คำบอกกล่าวจากชาวกรุงเก่า: อยู่กับน้ำอย่างคนแบบ ภูมิ – มี - ประวัติศาสตร์


เราเห็นตรงกันว่าเราไม่ควรจะเอาชีวิต ความปลอดภัย ความสุขของเราไปขึ้นอยู่กับการจัดการโดยคนอื่น นั่นคือเราต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองได้ นำพาผู้คนรอบข้างให้พึ่งพาตนเองได้ พึ่งพากันและกันได้ โดยใช้ความรู้ที่บรรพบุรุษได้ตกผลึกไว้ให้เป็นสมบัติล้ำค่าและใช้สติปัญญานำภูมิปัญญานี้มาบูรณาการกับความรู้ใหม่ ปรับใช้ให้เหมาะสมกับยุคสมัยของเรา

หากเอาความอยู่รอด อยู่ดี มีสุข ไปฝากไว้กับคนอื่น ตนเองรังแต่จะทุกข์ใจ เจ็บใจ และไม่พ้นต้องกล่าวโทษผู้อื่นเมื่อสิ่งต่างๆไม่ได้อย่างใจ

แน่นอนว่าในชีวิตเรานั้น บางอย่างเราเลือกไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เช่น เขื่อนก็ยังจะมีอยู่ และอาจมีจำนวนเขื่อนมากขึ้น ตามความเชื่อว่าเขื่อนเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนา การบริหารจัดการน้ำก็อาจจะยังคงเป็นไปตามความไม่รู้จักภูมิ ไม่รู้จักธรรมชาติน้ำของคนสมัยนี้ สำหรับคนข้างกายและผู้เขียนเราจึงพยายามปรับตัว อยู่จริงให้เห็นเท่าที่เราจะทำได้

ข้อคิดที่คนข้างกายบอกเล่ามานี้เป็นแนวทางกว้างๆที่น่าจะเหมาะกับการนำไปปรับใช้ได้ในพื้นที่ระดับชุมชน

นำภาพชุดนกนานาชนิดมาแถวท่าน้ำเป็นประจำแม้ยามน้ำท่วมมาให้ชมกัน เพื่อพักสายตาค่ะ 

Large_dstfl6
นกกางเขน

การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับน้ำ

ระดับภูมิวัฒนธรรม

๑.     ปรับเปลี่ยนกลับคืนสิ่งแวดล้อมทั้งปวงให้สอดคล้องกับเส้นทางน้ำผ่าน จุดหลาก จุดพัก จุดแพรก ของน้ำให้เป็นปกติตลอดเส้นทางสู่ทะเล ลดการปะทะต่อต้านโดยสิ้นเชิง

๒.    ส่งเสริมและฟื้นคืนต้นไม้ชะลอน้ำตามธรรมชาติ เช่น ต้นไผ่ มะกอกน้ำ มะดัน กะนุ่น(หรือสนุ่น) จิกน้ำ ก้ามปู ก้านเหลือง ฯลฯ และพืชอื่นๆ โดยศึกษาจากต้นไม้พื้นถิ่นเป็นสำคัญ พืชเหล่านี้เป็นพืชชอบน้ำ ทนน้ำ น้ำท่วมไม่ตาย ปลูกตามตำแหน่งจุดต่างๆในข้อ ๑.

๓.    ลอกคลอง บ่อ บึง ลำรางให้ลึก โดยเอาดินก้นบ่อสร้างคันดิน อันนา และโคกดินสูง ปลูกต้นไม้ดั้งเดิมพื้นถิ่นเป็นคัน และอันนาให้การสัญจรสามารถกะระยะและตำแหน่งต่างๆได้เมื่อน้ำหลากมา

๔.    ต้นไม้ใหญ่หลังบ้าน ปลูกพวก มะขาม มะขามเทศ ตะโก ไผ่ จะช่วยบัง ชะลอลมพายุ 

 Large_dstfl1 

นกนานาชนิด

ระดับนิเวศวัฒนธรรม เป็นการปรับตัวของมนุษย์ให้ดำรงชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

๑.  บ้านต้องใต้ถุนสูง ให้เลยขีดระดับน้ำท่วมสูงสุดของปี ๒๕๕๔ ที่วัดได้ ณ บริเวณนั้น โดยใช้ใต้ถุน หรือ ชั้นล่างเฉพาะหน้าแล้ง กุมภาพันธ์-สิงหาคม

๒. บ้านชั้นเดียว ทำได้ โดยตั้งอยู่บนโคก ความสูงของโคกต้องไม่ต่ำกว่าระดับน้ำปี ๒๕๕๔

๓. เรือนแพ คือ ความเป็นจริงในอนาคต ที่อยู่เพื่อธรรมชาติกับน้ำท่วมอย่างแท้จริง สถาปนิกและวิศวกรเด็กๆหรือชราแต่ไม่มีความรู้เรื่องหน้าน้ำ ควรไปเรียนรู้ รับความรู้ที่ถ่ายทอดจากช่างชราพื้นบ้านโดยด่วน เพราะขณะนี้เชื่อว่า คนรุ่นเก่าเหล่านั้นได้ถูกเตือนความจำให้กลับคืนมาเรียบร้อยแล้วจากความหลงลืม หลงผิดตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ๒๕๕๔ เป็นต้นมาด้วยวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้

๔. โคก คือ เนินดินอเนกประสงค์ ยามหน้าน้ำ โคกเล็กสำหรับบ้านหลังเล็ก โคกใหญ่สำหรับชุมชน ใช้ได้สารพัดประโยชน์ วิธีทำโคกเป็นศาสตร์ แต่ก็เป็นวิธีง่ายๆ โดยต้องมีความเข้าใจ

๕. โคกลอยน้ำ คือการผสมระหว่างแพกับโคก พอหน้าน้ำก็นำมาลอยผูกเชื่อมต่อกับเรือนแพหรือเรือนหลัก เป็นเกาะลอยน้ำอเนกประสงค์ เป็นสวรรค์ของเป็ดไก่และแปลงพืชสวนครัวลอยน้ำ ด้านใต้ของโคกลอยน้ำนี้ก็ยังจะเป็นที่อาศัยของปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย เป็นคลังอาหารตามธรรมชาติอย่างครบถ้วน

๖. โคกประชาคม หรือ โคกชุมชน คือ โคกขนาดใหญ่ บรรจุคนได้จำนวนมาก หรืออาจเรียกว่าได้ทั้งหมู่บ้าน

อาจเป็นนวัตกรรมการก่อสร้างใหม่ของอบต. บนที่ดินส่วนกลาง โดยถมให้สูงเกินระดับน้ำปี ๒๕๕๔ ทำเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ปลูกโรงเรือนขนาดใหญ่ มีส้วมประชาคม สวนครัวลอยฟ้า ประปาสำรอง เป็นคลังของใช้จำเป็นของชุมชนโดยเฉพาะเรื่องของ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์พื้นฐาน ตะเกียงน้ำมันก๊าด มุ้ง เสื่อ ฯลฯ

ริมโคกประชาคมมีท่าจอดเรือที่ต่ำกว่าระดับโคกประมาณ ๓๐ เซนติเมตร หรือเสมอระดับโคกเลยก็ได้

Large_dstfl5 

นกอีแพรด

๗. บ่อชุมชน หลักการคือ ที่ใดมีโคกขนาดใหญ่ เมื่อขุดเอาดินไปทำโคก ก็จะเกิดเป็นบ่อ ไม่ต้องเสียเงินซื้อดิน เมื่อน้ำมาแล้วน้ำลด ปลาจะลงไปอยู่ในบ่อ กลายเป็นคลังอาหารของชุมชน ในเดือนเมษายน พฤษภาคมปลาหายากในแม่น้ำลำคลอง แต่ในบ่อ ปลาจะเจริญเติบโตเต็มที่ แบ่งสันปันส่วนกันในชุมชนได้

๘. เรือ แพ พาย ถ่อ เป็นเรื่องที่เป็นบทเรียนสำคัญระดับต้นๆของการดำเนินชีวิต เรื่องนี้เราหยุดการพัฒนาความรู้มายาวนานกว่า ๕๐ ปี เราพัฒนาไปสู่ Motor Show ที่หรูหรา แต่เรื่องเรือ ได้หยุดคิด หยุดใช้ หยุดพัฒนามาอย่างยาวนาน

วันนี้จำเป็นแล้วที่เราต้องมีเรือ แพ พาย ถ่อ ประจำบ้าน และส่วนรวมของชุมชน เรือขนาดเล็ก กลาง ใหญ่บรรทุกต้องหาทางซ่อมเก่า สร้างใหม่ เพื่อใช้กับชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การต่อเรือด้วยวัสดุและเทคโนโลยีต่างๆต้องให้ความสำคัญ รื้อฟื้น อีกทั้งต้องฝึกปรือให้เด็ก เยาวชนรู้วิธีใช้พาย ใช้ถ่อ

การเก็บรักษา ซ่อมบำรุงเป็นสิ่งจำเป็น เราได้เห็นกันเป็นประจำแล้วว่าพวกชาวหาปลา พวกตกยุคที่ดำเนินชีวิตครึ่งบกครึ่งน้ำ คือกลุ่มที่มีชัย มีความสุขได้กับน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ อีกทั้งยังมีรายได้จากการรับจ้างพายเรือรับส่งผู้คน ขนย้ายข้าวของ เพราะคนเหล่านี้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการใช้เรือ อาจเรียกได้ว่าขั้น กูรู เลยทีเดียว

Large_dstfl2 

นกจาบคา 

๙. โรงพยาบาล หรือ หน่วยอนามัยทางเรือ ที่เข้าถึงชุมชน เป็นสิ่งจำเป็น บ้าน คือ เรือนตายของคนชนบท บ้านคือโรงพยาบาลของคนป่วยที่ยากไร้ของสังคม ๕๐ ปีที่ผ่านมา ผู้คนชนบทใช้การเดินทางทางถนน แทนใช้น้ำเป็นเส้นทางสัญจร เส้นทางน้ำที่เป็นเส้นทางคมนาคมแต่เดิมนี้นี้ถูกทำลายทั้งระบบ ขาดการขุดลอก ระบาย เต็มไปด้วยขยะ ผักตบชวา อีกทั้งลักษณะการก่อสร้างชุมชนสมัยใหม่ ทั้งถนนและซอยเล็ก ซอยน้อยเป็นอุปสรรค และขัดแย้งต่อวิถีชีวิตที่อยู่กับน้ำอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเกิดน้ำท่วม โรงพยาบาลเรือ คือ นวัตกรรมอันหนึ่งที่จะเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด

๑๐.โรงควาย ปัจจุบัน คน ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ชาวนา หรือแม้เป็นชาวนา ก็เป็นชาวนา ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับควาย แต่พออนุโลมโรงควายยกใต้ถุนเป็นโรงรถได้ หรือ บวก โรงเรือไปในตัว สำคัญอยู่ที่ สะพานควาย ก็ทำเป็นหลักการเดียวกันกับ Ramp ของที่จอดรถตามศูนย์การค้า ตัวโรงควายหรือโรงรถ มีเครื่องมือดูแลทั้งรถและเรือ เก็บวัสดุและอุปกรณ์ยาเรือ เช่น ปูน ชัน น้ำมันก๊าด กะลา อุปกรณ์ยาเรือ เหล็กขูดเรือ

๑๑. ที่ปรุงอาหาร ที่กล่าวถึงข้อนี้ เฉพาะกรณีชาวชนบทเป็นสำคัญ ชาวหมู่บ้านจัดสรรอาจต้องประยุกต์ แต่ต้องมีข้อระวัง ส่วนใหญ่เมื่อน้ำมามากไฟจะดับ การหุงข้าว ปรุงอาหารจึงจำเป็นต้องใช้เตาถ่าน หรือ เตาแก๊ส แทน

เตาถ่าน เตาฟืน การหุงต้มบนพื้นเรือนต้องมี แม่เตาไฟ รองรับอุปกรณ์เตาทั้งหมด เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนคั่นกลางระหว่างเตากับพื้นครัว

แม่เตาไฟ คือกระบะดิน ที่นำเอาดินเหนียวมาผสมกับแกลบหรือฟางข้าวละเอียดวางทับเป็นชั้นๆตามความสูงของหน้าไม้ที่ทำเป็นคอกขึ้นมา มักทำให้สูงประมาณ ๑ ฟุต แต่ละชั้นดินทุกๆความสูงฝ่ามือ พรมน้ำเกลือ ให้ชั้นดินเค็มอัดแน่น ผึ่งให้แห้งไปเอง เรียก ผึ่งแห้ง เป็นการใช้ลมและแดดอ่อน ไม่ใช่แห้งด้วยการตากแดด การตากการแห้งด้วยลมดินจะไม่แตก ส่วนเกลือเป็นภูมิปัญญาโดยแท้ ดินเค็มมีคุณสมบัติเป็นฉนวนได้ดีมาก

ฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ คนพื้นบ้านใช้กิ่งไม้ที่ลอยน้ำมา เก็บขึ้นมาตากแดดให้แห้ง ใช้ได้ทันที เพราะไม้ที่หักลอยมากับน้ำมักเป็นไม้ที่แก่แห้ง ไม่มียาง ส่วนฟืนจากไม้อื่นๆต้องตากฟืนก่อน ไม้จากกิ่ง หรือ ลำต้นสดๆไม่ติดไฟ ถ้าติดควันไฟจะมากและอันตรายเวลาเกิดความร้อน ยางไม้จะฟุ กระเด็นเข้าหน้า เข้าตา ลองจินตนาการดูว่าจะแสบร้อนขนาดไหน

๑๒. สะพานหน้าบ้าน หลังบ้าน เป็นส่วนการใช้สอยที่จำเป็นยิ่งสำหรับการอยู่กับน้ำ เพราะใช้เทียบเรือขึ้นลงได้สะดวกสบาย

๑๓. ต้นไผ่ หรือ กอไผ่ ไม่ว่าจะเป็น ไผ่ป่า ไผ่ตง ไผ่สีสุก ไผ่รวก ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำภูมิกันเลย เป็นได้ทั้งอาหาร ยา แนวกำบัง และวัสดุก่อสร้าง

Large_dstfl3
นกสีชมพูสวน

ชีวิตวัฒนธรรม

การดำเนินชีวิต คนยุคนี้ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบกลับหลังหันเกือบทั้งหมด เราต้องหาสมดุลให้ได้ ต้องยอมรับว่าประเทศมี ๕ ฤดูกาล คือ ร้อน ฝน หนาว ฤดูน้ำ และ ฤดูแล้ง

ร้อน ฝน หนาว ทุกท่านคงรู้จักคุ้นเคยดีแล้ว ส่วนฤดูแล้ง คงผนวกกับฤดูร้อนเต็มฤดูกาลบวกหนาวค่อนฤดู ที่บอกว่า หนาวค่อนฤดูเพราะ ปลายน้ำลด ฤดูหนาวยังติดพันอยู่ปลายฤดูน้ำนั่นเอง

การดำเนินชีวิต เช่น การทำนา ทำเกษตร การแต่งกาย การกินอยู่ ต้องสอดคล้องกับ ภูมิประเทศ ฤดูกาล กับธรรมชาติ ในวิถีแห่งความพอเพียง ไม่เบียดเบียนธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกันเอง

ฤดูกาลที่เราพยายามบริหาร ควบคุม และ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คือ ฤดูน้ำ เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี ๒๕๕๔ ไม่สามารถเอาชนะฤดูกาลนี้ได้

 Large_dstfl4 

นกแซงแซวหางบ่วง

หลังน้ำลด การเดินทางสะดวกแล้ว เขาคิดว่าจะจัด เสวนาเรื่องการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำอย่างมีความสุข ที่ อยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์เมือง ผู้เขียนจะนำรายละเอียดมาบอก มาชวนผู้ที่สนใจ เพื่อร่วมวงสุนทรียสนทนากันนะคะ

หมายเลขบันทึก: 468812เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

ความสุขของคน คือ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ให้เป็นธรรมชาติ

มิใช่ กดขี่ ข่มเหง เอาเปรียบธรรมชาติ

บันทึกพี่นุชดีอีกแล้วครับ ;)...

แนวคิดนี้น่าสนใจมากเลยคุณ Yuwanuch

เพลิดเพลินเต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาสาระ

ได้ประโยชน์ต่อตัวเองเรื่องต้นไม้นะคะ พอดีปลูกบ้านใหม่ที่ชายทุ่ง ต้องหาว่าจะใช้พืชพื้นถิ่นอะไร เพื่อเป็นแนวกันลม อย่างบ้านเดิมพ่อก็เคยใช้ไผ่ แต่ก็ไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมสุดเขตที่เราต้องปลูกไผ่

ขอบคุณบันทึกทรงคุณค่านี้นะคะ

 

  สวัสดีค่ะ 

Ico64

แวมาเยี่ยมทักทายชมภาพถ่ายที่สวยงามและอ่านเรื่องราวคำบอกกล่าวจากชาวกรุงเก่า: อยู่กับน้ำอย่างคนแบบ ภูมิ – มี - ประวัติศาสตร์ ที่ดี และมีประโยชน์นะคะ

 

คนเดี๋ยวนี้ไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ

อยากแต่จะหนีน้ำ  และกันน้ำ

ไม่เคยเข้าใจธรรมชาติของน้ำเลย

คุณนายด๊อกเตอร์

  • มาแสวงหา "แสงแห่งปัญญา" จากท่าน
  • เป็นองค์ความรู้ที่ดี และมีคุณค่า
  • อนุโมทนา และขอให้เป็น "เสียงเทียนแห่งเป็นปัญญา" ทอแสงแก่ชุมชนสืบไป
  • ด้วยสาราณียธรรม

สวัสดีค่ะ พี่นุช

เป็นบันทึกทรงคุณค่ายิ่ง

ได้ความรู้ ที่เป็นสิ่งจำเป็นต้องนำไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันบ้านต่อไปค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ ^___^

นำภาพนกหน้าบ้านมาฝากร่วมแจมด้วยคนนะครับ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/461665?page=1

สวัสดีครับพี่นุช 

เพิ่มเติมเรื่อง "ยุ้งฉางเก็บผลผลิต" ควรเป็นเรือนยกสูงหรือไม่ก็เรือนเเพ ด้วยครับ 

 

* อ่านแล้วเห็นภาพชีวิตชาวนำ้ที่มีความสุขครบวงจรอย่างแท้จริงบนการพึ่งพาตนเองเช่นนี้ค่ะ

* สำหรับชาวบกพบพาน้ำเป็นครั้งคราวอย่างพี่ใหญ่ ที่กำลังจะปรับปรุงบ้าน เพื่อต้อนรับน้องน้ำในครั้งต่อไปนั้น วางแผนทั้งเรื่องการยกระดับพื้นบ้าน และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในแนวคิดดีๆของน้องนุชด้วยค่ะ

* ชื่นชมภาพนกน่ารักที่นำมาฝากกัน ขอบคุณนะคะ

หวังว่าน้ำท่วมครั้งนี้คงทำให้คนที่ไม่เคยใส่ใจธรรมชาติและผู้คนที่อยู่รอบๆได้หันมาทบทวนการใช้ชีวิตของตนเองค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn เพราะการศึกษาที่ได้บ่มคนไทยให้ยึดเอา "การแข่งขันเพื่อความสุขและความสำเร็จ" ของตนเองเป็นที่ตั้ง ทำให้เราเบียดเบียนทุกอย่างอย่างไม่รู้ตัว แม้กระทั่งตนเองค่ะ นึกถึงคำสอนของท่านพุทธทาสที่ท่านกล่าวว่า "หากศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ"

ขอบคุณที่ให้ความสนใจและมาทักทายกันนะคะคุณNopparat Pongsuk

ต้นไผ่กับชาวชนบทนี่เป็นของคู่กันเลยนะคะคุณหมอทพญ.ธิรัมภา 

คนข้างกายนี่ชอบต้นไผ่อย่างยิ่ง เมื่อตอนปลูกบ้านที่อยู่นี้ใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกค่ะว่าทำไมต้องเป็นต้นไผ่ คนสมัยก่อนมักไม่ค่อยอธิบายอะไรแบบทฤษฎีแจ้งๆ แต่ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ให้เราต้องสังเกตเอาเอง เขาเล่าเรื่องไผ่ไว้ยาวกว่าที่นำมาใส่ในบันทึก เลยขอนำมาฝากค่ะ

... ต้นไผ่ หรือ กอไผ่ ไม่ว่าจะเป็น ไผ่ป่า ไผ่ตง ไผ่สีสุก ไผ่รวก ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำภูมิกันเลยแหละ หน่อทำอาหารได้ทุกประเภท ไผ่ป่าหน่ออร่อย ทำยาได้วิเศษ ลำต้นส่วนล่างเรียกว่า กระทู้ ใช้เป็นโครงสร้าง ส่วนล่างเรียกว่า ตอหม้อ แข็งแรงทนทาน ลำต้นใช้ได้สารพัดประโยชน์ ใช้ทั้งลำ ผ่าซีก ผ่าเสี้ยว ผ่าผิว จักตอก เป็นได้ทั้งโครงสร้าง สลัก ร้อย รัด มัด สาน ตลอดจนชาวบ้านรุ่นเก่ารู้วิธีเฉาะ ทุบ แผ่เป็นพื้น นำมาทำเป็นแผ่นพื้นปูบ้าน ที่อยู่อาศัย ที่เราเรียกว่า ฟาก คงเคยได้ยินคำโบราณที่พูดถึงเวลาการเกิดว่าเวลา ตกฟาก ก็คือ คลอดแล้วตกลงพื้นฟากไม้ไผ่นี้แหละ สายสะดือทารก ก็ใช้คมไม้ไผ่ตัด เพราะไม่มีเชื้อบาดทะยัก ส่วนรกเมื่อคลอด ดูแลเด็กเรียบร้อย ก็จะนำรกไปบรรจุลงในหม้อดิน ฝังไว้ใต้โคนไผ่สีสุก คำว่า สีสุก พ้องเสียงกับ ศรีสุข ทำให้ต่อมาคนจึงนิยมเรียกไผ่สีสุก ว่า ไผ่ศรีสุข เพื่อความเป็นศิริมงคล

การฝังรก นี้ เวลาเติบโตขึ้น พบผู้คนจากที่ต่างๆจึงมักถามไถ่กันว่า รกราก อยู่ไหน เหมือนมีความหมาย รกแรกเกิดของตนเองว่าฝังอยู่ที่รากกอไผ่ย่านไหน

 การปลูกต้นไม้ให้ถูกสภาพภูมิศาสตร์ เหมาะกับท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ เพราะต้นไม้จะทนทาน ไม่ต้องดูแลมากแบบที่เราบอกว่าเทวดาเลี้ยง คนข้างกายชอบว่าแรงๆแบบปากจัดว่า การปลูกต้นไม้ดัดจริตผิดภูมินั้นเป็นความโง่เขลาเพราะเราจะต้องคอยตามเป็น "ขี้ข้า"ต้นไม้ ความผิดพลาดนี้เราก็เคยทำค่ะ คือปลูกต้นลีลาวดีที่บ้านเพราะชอบฟอร์ม ชอบดอกที่หอมและสวยงาม แต่น้ำท่วมเราได้เรียนรู้ว่าต้นไม้นี้ใจเสาะต่อน้ำท่วม น้ำท่วมสองหนแรกต้องขุด ต้องย้ายขึ้นที่สูงเป็นภาระมากค่ะ

ประสบการณ์ชีวิตก็สอนเราเรื่อยๆค่ะ ให้เป็นคนตัวเบาดีกว่า

ขอบคุณค่ะอาจารย์ดร. พจนา แย้มนัยนา 

เพื่อนๆและญาติที่อยู่ต่างประเทศพากันเป็นห่วงคนอยู่บ้านริมน้ำอย่างเรา แต่ปรากฏว่าเราสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นภาระใคร ทำให้ยังไปช่วยคนอื่นได้ด้วยค่ะ

นั่นซีคะ คุณครู ป.1 เมื่อไม่เรียนรู้ ไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ จึงพากันตระหนกตกใจ กลัวจนทำอะไรไม่ถูก

เราต้องช่วยกันปลูกฝังเด็กๆให้มีความรู้เรื่องน้ำกับท้องถิ่นของตน สังคมและประเทศชาติ จะได้อยู่กับน้้ำอย่างมีความสุขได้นะคะ

นมัสการท่านธรรมหรรษา ค่ะ ขอบพระคุณที่ท่านที่มาอ่านค่ะ เวลาเช่นนี้โยมก็เห็นว่าเหมาะที่จะนำเรื่องอย่างนี้มาบอกเล่ากัน จะได้นำพากันให้เตรียมตัวสำหรับน้ำท่วมครั้งต่อไป ไม่ต้องอ่วมเหมือนครั้งนี้

โยมก็ประทับใจมากในบันทึก EM ใจ ของท่านเช่นกันค่ะ ลำพังสังคมปัจจุบันใจก็พร่องสุขแทบไม่เหลืออยู่แล้ว มาประสบกับน้ำท่วมใหญ่ หนีภัย ทุกข์ทน เหมือนเกิดสงครามบ้านแตกสาแหรกขาด จิตใจยิ่งหม่นหมอง เศร้าระทม ได้พระธรรมและเมตตาธรรมมาช่วยฟื้นใจกันค่ะ

ไม่พลาดสักตอนเลยนะคะคุณแจ๋ว

มีทุนเดิมคือมีบ้านสองชั้น อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอยู่แล้ว เราก็จะปรับตัวได้ง่ายกว่าคนที่อยู่หมู่บ้านจัดสรรในเมือง

 

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์โสภณ เปียสนิทที่แวะมาเยี่ยม เดี๋ยวจะตามไปเยี่ยมเจ้านกน้อยที่มาทำรังอยู่กับเถาบอระเพ็ด เถาบอระเพ็ดของนุชน้ำท่วมตายเสียแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณ ต้นกล้า ที่มาเยี่ยมและมาเติมข้อมูลให้กัน ใช่เลยค่ะ เกษตรกรต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย

"...เพิ่มเติมเรื่อง "ยุ้งฉางเก็บผลผลิต" ควรเป็นเรือนยกสูงหรือไม่ก็เรือนเเพ ด้วยครับ ..."

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ หลังน้ำท่วมครั้งนี้คนไทยแทบทุกท้องที่ต้องคิดเรื่องการอยู่อย่างรู้ภูมิอย่างเอาจริงนะคะ ไม่เช่นนั้นคราวหน้าน้ำมาอีกก็จะต้องวุ่นวายใจเป็นทุกข์ซ้ำซาก เพราะทางวิชาการเขาว่าเราจะเผชิญกับภัยธรรมชาติที่ถี่ขึ้นจากภาวะอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนไป

คนข้างกายบอกว่าคนในเมืองที่ไม่คิดย้ายหนีไปไหนและบ้านก็ปลูกแบบอยู่มายาวนานแล้วก็มีวิธีเตรียมตัวโดยไม่ทำให้การอยู่ชั้นล่างอัครฐานเช่นเดิม ทุกอย่างต้องเคลื่อนย้ายได้ และ ง่าย ระบบไฟฟ้าต้องจัดการใหม่แยกเป็นชั้นๆ บ้านนุชกำลังทำในแนวทางนี้ค่ะ และกำลังจัดการเรื่องปลั๊กไฟชั้นสองด้วยว่าจะยกให้สูงขึ้นอีก หากน้ำครั้งหน้าสูงกว่าปีนี้น่ะค่ะ ปีนี้น้ำสูงสุดคือ อีกแค่ยี่สิบเซ็นต์ก็จะถึงพื้นบ้านชั้นบนก็อยู่แบบลุ้นๆค่ะ โล่งใจที่น้ำไม่ถึงและผ่านพ้นไปแล้ว

ดีใจที่พี่ใหญ่ปลอดภัยค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ

เป็นบทความที่น่าประทับใจมากค่ะ

หากเตรียมตัวเตรียมใจรับน้ำได้ขนาดนี้

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นคงบรรเทาลงได้มากทีเดียว...

ขอบคุณทุกท่านที่มามอบดอกไม้ให้กำลังใจกันนะคะ ท่านใดที่ยังผจญภาวะน้ำท่วม น้ำขังอยู่ก็ขอให้บุญรักษาให้ปลอดภัยไม่เสียหาย ท่านใดที่น้ำลดแล้วก็ขอเป็นกำลังใจให้มีพลังที่จะลุกขึ้นมาฟื้นฟูพื้นที่และชีวิตให้ดีกว่าเดิมค่ะ

Large_cmbua1

น้ำทวมครั้งนี้เหมือนได้วัคซีนชีวิต ครั้งหน้าภูมิคุ้มกันกายใจต้องเข้มแข็งทำได้ดีกว่าครั้งนี้มากนะคะคุณดอกไม้

...สวัสดีค่ะคุณนุช..ดีจังค่ะ..ที่ได้อ่านความคิดดังกล่าว..มีอีกอย่าง..เปิด Workshop..ทำรถที่เสียเพราะน้ำท่วม..ดัดแปลงให้เป็นรถใช้ได้สองระบบ..คือทั้งในน้ำและบนบก..(ระดมช่างชาวบ้านและวิศวกร..ที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์..มาทำงานร่วมกัน..)น่าจะเป็นประโยชน์..ระยะยาวด้วยนะเจ้าคะ..ยายธีค่ะ

ชอบบทความนี้มากคะ ให้แนวคิดที่ดี และอ่านเพลิน สบายตาและสบายใจจากการเรียนรู้ในบทความคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท