๑๙๔.ตำนานพระธาตุจอมศีล


ฝ่ายนางยักษ์ เห็นสามีวิ่งก็ไต่ถามหาสาเหตุ เมื่อตนได้ยินก็รู้ได้ทันทีเพราะเป็นยักษ์ที่ฉลาด และในอดีตชาติก็เคยทำบุญแล้วปรารถนาปัญญาอยู่บ้าง จึงได้พากันมาขอสู่มาลาโทษ พระพุทธเจ้าก็ยกโทษให้แล้วทรงตรัสสั่งสอนและให้ดำรงอยู่ในศีล ๕ เป็นต้น จากนั้นก็ทรงถอนเส้นพระเกษาให้ยักษ์ทั้ง ๒ เอาไปบูชาพญายักษ์ก็เลยเอามาสร้างเป็นเจดีย์เล็ก ๆ ไว้บูชาสักการะ ณ ที่แห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า “พระธาตุเจ้าจอมศีล” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    

ตำนาน [1]

ตอนที่  ๑  ความเป็นมาของพระธาตุจอมศีล

 

ความเดิม 

             เดิมทีพระธาตุจอมศีลเป็นพระธาตุเล็ก ๆ  ที่มีผู้ก่อสร้างด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ซึ่งประมาณกันว่า สูงแค่ ๓  ศอก  [2]  ในอดีตของการสร้างปูชนียสถานของชาวไทยนิยมสร้างวัดหรือพระธาตุในสถานที่สูงและเด่นที่สุดในชุมชนนั้น ๆ  กรอบกับการให้ความนับถืออย่างสูงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี  พ.ศ.  ๓๐๐  ก็ตาม  คติความเชื่อเรื่องราวอันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้นมีความผูกพันกันเน้นเฟ้นกับชาวบ้านยิ่งขึ้น  ในอดีตแม้ว่าคนไทยจะเป็นผู้นับถือศาสนาผี  คือการบนบานสานกล่าวก็ตาม เช่น หอผี  อันหมายถึงหอเจ้าพ่อลานช้าง  ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นตำนานที่เล่าขานกันไม่จักจบสิ้นของคนในท้องถิ่น

            ในการสร้าง  พระธาตุจอมศีลขึ้นครั้งแรกก็ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา ซึ่งในคติพระพุทธศาสนาถือกันว่าผู้ที่ได้สร้างพระธาตุจะเป็นผู้ที่ทำบุญกุศลใหญ่หลวง  เช่นตอนที่พระเจ้าอโศกมหาราชต้องการใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา  พระองค์ทรงให้จัดสร้างพระเจดีย์ถึง  ๘๔,๐๐๐  แห่งทั่วชมพูทวีป  เป็นต้น

            ดังนั้น พระธาตุองค์น้อย  ซึ่งภายในบรรจุสิ่งที่เป็นมงคลยิ่งสำหรับชีวิตของคนไทย  จากจุดนั้นผ่านไป กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสิ่ง  รวมทั้งตัวของมันเอง  จึงทำให้พระธาตุองค์น้อยตั้งทรุดโทรมตามกาลเวลา

บูรณะ 

            เมื่อพระธาตุทรุดโทรมลงไปมาก  เพราะขาดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นในปี  พ.ศ.  ๒๔๔๐  ได้มีคณะศรัทธาญาติโยม  และคณะสงฆ์จากเมืองพะเยาเดินทางมาบูรณะเพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่สักการะบูชาของปวงชนต่อไป


ตั้งเป็นวัด

                        ในปี  พ.ศ.  ๒๔๗๐  ครูบาเจ้ากาวีระพระผู้เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านได้เล็งเห็นว่าพระเจดีย์ ณ สถานที่นี้ก็มี สมควรทีพวกเราจะสร้างศาลาเสนาสนะให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ จึงได้ร่วมกันกับชาวบ้านมาก่อสร้างในส่วนที่มีไม่พร้อม  ให้เป็นวัดในปีนั้น [3]

การรับรองจากกรมการศาสนา

            แม้ว่าชาวบ้านจะเรียกว่าเป็นวัดอย่างไรก็ตาม  แต่เมื่อไม่มีพระภิกษุสงฆ์องค์สามเณรอาศัยจำพรรษาอยู่ประกอบกับขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนรุ่นหลังจึงทำให้วัดพระธาตุจอมศีลกลายเป็นวัดร้างตลอดมา  เพราะอยู่ในที่สูงและภูเขาหินไม่มีใครบุกรุกเอาที่ไปทำประโยชน์มากนัก (ความจริงฐานของภูเขาได้ถูกชาวบ้านจับจองเอาแล้วบางส่วน)

            แต่เพิ่งจะได้รับการรับรองจากรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่  ๑๓ ตุลาคม  ๒๕๓๖  นี้เอง

อาณาเขต

                        อาณาเขตทั้งหมดของวัดนี้ไม่ปรากฏอย่างเด่นชัด บ้างก็ว่า ๑๓๕ ไร่  บ้างก็ว่าเขาทั้งลูกนี้แหละคือบริเวณวัด  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำเอาเนื้อที่ของวัดพระธาตุจอมศีลมารวมกับวัดรัตนคูหาวนาราม (วัดดง) แล้วจะได้เนื้อที่ทั้งหมด  ๓๕๐  ไร่  โดยกำหนดเป็นทิศ ๆ  ดังนี้ [4]

            ทิศตะวันออก                          ๘๐๐  วา

            ทิศใต้                                    ๓๐๐  วา

            ทิศเหนือ                                 ๑๐๐  วา

            ทิศตะวันตก                             ๖๐๐  วา

     แต่ก็มีหลาย ๆ  ฝ่าย ๆ  ไม่ยอมรับว่าเป็นจริง  โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นเขตป่าสงวน หรือ  ป่าชุมชน  แต่ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเป็นป่าสงวนจริง  ป่านนี้  ไม่เหลือแม้แต่ต้นไม้ หรือ  พื้นที่ไว้ให้ลูกหลานได้ดูแล้วที่มีอยู่ได้ทุกวันนี้ชาวบ้านเชื่อว่า  เป็นของวัดจึงไม่กล้าที่จะตัดต้นไม้เพราะกลัวบาปแต่นั้นก็ยกความดีความชอบให้ทั้ง  กรมป่าไม้ กับ  กรมการศาสนา  ที่ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเป็นของใครกันแน่จึงทำให้เป็นผลดีทั้ง  ๒  ฝ่าย  กล่าวคือ

            ๑.  ถ้าเป็นของกรมป่าไม้จริง  ถ้าตัดต้นไม้บุกรุกที่บริเวณพระธาตุจอมศีล  ก็จะติดคุกถูกลงโทษทางกฎหมายบ้านเมือง

            ๒.  ถ้าเป็นของกรมการศาสนา ถ้าตัดต้นไม้ บุกรุกที่บริเวณวัดพระธาตุจอมศีล  ก็จะถูกลงโทษทางศาสนา คือบาป

            จะอย่างไรก็ตามศาสนากับอาณาจักรได้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงต่อกัน โดยสังเกตจากโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยสุโขทัยนี้มีลักษณะสอดคล้องคู่ขนานกับการจัดโครงสร้างการปกครองประเทศโดยที่มีพ่อขุนหรือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของทั้งสองฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรอาจพิจารณาได้จากภาพต่อไปนี้ **[5]

การเล่าของสมเด็จพระสังฆราช

            เพื่อเป็นการกระจ่างแจ้งพระสังฆราชทรงเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุจอมศีลว่า ในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จจารึกไปทั่วชมพูทวีปนั้น ได้เสด็จมาประทับฉันภัตตาการที่บนดอย (อันเป็นที่ประดิษฐานของพระจอมทอง  ในปัจจุบัน)  เมื่อฉันเสร็จก็ตรัสบอกให้บอกให้พระเถระชื่อว่าอานนท์ลงมาเอาน้ำหนองเอี้ยง  (บริเวณวัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง  อำเภอเมือง  จังหวัดพะเยาในปัจจุบัน ) [6]  เมื่อพระเถระไปถึงพญานาค ไม่ให้น้ำพระบรมศาสดาจึงดำริว่าเห็นนทีเราต้องลงไปโปรดพญานาคด้วยตนเองเสียแล้วกระมั้ง เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปถึงพญานาคเห็นรัศมีอันน่าเลื่อมใสก็จึงได้ถวายน้ำไป  เมื่อทรงได้น้ำแล้วก็ทรงตรัสสั่งสอนพญานาคแล้วให้ดำรงอยุ่ในคุณงามความดีต่อจากนั้นพระองค์ก็ทำนายว่า  หนองเอื้ยงนี้ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานของปูชนียสถานสำคัญศักดิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยาตลอดไป

การเสด็จจาริก

     จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังวัดต่าง ๆ  ตามลำดับ ดังนี้  วัดป่าแดงหลวง  วัดบุญนาค วัดลี วัดดอยน้อย  วัดแซ่โหว้  และเสด็จต่อมายังม่อนจำศีล  บ้านถ้ำแห่งนี้โดยพาเอา พระโสณเถระ พระอุตตรเถระ  พระรัตนะเถระ  พระอานนท์ พระยาอโศก พระอินทร์  โดยมาพักอยู่บนเขาลูกนี้ (ดอยม่อนจำศีล)

ยักษ์ปฏิบัติธรรม

            ณ เขาลูกนี้ได้ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า  ล้านจ้าง  เพราะกินช้างไปแล้วถึงล้านเชือก  ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำกับนางยักษ์ผู้ภรรยา ออกแสวงหาอาหารตลอดมา วันหนึ่งก็มาพบพระพุทธเจ้ามันก็บอกว่าจะจับกินเป็นอาหารวันนี้ลาภปากเราหนอ  นาน ๆ  ที่จะได้กิน  พระพุทธองค์จึงตรัสว่าอย่ากินตถาคตเลยเธอจักเป็นบาปอย่างมหันต์  แต่พญายักษ์กลับวิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้าโดยเร็ว  พระพุทธเจ้าทรงทราบวาระแห่งจิตพญายักษ์แล้วแสดงอภินิหาร  พญายักษ์เห็นดังนั้นก็สะดุ้งกลัวจนตัวสั่นวิ่งหนีไปแบบไม่คิดชีวิต

นามว่าจอมศีลปรากฏ

            ฝ่ายนางยักษ์ เห็นสามีวิ่งก็ไต่ถามหาสาเหตุ  เมื่อตนได้ยินก็รู้ได้ทันทีเพราะเป็นยักษ์ที่ฉลาด และในอดีตชาติก็เคยทำบุญแล้วปรารถนาปัญญาอยู่บ้าง  จึงได้พากันมาขอสู่มาลาโทษ  พระพุทธเจ้าก็ยกโทษให้แล้วทรงตรัสสั่งสอนและให้ดำรงอยู่ในศีล  ๕  เป็นต้น  จากนั้นก็ทรงถอนเส้นพระเกษาให้ยักษ์ทั้ง  ๒  เอาไปบูชาพญายักษ์ก็เลยเอามาสร้างเป็นเจดีย์เล็ก ๆ  ไว้บูชาสักการะ ณ  ที่แห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า “พระธาตุเจ้าจอมศีล”  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  เพราะยักษ์ทั้ง  ๒  ได้สมาทานศีล  ๕  มีการเว้นจากการฆ่า  เป็นต้น  และได้สร้างพระธาตุเล็ก ๆ  เอาไว้บูชา  *** อาจมีคำถามแย้งในใจว่าทำไมต้องสมาทานเพราะศีล  ๕  เท่านั้นหรือ  แล้วธรรมตั้ง  ๘๔,๐๐๐  พระธรรมขันธ์ไม่สำคัญกระนั้นหรือ ?…อันที่จริงแล้วมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ตามทัศนะพุทธก็คือ  ศีล  ๕  เพราะพุทธศาสนาได้ยืนยันว่าใครก็ตามต้องการเป็นมนุษย์ต้องถือศีล  เพราะกำเนิดมนุษย์ คือ คำนิยามทุกอย่าง เช่น  ทำบุญกุศลก็ได้ ทำความเพียรก็ได้ บำเพ็ญตบะก็ได้  ดังนั้น ศีลจึงจำเป็นอันดับแรกสุดตามหลักของไตรสิกขา  พระพุทธศาสนาสอนว่าใครต้องการเกิดในภพภูมิที่ดี  ต้องถือศีล  ถ้าคิดว่าเราเกิดเป็นมนุษย์แสนลำบากก็ให้นับถือเทวธรรม  คือ  ๑.  หิริ ความละอายแก่ใจ  ๒.  โอตตัปปะ  ความเกรงกลัวต่อบาปก็จะได้เป็นเทวบุตรเทพธิดากันสมใจนึก  แต่ถ้ายังไม่พอใจในภพภูมินั้นๆ  ก็ต้องถือ พรหมวิหารสี่  คือ  ๑.  เมตตา  ความรักใคร่  ๒.  กรุณา ความเอ็นดูสงสาร  ๓.  มุทิตา  ความพลอยยินดี  ๔. อุเบกขา ความปล่อยวางสิ่งที่ควรปล่อยวาง  พระพุทธเจ้ารับรองว่าได้เกิดเป็นพรหมแน่นอนแต่พระพุทธศาสนาได้สอนไปไกลกว่านั้น  กล่าวคือ  ได้สอนถึงเรื่อง  นิพพาน คือ  ความหลุดพ้น  ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป**[7]

 

ตอนที่  ๓  การบูรณะปฏิสังขรณ์

 ชนในท้องถิ่น

            เมื่อพระธาตุชำรุดทรุดโทรมลงมาก ชาวบ้านแถบนี้ก็ได้ช่วยกันมาบูรณะปฏิสังขรณ์  แต่ก็นั้นแหละชาวบ้านก็ช่วยกันมาบูรณะตามกำลังทรัพย์ กำลังศรัทธาที่มีอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ก็ไปตามยุคสมัย  ในยุคสมัยใดบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองการหล่อพระพุทธรูปก็มีพระพักตรยิ้มแย้ม ถ้ายุคใดสมัยใดบ้านเมืองมีศึกสงคราม พระพุทธศาสนาก็อับเฉาวัดวาก็เศร้าหมองการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็เร่งรีบไม่ปราณีตแม้พระพักตรของพระพุทธรูปก็ไม่ยิ้มแย้ม  ดังนั้นการสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ  ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าบ้านเมือง  หรือชุมชนนั้นเจริญหรือพัฒนามากน้อยแค่ไหน

เจ้าเมือง

            ในราว ปี  พ.ศ.  ๒๔๔๐  พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา  ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงบริเวณเมืองพะเยา**(พระเถระรูปนี้มีคุณูปการต่อเมืองพะเยาเป็นอย่างมาก  เพราะท่านได้รวบรวมศึกษาค้นคว้าประวัติก็ดี  ตำนานก็ดี  อันเป็นเครื่องเมือที่ให้อนุชนรุ่นต่อมาได้เสริมสร้างและสืบหาต้นตอของตัวเองว่ามาจากไหนขาดท่านพระเถระรูปนี้เสียหนึ่งท่านแล้ว ประวัติและข้อเท็จจริงของพะเยาจะไม่สมบูรณ์เลย)ท่านไปได้ตำนานม่อนจอมศีลและพระธาตุแซ่โหว้มาจากเมืองน่าน** เดินทางก็ได้มองเห็นว่าตำนานพระธาตุจอมศีลอันมีอยู่ที่ดอยถ้ำนี้มีอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เมืองพะเยานั้นน่าที่จะเป็นบ้านถ้ำปัจจุบัน

            เมื่อท่านพระครูศรีวิลาสวชิรปัญยาได้ไปตรวจดูก็ได้ไปพบเห็นพระธาตุที่ชำรุดทรุดโทรมเสียหายมาก  แม้ว่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งก็ตาม  เมื่อเป็นดังนี้ท่านพระครูฯ  ก็คิดที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อได้โอกาสท่านก็ได้ปรึกษาพระยาอุดรประเทศทิศ (ไชยวงศ์)  เจ้าเมืองพะเยาซึ่งเป็นผู้มีความเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อพระยาอุดรประเทศทิศได้ตอบตกลงทั้งพระสงฆ์และญาติโยมจากเมืองพะเยาและชาวบ้านถ้ำจึงได้ร่วมกันมาบูรณะพระธาตุแห่งนี้

            เมื่อคราวบูรณะครั้งนั้นมีประธานในการบูรณะดังนี้ คือ

                        ๑.  พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา   เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

                        ๒.  พระยาอุดรประเทศทิศ  (ไชยวงศ์)  เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

           

ชาวบ้านถ้ำร่วมกันบูรณะ

     ในคราวนั้นทางชาวบ้านเมื่อเห็นทางเจ้าเมืองพะเยามาช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ก็มีความยินดีเป็นอย่างดีจึงได้ช่วยกันกับชาวเมืองพะเยาบูรณะปฏิสังขรณ์  โดยมี

                        ๑.  ครูบาเจ้ากาวีระ  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

                        ๒.  พ่อแสนธรรมเสมา  เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

วิหารและพระพุทธรูป

            ในปี  ๒๔๕๒  ครูบาเจ้ากาวีระเห็นว่าเสนาสนะอันเหมาะสมแก่บรรพชิตและเมื่อกิจกรรมในงานสักการะพระธาตุอันจะมีขึ้นทุก ๆ  ปี  ยังขาด  มีไม่เพียงพอ  ยังไม่พร้อม  จึงได้ร่วมกันกับชาวบ้านบูรณะขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและได้ยกเป็นวัดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในปีนั้นและเมื่อขาดการทำนุบำรุงและพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่ก็ยังไม่มี วัดพระธาตุจอมศีลก็ร้างลงอีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้นจึงเหลือเป็นเพียงปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งเท่านั้นแต่ชาวบ้านก็ขึ้นไปกราบไหว้สักการะทุก ๆ ปี ๆ ละมากกว่า  ๒  ครั้ง คือ  วันพญาวัน  ช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ และประเพณีเดือนหกเป็ง

บันไดนาค

            ในปี  พ.ศ. ๒๔๙๗  ทางเดินขึ้นไปสักการะบูชาพระธาตุลำบากยิ่งนัก ดังนั้นพระแก้ว ธมมวํโส  ก็ได้ร่วมกันกับชาวบ้านสร้างบันไดนาคขึ้นเพื่อความสะดวกของผู้แสวงบุญทั้งหลาย **ปัจจุบันความจำเป็นมีน้อย  ทางเดินลำบากมากเพราะขาดการบำรุงรักษา  ต้นไม้และหญ้าขึ้นเต็ม ประกอบกับมีทางรถยนต์ที่สร้างขึ้นใหม่ดีกว่า  จึงเลิกใช้มานาน

ถนน

            ในปี  พ.ศ. ๒๕๑๘  บ้านเมืองเจริญขึ้นมาก  รถราก็มากขึ้นการเดินทางไปมาก็สะดวกสบายแต่หนทางไปแสวงหาบุญกลับมีอยู่ทางเดียวคือทางบันไดนาค  ดังนั้นเจ้าอธิการอิ่นคำ  สนฺตจิตฺโต ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลบ้านถ้ำและตำบลบ้านปินอยู่ในขณะนั้น ได้ร่วมกันทำถนนเพื่อให้รถยนต์สามารถวิ่งขึ้นไปยังพระธาตุได้โดยสะดวก

ยกฐานะเป็นวัด

            เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นมา  ผู้คนก็มากขึ้น  วัดพระธาตุจอมศีลก็สมบูรณ์มั่นคงเป็นอย่างมากถึงแม้ว่าจะขาดพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่ก็ตาม แต่ในฐานะเป็นปูชนียสถานที่สำคัญอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนอบน้อมกราบไหว้บูชาของชาวบ้านดังนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูสุวรรณคณาภิรักษ์  เจ้าคณะอำเภอดอกคำใต้ (ปัจจุบัน-พระมงคลวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดพะเยา)  จึงได้นำเรื่องเหล่านี้เสนอต่อกรมศาสนากระทรวงศึกษาธิการ  และได้รับการรับรองให้เป็นวัดอย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งในวันที่  ๑๓ ตุลาคม  ๒๕๓๖  ที่ผ่านมา

 

ตอนที่  ๔ พระธาตุจอมศีลกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณสถาน

            จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน วัดพระธาตุจอมศีลก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของบ้านถ้ำไม่ว่าจะเป็นด้านความเชื่อ ด้านปฏิหารย์ ความศักดิ์สิทธิ์  และแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีเรื่องเล่าขานกันมาต่าง ๆ  นานา  อยู่มากมาย ถึงแม้ว่าสถานที่ตั้งจะสูงเดินทางขึ้นไปลำบาก็ตามแต่นั้นก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ความศรัทธาของชาวบ้านได้ขาดหายไปได้แต่กลับมีความผูกพันกันมากขึ้นโดยลำดับ

ด้านความศักดิ์สิทธิ์

            นับ ได้ว่า  เส้นพระเกษา  ของพระพุทธองค์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้บรรจุอยู่ในองค์พระธาตุแห่งนี้ประการหนึ่งและองค์พระธาตุจะมีเส้นพระเกษาของพระพุทธองค์จริงหรือไม่จริง  ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์อันเป็นตัวแทนของความดีงามและเป็นมิ่งขวัญของประชาชนใครจะมาลบหลู่มิได้ (ให้ดู….เจดีย์  ๔ ชนิด)

ด้านโบราณสถาน

     ก็ถือว่าพระธาตุองค์นี้ก็มีอายุยาวนานควบคู่กับประวัติศาสตร์มาช้านานแห่งหนึ่งเหมือนกันควบคู่กับพระธาตุต่าง ๆ  เช่น  พระธาตุแซ่โหว้  อันเป็นที่สักการะบูชาของพี่น้องตำบลคือเวียง  พระธาตุดอยน้อย  อันเป็นที่กราบไหว้ของพี่น้องชาวตำบลจำปาหวายและพระธาตุจอมทองอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพะเยา

ด้านความผูกผันกับชาวบ้าน

            จะเห็นว่าในแต่ละปี คือ เดือน  ๖  เป็ง  (ซึ่งในปีนี้ก็ตรงกับวันที่  ๒๖  มีนาคม  ๒๕๓๗)  ก็จะมีประเพณีขึ้นพระธาตุอันถือได้ว่าเป็นงานยิ่งใหญ่ประจำปีที่เดียว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านป่าแงะ  อำเภองาว  จังหวัดลำปาง  ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดชาวบ้านถ้ำยุคหลัง  ได้มาร่วมงานด้วย อันเป็นความผูกพันในสายเลือดเดียวกัน  อย่างหาที่เปรียบมิได้

ด้านการท่องเที่ยว

     นอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่สูงสามารถมองลงมาเห็นวิวทิวทัศน์เทศบาลตำบลบ้านถ้ำทั้งตำบลแล้วก็ยังเป็นที่ร่มรื่น  ลมพัดโบกตลอดเวลาใครก็ตามเมื่อเดินทางขึ้นมานมัสการ  เมื่อมาเหนื่อย ๆ  พอมาถึงอาการเหล่านั้นก็หายไปโดยปริยาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระครูเพชราวุฒิ (พระครูสุนทรวุฒิคุณ)  ได้มาจำพรรษาอยู่พระธาตุจอมศีลก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะท่านเป็นทั้งนักปฏิบัติและพัฒนา

คำขวัญมีว่า

           

พระธาตุจอมศีล เด่นเป็นสง่า

บูชากาวีระทรงธรรม

งดงามล้ำสวนรุกขชาติ

แหล่งน้ำผุดสุดสะอาด

ท่ามกลางธรรมชาติแห่งขุนเขา

                       


[1] พระมหาศรีบรรดร  ถิรธมโม  พัฒนาการและแนวทางพัฒนาชุมชนถ้ำ , ตำนานพระธาตุจอมศีล

[2] ตำนานพระธาตุจอมศีล กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน พิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๕

 

[3] การควบคุมการพัฒนาในสมัยนั้นยังไม่รัดกุมพอ จึงไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาต อย่างไรก็ตามในความเลื่อมใสของชาวบ้าน ในความหมายของอุบาสก-อุบาสิกา โดยทั่วไป วัดก็คือ วัด เมื่อเกิดศรัทธาแล้วสถานที่แห่งนั้นจะได้รับการอนุญาตจากกรมการศาสนาหรือไม่ ไม่สำคัญคนในท้องถิ่นได้ร่วมกันทำกิจกรรมบุญกุศล เช่น มีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ เป็นต้น และมองดูวัดเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สามารถฝึกจิตใจตนเองได้ก็พอใจแล้ว

[4] ในอดีต ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ขึ้นไป วันในบ้านถ้ำ ๔ วัด ถือว่าเป็นวัดเดียวโดยมีเจ้าอาวาสองค์เดียวกัน

[5] เราจะเห็นว่าพระสังฆราชที่พระมหาเถระกาวิชชา  ได้เดินทางมากราบนมัสการ  ในเมืองพะเยานั้น  เป็นพระสังฆราชหัวเมือง พระนามว่าพระสังฆราชมหาอินทร์** 

[6] น่าสังเกตว่า วัดแห่งนี้มีชื่อถึง  ๔  ชื่อ  คือ   วัดหนองเอี้ยง  เพราะเป็นหนองน้ำมาก่อน วัดพระเจ้าตนหลวงเพราะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประจำวัดสร้าง  วัดหลวงนอก อันหมายถึงเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีและชื่อเป็นทางการว่า วัดศรีโคมคำ

[7] ดูรายละเอียด เอกสารการสอนวิชารัฐศาสตร์ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา พระมหาศรีบรรดร  ถิรธมโม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

 

หมายเลขบันทึก: 459283เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2011 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ไม่ทราบว่าใช่ที่นี่หรือเปล่าคะ

http://www.visitphayao.com/th/destination/watphrathat

ขอบพระคุณท่านพระครูอย่างยิ่งที่กรุณาเล่าประวัติอันพิศดารคะ

เจริญพรคุณหมอ ใช่ www.......ที่เดียวกัน คือพระธาตุจอมศีล ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

เรื่องที่นำมาลง เป็นเรื่องเก่า ลีลาที่เขียนก็เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว

พระครูใบฎีกาเฉลิมพล

นมัสการครับพระอาจารย์ มีบางทัศนะแสดงไว้ว่าบรรดาพระธาตุทั้งหลายทางภาคเหนืออาจไม่ใช่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเสด็จมาทั้งหมด แต่อาจเป็นพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ บ้างก็ได้ เรื่องนี้อาจารย์มีทัศนะอย่างไรครับ

  •  
    • สวัสดีครับพระครูใบฎีกาฯ ตำนานพระธาตุทางภาคเหนือได้รับอิทธิพลมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก
    • ส่วนการจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ไหน? อันนี้ไม่ทราบจริง ๆ ครับ
    • แต่ในทัศนะส่วนตัวแล้ว เป็นบุคลาธิษฐาน คือการเปรียบเทียบให้เห็นว่า สถานที่ไหนก็ตามเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึง ก็เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปด้วยพระองค์เอง
    • เหมือนกับรอยเท้าของดาวเทียม เมื่อคลื่นครอบคลุมถึงไหน? ประเทศนั้นก็อยู่ในรัศมี-สามารถรับคลื่นได้
    • จึงไม่แปลกใช่ใหม่ที่ประเทศไทยมีรอยพระพุทธบาทเกิดขึ้นมากมาย...

www.jomsin.com ครับ นี้คือเว็บไซต์ของวัดครับ ผมเป็นคนทำเว็บให้วัดครับ ตอนนี้กำลังสร้างเว็บขึ้นมาใหม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท