สวัสดิภาพชุมชนและความมั่นคงในการทำอยู่ทำกิน


หน้านี้เป็นฤดูทำนาและเพาะปลูก มองไปทางไหนก็จะเห็นสีเขียวอ่อนของต้นกล้าและต้นไม้แตกยอดผลิใบ รอบบ้านผมที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตอง เชียงใหม่ ก็เช่นกัน เต็มไปด้วยสีสันของชีวิตและความงอกงาม ชาวนาไขน้ำเข้านาชุ่มฉ่ำ กล้าที่เตรียมปักดำพลิ้วตามลมเหมือนพรมผืนใหญ่


ทุกวัน ตากับชาวบ้านวัยลูกหลานข้างบ้าน พากันแบกจอบเสียมออกมาทำนา ตาอยู่ในวัยสัก ๗๐-๘๐ ปีแล้ว แกมีลูกหลานเหมือนกัน แต่ลูกหลานไปทำงานอย่างอื่น แกเลยอยู่และทำนาคนเดียว แกเดินหลังงุ้มน้อยๆแล้ว แต่เสียงฟันจอบและการทำงานในท้องนา บ่งบอกว่าร่างกายของแกยังคงแข็งแรงมาก  

คันนาวางตัวเหมือนเส้นนำสายตา เชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆเข้าด้วยกันจนเหมือนเป็นงานศิลปะมีชีวิต ประสานสอดคล้อง กลมกลืน งดงาม ตกกลางคืน เสียงกบเขียดก็ร้องระงมทั้งคืน นานๆก็จะมีเสียงนกกวักและนกกระปูดร้องรับกันเป็นทอดๆ ตบจังหวะและให้โทนเสียงทุ้มกว้างเหมือนเป็นลูกส่งและลูกขัด ขับเสียงเขียด หรีดหริ่งเรไร และคางคก ที่เสียงแหลมเล็กและใสอย่างกับเสียงระนาดรางแก้วและกรับพวง ให้ยิ่งมีมิติลึก เกรียวกราว อลังการ


บางวันก็จะมีชาวบ้านเดินถืออุปกรณ์หากินตามแหล่งน้ำขังในนาข้าว ลักษณะสานไม้ไผ่เป็นตะแกรงเส้นเล็กๆ ทรงเหมือนบุ้งกี๋ มีด้ามยาว ใช้หาลูกฮวกหรือลูกกบเขียดและอึ่งที่ยังอยู่ในน้ำ แต่วันนี้ ชาวบ้านพากันมาเป็นกลุ่ม ๕-๖ คน เสียงพูดคุยครึกครื้นสนุกสนาน เดินไปด้วยกัน บางครั้งก็ดาหน้าเต็มผืนนาและเดินจากด้านหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่ง 

บางครั้งก็กระจายกันเดินจากคันนารอบผืนนาแต่ละแปลง แล้วก็เดินดาหน้า พร้อมกับต่างช้อนลูกฮวกพุ่งเป็นแนวเข้าหากัน กระทั่งไปบรรจบกันตรงกลางผืนนา เป็นการล้อมและช่วยกันต้อนลูกฮวกกับกุ้งหอยปูปลา ไปทีละแปลงๆนั่นเอง


ภาพกลุ่มชาวนาหาลูกฮวกและทำนา ที่อยู่เบื้องหน้า เป็นกระบวนการชุมชนที่มีชีวิตและเป็นอีกมิติหนึ่งของการสร้างความเป็นจริงของสังคมบนวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งมีความหมายและมีคุณค่ามากในหลายมิติ ทั้งต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและต่อความเป็นสุขภาวะส่วนรวมของสังคม ในเงื่อนไขแวดล้อมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา 

มองในแง่การจัดองค์กรเพื่อใช้วัฒนธรรมการทำงานร่วมกันในชีวิตจริงของชาวบ้าน มาใช้บริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Management) ภายใต้สถานการณ์จำเพาะบางอย่างเพื่อบรรลุจุดหมายที่พึงประสงค์ร่วมกัน ทั้งระดับความเป็นส่วนรวมและระดับส่วนบุคคลซึ่งแต่ละคนจะมีรายละเอียดของสิ่งที่ต้องการไม่เหมือนกันแล้ว ทุกคนต่างก็มีบทบาทเป็นสมาชิกของชุมชนและองค์กรที่มีชีวิต ต้องใช้ทักษะการทำงานเป็นทีมและการมีภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม (Team Practice and Collective Leadership) บรรยากาศของการรวบรวมข้อมูล สร้างวาระการคิดและตัดสินใจร่วมกัน เป็นบรรยากาศของการพูดคุยสนทนาและคิดบนจังหวะความเป็นกลุ่ม มากกว่าจะมีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำและต้องคอยออกคำสั่งให้คนอื่นทำตามอยู่ตลอดเวลา ด้วยวิธีการอย่างนี้ การหาอาหารและการทำอยู่ทำกิน ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกินกว่าจะสามารถทำลำพังคนเดียวได้


ในแง่ที่เป็นหน่วยชีวิตและหน่วยของการสื่อสารเรียนรู้ระดับชุมชนนั้น วิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างนี้ ก็ต้องจัดว่ามีบทบาทมากต่อการได้สื่อสารและสร้างการไหลเวียนของเรื่องราวต่างๆในชีวิตผ่านการปฏิสัมพันธ์กันบนความเป็นชุมชน ได้พูดคุยกันเรื่องการทำมาหากิน การบอกกล่าวถึงงานวัด งานบุญ และความเคลื่อนไหวต่างๆที่มีในชุมชน เป็นการสื่อสารและร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ออกมาจากชีวิตจิตใจ มีลักษณะผสมผสาน ครบถ้วนทุกมิติความเป็นชีวิต ทั้งสารทุกข์สุกดิบ การสร้างความบันเทิงเริงรมย์ มีความเท่าเทียมและปฏิสัมพันธ์กันแบบ ๒ ทาง ให้สัมผัสที่เข้มข้นครบถ้วนทั้ง ๖ ช่องทางการรับรู้และสื่อสาร อันได้แก่ หู ตา จมูก ปาก ผิวสัมผัส และกระบวนการในความคิดจิตใจ มุ่งสนองตอบต่อความจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันและการได้พัฒนาชีวิตตนเองให้งอกงามอย่างสั่งสมของวิถีชาวบ้าน


ในอดีต ในยุคที่สังคมโลกแบ่งขั้วอำนาจกันเป็นลัทธิการเมืองที่แตกต่าง และมุ่งใช้อำนาจทำสงครามการต่อสู้กันนั้น ความยากจนข้นแค้น การมีช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำอยู่ทำกินไม่มีความสุข ขาดโอกาสพัฒนาชีวิตและไม่มีเสรีภาพเข้าถึงความหมายของชีวิตตามอุดมคติและความเชื่อความศรัทธา เหล่านี้ มักจะถูกสร้างให้เป็นเงื่อนไขในการทำลายความมั่นคงของรัฐบาล และใช้เป็นสิ่งอ้างอิงเชิงประจักษ์เพื่อสร้างให้เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมมวลชน ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและมีวิธีการรักษาความมั่นคงด้วยอาวุธ ที่กลับยิ่งเพิ่มความไม่มั่นคงและบั่นทอนสวัสดิภาพมนุษย์ของสังคมส่วนรวมมากยิ่งขึ้น

หลายประเทศต้องแข่งกันทุ่มงบประมาณและทรัพยากรเพื่อครอบครองเครื่องมือสำหรับการใช้อำนาจความรุนแรงเพื่อสร้างความมั่นคง เป็นต้นว่า ขีปนาวุธ เทคโนโลยี และกำลังคน ภายใต้เหตุผลของการสร้างความมั่นคงในแนวทางแบบเก่า โดยภายในสังคมที่เฝ้ารักษาให้มั่นคงในแนวทางแบบนี้นั้น มีอยู่ไม่น้อยที่ประชาชนและผู้คนที่อยู่อาศัยก็กลับต้องอยู่ในสภาพอดอยาก เด็กและเยาวชนไร้โอกาสทางการศึกษา สุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนไม่ดี ไม่มีความมั่นคงและไม่มีความฝันที่ดีทั้งเพื่อตนเองและส่วนรวม จึงอยู่ในสภาพสังคมที่มีภาวะพร้อมจะร่วมกันสร้างความไม่มั่นคง ทั้งต่อตนเองและในสภาพที่ต้องมุ่งคุกคามผู้อื่นได้อยู่ตลอดเวลา เหล่านี้เป็นต้น

ในแง่นี้ การสร้างสังคมที่ชุมชนและชาวบ้านสามารถทำอยู่ทำกิน อย่างที่เห็นในภาพนี้ จึงทำให้หมดเงื่อนไขของการต่อสู้ช่วงชิงมวลชนกัน ส่งผลทางอ้อมต่อการมีเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล ตลอดจนก่อให้เกิดความมั่นคงของสังคมโดยรวม อาหาร แหล่งทรัพยากร และความสามารถทำอยู่ทำกินแบบพอเพียง จึงนับว่าเป็นมิติความมั่นคงในอีกความหมายหนึ่ง

หากรัฐบาล กลไกทางอำนาจ รวมทั้งธุรกิจและอุตสาหกรรมของเอกชนที่ถูกต่อต้านมากยิ่งๆขึ้นในสภาวะแวดล้อมของโลกปัจจุบัน เห็นมิติความเชื่อมโยงกันนี้ ก็จะสามารถเห็นมิติใหม่ของความมั่นคง ที่อยู่ในรูปของพลังอำนาจที่ไม่ได้อยู่ในการใช้ความรุนแรงและไม่ได้เกิดจากเครื่องมือหรือใช้อาวุธเป็นอำนาจ แต่อยู่ในเครื่องมือและพลังอำนาจในเชิงวัฒนธรรม เช่น แหล่งอาหารชุมชน การทำอยู่ทำกิน ความสามารถดำเนินชีวิตและทำมาหากินร่วมกันของชาวบ้าน ตลอดจนการมีสุขภาวะอยู่ในชุมชนระดับต่างๆ ซึ่งก็จะทำให้การทำงานเพื่อความมั่นคงกับการทำงานเชิงสังคม สามารถสนับสนุนและส่งเสริมกัน บนแนวคิดและแนวการทำงานที่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรง อีกทั้งทำให้คนส่วนใหญ่และคนไร้โอกาส สามารถมีความสุขบนการดำเนินชีวิตและการอยู่กับวิถีทำมาหากินมากขึ้น ไม่ต้องได้ไปประท้วง ไม่ต้องยากแค้น เจ็บแค้น ห้ำหั่นและเป็นภัยต่อความมั่นคงของกันและกัน หรืออย่างน้อย ก็ไม่แผ่ขยายให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงดังที่ควรจะเป็นเหมือนกับหลายแห่งของโลก เพราะเหตุปัจจัยและภาวะกดดันไม่แรงพอที่จะทำให้ต้องยอมแลกกับความสงบสุขและความสามารถทำอยู่ทำกินในชุมชนและถิ่นอาศัย ที่มีและเข้าถึงได้ด้วยตนเองอยู่ในวิถีดำเนินชีวิต


ในอีกแง่หนึ่ง กระบวนการชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เครือข่ายชุมชน และการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนของชาวบ้านหลายคนจากหลายแหล่งที่กระจายครัวเรือนอยู่ในชุมชน ก็ทำให้มีการสื่อสาร บอกกล่าว ถ่ายทอดเรื่องราวและทำให้ได้รู้ความเป็นปัจจุบันของชุมชนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เป็นเครือข่ายสังคม สามารถพึ่งพิงและดูแลซึ่งกันและกัน

เหมือนรั้วรอบขอบเขตที่มองไม่เห็น ที่ก่อให้เกิดหลักประกันและความมีสวัสดิภาพชุมชน ที่อยู่บนการสร้างสุขภาวะวิถีชีวิต นับว่าเป็นความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในชุมชน ที่สร้างขึ้นโดยชุมชนและเพื่อชุมชน ที่มั่นคงยั่งยืนอยู่ในวิถีชีวิตมากเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 497049เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เรียนอาจารย์ วิรัตน์ เห็นรั้วบ้านแล้ว เห็นการพัฒนา รั้วบ้านเมื่อก่อน มีอายุแค่ปีเดียว เมื่อผุพังก็เอามาทำฟืน

ปัจจุบันรั้วบ้านเป็นเสาคอนกรีต มั่นคง

รั้วบ้านผู้มีอันจะกินในโบราณ จะทำด้วยไม้เคี่ยม อายุการใช้งานนับสิบปี ส่วนมากมักเป็นบ้าน ผู้นำ กำนันท้องที่

รั้งบ้านที่มั่นคงแข็งแรงและคงทนยืนนานคือ.....รั้วมนุษย์ ป้องกันอันตรายได้ทุกอย่าง

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
ชอบครับ ตรงที่ว่า ..."รั้วมนุษย์ ป้องกันอันตรายได้ทุกอย่าง" การส่งเสริมกระบวนการสร้างคน สอดแทรกไปในโอกาสต่างๆ รวมทั้งการมุ่งสร้างสุขภาวะความเป็นชุมชน ก็เลยเป็นการสร้างรั้วและสร้างความมั่นคงยั่งยืนของรั้วในอีกทางเลือกหนึ่ง การทำงานแนวนี้นี่ต้องอาศัยความรู้และปัญญาจากการปฏิบัติอย่างคนทำงานในแนวบังวอญ่าเหมือนกันนะครับ ซึ่งก็หายากและสร้างได้ไม่ง่าย ที่ไหนมีแม้เล็กๆน้อยๆนี่ต้องถือว่ามีสิ่งดีอยู่ ต้องหาทางส่งเสริมและชี้นำให้รู้จักเพื่อได้วิธีคิด วิธีมอง และเกิดความคิดริเริ่มในอันที่จะหาทางขยายผลออกจากสิ่งที่มีอยู่เป็นต้นทุนในระดับชุมชนและถิ่นอาศัย

ขอบคุณอาจารย์ ดร.จันทวรรณ บังวอญ่า และหนูรี
ที่แวะมาคลิ๊กให้ดอกไม้เสริมกำลังใจกันครับ 

ชื่นชมครับ...

เมื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  หากชุมชนสามารถค้นพบเครื่องมือที่เหมาะกับชุมชน  นั่นคือทางออกที่สะท้อนให้เห็นปลายทางของการป็นสังคมสุขภาวะที่น่าจับตามองเป็นที่สุด

พูดแล้วก็คิดถึงวัยเยาว์ของชีวิตครับ  การได้ถือถ้วยแกงไปส่งให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง  ทุกครั้งพอจะบอกว่า "ไม่ต้องให้ล้างถ้วยนะ..."

ผมไม่เข้าใจครับ  มารู้ทีหลังด้วยคำอธิบายแบบดิบๆ ว่า "คนกันเอง...ล้างทำไม..."  ขณะที่บางครั้ง กลับได้แกงกลับมาด้วยอีกต่างหาก...

...

ขอบพระคุณครับ

ท่านอาจารย์คะ

อุปกรณ์หากินตามแหล่งน้ำขังในนาข้าว ลักษณะสานไม้ไผ่เป็นตะแกรงเส้นเล็กๆ ทรงเหมือนบุ้งกี๋ มีด้ามยาว ใช้หาลูกฮวกหรือลูกกบเขียดและอึ่งที่ยังอยู่ในน้ำ

ทางเหนือเรียกว่าแซะค่ะ

ปริมอ่านบันทึกของอาจารย์เมื่อคืนแล้วนึกไม่ออกว่ามันเรียกว่าอะไร วันนี้เลยโทรไปถามยายมา โล่งอกค่ะ หาคำตอบได้แล้ว

เป็นวิถีวิตที่น่าชื่นชมน่าอนุรักษ์มากค่ะ

สวัสดียามค่ำค่ะท่านอาจารย์

สวัสดีครับคุณแผ่นดินครับ
กระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานเข้ากับวิถีทำมาหากิน รวมทั้งประเด็นสุขภาวะที่กลมกลืนอยู่กับการอยู่อาศัยนี่ เป็นเครื่องมือและวิธีการที่แก้ปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านและสามารถเปิดวาระการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกกว้างได้โดยไม่หลุดออกจากการดำเนินชีวิต ที่น่าจะเป็นกำลังสร้างสังคมสุขภาวะขึ้นจากชุมชนได้เป็นอย่างดีไม่น้อยเลยนะครับ แต่ต้องมีการเชื่อมความรู้สมัยใหม่ให้เข้ากับต้นทุนที่มีอยู่ในบริบทของชาวบ้านในสังคมไทยอย่างแตกต่างหลากหลายกันเยอะๆ เพื่อให้โลกภายนอกเข้าไปเสริมการลุกขึ้นยืน ก้าวเดินออกจากสิ่งที่มีอยู่เป็นทุน และทำให้เข้มแข็งขึ้นอย่างมีความเป็นตัวของตัวเอง มากกว่าจะเป็นแรงกดดันเพียงทำให้ล่มสลายแล้วก็เข้าสู่กระสการเปลี่ยนแปลงต่างๆแบบทันสมัยแต่หลุดออกจากสิ่งที่เป็นรากฐานชีวิต ที่สั่งสมอยู่กับวิถีชีวิตและวิถีชุมชน ได้มีโอกาสทำอย่างนี้ไปด้วยเมื่อได้เห็น แล้วก็นำมาแบ่งปันกันนี่ ก็ดีเหมือนกันนะครับ 

ขอบคุณ ดร.ปริมมากเลยครับที่ทำให้ได้รู้จัก 'แซะ'

ชื่อเหมาะกับลักษณะการใช้งานมากเลยครับ ท่าที่ชาวบ้านทำในขณะที่กำลังหาลูกฮวกนี่  หากเรียกว่าท่า 'แซะ' แล้วละก็ต้องเรียกว่าใช่เลยจริงๆครับ วันนี้ผมไปกาดวัวก็เห็น การได้เห็นวิธีใช้ของชาวบ้าน เลยทำให้สนใจที่จะยืนมองดูในรายละเอียดอยู่เป็นครู่เลยละครับ มันมีขนาดใหญ่มากพอสมควร

ตอนที่เห็นชาวบ้านใช้แซะนี่ ต้องเดินถือและแซะไปเรื่อยๆ ทุกครั้งก็จะยกขึ้นดู และก็ใช่ว่าเมื่อยกขึ้นดูแล้วจะได้ลูกฮวกหรือกุ้งหอยปลาปูติดขึ้นมาด้วยทุกครั้ง นานๆ สัก ๓-๔ ครั้ง บางทีก็เป็นสิบๆครั้ง ถึงจะเห็นชาวบ้านใช้มือหยิบบางสิ่งใส่ตะข้อง นอกนั้นเมื่อยกขึ้นดูแล้วก็มักจะเห็นสบัดทิ้ง ซึ่งแสดงว่ามีแต่เศษใบไม้ใบหญ้า กว่าจะได้สักหยิบมือหนึ่งนี่ต้องเดินข้ามทุ่งเป็นวันๆเลย เมื่อได้เห็นแล้ว ก็เข้าใจแล้วละครับว่าทำไมแอ็บลูกฮวกและอาหารที่ทำจากลูกฮวกของทางเหนือนั้น จึงถูกจัดให้เป็นเมนูพิเศษ 

  • เห็นสีเขียวตั้งแต่ภาพ ตลอดจนตัวอักษรแล้วสบายตาค่ะ
  • อาจารย์นั่งมองการทำนาแล้วถอดบทเรียนสังคม เกิดขึ้นในขณะนั้นเลยหรือหลังจากนำภาพนั่งพิเคราะห์ค่ะ
  • ปล. มีเรื่องเรียนถามนอกรอบจากชาว กทน.เชียงใหม่ กับอาจารย์ทางอีเมล์ด้วยค่ะ :)

สวัสดียามบ่ายค่ะอาจารย์

มีแง่มุมดี ๆ ให้เก็บไว้ใช้อีกแล้วค่ะ

การสื่อสารที่กลมกลืนกับวิถีชีวิต ผ่านการพูดคุย ตรึกตรองระหว่างบทสนทนา คัดกรองสิ่งที่จะเข้ามาในชุมชน

ผสมผสานกับสิ่งดีที่มีอยู่ จึงจะต่อยอดสร้างสุขภาวะ เข้ากันได้กับวิถีดี ๆ ดั้งเดิม...ไม่แปลกแยก

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป. ครับ

ต้องใช้ทั้งสองแบบเลยละครับ แบบแรก ที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้เห็นนั้น แรกเลยก็เกิดจากความสนใจ เลยไปยืนดู พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็รีบเดินกลับไปคว้ากล้องถ่ายภาพไปบันทึกภาพไว้ ก่อนจะได้ถ่ายภาพ ก็ยืนดูเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เลยได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายมิติ ทำให้เกิดแนวคิดว่าจะบันทึกและถ่ายทอดไว้อย่างไร ดังนั้น การวิเคราะห์และพินิจพิจารณาเรื่องราวต่างๆ จึงเกิดขึ้นและสรุปเป็นสาระสำคัญในความคิดไปแล้ว จากนั้น ก็ใช้เป็นแนวบันทึกภาพเป็นชุดเพื่อใช้ถ่ายทอดแง่มุมต่างๆให้ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการ

ส่วนแบบที่สองนั้น ก็มีบางแง่มุมครับที่ทำให้ต้องหาข้อมูลและนำมาพินิจพิเคราะห์ แล้วก็ทำให้เห็นรายละเอียดในบางมิติเพิ่มขึ้นอีก เช่น ภาพของตาผู้สูงวัยที่เข้ามาอยู่ในภาพด้วย ทำให้ได้นั่งคุยและผมถามไถ่เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับท่าน แล้วก็ทำให้ได้ข้อมูลและได้เรียนรู้เรื่องอราวต่างๆไปด้วย เช่น อายุ สภาพการเป็นอยู่ สภาพการทำนาและการทำมาหากิน หรือเครื่องมือหาลูกฮวก หรือเพิ่งได้ทราบในลำดับต่อมาจากดร.ปริมว่า 'แซะ' นั้น พอถ่ายภาพออกมาแล้ว ก็เห็นท่าของชาวบ้านในการใช้แซะว่าไม่ได้เพียงแค่ถืออย่างเดียว แต่มือหนึ่งถือกับอีกมือหนึ่ง ท่าทางคล้ายกับจะถือเชือกดึงไปด้วย เลยต้องนำเอาภาพมานั่งดู ก็เลยทำให้ต้องให้น้ำหนักกับความเป็นศิลปะและคุณค่าของการทำอยู่ทำกินของชาวบ้านมาก

มีบางส่วนที่อาจจะเรียกว่าเป็นแบบที่สามด้วยน่ะครับ เป็นส่วนที่ผมจะต้องสั่งสม วิธีเข้าใจและวิธีอธิบายเรื่องราวต่างๆผ่านตัวแปรที่ตนเองคิดว่ามีความเป็นตัวของตัวเองได้ดีที่สุด รวมทั้งเน้น ๒-๓ เรื่องที่คิดว่าจะต้องทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ ทั้งเพื่อให้แก่การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และการทำหน้าที่ดูเรื่องนี้ไว้ทำงานให้กับสังคม ดังนั้น เวลาเห็นสิ่งต่างๆก็จะมีกิจกรรมอย่างนี้อยู่ในตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเทียบเคียงและเชื่อมโยงให้เห็นความต่างและความสอดคล้องกัน เช่น กระบวนการมีส่วนร่วม ภาวะผู้นำ การจัดการเป็นทีม และการจัดองค์กรเพื่อการจัดการอย่างมีส่วนร่วม เมื่ออยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้านจะอยู่ในรูปแบบไหน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกัน ก็ถือโอกาสเก็บข้อมูลกรณีตัวอย่างในสภาพความเป็นจริงของสังคม ทั้งโดยการวาดภาพ ถ่ายภาพ บันทึกออนไลน์ บันทึกลงสมุด บันทึกลงการ์ดบันทึกข้อมูล

วิธีที่สามอย่างนี้ ก็เลยจะทำให้เห็นสิ่งต่างๆมาโลดแล่นอยู่ในเรื่องราวต่างๆที่เห็นทั่วๆไปด้วย เลยนอกจากจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆที่กำลังดำเนินไปแล้ว ก็จะกลายเป็นได้ตัวอย่างดีๆและแง่มุมดีๆ ของสิ่งที่เราใช้เข้าใจและอธิบายเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยอยู่เสมอๆ ทำให้มีวิธีเชื่อมโยงความจริงทางการปฏิบัติ บนบริบทและความเป็นจริงของสังคม กับสิ่งที่เป็นความรู้ ในอีกแนวทางหนึ่ง ที่กำลังพอเหมาะ พอดีๆ กับสิ่งที่สังคมมีเป็นความรู้ที่มีชีวิตและเป็นต้นทุนอยู่ในผู้คนและชุมชน ซึ่งหลายเรื่องก็จะใช้สนับสนุนการทำงานกันได้ดีครับ

ผมได้เข้าไปดูอีเมลความสนใจของชาว กทน.เชียงใหม่แล้วนะครับ ขอบพระคุณอาจารย์หมอ ป.และทุกท่านมากเลยนะครับที่ให้การรำลึกถึง ดูคึกคักดีครับ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

กระบวนการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีมิติชุมชนเข้าไปด้วยนี่ ด้านที่เป็นจุดแข็งและในบางสถานการณ์ก็มีความเหมาะสมต่อสังคมมากอย่างยิ่ง เช่น สำหรับชาวบ้านและชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมกันของชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีสื่อเฉพาะของตนเองและไม่ค่อยคุ้นเคยกับกระบวนการสื่อสารเรียนรู้แบบที่เป็นทางการ เหล่านี้ มีความสำคัญและมีความหมายต่อประชาชนหลายอย่างครับ เป็นต้นว่า เป็นวิธีรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ  ได้มีกระบวนการตรวจสอบ เปรียบเทียบกันจากหลายทรรศนะ และได้ชั่งน้ำหนักในเชิงคุณค่าต่อเรื่องต่างๆ ก่อนจะนำไปสู่การเชื่อหรือไม่เชื่อ นำไปใช้หรือไม่นำไปใช้ และอื่นๆ ในวิถีชีวิตจริง ซึ่งก็มีบทบาทเป็นกระบวนการคัดกรองอย่างที่คุณหมอว่าเลยละครับ ขอบคุณเช่นกันครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท