นับถอยหลัง เมื่อน้ำล้อมเมือง


น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เราตระหนักดีว่ามนุษย์เราเสมอภาคกันด้วยน้ำมวลเดียวกัน

ตลอด 30 ชั่วโมงที่หลายฝ่ายพยายามต่อสู้กับกระแสน้ำเพื่อเร่งอุดรอยรั่วในหลายทิศทางของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายพื้นที่หลายพันไร่ในเขตอุตสาหกรรมแห่งนี้ถูกน้ำท่วมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว

วันอังคาร ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระทึก! กทม.นับถอยหลัง48ชั่วโมง ระดมกระสอบทราย1ล้านใบป้องกันน้ำท่วมสายไหม-ดอนเมือง (จากมติชนออนไลน์ 18 ตค. 54)

 

                 พาดหัวข่าว The Nation Channel 18 ตค. 54

 

โครงการกว่า 300 ไร่ "ชวนชื่นอเวนิว" จมบาดาลหมดแล้ว - "คลองระพีพัฒน์" แตกน้ำทะลัก รังสิตคลอง3-4

 

 "พุทธมณฑล" ประกาศอพยพภายใน 24 ชม. คาดน้ำสูงอีก 1 ม. !

 

ผนังดินกั้นคลองระพีพัฒน์ "คลองสี่" พัง 10 ม.

 

"สุขุมพันธุ์" สั่งเร่งเสริมกระสอบทรายในสายไหม-ดอนเมือง

 

ข่าวพาดหัว "น้ำท่วม" ทุกวันที่เราดูเหมือนคุ้นชินกันดี  แต่เริ่มกลายเป็นข่าวระทึกขวัญทุกขณะจิตสำหรับประชาชนผู้อยู่ใกล้บริเวณเขตเสี่ยงภัย ผู้เขียนอยู่ในสถานะผู้ติดตามข่าวสารด้วยความห่วงใยในเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน ณ บัดนี้ กำลังจะเขยิบฐานะมาเป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับผู้ประสบอุทุกภัยแล้ว

 

ชาวกรุงโชคดีตรงที่มีโอกาสเตรียมตัวล่วงหน้า (ถ้าไม่เชื่อคำพยากรณ์ที่วกวนไปมา จนชะล่าใจ) ก็จะได้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังด้วยความไม่ประมาท

หมู่บ้านที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ อยู่เหนือระดับตลิ่งของคลองพระยาสุเรนทร์สองเมตร ตั้งแต่มีข่าว "มวลน้ำหลาก" กำลังเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ ผู้เขียนก็เริ่มศึกษาตำแหน่งแห่งที่ของบ้านตนเองอย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่าการเดินทางของ "มวลน้ำหลาก" จะไหลจากคลองรังสิตมาจนถึงคลองหกวาและไหลผ่านบ้านของผู้เขียนซึ่งอยู่ในโซนระหว่างเขตคลองสามวาและเขตสายไหมโดยในขณะนี้ได้กลายเป็นเขตเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดไปแล้ว

 

 

แม้จะมีข่าวชวนให้หลงทางไปบ้างที่ว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่ หรือที่ว่าน้ำหลากไหลลงทะเลไปแล้ว หรืออีกหลาย ๆ ข่าวที่ทำให้เราโล่งอกไปเพียงแค่ข้ามคืนก็ตาม แต่สำหรับผู้เขียน ซึ่งเป็นมือใหม่ในการศึกษาแผนที่ภูมิศาสตร์ (บ้านตนเอง) ก็ยังเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า "ท่วมแน่" ก่อนที่ภาครัฐจะออกมายอมรับว่าดอนเมือง-สายไหมท่วมเสียอีก

 

                       ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ริมคลองพระยาสุเรนทร์

 

ผู้เขียนขับรถผ่านชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองพระยาสุเรนทร์  น้ำขึ้นสูงเท่าตลิ่งแล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าหมู่บ้านจัดสรรที่ผู้เขียนอยู่ถึงสองเมตร  บ้านหลายหลังที่อยู่ริมคลองเป็นบ้านชั้นเดียวเรียงรายติด ๆ กัน  ผู้เขียนเดินไปสำรวจพื้นที่และความเป็นอยู่ของเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมในเขตเดียวกันกับผู้เขียน  น้องผู้ชายคนหนึ่งเล่าว่า "ผมเตรียมอพยพแล้วครับ"

 

ถนนสายลีบเล็กนี้ เป็นถนนคนเดินของชุมชนริมคลอง

 

น้องผู้ชายคนนี้เล่าว่า "ตลอดแนวคลองนี้ เป็นพื้นที่ที่รัฐให้ชาวบ้านมาปลูกบ้านอาศัยอยู่เป็นเวลานานนับสิบปีแล้ว ไม่มีใครมีโฉนดเป็นของตนเอง" หรือที่จริงก็คือเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านบุกรุก โดยรัฐยังคงเป็นเจ้าของอยู่นั่นเอง

 

 

ผู้เขียนทอดถอนใจ เห็นใจอย่างยิ่งแต่ก็ไม่อาจจะซักไซ้ต่อว่าพวกเขาจะอพยพไปไหน จะไปอยู่กับใคร เนื่องจากมีภารกิจที่จะต้องทำสำหรับวันนี้คือ "ยกโทรทัศน์  TOSHIBA REGZA 46 นิ้ว ขึ้นชั้นบน"  เป็นงานหนักที่น่าหมั่นไส้อย่างยิ่ง  นึกถึงตอนที่ซื้อมาก็เพราะว่ามันเข้าชุดกับเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นของ "เกินความจำเป็น" เราจะเริ่มตระหนักในสิ่งที่เรามีไว้เพื่อใช้กับมีไว้เพื่อประดับก็ในภาวะวิกฤตินี้แหล่ะ  วิถีชีวิตแบบชาวกรุงชนชั้นกลางก็เป็นเช่นนี้เอง

 

 

เมื่อเทียบกับชุมชนริมคลองพระยาสุเรนทร์ที่อยู่นอกอาณาเขตหมู่บ้านจัดสรรที่ผู้เขียนอยู่ ช่างต่างกัน แค่ไหน อย่างไร ลองชมภาพกันดู

 

นอกจากกำแพงล้อมรอบหมู่บ้านแล้ว ทางโครงการยังขุดลอกทำคันดินรอบหมู่บ้านอีกชั้นหนึ่ง

 

 

การทำคันดินล้อมรอบหมู่บ้านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แข่งกับเวลาที่ทางกรุงเทพฯ ประกาศว่า "เหลือเวลาอีก 48 ชั่วโมง" สำหรับน้ำที่จะผ่านมายังดอนเมือง-สายไหม

 

 

เครื่องสูบน้ำของหมู่บ้านก็ทำงานกระหึ่มทั้งวันทั้งคืน จริง ๆ ต้องบอกว่าทำงานมานานนับสองสามสัปดาห์แล้ว ไม่ว่ากรุงเทพฯ จะปลอดภัยหรือไม่ การสูบน้ำของโครงการหมู่บ้านก็หาได้หยุดพักด้วยความชะล่าใจไม่

 

แต่ละบ้านก็ป้องกันด้วยกระสอบทราย และโบกปูนปิดประตูเข้าออกบ้านตนเอง

 

สำหรับบ้านผู้เขียน ไม่มีกระสอบทราย ไม่ได้โบกปูน ก่ออิฐ ปิดประตูเข้าออก ที่ไม่ทำไม่ใช่เพราะประมาท แต่คำนวณดูแล้วว่าถ้ามวลน้ำหลากมาจริง "เอาไม่อยู่" และที่สำคัญ ลักษณะบ้านเดี่ยว การผุดของน้ำนั้นมาหลายทิศทาง การสร้างกำแพงให้สูงจะต้องสูงขนาดสามเมตร เหนือกว่ากำแพงรอบหมู่บ้าน จึงจะต้านทานได้ในระดับหนึ่ง จะคาดการณ์ผิดถูกหรือไม่อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากกระสอบทรายขาดตลาดด้วย ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่าตนมีความจำเป็นน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

 

 

ผู้เขียนเตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิตอยู่บนชั้นสอง  ชั้นสองสูงกว่าชั้นล่างสามเมตรกว่า หากน้ำท่วมสูงถึงสามเมตร นั่นหมายความว่าผู้เขียน "เตรียมอพยพ"

 เครื่องออกกำลังกายยกมาไว้ชั้นสอง

 

โทรทัศน์ติดผนังถูกยกออกจากชุดเฟอร์นิเจอร์ Built-In

 

ทุกอย่างที่ Built-In ติดผนังชั้นล่าง ถูกออกแบบไว้ล่วงหน้าแล้วที่จะให้มีการรื้อถอนโยกย้ายออกไปได้

 

โทรทัศน์ข้างล่างยกมาตั้งไว้บนโต๊ะหนังสือไม้สัก

 

การเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในชั้นสองของผู้เขียนเป็นไปตามอัตภาพ ถึงเวลาจริง ๆ ไม่อาจทราบได้ว่าจะได้อยู่ หรือได้อพยพ ในเมื่อ "น้ำล้อมเมือง" แล้ว

 

 

 

น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เราตระหนักดีว่ามนุษย์เราเสมอภาคกันด้วยน้ำมวลเดียวกัน ใครทุกข์น้อยกว่าก็แบ่งปันคนทุกข์มากกว่า แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีใครเป็นสุขได้ในยามนี้ ตราบที่เรารู้ดีว่ามีพี่น้องร่วมชาติเดียวกันกำลังตกระกำลำบากอยู่

 

                                 ขอเพียง "ยิ้มสู้ อยู่ให้เป็น" 

 

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 465276เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2011 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เตียงที่ผมเคยนอนดูทีวีชั้นล่างนั้น...คงต้องยกขึ้นด้วยเเล้วใช่ไหม??

  • มาให้กำลังใจคนแรกเลยนะคะ คุณเอกIco48 ดีใจจัง หายเหนื่อยเลย
  • เขียนบันทึกนี้หลังจากเพิ่งยกทีวีมาหมาด  ๆ แขนล่ำเลย อิอิ
  • เตียงไม้ขาสิงห์ที่นอนเล่นชั้นล่างยังอยู่ที่เดิมค่ะ เพราะเห็นว่า "หนัก" และก็เชื่อมั่นในศักยภาพว่าทนทานน้ำได้ค่ะ
  • ส่วนโต๊ะโซฟาที่ซื้อมาใหม่ไว้นอนดูทีวีชั้นล่าง ตั้งใจว่าจะยกขึ้นชั้นสองพรุ่งนี้ค่ะ
  • ที่พักของคุณเอกไม่มีปัญหาใช่ไหมคะ จะได้สบายใจไม่เป็นห่วง
  • แล้วเราชาวกทม. ก็จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันค่ะ

คิด “มุมเครียด” มานานบ้านน้ำท่วม

จุกจนอ่วมอรทัยน่าใจหาย

คิด “มุมดี” มีบ้างทางสบาย

หากไม่ตายคงซึ้งหนึ่งบทเรียน

 

มาอยู่เป็นเพื่อนค่ะ ไม่ไกลจากบ้านพี่ใหญ่แถวถนนรัชดา-ลาดพร้าว มีคลองบางซื่อที่มีชุมชนอาศัยกันมาช้านานเช่นกัน พี่ใหญ่มักจะชะเง้อดูระดับน้ำอยู่บ่อยๆเมื่อนั่งรถผ่านไปทำงานทุกวัน วันนี้ปริ่มๆติดขอบเหมือนกันค่ะ

มาให้กำลังใจค่ะท่านอาจารย์ศิลา

ยิ้มสู้ อยู่ให้เป็น..เยี่ยมมากค่ะ..

.แล้วมันก็จะผ่านไปนะคะ..

ภาวนาขอให้ปลอดภัยค่ะ..^_^

ขอบคุณคะ บันทึกเหล่านี้ เป็นประวัติศาสตร์ บทเรียน เพื่อหาวิธีการรับมือกับธรรมชาติต่อไป

เห็นด้วยว่า มนุษย์เราเสมอภาคด้วยน้ำมวลเดียวกัน (อย่าเอามาเป็นเรื่องทะเลาะกันเลยนะ :-)

  • จากประสบการณ์น้ำท่วมบ้าน ๒ ครั้ง ครั้งแรกไม่ได้เก็บของขึ้นสูงจนหมด แต่ครั้งที่สองมีบทเรียนยกขึ้นไว้เกือบหมด พบว่า การช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นด้วยการยกของให้สูงนั้นเป็นวิธีการที่ดี เพราะหลังน้ำลดเราแค่เหนื่อยอีกรอบในการล้างตัวบ้านอีกรอบ แต่ก็ไม่เหนื่อยเท่าที่ต้องมาล้างของใช้ทุกอย่างในบ้าน ซึ่งล้างยาก บางอย่างก็เสียหายต้องทิ้งหมด โดยเฉพาะเฟอรฺนิเจอร์พวกน๊อคดาว หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • อย่าประเมินอะไรที่ต่ำกว่าจริง เพราะอะไรที่เราไม่คิดว่าจะเกิดก็เกิด อะไรที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ก็จะพบ นี่คือสัจธรรม ที่มนุษย์ไม่อาจคาดการณ์ธรรมชาติ และเอาชนะมันได้
  • ขอให้ปลอดภัยนะครับ เป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

หากมีสติเราก็ได้เรียนรู้ตัวเองในยามวิกฤตนี่แหละค่ะ ข้าวของที่ต้องยกหนีน้ำ ยิ่งมีมาก นั่นคือภาระ

คนข้างกายพูดเสมอในยามน้ำเข้าหลากที่ต่างๆที่แล้วที่เล่า ว่าคนที่เป็นทุกข์และเสียหายมากที่สุดคือคนที่อยู่ตรงกลางๆ เป็นหนุ่มสาววัยทำงาน วัยสร้างตัว ไม่เคยมีความรู้อะไรกับแผ่นดิน ทำงานได้เงินซื้อหาข้าวของไว้เพื่อความสุขสะดวกสบาย น้ำมาวูบเดียวตั้งตัวไม่ทัน หมดตัวและไม่ทราบว่าอนาคตจะมีเงินซื้อใหม่ได้หรือไม่ ชั้นล่างคือชาวบ้านของแท้แบบเดิมๆและคนจนมากๆทรัพย์สมบัติน้อยอยู่แล้ว น้ำท่วมนั้นเดือดร้อนแน่แต่ไม่เสียหายมาก อาจได้รับความเอื้ออาทรเหลียวแลจากสังคมมากกว่ายามน้ำแห้งด้วยซ้ำ ส่วนคนชั้นสูง เศรษฐี นายทุน เสียหายอย่างไรก็ยังมีสิ่งรองรับ

อีกสิ่งที่พี่ได้เห็นจากสองบันทึกของคุณศิลาที่มาอ่านติดๆกันก็คือ ความยากยิ่งในการทำงานแบบมองทุกอย่างเป็นองค์รวม(เช่น ผู้ว่ากทม.ไม่เคยไปศึกษาเขื่อนต่างจังหวัดที่จะส่งผลต่อพื้นที่กทม.) และ บูรณาการความรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นเอกภาพมาจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คงสะท้อนระบบการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ที่ชินกับการคิดแบบแยกส่วน มองอะไรก็มองเฉพาะที่อยู่ตรงหน้าของตัวแถมพกด้วยอัตตาอีก

บุญรักษานะคะ

ยังสบายดีหรือเปล่าครับ

ส่งกำลังใจมาให้ ผมเคยมีเพื่อนเป็นชาวเวียตนาม หนีมาจากเวียตนาม ตอนกรุงไซง่อนแตก

พ่อแม่ให้เอาทองติดตัวมา โดนโจรสลัด(ไทย) ปล้นไปหมด เหลือแต่ตัวเปล่า ผู้หญิงโดนถูกจับไปขาย

เวลาทำงานกับผม เขาพูดเสมอๆว่าอะไรๆมันก็ไม่แน่ รวยได้ก็จนได้

ใช้ชีวิตให้ดีที่สุดก็แล้วกัน  ตอนนั้นผมก็ลืมชวนให้เขามานับถือศาสนาพุทธ

เพราะยังหนุ่มด้วยกันทั้งคู่  มัวแต่ทำมาหากิน 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้นำประเทศสำหรับที่สุด บ้านเมืองพังทลาย ก็เพราะได้ผู้นำที่เห็นแก่ตัวครับ

 

 

  • ขอบพระคุณท่านโสภณ Ico48 ที่แวะมาฝากกลอนให้แง่คิดที่มีคุณค่าค่ะ ตอนนี้ก็กำลังรอคอยบทเรียนราคาแพงอยู่อย่างสบาย ๆ ไม่ให้เครียดค่ะ เครียดแล้วมักจะลืมนู้นลืมนี้ ที่ผ่านมามีบ้างแล้วค่ะ ตอนนี้สบายใจขึ้น ทำทุกอย่างที่ทำได้แล้ว แม้กระทั่งทำใจค่ะ
  • ดีใจที่ได้กำลังใจดี ๆ จากท่านค่ะ
  • สวัสดีค่ะ พี่นงนาท  Ico48  ดีใจที่อยู่ไม่ไกลกัน  คนอยู่ใกล้คลองก็ต้องคอยมองน้ำอย่างตื่นเต้น เป็นอย่างนี้มาหลายวันแล้วเหมือนกันค่ะ แต่ก็นึกในใจว่าโชคดีที่ได้เห็นน้ำรอบ ๆ ตัว ถ้าเกิดอยู่ในเมืองลึกเข้าไป ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเวลาน้ำมา
  • ณ วันนี้เลยตลิ่งมานิดหนึ่ง ยังโอเคค่ะ ช่วงนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ร่วมกับใครหลายคนที่ทรงคุณค่ามากค่ะ
  • ขอให้พวกเราปลอดภัย แม้ภัยน้ำจะมานะคะ
  • ขอบพระคุณคุณสัมภเวสีที่มีความเชื่อมั่นอันแรงกล้าไม่เสื่อมคลาย และเป็นกำลังใจเสมอมา
  • ขอบคุณคุณสีตะวัน Ico48 ค่ะ  เชื่อว่าจะต้องผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัย เห็นหลายท่านที่ประสบภัย อพยพกันอย่างทุลักทุเล น่าเห็นใจมาก กำลังนึกแปลกใจอยู่ว่าพื้นที่ที่เตือนยังปลอดภัย พื้นที่ที่ไม่ได้เตือนเลย ท่วมแล้วแน่นอน ตกลงยังไงกัน อุตส่าห์เตรียมตัวเป็นผู้ประสบอุทกภัยแล้ว แต่คนอื่น ๆ เดือดร้อนกว่ามาก ไม่ใช่ว่ากลัวจะรอน้ำเก้อหรอกนะคะ ไม่มาก็ดีแล้ว เพียงแต่ว่าเห็นใจพื้นที่ที่ไม่มีการเตือนเลย อาการตระหนกตกใจคงต้องมีมากกว่าแน่ ๆ
  • สวัสดีค่ะท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Ico48 
  • ถ้าของจริงมา ยิ้มไม่ออก อย่ามาแซวกันนะคะ
  • ขอบคุณคุณ ป. Ico48 ที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ เห็นด้วยนะคะที่สถานการณ์แบบนี้ไม่ควรมาเสียเวลาทะเลาะ หรือเล่นการเมืองกัน โดยมีชีวิตคนนับล้านเป็นเดิมพันอยู่
  • จากนี้ไป คือช่วงเวลาที่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้กับภัยธรรมชาติ ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  • ทุกข์เดียวกัน สำคัญที่ใครจะสลายออกไปได้ก่อนกัน จริงไหมคะ
  • ขอให้คุณ ป. มีความสุขกายสบายใจมาก  ๆ ค่ะ จะได้มีพลังเป็นกำลังใจให้ใครอีกหลายคนค่ะ

วันที่ 30 กรกฎาคม 2554 พายุมา ระบายน้ำไม่ทัน

น้ำท่วมบ้านหนองคายชั้นล่าง ฟุตกว่า ๆ

ดูจากรอยคราบน้ำน่ะค่ะ เพราะไม่อยู่บ้าน ไปประชุมที่อุดร

แต่ล้างขี้ตม และขนหนังสือออกจากลังกระดาษที่แช่น้ำไม่รู้เนื้อรู้ตัว อยู่เป็นอาทิตย์

เสียดายหนังสือก็เสียดาย

ล้างบ้านเปล่า ๆ น่าจะง่ายกว่า

สงสารแต่คนที่ท่วมขังอยู่เป็นเดือน ๆ

เอาใจช่วยให้อาจารย์รอเก้อนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท