"ClassStart"กับ"PBL"และทักษะในศตวรรษที่ 21


ครูเรามักจะติดว่า PBLเป็นการสอนให้นักเรียนทำโครงงาน โครงงานที่ครูมโนภาพก็จะเป็นการทดลอง ศึกษา ค้นคว้า บันทึกผล สรุป ทำรายงานเป็นเล่ม(5 บท) การนำเสนอหรือเผยแพร่ทำเป็นแผงโครงงาน แต่เท่าที่ตัวเองศึกษาหรือฟังผู้รู้จากหลายเวที PBLที่จะฝึกและสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนได้จริงและอย่างหลากหลาย มีความหมายมากไปกว่านั้น

กลางเปลวแดดเกือบๆเที่ยงวัน ในช่วงเดือนที่ร้อนระอุของบ้านเรา มองไปเบื้องหน้า ผิวถนนสะท้อนแสงระยิบระยับ รถโดยสารปรับอากาศจากพิษณุโลกยังคงแล่นฝ่า มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทาง

ระหว่างวันที่ 20-21 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ มศว.ประสานมิตร ตัวเองมีนัดเข้าร่วมประชุมสัมมนา เพื่อเรียนรู้การใช้ClassStart(www.classstart.org) กับทีมงานของอาจารย์ดร.จันทวรณ ปิยะวัฒน์ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือGotoKnowแห่งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นครูสอนดีราว 60 ท่าน ซึ่งมีความประสงค์จะพัฒนาตัวเอง ด้วยการจัดการเรียนการสอนผ่านโลกออนไลน์ หรือe-learning ผู้สนับสนุนหลักเป็นสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน(สสค.)

จุดประสงค์การประชุม มุ่งหวังจะให้คุณครูผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้ClassStart ที่ถูกสร้างและพัฒนาด้วยความมีจิตอาสาและในวิญญาณความเป็นครูของท่านอาจารย์ดร.จันทวรรณและคณะ นับเป็นคุณูปการสำคัญในการจัดการเรียนรู้ ความประสงค์ของทีมงานอีกอย่าง เป็นความปรารถนาที่จะให้ClassStart สนองการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน(PBL=Project Based Learning) และชุมชนการเรียนรู้ของครู(PLC=Professional Learning Community) รวมถึงOpen Classroomต่างๆ ที่คุณครูได้ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21ให้กับเยาวชน อย่างที่โลกและคนในวงการศึกษาเริ่มจะตื่นตัว

ตามความเข้าใจผม ClassStartจะเป็นเว็บไซต์ของคุณครูแต่ละท่าน ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละรายวิชาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การพูดคุย อธิบาย ทำความเข้าใจ การบันทึกเนื้อหา การนำเสนอสื่อและแหล่งเรียนรู้ การมอบภาระงาน ส่งงาน ให้คะแนน ตรวจแบบฝึกหัด ประกาศข่าว หรือนัดหมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับศิษย์ จะไม่จำกัดเฉพาะในห้อง หรือในเวลาเรียนอีกต่อไป พูดให้รวบรัดเสมือนยกห้องเรียนปกติที่ครูใช้สอน มาบรรจุใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ แล้วใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อ ทำให้คุณครูสามารถจะสอนลูกศิษย์ผ่านโลกออนไลน์ที่เด็กๆหลงใหลได้เลย

เมื่อเทียบกับซอฟท์แวร์อื่นประเภทเดียวกัน ซึ่งมักจะต้องมีค่าใช้จ่ายแล้ว ClassStartจัดเป็นe-learning ที่ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว แต่ที่พิเศษกว่าก็คือ ไม่ว่าใครจะใช้ ครู ศิษย์ หรือบุคคลทั่วไป ที่นี่ให้บริการฟรีครับ

เมื่อทีมงานมุ่งพัฒนาให้ClassStart สนองการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน(PBL) และชุมชนการเรียนรู้ครู(PLC) รวมถึงOpen Classroomตามที่กล่าวมาแล้ว การสะท้อนผลเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ จึงเป็นหัวใจของการพูดคุย หรือการประชุมสัมมนา จนล่วงเข้าสู่วันที่สองหรือวันสุดท้าย และแทบจะเป็นกิจกรรมท้ายสุด ผมก็ได้รับคำถามที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะคิดมาแล้วว่าคงจะได้ยิน รวมทั้งตัวเองก็เคยสงสัยและค้นหาคำตอบมาแล้วเช่นกัน “ว่าแต่ว่า PBLคืออะไรแน่” คุณครูสาวท่านหนึ่งจากจังหวัดน่าน เปิดประเด็นข้อสงสัยอย่างจริงจัง

ครูเรามักจะติดว่า PBLเป็นการสอนให้นักเรียนทำโครงงาน โครงงานที่ครูมโนภาพก็จะเป็นการทดลอง ศึกษา ค้นคว้า บันทึกผล สรุป ทำรายงานเป็นเล่ม(5 บท) การนำเสนอหรือเผยแพร่ทำเป็นแผงโครงงาน แต่เท่าที่ตัวเองศึกษาหรือฟังผู้รู้จากหลายเวที PBLที่จะฝึกและสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนได้จริงและอย่างหลากหลาย มีความหมายมากไปกว่านั้น

การทำงานทั้งหมดที่ครูปล่อยให้นักเรียนได้ลงมือทำจริง ไม่ชี้นำหรือให้คำปรึกษาจนเกินเลย ไม่ด่วนบอกคำตอบก่อน เพียงแค่ถ้าผิดทิศผิดทางเอามากๆ หรือไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ครูจึงจะให้ข้อคิดบ้าง ให้เขาได้ดิ้นรน ต่อสู้ พยายามคิดและลงมือแก้ไขปัญหาจากสติปัญญาเขาเอง ถ้าเป็นดังนี้ผมว่าน่าจะใช่PBLทั้งนั้น

การทำงานจะเกิดขึ้นตามลำดับอย่างเป็นธรรมชาติ ได้แก่ เกิดข้อสงสัย เดาคำตอบ รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล ในที่สุดจะนำไปสู่คำตอบที่แท้จริงได้ ขั้นตอนการทำงานหรือการเรียนรู้เหล่านี้ เป็นความธรรมดาของคนทำงานหรือผู้ใฝ่รู้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าคุณครูเปิดโอกาสหรือออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ลูกศิษย์ได้ลงมือ"คิดเองทำเอง"ด้วยเหตุและผล รับรองว่ากระบวนการจะหลีกหนีลำดับขั้นตอนเหล่านี้ไม่พ้น วิชาวิทยาศาสตร์เรียกวิธีการทางวิทยาศาสตร์(scientific method)ครับ และตามที่ตัวเองเข้าใจ กระบวนการเรียนรู้แบบPBLก็คือสิ่งเดียวกัน

การทำงานของทีมงานท่านอาจารย์จันทวรรณเข้มแข็งมาก หลังได้ข้อมูลหรือรับฟังความคิดเห็นจากคณะครู ทุกท่านจะมาร่วมสรุป พูดคุยประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น จะปรับปรุงแก้ไขกันอย่างไร ประสบการณ์หรือความรู้จากคณะครูรุ่นแรกจึงถูกปรับใช้กับรุ่นที่สอง ความรู้จากกิจกรรมวันแรกจึงถูกปรับใช้ในวันถัดไป ประสบการณ์หรือความรู้ที่ทีมงานเรียนรู้นำมาใช้ มาจากขั้นตอนการทำงานอย่างมีเหตุผล หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง ปัญหาคืออะไร สมมติฐาน ตรวจสอบ(รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล) แล้วก็สรุปผล(เกิดความรู้) ดังนั้น การทำงานของทีมผู้จัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ ก็เป็นการเรียนรู้แบบPBLครับ

หรือกิจกรรมสุดท้ายที่คุณครูทุกท่านร่วมแสดงความเห็น ว่าจะทำอะไรต่อไปกับClassStart โดยส่วนใหญ่บอกจะทดลองใช้ บ้างก็บอกจะใช้ทุกวิชาที่รับผิดชอบสอน บ้างก็จะใช้กับบางวิชาก่อน หากลองพิจารณาด้วยขั้นตอนของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ คุณครูเหล่านี้ก็เริ่มต้นจากปัญหาว่าClassStartดีหรือไม่ ต่อจากนั้นจะตั้งสมมติฐานหรือเดาคำตอบไว้ในใจ อาจจะเดาว่าดีหรือไม่ดี ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ที่แน่ๆการทดลองใช้ซึ่งเป็นการตรวจสอบสมมติฐาน กำลังจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไปแล้ว ดังนั้น การทดลองใช้ClassStartของคุณครูครั้งนี้ ก็เป็นการเรียนรู้แบบPBLอีกตัวอย่างหนึ่ง

สำหรับคุณครู 2-3 ท่าน ที่บอกว่าขณะนี้ClassStartน่าจะยังไม่พร้อมกับชั้นเรียนของท่าน ด้วยปัญหาหรือข้อจำกัดบางประการ โดยจะศึกษาหาความรู้หรือทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน ถ้าขั้นตอนการศึกษาทำความเข้าใจหรือการตรวจสอบสมมติฐานของคุณครู 2-3 ท่านนี้ ยังเป็นไปตามที่คิด ข้อมูลจากการศึกษาจะค่อยปรากฏให้ได้วิเคราะห์ ในที่สุดความรู้เกี่ยวกับClassStartจะมีผลสรุป ไม่ว่าผลจะออกมาว่าดีหรือไม่ดี จะใช้หรือไม่ใช้ ก็ล้วนเป็นความรู้ที่เกิดขึ้น กระบวนการเรียนรู้นี้ก็ด้วยรูปแบบPBLเช่นกัน

เช้าวันสุดท้ายของการประชุมในโรงแรมที่พัก หลังจากตื่นขึ้นมามองท้องฟ้า ผมเห็นเมฆหนาตากว่าวันก่อนๆ จนบดบังแสงอาทิตย์แทบหมดสิ้น เนื่องจากอากาศร้อนจัด จะมีฝนหรือพายุตามคำพยากรณ์ล่ะหรือ แต่ไม่นานนักดวงอาทิตย์ที่ลอยสูงขึ้น ก็หลุดพ้นมวลหมู่เมฆและส่องแสงเจิดจ้า จนผมต้องละสายตา ไม่อาจมองได้ด้วยตาเปล่า

หวังเห็นความร่วมมือร่วมใจของคณะทำงานจากมหาวิทยาลัย ผู้สร้างและพัฒนาClassStart กับคณะครูสอนดี ซึ่งเดินทางไกลมาจากทั่วประเทศ จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยให้การศึกษาบ้านเราเกิดพลังขับเคลื่อน จนนำไปสู่ความความสำเร็จ สามารถพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กๆได้อย่างทั่วถึง ดั่งพลังมหาศาลของแสงอาทิตย์ ซึ่งเปล่งประกายเจิดจรัสเหนือมวลหมู่เมฆในเช้าวันนั้น..

หมายเลขบันทึก: 485960เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2012 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

เวทีชนกัน นะ อ.ธนิตย์ เวที่ครูเพื่อศิษย์ครั้งที่3 19-22 เม.ย. ครั้งนี้แจ๋วPBL_PLC เป็นแค่ตัวอักษรเท่านั้น ขอบคุณค่ะ อ.ธนิตย์

ขอให้กำลังใจในการขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมด้วยนะคะ

คนที่ใส่เสื้อ gotoknow ถือกล้องคุ้นๆ นะค่ะ :) ยินดีและเป็นกำลังใจให้คุณครูสอนดี ที่จะได้ใช้ start class ใน classStart ... "การทำงานจะเกิดขึ้นตามลำดับอย่างเป็นธรรมชาติ ได้แก่ เกิดข้อสงสัย เดาคำตอบ รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล ในที่สุดจะนำไปสู่คำตอบที่แท้จริงได้ ขั้นตอนการทำงานหรือการเรียนรู้เหล่านี้ เป็นความธรรมดาของคนทำงานหรือผู้ใฝ่รู้อยู่แล้ว" PBL คือกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ของผู้ใฝ่รู้ สรุปประมาณนี้ได้ไหมค่ะ

คือว่าพอทำกิจกรรมต่าง ๆที่วิทยากรให้ทำแล้วก็เกิด คำถามกับตัวเองว่า แล้ว PBL ที่คุยกันเนี่ยจะเหมือนกับที่เราคิดหรือเปล่านะ เมื่อได้โอกาสก็ได้สอบถามครูธนิตย์ค่ะ หลังจากจากนั้นก็มาค้นหาใน google ก็พบว่า PBL มีทั้ง การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning หรือ PBL) และ Project Based Learningที่เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกัน กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด และยังดีใจที่ที่พบว่า เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงหลักการพัฒนาการคิดของบลูม (Bloom) ทั้ง 6 ขั้น กล่าวคือ ความรู้ความจำ (Knowledge) ความเข้าใจ (Comprehension) การนำไปใช้ (Application) การวิเคราะห์ (Analysis) การสังเคราะห์ (Synthesis) การประเมินค่า (Evaluation)(ที่มา http://pbl.igetweb.com/?mo=3&art=543999) เพราะวันที่คุยกับครูธนิตย์ก็ได้คุยเรื่องการจัดการเรียนการสอนใช้แนวคิดและทฤษฏี CONSTRUCTIONISM การสร้างสรรค์ชิ้น และ การเรียนรู้ตามทฤษฎีของ Bloom พัฒนาความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของนักเรียนให้ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อและแหล่งการเรียนรู้โดยใช้Social Media คิดว่า น่าจะมาถูกทางแล้ว และสิ่งที่ต้องปรับปรุงก็คงจะเป็นเรื่องการวัดผลประเมินผล ที่จะต้องมีหลากหลายและใช้การบันทึก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การศึกษาค้นคว้าของนักเรียน ให้มากขึ้นและลดการประเมินแบบที่ใช้แบบทดสอบแบบปรนัย ให้น้อยลงคะ ขอบคุณครูธนิตย์คะ

อีกนิดคะ ชอบการเขียนบันทึกของครูธนิตย์ค่ะ อ่านแล้วเหมือนได้ไปท่องเที่ยว สนุกค่ะ

  • ได้ฝึกบทครูฟาเต็มๆเลยนะครับอาจารย์ ครั้งนี้..
  • ตั้งใจว่าช่วงปิดเทอมอยากจะหยุดบ้างครับ และก็พอดีด้วยที่สองเวทีชนกันพอดี 
  • ขอบคุณอาจารย์เพ็ญศรีครับ
  • ทีมงานท่านอ.ดร.จันทวรรณ และคณะครูสอนดีมีความตั้งใจสูงมากครับ
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ
  • "PBL คือ กระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติของผู้ใฝ่รู้" ตัวเองเข้าใจอย่างนั้นครับ
  • ขอบคุณอาจารย์หมอ ป.ครับ
  • เคยสงสัยและถามตัวเองคล้ายอาจารย์เหมือนกัน "สรุปว่าPBLคืออะไรกันแน่?" 
  • ดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยกันนะครับ รวมถึงชื่นชมความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของอาจารย์ด้วยครับ 
  • ขอบคุณอาจารย์อริศราครับ

มาเยี่ยมค่ะ ครูเพื่อศิษย์

เรียนท่านอาจารย์ ธนิตย์ มาติดตามครูเพื่อศิษย์

สองวันก่อนเฉียดไปที่พิษณุโลก แล้ว แต่ไปไม่ถึง

เกลอคิมได้แวะมาหาที่เขาค้อด้วย

  • ขอบคุณพี่ครูอ้อยครับ 
  • รอติดตามเรื่องราวที่เวียดนามอยู่นะครับ
  • โอ! เมื่อวานก่อนนี้เอง..ทางใต้หรือที่เขาค้อคงไม่ร้อนจัดเหมือนที่พิษณุโลกดอกนะครับ 
  • ขอบคุณวอญ่าครับ
  • พี่ครูธนิตย์ครับ
  • ว่าจะมานานแล้ว
  • แต่มัวแต่ออกข้อสอบและตรวจงานใน classstart อยู่
  • ทดลองกับนิสิต summer ดีมาก
  • ดีใจที่ได้พบพี่ครูธนิตย์ครับ
  • ยิ่งมีโอกาสได้เห็นการทำงานอย่างใกล้ชิด ยิ่งชื่นชมอาจารย์ครับ..
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์

คุณยายเอาใจช่วยนะคะ ขอให้ประสบความสำเร็จกับการพัฒนาการเรียนการสอนแบบใหม่ ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือลูกหลานของเราเองค่ะ

  • ภาพนางแบบเล่นน้ำทะเล เด็ดเลยครับ..ฮาๆๆ 
  • ขอบคุณกำลังใจจากคุณยายครับ

พี่อ้อยมาเยี่ยม  ไม่ได้ทำเรื่องครูเพื่อศิษย์เลย มัวแต่ไม่เที่ยว เดี๋ยวเดียวก็กลับค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่ติดตามเรื่องเวียดนาม  ซินโหลย  แปลว่า ขอบคุณ ค่ะ

ขอเรียนรู้ด้วยค่ะเพราะมาแรงเหลือเกิน การศึกษาที่จะให้ครูเป็นโค๊ช นะคะ เน้นทักษะ คงเข้าทางล่ะนะ อิอิ

  • "กลางเปลวแดดเกือบๆเที่ยงวัน ในช่วงเดือนที่ร้อนระอุของบ้านเรา มองไปเบื้องหน้า ผิวถนนสะท้อนแสงระยิบระยับ รถโดยสารปรับอากาศจากพิษณุโลกยังคงแล่นฝ่า มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทาง..." อ่านแล้วเคลิ้ม ราวกับอ่านเรื่องสั้นของนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรท์
  • เข้ามาช้าหน่อยนะคะ ตามประสาผู้สูงวัยที่มัวแต่งุ่มง่ามจัดการภารกิจทั้งงานหลวงและงานราษฏร์
  • ก่อนเกษียณ พ่อใหญ่สอฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ เป็นอาจารย์สังกัดคณะครุศาสตร์ที่ทำหน้าที่ผลิตครูวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยากรอบรมการผลิตสื่อจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ผศ.วิไลปรารภว่า สิ่งที่เด็กและเยาวชนควรไทยควรจะได้รับการเติมเต็มจากครูวิทยาศาสตร์มากที่สุดคือ "ความช่างสงสัยใฝ่รู้" ซึ่งไม่ได้มีอยู่ตามธรรมขาติ ต่างจากชาวตะวันตก
  • และการจัดการเรียนรู้แบบ Problem-based, Project-based Learning น่าจะตอบโจทย์ดังกล่าว โดยการสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาตั้งคำถามใหม่ๆ เพื่อแสวงหาคำตอบใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิบัติการทดลองตาม Laboratory Direction ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อหาคำตอบที่มีคำตอบสำเร็จรูปรออยู่แล้ว

 

เรียนอาจารย์ธนิตย์ กลับมาอีกหน อ่านคิดตามเห็นผลกับคนที่ใฝ่รู้ โรคที่ค้นพบเองและรักษายาก "ซ้ำซาก จำเจ" ยากที่จะเปลี่ยนแปลง

  • การเรียนการสอนต่อไป ไม่พ้นแนวทางนี้นะครับอาจารย์ ไม่งั้นเราคงต้องบ่นกันไม่เลิกว่า ทำไมเด็กคิดวิเคราะห์ไม่ได้..?
  • ขอบคุณอาจารย์Rindaครับ
  • เห็นด้วยกับท่านอาจารย์อย่างที่สุดเลยครับ สิ่งที่เด็กและเยาวชนควรไทยควรจะได้รับการเติมเต็มจากครูวิทยาศาสตร์มากที่สุดคือ "ความช่างสงสัยใฝ่รู้" 
  • สำหรับความช่างสงสัยใฝ่รู้ของเยาวชน สาเหตุคงมีหลากหลาย แต่วัฒนธรรมไทยน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง การเลี้ยงดูบุตรหลาน การครอบงำทางความคิดของผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือผู้มีอิทธิพล ฯลฯ อาจหมายรวมถึงครูกับเด็กๆที่โรงเรียนด้วย และสุดท้ายการเรียนการสอนบ้านเราก็คงจะหนีไม่พ้น Problem-based, Project-based Learning เป็นแน่..อย่างท่านอาจารย์ว่าครับ 
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ผศ.วิไล แพงศรีมากๆครับ
  • ประสบการณ์ตัวเองบอกว่า ณ วันนี้ อาการใฝ่รู้ใฝ่เรียนของเด็กๆมีน้อยไป อาจเพราะตัวอย่างจากครูหรือผู้ใหญ่อย่างเราๆนี่เองนะครับ ฮาๆๆ 
  • ขอบคุณท่านวอญ่าครับ

มีอบรมทางภาคอีสานบ้างไหมครับ อยากเรียนรู้มากที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท