ภูมิปัญญากับการแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม


ภูมิปัญญาที่เขาได้พอทันเห็นนี่แหละค่ะ ได้หล่อหลอมให้เขานำมาใช้ทำให้บ้านของเราซึ่งก็ไม่ได้รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วม แต่เราสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย จึงรู้สึกมีความสุขได้กับการเห็นน้ำมากมาย ความสุขนี้ไม่ได้แค่เกิดจากการมีเงินที่จะสร้างบ้าน ที่จะจัดการกับน้ำท่วม

ผู้เขียนและคนข้างกายนั่งดื่มกาแฟยามเช้าด้วยกันที่ศาลามองดูกลางแม่น้ำป่าสักที่น้ำกำลังไหลละลิ่ว แต่น้ำที่อยู่บริเวณท่าน้ำที่ติดบ้านดูสงบ ไร้พิษภัย แตกต่างจากกลางสายน้ำมาก เราได้สุนทรียสนทนาถึงประเด็นต่างๆเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของชาวบ้านอยุธยายามน้ำหลากเมื่อสมัยที่เขายังเป็นเด็กและได้ใช้ชีวิตจริงๆ โดยที่ผู้เขียนเป็นฝ่ายถามเสียมากกว่า

 

เขาเล่าว่าสมัยเขาเป็นเด็ก ฤดูน้ำหลากคือเวลาที่รอคอย เด็กๆจะสนุกกับการได้เล่นน้ำ การใช้ชีวิตจะมีความแตกต่าง การเดินทาง อาหารการกิน งานบุญ งานรื่นเริงจะมีชีวิตชีวาสดชื่นกับสายน้ำ ชาวบ้านไม่ได้ถูกน้ำถาโถม รุกทำลายทั้งทรัพย์สินและชีวิตเหมือนน้ำท่วมสมัยนี้ ประเด็นใหญ่ๆที่เราคุยกันก็คือ

  • วิถีชีวิตของคนยุคนี้ส่งผลกระทบต่อดินฟ้าอากาศ ผลของClimate Change ไม่ใช่เป็นเพียงคำขู่ มนุษย์ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความถี่ และ ความรุนแรงจากภัยธรรมชาตินานาชนิด ทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนวิธีที่เราปฏิบัติต่อโลก
  • เมื่อโลกที่ถูกกระทำอย่างหยาบกร้าน ได้เกิดความป่วย แปรปรวนเช่นนี้ นอกจากเราจะต้องช่วยกันเยียวยา เรายังต้องปรับตัวเองให้อยู่ได้อย่างมีความเข้าใจธรรมชาติ เราไม่สามารถกลับไปมีชีวิตอยู่แบบคนยุคก่อนสมัยใหม่ได้ แต่ต้องหารหัสลับให้เจอ นั่นคือ ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษเราใช้ในการดำรงชีวิต มีสติ มีปัญญา มีเมตตา มีความนอบน้อมต่อธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่ได้อย่างเหมาะกับจังหวะของฤดูกาลที่แปรเปลี่ยน เข้าใจทั้งภูมิศาสตร์และระบบนิเวศของตน

ประเด็นหลังนี้แหละที่เขาบอกว่าเขายังจำได้และนำมาใช้กับการดำรงชีวิต เขาให้ความสำคัญมากถึงขนาดตั้งชื่อสิ่งที่เขาทำ ประกาศตัวว่าตนและทีมงานมีสถาบันตั้งเอง คือ “อยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์เมือง” โดย ศึกษา ค้นคว้า ปฏิบัติจริงให้ปรากฏไม่รอให้ใครมาสั่ง หรือ ทำตามคำสั่งใคร เขาบอกว่าเขาได้พบแล้วและพยายามฟื้นฟูปัญญาอันเป็นรหัสลับที่ทำให้กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองถึงขนาดเป็นราชอาณาจักรชื่อเสียงระบือไกล

ภูมิปัญญาที่เขาได้พอทันเห็นนี่แหละค่ะ ได้หล่อหลอมให้เขานำมาใช้ทำให้บ้านของเราซึ่งก็ไม่ได้รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วม แต่เราสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย จึงรู้สึกมีความสุขได้กับการเห็นน้ำมากมาย ความสุขนี้ไม่ใช่เพราะมีเงินที่จะสร้างบ้าน ที่จะจัดการกับน้ำท่วม

 

เราปลูกบ้านสองชั้น เคยโง่ เสียดายพื้นที่ด้านล่างจึงตกแต่งใช้งานเต็มที่ ถูกน้ำท่วมใหญ่มาสองครั้ง เราก็เลยฉลาดขึ้น ตัดสินใจว่าเราจะเลิกใช้ชั้นล่างแบบที่เคยใช้ แต่จะทำเป็นพื้นที่โปร่งๆพอใช้งานได้ยามปลอดน้ำ

ที่ท่าน้ำเราก็มีต้นไม้ที่น้ำท่วมไม่ตาย พวกสนุ่น มะเดื่อ มะกอกน้ำ กอไผ่ใหญ่ เพื่อคอยทอนหรือซับความรุนแรงของกระแสน้ำ และ คลื่น

ยามน้ำมากเพื่อนฝูงสามารถมาเยือนได้ พายเรือในบริเวณท่าน้ำปลอดภัย

แน่นอนค่ะความเสียหายที่เกิดกับผู้คนที่เราพบเห็นตอนนี้ น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติอย่างยิ่ง และเราก็ได้เห็นภัยพิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นทุกครั้ง ผู้คนโศกเศร้า สูญเสีย นี่หมายความว่าอย่างไร

ปัญหาทางโครงสร้างสังคมที่คนจนจะตกเป็นเหยื่อเสมอเมื่อเกิดความยากลำบากหรือภัยพิบัติทุกครั้ง การตัดไม้ทำลายป่าของนายทุนเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาน้ำท่วมมีความรุนแรง

ความช่วยเหลือที่เห็นๆก็เป็นแค่การบรรเทาทุกข์ และระยะสั้นๆ รัฐยังไม่ได้ใช้ปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวเลย ชาวบ้านได้ถูกการพัฒนาแบบผลักให้เร่งรีบ แข่งขัน มุ่งหาเงิน จนลืมวิถีการอยู่อย่างเกื้อกูลระหว่าง คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

แทบจะกล่าวได้ว่าเราสูญเสีย ความรู้-ปัญญาที่จะเข้าใจพื้นที่ที่เราทำมาหากินและดำรงชีวิต เป็นเหยื่อภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างจำยอม หรือจะสู้ก็จะเอาเทคโนโลยีมาสู้แบบอหังการ แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่า ธรรมชาตินั้นมีอานุภาพยิ่งกว่าเทคโนโลยีนัก

คนข้างกายผู้เขียนได้ชี้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสร้างความเข้าใจ-ปัญญาไม่ใช่ใช้แต่เงิน หากไม่มีทั้งเงินทั้งปัญญาก็จะทุกข์ซ้ำซาก พึ่งตนเองได้ยาก เราจึงต้องเริ่มที่ตนเองให้ได้ ซึ่งไม่เกินวิสัยที่จะทำได้ คือ

  • ปรับกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติด้วยความนอบน้อม รู้จักมีชีวิตที่พอเพียงก็จะเบียดเบียนธรรมชาติน้อยลง เช่น แม้ข้าวราคาดี ก็ไม่บ้า ยุให้ปลูกข้าวปีละสามครั้งเพราะอยากได้เงิน
  • ในการสร้างที่อยู่อาศัย เลือกสถาปัตยกรรมให้เหมาะกับทำเลว่าเป็น บ้านริมน้ำ ชายเขา กลางทุ่ง และให้อยู่อย่างเข้าใจภูมิศาสตร์ใช้ต้นไม้ ปรับพื้นดิน จะได้รู้จักรักษา ป้องกันตนเองได้ในระดับหนึ่ง เช่น อยู่ที่ริมน้ำ น้ำท่วมเรื่อยๆ ก็ต้องปลูกบ้านใต้ถุนสูง มีเรือไว้ใช้ อยู่ที่กลางทุ่งก็ต้องรู้จักปลูกต้นไม่ใหญ่ล้อมบริเวณบ้านกันลมพายุ สร้างโคก ทำคูระบายน้ำเป็นต้น
  • การปรับปรุงพันธุ์พืชให้เหมาะสม หรือเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับถิ่น

บันทึกลาลูแบร์ อัครราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสเดินทางมาถึงราชอาณาจักรสยาม(กรุงศรีอยุธยา) ในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นเป็นภาษาฝรั่งเศส มีผู้แปลความตอนหนึ่งว่า... “บรรดาที่ดินซึ่งน้ำท่วมนองอยู่นั้นเป็นเนื้อนาดีสำหรับปลูกข้าว และว่ากันว่ารวงข้าวนั้นย่อมหนีพ้นน้ำเสมอ ถ้าน้ำขึ้นสูงหนึ่งฟุตในระยะยี่สิบสี่ชั่วโมง รวงข้าวก็จะงอกขึ้นยาวหนึ่งฟุตในระยะยี่สิบสี่ชั่วโมงเหมือนกัน

 ดร.ขจิต ฝอยทอง ก็เคยคุยให้ฟังว่า กำลังมีการศึกษาวิจัยพืชที่น่าจะเหมาะกับ บางบาล อำเภอหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มักโดนน้ำท่วมก่อนใคร และท่วมมากทุกปี นักวิจัยเสนอว่าควรปลูกพืชทนน้ำ เช่น มะกอกน้ำ และคงต้องหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมด้วย 

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรจะนำมาใช้เพื่อสนธิพลังกับภูมิปัญญาบรรพบุรุษ และอย่างน้อยก็จะเป็นโอกาสให้คนสมัยนี้ที่เคยชินแต่กับความรู้สมัยใหม่ จะได้ไม่หลงทาง อยู่อย่างมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกื้อกูลตน เกื้อกูลชุมชน-สังคม และเกื้อกูลธรรมชาติ

หากผู้คนไม่เปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีการดำรงชีวิตอย่างรู้คุณธรรมชาติ ทุกคนก็ต้องร่วมรับทั้งผิดและชอบ ถือเป็น กรรมสาธารณะ ที่มาถึงตัวเราได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด

หมายเลขบันทึก: 462245เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2011 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (61)

ขอบคุณภาพสวยๆ และแนวคิดน่าสนใจคะ

แนวคิดการปลูกพืช ทนน้ำท่วม เป็นทางออกที่น่าจะทำได้โดยเร็ว

แต่ปลูกแล้ว จะเป็นพืชเศรษฐกิจ ดีกว่าปลูกข้าวหรือไม่คงต้องติดตามคะ

..น่าสนใจบันทึกลาลูแบร์ ว่าข้าวจะหนีพ้นน้ำเสมอ ใน 24 ชม..มีใครพิสูจน์ข้อเท็จจริงหรือไม่คะ

อ่ะ ... เจ้าแสบสามตัว น่ารักมากครับ พี่นุช ;)...

พี่นุชสุดสวาทบาดใจเจ้า

ชอบแนวคิดการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนอย่างที่คนข้างกายพี่กล่าวค่ะ

พท.ไหนที่ท่วมก็เห็นท่วมกันทุกๆปี ต้องหาวิธีแก้ถาวร 

ส่งกำลังใจ ให้พี่น้องไทยเรา ได้ตระหนักถึงภูมิปัญญา มากกว่า ...  ค่ะ :)

 

ขอบคุณค่ะ..นับเป็น กรรมสาธารณะ จริงๆๆ..ทุกวันนี้ ใครๆต่างพูดถึงเรื่องน้ำท่วม..คิดเลยกันไปถึงปีหน้า..ปีโน้น..ว่าเราอาจต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นชาวน้ำเสียแล้วอย่างถาวร ??..ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนแพ..พาหนะประเภทเรือ..ตลาดน้ำ..ปลูกพืชไม้น้ำ..ฯลฯ..เตรียมคิดอ่านกันไว้เช่นนี้ นับว่ารอบคอบแล้วนะคะ..

เจริญพรคุณนายดอกเตอร์

เมื่อวันที่๑๖กันยายน ๒๕๕๔ ได้ไปเยี่ยมคนแก่สองตา-ยายบ้านถูกน้ำท่วมที่บ้านดอนม่วงอำเภอวังทอง พิษณุโลก หมู่บ้านนี้อยู่หลังวัดที่อาตมาจำพรรษา บ้านคุณยายน้ำท่วมถึงบันไดขั้นที่สาม

ก่อนไปบ้านคุณยายได้แวะไปนาโยมจำรัส เอี่ยมสำอาง ซึ่งเป็นไวยาวัจกรวัดศรีโสภณช่วงเดินทางกลับวัดโยมท่านได้คุยให้ฟังว่าเมื่อสามสิบปีสี่ปีที่แล้ว เคยทำนาในหนองในบึงที่มีความลึกของระดับน้ำเป็นวา(๒เมตร)กว่า แต่ข้าวไม่ตาย ที่ข้าวไม่ตายเพราะใช้ข้าวพันธุ์นาเมืองชื่อข้าวขึ้นน้ำนั่นเอง

ข้าวขึ้นน้ำมีความสามารถในการหนีน้ำได้ดีมากด้วยการยืดปล้องข้าวให้พ้นน้ำเมื่อน้ำท่วม ข้าวชนิดนี้จะใช้ได้เหมาะสมในพื้นที่นาลุ่มที่น้ำท่วมขังมากๆเท่านั้นจึงจะดี ถ้านำไปปลูกในนาดอนมีน้ำน้อย กลับไม่งอกงามเท่าที่ควร คือถ้าน้ำน้อยไปจะได้ผลผลิตต่ำหรือออกรวงได้ไม่เต็มที่

โยมบอกว่าข้าวขึ้นน้ำนั้นเวลาน้ำนองมากๆ แค่วันสองวันจะเห็นต้นข้าวหนีน้ำต้นยาวเหมือนผักบุ้งเลย ข้าวขึ้นน้ำนี้ถือเป็นข้าวหนัก มีอายุเก็บเกี่ยวหลังข้าวเบา ข้าวกลาง เกี่ยวข้าวกลางเสร็จแล้ว ข้าวขึ้นน้ำก็สุกเกี่ยวได้พอดี

ประสบการณ์ของตนเอง ตอนที่อาตมาทำนาที่บ้านห้วยน้อยอำเภอหนองบัวนครสวรรค์นั้น(๒๕๒๓-สามสิบกว่าปีที่แล้ว) เนื่องจากพื้นที่นาของอาตมาต่างระดับกัน ถึงสามระดับ ที่โคก-ที่ดอนมากก็ทำข้าวเบา ลาดต่ำลงมาก็ข้าวกลาง ในร่องน้ำลึกหรือในหนองน้ำ ก็ต้องใส่(ใช้)ข้าวขึ้นน้ำจึงจะได้กิน(ข้าวอื่นจมน้ำตายหมด)

คนบ้านอาตมา เรียกคนอยุธยาที่ทำนาว่า"ชาวนาทุ่ง" นาทุ่งตามความเข้าใจของชาวนาอย่างอาตมาก็คือพื้นดินที่นาที่เป็นทุ่งลาบเลียบเสมอกัน มองสุดลูกหูลูกตาโดยไม่เห็นต้นไม้หรือหัวปลวกเลยประมาณนั้น

พื้นดินเสอมกันอย่างอยุธยานั้น(อันนาใหญ่มากจริงๆ)อันนาคือ การแบ่งนาเป็นแปลงสี่เหลี่ยมที่กั้นแต่ละแปลงด้วยหัวคันนา โดยในแต่ละแปลงที่แบ่งแล้วนั้น คนบ้านฉันเรียกว่า "อัน" ที่อำเภอวังทองเรียกว่า "บิ้ง"

ชาวนาทุ่งนี้ทำข้าวหนัก กว่าจะได้เกี่ยวก็ประมาณเดือนยี่เดือนสาม(คือก่อนปี๒๕๒๒,๒๕๒๓ อาตมาบวช) เมื่อข้าวหนักยังไม่ได้เกี่ยว ชาวนาทุ่งก็ว่าง จึงไปรับจ้างเกี่ยวข้าว ในพื้นที่นาดอนที่ทำข้าวเบาที่ข้าวสุกก่อน หลังจากนาดอนเกี่ยวเสร็จแล้ว ก็เป็นเวลาที่ข้าวหนักในนาทุ่งสุกพอดี

ชาวบ้านนาดอนก็ตามไปรับจ้างเกี่ยวข้าวนาทุ่ง สลับกันอย่างนี้ จึงทำให้ชาวบ้านสองกลุ่ม ทั้งชาวนาดอนและชาวนาทุ่งรู้จักกันมีความสัมพันธ์กันในทางที่ดีไว้วางใจกันและกัน ความสัมพันธ์นี้ทำให้เกิดความเชื่อใจกันผ่านคนที่จัดหาแรงงาน(แขกเกี่ยวข้าว)

ผู้จัดหาแขกเกี่ยวข้าวคนใด ที่ได้แรงงานดี(เกี่ยวข้าวดี ไม่ตัดคอรวงข้าว เกี่ยวข้าวเสมอ) ก็มักจะเป็นที่ต้องการของเจ้าของนาโดยไว้ใจให้หาแรงงาน อย่างนี้ถือว่าเจ้าของนาสบายใจหน่อย

สมัยลาลูแบร์ไม่ทราบว่าชาวอยุธยาใช้ข้าวพันธ์อะไร แต่บันทึกนี้ทำให้อาตมานึกถึงข้าวขึ้นน้ำทันทีเลย

ในปัจจุบันโยมไวยาวัจกรท่านบอกว่าหาไม่ได้แล้วข้าวขึ้นน้ำ ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกก็ไม่มีข้าวพันธ์นี้
                     
                      ภาพ : เมื่อ๑๖กันยายน ๒๕๕๔ เจ้าของนา(จำรัส เอี่ยมสำอาง)ที่ปีนี้ทำข้าวหอมมะลิ๓๐ กว่าไร่ วันก่อนข้าวยังไม่ถูกน้ำท่วมหมด แต่วันนี้ทราบว่าข้าวจมน้ำเน่าหมดแล้ว เจ้าของนาที่ประสบอุทกภัย ต้องไปถ่ายรูปในแปลงนาตัวเองที่ถูกน้ำท่วมและนำภาพนี้ไปส่งที่เกษตรอำเภอ เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล รัฐท่านช่วยชาวนาไร่ละ๒,๐๐๐ บาท(รัฐบาลประเมินต้นทุนการผลิตต่อไร่ ไร่ละ๔,๐๐๐ บาท)

ขอเอาใจช่วยให้อาจารย์และชาวอยุธยาข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปได้ด้วยดีนะครับ

เป็นห่วง....รักษาสุขภาพด้วยครับ

ขอบคุณค่ะคุณหมอCMUpal ที่มาร่วมให้กำลังใจ ให้ความเห็นและคำถามต่อปัญญาไปได้อีก เพราะมีคำถาม จึงต้องมีการเสาะหาคำตอบ ได้ถามคนข้างกายเรื่องพันธุ์ข้าวที่ยืดตัวหนีพ้นน้ำ กำลังว่าจะนำมาตอบ พอดีได้รับเมตตาจากท่าน พระมหาแล อาสโย ขำสุข มาช่วยแบ่งปันประสบการณ์จริง อ่านจุใจ อิ่มกับจินตนาการที่ได้นึกตามค่ะ

คนข้างกายก็ไม่ได้บอกชื่อพันธุ์ข้าว แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า พันธุ์ข้าวสมัยนี้ที่ปลูกกันทั่วไปกับสมัยก่อนแตกต่างกันมาก พวกข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะมีการปรับตัวได้ดี ทนทานและเกษตรกรไทยนั้นเก่งเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นที่เลื่องลือ

ชาวอยุธยาสมัยก่อนจะทำนาปี คือทำนาปีละครั้ง ปลายเมษายนก็จะเริ่มหว่านข้าว น้ำมักจะหลากราวๆปลายปี ถึงเวลานั้นข้าวจะเจริญเติบโตแข็งแรง พอที่จะยืดตัวทนน้ำได้ หากน้ำหลากมาเร็วข้าวยังไม่ทันแข็งแรงก็น้ำท่วมตายเหมือนกัน เรียกว่า นาล่ม ค่ะ เวลาที่เขาจะเกี่ยวข้าก็คือราวธันวาคม

คนสมัยนี้แทบจะไม่รู้จักการทำนาปีนะคะ ต้นข้าวนาปีที่ยืดตัวนี้เขาจะเรียกว่า ซังข้าว มีความยาวและความเหนียวขนาดที่เอามารวมกันแล้วฟั่นเพื่อใช้แทนเชือก เรียกว่า คะเน็ดใช้ในการมัดฟ่อนข้าว

เอาไปเลี้ยงสักตัวไหมล่ะคะอาจารย์Wasawat Deemarnจะได้เป็นน้องหมาดอย ไม่ใช่น้องหมาน้ำ^____^ ตอนน้ำยังไม่สูงมากหากเจ้าแสบสามตัวได้ยินเสียงคนหน้าบ้านจะวิ่งตะลุยน้ำครึกโครมไปทีเดียวค่ะ ขำๆ น่ารักดีเหมือนกัน

น้องปูจ๋าPoo พี่ก็คิดว่าเราต้องใช้สติและปัญญาที่เรียกว่า wisdom ให้มากๆ เพราะประเทศเราไม่ได้ร่ำรวยมาก ยิ่งเงินน้อย ต้องใช้ปัญญามากๆจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุขแบบยั่งยืนนะคะ

ขอบพระคุณค่ะพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ เราคงต้องปรับวิธีคิด วิธีการดำรงชีวิตแน่นอนนะคะ ตอนนี้ก็ต้องช่วยบรรเทาทุกข์กันไปก่อน พี่ใหญ่คงได้เดินทางมาก รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล อาสโย ขำสุขค่ะ กราบขอบพระคุณในประสบการณ์เรื่องราวที่ท่านเมตตาอธิบาย ได้ความรู้ ได้จินตนาการตามเป็นความงดงามของการใช้ชีวิตที่ผูกพันกับการทำนาซึ่งโยมไม่เคยได้เห็นค่ะ

คุณแม่ของสามีโยมท่านก็เคยเป็นคนจัดการหาแรงงานและดูแล "แขกเกี่ยวข้าว" ได้อ่านจากเรื่องของท่านแล้วไปคุยกับเขา จึงได้ความรู้นี้อีกประการว่าการลงแขกนั้นต้องมีคนจัดการ เมื่อก่อนนึกว่าพร้อมใจกันไปช่วย

ท่านเล่าได้ละเอียดและเนื้อหามีคุณค่าอย่างยิ่งค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณอักขณิช สวดมนต์ให้ผู้ทุกข์ยากทุกคนค่ะซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากคนจนอยู่แล้ว ยิ่งลำบากหนักหนาขึ้นอีกกับน้ำท่วมขัง กว่าจะฟื้นตัวได้คงใช้เวลายาวนาน

สวัสดีค่ะ อ.คุณนายดอกเตอร์

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรจะนำมาใช้เพื่อสนธิพลังกับภูมิปัญญาบรรพบุรุษ .....อยู่อย่างมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกื้อกูลตน เกื้อกูลชุมชน-สังคม และเกื้อกูลธรรมชาติ

มีคุณค่า  เห็นด้วยมาก ๆ ค่ะ

พยายามนำมาใช้ทั้งในชีวิตตนเอง  และการทำงาน

ขอให้อาจารย์ใจสบายไปตลอดนะคะ 

บ้านหนองคายก็ท่วมนิดหน่อย  เวลาระบายไม่ทัน

ทำใจให้ชิน  ก็พออยู่สบายไปได้ค่ะ

  • ไม่เคยได้อ่านเรื่องน้ำท่วมที่ช่างเพลิดเพลินและให้กำลังปัญญาลุกโชนมากมายอย่างนี้เลยละครับ
  • ในวัยเด็กของผมที่บ้านนอกที่ชุมชนหนองบัว นครสวรรค์ และแม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็เหมือนกับที่ ดร.ยุวนุชกับคนข้างกลายนั่งปรารภพื้นฐานการตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยกันของชาวบ้านทั่วไปเลยละครับว่า พอถึงหน้าฝน เด็กๆและชาวบ้านโดยมากก็จะตั้งตารอคอยให้น้ำหลาก
  • ชอบ "สถาบันอยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์เมือง" มากเลยครับ ที่บ้านผมก็มุ่งทำชีวิตตนเองให้เป็นหน่วยวิชาการไปในทำนองนี้ และคิดว่าหลายเรื่องจะลองทำให้สะท้อนความคิดกันไว้นะครับ เผื่อได้มีโอกาสนำมาสาน-แบ่งปันกันได้บ้าง ที่บ้านขุดสระ ปลูกบัว และทำระบบนิเวศในบ้าน เพื่ออยู่อาศัยและเรียนรู้ไปบนชีวิตไปด้วย
  • จำเพาะเรื่องบัวนี้ ต้องการค่อยๆเข้าใจด้วยการอยู่ด้วยกันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตครอบครัวของเราไปเลย เพื่อลงไปสู่ความเป็นพืชและระบบชีวิตที่ต้องอยู่กับน้ำ-ดิน-ไฟ-ลม รวมทั้งสวนน้ำ ศิลปะและการทำงานสร้างสรรค์เพื่อการใช้สอยไปด้วย ที่ดึงเอาพื้นฐานเหล่านี้ มาสะท้อนระบบภูมิปัญญาต่อชีวิตในหน่วยเล็กๆของปัจเจกและบอกเล่ามิติอื่นๆในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ เลยพลอยได้ดีใจและมีความสุขไปด้วยมากครับที่ได้รู้จัก สถาบันอยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์เมือง

ขอบคุณ ท่านพระมหาแล และ อาจารย์ เป็นอย่างสูงที่กรุณาไขข้อข้องใจ..อ่านจุใจเช่นกันคะ

การพัฒนาพันธ์ข้าวพื้นเมือง โดยคงความทรหดตอนน้ำท่วม และเพิ่มความทนน้ำน้อยด้วย เป็นพันธ์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก คงดีไม่น้อย

..คิดเรื่อยเปื่อยนะคะ

...อยุธยา..เมืองเก่าของเรา..มาแต่ก่อน..ตอนโน้น..ถูกพม่ารุกราน...ตอนนี้..ไม่ใช่แต่น้ำที่รุกรานเรา..นะเจ้าคะ...ยายธีเห็นโรงงานเต็มทุ่งนาไปหมด..โผล่อยู่ทั่วไป..ปัญหาที่จะตามมา..คิอน้ำเสีย...บรรดาสารพิษประเภทต่างๆที่ชาวบ้านธรรมดาๆกว่าจะรู้ก็จะสายเกินแก้..โรงงานเหล่านั้นตั้งขึ้นมาโดยความหละหลวมของผู้รักษากฏหมายจึงจะเป็นปัญหาที่แก้ยากอีกปมหนึ่งของบ้านเรา..คือการคอรัป..ประทาน..ที่แสนสุภาพบ้านเรา...เป็นห่วง..นะเจ้าคะ...รักษาสุขภาพเช่นกันนะเจ้าคะ..ยายธีถึงเมืองไทยจะโทรหาเจ้าค่ะ...สวัสดีค่ะ....ยายธี

พยายามคิดตามเพื่อปรับตัวเตรียมรับน้ำท่วมนะคะคุณนุช เช่น ซื้อเรือไว้ใช้ (พูดจริงค่ะ) เพราะเพิ่งสร้างบ้าน ทำบ้านใต้ถุนสูงไม่ทันซะแล้ว ถ้าย้อนไปได้จะสร้างบ้านใต้ถุนสูงจริงๆ เพราะน้ำท่วมทั้งประเทศไม่น่าจะไกลเกินคิด

หนังสือ "เมือโลกเอาคืน" ว่าด้วยเรื่องมนุษย์เบียดเบียนโลกจนบอบช้ำ  บอกไว้ว่า ถึงเราจะพร้อมใจกันหยุดเบียดเบียนโลกทันทีในวันนี้  ก็ไม่ทันการ  อย่างไรเสียเราก็ต้องรับชะตากรรมที่ทำเอาไว้กับโลก  (เหมือนมองโลกในแง่ร้ายมาก??)

ข่าวคู่ขนาน คือ ข่าวน้ำท่วมครึ่งประเทศ กับ ข่าวบุกรุกป่าสงวน  ล่าสุด ป่าฮาลา บาลา ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ที่สุด ตอนนี้ไม่รอดแล้วค่ะ  (เป็นอุบายของการทำข่าวที่หวังว่าจะได้ผล!!!)

น่าจะต้องยอมทำใจว่าเป็น "กรรมสาธารณะ" โดยแท้

ถึงอย่างไร เราก็ต้องปรับตัวจนได้  แม้จะสายไปสักนิด

คุณนุชคงสุขสบายดีนะคะ (อนุมานจากบันทึกนี้ค่ะ)

สวัสดีค่ะIco48 มาติดตามข่าวและให้กำลังใจจากภัยน้ำท่วม ได้อ่านแนวคิดที่ดีมากๆ 'ภูมิปัญญากับการแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม' แต่ตัวเองคิดไปถึงการสร้างบ้านที่ลอยน้ำได้ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งไม่นับประเทศที่มีชุมชนเรือและเรือนแพนะคะ บ้านลอยน้ำเมื่อน้ำลดก็สามารถตั้งอยู่บนพื้นดินได้ ถ้าน้ำท่วมก็สามารถลอยในน้ำได้ หลังไม่ใหญ่มากนักแต่คงต้องเตรียมระบบสุขาภิบาลรองรับด้วย เมืองไทยเคยอ่านผ่านๆตามีบริษัทที่พัฒนาวัสดุลอยน้ำที่ใช้เป็นฐานของบ้านได้แล้วแต่ความแข็งแรงคงทนก็ต้องตรวจสอบดู และน่าจะมีการศึกษาวิจัย ในเชิงลึก เพื่อพัฒนารูปแบบบ้านให้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศที่กำลังจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆนะคะ... 

สวัสดีค่ะคุณหมอทพญ.ธิรัมภา ดีใจที่เขียนเรื่องนี้ ได้รับทั้งความรู้ที่มาต่อเติม และแนวร่วมที่จะเดินไปบนเส้นทางแห่งปัญญาในการใช้ชีวิตด้วยกันค่ะ

เมื่อเราเข้าใจว่าอะไร เป็นอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ทำให้ไม่ทุกข์ระทม

ขอบคุณในคำอวยพรค่ะ 

ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ในคำชมข้อเขียนนี้ค่ะ

ตอนฟังแนวคิดจากคนข้างกายก็รู้สึกว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังแนวคิดที่ชัดเจนอย่างนี้มาก่อนในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วม เขาพูดเสมอว่า สมัยก่อน น้ำหลาก เป็นฤดูกาล เป็นสิ่งที่คุณค่าต่อการดำรงชีวิตของคนทำนาเพราะน้ำหลากพาสารอาหารมากมายมาให้ต้นข้าว คนที่ไม่ได้ทำนาก็ยังรู้จักปรับตัวให้มีความสุขได้ แต่คนสมัยนี้ น้ำที่มามากกลายเป็น อุทกภัย เสมอ คนสมัยนี้ชอบพูดปาวๆตามๆกันว่าต้อง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ทว่าไม่เห็นทำอะไรได้จริง วิกฤตก็ยังคงเป็นวิกฤตซ้ำซาก มิหนำซ้ำสื่อเองก็มักรายงานข่าวแบบน้ำตาท่วมจอ ไม่ค่อยนำเสนอตัวอย่างดีๆที่คนพื้นที่เขาอยู่ได้เพราะเขาเข้าใจภูมิศาสตร์ของตนเอง คนส่วนใหญ่เลยทดท้อ หดหู่ ไม่เกิดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาในพื้นที่ตัวเอง

นุชคิดว่าจะต้องขอเรียนเชิญอาจารย์มาอยุธยาสักครั้ง อยากให้คนที่คิดอะไร ทำอะไรคล้ายกันโดยมีศิลปะเป็นจุดร่วมได้พบได้พูดคุยกันอย่างออกรสและเป็นการเติมพลังแก่กันด้วย  บ้านอาจารย์ที่เชียงใหม่เราก็คงจะมีโอกาสได้ไปเยือนไปเยี่ยมอาจารย์เช่นกันค่ะ เพราะเขาก็จะมีงานที่ต้องขึ้นไป แบบไปๆมาๆ

อยากชมบ้าน สวนน้ำ-สระบัวและกิจกรรมงานศิลปะที่อาจารย์จะทำมากเลยค่ะ

ขอบคุณคุณหมอCMUpalเช่นกันค่ะ ที่สนใจ มาเยี่ยม มาร่วมคิด ตอนนี้มีหลายองค์กร โดยเฉพาะที่เป็นเอ็นจีโอหันมาช่วยส่งเสริม ฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็มีความพิเศษในตัวเองเหมาะกับแต่ละท้องถิ่น เรื่องเทคนิคคงไม่ยากเย็น การวิจัยศึกษาก็คงทำให้เกิดสายพันธุ์ที่เหมาะสมได้ แต่ที่จะสำเร็จยากก็คือการปรับใจ ปรับวิธีคิดของชาวนาที่ถูกครอบงำให้ชินกับการทำอะไรแบบเดิมๆ เหมือนคนทั่วไปยุคนี้ที่ต้องการความเร็ว ความง่าย และได้เงินมากๆ

สวัสดียามบ่ายค่ะ

อ่านในมือถือ....กว่าจะทักทายพี่นุชก็วันหยุดละค่ะ

บ้านริมน้ำป่าสัก ที่ชั้นสอง....ที่สูงพ้นน้ำหลากได้ทุกปีนี้ นับว่าเป็นการใช้และเข้าใจรหัสลับจริงๆค่ะ...

ได้เห็นฝีมือ และนับถือท่านอาจารย์..มานาน..แล้วค่ะ ^^

และ...อิอิ...ดังนั้นครัวชั้นสองที่พี่นุช รอ...นานนิดนึง ต้องใช้ได้แบบคุ้มค่าปลอดภัยสวยงามคู่ควรแน่ๆค่ะ

หมาน้ำ....อิอิ

สงสัยอีกแล้วค่ะ หมาดอย ว่ายน้ำเป็นไหมหนอ !!!

งั้นขอนำมาเยี่ยมและใช้ลงทะเบียนจองว่าจะต้องขอไปเยือนสักวันเลยเชียวละครับ
งานชุดนี้เล่าเรื่องชุมชนชาวนาบัว กับการ dialogue กันของคลื่นความเปลี่ยนแปลง การขยายตัวของเมืองกับการปะทะกันของความเป็นชนบท สังคมไทย ท้องถิ่นกับโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีทั้งความทดแทน เปลี่ยนผ่าน การกลบและกดทับ กลืนกิน เลือนหาย ผสมผสาน กลมกลืนเกื้อหนุนกัน การเปลี่ยนผ่านสู่อีกรูปการณ์เฉพาะของตนเอง  ทั้งสามารถเลือกสรร สร้างสรรค์ และไหลไปตามกระแสธารของคลื่นการเปลี่ยนแปลงนานา

                          ดอกบัวและความเป็นสังคมไทย

                                                ฤาแห้งโหยทางจิตวิญญาณ

เป็นการนำเอางานวิจัยชุมชนและสร้างความรู้ท้องถิ่นที่พุทธมณฑลไปเล่าใหม่ด้วยภาษาศิลปะ แล้วก็พาหมู่เพื่อนในแนวทางเดียวกัน ไปจัดแสดงกันในที่ต่างๆเพื่อเปิดเป็นพื้นที่คุยกันด้วยสุนทรียสนทนา Connect ผู้คนกับโลกกว้างด้วยแง่งามและการรื่นรมย์ในชีวิตด้วยการคิดใคร่ครวญอยู่เสมอ ก็สนุกและเห็นแนวการทำงานในมิติใหม่ๆที่ใช้หลายอย่างที่สนใจได้ดีเหมือนกันครับ

                         ชุมชนเกษตร ชุมชนเมือง นาข้าว  นาบัว  เฉลว

                                              คืออาภรณ์แห่งท้องทุ่ง                   

ค่ะคุณยายธี ปัญหาน้ำท่วม มันไม่ใช่แค่ปริมาณและความแรงของกระแสน้ำ ประเด็นเรื่องสารเคมี สารพิษจากโรงงานมากมายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นาข้าวอย่างท้าทายมีผลเสียหายร้ายแรงแต่หน่วยงานรัฐไม่มีใครดูแลตรงนี้เลย ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชังแม่น้ำ หมดเนื้อหมดตัวกันไปหลายรายเพราะเหตุสารพิษนี้คะ

มีหลายคนพูดว่ากฏหมายบ้านเรามีไว้ให้ละเมิด เราคงต้องช่วยให้คนดีอยู่ได้ เอาน้ำดีไปไล่น้ำเสียประการหนึ่ง และขอให้คนชั่วเวรกรรมส่งผลโดยเร็วตามกรรมของตนนะคะ

คิดถึงคุณยายธีค่ะ

ความเป็นปกติสุขพอดีๆเช่นกาลก่อนท่าจะเกิดได้ยากแล้วนะคะคุณnui แม้ว่าหนังสือ"เมื่อโลกเอาคืน" เหมือนจะชี้ว่าหมดหวังที่เยียวยาโลกได้ทัน แต่เราก็ต้องปรับตัวให้เกื้อกูลโลกอยู่ดี ไม่ปล่อยให้โลกเสื่อมไปโดยไม่ทำอะไร เพราะเรารู้ว่าหากเราอยู่เฉย เราตายแน่ แต่หากพยายามให้เต็มที่อาจมีทางรอด แม้นว่าจะไม่รอดในที่สุดแต่เราก็จะไม่เสียใจเพราะเราได้ลงมือทำเต็มที่แล้ว

โลกตอนนี้มีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้งมากๆ นอกจากต้องเตรียมเรือแล้วต้องเตรียมโอ่งใส่น้ำด้วยนะคะ

นุชอยู่ได้สบายดี ขอบคุณค่ะ วันนี้ก็ชวนเพื่อนมาทานข้าวกลางวันที่บ้าน เพื่อนเพิ่งกลับไป เอาเรือไปรับพายเข้ามา พอเห็นบ้านทุกคนบ่นว่าเศร้า เสียดายบ้าน จนต้องปลอบคนมาเยี่ยมว่าคนอยู่ทุกวันยังคงมีความสุข ให้ทำใจให้สบายๆ ทานข้าวผัดดอกโสนให้อร่อย ลองมองให้เห็นความงามของน้ำที่ปรากฏต่อหน้าเดี๋ยวนี้ให้ได้ เลยคุยเรื่องธรรมะ-ธรรมชาติกันเพลิดเพลินค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ดร. พจนา แย้มนัยนา เนเธอร์แลนด์เป็นตัวอย่างที่ดียิ่งในการจัดการเรื่องน้ำกับการดำรงชีวิต ได้เห็นเขาทำเรื่องเขื่อน บ้านลอยน้ำแบบเดิมๆที่เห็นริมคลองในอัมสเตอร์ดัม และได้ชมสารคดีบ้านสมัยใหม่ไฮเทคที่ยกตัวได้ตามระดับน้ำอย่างมั่นคงแถมเขายังออกแบบระบบถนนให้ลอยได้ด้วย ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการบริหารจัดการ การแจ้งเตือน การอพยพคนและการจ่ายทดแทนค่าได้รับความลำบาก-เสียหาย เห็นแล้วทึ่งมากๆค่ะ เขาใช้ข้อมูลที่ผ่านมาในการประมวล คำนวณว่าน้ำจะท่วมเขตใด ต้องปิดบริเวณใด และบริเวณใดต้องเปิดปล่อยให้น้ำท่วมส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ คนของเขาก็ยอมทำตามและรับค่าทดแทนความเสียหายและความลำบากที่เหมาะสม

น้ำท่วมบ่อยๆเช่นนี้การศึกษาเรื่องวัสดุและแบบบ้านที่เหมาะสมมีความจำเป็นมากค่ะ

ขอบคุณค่ะที่มาร่วมต่อความคิดกัน

สวัสดีวันหยุดค่ะคุณคุณแจ๋ว หากอยากมาสัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเอง มาได้ทุกเมื่อนะคะ รีบๆมาเดี๋ยวน้ำลด อดนั่งเรือพาย^___^ 

ตอนคุยกันลืมไปแล้วว่าคุณแจ๋วเคยบอกพี่ว่าได้เห็นผลงานของคนข้างกายพี่ที่ไหนน้อ อิ อิ สว. ความจำสั้น

หมาดอยว่ายน้ำได้ไหม ไม่แน่ใจ แต่คงว่ายไม่เก่งนะคะ ต้องไถลลงมาตามสไลเดอร์ก่อน^___^

เมื่อครัวใหม่เสร็จจะเชิญมาฉลองกันหน่อยนะคะ

ยินดีอย่างยิ่งเลยค่ะอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อาจารย์สะดวกเมื่อไหร่ก็เชิญได้ทุกเมื่อ คุณเอกนำทางมาได้นะคะ หรือหากจะเดินทางมาเองนุชส่งแผนที่ให้ได้ค่ะ จะมาตอนน้ำท่วม หรือน้ำลดก็ได้ค่ะ

จะตามไปอ่านงานของอาจารย์ค่ะ จากภาพเขียนเป็นงานที่มีมิติจิตวิญญาณลึกซึ้งมากนะคะ เป็นการทำงานเชื่อมโยงกับคนหลากกลุ่มที่น่าเบิกบานจริงๆค่ะ อยากนั่งฟังอาจารย์และคนข้างกายนุชสุนทรียสนทนากันจังเลยค่ะ

วันนี้เพื่อนจากอยุธยา มาร่วมงานเกษียณ อายุลูกจ้าง สาธารณสุข ที่รพ.มหาราชนครฯ

ได้เล่าให้ฟังว่า อยุธยายังท่วมไม่เลิก

ขอมาให้กำลังใจคุณนายสู้กับภัยธรรมชาติ

อีกไม่กี่วันน้ำคงลงมาที่ปักษ์ใต้บ้านเรา

เห็นฝีมือท่านอาจารย์.....จากบ้าน ท่านผศ.สายจิตร สิงหเสนี ที่สร้างราว 20 ปีก่อนโนน้ๆๆค่ะพี่นุช

ยังเคยเป็นฉากละครทางทีวีด้วยนะคะ

หากมีโอกาสคงได้ไปเที่ยวบ้านริมน้ำของพี่นุชค่ะ...

แต่เกรงใจพี่ (พี่น้อย)จะเหนื่อยๆ ค่ะ

เรือที่เห็นในภาพสง่างามบริบูรณ์เชียวคะ.....

และดอกไม้สีม่วง....สวยจังค่ะ

^___^

ปล. ระดับน้ำวันนี้สูงชึ้นรึเปล่าคะ

สวัสดีค่ะพี่นุช

หนูแวะมาเยี่ยมค่ะ

เข้ามาบ้านนี้ที่ไรได้ความรู้มากมาย ชอบค่ะ

ส่งเจ้าตัวนี้ไปช่วยน้ำท่วมน่ะค่ะ

 ขอบคุณน่ะค่ะ

  • พี่นุชจริงด้วยครับ
  • คิดถึงสมัยเด็กๆๆพอน้ำท่วมทีสนุกมาก
  • ทั้งหาปลาเล่นน้ำ
  • ภูมิปัญญาในสมัยก่อนมีวิธีการจัดการกับน้ำได้ดี
  • ในปัจจุบันเราไม่ได้จัดการกับน้ำแต่ยังสร้างบ้าน ถนน ที่พัก ขวางทางน้ำด้วยครับ
  • คนนี้เป็นคนเริ่มเรื่องที่จะหาวิธีการปลูกไม้ผลที่บางบาลครับ
  • http://www.gotoknow.org/blog/samart9/461904
  • ขอบคุณมากครับ
  • เจ้าหมาน้อยสามตัว
  • สงสัยชอบเล่นน้ำ
  • เหมือนหมาน้อยที่บ้านเลย
  • เห็นน้ำทีไร
  • กระโดดเล่นทุกที

เจ้าแมลงปอตัวนี้สวยจริงๆเลยค่ะน้องหนูรี สีน่าพิศวง ปีกสีเหลือบรุ้งสวยชวนฝัน

ขอบคุณค่ะที่มาให้กำลังใจ

ค่ะอาจารย์ขจิต

  • ภูมิปัญญาในสมัยก่อนมีวิธีการจัดการกับน้ำได้ดี
  • ในปัจจุบันเราไม่ได้จัดการกับน้ำแต่ยังสร้างบ้าน ถนน ที่พัก ขวางทางน้ำด้วยครับ
  • เราจะพ้นทุกข์ซ้ำซากได้ก็ด้วยการมีสติ ปัญญาจัดการคนที่สร้างปัญหากับระบบน้ำธรรมชาติ พร้อมๆไปกับการติดอาวุธทางปัญญาให้ชุมชนในพื้นที่ว่าจะสามารถเตรียมตัวได้อย่างไรด้วยนะคะ

     

    แวะมาทักทายและชื่นชมในกระบวนทัศน์ในการใช้ชีวิตริมน้ำของอาจารย์ครับผม

    บ้านยายและบ้านพ่อแม่ผมที่อำเภอเสนา ต้องปิดและอพยพทุกคนมาอยู่บ้านที่ กทม. แล้วครับ

    สวัสดีค่ะคุณนายดอกเตอร์

    • สงสารจัง คงตกใจมากนะคะ

    ขอบคุณค่ะอาจารย์Dr. Pop สภาพฝนฟ้าอากาศที่วิปริตรุนแรงเช่นนี้จริงๆก็ยากแก่การมีชีวิตริมน้ำนะคะ ขนาดว่าเราก็เตรียมตัว เตรียมใจพอประมาณยังแย่เหมือนกัน อย่างไรก็คงจะต้องเรียนรู้ไป ปรับตัวไปค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณมนัสดาคนสวย น้องหมาทั้งสามผ่านการมีน้ำท่วมสูงครั้งใหญ่ๆมาสามครั้งแล้วค่ะ พากันจะดีใจด้วยซ้ำที่ได้ขึ้นมาสิงสถิตย์อยู่บนนอกชาน ตอนน้ำแห้งเขาจะถูกห้ามไม่ให้ขึ้นนอกชานค่ะ

    เจ้าตัวที่ว่ายน้ำคือ ถุงเงิน ชอบว่ายน้ำมาก แต่ทุกตัวเวลาเห็นพี่น้อยจะพายเรือออกไปก็จะอยากลงเรือ อยากว่ายตามต้องห้ามกันค่ะ เพราะตอนนี้น้ำสูงมากแม้ด้านในจะน้ำไม่แรง แต่เขาต้องว่ายไกล กลัวหมดแรงลอยไปกับน้ำค่ะ

    สวัสดีค่ะ

    มาเป็นกำลังใจกันยามน้ำล้นค่ะ ต่อไปวิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่คงต้องเตรียมตัวและปรับตัวหลายๆด้านให้รับกับสภาพการต้องอยู่ในภาวะการณ์ที่น้ำมากขนาดนี้ หลังจากนี้ชาวบ้านและรัฐคงต้องคิดร่วมกันจริงจังที่จะปรับหลายสิ่งให้อยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนมากนัก หากต้องอยู่ในสภาพแบบครั้งนี้ น่าเห็นใจจริงๆ เพราะภาวะธรรมชาติที่เปลี่ยนไปคงทำให้เราต้องปรับตัวกันใหม่จริงๆเพื่อลดความเสียหายที่มากขึ้นๆ ทางใต้ปีนี้ก็ห่วงกันเพราะจะเผชิญน้ำหลากหลังตุลาคมอีก

    สว้สดีค่ะ

    ขอแนะนำตัวนะคะ ทำงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

    อยากทราบว่าหากส้วมใช้ไม่ได้ จะมีวิธีการขับถ่ายกันอย่างไร?

    รวมทั้งการกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอยทั้งหลาย

    ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีค่ะพี่นุช

    ดาวเห็นภาพน้องหมาทั้งสามตัวแล้ว รู้สึกได้ถึงความสุขของการได้อยู่กับสายน้ำ...

    น้องหมาเป็นต้นแบบของความสุขที่ดีจริงๆนะคะ ^_^

    ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกจะเป็นอย่างไร คงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องปรับตัวปรับใจรับกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินะคะ

    พี่นุช..มองภาพคนริมน้ำได้หมดจดเลยค่ะ

    วิถีชีวิตคนริมน้ำ ...เรียนรู้เสมอใช่มั๊ยคะ

    อ่านๆ ดูนี่ ต้องแก้ระดับมหภาคเลยนะครับ

    ขอบพระคุณค่ะอาจารย์mee_pole เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อคิดของอาจารย์ค่ะ นี่เป็นทางออกเดียวของคนไทยที่จะมีชีวิตอยู่อย่างพอจะเป็นปกติสุขได้กับภาวะที่เปลี่ยนไปของธรรมชาติ ของโลกนะคะ

    นอกจากข่าวเกี่ยวกับระดับน้ำรายวันที่นำควาเดือดร้อนไปถึงทุกหนแห่ง ยังมีเรื่องความขัดแย้งของผู้คนที่ต่างฝ่ายต่างต้องการรักษาพื้นที่ของตนให้เดือดร้อนน้อยที่สุด แต่เนื่องจากเราไม่เคยเห็นการมองปัญหาที่เป็นภาพรวมว่าการแก้ปัญหาจากจุดนี้ แบบนี้ แบบนั้น จะส่งผลเป็นทอดๆต่อไปอย่างไร ทำให้การแก้ปัญหาเป็นจุดๆนี้ซ้ำเติมทุกข์จากระดับน้ำเข้าไปอีก สงสารชาวบ้านมากๆเลยค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณnana ดิฉันคงไม่สามารถให้คำตอบแก่คุณได้หรอกค่ะ ไม่ทราบนโยบายและวิธีการของทางรัฐว่าจัดการอย่างไร เพราะน้ำก็ท่วมเมืองไทยมาทุกปี อยุธยานั้นยิ่งเป็นสิ่งที่เกิดประจำ เห็นการแก้ปัญหาเมื่อน้ำท่วมแล้วก็แค่จัดสุขาลอยน้ำไปให้ตามชุมชน

    ที่บ้านเนื่องจากเราทำระบบถังปฏิกูลสมัยใหม่ ทำให้ยังใช้ได้แม้ระดับน้ำจะสูงขึ้น สำหรับชาวบ้านแถบนี้ก็ทราบว่าเขามักไปขอใช้ห้องน้ำบ้านคนที่ยังไม่ท่วม แต่บางคนที่เขาไม่มีเรือ หรือมักง่ายก็ขับถ่าย ทิ้งทุกอย่างลงน้ำ

    การแก้ปัญหาเรื่องนี้ตอนที่น้ำกำลังท่วม คนกำลังเอาตัวรอดรักษาทรัพย์ รักษาชีวิต ให้ชาวบ้านเกิดจิตสำนึกเองคงยาก รัฐต้องช่วยบรรเทา จัดการให้ด้วย หากลืมมองเรื่องนี้ก็คงสกปรกเกิดโรคระบาดกันใหญ่แน่ๆค่ะ

    หลังน้ำท่วมทุกครั้งในแถบที่ดิฉันอยู่นี้ ชาวบ้านก็ลืมเรื่องน้ำท่วม ปล่อยขยะเกลื่อน ได้แต่เขี่ยขยะไปใส่ในคูน้ำข้างถนน นอกจากสกปรกแล้วยังเป็นทัศนอุจาด ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อนามัยในชุมชน ไม่ได้มาจัดการเรื่องสร้างความตระหนักในเรื่องความสะอาด การเตรียมพร้อมสำหรับน้ำท่วมครั้งต่อไปเลย คนส่วนใหญ่คิดถึงแต่เรื่องเงิน การทำมาหากินแบบทุนนิยมกันไปหมด พูดแล้วก็นึกสงสารการที่คนเหล่านี้ตกอยู่ในวังวนของความไม่รู้ และไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงใดๆอีกด้วย

    สวัสดีค่ะคุณblue_star ใจของเรานี่สำคัญจริงๆค่ะ เมื่อเหตุมันเกิดแล้วก็ต้องพยายามแก้ไข ปรับตัวเท่าที่จะทำได้ หากปล่อยให้ใจจมทุกข์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ปัญญาไม่เกิด

    หากน้ำท่วมใหญ่อย่างกว้างขวางครั้งนี้ได้ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความผิดพลาด ความไม่รู้ ความประมาทและร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาอย่างใช้ สติ และปัญญา ก็คงจะสามารถอยู่ได้โดยไม่ทุกข์นัก เพราะอย่างไรเสียน้ำก็ยังคงจะท่วมมาทุกปี

    ขอบคุณนะคะที่มาเป็นกำลังใจ ลมโชยเอื่อยๆเจ้าน้องหมานอนหลับสบายอยู่ข้างพี่ค่ะ

     

    ขอบคุณค่ะคุณครู ป.1ที่มาเยี่ยม คนเราตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงไหนก็ต้องเรียนรู้ ภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศของพื้นที่นั้น เมื่ออยู่อย่างเข้าใจก็มีวิธีการปฏิบัติ ดำรงชีวิตที่มีวัฒนธรรมสอดคล้องกับภูมิและนิเวศของตน ทำให้เดือดร้อนน้อย เพราะเรียนรู้จากธรรมชาติ จากสิ่งรอบตัวตลอดเวลาและปรับตัวได้ดีนะคะ

    ที่วัดสะตือ อำเภอท่าเรือ มีพระนอนองค์ใหญ่ เรียกกันว่าหลวงพ่อโต ตรงนั้นก็น้ำท่วมทุกปีเหมือนกัน อยู่ติดกับเขื่อนพระรามหก ปีที่แล้วท่วมมากผิดปกติจากในรอบหลายสิบปี  ชาวบ้านเขาพูดกันว่า หลวงพ่อโตท่านอยากสรงน้ำ(อาบน้ำ) แต่ปีนี้ท่านอยากสรงเกศ (สระผม) เพราะน้ำยิ่งหนักกว่าปีที่แล้ว พี่ก็ได้แต่ระวังเหตุการณ์ค่ะ ต้องยอมรับเพื่อเรียนรู้จากธรรมชาตินะคะ ด้วยความนอบน้อม น้ำท่วมปีหน้าเราจะต้องอยู่เป็นสุขกว่านี้

    คงต้องเป็นเช่นนั้นค่ะคุณบีเวอร์ มิฉะนั้นน้ำท่วมทีไร เราก็ได้แค่บรรเทาทุกข์ และทุกข์เดิมๆก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

    คนที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ มาเรียนรู้ภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตอย่างไม่เป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ คือพวกนักพัฒนา เทคโนแครต ผู้กำหนดนโยบายการพัฒนา และรัฐนะคะ เราชินกับการคิดอะไรแยกส่วน

    ที่น่าจะทำได้เลยก็คือระดับครัวเรือน-ชุมชนในการจัดการปัญหาขยะสะสม หมักหมม การสร้างบ้านเรือน การเตรียมพร้อม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชน สิ่งเหล่านี้ปรากฏในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษทั้งสิ้นค่ะ แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเราหลงลืมทั้งองค์ความรู้ วิธีการจัดการ กระบวนการสร้างความรู้เพื่อใช้ดำรงชีวิตของตนเอง และความเกื้อกูลที่จะอยู่ร่วมกัน ชุมชนเคยชินกับการรับนโยบายมาทำตาม ได้เงินมาทำโครงการแบบชั่วคราว และแข่งกันในทางวัตถุนิยม ใจเสียศูนย์กันหมด พากันเกิดความเห็นที่ผิด ก็ทำผิดๆต่อๆกันมานะคะ

    สวัสดีค่ะ
    ต่อไป คนไทยคงต้องปรับตัวกันมากยิ่งขึ้น
    ภาวะธรรมชาติที่เปลี่ยนไปมาก สังเกตดูความเสียหายเรื่องน้ำท่วมมากขึ้นๆ

    ทางใต้ปีนี้ก็น่าห่วง เพราะจะเผชิญน้ำหลากหลังตุลาคมอีก

     

    ...ม่วงพราวดังสาวน้อย                   ร่วงผลอยคว้างหล่นจากต้น

    สีสันหวานยามยล                          แต้มแต่งคุ้งน้ำดินดำ

     

    เจ้าถึงกาลเวลา                            หรือรู้สาปลอบขวัญย้ำ

    ธรรมชาติหมุนเปลี่ยนย่ำ                 แล้งล้าแล้วชุ่มท่วมลุ่มดอน...  

     

    • พี่นุชเจ้า..
    • 

    ทุกครั้งที่น้ำหลากน้ำท่วม  จะนึกถึงพี่นุขเสมอ   เป็นห่วงและเป็นห่วง   ตามที่ได้เคยบอกไปหลายๆ ครั้ง   แต่ทุกครั้งจะเป็นฝ่ายได้รับแง่คิดมุมมองดีๆ จากพี่นุชกลับมามากกว่า  

    ต้อมเชื่อมั่นใน "ภูมิปัญญาชาวบ้าน"   และตั้งใจไว้ว่าหากวันใดที่พร้อมจะปรับความคิด  ปรับชีวิตในยืนหยัดในวิถีนี้ (คงอีกนาน น้าน นาน)  

     

     

     เรายังต้องปรับตัวเองให้อยู่ได้อย่างมีความเข้าใจธรรมชาติ    เราไม่สามารถกลับไปมีชีวิตอยู่แบบคนยุคก่อนสมัยใหม่ได้ แต่ต้องหารหัสลับให้เจอ  นั่นคือ ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษเราใช้ในการดำรงชีวิต มีสติ มีปัญญา มีเมตตา มีความนอบน้อมต่อธรรมชาติ   เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่ได้อย่างเหมาะกับจังหวะของฤดูกาลที่แปรเปลี่ยน เข้าใจทั้งภูมิศาสตร์และระบบนิเวศของตน

    คำว่า น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ จิงเหลนหางงอ กอดคอดโยกเยก เป็นคำที่ท่านอาจจะเคยถูกพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายร้องกล่อมให้นอนในเปล แต่ในปัจจุบัน คำกล่าวดังกล่าว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือยุคสมัยที่เรียกว่ายุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งทำให้เราและท่านพยายามหลีกหนีธรรมชาติ แต่ผลสุดท้ายเป็นอย่างไร ก็รู้กันอยู่อย่างที่เห็นว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่ธรรมชาติกำหนดทั้งสิ้น แม้แต่เราเกิดมาก็เกิดมาจาก กรรม คือ การกระทำทั้งสิ้น กรรม ก็คือ ธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อลองพิจารณาดูแล้ว ว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่ถูกกำหนดไว้แล้วในสารบบ เราหรือท่าน ยังพยายามหลีกหนีกันอีกหรือ หรือว่าพยายามปรับตัวเข้าหาหรือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะดีกว่า ดูแล้วบางครั้งบทสรุปจริงแล้วว่า ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามารถแก้ไขได้ด้วย ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักของพุทธ ผูตื่นอยู่ตลอดเวลาที่อยู่ในโลกนี้เท่านั้น ด้วยเอวัง

    สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์Sasinand  เป็นเช่นคุณพี่กล่าวจริงๆค่ะ พอลมหนาวมาจากจีน ไล่ฝนลงใต้ ใต้ก็ต้องเผชิญกับน้ำท่วมอีก ไม่ว่าอยู่ภาคใด คนไทยต้องปรับตัว หาข้อมูล หาความรู้เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

    คิดถึงคุณพี่จริงๆค่ะ แต่นุชแทบไม่ได้ใช้FB เลยไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนคุณพี่ที่นั่นค่ะ

    ขอบคุณค่ะคุณแสงแห่งความดี กำลังใจยังดี พร้อมรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่ะ รู้สึกดีมากที่มาช่วยให้กำลังใจคนน้ำท่วมบ้านนะคะ

    พรุ่งนี้คนข้างกายไปชวนกัลยาณมิตรนำของมาช่วยบรรเทาทุกข์ชาวบ้านในแถบนี้กัน การให้กำลังใจ ความมีน้ำใจช่วยเหลือกันในยามยากเป็นสิ่งที่คนไทยมีให้กันเสมอนะคะ

    แสนสุนทรีย์กับคำกลอนจากน้องหมอเล็กภูสุภา ขอบคุณค่ะ

    สะท้อนสัจธรรมที่เห็นได้จากธรรมชาติ วงจร วัฎจักรที่ไม่หยุดนิ่ง เมื่อตระหนักรู้ ก็ไม่ทุกข์นะคะ

    คุณต้อมเนปาลีเจ้า วิธีคิด วิธีมองโลกเป็นสิ่งสำคัญมาก หากมองถูก เห็นถูก คิดถูก ก็จะช่วยกำกับให้การกระทำเป็นสิ่งถูกไปด้วย ความสุขที่แท้จริง ที่ยั่งยืน เริ่มจากการที่นั่นเสมอค่ะ

    ค่อยๆปรับความคิดก็ได้ค่ะ ตอนนี้ยังไม่พร้อมปรับวิถีชีวิตก็ไม่เป็นไร พี่ว่าการค่อยๆปรับความคิดเหมือนการตั้งเข็มทิศ ตั้งจิตอธิษฐานที่จะใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายตามอุดมการณ์ของตัวเองนะคะ

    ขอบคุณที่เป็นห่วงค่ะ หากน้ำยังท่วมไม่ถึงชั้นสอง (เหลืออีกสองคืบ)ก็อยู่ได้ สบายดีพอประมาณ หากท่วมชั้นสองคงต้องไปอยู่ที่อื่นชั่วคราวแหละค่ะ

    ขอบคุณคุณpakค่ะที่มาเยือนและร่วมแสดงความคิดเห็น

    เชื่อเช่นกันค่ะว่า ผลที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาตินานานี้ มีเหตุแน่นอน มนุษย์ทำสิ่งใดไว้ย่อมได้รับผลแห่งการกระทำของตนทั้งดีและชั่ว การอยู่อย่างมี สติ ปัญญา ย่อมนำพาเมตตา-กรุณาให้งอกงาม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามทุกข์ร้อน

     

    ขอขอบคุณทุกท่านนะคะที่มาให้กำลังใจ มอบดอกไม้แห่งความปรารถนาดีให้เช่นนี้ ทั้งกัลยาณมิตรที่คุ้นเคยกันอยู่ และท่านที่ผู้เขียนเพิ่งได้พบครั้งแรก ณ ที่นี้

     

    ขอบคุณ อาจารย์ค่ะ ที่เขียนบันทึกนี้ ได้ข้อคิดดีๆ ที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท