คิดถึง "บ้าน"


คิดถึงบ้าน

การได้กลับไปเยือนพื้นที่วิจัยเก่าที่เคยพานพบผู้คนมากหน้าหลายตาเป็นโอกาสเเห่งความยินดี หากทราบว่าผู้ที่เราจะไปเยี่ยมเยือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเสียงน้อยๆ จากงานวิจัย ที่ส่งผลสะท้อนต่อนโยบายเเละสะเทือนต่อไปยังชีวิตสามัญที่ต่อสู้ดิ้นรนอยู่บน “สนาม” นั้น  ในขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสเเห่งความสะท้อนใจหากเวลาที่ผ่านไปเเละวัยที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้สถานการณ์ที่นักวิจัยทั้งหลายพยายามชี้ให้เห็นปัญหากลับยังไม่ได้รับการเเก้ไข หรือถูกละเลยเพิกเฉย อีกไม่นานมานี้ฉันจะได้กลับไปเยือนระนอง เเผ่นดินที่จากมาในฐานะนักวิจัย ด้วยการกลับไปในฐานะล่ามเพื่อนำนักข่าวสารคตดต่างประเทศไปพบกับประสบการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปทางดีขึ้นกว่าเมือฉันจากมาหรือไม่

ระนองเป็นพื้นที่ที่ฉันได้เข้าไปสัมผัสครั้งเเรกหลังจัดการปัญหาสึนามิได้บ้างเพียงสองเดือน เมื่อคลื่นซัดมา ปัญหาที่ฝังลืมก็ถูกเปิดออกให้เห็นทั้งเเง่มุมที่แหลมคมเเละยากที่จะทำความเข้าใจ คนมากมายทุ่มเทกำลัง ความรู้เเละเวลา เพื่อเข้าไปจัดการปัญหาทั้งใหม่เเละเก่า ที่ระนองฉันข้ามไปเกาะเหลาสองครั้ง ครั้งเเรกใช้ล่าม ครั้งที่สองไม่ต้องใช้ล่ามเเต่อาศัยบุหรี่พม่าเเละเด็กสาวที่แกะหอยส่งขายริมชายหาด จากการไปนั่งปลดหอยเเละปูจากอวน ฉันพบว่าที่เกาะเหลาหากพูดกันช้าๆ ก็ฟังเข้าใจเป็นส่วนใหญ่  

จนวันหนึ่งอาจารย์แหวว ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร เห็นว่าพวกเราอันประกอบด้วย ปิ่นเเก้ว ดรุณี บงกช  สมควรทำงานวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวในด้านหลักประกันสุขภาพ

 หลังจากทบทวนเเผน ที่หน่วยงานที่มีการให้บริการคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ระนองเป็นพื้นที่ที่เราเลือกศึกษาการจัดการบัตรประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลสร้างขึ้นเองเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับคนไทยพลัดถิ่น  คราวนี้ฉันได้คุยกับคนมากขึ้นทั้งช่วงเตรียมงานเเละลงพื้นที่วิจัย นอกจากนั้นยังได้เก็บกรณีศึกษานายสัพตู ขุนภักดี ซึ่งภายหลังทราบว่าได้มีทีมไปเยี่ยมเเละช่วยจัดการเรื่องสถานะบุคคลให้จนเรียบร้อย 

หลังจากระนองโมเดล ปัญหาเรื่องความไร้สัญชาติของคนไทยพลัดถิ่นทำให้เกิดการร่าง การประชุมครั้งนั้นฉันรับหน้าที่บันทึกการประชุม  ซึ่งต้องขอบ่นว่าเป็นการประชุมที่ “มาคุ” เพราะทั้งนักวิชาการ รากหญ้า เอ็นจีโอต่างพยายามนำเสนอประเด็นกันเเบบไม่ลดราวาศอก ทำเอาคนจดบันทึกการประชุมเเทบไม่สามารถจับประเด็นได้   ด้วยความที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่นานเเละไม่ชอบบรรยากาศเช่นนี้ และยังอยู่ในวัยที่มองโลกเเบบฝันๆ ว่าคนที่ทำงานด้วยกันควรจะถนอมน้ำใจประนีประนอมกันในวงเสวนา ไม่ใช่มา “รัก” กันตอนทานข้าวหลังเลิกงาน  ฉันอดคิดในใจไม่ได้ว่า “วันข้างหน้ายังมีอุปสรรคอีกมากมายในรัฐสภาเเละจะต้องมีการคัดง้างอีกมากจากหน่วยงานความมั่นคง ถ้ายังเถียงกันเองแบบนี้จะมานั่งฟังให้ปวดหัวทำไม” หากตอนนั้นฉันได้รู้อนาคตว่าอย่างไรพวกที่ทุ่มเถียงจะเป็นจะตายในที่ประชุมยังรักเเละมีเยื่อใยกันเหมือนเดิม หรืออาจจะเเน่นเเฟ้นมากขึ้นก็คงสบายใจขึ้น

ช่วงพักเบรคฉันเดินหา อ. ถิรวุฒิ เสนาคำ เพื่อนำของฝากอาจารย์หิ้วไปให้เพื่อนที่วลัยลักษณ์  วันนั้นอาจารย์ได้พูดเรื่องคนไทยพลัดถิ่นในมะริด โดยอ้างอิงจากการเดินทางเข้าไปสำรวจเเละการศึกษาเพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ ยิ่งทำให้ฉันมั่นใจว่านักมานุษยวิทยาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานด้านสัญชาติ เเละฉันควรจะรีบเรียนให้จบเสียโดยเร็ว ใครจะเถียงอะไรก็เถียงไปก่อน ฉันเบนเข็มไปทำเรื่องเเรงงานข้ามชาติ ปิดวิทยานิพนธ์ สมัครอาจารย์ (เเต่สละสิทธิ์) เเละเรียนต่ออย่างรวดเร็วเเทบจะทันที คราวนี้ฉันเลือกสอบเข้าคณะสังคมวิทยาเเละมนุษยวิทยาเสียที

ต้นปีนี้แพ็บ ภาวิณีขึ้นมาจากจะนะ เเละชวนกันไปเยี่ยมขบวนไทยพลัดถิ่นที่มาปักหลักหน้ารัฐสภาเป็นคืนสุดท้าย เเม้เด็กหนุ่มจะเขินกับกล้องกึ่ง DSLR จนเราไม่สามารถ่ายทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เเต่ภาพที่พวกเขากอดคอกันร้องเพลงเพื่อชีวิตไทยหลายเพลงเพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จของการเดินเพื่อเรียกร้องสิทธิเเละความมีตัวตนจากจังหวัดภาคใต้ทางตะวันตกเป็นภาพที่ประทับใจเราไม่รู้ลืม  กลางดึกคืนนั้นบรรยากาศที่หน้ารัฐสภาเต็มไปด้วยความภูมิใจที่พวกเขาเดิน เดิน เเละเดินจนได้รับการยอมรับ ภารกิจนี้ตอนเเรกหลายคนก็ไม่คิดว่าพวกเขาจะสามารถเดินมาถึงกรุงเทพฯได้ เเละความมั่นใจว่ารัฐบาลเเละเพื่อนร่วมสายเลือดไทยเข้าใจเเละเห็นใจพวกเขา

เเสงวับไหวจากเเววตาของเด็กสาวข้างหน้าเมื่อเธอร้องเพลงคิดถึงบ้าน ทำให้กล้องวิดีโอสั่นไหวไปด้วย เพลงคิดถึงบ้าน/เดือนเพ็ญที่หน้ารัฐสภาเป็นเวอร์ชั่นที่ฉันจะไม่ลืมตลอดชีวิต 

ฉันพบหน้าคุ้นๆ ของเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นได้เดินทางมาช่วยเหลือชาวปริมณฑลที่นำ้ท่วมอีกครั้งเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 ทั้งๆที่เพิ่งมารู้ว่าสถานการณ์พระราชบัญญัติยังไม่เเน่นอนนัก เเต่พวกเขาก็ไม่ได้สนใจเเต่เรื่องตนเอง กลับขนของบริจาคและมาเป็นจิตอาสาที่ปทุมธานี ทั้งขับเรือ ทำอาหาร เเละเเจกจ่ายอาหารปรุงเสร็จเเละถุงยังชีพ 

วันที่ได้ยินเสียงคุ้นหูเป็นเอกลักษณ์ยังไม่คิดเลยว่าจะมีอาสาจากระนองเข้ามาด้วยเนื่องจากบางคนต้องขออนุญาตเดินทาง ตอนเเรกนึกว่าเขาพากันมาเยี่ยมเพื่อน (เป็นความคิดที่ “ง่าว” จริงๆ)  อีกไม่นานฉันจะเดินทางไปพาคนจากต่างประเทศ ต่างวัฒนธรรมไปพบเพื่อพูดคุยถึงชีวิต ความหวัง เเละความคิดเกี่ยวกับอนาคตภายใต้ร่างกฎหมายที่จะกำหนดตัวตนทางด้านสถานะบุคคลให้แก่คนไทยพลัดถิ่น

เส้นทางที่ยาวไกลที่สุดก็พาฉันวนเยือนระนองอีกครั้งอย่างเต็มใจ เพียงเเค่การคุยโทรศัพท์ประสาน งานเเละขึ้นเฟซบุ๊คว่าจะไประนอง ผู้คน กฎหมาย ข้อมูล เเละพื้นที่ก็ท่วมทะลักอยู่หน้าจอเเละในใจอีกครั้ง 

กฎหมายรออยู่ในสภาเเล้ว ครั้งนี้หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะไม่ปล่อยให้พวกเขาคิดถึงบ้านนานเกินไป

 

หมายเหตุ: “คิดถึงบ้าน” เป็นชื่อเดิมของเพลง “เดือนเพ็ญ” เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องปิดท้ายการชุมนุมวันสุดท้ายของเครือข่ายไทยพลัดถิ่น ที่หน้ารัฐสภา ในคืนวันที่ 28 มกราคม 2554 

 ชุดโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือชื่อเล่นว่า Health4Stateless ประกอบด้วย อาจารย์แหวว - รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล เป็นที่ปรึกษา นักวิจัยประกอบด้วย ด๋าว (ควบคุมเเละเขียนเค้าโครงใหญ่ของงานวิจัย) แก้ว  จ๊อบ  ไหม เตือน สุ เเละ เอก  สนับสนุนทุนเเละความอดทนโดย สวปก. 

หมายเลขบันทึก: 470592เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2011 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นำหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวที่เชียงรายมาฝากครับ

ไม่ได้เจอ แพ็บ นานแล้ว สบายดีกันน่ะครับ พี่น้องวลัยลักษณ์

ขอฝากสวัสดีปีใหม่ ทีมวิจัยทุกๆ มีโอกาสลุง วอคงได้สนทนากันอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท