ลินุกซ์ทะเล 10.0 "อ่าวนาง" ลินุกซ์พันธุ์ไทยที่ออกตัวช้าแต่ใช้ภาษาไทยได้อย่างลงตัว


เราสามารถติดตั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทุกตัวคู่กับระบบปฏิบัติการวินโดว์ได้โดยไม่มีผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสียหายกับระบบปฏิบัติการเดิมเลยนอกจากเสียพื้นที่ของฮาร์ดดิสก์ให้ลินุกซ์เพียงไม่กี่กิกะไบท์

สัปดาห์ที่แล้วเห็นมีข่าวเรื่องของลินุกซ์ทะเลตัวใหม่ออกมาแล้วแต่ก็ไม่ได้สนใจเท่าไรเพราะโครงการนี้ทำๆหยุดๆไม่ค่อยต่อเนื่อง หากมาเทียบกับดิสโทรที่พัฒนาโดยชุมชนลินุกซ์อย่างคลับดิสโทรหรือแม้แต่โครงการลุ่มๆดอนๆอย่างสุริยัน(ยกเว้นไทยโอเอส)แล้วถือว่ามีพัฒนาการช้ากว่ากันมากอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการประชาสัมพันธ์เรียกได้ว่าล้มเหลวเลยทีเดียว ขนาดมีเว็บไซต์ของตัวเองยังขาดการอัพเดทในหลายเรื่องสำคัญทำให้ภาพพจน์ของตัวผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่น่าสนใจเท่าที่ควร

ผมเป็นคนหนึ่งที่ใช้ลินุกซ์อยู่เริ่มต้นก็จากความชอบแล้วก็ต้องการตอบสนองความท้าทาย พอมาใช้แล้วพบว่านอกจากเราไม่ต้องมีปัญหากวนใจจากไวรัสแล้ว ยังมีข้อดีอีกมากมาย จากการใช้ระบบปฏิบัติการตัวนี้ เมื่อเห็นมีการพัฒนาต่อเนื่องก็อดไม่ได้ที่จะเอามาบอกต่อกัน

โครงการลินุกซ์ทะเลจัดทำและดูแลโดย โครงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เริ่มต้นในปี พ.ศ.2542 จากการนำลินุกซ์ Mandrake 6.0 มาพัฒนาต่อยอดโดยทำการปรับปรุงความสามารถให้ใช้งานร่วมกับภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง โดยเป็นระบบปฏิบัติการลินุกซ์สำหรับผู้ใช้ทั่วไป (End User) มีการจัดเตรียมโปรแกรมสำหรับการใช้งานพื้นฐานต่างๆ อย่างครบถ้วน เริ่มใช้ชื่อลินุกซ์ทะเลและโลมาเป็นสัญลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยเปลี่ยนมาใช้ลินุกซ์ Red Hat และ Fedora เป็นฐานในการพัฒนา

แต่หลังจากเวอร์ชั่นที่ 8 เป็นต้นมา ลินุกซ์ทะเลได้เปลี่ยนมาใช้ Ubuntu ซึ่งเป็นลินุกซ์ที่มีคนนิยมใช้มากที่สุดเป็นฐานในการพัฒนาแทนของเดิม หลังออกเวอร์ชั่นที่ 9 "หัวหิน" แล้วลินุกซ์ทะเลก็ดูเหมือนจะหยุดการพัฒนาไปถึงสามปีจนมาออกรุ่น 10.0 RC เมื่อปีที่แล้วก่อนที่จะมาออกรุ่นเสถียรในวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยในเว็บไซต์ของผู้พัฒนาได้บอกรายละเอียดเล็กๆไว้ดังนี้

LinuxTLE 10.0 รหัสพัฒนา "อ่าวนาง"
พัฒนาโดยใช้ ubuntu 10.04 เป็นฐานในการพัฒนา
สิ่งใหม่ในลินุกซ์ทะเล 10.0

ลดกระบวนการการติดตั้งเหลือเพียงกระบวนการแบ่งพาร์ทิชันเท่านั้น
ใช้เมนูจาก Linux Mint แทนเมนูเดิมของ GNOME
ใช้ Kernel 32 บิต ที่รองรับเครื่องที่มีหน่วยความจำมากกว่า 4GB ได้
ใช้ แบบอักษร Arundina เป็นแบบอักษรปริยายที่ใช้แสดงผลของระบบ
มีซอฟต์แวร์ที่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างครบถ้วน
เพิ่มฟอนต์ที่รองรับการเขียนบาลี (Loma-SIL)

สิ่งที่แตกต่างจากลินุกซ์ทะเล 9.0

ใช้ตัวติดตั้งแบบกราฟิกส์ของ อูบุนตู (ubiquity) แทนตัวติดตั้งแบบเดิมที่เป็นโหมดตัวอักษรอย่างเดียว
ใช้เมนูจาก Linux Mint แทนเมนูเดิมที่ใช้ GNOME
Kernel เป็นรุ่นที่ใหม่ขึ้น ทำให้รองรันอุปกรณ์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น
ซอฟต์แวร์เป็นรุ่นที่ใหม่ขึ้น
มีซอฟต์แวร์สำหรับสำรองข้อมูล (deja dup)

ซึ่งก็คงเป็นสเป็คพื้นๆของอูบุนตูรุ่นนี้แล้วเอามาปรับเมนูมิ้นท์ใส่เข้าไปส่วนที่เด่นก็จะเป็นเรื่องการใช้ภาษาไทย แต่เมื่อได้ดาวน์โหลดมาทำเป็น Live CD ทดลองใช้ดูแม้จะมีข้อจำกัดบ้าง (จงใจจำกัดเพื่อความปลอดภัยเช่นการไม่อนุญาตให้เข้าพาร์ทิชั่นของลินุกซ์บนฮาร์ดดิสก์) ก็ต้องยอมรับว่าเป็นลินุกซ์ดิสโทรสายพันธุ์ไทยที่แสดงผลภาษาไทยได้สมบูรณ์แบบมากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่เคยพบมา ตามความเห็นของผมแล้ว ดีกว่า Thai OS(เน่าไปแล้ว) หรือ Suriyan รุ่นล่าสุดเสียอีก การที่นำเอา Ubuntu 10.04 LTS มาเป็นฐานในการพัฒนาก็สามารถเป็นหลักประกันในเรื่องของความเสถียรได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อเป็นรุ่น LTS (Long Term Support)ทำให้ได้รับการสนับสนุนนานถึง 5 ปีส่วนในเรื่องของการติดตั้งโปรแกรมใช้งานต่างๆนั้นก็เป็นอันหายห่วงเพราะอูบุนตูเตรียมโปรแกรมใช้งานดีๆหลายพันโปรแกรมไว้บนเซิร์ฟเวอร์ต้นน้ำให้สามารถดึงมาใช้งานได้อย่างไม่จำกัดอยู่แล้ว ข้อดีอีกอย่างของการใช้อูบุนตูเป็นฐานก็คือเมื่อมีปัญหาในการใช้งานหรือต้องการความช่วยเหลือ การขอคำแนะนำ เรามีชุมชนคนไทยที่รักอูบุนตูคอยให้ความช่วยเหลือฟรีๆอย่างขยันขันแข็งอยู่แล้ว ทุกปัญหาสามารถปรึกษาขอคำแนะนำได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นกันเองแบบพี่แบบน้องที่ Forum ของ Ubuntuclub ผมเองก็เป็นสมาชิกอยู่ เมื่อเร็วๆนี้ไปพบลินุกซ์ดิสโทรตัวใหม่น่าสนใจเพราะอาจนำไปใช้กับเครื่องคอมเก่าๆของบรรดาโรงเรียนทั้งหลายที่ตั้งทิ้งไว้หลายแสนตัวทั่วประเทศให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ได้ก็เลยลองเอาเข้าไปให้ดูกันที่นั่น ก็เป็นที่สนใจกันมากครับ

การเลือกเอาเมนูของลินุกซ์มิ้นท์มาแทนที่เมนูเดิมของ Gnome ทำให้ผู้ใช้ที่เป็นสาวกของวินโดว์และเริ่มมาทำความรู้จักหรือใช้ลินุกซ์ใหม่ๆสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่าการใช้เมนู Gnome ของแท้เดิมๆเพราะมีลักษณะคล้ายกับเมนู Start ของวินโดว์ แต่ก็เป็นเอกลักษณ์ของลินุกซ์มินท์ที่ทำให้คนใช้ลินุกซ์หันมาใช้จนเป็นคู่แข่งที่สำคัญของอูบุนตูวันนี้ซึ่งท่านสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ Distrowatch ครับ

อีกอย่างหนึ่ง สีพื้นของเดสก์ท็อปวอลเปเปอร์ที่เป็นสีฟ้าอ่อนดูสบายตาและการเลือกใช้ฟอนต์ Arudin เป็นอักษรปริยายทำให้มีความรู้สึกสบายๆ ผ่อนคลายดูเป็นระเบียบสวยงามไม่โลดโผนจนเกินไปหรือดูเคร่งขรึมเหมือนสีเขียวของมิ้นท์ ร้อนแรงเหมือนสีม่วงแดงอย่างอูบุนตู การที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ใช้งานโดยผู้ใช้ภาษาไทยจึงทำให้เมนูลินุกซ์ทะเลเป็นภาษาไทยสมบูรณ์แบบค่อนข้างดีมาก อีกทั้งยังมีฟอนต์ภาษาไทยที่เป็นฟอนต์โอเพ่นซอร์สใช้งานได้ฟรีไว้ให้ใช้งานมากมายเหลือเฟือ รวมทั้งฟอนต์ราชการที่ออกมาเมื่อปีที่แล้วทั้ง 13 ตัว และโดยที่โครงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติผู้พัฒนาลินุกซ์ทะเล เป็นเจ้าของโครงการผลิตฟอนต์ไทยตัวกลั่นจึงเป็นที่วางใจได้ว่าจะมีฟอนต์คุณภาพใหม่ๆมาให้ใช้อยู่เสมอมิได้ขาด

ชมกันมาเยอะแล้วก็คงต้องมีข้อตำหนิกันบ้าง ก็ขอให้คิดว่าเป็นการติเพื่อก่อ เพื่อนำไปปรับปรุงก็แล้วกัน (ทุ่นค่า Research ไปเยอะเลยนะ) ที่ต้องต่อว่ากันหน่อยนอกจากเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ต้องบอกตรงๆว่ายังใช้ไม่ได้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งก็คือการบู๊ตด้วยแผ่น Live CD เมื่อระบบเริ่มนับถอยหลังแล้วผู้ใช้ไม่รีบกดปุ่มใดๆเมื่อครบเวลาก็เข้าโหมดการติดตั้ง(Install)โดยอัตโนมัติเลยนั้นน่าจะเป็นอันตรายมากกว่าวิธีการให้เข้าเมนูก่อนเหมือนกับ Live CD ของดิสโทรมาตรฐานทั่วไป เพราะหากผู้ใช้ที่ยังไม่คุ้นเคยเกิดไปกดติดตั้งโดยทับพาร์ทิชั่นของระบบปฏิบัติการที่ใช้อยู่เดิมโดยไม่รู้ตัวจะเป็นปัญหาร้ายแรงมากเนื่องจากข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่จะสูญหายไปหมดเลย ตอนที่ผมโหลดแผ่น Live CD เข้าไปก็ไม่ได้รีบกดคีย์บอร์ดก่อน(เพิ่งมารู้จากคู่มือทีหลัง) พอมันบู๊ตอัตโนมัติไปคาอยู่ที่ตัวจัดการพาร์ทิชั่น "GParted" แล้วใจหายแว๊บ..นึกว่าไปซะแล้วโชคดีที่ไม่ตามใจมือรีบกดออกมาเสียก่อน

เรื่องเล็กๆน้อยๆบางทีเราต้องการอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด แต่ก็ต้องนึกถึงความปลอดภัยและความเป็นมาตรฐานด้วย ไม่งั้นฝรั่งเขาคงทำไปนานแล้วครับ

ลองมาดูหน้าตากันครับว่าลินุกซ์ทะเล 10.0 "อ่าวนาง" นั้นเป็นเช่นไร ส่วนใครจะลองดาวน์โหลดมาทดลองใช้หรือติดตั้งคู่กับระบบปฏิบัติการเดิมที่ใช้อยู่แล้ว (ส่วนใหญ่ก็ใช้วินโดว์สกัน)ก็ไปดูได้จากลิงก์นี้ครับ ซึ่งจะมีทั้งตัวโปรแกรม(.iso) รหัสCheckSum แล้วก็คู่มือให้พร้อมครับ



ตอนที่บู๊ตด้วย Live CD ถ้าไม่กดปุ่มอะไรก่อนนับครบ 10 จะเจออย่างนี้ครับ (อยากให้แก้ไข)



ถ้ากดปุ่มใดๆก่อนนับ 10 จะเข้าเมนูนี้ แต่บรรทัด Start กับ Install จะสลับกันโดยเมนู Install จะอยู่ด้านบนสุดถ้าเรากดเอ็นเตอร์ก็จะเข้าการติดตั้งเลยซึ่งตรงนี้ก็ควรต้องแก้ไข



แสดงหน้าจอ Grub Menu หลังจากติดตั้งแล้วและได้บู๊ตเครื่องครั้งแรก (เมนูอาจต่างไปจากตัวอย่างหากมีระบบปฏิบัติการอื่นติดตั้งอยู่ด้วย)



ลินุกซ์ทะเลในเว็บของ Distrowatch



Linux Mint



Ubuntu



หน้าจอของลินุกซ์ทะเล 10.0 "อ่าวนาง" และเมนูแบบลินุกซ์มิ้นท์



โปรแกรมที่แบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ




สัญลักษณ์ของ Gnome (ดูแล้วอย่าคิดมากครับ)



ใช้ Nautilus เป็นตัวจัดการแฟ้มและโฟลเดอร์(File Manager)



ตัวอย่างหน้าตาไอคอนของแฟ้มฟอร์แมตต่างๆบน Gnome



ศูนย์ควบคุม


ติดตั้งโปรแกรมเพิ่มหรือถอดถอนโปรแกรมง่ายๆผ่านศูนย์ซอฟท์แวร์ Ubuntu



การติดตั้ง ปรับปรุงหรือถอดถอนโปรแกรมผ่านเครื่องมือจัดการแพกเกจ Synaptic



ตัวอย่างโปรแกรมที่ติดตั้งมาแล้ว (สามารถเปลี่ยนปลงถอดถอนหรือติดตั้งใหม่ได้ตลอดเวลาหากเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตโปรแกรมต่างๆจะได้รับการตรวจสอบให้ปรับเป็นรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา)

ลินุกซ์ทะเลเป็นระบบปฏิบัติการที่เน้นด้านการทำงานบนภาษาไทยและความเสถียรของระบบ รูปแบบอาจจะดูไม่ทันสมัยเหมือนกับดิสโทรตัวอื่นเช่นสุริยัน หรือตัวที่คลับดิสโทรพัฒนาขึ้นมา แต่หากจะนำมาใช้งานทั่วไปแล้วก็ต้องถือว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่น่าสนใจมากตัวหนึ่งทีเดียว

สำหรับใครที่อยากทดลองใช้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เน็ตทั้งที่เว็บไซต์ของ Opentle.org เองและผู้ใช้อื่นๆที่เป็นแฟนตัวจริงของลินุกซ์ทะเลตามเว็บบล็อกต่างๆครับ


http://distrowatch.com/table.php?distribution=linuxtle
http://www.ubuntu.com/
http://www.linuxmint.com/
http://www.opentle.org/
http://www.opentle.org/forum
http://forum.ubuntuclub.com/
http://forum.ubuntuclub.com/forum?board=9.0

หมายเลขบันทึก: 459150เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2011 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอโทษน่ะครับพอดีว่าผมอย่ากลงลีนุกทะเลตัวใหม่ล่าสุดผมจะหาตัวลงได้ที่นัยครับ

ถ้าสนใจจะใช้ Linux ผมแนะนำให้ใช้ Linux Mint  หรือ Ubuntu ครับ เรื่องภาษาไทยไม่ต้องห่วงบางทีอาจจะดีกว่า Windows ด้วยซ้ำไป การสนับสนุนก็ต่อเนื่องตลอด

Tle ไม่พัฒนามานานแล้วหลังจากออกอ่าวนางเมื่อปี 2011 แล้วก็เงียบไปเลย (แม้ status ใน distrowatch จะเป็น activeก็ตาม) เป็นไปได้ว่าเลิกไปแล้ว นี่รวมถึง โปรแกรมหรือระบบปฏิบัติการที่เป็น open source ที่ภาครัฐเคยส่งเสิม (เช่นสุริยัน จันทรา Thai OS ..) ก็ดูเหมือนจะตายไปหมดแล้วครับ

ความต้องการของระบบเริ่มต้นที่เท่าไหร่ครับ เนื่องจากคอมค่อนข้างเก่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท