ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๐๗. ไปร่วมพิธีมอบรางวัลสิปปนนท์ ๒๕๕๔


          บ่ายวันเสาร์ที่ ๙ ก.ค. ๕๔ มีพิธีมอบรางวัลสิปปนนท์ ๒๕๕๔  และปาฐกถา เรื่อง “วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า เศรษฐกิจไทยยั่งยืน”   โดยองค์ปาฐกคือ ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย   เพื่อรำลึกถึงคนดีของชาติ คือ ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต

          งานนี้เริ่มครั้งแรกในปี ๒๕๕๑ โดยได้มีบันทึกไว้ที่นี่   และผมบันทึกความรู้สึกไว้อย่างละเอียดที่นี่

          ผมบันทึกการไปร่วมงานปีที่แล้วไว้ที่นี่

          ปีนี้ช่วงเช้าผมไปประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จุฬาฯ   กินข้าวเที่ยงเสร็จผมก็รีบขับรถจากจุฬาฯ ไปที่วังสวนผักกาด  รถมาติดตรงเลยสี่แยกราชเทวีมาแล้ว   ใช้เวลาตรงนั้นเกือบครึ่งชั่วโมงจึงเลี้ยวขวาตรงสี่แยกพญาไทได้ 

          นักเรียนที่สอบ โอเน็ตวิชาวิทยาศาสตร์ได้คะแนนสูงสุดในปี ๒๕๕๔ และได้รับรางวัลสิปปนนท์ คือนายฐิติกร กิตติบุญญา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เวลานี้เป็น นักศึกษาแพทย์ศิริราช   และผู้สอบได้คะแนนอันดับที่ ๒ คือ นส. นัยน์ชนก แขดอน โรงเรียนเตรียมฯ  และเวลานี้เป็น นศพ. ศิริราชเหมือนกัน

          ดร. ประสาร กล่าวปาฐกถา เรื่อง “วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า เศรษฐกิจไทยยั่งยืน”  ใน ๓ ประเด็นใหญ่ๆ คือ

๑. ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ท่านกล่าวว่า ทั้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ต่างก็มีเป้าหมายหรือคุณประโยชน์ต่อสังคมใน ๓ ด้าน คือ (๑) ความเจริญก้าวหน้า มีความเป็นอยู่ดีขึ้น  (๒) ความยั่งยืน  (๓) ความทั่วถึง   โดยมีเป้าหมายทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม  ว&ท ช่วยเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และคิดค้นสินค้าใหม่ๆ  


๒. สภาพปัจจุบันของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย  ท่านอ้างรายงานของ IMD ว่าประเทศไทยผลิตบุคลากรด้าน ว&ท ไม่น้อย   แต่สร้างนวัตกรรมไม่ได้   ทำได้เพียงพัฒนารูปร่างภายนอก


๓. แนวทางพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยในอนาคต  ท่านเสนอ ๓ ประการคือ  (๑) ปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์  (๒) ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  (๓) ร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจเอกชน นำความรู้ ว&ท ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์

          ดร. ประสารอ้างผลการวิจัยเปรียบเทียบการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้กับไทย   ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน   แต่ ๒๐ ปีให้หลัง ในปี ๒๕๔๓ ไทยล้าหลังเกาหลี ๑๐ – ๑๕ ปี  เขาบอกว่าข้อแตกต่างคือบุคลากรด้าน ว&ท ที่ไทยผลิตน้อยเกินไป   และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเน้นการหยิบยืมและซื้อเทคโนโลยี ไม่พยายามสร้างเอง  แต่เกาหลีสร้างคนของตนเอง สำหรับสร้างเทคโนโลยีเองด้วย

          มีคนถามวิธีดึงดูดคนเก่งไว้เป็นนักวิทยาศาสตร์   ท่านตอบแบบมวยหลัก ว่าต้องมี incentive ทั้งที่เป็นเงินและที่ไม่ใช่เงิน   คนเราบางคนต้องการทำสิ่งที่ตนใฝ่ฝัน  และต้องการสร้างสิ่งที่เกิดผลดีต่อสังคมและต่อโลก   หากจัดอำนวยความมั่นใจว่าหากเข้ามาเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาจะมีโอกาสทำสิ่งที่ใฝ่ฝันนั้น   คนเก่งบางคนก็จะเข้ามาอุทิศชีวิต

          ผมขับรถกลับบ้านด้วยความอิ่มใจที่ได้มาร่วมงานเพื่อรำลึกถึงครูของผม

 

วิจารณ์ พานิช
๘ ก.ค. ๕๔

         
          
         
 

หมายเลขบันทึก: 453224เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท