๒๐๘.ทรัพยากรและเงินทุนไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญญาและจิตอาสาต้องมาก่อน


ในกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คนกลุ่มเล็ก ๆ ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสังคมและชุมชนได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทรัพยากร เงินทุน ฯลฯ ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญญาและจิตอาสาต่างหากที่ควรมีในชุมน

   

   วันนี้ (๒๑ ตุลา ๕๔) ผู้เขียนได้รับนิมนต์ไปให้ข้อคิด "วันสังคมสงเคราะห์และวันอาสาสมัครไทย" ประจำปี ๒๕๕๔  ณ ศาลาประชาคมจังหวัดพะเยา โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเป็นประธาน ซึ่งมีพี่น้องชาวพะเยาที่อาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมกว่า ๓๐๐ คนและผู้เป็นอาสาสมัครดีเด่นที่เข้ารับประกาศนียบัตรอีกกว่าสิบคน (ที่จริงมีมากกว่านี้ แต่เนื่องจากทางจังหวัดได้จัดกิจกรรมวันนี้หลายพื้นที่)

 

     ผู้เขียนได้ให้ข้อคิดใน ๓ ประเด็น คือ

     ๑)ความสำคัญของวันนี้   

     ๒)ความสำคัญของอาสาสมัครหรือผู้มีจิตสาธารณะ  และ

     ๓) แนวโน้มวิกฤติการณ์ของโลกและการเตรียมรับมือของคนไทย  (ถ้ามีเวลาจะได้อธิบายขยายความต่อไป)

 

     อย่างไรก็ตามในวันนั้นมีหน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง บ้างไม่ได้มาแต่ได้ส่งสิ่งของ เงิน อาหาร ข้าวสาร ฯลฯ มาร่วมบริจาคอย่างน่ายินดียิ่ง โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ออกมารับมอบสิ่งของและเงินบริจาคอย่างยิ้มแย้มและเป็นกันเอง

 

     จากการไปครั้งนั้นได้สอบถามหลายท่าน ได้ทราบความเคลื่อนไหวและเข้าช่วยเหลืองานในครั้งนี้อย่างมาก เช่น คุณราณี พมจ.กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีคำสั่งให้นายอำเภอ ๙ อำเภอในจังหวัดพะเยา ซึ่งจะได้มีการสั่งการต่อไปในระดับตำบล จำนวน ๖๘ ตำบลทั่วจังหวัดให้มีการประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในตำบลนั้น ๆ ดำเนินการจัดกิจกรรมวันอาสาไทย พร้อมช่วยบรรเทาภัยในช่วงน้ำท่วม เป็นต้น

 

     นอกจากนี้แล้วยังได้พูดคุยกับพระครูโกศลธรรมวิภัช  ได้ความว่า จากการประสานคณะสงฆ์ ๓ น้ำ คือ น้ำใจ-นำโดยพระโสภณพัฒโนดม รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา, น้ำจัน-นำโดยพระครูธีรธรรมวิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย  และน้ำจุน-นำโดยพระครูโกศลธรรมวิภัช เจ้าคณะตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ได้ข้าวสารกว่า ๑๐๐ กระสอบ เงินสดจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยสิ่งอุปโภคบริโภค จำนวนมาก เดินทางไปมอบให้เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานีเพื่อช่วยเหลือวัดต่าง ๆ และพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนในครั้งนี้โดยใช้รถสี่ล้อและ ๖ ล้อ จำนวน ๙ คัน

 

     สำหรับกลุ่มเอกชนที่ร่วมกันดำเนินการ เช่น กาชาติจังหวัดพะเยา(คุณนายผู้ว่าฯ)  สโมสรโรตารี่จังหวัด (ประพันธ์ เทียรวิหาร)  หอการค้าจังหวัด (หัสนัย แก้วกุล) อุตสาหกรรมจังหวัด (นันทนา จักรภีร์ศิริสุข) มหาวิทยาลัยพะเยา ชมรมลูกสาวพ่อขุน(เพ็ญศิริ เพชรดี) ชมรมสตรีศรีงำเมือง(กัลยา เต็มเต๊ะ)  ตลอดจนถึงบริษัทเอกชน ร้านค้า ประชาชนทั่วไป อีกจำนวนมาก (ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนาม) และคณะสงฆ์ที่ได้บริจาคสิ่งของในวันนั้นโดยใช้รถจีเอ็มซีของทหารนำไปบริจาคที่จังหวัดนครสวรรค์(ชุดแรก) จำนวน ๖ คัน พร้อมเงินสดกว่า ๕ แสนบาท

 

     นอกจากผู้ใหญ่จะได้มีน้ำใจช่วยเหลือแล้ว เด็กและเยาวชนก็ได้เดินทางออกมารณรงค์ช่วยเหลือและร่วมบริจาค เช่น การแสดงซอของเด็กนักเรียนโรงเรียนพญาลอวิทยาคม นำโดยครูอ้วย ขันธวงศ์, นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา มาแสดงดนตรีเพื่อความบรรเทิง, นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลพระราชชนนีพะเยา ออกมาเดินรณรงค์ในตัวเมืองพะเยา ฯลฯ

 

     ส่วนเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่า "ชมรมคนรักทุ่งต้นศรี" นอกจากจะเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ผู้เขียนยังได้สอบถามถึงที่มาของกลุ่มนี้ด้วยว่า เกิดมาจากการสำนึกรักบ้านเกิด เท่าที่ผ่านมาได้ร่วมกับชุมชน และคนทุ่งต้นศรี อำเภอดอกคำใต้ ที่อยู่ ณ จุดไหนของประเทศก็ตาม จะมีการติดต่อและประสานงานกันทางด้าน internet  facebook โทรศัพท์ ฯลฯ เพื่อระดมทุนและทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรม เท่าที่ผ่านมาได้ร่วมกับชุมชน จัดทำแว่นตาเพื่อคนชรา กิจกรรมลด ละ เลิกเหล้า กิจกรรมการศึกษาในโรงเรียน สร้างบ้านให้แก่ผู้ยากไร้ในชุมชน ฯลฯ

 

     ในกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คนกลุ่มเล็ก ๆ ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสังคมและชุมชนได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทรัพยากร เงินทุน ฯลฯ ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญญาและจิตอาสาต่างหากที่ควรมีก่อนในชุมชน

 

     จึงทำให้ผู้เขียนนึกไปว่า การจัดวันจิตอาสาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนให้กับสังคมนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยากเลย เพียงแต่

     ๑.คนในชุมชนต้องมีคนที่มีจิตอาสาแค่ ๒% ก็พอ 

     ๒.ต้องเป็นคนสำนึกรักบ้านเกิด 

     ๓.กำหนดให้ประเทศไทยมีวันเสียสละปีละหนึ่งวัน

     ๔.กำหนดให้ครอบครัวเป็นวันทำกิจกรรมอาสาร่วมกันระหว่างพี่น้อง พ่อแม่ลูก

      ๕.กำหนดให้คนไทยมีวันเสียสละเพื่อชุมชน สังคม ฯลฯ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง

 

     เพียงแค่มโนภาพนี้ ผู้เขียนก็เห็นรอยยิ้ม การทักทาย การเอื้ออาทร การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในสังคม ชุมชน แล้ว ไม่จำเป็นต้องนึกถึงภาพในระดับจังหวัด ประเทศ หรือระดับโลก เพราะเมื่อพื้นฐานคนในระดับครอบครัวมีภูมิคุ้มกันแล้ว จะป่วยการกล่าวไปใยถึงการอยู่ร่วมกันในระดับที่สูงกว่านี้เล่า เนื่องจากผลที่จะตามมาจะเติบโตและเบิกบานขึ้นไปอย่างไร้ขอบเขต..... ไม่ใช่แค่โลกนี้ แต่เป็นปรโลกด้วยซ้ำไป

 

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 465932เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2011 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการคะ

ชื่นชอบ ที่พระคุณเจ้า เสนอวิธีสร้างจิตอาสา อย่างเป็นรูปธรรมคะ

หวังสังคมให้คุณค่า งานจิตอาสา ด้วยแล้ว อย่างเป็นรูปธรรมด้วย

การทำกิจกรรมจิตอาสา (volunteer) ถือป็น คุณสมบัติพิจารณาคนเข้าศึกษา ทำงาน ในบางประเทศ

เจริญพรคุณหมอ ถ้าสังคมใดมีจิตอาสามาก สังคมนั้นก็จะมีโอกาสพัฒนา

เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมีสูงขึ้นนั่นเอง

ผู้เขียนหวังว่า สังคมไทยพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนสู่ทิศทางที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท