อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนวัด


ผมชอบปั่นจักรยานครับ ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ผมก็จะปั่นไปไกลในระยะประมาณข้ามอำเภอทีเดียวครับ

การชอบปั่นจักรยานนี่มีข้อดีอย่างหนึ่งคือการได้เห็นสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ที่เราปั่นไปถึงในความเร็วประมาณ 20-40 กม./ชม. ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้มีโอกาสได้ใช้ความคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ ในสภาพที่เป็นจริงไม่ต้องด่วนตัดสินหรือเชื่อในข้อมูลที่เราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเองครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมจะมีความสุขในการได้เห็นเสมอคือโรงเรียนในชนบท ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนวัด

โรงเรียนเหล่านี้จะมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ มีเนื้อที่ที่เดาด้วยตาน่าจะประมาณ 2-6 ไร่ โดยอยู่ติดกับวัด และทุกโรงเรียนจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือกลางโรงเรียนจะมีสนามฟุตบอล แล้วรอบล้อมด้วยโรงเรือนที่เป็นห้องเรียนขนาดชั้นเดียวหรือสองชั้น

รอบโรงเรียนจะเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่มแต่ไม่รก และเมื่อมองพ้นกำแพงโรงเรียนก็จะเจอต้นไม้อีกเช่นกัน บ้างก็เป็นสวนของชาวบ้าน บ้างก็เป็นต้นไม้ใหญ่ของวัด และถ้ามองในภาพกว้างก็จะเห็นว่าโรงเรียนจะถูกโอบล้อมด้วยภูเขา เรียกว่าถ้ายืนอยู่ในสนามฟุตบอลแล้วมองออกไปรอบตัวก็จะเห็นภูเขาที่มีต้นไม้เขียวอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลรอบตัวทีเดียว

พื้นที่ที่ผมอยู่คือภาคใต้ ดังนั้นภูเขาเชียวชอุ่มที่เห็นอยู่ไกลๆ นั้นเป็นสีเขียวจากต้นยางพาราเกือบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ยังเป็นสีเขียวของธรรมชาติครับ

โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนที่ผมได้ปั่นจักรยานไปถึงและบางครั้งก็ได้พักกินน้ำนั้นอยู่ติดกับลำธารเล็กๆ อีกต่างหากครับ ในช่วงเย็นหรือวันหยุดที่ผมปั่นไปนั้นบางที่ได้ยินเสียงน้ำจากลำธารมาถึงในโรงเรียนทีเดียว

สภาวะแวดล้อมของโรงเรียนเหล่านี้สวยงามมากทีเดียว เหมือนเป็นสวรรค์เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในเมืองที่เต็มไปด้วยรถราจอแจวุ่นวาย

ผมนึกเสมอและบางครั้งพูดออกมาดังๆ กับเพื่อนที่ปั่นจักรยานไปด้วยกันว่า "อยากให้เจ้าต้นไม้มาเรียนโรงเรียนนี้จัง" เพราะเด็กในวัยที่กำลังจะเจริญเติบโตนั้น ถ้าได้เติบโตโดยห้อมล้อมด้วยธรรมชาติย่อมมีสุขภาวะทางกายและใจที่ดีกว่าเด็กที่เติบโตท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองใหญ่แน่นอน

แต่ผมก็คงไม่กล้าที่จะให้เจ้าต้นไม้มาเรียนจริงๆ เพราะยังกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษา

ไม่ได้บอกว่าคุณครูในโรงเรียนเหล่านี้สอนไม่ดีนะครับ แต่หลักสูตรกลางและเครื่องไม้เครื่องมือในการสอนเพื่อพัฒนาความรู้ของเด็กในโรงเรียนเหล่านี้ย่อมมีความพร้อมน้อยกว่าโรงเรียนใหญ่ในเมืองแน่

ในยุคที่การแข่งขันของมนุษย์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การติดอาวุธทางความรู้ให้แก่ลูกดูเหมือนจะเป็นทางออกทางเดียวในการสร้างความมั่นใจว่าลูกของเราจะมีชีวิตอยู่รอดได้ในโลกที่แก่งแย่งทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตอย่างที่เราอยู่กันนี้

น่าเสียดายที่เจ้าต้นไม้จะไม่ได้เรียนโรงเรียนวัด แต่จะต้องไปทนทุกข์อยู่ในห้องแอร์ในเมืองเพียงเพื่อเรียนวิชาเอาตัวรอดในสังคมมนุษย์

แต่ถ้าปี ค.ศ.2020 (หรือ พ.ศ.2563) นั้นไม่แน่ครับ มีโอกาสเป็นไปได้ถ้ารัฐบาลไทยดำเนินนโยบายด้านการศึกษาถูกทางและใช้ทรัพยากรทางเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง

โรงเรียนวัดทั่วประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องสถานที่อย่างสูงอยู่แล้ว ขาดก็แต่ทรัพยากรในการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเท่านั้นเอง

ซึ่งปัญหานี้แก้ได้ไม่ยากเพราะในวันนี้เรากำลังพูดถึง flipped classroom หรือห้องเรียนที่จะกลับหัวกลับหางในศตวรรษที่ 21 เพราะเราจะไม่ต้องการ "การสอน" แบบบอกให้ฟังแล้วจดตามอีกต่อไป ว่าง่ายๆ คือห้องเรียนจะได้เปลี่ยนจาก "ห้องสอน" มาเป็น "ห้องเรียน" ตามคำศัพท์จริงๆ เสียที

ในขั้นแรกนั้นเราต้องแยกกลุ่มระหว่าง "ผู้สอน" กับ "ครู" ออกจากกันให้ได้ก่อน เพราะใน 21st century คนสองกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ต่างกัน

"ผู้สอน" คือผู้ที่มีหน้าที่สร้างเนื้อหาหรือเป็น lecturer นั่นเอง และสำหรับเด็กๆ แล้ว คลิปวิดีโอสั้นๆ ในหน่วยของเนื้อหา (content unit) เดียว ความยาวประมาณ 10-15 นาทีจะดีที่สุดเพราะเด็กจะยังไม่หลุดจากความสนใจในเนื้อหานั้น

ส่วน "ครู" คือนักกิจกรรมที่สร้างสรรค์ "edutainment" (education + entertainment) หรือผู้อำนวยการให้เกิดความสนุกในห้องเรียนเพื่อนำพาผู้เรียนให้เข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้นไปด้วยกัน

จะเห็นได้ว่าคนสองกลุ่มนี้แตกต่างกันและต้องการคุณสมบัติที่ต่างกันอย่างมาก

และข่าวดีสำหรับพวกเราทุกคน เพราะเชื่อไหมครับ "ผู้สอน" นั้นไม่ต้องสร้างไม่ต้องลงทุน เรามีอยู่เต็มประเทศไทยไปหมด ก็พวกเราทุกคนไงครับ เราทุกคนสามารถเป็นผู้สอนได้ และเป็นผู้สอนได้ดีกว่าครูในปัจจุบันเสียอีกเพราะเราอยู่กับเนื้อหาในการทำงานในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว

เอาแค่เรื่องคณิตศาสตร์ระดับประถม ผมเชื่อว่าคุณครูในห้องเรียนในปัจจุบันก็มีวิธีสอนแม้จะดีอย่างไรก็แค่ไม่กี่วิธี แต่คนไทยทั้งประเทศถ้าช่วยกันสอนคนละแบบสองแบบ ซึ่งอาจจะนอกกรอบสุดๆ ไปเลยก็ได้ เราจะได้ "การเข้าถึงเนื้อหา" สารพัดรูปแบบ ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจจะเรียนรู้วิธีในการเข้าถึงเนื้อหาที่ต่างกัน หากมีตัวเลือกมากๆ แล้ว น่าจะมีที่ตรงกับเขาสักอัน

ผมเองยังวางแผนจะทำวิดีโอสอนคณิตศาสตร์เจ้าต้นไม้แล้วพลอยเผื่อแผ่คนอื่นๆ ด้วย วิธีที่ผมคิดนั้นน่าจะไม่เหมือนกับที่โรงเรียนสอนครับ พวกเราแต่ละคนก็ย่อมจะมีวิธีที่แตกต่างกันซึ่งไม่เหมือนกับผมแน่นอนใช่ไหมครับ ถ้าช่วยคนละแบบสองแบบ วิธีการเพื่อให้ได้คำตอบเดียวจะมีหลากหลายคำอธิบายมากทีเดียวครับ

เทคนิคนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า "wisdom of the crowd" แปลว่า ปัญหาอะไรก็ตามถ้าช่วยกันคิดหลายๆ คนแล้วมันย่อมมีทางออกที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเสมอ (ยกเว้นเรื่องการเมืองนะครับ ไม่ได้พูดเล่น แต่เป็นข้อจำกัดของเทคนิคนี้จริงๆ) ในเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดความรู้นั้น "wisdom of the crowd" ได้ผลดีมากครับ

ส่วนคุณครูนั้นจะเป็นอาชีพเฉพาะที่มีทักษะเฉพาะ ไม่ใช่ในฐานะ "ผู้สอน" แต่เป็น "คุณอำนวย" (facilitator) เป็นโค้ช หรือเป็นคนประสานงานที่จะทำให้การเรียนบรรลุผลไปได้

ผมเดาว่าถ้าจะทำอย่างนี้เรียกว่าต้องรื้อหลักสูตรครูกันใหม่หมดทีเดียวครับ

สรุปว่าเพื่อให้โรงเรียนวัดเป็นที่เรียนที่ดีกว่าโรงเรียนในเมือง เราต้องทำให้ห้องเรียนในโรงเรียนเหล่านี้เป็น "flipped classroom" เสียให้หมด และสิ่งที่ต้องทำแยกออกเป็นส่วนใหญ่ๆ สองส่วน

ส่วนแรกคือการสร้างเนื้อหา กระทรวงศึกษาฯ ควรมี "ภาพใหญ่ของเนื้อหา" และสนับสนุนให้คนไทยช่วยกันสร้างเนื้อหาที่อยู่ในภาพใหญ่นั้น "ภาพใหญ่" นี้เปรียบแล้วก็เหมือนแผนที่ดาวเทียมนะครับ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเอียดเพราะจะเป็นการจำกัดเนื้อหาดีๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นภาพที่ช่วยชี้ทางให้แก่ผู้สร้างเนื้อหาว่าจะไปในทิศทางไหนครับ

ตอนนี้เราจะมี tablet นับล้านเครื่องให้นักเรียน ป.1 ที่มาจากภาครัฐเพื่อเป็น "เครื่องรับ" ของเนื้อหาเหล่านี้ แต่ที่จริงแล้วเรายังจะมีอีกหลายล้านเครื่องที่ไม่ได้มาจากภาครัฐแต่มาจากการซื้อหาของผู้ปกครองเองในเวลาอีกไม่นานนี้ เพราะภายในห้าถึงสิบปีนี้ tablet จะกลายเป็นอุปกรณ์การศึกษา "ปกติ" ของคนในโลกนี้ครับ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองไทย แต่เป็นเรื่องพัฒนาการด้านเครื่องมือทางการศึกษาของโลกครับ

ดังนั้นในตอนนี้สิ่งที่เราขาดอยู่ก็คือเนื้อหา ซึ่งเราจะต้องสนับสนุนในการสร้างกันต่อไป ซึ่งการสร้างจากภาครัฐหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งนั้น อย่างเก่งที่สุดก็ได้แค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะในเรื่องการศึกษาแล้ว "wisdom of the crowd" คือวิธีการด้านการศึกษาที่ที่ได้ผลใช้กันมาตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและเชื่อว่าจะต่อไปในอนาคตด้วยครับ

ในส่วนที่สองคือการสร้าง "ครูแบบใหม่" เพื่อรองรับ flipped classroom ครับ

ในเรื่องนี้ผมไม่มีความรู้ที่จะวิเคราะห์ได้ว่าควรจะทำเช่นไร แต่ผมเชื่อว่าคงต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการสร้างกันขนานใหญ่ทีเดียว หลักสูตรครูในปัจจุบันใช้ไม่ได้แน่นอน และนี่คือเรื่องท้าทายนักวิชาการด้านการศึกษาที่จะต้องช่วยกันคิดกันต่อไปครับ

อีกปีกว่าๆ เจ้าต้นไม้ก็จะเข้า ป.1 แล้ว คงไม่ทันเรียนใน flipped classroom ในโรงเรียนวัดอย่างที่ผมฝันนี้ แต่ผมคาดหวังที่จะได้เห็นลูกของเจ้าต้นไม้ได้เรียนในโรงเรียนวัดที่โอบล้อมด้วยภูเขาเขียวชอุ่มครับ และถ้าเราฝันเช่นนั้นเหมือนๆ กัน ก็คงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษาไทย 2020
หมายเลขบันทึก: 494878เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2012 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 07:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ไม่ต้องคิดอะไรมากเลยค่ะ ทำปัจจุบันให้ดี อคีตแก้ไขไม่ได้ นะคะ

ขอบคุณมากสำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

สวัสดีค่ะอย่าเจาะเวลาหาอดีต เราต้องพุ่งตรงไปข้างหน้าค่ะ ขอให้มีความสุขนะคะ

กระทรวงศึกษาควรมี "ภาพใหญ่ของเนื้อหา" และสนับสนุนให้คนไทยช่วยกันสร้างเนื้อหาที่อยู่ในภาพใหญ่นั้น "ภาพใหญ่" นี้เปรียบแล้วก็เหมือนแผนที่ดาวเทียมนะครับ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเอียดเพราะจะเป็นการจำกัดเนื้อหาดีๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นภาพที่ช่วยชี้ทางให้แก่ผู้สร้างเนื้อหาว่าจะไปในทิศทางไหน..

  • คุยกับน้องแพทย์ประจำบ้าน ว่าอะไรลำบากที่สุดตอนเรียน นศพ. คือ "ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ" ข้อมูลส่วนไหนจำเป็นต้องจำไว้ใช้อย่างคล่องแคล่าว ข้อมูลส่วนไหนฝากไว้ในอินเตอร์เนตก็ได้
  • แผนที่ดาวเทียมของอาจารย์ น่าจะช่วยชี้ "landmark" คือ จุดสำคัญ นี้ค่ะ

บันทึกนี้ผมตั้งใจจะพูดถึงแผนในอนาคตที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้สามารถกระจายศูนย์และทำให้คุณภาพการศึกษาเท่าเทียมกันได้ทั้งประเทศโดยใช้ "โรงเรียนวัด" ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกชุมชนเป็นฐานครับ

แต่สงสัยผมสื่อสารได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะเห็นมีหลายท่านให้ความเห็นว่าผมพูดถึงอดีต เมื่อกี้เลยปรับข้อความเพิ่มเติม คิดว่าน่าจะสื่อสารความคิดได้ตรงมากขึ้นครับ ขอบคุณครับ

พี่ใหญ่เข้าใจแนวคิดนี้และขอสนับสนุนให้มีการต่อยอดการศึกษา บนพื้นฐานเดิมของท้องถิ่น เพื่อลร้าง >> คนดี + คนเก่ง + คนมีความสุข

เมื่อไร โรงเรียนในประเทศเราถึงจะมีตมาตรฐานเดียวกัน..คงยากนะครับ...ถ้ามี tablet ครบทุกคน คงดี เพราะสงสารเด็ก แบกกระเป๋าหนังสือไปเรียน จนหลังแอ่น พก tablet เครื่องเดียว สบายกว่ากันเยอะเลย สวัสดีครับ

ผมเด็กวัดมาตั้งแต่ ชั้น ป 1 เรียนโรงเรียนวัด

ขอยืนยันว่า ชีวิตนักเรียนโรงเรียนวัดนั้นเป็นชีวิตที่ใช้ได้

รู้ไม่มาก แต่รอบด้าน

ผมต้องจัดอาหารกลางวันให้ครูทุกวัน เพราะครูต้องกินข้าววัด ไม่มีร้านขายอาหาร

เป็นสังคมที่พึ่งพาอาศัยกันในแทบทุกเรื่อง

นึกแล้วยังชอบอยู่เลยครับ

  • โรงเรียนวัด :-)
  • ขอบคุณครับ ผมได้ความคิดเยอะเลยครับ
                 ขณะนี้กำลังสอนเด็กๆในโรงเรียนใกล้ชายแดน ไทย ลาว พม่า  ทำหน้าที่ยีสามสิบห้าปีที่ผ่านมาด้วยความ ตั้งใจสอน นักเรียนอ่านออก เขียนได้ มีคุณธรรม  รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่โหดร้าย ไม่ทำร้ายกัน สังคมสงบสุข ละอายต่อบาป ยีดขนบประเพณีที่ดีงาม  เป็นพื้นฐานชีวิต ที่จะออกไปศึกษาต่อไปดำเนินชีวิตเองในสังคม ทุกปีช่วงสงกรานต์ศิษย์เก่าส่วนมากจะกลับมาทำพิธี รด น้ำ ดำหัว ครูที่เคยสอน  โดยไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเตอร์เนต ไม่มีแทบเลต  แต่ตอนนี้หลายคนไปประกอบอาชีพเป็นช่างอิเลคทรอนิค เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เป็นนายทหาร เป็นนายตำรวจ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพราะเธอมีพื้นฐานที่ดี เธอใฝ่ดีใฝ่เรียนรู้เอง ถ้าเธอไม่พร้อมแม้แต่ลากเส้นตามรอยประ จับดินสอ เธอก็ทำไม่ได้ ครูเคยจับมือเธอลากเส้นตามตัวอักษร  แล้วสังคมสมัยใหม่กำลังจะยัดเยียดเทคโนโลยีล้ำยุคให้ทั่วถึงกัน 
         อยากถามว่า   เลือกเอา  ระหว่าง ในเมืองใหญ่แย่งกันเข้า โรงเรียนดัง วิทยาการล้ำหน้า เทคโนโลนีเป็นเลิศ ฉลาดปราดเปื่อง  แต่คนในสังคมโหดร้าย ยกพวกรุมทำร้ายกัน ก้าวร้าว รุนแรง         กับ สังคมบ้านนอก  ที่สงบ ร่มเย็น แบ่งปัน คงไว้ในเรื่องความเชื่อขนบธรรมเนียมทีดีงาม ช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกันเหมือนญาติพี่น้อง 
          แล้วเอาข้อสอบ ส่วนกลาง มาวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ให้มีมาตรฐานเดียวกันทุกระดับ ทุก ชนชั้น คงลืม เรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ระหว่างท้องถิ่น ระหว่างชนชั้น 
    รัฐมนตรีบางคนให้สัมภาษณืว่าให้ครูเก่าๆเข้าโครงการเออรี่รีไทน์มากๆจะได้จ้างครูใหม่มาแทนค่าจ้างไม่แพง คิดได้แค่นั้นก็ดีแล้ว ไม่แปลกใจเลยที่มีข่าวที่โหดร้ายเกิขึ้นทุกวัน ในสังคม ที่มุ่งแต่ดความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยี

เห็นด้วยกับอาจารย์ ดร.แสวงนะครับ และขอเชียร์ให้อาจารย์ ดร.ธวัชชัย ทดลองใช้ Khan academy เป็นโมเดลในการต่อยอด flipped class ในเมืองไทยนะครับ ณ วันนี้ Khan ยังไม่ถือว่าเจ๋งที่สุด หลายฝ่ายก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เช่นบล็อกนี้ครับ

เท่าที่ติดตามบันทึกอาจารย์ คิดว่าอาจารย์มั่นใจว่าเทคโนโลยีและบุคลากรที่ดีจะเป็นทางออกของปัญหานี้ ส่วนตัวผมเองมองว่า Khan จะเพิ่มพลังให้ครูกลายเป็นคุณอำนวยได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเขาเปิด Exercise Dashboard ให้ครูปรับแต่งได้ตามใจชอบ 

ถ้าเรามีเนื้อหาเป็น content unit ดีๆ แล้วครู หรือพ่อแม่ หรือเด็กเองสามารถปรับแต่งโครงร่างหลักสูตรได้ตามความต้องการ ก็จะสามารถติดตามพัฒนาการได้ง่ายขึ้น (ลดงาน admin ของครูได้เยอะ)

สองเทอมก่อนผมใช้ Khan ในการช่วยสอน แต่ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องการติดตามความก้าวหน้าของเด็กอยู่พอสมควรครับ

เรื่อง tablet และการเมือง ถ้าพูดไปจะยาวมาก (ฮา) แต่ขอพูดเรื่องการปรับเนื้อหาบทเรียนนิดหนึ่ง เป็นข้อคิดจากเพื่อนผู้รอบรู้คนหนึ่งว่าหลักสูตรภาษาไทยของบ้านเราไม่เคยมีการพัฒนา วิจัยการเรียนรู้ภาษากันจริงจังเลยไม่ว่าจะในแง่ของภาษาศาสตร์ (linguistic) หรือในด้านการเรียนการสอนภาษา (teaching Thai) ฟังแล้วน่าใจหาย แต่จริงแท้ประการใดคงต้องพิสูจน์ เพราะผมเองก็ไม่ถนัดด้านนี้

จริงครับอาจารย์ มุมมองของผมค่อนข้างจะอยู่บนฐานของการเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาได้ครับ ผมเองดู Khan มาตลอดครับ แต่ผมเชื่อว่าเขาเป็น "ผู้สอน" ไม่ได้เป็น "ครู" ครับ

ผมคิดว่า "ผู้สอน" กับ "ครู" เป็นสองบทบาทที่ถ้าแยกออกจากกันได้จะดีมากครับ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายอาทิเช่นการพยายามเอาเด็กวิทย์ฯ มาเรียนครูเพราะนั่นก็คือการได้ "ผู้สอน" ในสาขาขาดแคลน แต่อาจจะไม่ได้ "ครู" เป็นต้นครับ

อย่างตัวผมเองนี่ผมเชื่อว่าผมเป็น "ผู้สอนที่ดี" ได้สบายๆ แต่จะเป็น "ครูดี" ได้หรือเปล่านี้ผมไม่แน่ใจครับ (ค่อนข้างจะคิดว่าตัวเองเป็นครูดีไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะความอดทนต่ำครับ)

ตามความเห็นที่ krunuch เขียนมานั่นคือตัวอย่างของ "ครูดี" ครับ และภาพประกอบนี่เห็นได้ชัดเลยว่าสภาพแวดล้อมแบบนี้โรงเรียนในเมืองไม่มีแน่ๆ ครับ

  • อาจารย์ครับ
  • ผมมายืนยันว่าผมก็จบมาจากโรงเรียนวัด
  • เป็นเด็กวัดด้วยครับ
  • ถ้าเจ้าต้นไม่ได้มาเรียนโรงเรียนนี้
  • ต้องชอบแน่ๆเลยครับ
  • http://youtu.be/vDejr3SyGp4
  • เอามาจากบันทึกนี้ครับ
  • ปลูกผลไม้ทุกชนิดได้เหมือนภาคใต้
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/486296
  • ถูกทางที่สุดแล้วค่ะ "ภาพใหญ่ของเนื้อหา" กับ "ครูแบบใหม่"
  • ดิฉันมีประสบการณ์ใน WS สิบปีเศษเรื่อง Participatory learning (PL) กับครูทั่วประเทศพบปัญหา 2 เรื่องที่อาจารย์ว่ามา
  • การที่ครูสักคนจะเห็นภาพใหญ่ของเนื้อหาเป็นเรื่องไม่ง่ายจริงๆ ค่ะ  เพราะครูต้องแปลงมาตรฐานการศึกษาที่ระบุในหลักสูตรเป็นเนื้อหา  ครูที่วิเคราะห์เนื้อหาเชื่อมโยงกับมาตรฐานการศึกษาเก่งๆ มีไม่มาก  ครูจึงใส่เนื้อหามากไว้ก่อน  บางทีก็เอาหนังสือที่เอกชนพิมพ์ขายมาเป็นต้นฉบับเสียอีก  ถ้าครูไม่ถ่องแท้ทั้งเนื้อหา และมาตรฐานการศึกษา ก็จะสอนพลิกแพลงให้สนุกเร้าใจได้ยากจริงๆ
  • ใน WS ที่ทำ เราให้ครูเขียน Lesson plan แบบ PL แล้วเราก็ช่วย feed back โดยใช้ leaning procss ไปจับ   แล้วดิฉันก็พบว่าครูที่เขียนแผนการสอนได้เจ๋งๆ นั้นมีน้อย เพราะแผนการสอนนี่เป็น Creative thinking + critical thinking ค่ะ
  • "ครูแบบใหม่" ถ้าให้ดิฉันตีความก็น่าจะเป็น "ครูที่เน้น learning process" ไม่เน้นอัดเนื้อหาใช่มั๊ยคะ  เราจะมีครูแบบใหม่อย่างที่อาจารย์ต้องการนั้นต้องถ่องแท้เรื่องเนื้อหาจริงๆ ชนิดพลิกได้พันตลบก็ไปถึงจุดประสงค์การเรียนรู้ได้  การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนั้นครูต้องพลิกพริ้วได้เก่ง  ดิฉันมักพูดเสมอใน WS ว่า "สอนสิบ ต้องรู้พัน"
  • เรา "พ่อแม่" เข้าใจกันดีว่า โรงเรียนต่างกัน  แต่ผู้บริหารการศึกษามักเกลี้ยกล่อมให้เราตายใจเสมอว่า โรงเรียนเหมือนกัน ดิฉันเคยคิดจะให้ลูกเรียนโรงเรียนวัดแบบที่อาจารย์ว่า แต่ทำใจไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ตะขิดตะขวงใจเสมอว่าไม่เป็นธรรมเพราะเรามีโอกาสเลือกมากกว่าคนอื่น และดีใจเสมอที่ไม่ได้ให้ลูกเรียนพิเศษ (จนขึ้น ม.ปลาย) ทำให้ได้เห็นลูกวิ่งเล่นกันทั้งวันเมื่อถึงวันหยุด  ผลลัพธ์ก็ไม่ได้ต่างจากลูกคนอื่นที่เรียนพิเศษกันหัวราน้ำ
  • ยินดีจริงๆ ที่ได้อ่านบันทึกนี้

ผมกำลังจะเขียนบันทึกใหม่ว่าประเทศเราต้องวางแผนแยกให้ออกระหว่าง "ครู" "ผู้สอน" และ "นักวิจัย" ครับ ผมคิดว่าถ้าเราแยกสามบทบาทนี้ออกจากกันได้น่าจะดีมาก นโยบายปัจจุบันนี้พยายามให้คนคนเดียวเป็นทั้งสามอย่างพร้อมๆ กันครับ

ต้องถือว่าผมไม่รู้เลยสำหรับเรื่องของ "หลักการศึกษา" แต่สิ่งที่อาจารย์เรียกว่า "Wisdom Of The Crowd" เป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เป็น Mass Education โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่การยึดแนวทางของใครคนใดคนหนึ่งเป็นหลักคงไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมปัจจุบันนี้แล้ว

ผมสังเกตจากพัฒนาการของ Open Source Software นะครับ วิธีการพัฒนาจากการร่วมมือร่วมใจของผู้คนจำนวนมากจากทุกที่ทั่วโลกที่เขาเรียกว่า Community ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการตรวจสอบขัดเกลากันเองจนนำไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้

กลับมามองโครงสร้างของเราบ้าง ผมยังเดาไม่ออกว่าถ้าสังคมนำเสนอ "ภูมิปัญญา" อะไรสักอย่างหรือหลายๆอย่างที่ผู้มีอำนาจในการอนุมัติให้ใช้เขาไม่เห็นด้วย "ภูมิปัญญา" เหล่านั้นจะถูกนำไปวางไว้ที่ไหน ระบบของเรายังไม่น่าจะยืดหยุ่น (Flexible) พอ เพราะเรายังมีระบบกรองสิ่งที่ไม่ปรารถนา (Unacceptable Data Filltering Systems) ที่ยังเหนียวแน่นอยู่ครับ

ผมก็เชื่อว่า open source model นี่ละครับ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของโลกในอนาคตอันใกล้นี้ครับ ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือ "แผนที่ความรู้ภาพใหญ่" ที่เราอยากเห็นเยาวชนของเรามีครับ พอเรามีแผนที่เดียวกันแล้ว ต่อจากนั้นเราถึงจะค่อยมาช่วยกันคนละไม้คนละมือขยายความในรายละเอียดส่วนลำดับถัดๆ ไปได้ครับ

ลูกสาวผมเรียนที่โรงเรียนวัดนะครับอาจารย์

ซึ่งตอนนี้ยกระดับเป็นโรงเรียนนานาชาติไปเรียบร้อยแล้ว(เพราะมีชาวไทใหญ่และพม่าเรียนอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง 555)

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487598

ตอนนี้ผมวางแผนให้เจ้าต้นไม้เรียนโรงเรียนทางเลือกครับ แต่หาดใหญ่ไม่ค่อยมีทางเลือกมากนักครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท