พากันแตะมือสืบทอดและต่อไฟชีวิตจากหมอ ๕ บาท รองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชยการ


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ผมได้ไปยังโรงเรียนเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมงานแสดงกตัญญูกตเวทิตาจิตต่อรองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชยการ ครูอาจารย์เก่าแก่ท่านหนึ่งของผมและชาวเวชนิทัศน์ รวมทั้งของหมอและคนที่ได้เรียนคณะต่างๆที่ศิริราชหลายรุ่น นอกจากนี้ ท่านเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเวชนิทัศน์และอดีตนายกสมาคม เวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย) คนที่ ๒ หรือที่สังคมทั่วไปรู้จักในนาม 'หมอ ๕ บาท' ที่รักษาชาวบ้าน ทั้งคนยากจนและคนทั่วไปด้วยการคิดค่ายาเพียง ๕-๑๐ บาท กระทั่งไม่คิดเงินเลย

อันที่จริงนั้น ผมรับปากกับท่านอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ แห่ง GotoKnow กับคุณพัฒนพงษ์ และทีมของ สสค.หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้และเครือข่ายเยาวชน กับอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง และอีกหลายท่าน ที่จะไปประชุมปรึกษาหารือกันเรื่อง Open Education กับประเด็นเชิงยุทธศาสตร์และแง่มุมที่เราอาจจะริเริ่มและเรียนรู้เพื่อจะทำสิ่งต่างๆให้กับสังคมหรือกับประเทศได้ตามกำลังสติปัญญาและตามประสบการณ์ที่มีเป็นต้นทุนของเราในเย็นวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕

รูปปั้นรองศาสตราจารย์นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน อาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตผู้อำนวยการก่อตั้งโรงเรียนเวชนิทัศน์ และอดีตนายกสมาคม เวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย)คนแรก

ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่อยากไปร่วมงานของเวชนิทัศน์สมาคม(ประเทศไทย)ด้วย ทั้งเพื่อการน้อมเคารพและเป็นกตัญญูกตเวทิตาต่ออาจารย์หมอสภาโดยตรง รวมทั้งร่วมเป็นกำลังใจให้กับนายกสมาคมคนใหม่ พี่อนงค์วรรณ ไพโรจน์ และคณะกรรมการ เพื่อได้มีกำลังใจสร้างกลไกความเป็นส่วนรวมของเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ และร่วมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานในด้านที่จะได้ร่วมกับชาวเวชนิทัศน์ สืบทอดความหมายที่ดีๆหลายอย่าง ทั้งพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกรวมทั้งสิ่งที่เป็นความคิดริเริ่มของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร, รองศาสตราจารย์นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน รองศาสตราจ์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชยการ, อาจารย์กอง สมิงชัย, อาจารย์โชติ แสงสมพร ผู้บุกเบิกก่อตั้งสาขาวิชาเวชนิทัศน์ในประเทศไทย และคนเวชนิทัศน์รุ่นเก่าๆ ให้สะท้อนสู่ชาวเวชนิทัศน์กระทั่งถึงคนรุ่นหลังๆที่เป็นนักศึกษารุ่นปัจจุบัน อยู่มิได้ขาด ตามแต่เหตุปัจจัยและกาลเทศะแห่งตนที่มีและเอื้อให้พอจะสามารถร่วมช่วยกันทำได้ 

ผมขอแนะนำสาขาวิชาเวชนิทัศน์สักเล็กน้อย
เพื่อให้คนรุ่นหลังๆที่เข้ามาศึกษาได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

สาขาวิชาเวชนิทัศน์ เป็นสาขาวิชาแบบบูรณาการศาสตร์ แต่เดิมนั้นผสมผสานทักษะและวิชาการที่สำคัญหลายด้าน เพื่อผลิตคนทำงานทางด้านสื่อและการเก็บข้อมูลทางการแพทย์เพื่อพัฒนาการศึกษา การเรียนการสอน และการวิจัย เช่น สาขาศิลปะ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน การทำโครงการสื่อและการสื่อสารเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การจัดการพิพิธภัณฑ์และการศึกษาเรียนรู้ และสาขาโสตทัศนศึกษา รับผู้จบอนุปริญญาทางด้านศิลปะจากเพาะช่าง ศิลปากร และสถานบันทางศิลปะต่างๆมาศึกษาต่ออีก ๒ ปีที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้คุณวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต(สาขาเวชนิทัศน์) และทำงานเป็นช่างภาพการแพทย์ กับนักวิชาการโสตทัศนศึกษา ทั้งในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และในวงการธุรกิจสื่อเอกชน ก่อตั้งในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นสาขาวิชาเวชนิทัศน์แห่งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบัน โรงเรียนเวชนิทัศน์ได้ยกระดับเป็นสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ และดำเนินการภารกิจต่างๆที่สำคัญแยกออกจากกัน ได้แก่โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา ดำเนินการหลักสูตรและจัดการเรียนการสอน กับการจัดระบบผลิตและบริการสื่อ เวชนิทัศน์ และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์

ทางด้านหลักสูตรการศึกษานั้น ได้ปรับปรุงหลักสูตรและดำเนินการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพัฒนาเป็นหลักสูตร ๔ ปีและรับนักศึกษาจากผู้เรียนมัธยมทางด้านวิทยาศาสตร์ มาศึกษาในหลักสูตรที่เป็นสหวิทยาการอย่างเข้มข้น เรียนวิชาการพื้นฐาน ๑ ปีกับนักศึกษาทุกคณะของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ศาลายาและเรียนเฉพาะสาขาตลอดหลักสูตรที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมและหาข้อมูลได้ที่นี่ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/342341

อาจารย์หมอสภา รองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชยการ กับรองศาสตราจารย์นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน เป็นครูแพทย์ที่ในอดีตนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศริริราชและเป็นหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้เห็นความสำคัญมากต่อการเก็บรักษาสิ่งตัวอย่างเพื่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และการพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ซึ่งแต่เดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งได้เห็นความสามารถทางด้านศิลปะของครูแพทย์รุ่นใหม่จากทั้งสองท่าน จึงขอทาบทามและเชิญท่านให้รับทุนไปศึกษาทางด้านเวชนิทัศน์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อกลับมาพัฒนาการดำเนินงานและได้ดำเนินการเป็นสาขาวิชาเวชนิทัศน์ในเวลาต่อมา กระทั่งพัฒนาการและเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับถึงปัจจุบัน

ท่านอาจารย์หมอนันทวันนั้นเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนเวชนิทัศน์และสอนหลายวิชา เช่น อาการแสดงทางคลินิคของพยาธิสภาพต่างๆที่สังเกตได้จากภายนอกและการวินิจฉัยทางการแพทย์ ของโรคและอุบัติการที่สำคัญในประเทศไทย (Pathology and Clinical Manifestation) เพื่อเป็นพื้นฐานการทำงานกับแพทย์และการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยทางคลินิค,การจัดพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์,และภาษาอังกฤษทางการแพทย์, เอมบริโอโลยี, ฮิสโตโลยีหรือจุลกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งทำให้ผมได้ฉายาว่า'ม่อย' จากท่านและเพื่อนๆ

ส่วนท่านอาจารย์หมอสภานั้น ท่านสอนวิชาพื้นฐานมหกายวิภาคศาสตร์ และการถ่ายภาพทางการแพทย์ ขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า ท่านเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าทางด้านเทคโนโลยีภาพและกล้อง น้ำยา ฟิล์ม ฟิสิกส์ และเคมี ทางด้านการถ่ายภาพ รวมทั้งศึกษาค้นคว้าการถ่ายภาพทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ทั้งเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับทำงานในสาขานี้ของประเทศและมีความเป็นสากล พร้อมกับได้เขียนตำรา ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นตำราต้นแบบและดีที่สุดของประเทศ ณ เวลานี้ ในงานนี้ จึงให้ชื่องานว่าเพื่อปูชนียาจารย์ คัมภีร์กระบี่การถ่ายภาพ ซึ่งนับว่าเหมาะสมที่สุด

ในอีกด้านหนึ่งนั้น ท่านก็เป็นหมอของชาวบ้าน ทำคลินิคอยู่ในบ้านและให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยคิดเงินเพื่อนำกลับไปซื้อยา เพียง ๕-๑๐ บาท กระทั่งไม่คิดเงินเลย สื่อมวลชนและชาวบ้านจึงเรียกท่านว่าหมอ ๕ บาท ผม แม่ พ่อ และญาติพี่น้องหลายคน ก็เคยได้รับการดูแลด้วยความเมตตาจากท่านเป็นอย่างดี ท่านจึงเป็นหมอ เป็นครูแพทย์ และเป็นผู้บริหารทางการศึกษาสาขาวิชาเวชนิทัศน์ ที่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ปวงชน ให้มาก่อนประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ท่านอาจารย์ ชาวศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล และคนในวงการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ถือเป็นแบบอย่างเชิงอดุมคติ รวมทั้งเป็นครูแบบอย่างของนักเวชนิทัศน์คนหนึ่ง ที่ตั้งมั่นในจริยธรรมและคุณธรรมทางวิชาชีพเพื่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อสังคม ตลอดชีวิตของท่าน

พันเอกพิเศษศักดา ประจุศิลป์

พันเอกพิเศษศักดา ประจุศิลป์ อดีตนายกสมาคมคนที่ ๓ และเป็นนักเวชนิทัศน์รุ่นเก่าแก่กล่าวรำลึกคุณูปการของอาจารย์และเป็นตัวแทนชาวเวชนิทัศน์น้อมแสดงกตัญญูกตเวทิตา

อนงค์วรรณ ไพโรจน์ นายกสมาคม คนที่ ๑๔
และเป็นผู้นำริเริ่มในการจัดกิจกรรมครั้งนี้

อนงค์วรรณ ไพโรจน์ จากคณะวิทยาศาสตร์ พญาไท นายกสมาคม คนที่ ๑๔ หรือคนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งต่อจากพี่แก้ว ราตรี ปั้นพินิจ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสมาคมคนที่ ๑๓ ที่ผ่านมา และได้ริเริ่มการจัดงานในครั้งนี้ขึ้นให้อาจารย์กับนักศึกษาและชาวเวชนิทัศน์ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี้อันเป็นวันครอบรอบวันเกิดของอาจารย์

ศาสตราจารย์นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร

ศาสตราจารย์นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร ครูแพทย์และอาจารย์จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ได้มาร่วมงานและร่วมแสดงคารวตาต่ออาจารย์ ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชากายวิภาคศาสตร์ของนักศึกษาโรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนาในปัจจุบัน และในฐานะที่ท่านเองก็เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์หมอสภาในขณะที่ท่านเป็นนักเรียนแพทย์ของศิริราช อาจารย์มีความเคารพและเชิดชูความเป็นเลิศรอบด้านของอาจารย์หมอสภามาก

อาจารย์ได้สืบทอดหลายอย่างที่อยู่ในความเป็นอาจารย์หมอสภาและขอร่วมสะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญบางประการ ที่มีต่อการพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาทั้งของมหิดลและของประเทศไทยให้ชาวเวชนิทัศน์ได้บันทึกเป็นความทรงวจำไว้ต่อไป รวมทั้งขอร่วมแสดงความคาดหวัง ที่จะได้เห็นการรวบรวมผลงานถ่ายภาพและวาดภาพทางการแพทย์ของอาจารย์หมอสภาและอาจารย์หมอนันทวัน ซึ่งจะหาไม่ได้อีกแล้วในประเทศ เพื่อจัดแสดงสำหรับการศึกษาและเป็นความภาคภูมิใจทั้งของชาวศิริราชและมหิดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์

ปัจจุบัน สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ เป็นผู้อำนวยการวาระที่ ๒ อาจารย์เป็นนักวิชาการที่จบการศึกษาในขั้นสูงทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เป็นนักบริหารและคนรุ่นใหม่ที่มีความนอบน้อม จึงเป็นที่รักของชาวเวชนิทัศน์และได้รับความเมตตาจากครูอาจารย์เวชนิทัศน์เป็นอย่างดี

นักศึกษาและคณาจารย์ของชาวเวชนิทัศน์ ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง จึงเป็นทั้งงานเพื่อสร้างความสุขให้กับอาจารย์หมอสภาพ ทำให้ท่านได้เกิดความชื่นใจและมีกำลังใจอย่างคนที่เป็นครูอาจารย์ที่ได้เห็นความเจริญงอกงามทุกด้านที่ท่านได้ร่วมสร้างสรรค์มาตลอดชีวิต ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสได้ซับซับและสืบทอดคุณธรรมความดีงามจากชีวิตและการงานของอาจารย์จากรุ่นสู่รุ่นกระทั่งถึงคนรุ่นใหม่ที่ก้าวมาสู่ชีวิตการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เวชนิทัศน์

คีตัญชลี : นักศึกษาร่วมกันร้องเพลงเวชนิทัศน์คารวะและมอบให้อาจารย์

นักศึกษา ร่วมกันเล่นดนตรีและร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้อาจารย์ได้อย่างน่ารักมาก โดยร้องเพลงเวชนิทัศน์ที่แต่งขึ้นโดยนายกสมาคมคนใหม่ ทำนองเพลงช้าง ช้าง ช้าง ซึ่งไพเพราะ สนุก ได้สีสันและความมีชีวิตชีวา ต้องยิ้มเบิกบานกันทั่วหน้าทั้งอาจารย์และทุกคนที่ร่วมงาน

ขณะนี้ อาจารย์อยู่ในวัยชรามากแล้ว แต่ความคิด แววตา และอารมณ์ของอาจารย์ยังสดใสอย่างเป็นปรกติธรรมดาของอาจารย์ เดิมทีนั้น แพทย์และลูกศิษย์ลูกหาที่ดูแลอาจารย์อย่างใกล้ชิด จะให้อาจารย์อยู่ร่วมงานกับพวกเราเพียงไม่เกิน ๑ ชั่วโมงเท่านั้น แต่ในที่สุดอาจารย์ก็อยู่กับลูกศิษย์ทุกรุ่นตลอดงานเกือบ ๓ ชั่วโมง

ก่อนให้ทุกคนได้กราบอำลาและขอพร อาจารย์ก็ขอกล่าวให้การสั่งสอนและฝากแนวคิด โดยย้ำให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้เห็นความสำคัญในอันที่จะต้องหมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างครอบคลุม ด้วยพื้นฐานที่สำคัญไว้ ๓ ด้านอยู่เสมอ เพื่อเป็นนักเวชนิทัศน์และนักเทคโนโลยีการศึกษาทางการแทพย์ที่เก่งในอนาคต คือ....

  • พื้นฐานทางด้านศิลปะและการทำงานสร้างสรรค์
  • ฝีมือเฉพาะของตนเอง
  • วิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

อาจารย์โสภิตา สุวุฒิโฒ เป็นตัวแทนของนักศึกษา คณาจารย์ และชาวเวชนิเทศน์ ทำเค๊กวันเกิด มอบให้อาจารย์ อาจารย์โสภิตา สุวุฒิโฒ เป็นอาจารย์เวชนิทัศน์และคนเวชนิทัศน์รุ่นใหม่ กำลังทำปริญญาเอกและเป็น Ph.D.Candiate ทางด้านเทคโนโลยีเทคนิคศึกษาคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และทำ Ph.D.Disertation ด้านการพัฒนาตัวบ่งชี้และกระบวนการพัฒนาสมรรถนะทางวิชาชีพ ผมร่วมเป็นที่ปรึกษาจากภายนอกให้อาจารย์ ท่านเป็นคนที่เก่งอย่างรอบด้าน มีความเป็นนักวิชาการที่นอบน้อมและเป็นยอดนักประสานงาน จัดว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทางด้านเวชนิทัศน์อีกคนหนึ่งที่ทำงานเชื่อมโยงกับต่างสาขาวิชาชีพและกับภาคสาธารณะนอกมหาวิทยาลัยอย่างแข็งขันมาโดยตลอด

ต่อจากนั้น คณะกรรมการบริหารสมาคมก็ประชุมระดมความคิดกันต่อ

นายกสมาคม และคณะกรรมการบริหาร ได้ให้ผมร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอวาระการทำงานทางด้านวิชาการของสมาคมและเครือข่ายวิชาชีพในอนาคต ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ โดยเฉพาะการออกแบบกระบวนการจัดประชุมวิชาการ การพัฒนากิจกรรมและบทบาททางวิชาการของสมาคม และการทำกิจกรรมวิชาการเพื่อร่วมสนับสนุนาการดำเนินงานของโรงเรียน ผมได้ขอเสนอแนะไว้ดังนี้

  • การออกแบบการประชุมวิชาการ : การออกแบบกระบวนการสำหรับการจัดประชุมวิชาการเวชนิทัศน์ระดับประเทศ รว่มกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น ไม่ว่าจะจัดกี่วันและมีรายละเอียดอย่างไร ก็ควรออกแบบให้ครอบคลุมองค์บนประกอบสำคัญ ๔ ด้าน คือ (๑) ส่วนที่เป็นการศึกษาสภาวการณ์สังคมและเห็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการดำเนินงานทุกด้านของเวชนิทัศน์ ซึ่งควรจะเกิดจากการรับฟังนักวิชาการและผู้นำหลายสาขาทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ทั้งในและนอกสาขาเวชนิทัศน์ อาจจะอยู่ในรูปของการอภิปราย ปาฐกถา และการทำกรณีศึกษาที่ดี (๒) ส่วนที่เป็นประชุมวิชาการนำเสนอผลการวิจัยและความก้าวหน้าทางวิชาการ (๓) ส่วนที่เป็นการประชุมคู่ขนานและการปฏิบัติการตามความสนใจ เพื่อฟื้นฟูวิชาการและติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยี ให้คนร่วมประชุมได้ความรู้และประสบการณ์ที่ทันเหตุการณ์กลับไปทำงาน (๔) ส่วนที่เป็นการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งเผยแพร่หนังสือ ตำรา สิ่งตีพิมพ์
  • การรวบรวมผลงานของอาจารย์ : การรวบรวมผลงานของอาจารย์หมอสภา อาจารย์หมอนันทวัน และครูอาจารย์ของเวชนิทัศน์ เพื่อจัดแสดงไว้สำหรับการศึกษาค้นคว้าและเป็นความภาคภูมิใจต่อไป ดังการเสนอแนะของท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร ที่ได้กล่าวให้เป็นแนวทางแล้วในช่วงเช้า
  • การทำตำราถ่ายภาพทางการแพทย์ของอาจารย์ฉบับตีพิมพ์ใหม่ : สมาคมควรขอดำเนินการชำระต้นฉบับใหม่ตำราการถ่ายภาพทางการแพทย์ของอาจารย์และขอจัดพิมพ์เผยพร่โดยสมาคมกับโรงเรียน

  • การตีพิมพ์งานเขียนและรวบรวมผลงานของอาจารย์ : จากที่ผมได้ขอคุยสัมภาษณ์อาจารย์ไว้ตามแต่จะมีโอกาส ก็ได้ทราบว่าอาจารย์มีบันทึกและงานเขียนต้นฉบับลายมืออีกชุดหนึ่งที่ไม่เคย เผยแพร่ และตั้งใจว่าจะทำเป็นหนังสืองานศพ ผมจึงขออนุญาตท่านไว้เป็นเบื้องต้นว่า ขออย่ารอให้พิมพ์เผยแพร่ในงานศพเลย พวกเราจะขอจัดพิมพ์ในขณะที่ยังร่วมทำต้นฉบับกับอาจารย์ได้อยู่จะได้หรือไม่ ท่านอาจารย์ไม่ปฏิเสธและได้บอกแหแล่งที่ได้เก็บรวบรวรวมไว้ สมาคมจึงควรนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ให้อาจารย์และระดมทุนให้สมาคม
  • การจัดการความรู้ทางวิชาชีพเวชนิทัศน์ในประเทศ :  การพัฒนาระบบประเมินและพัฒนาหลักสูตรอบรมให้คุณวุฒิทางวิชาชีพเวชนิทัศน์แก่ ผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาทางเวชนิทัศน์ โสตทัศนศึกษา และเทคโนโลยีการศึกษา แต่ทำงานทางด้านนี้ทางการปฏิบัติอย่างเป็นเลิศและสอดคล้องกับความจำเป็นขององค์กรต่างๆในประเทศ เพื่อทำให้ระบบงานของสาขาต่างๆของสังคมเดข้มแข็งขึ้นจากต้นทุนมนุษย์และปัญญาปฏิบัติที่มีอยู่ในตัวคนกับงานประจำ ซึ่งจะช่วยให้สังคมมีทางออกและมีกำลังริเริ่มการพัฒนาด้วยตนเองได้มากกว่าเดิม มีเครื่องมือและกำลังคนที่ดีโดยไม่ต้องรอระบบการพัฒนาจากสถาบันการศึกษาอย่างเดียว ที่ในระยะ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมาแล้วจะเห็นว่าสนองตอบไม่ทันความจำเป็น

สาขาเวชนิทัศน์ก่อตั้ง ดำเนินการหลักสูตรสร้างคน และมีส่วนในการพัฒนาทางวิชาการทางด้านต่างๆในประเทศไทยมาแล้วกว่า ๓๐ ปี แต่นับถึงปัจจุบันนี้ ก็มีผู้จบสาขาเวชนิทัศน์และยังคงออกไปทำงานในวงการต่างๆอยู่ในหลักร้อยคนเท่านั้น จำเพาะที่จบจากศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดลทั้งหมด และกระจายออกไปยังแหล่งต่างๆทั่วประเทศนั้นก็มีไม่ถึง ๕๐๐ คน แต่เครือข่ายวิชาชีพ สมาคม และโรงเรียน ก็มีความเคลื่อนไหวและพัฒนาบทบาทการดำเนินงานทางด้านนี้ของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงต้องให้ความชื่นชมต่อกลุ่มคนทำงานและกลไกทางวิชาการต่างๆ ซึ่งเป็นคนเพียงหยิบมือเดียวที่อยู่เบื้องหลังบทบาทสำคัญตลอดมาดังกล่าวนี้ และสำหรับงานครั้งนี้ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ในด้านที่เป็นสมาคมวิชาชีพเวชนิทัศน์ ก็เป็นโอกาสที่มาแตะมือรับส่งไม้จากท่านอาจารย์หมอสภา หมอ ๕ บาท ครูอาจารย์ของชาวเวชนิทัศน์ อดีตนายกสมาคม และผู้ร่วมก่อตั้งสาขาวิชานี้ในประเทศไทยกับศาตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และรองศาสตราจารย์นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน.

หมายเลขบันทึก: 490496เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอพระคุณคลิ๊กดอกไม้จากสมาชิกที่ให้กำลังใจ จากอาจารย์หมอ ป.ครับ
ผมมีถ่ายภาพรูปเขียน ติดกล้องมาด้วยครับ คุณหมอและหลายท่านคงชอบ
แต่จะนำไปทำเป็นบันทึกต่างหากให้คอศิลปะ
กับผู้ที่สนใจการสื่อสารสะท้อนออกจากข้างใน
และการพัฒนาด้านในด้วยการเขียนภาพนะครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์ วิรัติน์ ที่ทำให้สมองได้อาหาร

คืนนี้ตั้งใจไม่เขียนบันทึก แต่จะท่องไปในโกว์ตามรอย หาอาหารใส่สมอง

สองชั่วโมงที่ได้ท่อง มาหยุดที่บันทึกนี้ ก็มีเรื่องที่ต้องไปบันทึก ถึงความอิ่ม สำราญ กับการเรียนรู้ ทางโกทูโนว์

ด้วยความขอบคุณท่านอาจารย์ วิรัตน์...ศาสตร์ เวชนิทัศน์ ในการสร้างคน(แบบพลอยเพื่อน) ผมให้นิยามกับชาวบ้านว่า การบูรณาการ คือการพลอยเพื่อน

I received this advice (too) ;D

...ด้วยพื้นฐานที่สำคัญ ๓ ด้านเพื่อเป็นนักเวชนิทัศน์และนักเทคโนโลยีการศึกษาทางการแทพย์ที่เก่งใน อนาคต คือพื้นฐานทางด้านศิลปะและการทำงานสร้างสรรค์ ฝีมือเฉพาะของตนเอง วิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า...

To me "the art and practice of creativity", "individualistic skill" and (keeping up with) science abd technology is "cultivating our culture".

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
ขอบคุณครับ ได้บทสรุปแนวคิดของการสร้างคนแบบพลอยเพื่อนเอาไว้ใช้ดีๆอีกแล้ว
บังรู้ไหม คุณราตรี ปั้นพินิจ นายกสมาคมท่านที่แล้วนั้น ท่านเป็นคนเมืองจันทน์และเป็นลูกของเถ้าแก่พลอยเมืองจันทน์ แล้วก็เป็นคนสร้างคนแบบพลอยเพื่อนอย่างนิยามของบังเลยละครับ

สวัสดีครับ sr ครับ

บทสรุปของ sr นี้ ชัดเจนและเป็นแก่นหลักของการพัฒนากระบวนการทางการศึกษาและการสร้างคน ที่ส่วนหนึ่งนั้น ก็ได้สะท้อนอยู่ในความริเริ่มสาขาวิชาในลักษณะนี้ขึ้นมาในมหาวิทยาลัยมหิดลและในประเทศไทยนี้นั่นเอง

จำเพาะที่ปรากฏบนการสร้างสาขาวิชาเวชนิทัศน์นี้ขึ้นมานั้น ก็มีภาพอย่างที่ท่าน sr ได้ผุดประเด็นการสังเกต โดยการสร้างคนนั้น ก็มีการเริ่มต้นจากการส่งครูแพทย์ ๒ คน และอีกท่านหนึ่งเป็นครูทางศิลปะ คืออาจารย์กอง สมิงชัย ไปศึกษาและดูงานจากต่างประเทศนั้น ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียรได้เลือกเฟ้นจากครูแพทย์ที่เก่งรอบด้านทั้งทางศาสตร์และศิลปะอย่าง'พลอยเพื่อน'ของบังวอญ่า

ขณะเดียวกัน ก็เดินไปหาศาสตราจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ แห่งโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งก็เป็นศูนย์กลางในการสร้างคนและสร้างวงการศิลปะของประเทศอีกแห่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาแนวการทำงานและขอคนมาช่วย ซึ่งก็ได้ท่านอาจารย์กอง สมิงชัยและท่านอาจารย์โชติ แสงสมพร มาช่วยกันบุกเบิกและริเริ่มกับท่านอาจารย์หมอนันทวันและอาจารย์หมอสภา กล่าวได้ว่าเป็นการมุ่งลงไปรวมเอาแก่นของศาสตร์และวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่เป็นรากฐานสำคัญในอีกมิติหนึ่งของประเทศด้วย มาสร้างคนเพื่อให้เข้าถึงและเกิดการกล่อมเกลาหลอมรวมหลักการในระดับพื้นฐานที่สุดให้ปรากฏบนความรู้ความสามารถ แล้วออกไปทำงานทั้งในระดับบริการสังคมและสร้างสรรค์การทำงานต่างๆที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆได้ถึงความเป็นวัฒนธรรม ซึ่งทางด้านการแพทย์และสุขภาพนั้น นับว่าเป็นกระบวนการชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดอย่างหนึ่งกับมิตินี้ของสังคม

ขอบคุณด้วยเช่นกันครับที่แวะมาเยือน

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะมาอ่านและทักทายกันไว้ครับ

คุณ sr, คุณ Poo, อ.นุ, บังวอญ่า, ดร.ปริม,
อาจารย์ หมอ ป., คุณภูคา, คุณวิมานลอย และคุณแสงแห่งความดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท