การใช้กฎหมายต่างประเทศในศาลฝรั่งเศสและความร่วมมือในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ


           อาจมีคนตั้งคำถามก่อนจะอ่านว่า...แล้วจะรู้ไปเพื่ออะไร ในเมื่อเป็นแนวคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศส ตลอดจนแนวคำพิพากษาฝรั่งเศส....จะว่าไกลตัวก็ใช่......  ผู้เขียนจะขอให้เรื่องที่จะได้เขียนต่อไปนั้นเป็นคำตอบในตัวเองค่ะ   

 

            เนื่องจากเป็นแนวคิดของทางฝรั่งเศส จึงต้องปูพื้นกันเล็กน้อยก่อนเข้าเรื่องว่า ในฝรั่งเศสนั้นการใช้กฎหมายต่างประเทศมิได้มีบทบัญญัติกำหนดไว้ชัดเจนถึงหน้าที่ในการกล่าวอ้างกฎหมายต่างประเทศ รวมไปถึงหน้าที่นำสืบ อย่างเช่นที่มีอยู่ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรา ๘ แต่อย่างใด  ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยแนวคำพิพากษามาประกอบการใช้และทำความเข้าใจกฎหมายขัดกันของฝรั่งเศสอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกอะไรที่มีผู้กล่าวว่ากฎหมายขัดกันของฝรั่งเศสนั้นอยู่ในรูปของกฎหมายจารีตประเพณี

 

             ก่อนที่จะไปถึงเรื่องการใช้กฎหมายต่างประเทศนั้น คำถามที่ต้องเผชิญอย่างแรกคือ การใช้กฎหมายขัดกันในฝรั่งเศสเป็นอย่างไร ใครมีหน้าที่ต้องกล่าวอ้าง หากยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะไปถึงขั้นการใช้กฎหมายต่างประเทศได้

 

            ในอดีตนั้นเป็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอดว่าศาลไม่มีหน้าที่ต้องใช้กฎหมายขัดกัน เพราะไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย (Bisbal 1959) ดังนั้นหากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่กล่าวอ้าง ศาลก็จะใช้กฎหมายฝรั่งเศสในการตัดสินคดี  เห็นได้ว่าการให้เหตุผลของศาลในคดีนี้นั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากฎหมายขัดกันก็เป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง มาตรา ๑๒ วรรค ๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเองก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาพิพากษาคดีโดยใช้กฎหมาย  ไม่ได้จำกัดไว้ว่าจะต้องใช้เฉพาะแต่กรณีที่มีลักษณะเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด 

             ในเมื่อศาลไม่มีหน้าที่ต้องใช้กฎหมายขัดกันในกรณีนี้ ย่อมกินความไปถึงการไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายต่างประเทศมาตัดสินคดีด้วยเช่นกัน (เป็นไปได้ว่ากฎหมายขัดกันอาจนำไปสู่การใช้กฎหมายต่างประเทศในคดี)    

 

              ในยุคต่อมา ศาลเริ่มเปลี่ยนท่าทีในเรื่องนี้ โดยมีแนวโน้มว่าจะยอมรับการใช้กฎหมายขัดกันมากขึ้น แต่ปัญหายังคงมีอยู่ว่าใครจะต้องกล่าวอ้าง ซึ่งศาลวางหลักเอาไว้ในหลายคดี โดยให้นำเกณฑ์ในเรื่องที่เราเรียกว่า la disponibilité des droits และ l'indisponibilité des droits มาใช้ 

              นี่คือตัวปัญหา เพราะพยายามจะอธิบายค่ะ แต่มันไม่มีในกฎหมายไทย.... เอาเป็นว่าศาลฝรั่งเศสท่านไม่ได้แยกแยะให้ชัดเจนในกรณีของคดีบุคฯ แต่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้นได้มีการกล่าวเรื่องนี้ไว้มากพอสมควร

                 อธิบายให้ง่ายที่สุดคือ la disponibilité des droits เป็นกฎหมายประเภทที่มีการยอมรับหลักเสรีภาพในการกำหนดเนื้อความข้อตกลงต่างๆมาใช้ เช่น กฎหมายว่าด้วยสัญญา เราจึงมักเรียกว่าเป็นกรณีที่คู่ความมีสิทธิ มีอิสระในการเลือก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญา เลือกข้อตกลงต่างๆที่จะบังคับใช้ระหว่างกัน

                ในขณะที่ l'indisponibilité des droits นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่มีเนื้อความเกี่ยวกับความสามารถ สถานะของบุคคล หรือครอบครัว ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่กฎหมายไม่ยอมให้คู่ความไปกำหนดข้อตกลงต่างๆโดยเสรี เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ เรียกได้ว่าเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ได้ค่ะ 

 

              สังเกตได้จากแนวคำพิพากษาว่าโดยหลักแล้วจะกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มกฎหมายสองกลุ่มหลัก คือ ๑. สัญญา และ ๒. ความสามารถและสถานะของบุคคล  อันที่จริงแล้วยังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆมากมาย แน่นอนว่ามีคนทำ Thesis ป.เอกไปเรียบร้อยแล้วค่ะ 

 

             เมื่อศาลแยกกลุ่มของสิทธิของคู่ความเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ข้างต้น จึงมาถึงเรื่องการใช้กฎหมายขัดกันและกฎหมายต่างประเทศ..... นั่นคือ ศาลวางหลักเอาไว้ว่าในคดีประเภทที่คู่ความมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการกำหนดสาระสำคัญในข้อตกลงด้วยตนเองนั้น (la libre disponibilité des droits) ย่อมเป็นหน้าที่ของคู่ความนั้นในอันที่จะต้องกล่าวอ้างกฎหมายขัดกันและกฎหมายต่างประเทศ (เราจะยังไม่กล่าวถึงหน้าที่นำสืบไว้ ณ ที่นี้ เนื่องจากแนวคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ)

 

....................ส่วนคดีที่คู่ความไม่มีสิทธิในการกำหนด หรือ l'indisponibilité des droits นั้น ศาลกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาในการค้นหาว่าคดีดังกล่าวนั้นมีลักษณะระหว่างประเทศในอันที่จะนำไปสู่การใช้กฎหมายขัดกันหรือไม่.... เมื่อพบว่ามี ก็ต้องใช้....เรียกว่าเป็น ex officio  ซึ่งศาลสูงได้เคยตัดสินมาแล้วในคดี Mme Elkhbizi (26 mai 1999) ว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นละเลยต่อหน้าที่ในการค้นหาและใช้กฎหมายขัดกันซึ่งจะนำไปสู่การใช้กฎหมายต่างประเทศ เนื่องจากปรากฏให้เห็นชัดเจนในเอกสารของทางฝั่งจำเลยว่า จำเลยมีบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือ titre de séjour กล่าวอีกนัยหนึ่งคือจำเลยไม่มีสัญชาติฝรั่งเศส ถือเป็นลักษณะระหว่างประเทศของคดี (เป็นคดีฟ้องหย่า) ศาลสูงเห็นว่าต้องนำกฎหมายขัดกันมาใช้ในคดีนี้  สรุปให้ชัดเจนคือ หากเป็นเรื่อง le domaine où les droits des parties ne sont pas disponibles ตามที่กล่าวมาแล้ว ผู้พิพากษามี "หน้าที่" ตั้งแต่ต้นจนจบค่ะ 

 

               ข้อสังเกตที่เคยกล่าวไว้แล้วก็คือ การนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้เป็นผลดีต่อคนทั่วๆไปที่มิใช่คู่ค้าระหว่างประเทศ เพราะหากเป็นคู่สัญญาในทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว เราคงไม่ต้องเป็นห่วงการใช้กฎหมายของคนเหล่านี้ เนื่องจากมีทนายเก่งๆคอยดูแล (อาจมีคนโต้แย้งว่า...กม.รปท.แผนกคดีบุคคลนั้นแท้จริงแล้วก็มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกคนโดยเท่าเทียมกันมิใช่หรือ แล้วเหตุใดจึงเลือกที่จะให้ศาลปฏิบัติต่อคนสองกลุ่มต่างกัน? ตอบว่าใช่ค่ะ แต่เราจะยังไม่พูดถึงปัญหานี้ในตอนนี้ค่ะ)

 

               แต่......หากเป็นกรณีของคนธรรมดา เช่น คดีหย่า เรียกค่าเลี้ยงดู สถานะบุคคล  เป็นไปได้ว่าคู่ความอาจจะไม่ได้รับการบริการทางกฎหมายอย่างเต็มที่ อาจเป็นด้วยปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้การนำสืบกฎหมายต่างประเทศเป็นไปได้ยาก หรือคู่ความอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนมีหน้าที่ต้องกล่าวอ้างลักษณะระหว่างประเทศของคดี

               ในเมื่อมาตรา ๘ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ฯ ของไทย ให้เป็นหน้าที่ของคู่ความกล่าวอ้างและนำสืบทั้งกฎหมายขัดกันและกฎหมายต่างประเทศในทุกๆกรณี  ผลจะเป็นอย่างไร???  ตอนนี้อาจยังไม่เห็นภาพ แต่เชื่อว่าปัญหาจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ ASEAN เต็มรูปแบบค่ะ 

 

               ....................................................

 

               ถามว่า....ใครจะเดือดร้อนมากที่สุดหากเปลี่ยนหน้าที่ทั้งหลายเหล่านี้?  คำตอบคงเป็นผู้พิพากษา ที่ต้องมีภาระหนักเพิ่มขึ้น และคดีเหล่านี้มิใช่คดีการค้าระหว่างประเทศ  แต่จะขึ้นสู่ศาลยุติธรรมตามปกติค่ะ  

 

                  มองในแง่ดี....การที่เสนอให้หน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ของศาล มิได้หมายความว่า ศาลจะต้องมานั่ง "ค้นหา" กฎหมายต่างประเทศเอง  เนื่องจากเราสามารถใช้บริการจากหน่วยงานต่างๆ (ในความหมายที่ว่าเราต้องมีบุคคลากรให้ใช้นะคะ) เช่น ศูนย์ศึกษาวิจัยกฎหมายเปรียบเทียบ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ค่ะ  ข้อดีคือเป็นโอกาสพัฒนา สร้างองค์ความรู้ในด้านกฎหมายต่างประเทศ  (จะนึกถึง Max-Planck Hamburg ก็ไม่ว่ากันค่ะ)

 

             หรือ....หากยังกังวลใจ  ในอนาคตเรากำลังจะได้เห็นความร่วมมือของรัฐบาลต่างๆในการให้บริการตอบคำถาม และให้ข้อมูลกฎหมายภายในของตนแบบออนไลน์ เป็นโปรเจ็คของ HCCH ค่ะ  ซึ่งพัฒนามาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงระหว่างรัฐสมาชิกอนุสัญญากรุงลอนดอน ๗ มิ.ย. ๑๙๖๘ อันที่จริงอนุสัญญาฯนี้เป็นแนวคิดที่ดีมากและควรนำมาใช้ นั่นคือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกแก่ศาลของรัฐสมาชิกอื่นๆที่สอบถามมาค่ะ จะมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ตอบคำถาม ปัญหาคือ แต่ละรัฐต้องมีศักยภาพในการตอบคำถาม ให้อีกฝ่ายนำไปใช้ได้จริงๆ

 

                  ............................................................... 

 

                ขอกล่าวไว้โดยคร่าวๆเท่านี้นะคะ  จริงๆแล้วมีประเด็นอีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึง ไว้จะมาเล่าใหม่ค่ะ 

 

(ที่จริงมีเกณฑ์อีกอย่างหนึ่งที่ศาลเคยนำมาใช้ ก็คือ กรณีที่กฎหมายขัดกันนั้นเป็นผลมาจากอนุสัญญาระหว่างประเทศ ในกรณีนี้ศาลสูงฝรั่งเศสบังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะต้องใช้ค่ะ (จากคดี Coveco) แต่ปัญหานี้ลดลงในระดับของสหภาพยุโรปเนื่องจากบรรดาอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายขัดกัน เช่น Rome 1980 ได้กลายมาเป็น Regulation Rome I ซึ่งทำให้ผลบังคับทางกฎหมายที่มีต่อรัฐสมาชิกเปลี่ยนไปค่ะ)

หมายเลขบันทึก: 483872เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2012 02:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนกฎหมาย แต่ไม่เคยอ่านก๐หมายมาหลายสิบปี แต่ก็ยังคงมีการไกล่เกลี่ยในชุมชน ไม่ถึงกับใช้กฎหมาย กฎหมายขัดกัน เหมือนยาตีกัน

ดีค่ะ การเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นการระงับข้อพิพาทที่ดี ก่อนจะไปขั้นอื่นๆ เหมือนปฐมพยาบาลค่ะ ให้ยาตามอาการและความรุนแรงของโรค

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท