๒๙๕.งานวิจัย-พุทธศาสนาเชิงรุก : พะเยาในอดีต


              

       พะเยา เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอิทธิพลจากความเชื่อและคติธรรมทางพุทธศาสนา มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีพระภิกษุที่ทำงานด้านพุทธศาสนาเชิงรุกจากรุ่นสู่รุ่น จนประชาชนให้การสนับสนุนเข้ามามีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุกเป็นจำนวนมาก

     ในที่นี้จะแบ่งจังหวัดพะเยาออกเป็น 3 ช่วงคือ พะเยาในอดีต  พะเยาในปัจจุบัน และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในจังหวัดพะเยา รายละเอียดดังนี้

  พุทธศาสนาเชิงรุก : พะเยาในอดีต

     คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2544 : 1) ระบุว่า “พะเยา”  เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง เดิมชื่อ “ภูกามยาว” หรือ  “พยาว”  ต่อมาเพี้ยนเป็น “พะเยา” คู่กับอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรล้านนา ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช 1638 โดยขุนศรีจอมธรรม โอรสของพระยาลาวเงินแห่งราชวงศ์ลวะจังกราช ปัจจุบันเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือตอนบนหรือกลุ่มล้านนา 8 จังหวัดอันประกอบไปด้วยเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอนและพะเยา

                คำว่า “พะเยา” นี้ มีหลายทัศนะ แต่ที่มีการกล่าวอ้างมี 3 ทัศนะด้วยกัน กล่าวคือ มาจากคำว่า “ภูกามยาว” เป็นลักษณะของการตั้งบ้านเรือนที่ยาวไปตามภูเขาต่อมาเพี้ยนเป็นพะเยา ซึ่งนักวิชาการให้น้ำหนักความหมายนี้มากกว่าทัศนะอื่น ๆ ทัศนะที่สองมาจากคำว่า “ผายาว” อันเป็นการให้ทัศนะไปที่ลักษณะของภูเขายาว ต่อมาเพี้ยนเป็นพะเยา และทัศนะสุดท้ายเป็นทัศนะที่สอดแทรกเข้ามาทีหลังโดยมาจากคำว่า “ฟ้าย้าว” เป็นการให้น้ำหนักไปที่ระยะทางและเวลา ต่อมาเพี้ยนเป็นพะเยา (พระครูโสภณปริยัติสุธี 2553 : 10-11)

     จากการศึกษาพบว่าปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ภูกามยาวทรงพระนามว่า “ขุนจอมธรรม” เดิมมีพระนามว่า “ขุน(จอม)ผาเรือง” เป็นพระราชโอรสของขุนเงิน หรือลาวเงิน  กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน  เมื่อพุทธศักราช  1602  (จุลศักราช  421)  พ่อขุนเงิน หรือลาวเงิน  ดำริให้พระราชโอรส  2  พระองค์ คือ  ขุนชินให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน  และขุนจอมผาเรือง  โอรสองค์ที่  2  ให้ปกครองเมืองภูกามยาวซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองโบราณฝ่ายใต้ที่ว่านี้ เดิมมีชื่อว่า  “เมืองสีหราช”  อยู่เชิงเขาชมพูหางดอยด้วน  ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา  มีสัณฐานคล้ายลูกน้ำเต้า  โดยมีหนองน้ำใหญ่ (กว๊านพะเยา) อยู่ทางตะวันตก 

                เมื่อขุนจอมผาเรืองทรงเข้ามาปกครองเมืองนี้แล้ว ทรงได้รับการยกย่องพระนามใหม่ว่า ขุนจอมธรรม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม หรือทรงเป็น “ธรรมราชา” ขุนจอมผาเรืองทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชน  โดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  และยึดมั่นในพุทธศาสนา  บ้านเมืองของพระองค์จึงเจริญรุ่งเรืองอย่างมากตลอดรัชกาล  ประชาชนตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี  ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน  ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน  ไม่มีสงคราม  เจ้าประเทศราชต่าง ๆ มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน  ทั้งนี้พระองค์ทรงสั่งสอนประชาชนให้มีส่วนร่วมทางสังคมด้วยหลัก  2  ประการ  คือ  หลักอปริหานิยธรรม  (หลักแห่งความไม่เสื่อม) และหลักแห่งประเพณีธรรมขนบธรรมเนียมอันเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงามของครอบครัว  (หลักแห่งการครองเรือน) เป็นต้น (พระครูโสภณปริยัติสุธี 2550 : 30-35)

                กษัตริย์ที่มีความโดดเด่นต่อพุทธศาสนาอีกพระองค์หนึ่งคือพ่อขุนงำเมือง  ซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองพะเยา ลำดับที่  9  นับจากพ่อขุนจอมธรรม  ประสูติเมื่อพุทธศักราช  1781  เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง  เมื่อพระชนมายุ  14  ปี  พระราชบิดาส่งไปศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาสตร์เทพในสำนักเทพอิสิตนอยู่ภูเขาดอยด้วน  2  ปี  จึงจบการศึกษา  เมื่อพระชนมายุได้  16  ปี  พระราชบิดาส่งไปศึกษาต่อ  ขอถวายตัวอยู่ในสำนักสุกันตฤาษี  ณ  กรุงละโว้ (ลพบุรี)  จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับพ่อขุนรามคำแหงเจ้ากรุงสุโขทัย  จนมีความสนิทสนมผูกไมตรีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น  ศึกษาศิลปะศาสตร์ร่วมครูอาจารย์เดียวกันเป็นสหายกันตั้งแต่นั้นมา  ทรงเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เช่นเดียวกัน  เมื่อเรียนจบก็เสด็จกลับเมืองพะเยา  ปีพุทธศักราช  1310  เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์  จึงขึ้นครองราชสมบัติแทน

                พ่อขุนงำเมืองทรงเป็นผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงอุปฐากอุปถัมภ์พระธาตุจอมทองที่ตั้งอยู่บนดอยจอมทอง  ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพะเยา  ที่ประชาชนสักการบูชามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่ชอบสงคราม  ปกครองบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม  ผูกมิตรไมตรีจิตต่อประเทศราช  และเพื่อนบ้าน  ขุนเม็งรายเคยคิดยกทัพเข้ารุกรานเมืองพะเยา  พ่อขุนงำเมืองล่วงรู้เหตุการณ์ก่อน แทนที่จะยกทัพเข้าต่อต้าน  ได้สั่งไพร่พลให้อยู่ในความสงบ  สั่งให้เสนาอำมาตย์ออกต้อนรับโดยดี  เชิญพ่อขุนเม็งรายเสวยพระกระยาหารและเลี้ยงกองทัพให้อิ่มพร้อมกับพูดให้เห็นผลดีผลเสียของการสู้รบกัน  พ่อขุนเม็งรายจึงเลิกรุกรานเมืองพะเยาแต่นั้นมา และทำสัญญาปฏิญาณว่าจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันตลอดไป จึงนับได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่อยู่ในธรรม

                นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผู้ครองเมืองพะเยาอีกหลายรุ่น ที่มีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุกมาโดยตลอด แต่ผู้ครองเมืองพะเยาที่โดดเด่นที่สุดคือ พระยายุธิษฐิระ ที่สามารถฟื้นฟูพุทธศาสนาจนมีพุทธรูปหินทรายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองพะเยาไว้อย่างน่าภาคภูมิใจยิ่ง และยังมีพระแก้วมรกตก็เป็นฝีมือช่างสกุลพะเยาด้วยเช่นกัน (สุจิตต์  วงษ์เทศ. 2552 : 160) จึงขอยกประวัติมา ดังนี้

                พระยายุธิษฐิระ  หรือ  พระยาสองแคว (เก่า)  เป็นพระโอรสของ  พระมหาธรรมราชาที่  4  (พระบรมปาล)  แห่งเคว้นสุโขทัย  ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่  4  เมืองสุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอย่างสมบูรณ์

                พระยายุธิษฐิระ  ทรงทำนุบำรุงเมืองพะเยาเป็นอย่างมาก  เริ่มตั้งแต่ทรงสร้างเวียงใหม่        ที่บ้านพองเต่า  สร้างวัดป่าแดงหลวง  (ปัจจุบัน  ราชการได้ประกาศรวมวัดป่าแดงหลวงกับวัดดอนไชยบุนนาค ที่อยู่ติดกัน รวมเป็นวัดเดียว  ชื่อว่า  วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค)  ทรงหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อนาค  รวมถึงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทร์  จากเมืองแจ้ตาก  และรอยพระพุทธบาท  จากสุโขทัย  มาประดิษฐานในเวียงใหม่ของพระองค์  พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองและได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดี  พระสงฆ์มีความรู้ความสามารถสูง

                ในปี  2022  จึงทรงถูกถอดยศเจ้าเมืองออก เนื่องจากมีคดีความกับพระเจ้าติโลกราช  แต่ยังได้ความปราณี  ยังคงชุบเลี้ยงในฐานะพระโอรสบุญธรรมต่อไป  ส่วนเมืองพะเยา  พระเจ้าติโลกราชทรงเวนราชสมบัติให้นางเจ้าหมื่นเมืองพะเยาปกครอง ซึ่งต่อมานางเจ้าหมื่นเมืองพะเยาได้สร้างวัดถวายในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

                ยุครุ่งเรืองของเมืองพะเยา  ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา  คือ  มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดทางศิลปะและวิทยาการในช่วงเวลาประมาณ  100  ปี  ระหว่างพุทธศตวรรษที่  21  (หรือหลัง  พ.ศ. 2000 )  ถึงต้นพุทธศตวรรษที่  22  (หรือหลัง  พ.ศ. 2100)  หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า  เริ่มที่ยุคพระยายุทธิษฐิระเป็นเจ้าครองเมืองพะเยา  แล้วสิ้นสุดลงก่อนที่อาณาจักรล้านนาจะถูกพม่ายึดครองเมื่อ  พ.ศ. 2101  ซึ่งพม่าเข้าครอบครองเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาทั้งหมด  พร้อมกวาดต้อนผู้คนไปด้วย  ทำให้บ้านเมืองต่าง ๆ ร่วงโรยลง  เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์  อำนาจของพม่าซึ่งปกครองที่เมืองเชียงใหม่อ่อนแอลง  และบางครั้งก็ถูกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกมารบกวนซ้ำอีก  ทำให้บ้านเมืองต่าง ๆ ในดินแดนล้านนา  คิดตั้งตัวเป็นอิสระแล้วแย่งชิงความเป็นใหญ่  จนเกิดความวุ่นวายทั่วไป  ด้วยเหตุนี้เองฐานะและความสำคัญของเมืองพะเยาจึงหายจากดินแดนล้านนาราวกับร้างผู้คนไป

                ในระหว่างปี  พ.ศ. 2437  ถึง  พ.ศ. 2449  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  5  โปรดให้ปฏิรูปการปกครองจากแบบเดิมเป็น  “มณฑลเทศาภิบาล”  มีการบริหารงานเป็นกระทรวง  มณฑล  จังหวัด  อำเภอ  ผู้บริหารระดับกระทรวงเรียกว่าเสนาบดี  ผู้บริหารระดับมณฑลเรียกว่าสมุหเทศาภิบาล  ผู้บริหารระดับจังหวัดเรียกว่า ข้าหลวงประจำจังหวัด  ผู้บริหารระดับอำเภอเรียกว่านายอำเภอ  เมืองพะเยาถูกปรับเปลี่ยนฐานะจาก  “เมือง” เป็น  “จังหวัด”  เรียกว่า  “จังหวัดบริเวณพะเยา”  เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ  มีที่ว่าการมณฑลอยู่เชียงใหม่  ในปี  พ.ศ. 2448  ถูกยุบ “จังหวัดบริเวณพะเยา”  ให้มีฐานะเป็น  “อำเภอเมืองพะเยา”  แล้วให้เจ้าอุปราชมหาชัยศีติสาร  รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา  องค์สุดท้าย  ต่อมาในปี  พ.ศ. 2457  ให้ยุบ  “อำเภอเมืองพะเยา”  เป็น  “อำเภอพะเยา”  อยู่ในอำนาจการปกครองจังหวัดเชียงราย  จากปี  พ.ศ. 2457  จนถึงปี  พ.ศ. 2520  อำเภอพะเยา  มีนายอำเภอทั้งสิ้น  25  นาย

 

หมายเลขบันทึก: 484534เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2012 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท