คู่มือการปฏิบัติงานสำหรับกล้วยเล็บมือนางชุมพร


กล้วยเล็บมือนางชุมพร

ต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการอีกครั้งเพื่อรวบรวมข้อมูลในการขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กล้วยเล็บมือนางชุมพร ในวันที่ ๕-๗ กันยายน ๒๕๕๔ กว่าจะได้ชื่อ "กล้วยเล็บมือนางชุมพร"ใช้เวลานานเหมือนกันนะ เพราะหลายคนที่เข้าร่วมประชุมก็ต้องการจะให้จดทะเบียนในชื่อท้องถิ่นของเขา ผมถูกมอบหมายให้เขียนคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับกล้วยเล็บมือนางชุมพร เป็นเอกสารประกอบในการขอจดทะเบียน ก็ต้องเก็บข้อมูลสาระจากผู้รู้ทีมาประชุมในวันนั้นแล้วก็เขียนออกมา ดังนี้นะ

คู่มือการปฏิบัติงานสำหรับกล้วยเล็บมือนางชุมพร

 

๑. พื้นที่ปลูก

ขอบเขตพื้นที่ปลูกกล้วยเล็บมือนางชุมพร ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดชุมพร ในเขตอำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน อำเภอละแม และอำเภอพะโต๊ะ

 

๒. พันธุ์กล้วยเล็บมือนางชุมพร

       พันธุ์กล้วยเล็บมือนางชุมพรที่ใช้ปลูก มีทั้งหมดด้วยกัน 6 สายพันธุ์   ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละสายพันธุ์ดังต่อไปนี้

  1. สายพันธุ์ 01 มีลักษณะต้นสีเขียวปนม่วง ผลไม่มีขน
  2. สายพันธุ์ 02 มีลักษณะต้นสีเขียวปนม่วง ผลไม่มีขน
  3. สายพันธุ์ 06 มีลักษณะต้นสีม่วง ผลไม่มีขน
  4. สายพันธุ์ 07 มีลักษณะต้นสีม่วงแดง ผลไม่มีขน
  5. สายพันธุ์ 08 มีลักษณะต้นสีเขียวปนม่วง ผลไม่มีขน
  6. สายพันธุ์ 09 มีลักษณะต้นสีม่วงแดง ผลไม่มีขน

 

๓. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

            สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่จะนิยมเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม     

          ดิน

ลักษณะของสภาพดินในพื้นที่ปลูกกล้วยเล็บมือนางชุมพรนั้น เป็นดินร่วนปนดินเหนียว   มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วง 5.0 – 6.5  มีความอุดมสมบูรณ์ มีอินทรียวัตถุ ที่เป็นธาตุอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อกล้วยเล็บมือนางชุมพร เช่น โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสทำให้ได้กล้วยเล็บมือนางชุมพรที่มีคุณภาพและทำให้ได้ผลิตผลที่ดี

          อากาศ

          เป็นพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง หรือเลือกพื้นที่ที่มีแนวกันลม อุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโตประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส

          ความชื้นในอากาศ

          ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยในอากาศทั้งปี 81% และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง 1500-2300 มิลลิเมตรต่อปี

 

๔. วิธีการผลิต

          การปลูกกล้วยเล็บมือนางชุมพร นิยมปลูกเป็นพืชแซม   หรือ    ปลูกผสมผสานกับพืชชนิดอื่นที่สามารถให้ร่มเงาแก่ต้นกล้วยเล็บมือนางได้(พืชประธาน)  ซึ่งกล้วยเล็บมือนางชุมพรนั้นต้องการร่มเงาประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

          การเตรียมพื้นที่

                   เตรียมดิน โดยการไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วน รากสามารถหาอาหารได้ดี

                   ระยะปลูก

                             โดยประมาณ 30 x 30 x 50 เซนติเมตร

                   การเตรียมหลุมปลูก

                             ขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว ลึก ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากคุณภาพของดิน รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 2-3 กิโลกรัม หรืออาจจะมีการรองก้นหลุม    เพิ่มเติมด้วยฟอสเฟตขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน แล้วกลบด้วยหน้าดิน

                   วิธีการปลูก

                             การนำหน่อกล้วยควรคัดเลือกหน่อรุ่นเดียวกันที่สมบูรณ์ไม่มีโรคแมลงรบกวน หน่อปลูกขนาดความสูง ไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร คัดหน่ออย่าให้ช้ำ ใบเล็กคลี่ ปลูกโดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นโดยอาศัยแนวปฏิบัติที่ว่า  “ถ้าดินเลวให้ปลูกถี่ ถ้าดินดีให้ปลูกห่าง” โดยระยะห่างตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับพืชประธาน ประมาณ 3-5 เมตร       

          การปฏิบัติดูแลรักษาหลังการปลูก

                   การให้ปุ๋ย

                             เมื่อต้นกล้วยตั้งลำต้นต้องใส่ปุ๋ย ซึ่งอาจเป็นปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเคมีเช่น สูตร 15-15-15 (ควรใส่เมื่อกล้วยเป็นลูกรุ่นแรก) หรือ สูตร 13-13-21 (ควรใส่เมื่อกล้วยเป็นลูกรุ่นถัดๆไป)  ควรมีการบำรุงรักษาตามสภาพดิน ใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกทุกปีตามความเหมาะสม

                   การดูแลหน้าดิน

                             โดยการใช้ใบกล้วยหรือเปลือกกล้วย หรือวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้อื่นๆที่เหมาะสมคลุมดินไว้ หรืออาจจะตัดหญ้าไม่ให้มีความสูงมากเกินไปเพื่อเป็นการรักษาหน้าดิน

                   การตัดแต่งหน่อ

                             1.การแต่งหน่อภายในกอ โดยแต่งทุกอาทิตย์ เก็บไว้ 4 หน่อ รวมต้นเดิม 5 หน่อ ทำลายหน่อโดยการดึงยอดออกเพื่อไม่ให้มีหน่อมากเกินไป จะทำให้กล้วยมีปริมาณหวีมากและผลใหญ่สมบูรณ์ หน่อที่ติดกับต้นแม่(หน่อแอบแม่)ไม่ควรตัดออก เพราะอาจทำให้ต้นล้ม หากจำเป็นต้องตัดออก ต้องมีการค้ำลำต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นล้ม

                             2.แต่งหน่อ โดยไม่ตัดหน่อที่แพร่ขยายลงดินออกไป ให้ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชออก ใส่ปุ๋ยบำรุงโดยอาจใช้ปุ๋ยคอกและ/หรือ ปุ๋ยเคมี 13-13-21 เพื่อบำรุงลูก (ห้ามตัดหน่อที่อยู่ข้างหน้าลำต้นที่ให้ผลผลิตออก เพื่อกันไม่ให้ลำต้นดังกล่าวล้ม)

                             3.อาจมีการกรีดลำต้นอย่าให้ลึกเกิน (กาบแรก) โดยกรีดยาวประมาณ 1 คืบ ลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร (หลังจากปลูกแล้ว 3 เดือน) โดยกรีดบริเวณที่กาบรัดลำต้นแน่น เพื่อทำให้ลำต้นขยายโตเร็วขึ้น ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจมีการตัดยอด โดยตัดเป็นลักษณะเฉียง เพื่อไม่ให้น้ำขังบริเวณบาดแผลที่ตัด และลดการคายน้ำของลำต้น ทำให้ลำต้นเก็บกักน้ำและโตเร็วขึ้น โดยที่ลำต้นไม่สูงเกินไป ไม่เสี่ยงต่อการหักโค่น

 

                   การตัดแต่งใบ

                             ตัดแต่งใบแห้งออกเพราะถ้าไม่ตัดจะทำให้เป็นแหล่งสะสมโรค

                   การให้ผล

                             กล้วยเล็บมือนางชุมพรจะออกปลีเมื่อปลูกไปได้ประมาณ 7 เดือนและกาบปลีจะบานต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งผลกล้วยที่อยู่บนหวีเริ่มสั้นและเล็กลง ซึ่งเรียกว่า หวีตีนเต่า ทำการตัดปลีทิ้งเพื่อป้องกันการแย่งน้ำเลี้ยงและจะได้กล้วยผลใหญ่สวย

                   การเก็บเกี่ยว

                             กล้วยเล็บมือนางชุมพรจะแก่โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนหลังจากเริ่มออกดอกการเก็บเกี่ยวจะเก็บเกี่ยวที่ความแก่ของกล้วยประมาณ 80% โดยจะสังเกตจาก ลักษณะของผลที่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ คือ

- ในแต่ล่ะหวี ผลของกล้วยจะไม่ติดกันและจะถ่างออกจากกัน

- หากกล้วยใกล้สุกแล้ว ดอกที่ปลายผลจะสั้นลง สีผิวจะเริ่มออกสีเขียวนวล

  ปนเหลือง

                             - ส่วนของเล็บมือกล้วย (ปลายดอก) เป็นสีน้ำตาลดำ

                                      - เปลือกจะแตกเมื่อรับน้ำมาก

                             - ลูกมีลักษณะของการลบเหลี่ยม จนถึงไม่มีเหลี่ยมเลย

                             - ลักษณะของปลีกล้วยในเครือ ในกรณีที่ไม่มีการตัดปลีทิ้งจะมีขนาดที่เล็กลง และแห้งไปในที่สุด

                   วิธีการเก็บเกี่ยว

                             เก็บเกี่ยวโดยใช้มือข้างหนึ่งจับปลายเครือแล้วใช้มีดฟันก้านเครือให้ขาดออก

                   การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

                   ในกรณีที่จำหน่ายกล้วยทั้งเครือ หลังจากตัดแล้วให้นำมารองด้วยวัสดุที่เหมาะสม เช่น ใบกล้วย เพื่อไม่ให้ช้ำ และลดแรงกระแทก

                    ในกรณีที่จำหน่ายกล้วยเป็นหวี การตัดหวีกล้วยจะต้องให้ติดส่วนของก้านเครือไปด้วย เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาหลังจากการเก็บเกี่ยว และเพื่อป้องกันไม่ให้กล้วยช้ำ เมื่อตัดกล้วยออกจากเครือเป็นหวีแล้ว ให้วางหวีของกล้วยคว่ำลงในภาชนะที่เหมาะสม ซึ่งมีการรองด้วยวัสดุกันกระแทกที่เหมาะสม

 

๕.แมลงศัตรูกล้วยเล็บมือนาง

          เพลี้ย จะทำให้เกิดจุดดำๆ ตามลูก หน่อจะมีมูกไหลเป็นน้ำเยิ้ม เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟไรแดง และแมลงวันทอง

          การกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว อาจกระทำโดยการใช้สารเคมีที่ให้ประสิทธิภาพดี ทั้งนี้ระยะเวลาการให้สารเคมีดังกล่าวต้องเป็นไปตามแนวปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีตกค้าง

 

๖.โรคของกล้วยเล็บมือนาง

          1.โรคใบลาย เป็นจุดไหม้ดำๆ ใบจะมีลักษณะแห้ง ป้องกันโดยนำไปเผา หรือใช้สารเคมีคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อรา

๗.ปฏิทินการปฏิบัติดูแลรักษา

          พฤศจิกายน – ธันวาคม

                   ช่วงปลูก ปลูกโดยใช้หน่อใหม่หรือเลี้ยงหน่อจากกอเดิม

          มกราคม – พฤษภาคม

                   -ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ เป็นระยะทุก ๓ เดือน

                   -กำจัดวัชพืช

                   -ปาดหน่อทุก ๑๕-๓๐ วัน

                   -ให้น้ำสม่ำเสมอ

          มิถุนายน

                   -เริ่มออกปลี

                   -ตัดปลีทิ้งเมื่อปลีบานถึงหวีตีนเต่า

          กรกฎาคม – สิงหาคม

                   -ให้น้ำสม่ำเสมอ

          กันยายน – ตุลาคม

                   -เก็บเกี่ยวผลผลิต

 

หมายเลขบันทึก: 466659เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2011 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่านเกษตรชุมพร

ผมเคยซื้อหน่อมาปลูกหลายหน ตายทุกที

เมื่อเดือนที่แล้วก็ซื้อมาห้าหน่อ กำลังลุ้นอยู่

ขอความรู้เพิ่มเติมเรื่องการปาดหน่อ

-ปาดหน่อทุก ๑๕-๓๐ วัน ทำปรือครับท่าน

คนบ้านนี้ไปไหนเรียกก็ไม่ตอบ


การปาดหน่อกล้วย เพื่อให้เหลือจำนวนต้นกล้วยต่อกอไม่เกิน ๕ ต้น มีผลทำให้กล้วยมีจำนวนหวีมากขึ้นและผลสมบูรณ์ การเข้าไปทำงานในแปลงทุก ๑๕ วันกับการจัดการหน่อกล้วยก็มีความเหมาะสมดีครับ

-"อาจมีการกรีดลำต้นอย่าให้ลึกเกิน (กาบแรก) โดยกรีดยาวประมาณ 1 คืบ ลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร"

ช่วยอธิบายให้นิดนึงได้ไหมคะว่า กรีดในแนวไหน สูงต่ำช่วงไหนของลำต้นหรือสูงจากพื้นเท่าไร

-"ตัดยอด โดยตัดเป็นลักษณะเฉียง" ตัดออกไปมากไหมคะ

และถ้าปลูกนานแล้ว (ต้นใหญ่กว่าสามเดือน)ต้องกรีดไหม

ดิฉันเพิ่งหัดปลูกกล้วยค่ะ เลือกปลูกกล้วยเล็บมือนางเพราะชอบทานมากค่ะ แต่ไม่มีความรู้เรื่องเขาเลย ขนาดแฟนให้ตัดใบแห้งทิ้งยังบ่นว่าไม่เป็นธรรมชาติเลยเรื่องมากไปได้

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ แบบนี้นะคะ

ต้องการซื้อพันธ์กล้วยเล็บมือนางจำนวนมากติดต่อได้ที่ไหนค่ะ

ขอบคุณมากสำหรับความรู้เรื่องการปลูกกล้วยเล็บมือนางชุมพรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท