เวทีคนเก่ง


ครูที่สอนเด็กประถมต้องให้ความสำคัญต้องฝึกฝน

เวทีคนเก่ง

     หลายโรงเรียนไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนบ้านหนองผือ แล้วนำกิจกรรม"เวทีคนเก่ง"ไปปรับใช้ ผมรู้สึกภูมิใจที่มีคนเห็นด้วยกับแนวคิดในการบริหารจัดการในโรงเรียนขนาดเล็ก ได้เสนอแนะเพิ่มเติมให้ด้วยว่า อย่าได้จัดแบบประกวด แข่งขันกันอย่างเดียว แล้วนำเด็กที่ได้คะแนนสูงสุด หรือชนะเลิศขึ้นโชว์และรับรางวัลบนเวที แบบนี้ไม่ควรทำเด็ดขาด เนื่องจากจะมีเด็กภูมิใจดีใจเป็นบางกลุ่ม เด็กที่เหลือจะขาดความมั่นใจในตนเอง และเกิดการไม่ตั้งใจเรียนในที่สุด

    ผมเปิดโอกาสให้เด็กเรียนไม่เก่ง แต่มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีความพยายาม ให้ได้แสดงออกบนเวที ช่วงพักกลางวัน อาจจะร้องเพลง หรือเล่านิทานให้เพื่อนฟังก็ได้ เด็กบางคนมีผลการเรียนปานกลาง แต่ทำท่ากายบริหารประกอบเพลงลูกทุ่งได้สวยงามน่ารักมาก ผมให้ขึ้นโชว์เลย เด็กบางคนแทบไม่ได้คำชมจากครู แต่ผมเห็นแววว่าถ้าให้เขาได้เล่าเรื่องจากประสบการณ์ เขาจะเล่าได้เป็นฉากๆ อย่างน่าอัศจรรย์

     อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ยินกับหูได้รู้กับตา ว่าครูผู้สอนชั้นป.๕-๖ ลำบากใจกับการสอนอ่านทำนองเสนาะเหลือเกิน สอนไปท่องไปพอให้ผ่านๆ พอเด็กออกเสียง ก็เลยผิดเพี้ยนตามกัน ไม่เป็นไปตามทำนองครองธรรมที่ถูกต้อง ซึ่งผมจะถือเรื่องนี้มาก ครูที่สอนเด็กประถมต้องให้ความสำคัญ ต้องฝึกฝน ซึ่งต้องเริ่มจากการฟังและขวนขวาย จะบอกว่าไม่จบเอกภาษาไทย ก็คงเป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป เรื่องนี้สถาบันที่ผลิตครูต้องให้ความสำคัญ กับภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะอาขยาน มรดกล้ำค่าของไทยที่ควรสืบทอดไว้เพื่อลูกเพื่อหลานต่อไป

     ว่าแล้วก็เรียกเด็กชั้นป.๕ ซึ่งมีทั้งหมด ๖ คนมาติวเข้ม หวังให้เป็นตัวอย่าง ช่วงพักกลางวัน ทำอยู่ ๔ วัน โดยใช้บทอาขยานบทหลัก เรื่องพระอภัยมณี ตอน สุดสาครเข้าเมืองการะเวก มีด้วยกัน ๖ บท เริ่มจากให้เด็กอ่านแบบร้อยแก้ว ให้ถูกต้องชัดถ้อยชัดคำ จากนั้นก็สอนว่า ๑ บท มี ๔ วรรค ในท้ายวรรคที่ ๒ มักมีคำที่ลงท้ายด้วยเสียงสูง เราควรออกเสียงอย่างไร จากนั้นก็ออกเสียงทำนองเสนาะให้นักเรียนฟังจบแล้วอ่านใหม่ครั้งละ ๒ วรรค แล้วให้นักเรียนออกเสียงตาม เลียนแบบครู ไปจนจบ ๖ บท วันที่ ๒ - ๓ ของการฝึกให้เขาออกเสียงเอง ตรงไหนออกเสียงไม่ถูก ไม่ชัดหรือไม่หนักแน่น ผมจะค่อยๆปรับแก้ให้ แล้วบอกให้ไปซ้อมที่บ้าน วันที่ ๔ ไม่ให้ดูเนื้อ ปรากฎว่าเด็กทุกคนที่มีทั้งเก่งและไม่เก่ง ออกเสียงทำนองเสนาะได้ไพเราะถูกต้องพร้อมกัน พอเราชมเชยเขาจะยิ้มอย่างมั่นใจ เลยบอกว่าพรุ่งนี้ขึ้นเวทีโชว์ได้

     วันรุ่งขึ้นช่วงพักกลางวัน เด็กทั้ง ๖ คนขึ้นเวทีอย่างกล้าหาญ มีหัวหน้าห้องแนะนำตัว จากนั้นเด็กทุกคนก็ใส่กันเต็มเสียง ด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่มั่นอกมั่นใจ ที่เขาได้รับการถ่ายทอดและฝึกฝนมาอย่างถูกต้องถูกทาง มีการเว้นวรรคคำ ทอดเสียงและเอื้อนถูกที่ถูกเวลา งานนี้เด็กที่ไม่เก่งหรือไม่เคยแสดงความสามารถก็ได้แสดงออก ด้วยเสียงที่ผสมกลมกลืน เรียกเสียงปรบมือได้อย่างกึกก้อง

     ผมว่างานนี้ ไม่ต้องวิจัยหรือประเมินผลแต่อย่างใด เพราะที่แน่ๆการอ่านทำนองเสนาะจากบทอาขยานจะติดตราตรึงอยู่ในใจเด็กไปจนโต และพอสอนบทใหม่เรื่องใหม่ ก็จะสอนได้ไม่ยาก มันอยู่ในสายเลือดเสียแล้ว ครูประจำชั้นป.๖ ถึงกับทึ่งบอกฟังแล้วขนลุก ผอ.ทำได้ไงเนี่ย เพราะเจ้าป.๕ บางคน มันอ่านไม่คล่อง พูดยังเพี้ยนเลย ..ผมก็เลยบอกครูไปว่าที่มีเวทีคนเก่ง ก็มีไว้เพื่อสิ่งนี้ และโรงเรียนขนาดเล็กเด็กน้อยทำอย่างไรเด็กจะถูกพัฒนาไปพร้อมๆกัน ภูมิใจร่วมกัน แล้วเขาจะรักครู รักโรงเรียน ข้อสำคัญ อย่านำ"คะแนน"เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพเด็กอย่างเดียว เหมือนนักการเมืองบางคนหรือนักการศึกษาไทยในปัจจุบัน

    

หมายเลขบันทึก: 495230เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2012 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เวทีนี้
ถือมีว่าผอ.
เป็นพี่เลี้ยงได้อย่างยอดเยี่ยม

กราบนมัสการและขอบพระคุณท่านอาจารย์มหาที่เคารพ ผู้บริหาร จะต่างกันที่ความคิด ผมจะคิดเยอะ เพื่อการเรียนการสอน แต่ทำที่ละเรื่อง จากง่ายไปหายาก แต่ทุกเรื่องจะบูรณาการ ร้อยรัดกัน เด็กจะเข้าใจแบบเชื่อมโยงได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามการบิหารจัดการ หรือการจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ครูต้องตระหนักให้มากที่สุด ครับ

เรียท่าน ผอ. (อย่านำ"คะแนน"เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพเด็กอย่างเดียว)

เห็นด้วยครับ

การบริหาร + การจัดการ ==> เป็นศาสตร์ + ศิลป์ + ซับช้อน + มีการเมือง ผสมทั้ง ภายนอก รวมภายใน ==> ผู้บริหาร จึงหนักเหนื่อย

ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้อง " อดทน + อึด + ทน" ทั้ง กาย ใจ ==> ส่งกำลังใจมาช่วยนะคะ

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

ส่วนมากครูจะเอาคะแนนมาเป็นตัวล่อกันทั้งนั้น  ทำให้เด็กปฏิบัติเพื่อคะแนน

แต่นี่ท่านผอ.ใช้หลักจิตวิทยาดึงศักยภาพและความมั่นใจจากตัวเด็กโดยตรง

ทำให้เด็กปฏิบัติด้วยใจนะคะ

ขอบคุณครับ คุณวอญ่า-ผู้เฒ่า- การศึกษายุคนี้ ต้องใช้คุณธรรมนำความรู้ เยอะๆ มัวไปบ้าโอเน็ต เอ็นที เห่ออาเซียน เพี้ยนภาษาอังกฤษ แต่หนังสือไทยเขียนไม่ได้ อ่านไม่คล่อง ภาษาพ่อ ภาษาแม่ ภาษาคน(ไทย) ยังใช้กันไม่ถูก มันก็น่าห่วงนะ

ขอขอบพระคุณท่าน Dr.Somsri ที่ให้กำลังใจเสมอ ผมมีคติเล็กๆในใจว่า อดทน อดกลั้น อดออม..ยอมขมแล้วขมอีก ...ถ้ารักที่จะพัฒนางานการศึกษา ต้องไม่หยุดนิ่ง ก้าวช้าๆ แต่ว่ายั่งยืน ฝากรบกวนท่านเข้าไปเที่ยวที่www.bannongphue..com บ้างนะครับ

เรียน krugui ทุกวันนี้ ผมสอนนักเรียน เน้นปฏิบัติ ให้รู้จริง ทำจริง คะแนน มาทีหลัง อย่างเข่น ให้นักเรียนทำวรรณกรรมเล่มเล็ก หรือ หนังสือเล่มเล็ก (ทำมือ) มีกระบวนการขั้นตอนชัดเจน ช้าหน่อย แต่เด็กเข้าใจ และภูมิใจในผลงาน โดยไม่มีคะแนนเป็นตัวตั้ง ว่างๆ ผมจะเล่าให้ฟัง ครับ

เรียน เพื่อนพ้องน้องพี่ที่เคารพ บทความของกระผมถ่ายทอดไว้เตือนความทรงจำ และสร้างองค์ความรู้ไว้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีภาพเชิงประจักษ์ดูได้ที่ สไลด์ ใน www.bannongphue.com ด้วยความขอบคุณ จาก ชยันต์

  • นี่สิ.....ผู้บริหารโรงเรียนของจริง ...!....
  • มิติทัศน์ ๓๖๐ องศา
  • จิตวิทยารอบด้าน
  • แคร์และเข้าอกเข้าใจเด็กทุกคน
  • ยกนิ้วให้เลยครับ

ขอบคุณครับ ครูวุฒิ คิดว่าถ้าเราลงไปช่วยครู ช่วยสอน จะเห็นปัญหาที่แท้จริง แก้ปัญหาได้ทัน ปัญหาจะลดลง ผมกำลังฝึกเด็กทำหนังสือทำมือเล่มเล็ก และทดลองใช้สอนคณิตศาสตร์ด้วย ว่างๆจะเล่าให้ฟังครับ

ดีมากครับท่าน การซ้อมให้ดี ๆ ขึ้นเวทีได้ ผมก็เชื่อว่าเด็กได้ความมั่นใจไปเต็ม ๆ เด็กแต่ละคนเป็นพระเอกในบางเรื่อง การเอาขึ้นเวที่ได้ในเรื่องที่เขาเก่งได้ เป็นสิ่งทีดีมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท