จากการถอดบทเรียนสู่การเขียน อย่างไร? ทำไม?


กระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และการเขียน จะช่วยให้กระบวนการทำงานของพยาบาลชุมชน และการสื่อสารสุขภาพพัฒนาอย่างไร??? 

 

มุมมองและการนำเสนอ

        ในหัวข้อนี้มีคำใหญ่ๆ อยู่ หลายคำด้วยกัน คำใหญ่ๆเหล่านี้เองที่เป็น In put สำหรับคนทำงาน องค์กรและการขับเคลื่อนในทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับปัจเจกถึงระดับมหภาคกันเลยทีเดียว ประสบการณ์ของนักพัฒนาได้บทเรียนเสมอว่า “กระบวนการเรียนรู้” ช่วยให้ทีมงานเติบโตและกระบวนการเรียนรู้ที่ดีทำให้นักพัฒนาได้ทบทวนตัวเองเสมอ รวมไปถึงความชัดเจนของการทำงาน ที่จะส่งผลต่อเป้าหมายของงานด้วย

        ส่วนประเด็นการจัดการความรู้(Knowledge management) ก็เช่นเดียวกัน การจัดการความรู้เป็น “เครื่องมือ” ในการขับเคลื่อนปัจเจกจนถึงระดับองค์กร ชุมชน หากมีการจัดการความรู้ที่ดี ก็จะมีพลังของการพัฒนาผ่าน “ปัญญาปฏิบัติ” (Tacit knowledge) ที่สะสมสมเป็นกลุ่มก้อนความรู้(Knowledge Asset) ไว้เป็นต้นทุน

        สำหรับ “การเขียน” ถือว่าเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมาก หากเรามองในแง่มุมของการสื่อสาร การเขียนไม่ได้จำกัดว่าต้องเขียนลายมือปกติ หรือ การสื่อสารทางออนไลน์ช่องทางอื่น ทักษะการเขียนสำคัญเพราะเป็น ช่องทางการถ่ายทอดความรู้ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆโดยง่าย ดังนั้นการจัดการความรู้ที่ครบวงจรจึงต้องพึ่งพาทักษะการนำเสนอในรูปแบบการเขียนที่ดีไปด้วย

พยาบาลชุมชนกับการสื่อสารสุขภาพ

        วิชาชีพที่ทำงานอยู่กับความเป็นอยู่ของผู้คน วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่มีนิยามครอบคลุม กาย ใจ และจิตวิญญาณ เป็นวิชาชีพที่ใช้ความประณีตอย่างสูงในการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นความรู้เชิงลึก เป็นความรู้คุณภาพ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ และที่สำคัญเข้าใจพลวัตของการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจ ความซับซ้อนของระบบสุขภาพ

        พยาบาลชุมชน นอกจากจะมีทักษะความชำนาญทางด้านวิชาชีพแล้ว ยังต้องเข้าใจมิติสังคมแบบองค์รวม รูปแบบงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิต จึงจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ใหม่และมีคุณภาพในการทำงาน อีกทั้งต้องสร้างความรู้จากการงาน เพื่อให้งานนั้นสำเร็จและสร้างความรู้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมาย

        ความรู้จึงสำคัญ ความรู้จึงเป็น “ต้นทุน” ที่พยาบาลชุมชนต้องเข้าถึงความรู้ใหม่ๆและมีระบบการจัดการความรู้ที่เหมาะสม ผลิตความรู้ แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ครบเป็นวงจร

        การพัฒนาศักยภาพคนหน้างาน โดยเฉพาะพยาบาลชุมชนจึงต้องมีทักษะ การจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การถอดบทเรียน และ การเขียนเพื่อการสื่อสารจัดการความรู้ เราคาดหวังว่าทักษะเหล่านี้จะช่วยให้พยาบาลที่ทำงานในลักษณะนี้ สามารถใช้เครื่องมือทั้งหมดในการพัฒนาตนเอง องค์กร ตลอดจนถึงการคิดนวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพได้

การถอดบทเรียนสู่การเขียน เพื่อสื่อสารจัดการความรู้ “ถอดบทเรียนสู่การเขียน” เพื่อสื่อสารจัดการความรู้

 

        เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาทำงานไปเรื่อยๆ คนทำงานมักจะจมอยู่กับงานนั้นๆ และยังมีข้อผิดพลาดซ้ำเดิมๆ  ที่คอยแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อหันกลับมามองต้นทุนทางปัญญาของตัวเราเอง และต้นทุนทางปัญญาขององค์กร เรามักเห็นแต่ความว่างเปล่า หรืออาจพอมีบ้างไม่เพิ่มพูนขึ้นตามระยะเวลาการทำงาน ไม่มีพลังเพียงพอต่อการขับเคลื่อนงานชิ้นใหม่ๆ

        คำตอบของปรากฏการณ์เหล่านี้คือ เราขาด “การถอดบทเรียน” หากเราได้บทเรียนที่ดี มีคุณภาพจากการถอดบทเรียนปัญหาข้างต้นก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป คุณและองค์กรจะก้าวย่างบนวิถีการทำงานต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา "ถ้าผม(หรือดิฉัน)รู้ ผมคงไม่ทำผิดพลาดเช่นนี้" 

 

        แน่นอนว่าคงไม่มีใครเอ่ยประโยคนี้หลังจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับตัวเองทั้งๆที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพียงแค่ได้ "รู้" เท่านั้นเอง สิ่งที่เป็นเงื่อนไขของความผิดพลาดนั้นคือ "การได้รู้" หากรู้ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้เป็นครั้งที่สอง

        ดังนั้น "บทเรียน" ที่ได้รับในครั้งนี้ ก็คือ ข้อมูล (Data) และข่าวสาร (Information) ที่ผ่านการปฏิบัติด้วยตัวเอง หรือไม่ก็ผ่านการสังเกต การเก็บข้อมูลของตนเอง บันทึกไว้ในสมองส่วนความจำและเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ ความรู้ที่ถูกเก็บไว้นั้น จึงจะถูกนำมาใช้จัดการกับเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า

        ปัญหาอยู่ที่ว่า คนเรามักเก็บสิ่งที่รู้ไว้มิดชิดเกินกว่าจะนำมาถ่ายทอด หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น นับว่าเป็นการสูญเสีย "งบดุล" ทางชีวิตและสังคมอย่างมาก หากเราและคนรอบข้างจะผิดพลาดในสิ่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่ได้นำเอาความรู้ที่ตกผลึก หรือที่เรียกว่า "ความรู้ฝังลึก" (Tacit knowledge) ที่อยู่ในตัวตนนั้นมาใช้ประโยชน์ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ? การที่จะนำความรู้ฝังลึกนั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น เผื่อแผ่ผ่านประสบการณ์ของเรา หรือเจ้าของความรู้ ตรงนี้เองเป็นที่มาของ "การถอดบทเรียน"

        และเบื้องหลังที่สำคัญต่อจากการถอดบทเรียนก็คือ “การเขียน” เราจะเขียนบทเรียนอย่างไร?ให้มีพลัง และสามารถนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นสื่อสารออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ เขียนได้เท่ากับที่ใจคิด

 

ถอดบทเรียนสู่การเขียนเพื่อการสื่อสาร  : ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

        ใน Workshop ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ที่มีวตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพแกนนำพยาบาลชุมชนที่ทำงานในพื้นที่ ในประเด็น “การถอดบทเรียน” และ “การเขียนเพื่อสื่อสารจัดการความรู้” เบื้องต้นโจทย์แบบนี้ก็เป็นประเด็นความต้องการเริ่มต้นในการออกแบบกระบวนการ คือ จะถอดบทเรียนอย่างไร? หลังจากนั้นจะเขียนอย่างไร? สองประเด็นนี้สำคัญเพราะหลายคนทำกระบวนการถอดบทเรียนได้ แต่เขียนสื่อสารไม่เป็นบทเรียนที่ดีจึงไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่

กระบวนการในเวทีถูกออกแบบแยกออกเป็น ๒ ส่วนคือ  

  • ส่วนของ “การถอดบทเรียน” (วิธีคิด เทคนิค วิธีการ ตลอดจนการฝึกทักษะ)  ส่วนนี้แน่นอนว่าการเรียนรู้ทฤษฏีแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถลงลึกในการถอดบทเรียนได้ ดังนั้นอาจต้องมีการฝึกปฏิบัติการถอดบทเรียนเพื่อเสริมความมั่นใจ
  • ส่วนที่สองคือ “การเขียน” ครั้งนี้มีทีมนักเขียนรุ่นใหม่ที่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับชมรมพยาบาลด้วย คือ คุณบัส ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ เป็นนักเขียนรางวัลแว่นแก้ว อีกทั้งคุณบัสยังเปิดโรงเรียนนักเขียน อีกด้วย ประสบการณ์การฝึกเขียน จึงเป็นภารกิจหลักๆของคุณศรัทธาใน Workshop นี้ต่อจากการถอดบทเรียน มีน้องนักเขียนอีกกลุ่มที่มาจากสำนักพิมพ์ปิ่นโต พับลิชชิ่ง นำโดยคุณวรเชษฐ์ เขียวจันทร์ และคณะมาช่วยเสริมทัพ ช่วยในกระบวนการเรียนรู้ มีสีสันมาเป็นทีมใหญ่เลยทีเดียว

 

        การถอดบทเรียน  มีการนำเสนอเป็นชุดความรู้ ประสบการณ์ผ่านตัววิทยากร คือ เสนอโดยการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมจากประสบการณ์เดิมที่กลุ่มมีอยู่ พบว่า คนหน้างานกลุ่มนี้มีทักษะ การถอดบทเรียนอยู่แล้วระดับหนึ่ง (จากประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม ตามแนวทางการสร้างความรู้ต่างๆ) ดังนั้นเรื่องวิธีวิทยาการถอดบทเรียน จึงไม่ใช่ประเด็น เพียงแต่มารื้อฟื้นกระบวนการให้เห็น รวมไปถึงข้อจำกัดบางอย่างในการทำเวทีถอดบทเรียน

        ถอดบทเรียน ทำได้ง่ายๆ แต่หากไม่ลงลึกและรอบด้านเพียงพอก็ได้เพียงปรากฏการณ์ที่เป็นเปลือกนอก ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่เป็น “บทเรียน” สักเท่าไหร่ 

        ดังนั้นการถอดบทเรียน นอกจากมีเป้าหมายในการได้บทเรียนแล้ว ลึกไปกว่านั้น คือการได้    “ชุดความรู้” ชุดหนึ่ง ที่มีคุณค่าจากการสรุปแบบบูรณาการ ที่ประกอบด้วยมุมมอง วิธีคิด ไปจนถึงปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากมุมมอง วิธีคิดเหล่านั้น อาจกล่าวได้ว่า Right View,Right Concept ถึงจะเกิด Right Action และได้ชุดความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่จะเป็นข้อมูลต้นทุนในการสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องและเกิดความเข้าใจ (Comprehension) ก่อเกิดวิธีคิดใหม่ มุมมองใหม่ๆ การถอดความรู้ที่ได้เพียงประสบการณ์ผิวเผินในมุมมองของวิทยากรกระบวนการแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่มีพลังเพียงพอที่จะกะเทาะความจริงที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังได้ ความสำคัญและความประณีตของ “การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม” ที่ได้มาซึ่งบทเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงผู้ที่ทำหน้าที่ถอดบทเรียนที่เรียกว่า “วิทยากรกระบวนการ” หรือ “Facilitator” และ ผู้เข้าร่วมเวที (Participants)ในกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้วย

 

เริ่มต้น...ถอดบทเรียน 

        การถอดบทเรียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ สิ่งที่สำคัญและส่งผลต่อการได้มาซึ่ง “บทเรียน” ที่ดี ก็คือ การเตรียมกระบวนการ การเริ่มต้นและการเตรียมการที่ดีทำให้การถอดบทเรียนประสบความสำเร็จแล้วกว่าครึ่ง

 

องค์ประกอบของผู้เข้าร่วมถอดบทเรียน 

            องค์ประกอบนี้สำคัญมาก เพราะผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนล้วนแต่เป็น “คนต้นเรื่อง” ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านนั้นตลอดทั้งกระบวนการ โดยเฉพาะนักปฏิบัติที่คลุกคลีกับการงาน ประเด็นไม่ว่าจะมีส่วนร่วมในระดับใดก็ตาม หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมเวทีถอดบทเรียน จึงต้องให้ความสำคัญหากผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนไม่ใช่ “ตัวจริงเสียงจริง” ส่งผลให้การถอดบทเรียนก็ไม่สามารถได้ข้อมูลที่แท้จริง รวมไปถึงการเจาะประเด็นเชิงลึกได้  จำนวนผู้เข้าร่วมจะอยู่ที่ประมาณ ๖ – ๑๐ คน ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป หากจำนวนคนน้อยอาจได้บทเรียนที่ไม่ค่อยครอบคลุม แต่หากจำนวนคนมากไปส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างทั่วถึง ยกเว้นในกรณีการถอดบทเรียนที่เป็นการถอดบทเรียนเชิงลึก ถอดบทเรียนบุคคลที่จำเพาะเจาะจงมาแล้ว กรณีนี้จะเหมือนการทำกรณีศึกษา ในงานวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มีผู้ถอดบทเรียนและผู้ทำการถอดบทเรียนเท่านั้น

 

องค์ประกอบด้านกลไกการเรียนรู้ 

        การถอดบทเรียนเป็น “กระบวนการ” ที่ประกอบด้วยวิธีวิทยาชุดหนึ่ง กลไกสำคัญหนึ่งคือ วิทยากรกระบวนการ หรือ Facilitator จะทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยกระตุ้น สร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนทัศนะ ข้อมูล อย่างบูรณาการ โดย Facilitator เองก็ต้องมีทักษะในการเป็นวิทยากรกระบวนการ (อ่านได้ในบทที่ ) ผสมเกสรด้านความคิด ผลิดอกออกผลในวงสนทนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ ชุดบทเรียนใหม่ ตลอดจนมุมมองและทางเลือกใหม่ ผ่านการประมวลความคิด (Conceptualize) สรุป วิเคราะห์  สังเคราะห์ให้เกิด “บทเรียน” คลี่คลาย กระจ่างชัดในประสบการณ์ที่มีร่วมกัน

        สำหรับการถอดบทเรียนคุณสมบัติเพิ่มเติมสำหรับวิทยากรกระบวนการก็คือ ต้องเป็นผู้มีความรู้เชิงลึกและกว้างในประเด็นที่จะถอดบทเรียนพอสมควร เพราะชุดความรู้เริ่มต้นของ Facilitator จะเป็นต้นทุนในการตั้งคำถาม ต่อยอดคำถาม รวมไปถึงการนำเสนอมุมมอง ทัศนะที่หลากหลาย เพื่อเอื้อให้ผู้คนในวงเรียนรู้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ดังนั้นการเตรียมตัวของวิทยากรกระบวนการจำเป็นต้องศึกษาบริบทของงานเชิงประเด็นให้ถ่องแท้ อีกส่วนหนึ่งก็คือข้อมูลของผู้เข้าร่วมวงเรียนรู้ ต้องเรียนรู้เบื้องหลัง พื้นฐานจุดแข็ง และข้อจำกัดของผู้เข้าร่วมวงเรียนรู้ จะช่วยทำให้การสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวิทยากรกระบวนการเป็นไปด้วยความราบรื่นและเกิดผลสำเร็จ

        ในหนังสือ “ถอดบทเรียน (นอกกรอบ)” ที่ได้เคยเขียนไว้เป็นหนังสือที่ถอดประสบการณ์การทำงานของวิทยากรมาเป็นกรณีตัวอย่าง “คนถอดบทเรียน” มีคุณสมบัติอย่างไร? (ในที่นี้หมายถึง Facilitator หรือ วิทยากรกระบวนการ)

กระบวนการถอดบทเรียน ไม่ได้เจาะจงในการเลือกใช้เครื่องมือ หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่การถอดบทเรียนขึ้นอยู่กับ “โจทย์” และ“กลุ่มเป้าหมาย”  สองสิ่งนี่เองที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะใช้กระบวนการถอดบทเรียนอย่างไร? แต่อย่างไรก็ตามเราก็สามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตลอดเวลานะครับ ถ้าพอว่าวิธีการที่เราใช้นั้นไม่เวิร์กเอาซะเลย ดูฝืดๆฝืนๆ ก็ลองปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ ก็ไม่ผิดกติกาใดๆทั้งสิ้น

        เคยทราบมาและบางทีก็มีประสบการณ์ด้วยตัวเองโดยใช้วิธีการ “ถอดบทเรียนที่ไร้กรอบ”  ที่บอกว่าไร้กรอบคือ ไม่ได้แสดงตัวว่าผู้ที่ทำหน้าถอดบทเรียนกำลังปฏิบัติการ  “ถอดบทเรียน” อยู่ ทำให้เนียน ทำให้เป็นธรรมชาติ แต่ภายใต้ความเป็นธรรมดานั้น นักถอดบทเรียนกำลังใช้วิธีการถอดบทเรียนอยู่เงียบๆ เช่น วิธีการสังเกต,การจับประเด็นการพูดคุย,การซักถามทุกข์ สุกดิบ หรือบางครั้งก็ลงไปสัมภาษณ์พูดคุยในประเด็นที่เราสนใจเมื่อมีประเด็นที่น่าสนใจ เราก็ลงลึกในประเด็นเหล่านั้นทันที  แต่ทุกอย่างเป็นไปแบบธรรมชาติ ในบรรยากาศกัลยาณมิตร

 

        ในกรณีสถานการณ์ข้างต้น “การถอดบทเรียนที่ดี”  ควรจะทำให้เนียนกับวิธีชีวิต  ข้อมูลที่เราได้ก็จะเป็น ข้อเท็จจริง ที่หายากมากในวงสนทนาสาธารณะทั่วไป วิธีการนี้ทำได้ดีแบบคนต่อคน หรือกลุ่มเล็กๆ ที่เราคุ้นเคยระดับหนึ่งมาแล้ว ความสำเร็จในการถอดบทเรียนแบบไม่เป็นทางการนี้ อยู่ที่เราสามารถทลายความเป็นคนแปลกหน้า เราสามารถทลายความหวาดระแวง กระชับความสัมพันธ์นำไปสู่การไว้ใจ และเปิดใจในที่สุด แล้วทุกอย่างก็ไปได้ดี

        “การถอดบทเรียน”  เป็นกระบวนการหนึ่งที่อยู่ภายใต้ “การจัดการความรู้” (Knowledge management) ดังนั้นความรู้ที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบสามารถนำไปใช้ได้ ก็หมายถึงเราก็ได้บทเรียนพร้อมใช้ไปด้วย ความรู้และบทเรียน คือสิ่งเดียวกัน 

        เราทราบกันดีว่าความรู้มีสองชนิด ความรู้ภายนอก (Explicit knowledge) ที่เป็นความรู้หาได้จากตำรา ทฤษฏี งานเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร เราสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ พร้อมใช้ได้ในทันที การจัดการความรู้ประเภทนี้ไม่ค่อยท้าทายความสามารถเท่าไหร่ แต่ความรู้ประเภทที่ฝังลึกในตัวคน ตรงนี้ถือว่า ท้าทายมาก ในการสกัดออกมา

        สำหรับนักถอดบทเรียน นักจัดการความรู้ ความรู้ที่บอกว่าท้าทายคือ “ความรู้ฝังลึก” (Tacit knowledge)ยากมากสำหรับการดึงความรู้เหล่านี้ออกมา เพราะนักถอดบทเรียนไม่ได้มีทักษะ ที่แกร่งศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีศิลปะด้วย

        ผลลัพธ์ที่ต้องการในเวทีพัฒนาศักยภาพพยาบาลชุมชน จึงเป็นการให้เรียนรู้ทักษะการถอดบทเรียน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความรู้ และต่อเนื่องด้วยการสื่อสารผ่านการเขียน เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนคนหน้างาน (พยาบาลชุมชน) แล้ว พอที่จะประเมินได้ว่า น่าจะช่วยในการทำงานได้ไม่มากก็น้อย การเพิ่มเติมทักษะเพียงเล็กน้อยสำหรับพื้นฐานที่พยาบาลชุมชนมีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากมากนัก

 

.....................................................

หมายเลขบันทึก: 453643เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

น้องเอกคะ พี่อ่านบันทึกนี้ ๒ รอบ

พี่สนใจเรื่อง "การถอดบทเรียน" พยายามทำความเข้าใจ แต่พี่มักงุนงงเรื่องนิยาม และกระบวนการของ KM  และสับสนเรื่อง KM มาตลอด

น้องเอกช่วยชี้แนะพี่ ๒ เรื่องนะคะ

ข้อแรก  พี่คิดเอาเองว่า "สรุปบทเรียน" คือเราสามารถบอกได้(ด้วยตัวเอง)ชัดว่าสิ่งที่เราเรียนรู้มานั้นคืออะไร มีอะไรบ้าง  ส่วน"ถอดบทเรียน" นั้นคือการที่ต้องมีคนมาช่วยดึงความรู้ที่ซ่อนไว้ออกมา และ facilitator จะเป็นผู้ทำหน้าที่นั้น  พี่เข้าใจถูกมั๊ยคะ

ข้อสอง พี่มี "โจทย์" คือ

เกิดความไม่เป็นหนึ่งเดียวในการทำงานชิ้นหนึ่งของกลุ่มคนในองค์กร  และมีกลุ่มคนอีกกลุ่มที่เป็นคนนอกองค์กรที่มีประสบการณ์การทำงานมามาก  ถ้าเราต้องการให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวในการทำงาน ผลักดันงานให้เดินไปข้างหน้าอย่างราบรื่น

พี่จะใช้เครื่องมือ และกระบวนการอะไรบ้าง 

จะรอคำตอบจากน้องเอกค่ะ

ความสุข ของพี่เอกคือ..การทำงาน จริงๆนะครับ

นับว่าเป้นประโยชน์และการนำไปใช้งานได้ พี่กำลังพัฒนางานตนเองในหน่อยงาน

และคิดว่าอยากนำการถอดบทเรียนไปใช้ประโยชน์ เรียกว่าทำแบบลูกทุ่ง

อย่างน้อยก้ได้ประโยชน์ คือพัฒนาระบบงานให้ดีขึ้นได้ระดับหนึ่ง

ขอบคุณครับ...ได้ความรู้เรื่องการถอดบทเรียนเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ

หัวใจสำคัญคือเจ้าของ Tacit Knowledge จะยอมให้ถอดแค่ไหน เปรียบไปก็เหมือนการที่พยายามจะถอดเสื้อผ้าคนอื่นล่ะครับ....ขึ้นกับว่า สนิทไว้วางใจกันระดับไหน ก็จะหมายถึงจำนวนชิ้นเสื้อผ้าที่สวมใส่ที่เราสามารถถอดออกได้ แล้วจึงจะเห็นเนื้อในไม่ใช่เปลือกนอกที่เราอาจจินตนาการเอาเองไปต่างๆนาๆ ทั้งๆที่ความเป็นจริง หรือเคล็ดลับสำคัญอาจเป็นอีกแบบ ที่เราคาดไม่ถึงก็ได้

สวัสดีครับ น้องเอก

วันนี้เมื่อปีก่อน ได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำการถอดเรียนโครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่กระบี่

ตอนที่ทำกระบวนการสนุก ถอดได้เยอะ แต่พอเอามาเขียนมันตกหล่นไปมาก

แต่ยอมรับวันนั้น ผู้สูงอายุมีบทบาทในการให้ถอดมากกว่าหมอ ฟันและเจ้าหน้าที่

อาจเพราะยังไม่สนิทใจเหมือนคุณหมอสีอิฐท่านกล่าวจริงๆ

เสียดายกลอนโนราห์ที่ผู้สูงอายุใช้ร้องประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สุขภาพช่องปาก จำได้ไม่หมด

สบายดีครับน้องเอก

  • ทำงานไม่หยุดเลยนะครับ ติดตามหลายท่านในgotoknowเป็นเช่นนี้ ชื่นชมมากๆ และดีใจครับที่มีโอกาสได้พบกัน.. 
  • ขอบคุณน้ำใจไมตรีล้นเหลือที่ได้รับ รวมทั้ง vcd หนังสือ วันหน้าคงมีโอกาสได้ตอบแทนบ้าง

พี่นุ้ย

ผมเพิ่งมาอ่านบันทึกครับ

ขอเวลาสักหน่อยจะมาตอบโจทย์ให้นะครับ

มาอ่านเเล้วขอตอบเลยครับ เดี๋ยวผมนอนไม่หลับ

เรื่องคำในทัศนะของผมนะครับ

"สรุปบทเรียน" เเละ "ถอดบทเรียน" นั้น คล้ายกันมากครับ เเละนิยามที่พี่พยายามคลี่คลายนั้นก็ใช่ด้วยครับ

ทั้งสรุป เเละ ถอด  ก็มาจากเจ้าตัว Tacit K เอง หรือ อีกวิธีการหนึ่งคือ ให้คนช่วย "ถอด" คนๆนั้นเรียก Facilitators

ก็มีข้อดี ข้อเสียที่ต่างกัน  ว่าด้วยเรื่อง "สรุป" เเละ "ถอด" จำเป็นต้องมีทักษะชุดหนึ่ง ในช่วงหลัง KM สนใจการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็เลยใช้ เวทีถอดบทเรียนโดย FA เป็นเครื่องมือซะเลยครับ เวลาเราถอดด้วยวิธีวิทยาใดๆก็ตาม หากโยนเข้าวงเเลกเปลี่ยนไปด้วย ก็เหมือนกับว่า เราได้ไขว้ประสบการณ์ไปในตัว..

ไม่รู้ผมตอบเคลียร์ไหมนะครับ??

 

ส่วนคำถามข้อสอง..

เมื่อพี่วิเคราะห์ออกมาชัดประมาณนี้ ผมคิดว่า "ร่วมมือ" กันทำงานทั้งคนนอก คนในเลยครับ ผมมองว่า ทัศนะ คนใน คนนอก มองเรื่องเดียวกัน อาจมีเเง่มุมที่ต่างกัน เเต่หากมีจุดมุ่งที่สอดคล้องต้องกัน ก็คิดหากกระบวนการทำงานร่วมกัน แบบนี้ WIN WIN เลยครับ เติบโตกันทั้งหมด งานก็ได้ด้วย

ผมมักใช้ Scenario Technique หรือ ใครจะเรียกอะไรก็เเล้วเเต่ก่อนกระบวนการอื่น เสร็จเเล้วมาวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน SWOT Analysis ไปเลยก็ได้ - ได้แผน ได้ประเด็นทำงาน เสร็จเเล้วก็ออกแบบการทำงาน ออกแบบการประเมินผลแบบเเสริมพลัง ใช้ KM เข้ามาเนียนๆ ในกระบวนการ สรุปหรือถอดบทเรียนเป็นระยะๆ โดยภาพรวมก็คงมีเท่านี้ครับผม

ขอบพระคุณหลายๆท่านครับ

พี่นาง จาก หนองคาย,หมอสีอิฐ ผมชอบความคิดท่านมากครับ ขอบคุณน้องป้อม เพิ่งจะแฮปปี้เบิร์ดเดย์ไปนะครับ,ส่วน อ.ธนิตย์ ดีใจที่ได้เจอตัวเป็นๆที่เวทีครูเพื่อศิษย์ครับ

ส่วนบังวอญ่า ผมคิดถึงบังนะครับ

ขอบคุณครับ คุณ กศน.ท้องถิ่น หนังสือ "ถอดบทเรียน" สามารถดาวโหลดได้นะครับผม ฟรี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท