ชีวิตที่พอเพียง : 1532a. อาลัย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม


ชีวิตของคุณไพบูลย์เป็นชีวิตที่โลดโผน คือไม่ใช่ชีวิตที่ดำเนินไปอย่างราบเรียบ แต่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชนิดที่หักเห หรือเปลี่ยนแนวอยู่หลายครั้ง โดยที่ผมเข้าใจว่า ไม่ได้เกิดจากการแสวงหาของคุณไพบูลย์ แต่เกิดจากเหตุการณ์หรือความจำเป็นพาไป และเมื่อความจำเป็นนั้นตรงกับความชอบหรือจริตของคุณไพบูลย์ ท่านก็ยินดีรับทำ แม้จะได้ผลประโยชน์ส่วนตัวน้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย

ชีวิตที่พอเพียง  : 1532a. อาลัย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถึงแก่กรรมเมื่อบ่ายวันนี้ (๙ เมษายน ๒๕๕๕)    ด้วยความอาลัยรักคนดีของแผ่นดิน    ผมจึงนำคำนิยมหนังสือที่คุณไพบูลย์จัดทำอัตชีวประวัติไว้ เมื่อปีที่แล้ว    มาลงไว้เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี ที่คุณไพบูลย์ได้ทำไว้แก่แผ่นดิน

 

คำนิยม

หนังสือ “เล่าเรื่อง..ชีวิตธรรมดา ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม”

วิจารณ์ พานิช

 

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวชีวิตที่ดีงามและมีคุณค่าของคนคนหนึ่ง    ที่เกิดมาในครอบครัวธรรมดา    แต่มีพัฒนาการของชีวิตที่ไม่ธรรมดา   โดยเฉพาะชีวิตที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ในหลากหลายบทบาท   และชีวิตด้านการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน

มีคนพูดเข้าหูผมบ่อยๆ ว่า อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นพระในคราบของฆราวาส

ในสายตาของผมชีวิตของคุณไพบูลย์เป็นชีวิตที่โลดโผน   คือไม่ใช่ชีวิตที่ดำเนินไปอย่างราบเรียบ   แต่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชนิดที่หักเห หรือเปลี่ยนแนวอยู่หลายครั้ง   โดยที่ผมเข้าใจว่า ไม่ได้เกิดจากการแสวงหาของคุณไพบูลย์   แต่เกิดจากเหตุการณ์หรือความจำเป็นพาไป   และเมื่อความจำเป็นนั้นตรงกับความชอบหรือจริตของคุณไพบูลย์    ท่านก็ยินดีรับทำ แม้จะได้ผลประโยชน์ส่วนตัวน้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย  

จากชีวิตในวงการเศรษฐศาตร์ วงการการเงิน   หักเหสู่ชีวิตของนักพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม    และได้มีโอกาสทำงานใหญ่ งานวางรากฐานหลายด้านในสังคมไทย    ทั้งตลาดหลักทรัพย์  งานองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)  งานพัฒนาชุมชนและพัฒนาองค์กรชุมชน    นำไปสู่การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    และรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านการพัฒนาสังคม

ผมตีความว่า คุณไพบูลย์มีจริตชอบทำงานใหญ่    ไม่ชอบงานทางเทคนิคซึ่งเป็นงานแคบหรือเล็ก   เมื่อมีโอกาส ชีวิตของท่านจึงหักเหไปสู่การทำงานวางรากฐานของระบบ   ซึ่งเป็นงานบริหารหรืองานจัดการ    ซึ่งต้องใช้มุมมองเชิงระบบ และต้องการการจัดการที่เน้นกระบวนการ เน้นการส่งเสริมเอื้ออำนาจ (empowerment) ให้สมาชิกในขบวนการกล้าลงมือริเริ่มสร้างสรรค์   ในสายตาของผม ท่านเป็นนักสร้างขบวนการ (movement)   โดยการวางระบบให้เกิดกระบวนการ (process) ของแนวร่วมหรือภาคีเครือข่าย (networking) เพื่อการสร้างสรรค์สังคม   ซึ่งสภาพจิตใจเช่นนี้มาจากการสั่งสมบารมีหลากหลายด้าน   ที่สำคัญที่สุดคือธรรมาบารมี

คนทำงานใหญ่ อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ   คือแบบที่มีสัญชาตญาณเป็นเจ้าของเรื่องนั้นอย่างรุนแรง   และมีความสามารถโน้มน้าวจิตใจคนเข้ามาร่วมกันทำงาน   ทำงานใหญ่นั้นอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะผู้นำของผู้ทำงานใหญ่ท่านนั้น   ผมคิดว่าคุณไพบูลย์ไม่ใช่ผู้นำแบบนี้   ซึ่งผมเรียกว่าเป็นผู้นำในรูปแบบธรรมดา (conventional)

ผมคิดว่าคุณไพบูลย์เป็นผู้นำแบบที่สอง หรือผู้นำแนวใหม่ ที่ไม่เข้าไปผูกขาดการเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำงานใหญ่ที่เป็นนวัตกรรมสังคมที่ท่านเข้าไปริเริ่ม   แต่ท่านจะใช้แนวทางส่งเสริมเอื้ออำนาจ (empower) ให้มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาร่วมกันเป็นเจ้าของและร่วมกันทำงานใหญ่นั้นอย่างต่อเนื่อง   ซึ่งผมเชื่อว่าแนวทางนี้อาจจะช้า แต่จะมีความยั่งยืนกว่า    เพราะมีการวางรากฐานทางสังคมอย่างกว้างขวาง   จนในที่สุดเกิดโครงสร้างที่มีฐานะทางกฎหมาย   ดังกรณีสำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน เป็นต้น  

หนังสือเล่มนี้ อ่านได้สบายๆ    อ่านแล้วสบายใจ ตามสไตล์ของคุณไพบูลย์ ที่ไม่โอ้อวดความดี ความเก่ง และผลงานของตนเอง    แต่ผมเชื่อว่าเมื่ออ่านแล้วผู้อ่านทุกคนจะเกิดแรงบันดาลใจ    เห็นคุณค่าของการเกิดมาเป็นคนไทย   ที่เป็นสังคมเปิดกว้าง    ให้โอกาสแก่คนดีมีความสามารถในการสร้างฐานะ    โดยไม่มีการปิดกั้นด้านชาติสกุล   รวมทั้งจะได้คติสอนใจมากมาย   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ความเชื่อมั่นในการทำความดี โดยไม่หวังผลตอบแทน  

หลายส่วนในหนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วได้สาระเชิงประวัติศาสตร์  เชิงมานุษยวิทยา เชิงภูมิสังคม  เชิงการเรียนรู้ตลอดชีวิต  และอีกหลายๆ เชิง ที่แฝงอยู่ในชีวิตของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม    มีตัวละครที่เวลานี้เป็นผู้นำหรือผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทยจำนวนมากมาย   แม้ผมจะเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนกับคุณไพบูลย์ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทั้ง ๒ ปี   และได้ร่วมงานกันหลายด้านในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา   เมื่อได้อ่านต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ ผมยังได้ความรู้ที่มีส่วนต่อเติมความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ทั้งในเมืองไทย และในต่างประเทศ อีกมากมาย    

ที่จริงชีวิตของคุณไพบูลย์เป็นชีวิตที่ไม่ธรรมดา    แม้ตนเองจะถือตนว่าเป็นคนธรรมดา

ในสายตาของผมประเด็นเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่มากที่น่าจะย้ำไว้ในที่นี้เป็นประเด็นสุดท้าย  คือความสามารถในการมีชีวิตที่ดีในสภาพร่างกายที่เจ็บป่วย   ตามที่เล่าไว้ในตอนท้ายๆ ของตอนที่ ๔ ของหนังสือ   คุณไพบูลย์สามารถทำงานในตำแหน่งที่หนักและสำคัญมาก คือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกิดผลดีต่อสังคมอย่างมากมาย    ทั้งๆ ที่ร่างกายมีโรคร้ายรุมเร้า และไม่ใช่โรคเดียว   และหลังจากนั้น ท่านก็ได้ทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน   ตามที่สุขภาพเอื้ออำนวย   โดยที่ท่านสามารถดำรงความมีสุขภาพดีโดยอยู่ร่วมกันโรคได้อย่างน่ามหัศจรรย์   เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ใช้ธรรมะสะกดโรคได้เก่งในระดับที่คนเป็นหมออย่างผมรู้สึกพิศวง   และขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านอ่านส่วนนี้อย่างพินิจพิเคราะห์   อ่านระหว่างบรรทัด เพื่อให้ตัวเราเองได้ใช้เรื่องราวในชีวิตของคุณไพบูลย์ส่วนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้หมั่นฝึกฝนตนเองด้านจิตใจหรือธรรมะให้มีความเข้มแข็ง    อันจะยังประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตที่มีสุขภาวะ แม้มีโรคร้ายอยู่ในร่างกาย    

ผมขอขอบคุณคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และคุณอรอุมา เกษตรพืชผล ที่ขอให้ผมเป็นผู้เขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้   ผมถือเป็นเกียรติอย่างสูง   และขอขอบคุณแทนสังคมไทย ที่ทั้งสองท่านได้ร่วมกันจัดทำหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งเล่มนี้ออกเผยแพร่    สังคมได้ประโยชน์มาก จากการนำเรื่องราวชีวิตของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเช่นนี้   เป็นเครื่องจุดประกายและเป็นประทีปนำทางชีวิตของเยาวชนไทย

วิจารณ์ พานิช

๒๘ เมษายน ๒๕๕๓

             

             ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง  คุณไพบูลย์ยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดมา แม้จะมีโรคร้ายอยู่ในร่างกาย    และมาเข้าโรงพยาบาลได้เพียง ๒ สัปดาห์ ก็ถึงแก่กรรม

             ขอดวงวิญญาณของคนดีอย่างคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม จงไปสถิตย์ ณ สรวงสวรรค์

 วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 484739เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สิ้นคนดีไปอีกหนึ่งคน นะครับ

ขอแสดงความไว้อาลัยด้วย

คนดีไทยเรา ดีมาก เพราะได้เสี้ยวจากพุทธศาสนา แต่เสี้ยวจาก โล "ภา" ภิวัฒน์ จากฝรั่งมีอำนาจมาก แถมกลัว จีน อีกด้วย

ทางรอดของเราอาจคือ...เอาส่วนดีของทั้งสามฝ่ายมาประมวล

พร้อมอัดปัญญา ฝ่ายที่ "สี่ " ที่มีความเป็นไทยของเราเข้าไปผสม

ไม่งั้นก็คง ออกมา เละ ๆ แบบวันนี้แหละครับ

ขอแสดงความไว้อาลัยด้วยครับ.. คนดีของสังคมไทย ที่น่ายกย่อง

ผมชอบคำว่า "โลภาภิวัฒน์" ครับ สื่อได้ตรงจริงๆ

ขอแสดงเสียใจและอาลัยท่านอาจารย์ไพบูลย์ด้วยครับ

ร่วมอาลัยขวัญใจชุมชน อาจารย์ไพบูลย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท