ทำไม ฆราวาส ยิ่งปฏิบัติธรรมกลับยิ่งทุกข์ใจ (๑)


ผู้ปฏิบัติที่เป็นฆราวาส เมื่อปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐานไปได้สักระยะหนึ่ง อาจพบว่า ตนยิ่งปฏิบัติ แทนที่จะพบความสุขขึ้นเรื่อยๆ กลับมีแต่ความทุกข์

ที่เป็นดังนี้ เพราะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในการปฏิบัตินั่นเอง เพราะการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา หากปฏิบัติถูกทาง ตัววัดที่สำคัญคือ ความดีงาม ความมั่นคงของจิต ของคุณธรรม และ ความสุขที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Tiny_lotusp

จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา คือภาวะไร้ทุกข์ ไม่มีทุกข์เหลือ ไม่มีการเกิดขึ้นแห่งทุกข์อีกต่อไปเลย

ระหว่างปฏิบัติ ที่ยังเป็นสัมพัทธ์ ทุกข์ก็น้อยลงๆ และสุขมากขึ้นๆ เป็นความก้าวหน้าไป ฉะนั้น สุขจึงจัดอยู่ในฝ่ายนิโรธ อยู่ข้างจุดหมาย

หน้าที่ต่อนิโรธ คือ สัจฉิกิริยา แปลว่า ทำให้ประจักษ์แจ้ง คือทำให้ประจักษ์กับตัวเอง หรือบรรลุถึง สุข จึงเป็นภาวะที่เราควรมีเพิ่มขึ้นๆ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) มองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่ หน้า ๑๘

ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดมาจาก

๑.เพราะความไม่แน่ใจว่าการใช้ชีวิตที่ยังต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในเพศฆราวาส ว่าจะสามารถบรรลุธรรมตามที่ตนหวังได้ ด้วยเข้าใจว่าการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมไม่สามารถเป็นไปได้ในชีวิตฆราวาส เมื่อมีการหวังผลการปฏิบัติบนพื้นฐานการปฏิบัติที่ตนไม่แน่ใจ จึงเกิดความกระวนกระวาย เกิดตัณหาไปในทางต่างๆ เช่น ไม่อยากอยู่ในเพศฆราวาส (วิภวตัณหา) อยากมีเวลาปฏิบัติมากๆ หรือ อยากปฏิบัติธรรมในเพศของนักบวช (ภวตัณหา) ซึ่งอันที่จริง ไม่ว่าเราจะอยู่ในเพศใด ก็สามารถปฏิบัติไปให้เหมาะกับสมมติบัญญัติ เหมาะกับหน้าที่และความรับผิดชอบของเราในขณะนั้นๆได้

Tiny_img_3032-1-1

เพราะ ธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และแสดงนั้น คือ มัชเฌนธรรมเทศนา หรือ หลักธรรมสายกลาง ส่วนข้อปฏิบัติที่เป็นระบบที่พระองค์ได้บัญญัติขึ้นเพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิตโดยมีความหมายอย่างแท้จริงและบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เรียก มัชฌิมาปฏิปทา อันไม่เอียงเข้าหาทางปฏิบัติอันเป็นส่วนสุดทั้งสองทาง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตกิลมถานุโยค

สำหรับทางปฏิบัติอันเป็นส่วนสุดทั้งสองนั้น เรามักเข้าใจเพียงว่า สุขัลลิกานุโยค คือการหมกมุ่นในกาม ส่วน อัตกิลมถานุโยค คือการทรมานตนให้ลำบาก หาก พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้อธิบายให้ทราบความหมายที่กว้างขวางขึ้นกว่าที่เราเคยรับรู้มา

การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างลุ่มหลง หมกมุ่น ปล่อยตัวไปเป็นทาสตามกระแสกิเลสก็ดี การหลีกหนีออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องอย่างใดต่อสังคม อยู่อย่างทรมานตนก็ดี นับว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด เอียงสุดด้วยกันทั้งสองอย่าง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า ๔

Tiny_img_3033-1-1

ซึ่งการดำรงชีวิตในเพศฆราวาสไปด้วย ปฏิบัติธรรมจนค่อยๆบรรลุมรรคผลไปด้วยนี้ ท่านพุทธทาสได้เคยบรรยายไว้ว่า

เมื่อฆราวาสปฏิบัติ เพื่อความเป็นฆราวาสอย่างถูกต้องนั้น มันมีการเคลื่อนไหวไปในทางพระนิพพานด้วยโดยไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าคนมันโง่ คนไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็ไม่เคยนึก แล้วก็ระดมทุ่มเทไปทางฝ่ายของกิเลสอย่างสุดเหวี่ยง เพราะว่ามันมีอัสสาทะ อัสสาทะนี้ แปลว่าเสน่ห์อันยั่วยวนของกามารมณ์ทั้งหลาย มีเสน่ห์อันยั่วยวนที่จะจับใจของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นกามารมณ์ที่มาจากฝ่ายเพศตรงกันข้ามแล้ว ก็ยิ่งมีอำนาจสูงสุด แต่ผู้ที่เป็นสัตตบุรุษเป็นผู้ที่ไม่ตกเป็นทาสของกามารมณ์อย่างหลับหูหลับตานั้น เขาทำได้ เพราะว่านี้มันต้องเป็นฆราวาส ทีนี้มันก็มีการประพฤติกระทำในขณะที่อยู่ในเพศฆราวาสนั้น ให้ถูกต้อง สำหรับที่จะเป็นอยู่อย่างไม่มีทุกข์ด้วย สำหรับจะก้าวหน้าให้สูงๆขึ้นไปจนพ้นจากความที่ต้องเป็นอย่างนั้นซึ่งน่าเบื่อหน่ายด้วย นี่เป็นที่ทำได้พร้อมกันไปในตัว เพื่อประโยชน์พื้นฐานธรรมดาสามัญก็ทำได้ แล้วก็เพื่อประโยชน์อันยิ่งขึ้นไปๆอยู่ในตัวก็ทำได้

เมื่ออาตมาไปพูดเรื่องนี้ครั้งแรกที่กรุงเทพ ก็มีผู้ค้านว่าทำไม่ได้ เหมือนกับว่าทาเนยให้แก่แผ่นขนมปังทั้งสองหน้า นี่ เขามองอย่างนั้น ว่าขนมปังแผ่นหนึ่งจะทาเนยทั้งสองหน้านั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครยอมรับเพราะมองแต่ผิวเผิน เดี๋ยวนี้อยากให้รู้ว่า มันเหมือนแซนวิชที่มีเนื้อเยื่ออยู่ตรงกลาง แล้วมีขนมปังประกบทั้งสองข้าง มันเป็นไปได้ ยิ่งถ้าขนมปังทั้งสองข้างนั้นไม่เหมือนกัน ก็ยิ่งจะอร่อยกว่าธรรมดา มันควรจะเป็นไปได้

พุทธทาสภิกขุ หลักธรรมของผู้ครองเรือน หน้า ๑๙

ใน วิสุทธิ ๗ อันหมายถึง ความบริสุทธิ์, ความหมดจด,การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือพระนิพพาน มี ๗ ขั้น คือ

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล

๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ กล่าวคือ มรรคญาณ

Tiny_lotus-k1

การไม่แน่ใจว่าการปฏิบัติใดจะเหมาะแก่ตนนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นช่วงที่ผู้ปฏิบัติอยู่ในระหว่างวิสุทธิข้อที่ ๔ และ ๕ คือ เห็นการเกิดดับของนามรูป เห็นว่านามรูปเกิดจากเหตุปัจจัย พิจารณานามรูปโดยความเป็นไตรลักษณ์แล้ว (อภิธรรมกล่าวว่า ผู้เห็นอย่างนี้เรียกว่า "จูฬโสดาบัน" หรือ โสดาบันน้อย นับเข้าในอริยบุคคลทั้ง ๘ ด้วย) จึงหาหนทางปฏิบัติให้บรรลุธรรมที่สูงขึ้นไป ซึ่งในระหว่างที่หาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสำหรับตนนั้น ก็อาจเกิดความลังเล ไม่แน่ใจในวิธีปฏิบัติหรือเพศของตน หรือแม้กระทั่งปฏิบัติไปในทางที่ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อม กับความรับผิดชอบ และกับของตนได้ เนื่องจากไม่เข้าใจสมมติสัจจะ (จริงโดยสมมติ คือ โดยความตกลงหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ เช่น สมมติว่าเป็นพ่อ แม่ ภรรยา สามี ลูก ภูเขา ต้นไม้ ท้องฟ้า เป็นต้น) และ ปรมัตถสัจจะ (ความจริงโดยความหมายสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าต่างกันอย่างไร

จนเมื่อยอมรับได้ว่าบัญญัติทั้งสองต้องเคียงคู่กันไป (เช่น มีความเห็นว่าตัวเรานี้ โดยสภาวะ เป็นเพียงขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประชุมกัน ขันธ์ทั้ง ๕ ที่รวมกันนี้ ได้รับสมมติว่าเป็น พ่อ เป็นแม่ เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง เพราะมีสมมติอย่างนี้ จึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อตน ต่อบุคคลรอบข้างอย่างไร เพื่อให้ชีวิตเป็นไปอย่างเรียบร้อย) จึงจะได้วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับตน กับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันของตน

ซึ่งเมื่อเห็นหนทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับตนแล้ว ก็จะผ่าน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (มัคคามัคญาณหมายถึงการก้าวผ่านวิปัสสนูปกิเลสเป็นหลัก)จึงแน่วแน่ไปในทางปฏิบัตินั้นๆ จนค่อยๆบรรลุธรรมไปได้โดยไม่เกิดความทุกข์ตามมา

สำหรับคำว่า ทางปฏิบัติที่แจ่มชัดสำหรับตน นี้ หมายถึงเหมาะสำหรับตนในช่วงเวลาหนึ่งๆด้วย เช่น ปัจจุบัน ตนอยากบวช อยากปฏิบัติในเพศบรรพชิต แต่เมื่อยังมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ก็ต้องหาทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสมมติของตนในปัจจุบัน ซึ่งวิธีที่เหมาะกับปัจจุบัน ในอนาคตก็อาจเปลี่ยนแปรไปก็ได้ เป็นต้นว่า ต่อไป ผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบ อาจดูแลตนเองได้แล้ว ไม่เป็นภาระแก่ตนอีก ทางปฏิบัติที่เหมาะสำหรับตนในเวลานั้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป

Tiny_lotusp

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติ แม้เป็นฆราวาส จึงไม่ควรกังวลไปว่า เพศของตนจะขัดขวางการปฏิบัติ เพียงปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ เพียรปฏิบัติโดยไม่ย่อท้อ ก็จะค่อยๆบรรลุธรรมไปได้เอง สมดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ ประการนี้ ที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุนเวียนไปตามโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ

กาล ๔ ประการอะไรบ้าง คือ

๑. การฟังธรรมตามกาล

๒. การสนทนาธรรมตามกาล

๓. การสงบใจตามกาล

๔. ความเห็นแจ้งตามกาล

กาล ๔ ประการนี้แลที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุนเวียนไปตามโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ

เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยเต็มแล้วทำให้หนองเต็ม หนองเต็มแล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็มแล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วทำให้แม่น้ำใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้วก็ทำให้มหาสมุทร แม้ฉันใด

กาล ๔ ประการนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุนเวียนไปตามโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ

องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๔๗/๒๑๑ ๒๑๒

กาลทั้ง ๔ นี้ จะว่าไปแล้ว ก็ครอบคลุมการศึกษาทั้งหมดในพุทธศาสนา ตั้งแต่บุพพนิมิตแห่งมรรคจนถึงการเดินตามมรรค เนื่องจาก เพื่อจะให้มีการฟังธรรมตามกาล ก็ต้องได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีการคบหากัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) มีฉันทะที่จะประพฤติธรรม (ฉันทสัมปทา) มีความประสงค์ที่จะพัฒนาตน (อัตตสัมปทา)จึงมีโอกาสได้ฟังธรรมตามกาล หรือก็คือ ได้ ปรโตโฆษะ (เสียงจากภายนอก)

Tiny_img_3032-1-11

และเพราะมีการทรงจำธรรมไว้ นำมาไตร่ตรอง (โยนิโสมนสิการ) เมื่อเกิดข้อสงสัย ก็เข้าหากัลยาณมิตร มีการไต่ถาม แลกเปลี่ยนความเห็น (สากัจฉา) จนเกิดความเข้าใจ มีความเห็นที่สอดคล้องกับความเป็นจริง (ทิฏฐิสัมปทา) จึงทำให้เกิดการสนทนาตามกาล

เพื่อจะสามารถสงบใจตามกาลได้ จึงต้องมีการปฏิบัติตนตามสิกขาบท มีศีล (ศีลสัมปทา) เมื่อมีศีล ความเป็นอยู่จึงเป็นปกติ ไม่มีเรื่องเดือดร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) จึงสามารถฝึกจิตให้สงบ เป็นสมาธิได้

และเพราะมีความไม่ประมาท (อัปปมาทสัมปทา) มีจิตสำนึกในกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลง จึงดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์แปด มีการ ฝึกสติปัฏฐาน (มุ่งสติที่กำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม จน กาย เวทนา จิต ธรรม ปรากฏแก่สติ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๑๓) เจริญสติสัมโพชฌงค์ (มุ่งสติที่กำหนดในสติปัฏฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่ปรากฏ แต่ว่าส่งไปให้ปัญญาพิจารณาเพื่อความรู้พ้นยิ่งขึ้นไป สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๑๓) จนสามารถคว้าสิ่งที่มากระทบทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ (อารมณ์) ไว้ได้ สามารถนำมาพิจารณาจนเห็นแจ้ง เป็นต้น อันทำให้ปัญญา หมุนวน จนแก่กล้ายิ่งๆขึ้นไปได้

หมายเลขบันทึก: 496082เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะพี่ณัฐรดา : สบายดีนะคะ หัวข้อโดนใจมากค่ะเลยต้องแวะมาทักทายกันสักหน่อย เพราะเมื่อลองทบทวนตัวเองดูแล้ว คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงเพราะเราไม่อยู่กับสิ่งตรงหน้า ไม่อยู่กับปัจจุบัน ทำให้เรื่องอดีตมารบกวน ทำให้เรื่องอนาคตมาสร้างมายาคติให้เผลอไผล่ .. คงต้องฝึกปฏิบัติให้มากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ นั่นเป็นเพียงคำตอบสั้นให้กับตัวเองค่ะ ....

ฝนตก อากาศเย็น เลยนำน้ำสมุนไพรอุ่นๆ ที่เพิ่งลองทำมาให้ชิมค่ะ ^^

                                       

...มาสาธุ..เจ้าค่ะ...ขอให้..สุข..สงบ..สว่าง..ว่าง..สบายๆ..นะเจ้าคะ..ยายธีค่ะ..คุณ ญัฐรดา...

กาล 8 ประการ ==> สุดยอด จริงๆค่ะ

ขอบคุณมากกับบทความดีดีนี้นะคะ

หัวข้อโดนใจคะ..

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ อ่านกี่ครั้งๆก็ยิ่งดีมากขึ้นคะ

ขอบคุณ อ.เหมียวBlankค่ะ

มาเจิมให้กัน

ชอบน้ำอัญชัญเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณคุณ Blank ค่ะ

ปลายปีอาจได้พบกันใช่ไหมคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท