ

แต่..การสร้างเด็กให้เป็นคนที่พึงประสงค์คงไม่ใช่เฉพาะคนภูเก็ตเท่านั้นที่จะคิดจะทำ แต่เราท่านทั้งหลายที่อยู่ในสังคมนี้ต่างมีหน้าที่ต้องช่วยกัน เพราะโมเดลของภูเก็ตก็จะมีประโยชน์กับเด็กและเยาวชนจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศด้วย ผมอยากขอความคิดเห็นจากทุกท่านที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ว่า

๑.เราจะจัดรูปแบบสภาการศึกษาจังหวัดอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ

๒.เราจะหาเงินจากที่ไหนมาบริหาร

๓.เราจะจัดทำหลักสูตรอย่างไรที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

๔.ครูสอนดีที่เราได้คัดเลือกมาควรมีส่วนร่วมทำอะไรบ้าง

๕.ท้องถิ่นควรจัดการศึกษาอย่างไร

ลองเบาะๆกันก่อนนะครับ เพราะผมจะนำความเห็นของทุกท่านเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ ๒๒ สิงหาคมนี้เพื่อนำเสนอแนวคิดในการก่อร่างสร้างตัวของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เชิญญาติพี่น้องทั้งหลาย ลุยเลยครับ แฮ่…

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 498819เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 07:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีท่านอัยการ

ภูเก็ตจังหวัดจัดการตนเอง เริ่มเห็นช่องทางหลายประเด็น

จัดการศึกด้วยตนเอง อีกช่องทางหนึ่งที่เข้าทางภูเก็ต

ท่านอัยการฯ เป็น "นักการศึกษา" แน่นอนแล้วครับ อิ อิ

สบายดีนะครับ ;)...

  • ท่านอัยการครับ
  • วันก่อนผมลงไปที่สุราษฯ
  • ยังเห็นรายชื่อท่านอัยการเป็นวิทยากรด้วย
  • ที่เกาะสมุย กรรมการทำเรื่องการศึกษาเข้มแข็งมาก
  • ลองปรึกษากันดู
  • ที่ผศ ดร. ประโยชน์ จากม ราชภัฏสุราษฯเป็นคณะทำงานครับ
  • ผมเชื่อว่า ท่านอัยการทำการศึกษาที่ภูเก็ตให้ดีได้แน่นอน

ขอบคุณครับบังวอญ่า อาจารย์เสือ และอาจารย์ขจิต ท้องถิ่นภูเก็ตเขาตื่นตัวเรื่องการศึกษามากครับ ไม่ว่าจะอบจ.ที่สนับสนุนงบประมาณจ้างครูปีละ ๔๐ ล้านบาท แต่ภาครัฐไม่เคยใส่ใจกับครูที่ อบจ.จ้างเลย จะสอบเข้าเป็นครูผู้ช่วยเป็นกรณีพิเศษก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์เกณฑ์ แก้หลักเกณฑ์ให้ครูอัตราจ้างเหล่านี้มีสิทธิสอบด้วยสิครับ ที่อื่นอาจจะมีการจ้างครูจำนวนน้อยแต่ที่ภูเก็ตจ้างครูให้ภาครัฐปีละเป็นร้อยคนแต่ไม่เคยดูแลครูเหล่านี้เลย ผมแจ้ง ผอ.เขตพื้นที่ฯให้ทำหนังสือถึง ก.ค.ศ.ผมจะลงนามเองเพื่อขอให้ยื่นมือให้ครูอัตราจ้างเหล่านี้/โรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของ อบจ.จากเดิมที่ไม่มีเด็กเรียน เดี่ยวนี้ต้องแย่งกันเข้า/ เทศบาลนครภูเก็ตก็จัดระบบการศึกษาจนเดี๋ยวนี้กลายเป็นคู่แข่งกับโรงเรียนดังๆได้บ้างแล้ว คนภูเก็ตจัดโฮมสกูลก็หลายครอบครัว โรงเรียนทางเลือกแบบลำปลายมาศก็มีนะครับ ครูที่ไปเดินสอนตามชายหาด เด็กด้อยโอกาสตามแหล่งต่างๆก็ไม่น้อย คงต้องวางแผนกันยกใหญ่ว่าจะทำอย่างไรกันดี ผมถึงอยากรับฟังความคิดเห็น ใครมีแนวความคิดในด้านการจัดการศึกษาทุกด้านเชิญแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะให้ผมด้วยนะครับ มาทำบุญร่วมกันเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคว่ามสุขในการเรียนรู้และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตนะครับ

สวัสดีค่ะท่านบัณฑูร ดิฉันก็เป็นผลผลิตของครูสอนดีในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็น1ใน10แบบเดียวกับภูเก็ต ขอเสนอความคิดเห็นเล็กๆนะคะ ในเมื่อมีโครงการเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนขื้นมาให้สอดคล้องกับท้องถิ่น ก็ควรให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม อบจ./อบต. ในการสนับสนุนงบประมาณ จัดประกวดโครงการเกียวกับการพัฒนาเยาวชนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาษา หรือหลักสูตรท้องถิ่นที่มีประโยชน์ต่อชุมชน โดยให้ครูสอนดีเป็นแกนนำในการจัดทำเครือข่ายแต่ละจังหวัดร่วมกันปฏิบัติงานให้เห็นผล แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับในระดับประเทศในโอกาสต่อไป คิดว่าถ้าทำได้ประเทศของเราคงจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ไม่รู้จบค่ะ อยากให้จังหวัดอื่น ๆ ทำแบบท่านบ้าง จะได้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายดี ๆ นะคะ

สวัสดีครับ ท่าน 1. สภาการศึกษาจังหวัด มีอปท.ส่วนร่วม ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครู ไม่จำเป็นต้องให้ผอ.สพป.เป็นประธาน ใครก็ได้ที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจงานการศึกษา 2. เงินอบจ.อบต.เยอะแยะ เข้าอยากช่วยอยู่แล้ว 3.หลักสูตร ไม่ควรซ้ำซ้อนขั้นพื้นฐาน แต่สนองชุมชนท้องถิ่น และปากท้อง เน้นพอเพียง และทักษะชีวิตมากๆ 4.ครูสอนดี ประเภทข้ามาคนเดียว เก่งแต่เป็นวิทยากร งานนอก อย่าเอามาเชียว ดูที่ครูทุ่มเทเพื่อศิษย์คิดนอกกรอบ รู้จักผลิตสื่อ นวัตกรรมและทำประโยชน์เพื่อองค์กรและชุมชน 5.ท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุน ปรึกษาหารือ ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมทุน และจัดการศึกษาที่เน้นเรื่องราวใกล้ตัว ทำจากเรื่องเล็กๆ เพื่อแก้ปัญหาชุมน เป็นไปเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ขอบคุณท่านที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดความอ่านนะครับ

วันนี้เพิ่งได้ทราบจากทางมูลนิธิสยามกัมมาจลค่ะว่าโรงเรียนสตรีภูเก็ตโดดเด่นในเรื่องการเรียนรู้ด้วย PBL ค่ะ สงสัยคงได้ไปแนะนำ http://ClassStart.org ให้โรงเรียนสักครั้งแล้วค่ะ และจะได้แวะไปสวัสดีท่านอัยการด้วยค่ะ :)

ขอบพระคุณทุกท่านครับ ข้อเสนอแนะของท่านล้วนแต่มีประโยชน์ที่ผมจะน้อมรับไปสู่ที่ประชุมเพื่อร่วมกันคิดครับ และที่ประชุมคงจะดีใจที่มีมีผู้เสนอแนะความเห็นที่อยู่นอกภูเก็ตแต่อยากเห็นการศึกษาไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง สิ่งที่ครูสเร็นเหลา ท่านชยันต์ เพชรศรีจันทร์ เสนอแนะมีประโยชน์มากขออนุญาตนำชื่อของท่านแจ้งที่ประชุมด้วยครับ ขอบคุณดร.จันทวรรณ ครับ ไปภูเก็ตเมื่อไหร่อย่าลืมแจ้งนะครับ จะพาไปทานอาหารอร่อยๆ อิอิ สตรีภูเก็ตครบร้อยปีไปไม่นานครับ ได้รับรางวัลพระราชทานมา ๙ ครั้ง เด่นในหลายๆด้าน สวนพฤกษศาสตร์ก็เด่น ผมเป็นศิษย์เก่าที่นั่นก็ภาคภูมิใจอยู่ครับ แต่ปัจจุบันก็มีปัญหาอยู่บ้างเมื่อระบบกรศึกษาจากเดิมสอบเข้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มาเป็นจับสลาก และมีเด็กฝาก แต่ส่วนใหญ่ก็ยังโอเคอยู่ครับ

  • ท่านอัยการครับ
  • ที่ภูเก็ตมีครูในโรงเรียนใช้ http://ClassStart.org
  • แล้วใช่ไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท