๑๙๒.เมื่อภาษาถิ่นจะก้าวเป็นภาษานานาชาติในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน


จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การใช้ภาษาทั้ง ๕ ภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไตลื้อ, ภาษาไตเขิน, ภาษาลาวล้านช้าง, ภาษาคำเมือง และภาษาไทย ไม่ได้เป็นอุปสรรค์ในการสื่อสารแต่ประการใดเลย กลับทำให้เห็นถึงเสน่ห์ของแต่ละภาษามากยิ่งขึ้น มีบางคำเท่านั้นที่ต่างกันออกไป แต่ก็พอเดาได้รวมกัน เหนือสิ่งอื่นใดใจ หรือจิตวิญญาณคนลุ่มน้ำโขงรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้พุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น

     ภาพโดยรวมของการจัดสัมมนาทางวิชาการระหว่าง ๔ ประเทศคือ สิบสองปันนา-จีน, เชียงตุง-พม่า, หลวงพระบาง-ลาว, พะเยา-ไทย ที่ผ่านมา ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมิใช่น้อย

 

     การสัมมนาทางวิชาการในวันนั้น ใช้ชื่อว่า "สถานภาพและความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนา ในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" (Status  and  the  relationship  of  Buddhism  in  the  Greater  Mekong  Subregion) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานทั้งคณาจารย์ นิสิต และประชาชนทั่วไป จำนวนกว่า ๘๐๐ รูป/คน  ณ ห้องพุดตาล  โรงแรมเกทเวย์ อำเภอเมืองพะเยา

 

     มีการกล่าวสุนทรพจน์จากประเทศต่าง ๆ ดังนี้

     ๑.ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย พระมหาแสง  จนฺทวณฺโณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระพุทธศาสนายูนาน  ซึ่งเป็นพระนิกายเถรวาท มีเชื้อสายไตลื้อ แต่มีหน้าที่ไปคุมการศึกษาของพุทธศาสนาจีนทั้ง ๓ นิกายคือมหายาน เถรวาท และวัชิรยาน ที่นครคุณหมิ่ง  มณฑลยูนาน พระมหาแสงนี้ เป็นพระหนุ่มที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยเป็นศิษย์ของครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน และได้เปรียญธรรมจากที่นั้น

          การกล่าวสุนทรพจน์วันนั้น ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์พุทธศาสนาในจีนเท่าที่ควร ด้วยเหตุสามประการ คือ ๑)คงเข้าใจว่าไทย-จีน สัมพันธ์ทำ MOU กันอยู่แล้ว ประกอบกับมีพระนิสิตที่มาเรียนที่พะเยาหลายรุ่น  ๒)ท่านได้เตรียมข้อมูลไปแสดงความคิดเห็นเรื่องพุทธศาสนาในจีนในช่วงการนำเสนอบทความทางวิชาการ "สถานภาพและความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" แต่เพราะการเชื่อมโยงประเด็นในจุดดังกล่าว ไม่ชัดเจน ประกอบกับการบีบด้วยเวลาที่จำกัด จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของพุทธศาสนาในจีนได้เท่าที่ควร  ๓)ท่านมาแทนครูบาคำถิ่น ซึ่งเป็นพระนักพูดและนักพัฒนา ซึ่งติดภาระกิจมาไม่ได้

 

     ๒.ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย สาธุจันทริน จินธมฺโม รององค์การพุทธศาสนสัมพันธ์แขวงหลวงพระบาง (อพส.) ซึ่งเป็นพระที่ดูแลด้านการศึกษาสงฆ์เมืองหลวงพระบาง ท่านจบการศึกษาในระดับอนุปริญญา จากวิทยาลัยสร้างครู

          การกล่าวสุนทรพจน์ของท่าน ทำให้เห็นภาพการศึกษาของลาวที่กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีความพร้อมทางด้านโอกาสการขยายตัว การสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ยังขาดแคลนบุคลากรที่เป็นหลัก และวัสดุอุปกรณ์ทางด้านการศึกษา ตลอดจนถึงอาคารสถานที่ที่เหมาะสม

 

     ๓.ประเทศสหภาพเมียนม่าร์ โดย ครูบาติ๊บ  โชติธมฺโม เจ้าคณะจังหวัดเชียงตุง ท่านเป็นพุทธศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (กรุงเทพฯ)

          การกล่าวสุนทรพจน์ของท่าน ทำให้เห็นถึงสถานการณ์ของพุทธศาสนาที่เชียงตุง ว่ามีความลำบากในการเดินทางเพื่อเผยแผ่ธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการคมนาคมที่ไม่ได้สะดวกสบายอย่างเมืองไทย

 

     ๔.ส่วนประเทศไทย อาจจะถือว่า พระธรรมโกศาจารย์ (ศ.ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต)  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นราชบัณฑิต กล่าวสุนทรพจน์ก็ว่าได้

 

          ทำให้เห็นถึงบทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่มีสาขากระจายไปทั่วโลก และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยยกประเด็นให้ วิทยาเขตพะเยา เป็นฐานหลักในการเชื่อมโยงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ๔ ประเทศเอาไว้ด้วยกัน

 

     ในวันดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ภาษาที่ใช้แตกต่างกันในชื่อที่เรียกและสำเนียงที่เปล่งออกมา แต่ความหมาย คนในประเทศจีน ประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศไทยรู้เรื่องกันหมดนี้สิ เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง และทำให้ผู้เขียนจินตนาการไปไกลถึงกับคุยกับคนข้าง ๆ ว่า "ฤา ภาษาล้านนาจะเป็นภาษานานาชาติในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบนได้"            

 

     การแสดงทัศนะวันนั้น คนจาก ๔ ประเทศ ใช้ ๕ ภาษา แต่คนรู้เรื่องกันดี มีบาคำเท่านั้นที่เดา ๆ กันไป ทำให้สะท้อนให้เห็นว่า ภาษาล้านนา อาจถึงเวลาต้องเป็นภาษาสากลได้แน่

 

     ๑.ประเทศจีนตอนใต้ ใช้ภาษา "ไตลื้อ" ขึ้นต้นว่า นมัสการอธิการบดีและขอจำเริญพรท่านผู้ว่าฯ ใช้สรรพนามแทนตนเองว่า "ผม" เป็นต้น

     ๒.ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใช้ภาษา "ลาวล้านช้าง" ขึ้นต้นว่า ขอนอบน้อมสมัสการอธิการบดี, ขอเจริญพร ผู้ว่าฯ ใช้สรรพนามแทนตนเองว่า "ข้าน้อย" เป็นต้น

     ๓.ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ใช้ภาษา "ไตเขิน" ขึ้นต้นว่า ขอนมัสการพระครูบาแสงหล้า, อธิการบดี , ขอเจริญพร ผู้ว่า ใช้สรรพนามแทนตนเองว่า "ครูบา" เป็นต้น

     ๔.ประเทศไทยตอนบน ใช้ภาษา "ล้านนา" อู้กำเมือง ขึ้นต้นว่า กราบนมัสก๋าน อธิการบดี และเจริญปอน(พร) ผู้ว่า.......   ส่วน

     ๕.ส่วนท่านอธิการบดี ใช้ภาษา "ไทยกลาง" และใช้สื่อภาษา "อังกฤษ" ในการนำเสนอ

 

     จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การใช้ภาษาทั้ง ๕ ภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไตลื้อ, ภาษาไตเขิน, ภาษาลาวล้านช้าง, ภาษาคำเมือง และภาษาไทย ไม่ได้เป็นอุปสรรค์ในการสื่อสารแต่ประการใดเลย กลับทำให้เห็นถึงเสน่ห์ของแต่ละภาษามากยิ่งขึ้น มีบางคำเท่านั้นที่ต่างกันออกไป แต่ก็พอเดาได้รวมกัน เหนือสิ่งอื่นใดใจ หรือจิตวิญญาณคนลุ่มน้ำโขงรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้พุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น

 

     ประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้เขียนจินตนาการต่อไปในอนาคตว่า ปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แทนที่เราจะใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีนเป็นภาษาสากล แต่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ๔ ประเทศรวมกันใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาสากล ไม่ดีกว่าหรือ? อย่างน้อยอัตตลักษณ์ของเราก็ยังคงเดิม แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปไกลแค่ไหนก็ตาม ขอสนับสนุนการใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาสากลใน ๔ ประเทศนี้!

   

หมายเลขบันทึก: 457050เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการคะ

เห็นหัวข้อแล้วก็สะดุดใจ..เพราะเป็นคนชอบหลุด คำเมือง คะ

ชื่นชมพระคุณเจ้าที่สังเกตเห็นความใกล้เคียงของทั้ง 5 ภาษา

น่าจะเป็นภาษาสากล "ที่สอง" ใช้สื่อสารความลับ ที่ไม่ต้องการให้ฝรั่งรู้ ได้คะ

แต่ภาษาอังกฤษ ก็ยังต้องยอมรับว่า จำเป็น หากต้องการติดต่อกับทั่วโลก

ขนาด ภาษาสเปน ที่ว่าแน่ๆ ตอนนี้ คนสเปน ยังหันมาเรียนภาษาอังกฤษเยอะขึ้นเรื่อยๆ คะ

เจริญพรคุณหมอ ภาษาถิ่น เป็นวัฒนธรรมที่งดงาม ภาษาอังกฤษก็จำเป็น

อย่างไรเสีย ในระยะสั้น-บริบทของ ๔ ประเทศควรใช้ภาษาถิ่นก่อน

ส่วนระยะยาวและกว้างขึ้นก็ควรใช้ภาษาอังกฤษ

....คราวก่อนอ่าน ไม่มี knowledge ให้มา Management ของคุณหมอ ซึ่งตรงข้ามกับอาตมา

ที่ว่า มีแต่ Knowledge แต่ไม่มีเวลา Management ช่วงนี้จึงไม่ได้บันทึกอะไรใหม่ ๆ เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท