ว่าด้วยสรรพนามข้างเก้าอี้


คำเรียกผู้รับบริการที่ไม่ห่างเหินเกินไป และไม่ใกล้ชิดเกินควร

     ว่ากันว่า เสียงที่ไพเราะที่สุดสำหรับใครก็ตาม คือคำเรียกชื่อของคนคนนั้นนั่นเอง

      ผู้ให้บริการสุขภาพ โดยเฉพาะทันตบุคลากร มีเวลาอยู่กับผู้มารับบริการมากถึง 15-20 นาทีเป็นอย่างต่ำ การบริการแต่ละครั้ง มีโอกาสคุยกันพอสมควร การใช้สรรพนามในการเรียก ผู้รับบริการ หรือ "คนไข้" จึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญ

      เมื่อเราไปรับบริการสุขภาพ บ่อยครั้งที่คุณพยาบาล หรือพนักงานต้อนรับ มักเรียกเราว่า "คนไข้" การใช้สรรพนามว่าคนไข้นี้ อาจฟังดูเหมาะเจาะดีในสถานพยาบาล แต่ผมไม่แน่ใจว่าคนที่ถูกเรียกจะรู้สึกดีแค่ไหน กับการถูกตีตราเช่นนั้น เพราะสิ่งที่กลัดติดสรรพนาม "คนไข้" มาด้วย คือ ความอ่อนแอ การต้องการความช่วยเหลือ การป่วยไข้ การอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ กล่าวโดยย่อ การใช้สรรพนามเรียกผู้รับบริการว่า "คนไข้"ใช่หรือไม่ที่ผู้พูดกำลังกำหนดสถานะ "ความด้อยกว่า" ให้กับผู้รับบริการนั้นเอง

      ผมเชื่อว่า สรรพนามกำหนดระยะทางสังคม คำที่เราใช้เรียกผู้อื่น บ่งบอกว่าเรากำหนดสถานะระหว่างกันอย่างไร ภาษาไทยมีคำสรรพนามมากมายที่มีความหมายมากกว่าคำเรียก แต่มันบอกถึงการกำหนดสถานะ และอำนาจของคู่สนทนาด้วย

      ระยะห่างระหว่างผู้ให้บริการสุขภาพ กับผู้รับบริการสุขภาพ น่าจะเป็นระยะห่างที่กำลังพอดี ไม่ห่างเหิน จนไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ไม่ใกล้ชิดเกินจนขาดความเป็นมืออาชีพ

      หากจะให้คิดว่าการใช้สรรพนามที่พอเหมาพพอดีเป็นอย่างไร ผมว่าน่าจะมีหลักคิดสองเรื่องคือ 1.เป็นการให้เกียรติคู่สนทนาในฐานะมนุษย์  2.เป็นการสร้างความคุ้นเคย และผ่อนคลายทำให้คู่สนทนาไม่รู้สึกแปลกหน้า

      พื้นฐานของคำเรียกมนุษย์คือ ชื่อของเขาครับ ชื่อเป็นอัตลักษณ์ เป็นความเป็นตัวของตัวเอง เป็นความเฉพาะตัว ผมเชื่อว่า การเรียกผู้รับบริการด้วยชื่อของเขาเป็นการยอมรับ "ความเป็นมนุษย์" ที่มีลักษณะเฉพาะตัว (แม้ว่าชื่อคนไทยในสมัยปัจจุบันจะอ่านยากไปบ้าง...อาจต้องถามเจ้าต้วก่อนครั บว่าชื่อเขาอ่านออกเสียงอย่างไร)

      คนไทยเรามักจะเคยชินกับการนับญาติ หลายครั้งที่หมอเรียกผู้รับบริการเป็นคุณลุง คุณป้า คุณยาย ฯลฯ ผมคิดว่าเราสามารถเรียกได้หากเขาเรียกตัวเองเช่นนั้นก่อน ตัวอย่างเช่น "คุณหมอช่วยดูฟันซี่นี้ให้ป้าหน่อยสิ" หากเขาไม่ได้เรียกตัวเองเป็นญาติกับเรา กรุณาอย่าเพิ่งไปนับญาติกับเขาเลยครับ เขาอาจจะไม่ได้อยากจะเป็นญาติกับหมอก็ได้

     การเรียกตำแหน่ง บางครั้งก็อาจทำให้สับสนได้ครับ เช่น ธรรมเนียมตำรวจ ทหาร เราเรียกผู้มียศ ร้อยตรี ร้อยโท ว่าผู้หมวด ส่วนร้อยเอก ว่าผู้กอง...อันนี้ไม่ยากนัก แต่พอเป็นเหล่าอื่น เช่น นาวาอากาศตรี...อันนี้เริ่มสับสนเรียกไม่ถูกครับ มีตำแหน่งที่เรียกยังไงไม่แสลงหูอีกตำแหน่งหนึ่งก็คือ "อาจารย์"ครับ เมื่อเราอ่านจากแฟ้มพบว่าผู้มารับบริการเป็นคุณครู ก็คงจะไม่แปลกที่เราจะใช้สรรพนามเรียกเขาว่า "อาจารย์"

     กล่าวโดยสรุป ผมอยากให้ศิษย์ของผม เรียกผู้ที่มารับบริการทันตกรรมจากพวกเขา ด้วยชื่อ หากท่านเหล่านั้นมียศ ตำแหน่ง วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ ถามว่า "หมอไม่ค่อยทราบธรรมเนียมการเรียกตำแหน่ง หมอควรเรียกคุณสมชายอย่างไรดีครับ" ที่แน่ๆ คำว่า "คนไข้" เป็นคำที่เราจะไม่ใช้เรียกในฐานะสรรพนามบุรุษที่สองครับ    

หมายเลขบันทึก: 494332เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนคุณหมอ สยาม เรียกชื่อถูก จำชื่อได้ ใช้ยศเป็น คือเห็นคุณค่าผู้มารับบริการ

ขอบคุณหมอ กรุณาร่วมแลกเปลี่ยน

ขอเชิญหมอไปชมกิจกรรมรับน้องทัตพัทลุงครับ(http://www.gotoknow.org/blogs/posts/494188)

ขอบคุณล่วงหน้า (ศจ.เปล)

เห็นด้วยครับ แต่ก่อนผมเองยังขัดแย้ง เพราะ ไปตรวจ รับบริการทั้ง ๆ ที่ไม่ป่วยไข้ก็เรียกเราคนไข้ พึ่งทราบที่หลังว่า ใครก็ตาม ที่ไปใช้บริการกับสถานพยาบาล ต้องเป็นผู้ต้องหา.. เอ้ย.. คนไข้ หมด เอจะใช้อย่างไร จึงจะเหมาะสม..คนไข้ ก็เป็นภาษาทางการไปแล้ว...แต่ก็ขัด ๆ หู คนที่แข็งแรง ไม่ไข้ไม่ป่วย อย่างว่า ครับ...ชอบความคิดดี ๆ ...สวัสดีครับ

ขอบคุณนะคะอาจารย์ มันตอบคำถามที่หนูสงสัยมาตั้งนานพอดี ละพ่อหนูก็เพิ่งมาบ่นเหมือนกันว่าไปทำฟันแล้วหมอ เรียก "ลุง" ฮิฮิ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท