ความผิดพลาดในนโยบายการศึกษาของชาติ ที่ประกาศเมื่อ 25 ม.ค.2555


สหประชาชาติ ได้เคยแถลงไว้ว่า การพัฒนาที่มุ่งความขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทมากในกระบวนการพัฒนา ย่อมก่อให้เกิดปัญหาเพราะการไม่สามารถประสานงานกันได้ของแต่ละสายวิทยาการ การไม่รู้ผลกระทบที่ตามมา การแก้ปัญหาเป็นหย่อมๆ ไม่สามารถแก้ไขในองค์รวมได้เพราะขาดความเข้าใจในวิทยาการสายอื่น และการไม่สามารถสร้างประโยชน์สุขแก่มนุษย์อย่างแท้จริงได้

จากนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้แก่ข้าราชการในวันที่ 25 มกราคม 2555 นั้น ในนโยบายได้ระบุว่า ได้นำแนวคิดของคุณทักษิณ ชินวัตรที่ว่า “การศึกษาจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ประชาชนที่เข้มแข็ง และมีความรู้ คือทุนที่มีพลังในการต่อสู้กับความยากจน.... การศึกษาคือกุญแจสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นที่ทำให้ความยากจนกลายเป็นอดีต” มากำหนดเป็นนโยบายว่า จะเน้นการศึกษาด้วยเทคโนโลยี อันมีการแจกแทปเลต มีการจัดการศึกษาด้วย e-learning เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กไทยเป็นเด็กฉลาด เป็นมืออาชีพ เพื่อสามารถได้ค่าตอบแทน 15,000.- บาท เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือเป็นแรงงานฝีมือ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้อายุ 25 ปี ขึ้นไป สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพื่อให้รู้เท่าทันลูกหลาน 

ผู้เขียนพบว่า ไม่มีการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงการมีจิตอาสา หรือการส่งเสริมให้เกิดการเห็นความสำคัญต่อธรรมชาติสภาพแวดล้อมแก่เด็กไทยไว้ในนโยบายแต่อย่างใด

เมื่อไม่มีการกำหนดไว้ในนโยบาย ก็น่าจะเป็นไปได้ ที่วิชาที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาจิต พัฒนาปัญญาเช่น พระพุทธศาสนา จะถูกละเลย

หากนโยบายนี้ ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่ จนทำให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ในครั้งต่อไป จนชวนให้รัฐบาลต่อๆไปกำหนดนโยบายในลักษณะนี้ ท่านคิดว่าจะเกิดผลดีและผลเสียแก่เด็ก และสังคมไทยอย่างไร

ผู้เขียนบทความนี้ มีความเห็นว่า ผลดีคือ เด็กไทยจะเป็นคนทันสมัย มีความสามารถในการแข่งขันซึ่งอาจจะถึงในเวทีโลก มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ หากผลร้ายต่อสังคมกลับดูจะมากกว่า เนื่องจากเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ดังจะขอเสนอความเห็นต่อด้านต่างๆที่นโยบายอาจส่งผลร้ายไปถึงได้ดังนี้

ด้านความสุขโดยรวมของคนในสังคม

เมื่อไม่มีการเน้นคุณธรรมจริยธรรม หากนำเด็กด้วยเทคโนโลยี เน้นความสามารถเฉพาะตัวที่ใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพอันนำมาซึ่งรายได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขจัดความยากจนให้หมดไป (คำว่า “ความยากจน” นี้ ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเงิน เพราะหากเราพอใจในสิ่งที่มี เราก็คงไม่บอกว่าเราเป็นคนจน และหากเรายินดีใน “อริยทรัพย์”* แม้จะมีเงินไม่มากเท่าผู้อื่น แต่เราก็จะไม่รู้สึกว่า เราเป็นคนยากจนอีกเช่นกัน) จึงเป็นไปได้ที่สังคมจะกลายเป็นสังคมแบบตัวใครตัวมัน คนในสังคมยิ่งหาความสุขอย่างแท้จริงได้ยากมากขึ้น ฯลฯ

เพราะเมื่อทุกคนพยายามที่จะโดดเด่น เพื่อให้ตนเป็นหนึ่ง หากไม่มีการเน้นเรื่องคุณธรรมควบคู่กันไป โอกาสที่บุคคลใดจะเกิด “มุทิตาจิต” กับบุคคลอื่นที่มีความโดดเด่นคล้ายๆกันก็คงเป็นไปได้ยาก สังเกตได้จากคำพังเพยที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านานว่า

“จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย

ไม่มีใคร อยากเห็น เราเด่นเกิน”

คำพังเพยนี้ เป็นที่น่าสงสัย ว่าเกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร ในเมื่อองค์ธรรมในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ “ปัตตานุโมทนามัย” ก็มีอยู่ ผู้เขียนเห็นว่า เราน่าจะช่วยกันรื้อถอนความเชื่อในลักษณะนี้ออกไป มากกว่าที่จะสนับสนุนให้คงอยู่ในสังคม

มุทิตาอันเป็นองค์ธรรมหนึ่งในหลักธรรม พรหมวิหาร ๔ นั้น นอกจากจะทำให้ผู้มีมุทิตาจิตต่อผู้อื่น มีความสุขที่เห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จ ไม่อิจฉาในความสำเร็จของผู้อื่น ยังมีความสำคัญแง่ที่ว่า หากบุคคลใดได้รับการแสดงความยินดีในสิ่งที่ดีๆที่ตนทำ ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจในการกระทำที่ดี โอกาสจะท้อถอยในการทำดี ก็ลดน้อยลง (เว้นแต่ว่าผู้นั้นสามารถตัดความยึดถือมั่นในความดีได้แล้ว)

แม้จะมีกฎระเบียบเพื่อป้องกันคนในสังคมไม่ไห้เบียดเบียนกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างเรียบร้อยด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ ด้วยการรักษาศีล แต่หากสังคมไม่เน้นการมีคุณธรรม ก็เป็นไปได้ที่เราจะเห็นการสำคัญของการทำดีลดน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย ดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ในขุททกนิกาย ธรรมบท ปาปวรรค ที่ว่า

“บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป”

บุญ ในที่นี้คือบุญตามความหมายของบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

ดังได้เรียนไว้แล้วว่า การพลอยยินดีกับผู้อื่น หรือ ปัตตานุโมทนามัย ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย เมื่อจิตไม่สามารถพลอยยินดีกับผู้อื่นได้ มุ่งอยู่กับการขวนขวายเพื่อการได้มาของตน ก็ไม่อาจพบความสงบสุขได้โดยง่าย

อีกทั้งการแข่งขัน ยังทำให้โอกาสที่บุคคลจะได้รับความสุขจากองค์ธรรม “ธรรมสมาธิ ๕” อันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่เกิดเพราะเห็นในความดีที่ตนหรือผู้อื่นกระทำได้ยากขึ้นเช่นกัน 

กระบวนธรรมนี้ เกิดจากการกระทำสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง หรือ การระลึกถึงสิ่งดีๆที่ตน หรือผู้อื่นทำ เมื่อตระหนักถึงความดี องค์ธรรมจะทยอยเกิด -ดับ เกิด -ดับ ตามกันมาเป็นชุด โดยเริ่มจาก ปราโมทย์ – ปีติ – ปัสสัทธิ – สุข – สมาธิ ซึ่งเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ยังสามารถใช้จิตที่เป็นสมาธิในขณะนั้น ไปพิจารณาธรรม เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง อันนำไปสู่การพบความสงบสุขที่แท้จริงได้อีกด้วย

ด้านจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

พัฒนาการของมนุษย์ เด็กมีการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด จดจำ ทำสิ่งต่างๆตามที่บุคคลรอบข้างบอกจนถึงอายุประมาณ ๗ ปี ระหว่างที่อายุประมาณ ๗ – ๑๐ ปี เด็กจะเริ่มสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเป็นจริยธรรม คุณธรรมของตนเอง เมื่อเลย ๑๐ ปีไปแล้ว เด็กก็พร้อมจะเป็นตัวของตัวเองด้วยหลักเกณฑ์ที่ตนสร้างขึ้น

หากเราเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เห็นว่าการทำลายป่าไม้ การลดการกระทำเพื่อเพิ่มเงื่อนไขให้เกิดภาวะโลกร้อน การลดปัญหาน้ำท่วม เป็นเรื่องสำคัญ การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาตินี้ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญตาม เพราะหากใจให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ ก็ย่อมมีการแสดงออกทางกาย วาจา ที่สอดคล้องกัน

เพราะทุกอย่างเริ่มที่ใจ ดังคำตรัสในอังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาตที่ว่า

“ธรรมทั้งปวง มีฉันทะ เป็นมูล”

และเราจะให้เด็กเห็นความสำคัญของธรรมชาติ ก็ต้องปลูกฝังให้ก่อนที่เขาจะมีกฎเกณฑ์เป็นของตนเองซึ่งก็คือในช่วงการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึง ประถมปลาย ซึ่งดังที่เรียนไว้แล้วว่า ไม่พบการสร้างจิตสำนึกนี้ในนโยบายการศึกษา

โครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดีที่โรงเรียนสามารถทำได้อันมีอยู่แล้ว คือ โครงการ “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,000 แห่ง หากรัฐบาลให้ความสนใจ ส่งเสริมให้มีการขยายโครงการให้มีโรงเรียนเข้าร่วมมากขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกทาง ที่ช่วยสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาตินี้

ด้านการเป็นสังคมนิยมการบริโภค

เป้าหมายของการศึกษา น่าจะเป็นการทำให้บุคคลพัฒนาขึ้นในทุกๆด้าน ทั้งการมีสุขภาพกายที่ดี มีจิตใจที่ตั้งมั่น ประกอบด้วยคุณลักษณะต่างๆในแง่ดีของจิต เช่น การมีหิริ โอตตัปปะ เป็นต้น มีสติปัญญาที่ได้รับการพัฒนาด้วยกระบวนการคิด จนสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างถูกต้อง ว่องไว จนสามารถพัฒนาทักษะด้านที่จำเป็นเพื่อเตรียมไว้ใช้งานในอนาคตได้ มีความเข้าใจในปรากฏการณ์ต่างๆอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง จนสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในสังคม และ กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม

หาก เป้าหมายทางการศึกษาตามที่ปรากฏในนโยบาย กลับเป็นการพัฒนาเด็กให้เป็นมืออาชีพ เพื่อได้รับ “ค่าตอบแทนผู้จบปริญญาตรีเดือนละ 15,000.-บาท”

การศึกษา จึงกลายเป็นการศึกษาเพื่อค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์

อีกทั้งการได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน ไม่ว่าจะได้สักเท่าไร หากไม่มีหลักธรรมต่างๆมาประกอบในการดำเนินชีวิต ค่าตอบแทนก็อาจไม่เป็นที่พอใจได้ เช่น หากไม่รู้สักสันโดษ ไม่รู้จักพอใจกับสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้โดยชอบธรรม ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่าย รู้ไม่เท่าทันบริษัทผู้ขายสินค้าและบริการ ที่พยายามสร้างโฆษณา หรือความต้องการในตัวสินค้านั้นให้เกิดขึ้นต่อผู้พบเห็น (เห็นได้ง่ายๆจากโฆษณาบัตรกดเงินสดที่ปรากฏทางหน้าจอโทรทัศน์) ก็ย่อมหลงใหลในการเสพ การบริโภค

สังคมที่นิยมการบริโภคย่อมนำไปสู่การแก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ยึดถือความต้องการของตนเป็นใหญ่ อันวนไปสู่สังคมที่ขาดความสุขดังที่ได้เรียนแล้วในตอนต้น

จนในที่สุด เราอาจต้องนำคำพังเพยเก่าที่ว่า

“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”

กลับมาใช้ใหม่ 

สหประชาชาติ ได้เคยแถลงไว้ว่า การพัฒนาที่มุ่งความขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทมากในกระบวนการพัฒนา ย่อมก่อให้เกิดปัญหาเพราะการไม่สามารถประสานงานกันได้ของแต่ละสายวิทยาการ การไม่รู้ผลกระทบที่ตามมา การแก้ปัญหาเป็นหย่อมๆ ไม่สามารถแก้ไขในองค์รวมได้เพราะขาดความเข้าใจในวิทยาการสายอื่น และการไม่สามารถสร้างประโยชน์สุขแก่มนุษย์อย่างแท้จริงได้**

ในเมื่อการเน้นความเจริญทางเทคโนโลยีสร้างความผิดพลาดมาแล้ว ทำไมประเทศไทยจะทำผิดพลาดซ้ำ โดยไม่นำข้อมูลในอดีตมาศึกษา

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จึงขอแสดงความเห็นที่ “ไม่สอดคล้อง” กับนโยบายการศึกษาของชาติไว้ ตามที่ได้เรียนมาแล้วดังนี้  

…………………………………….

*อริยทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัว อยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เช่น เงินทอง เป็นต้น เพราะโจรหรือใครๆ แย่งชิงไม่ได้ และทำให้เป็นคนประเสริฐอย่างแท้จริง มี ๗ คือ ๑. สัทธา ๒. สีล ๓. หิริ ๔. โอตตัปปะ ๕. พาหุสัจจะ ๖. จาคะ ๗. ปัญญา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์

** พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ศิลปศาสตร์แนวพุทธ

หมายเลขบันทึก: 476475เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2012 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

Large_0005d8 

เด็กเอ๋ยเด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ

คือทายาทแห่งความหวังในวันหน้า

จงหมั่นเพียรฝึกฝนเรียนวิชา

ทั้งจรรยาศีลธรรมน้อมนำตน

 

 นงนาท สนธิสุวรรณ

๑๔ มกราคม ๒๕๕๕

ภาพจากสายบริหารงานสื่อสารองค์กร SCB

สวัสดีค่ะคุณพี่ณัฐรดา

เป็นบทความที่ยอดเยี่ยมทั้งในด้านสาระและคติธรรมค่ะ

คงจะต้องหวังว่านักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม. ปลาย หลังจากที่ได้รับความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษา จะรู้จักวิธีการใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพื่อเรียนรู้ด้าน คุณธรรมจริยธรรม รวมถึงการมีจิตอาสา ด้วยนะคะ

หวังว่านโยบายที่กล่าวไว้คงจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาต่อไปนะคะ

ไม่น่าเชื่อนะคะว่าเด็ก ม.หนึ่ง จะได้เป็นเจ้าของ Tablet กันแล้ว โลกหมุนไปข้างหน้าไวมาก หวังเหลือเกินว่าเด็กๆ จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ให้เขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีคุณธรรมและจริยธรรมที่มั่นคง และมีทักษะและความรู้พอสำหรับการเผชิญโลกกว้าง เพื่อเขาจะได้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม และไม่ลืมที่จะมีความสุขในชีวิตของเขาด้วย

คงเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง หากทิศทางการพัฒนาด้านการศึกษาของบ้านเราเน้นสร้างแต่คนเก่ง โดยละเลยคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ก็เกิดจากคนเก่งแต่ขาดคุณธรรมจริยธรรมนี่แหละ การสร้างเด็กให้เติบโตและเข้าไปอยู่ในวงโคจรของระบบทุนนิยม โดยใช้สติปัญญากอบโกยประโยชน์เข้าสู่ตนเอง โดยสำคัญผิดว่าความมั่งคั่ง การเติบโตทางเศรษฐิกิจ จะนำความสุขที่แท้จริง จากการหลุดพ้นจากความยากจนมาได้นั้น จะนำไปสู่ปัญหาสังคมที่มากขึ้นในอนาคต หากเด็กๆที่เติบโตขึ้นมาด้วยความกระหายที่จะแก่งแย่งแข่งขัน คนที่ฉลาดกว่าจะเอาเปรียบคนที่ฉลาดน้อยกว่า แล้วสังคมจะสงบสุขได้อย่างไร เมื่อทุกคนคิดแต่ตัวเอง ไม่รู้จักแบ่งปัน ไม่คิดถึงผู้อื่น

สวัสดีค่ะพี่นงนาท

ขอบคุณภาพสวยงามที่นำมาฝากกันค่ะ

ขอชื่นชมการถ่ายทอดทัศนะอย่างประณีตจะชวนให้ขบคิดคะ

น่าสนใจจุดนี้คะ

เมื่อเลย ๑๐ ปีไปแล้ว เด็กก็พร้อมจะเป็นตัวของตัวเองด้วยหลักเกณฑ์ที่ตนสร้างขึ้น

ทำให้คิดไปว่า..

การพยายาม "เปลี่ยน" นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้รับกฎเกณฑ์ชีวิตจากครูอาจารย์จะได้ผลหนรือไม่

หากเด็กมีหลักเกณฑ์ที่ผิดทางไปแล้ว จะทำอย่างไรให้หนักกลายเป็นเบา

ขอบคุณมากคะ

  • สังคมที่นิยมการบริโภคย่อมนำไปสู่การแก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ยึดถือความต้องการของตนเป็นใหญ่ อันวนไปสู่สังคมที่ขาดความสุข
  • โดนใจและน่าเป็นห่วงจริงๆ ครับ
  • ผมว่า..ภูมิรู้ .ต้องคู่กับภูมิธรรม(คุณธรรม จริยธรรม)เสมอครับ  มิเช่นนั้น คงจะเห็นแต่ "คุณภาพซาก" ที่ปราศจากจิตวิญญาณแห่งความตระหนักและสำนึกดี จนสังคมวุ่นวายเดือดร้อน อย่างที่เห็นและเป็นอยู่...ครับ

ขอบคุณบันทึกดีๆ ก่อนราตรีสวัสดิ์นะคะพี่ณัฐ แต่เฮ้อ

วัตถุนิยม แจ่มแจ้งแดงแจ๋อย่างนี้ เตรียมอีอาร์ กระมังคะพี่

และหากยึดเก้าอี้ ลากลีลากันนาน อาการหนักแน่เลยค่ะ

คุณปริมค่ะ

ขอบคุณค่ะที่ร่วมสดงความเห็น

แทปเลตใช้เป็นอุปกรณ์เสริมได้ แต่เน้นมากมายขนาดนี้จนลืมเน้นคุณธรรม ชวนให้ลำบากใจจริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท