ค่าแรง 300 บาทการเมืองหรือเพื่อประชาชน


A minimum wage is the lowest hourly, daily or monthly remuneration that employers may legally pay to workers. Equivalently, it is the lowest wage at which workers may sell their labour : http://en.wikipedia.org/wiki/Minimum_wage

ฟังโวหารประดิษฐ์บรรดานักการเมืองทั้งหัวหงอกหัวดำที่มีต่อนโยบายค่าแรง 300 บาทแล้วดูเหมือนทำเพื่อล้มล้างกันมากกว่าการติเพื่อก่อเพื่อช่วยกันทำเพื่อประชาชน ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าที่คนพวกนี้เรียงหน้าออกมาพ่นพล่ามเป็นเพราะห่วงประชาชนหรือห่วงเงาหัวตัวเองกันแน่

ค่าแรงขั้นต่ำถ้าขึ้นมาเป็น 300 บาทจริงๆก็น่าเห็นใจผู้ประกอบการไม่น้อยเพราะต้นทุนย่อมต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน


แต่ก็เป็นเฉพาะส่วนที่มีค่าแรงยังไม่ถึง 300 บาทต่อวันเท่านั้น มีกิจการอีกมากที่เขาข้ามตรงนี้ไปแล้ว


อย่างไรก็ดีเราก็ต้องเห็นใจผู้ใช้แรงงานด้วยว่าเขามีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพหรือมีพอสำหรับเป็นหลักประกันในความมั่นคงของชีวิตหรือไม่เรื่องนี้คนที่บอกว่าอยู่ในแวดวง HR จะบอกว่าไม่เกี่ยวคงไม่ได้เพราะมันเชื่อมโยงไปถึงประสิทธิภาพการผลิตต่อเนื่องไปจนถึงคุณภาพขององค์กร ตลอดจนธรรมาภิบาล และอีกมากมายเพราะนี่เป็นเรื่องของ "คน"

การบอกว่าเมื่อค่าแรงสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจนส่งผลกระทบอย่างที่กล่าวกันก็คงไม่เป็นธรรมนักเพราะต้นทุนสินค้าไม่ได้มาจากค่าแรงแต่เพียงอย่างเดียวเช่นถ้าวันนี้ค่า FT ไฟฟ้าเกิดทะลึ่งขึ้นมา ต้นทุนมันก็ขึ้นได้เหมือนกัน


ค่าแรงรายวันหากคิดเป็นต้นทุนก็เป็นต้นทุนค่าแรงทางตรงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ labour cost เพราะยังมีค่าแรงรายเดือนและเงินเดือนผู้บริหารที่เป็น fix cost ที่ไม่ได้นำมาคำนวณรวมอยู่ด้วย


เอาเฉพาะต้นทุนทางตรงที่ใช้ในการผลิต(available cost) อย่างเดียวก็มีตั้งหลายอย่าง เอาแบบง่ายๆก็ direct material + direct labour + overhead ต้นทุนที่สำคัญจริงๆอยู่ที่ raw material ค่าแรงจะเป็นต้นทุนที่มีอิทธิพลเฉพาะอุตสาหกรรมประเภท labour intensive

นี่เฉพาะต้นทุนผันแปรซึ่งมีความสำคัญสำหรับการคำนวณต้นทุนขั้นต้น เพราะถ้าคิดแล้วต้นทุนส่วนนี้ต่อหน่วยมีราคาสูงกว่าราคาขายต่อหน่วยก็หมายถึงไม่ต้องสร้างโรงงานเพราะเจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้ว เมื่อคิดจะตั้งโรงงานหรือตั้งบริษัททุกคนต้องคำนวณมาแล้วว่าต้นทุนส่วนนี้ต้องต่ำกว่าราคาขายแน่ๆเขาถึงลงทุนทำ

ต้นทุนที่สำคัญอีกส่วนคือต้นทุนคงที่ (รวมโสหุ้ยหรือ overhead ส่วนนี้ด้วย)เช่นเงินเดือนผู้บริหาร เงินเดือน staff ต้นทุนค่าเสื่อมอาคาร โรงงาน เครื่องจักร ค่าใช้จ่ายการขายค่าโฆษณา ดอกเบี้ยจ่าย ค่าประกัน facility supply ค่าบริหารจัดการ...108 1009 ฯลฯ ต้นทุนส่วนนี้ใช้คำนวณว่าจะต้องผลิตเท่าไหร่จึงจะคุ้มทุน หากผ่าน break even point ไปก็รับแต่กำไรอย่างเดียว (จุดคุ้มทุนคิดแบบง่ายๆ = ต้นทุนคงที่หารด้วย(ราคาขายต่อหน่วย-ต้นทุนทางตรงต่อหน่วย))

จะเห็นได้ว่าค่าแรงทางตรง(รายวัน)เป็นแค่ส่วนเดียวและก็ส่วนเล็กๆของต้นทุนสินค้า ปัญหาไม่ได้มาจากเมื่อเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาทแล้วบริษัทจะเจ๊ง แต่อยู่ที่ต้องขึ้นราคาขายอีกเท่าไหร่ ถ้าไม่ขึ้นจะต้องทำยอดขายเพิ่มเท่าไรจึงจะรักษาสภาพเดิมไว้ได้หรือถ้าไม่ให้กระทบต้นทุนรวมจะไปลดต้นทุนส่วนไหนได้อีก


การลดต้นทุนการผลิตมีมากมายหลายวิธีเช่น ลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงโดยปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร อบรมเพิ่มทักษะของแรงงาน วางแผนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าล่วงเวลา บริหารเรื่องของ process flow ลด bottleneck, down time, idle time, บริหารสินค้าคงคลังทั้ง raw material, work in process, finished goods ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่สำคัญการลดของเสีย (defective) ลงแต่ละ 1% หมายถึงการลดต้นทุนได้ครั้งละมหาศาล

รวมถึงลดต้นทุนค่าบริหารจัดการในสำนักงานด้วยโดยเฉพาะต้นทุนประเภท cosmetic และระบบบริหารความสบายทั้งหลายแหล่

หากผู้ประกอบการขึ้นค่าจ้างให้ลูกจ้างจริงรัฐควรให้ความช่วยเหลือไม่เฉพาะแต่การลดภาษีนิติบุคคลเท่านั้น แต่ควรให้ความช่วยเหลือด้านการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการด้วยเช่นการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือแม้แต่อุดหนุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร หรือเปลี่ยนเครื่องจักร การปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระบบทำความเย็น ระบบการบำบัดน้ำเสีย การอบรมพนักงาน การให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ LC ฯลฯ

แต่ต้องไม่ใช่วิธีสิ้นคิดโดยการอุดหนุนค่าแรงโดยตรง เพราะนั่นเท่ากับรัฐจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการฟรีๆผ่านลูกจ้างผู้ประกอบการก็จะมีแต่รับและเท่านั้น แบบเดียวกับที่รัฐบาลก่อนเอาภาษีประชาชนมายัดใส่กระเป๋าให้พ่อค้าข้าวผ่านชาวนาในรูปของส่วนต่างตามระบบประกันราคาข้าวที่ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้รู้ ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองก็รู้ๆอยู่แต่ทำเป็นบอดบื้อไม่บอกเล่าให้ชาวบ้านเขารู้บ้าง..ก็ไม่รู้เพราะอะไร ?

แต่หากผู้ประกอบการเขาไม่เล่นด้วยก็คงไปบังคับไม่ได้เพราะแม้วันนี้แรงงานที่อยู่ในระบบก็ใช่จะได้ค่าแรงอย่างเป็นไปตามกฎหมายอย่างทั่วถึงเสียเมื่อไหร่ มันอยู่ที่ความสำนึกของผู้ประกอบการหรือนายทุนด้วยเหมือนกัน เพราะบางเจ้าเบียดบังทรัพยากรของชาติระเบิดภูเขาเอาไปเป็นลูกๆปล่อยของเสียปีละเป็นพันๆตัน กดค่าแรงลูกจ้างสวัสดิการแทบไม่เห็น แล้วทำเนียนปลูกต้นไม้ซักไร่สองไร่ เอาป้าย CSR มาปักก็กลายเป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคมให้ผู้คนน้ำตาซึมซาบซึ้งกันได้ทั้งประเทศ

ผู้ประกอบการที่ไม่ให้ความร่วมมือ แล้วยังเอาเรื่องนี้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตน รัฐก็ไม่ควรไปว่าอะไรเขา เพียงแต่ปฏิบัติงานไปตามกฎหมาย เดือนหนึ่งก็ตรวจบัญชีว่าเสียภาษีถูกต้องไหม มีบัญชีสองเล่มหรือเปล่า แวตเป็นอย่างไรขอคืนตรงไหม ใครเป็นผู้สอบบัญชี ตรวจทุกเดือนไม่ผิดไม่ว่ากัน


ถ้าเจอตุกติกหลีกเลี่ยงภาษีก็จัดการไปตามปกติแบบเต็มๆ ใครเป็นผู้สอบบัญชีก็ไปตามมาช่วยกันรับผิดชอบแล้วถอนใบอนุญาตซะ

มีแรงงานผิดกฎหมายไหม ไม่มีก็ไม่ว่าอะไร ถ้ามีก็จัดการไป แล้วให้ขยันมาดูบ่อยๆทุกสัปดาห์กำลังดี

(ค่าแรง 300 บาทไม่ใช่สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติถ้ารัฐปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การที่ค่าแรงในประเทศสูงน่าจะทำให้แรงงานต่างชาติลดลงเพราะอุตสาหกรรมประเภท labour intensive จะเคลื่อนย้ายไปอยู่บริเวณชายแดนหรือประเทศเพื่อนบ้านเอง)

ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมไหม พรบ.โรงงาน กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายด้านความปลอดภัยบ้างไหม ถ้ามีก็ปรับบ้าง ปิดชั่วคราวบ้าง ถอนใบอนุญาตบ้างให้เป็นไปตามระเบียบ

เอาซักเดือนละครั้ง แบบจัดหนักจัดเต็ม
เพราะนาทีนี้ถ้าเอาเครื่องมือวัดไปวางข้างๆสถานประอบการก็แทบจะปิดได้ทุกที่

กลัวจะรีบมาบอกว่าสามร้อยมันน้อยไป ห้าร้อยผมก็ให้ได้น่ะซิ..

ส่วนที่ว่าหากขึ้นค่าแรงแล้วสินค้าจะแพงขึ้นระยะแรกถ้ามองกันแบบตัดเอามามองเฉพาะส่วนคงเป็นเรื่องจริง


แต่ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจเป็นเรื่องของการแข่งขันมันมีหลายมิติ ยิ่งทอดเวลา ยิ่งมีผู้เล่นมากราย ยิ่งมี supply เยอะๆโดยเฉพาะ discount store ใหญ่ๆเปิดใหม่ทั่วบ้านทั่วเมือง


ถ้าหลับหูหลับตายืนราคาอยู่เจ้าเดียวแล้วเจ๊งเพราะคนอื่นเขาขายถูกกว่าก็ไม่ต้องไปโทษใครแล้วละครับ !

หมายเลขบันทึก: 456978เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท