ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๔๓. ไปร่วมงานมอบรางวัลสิปปนนท์ และปาฐกถา เรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


          ก่อนบ่ายโมงเล็กน้อย ของวันที่ ๑๐ ก.ค. ๕๓ ผมนั่งแท้กซี่ออกจากบ้าน ไปยังวังสวนผักกาด   เพื่อร่วมงานมอบรางวัลสิปปนนท์ และปาฐกถา เรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน   ผมนั่งแท้กซี่ไปเพื่อลดภาระในการหาที่จอดรถ   และเพื่อสบายไม่ต้องขับรถเอง

          ผมชวนโชเฟอร์คุย   พอคุ้นหน่อยเดียวแกก็ด่าพรรคประชาธิปัตย์เสียเละ   ว่าไม่มีอะไรดีเลย   เวลานี้ยาเสพติดเต็มเมือง   แถวบ้านแกที่ซอยใกล้ๆ ปปส. ก็มียาเสพติดเร่ขายเกลื่อน โดยมีตำรวจเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง    วินมอเตอร์ไซคล์ต่างๆ ก็เริ่มมีผู้มีอิทธิพลกลับมาคุมและเรียกเก็บค่าวิน   ผมรู้สึกว่าโชเฟอร์คนนี้เป็นสมาชิกของขบวนการโฆษณาชวนเชื่อความดีของทักษิณ   และทับถมพรรคประชาธิปัตย์

        แกบอกว่าสู้สมัยทักษิณไม่ได้ “แม้แต่ขี้ยังดีเลย”   ดูลักษณะการพูดแกคงเรียนมาจากเวทีเสื้อแดง   โชเฟอร์คนนี้มีรถของตัวเองทั้งหมด ๘ คัน   ลูกก็ขับแท้กซี่   เมื่อมาถึงหน้าโรงแรมสยาม ซิตี แกบอกว่านี่คือถิ่นของแก   ทำมาหากินมากว่า ๓๐ ปี   รถของแกทุกคันจอดรอผู้โดยสารแถวนี้จะไม่ถูกจับ   แต่รถที่อื่นมาจอดไม่ได้ ถูกจับหรือถูก ล็อกล้อ   เพราะแกจ่ายค่าตอบแทนให้ตำรวจเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท   แกพูดอย่างภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของแก

          ขากลับนั่งแท้กซี่ที่เพิ่งออกมาจากเป็นคนขับรถเมล์โดยสารของเอกชน   และบอกว่าตนไปเจาะเลือดตรวจ ดีเอ็นเอ ที่ รพ. วชิระ พบว่ามีสายโลหิตร่วมกับเชื้อพระวงศ์สายหนึ่ง   โดยที่ตนมีประวัติว่าแม่เอาไปฝากฝังให้ผู้ใหญ่ช่วยรับเลี้ยงแล้วแม่ก็หายตัวไป  

          งานวันนี้สำหรับผมเป็นวันรำลึกถึงครูที่ผมรักและเคารพมากที่สุดคนหนึ่งของผม คือ ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต    ทางครอบครัวและญาติมิตรได้ตั้งกองทุน ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ขึ้น ให้รางวัลแก่ผู้ทำคะแนนสอบ O-NET ได้อันดับ ๑ และอันดับ ๒   และจัดปาฐกถา ซึ่งในปีนี้เชิญ “ดร. กบ” ดร. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาปาฐกถาเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

          ดร. กบ บอกว่า ท่านก็ถือ อ. สิปปนนท์ เป็นครูคนหนึ่งเหมือนกัน   โดย ดร. กบ มาเป็นเลขาสภาพัฒน์ในปี ๒๕๔๗ ซึ่งตอนนั้น อ. สิปปนนท์ไม่ได้เป็นประธานสภาพัฒน์แล้ว    แต่ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่   ท่านได้เล่าเรื่องของท่านกับ อ. สิปปนนท์ ทำให้เราได้รู้เรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย   และบอกว่า เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้น ท่านก็เรียนมาจาก อ. สิปปนนท์ หลายอย่าง   โดยบอกว่ามีหลัก ๓ อย่างเท่านั้น คือ (๑) ให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (๒) ให้ความสำคัญแก่ชุมชน  (๓) ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  

          ดร. กบ เอารูปที่ท่านถ่ายกับ อ. สิปปนนท์ และนักเรียนโรงเรียนชาวนามูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี มาทำ powerpoint ฉายประกอบการบรรยาย   ทำให้ผมกลับมาค้นภาพถ่ายชุดนี้เพื่อเอามาอวดใน บล็อก นี้   นอกจากได้รูปที่ท่านไปเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๕ ก.ย. ๔๘ แล้ว   ยังได้รูปตอนไปเยี่ยม ต. สาคลี  อ. เสนา  จ. อยุธยา ถิ่นของ ครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ มาลงแถม

          ตอนเปิดโอกาสให้ถาม   ศ. ดร. ยอดหทัย ขอให้ ดร. กบ เล่าตอนไปเป็นประธานการบินไทยท่านไปทำอย่างไรจึงฟื้นการบินไทยจากขาดทุนมาเป็นมีกำไร   ท่านตอบว่า ทำ ๓ อย่าง  (๑) แยกระหว่างการกำกับดูแล กับการบริหาร   ฝ่าย บอร์ด ไม่ไปยุ่งกับงานบริหาร โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง   (๒) จัดระบบธรรมาภิบาลให้เข้มแข็ง   มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส   (๓) ให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว

          ท่านบอกว่า ได้ไปลดผลประโยชน์ที่มากเกินไปของ บอร์ด   เช่นประธานได้สิทธิ์เดินทางฟรีชั้น ๑ ปีละ ๓๐ เที่ยว  ก็ลดเป็นชั้นธุรกิจ เพียง ๑๐ เที่ยวก็เกินพอแล้ว   และได้จัดการไต่สวนไล่ออกผู้บริหารที่ทุจริต

          วันนี้ ผมได้ไปฟังผู้บริหารที่มีความสามารถเป็นเพชรน้ำหนึ่ง ที่ทั้งเก่งและดี    มาพูดในวันรำลึกถึงผู้บริหารและนักวิชาการที่ทั้งเก่งและดีผู้ล่วงลับ   เป็นบุญที่ได้ไปร่วมงานนี้

          ขอบอกบุญ ท่านที่สนใจบริจาคเงินเข้ากองทุน ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ทำได้โดย โอนเงินเข้าบัญชี กองทุน ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต  ธนาคารไทยพาณิชย์  สาขาซอยอารีสัมพันธ์ เลขที่ 056-2-36602-3   หรือเขียนเช็คสั่งจ่าย กองทุน ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต   แล้วแจ้งรายละเอียดการโอนเงินหรือส่งเช็คไปยัง

          กองทุน ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต

          51/1 ถนนเศรษฐศิริ   สามเสนใน  กทม. 10400 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ค. ๕๓
               
        

รูปถ่ายที่ อ. เสนา จ. อยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๗

 

ดร. อำพน กิตติอำพน กำลังปาฐกถา คุณเอมิลี่ เกตุทัต และ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นั่งฟังที่ด้านหน้าห้องประชุม

 

ไปเยี่ยมชมกิจกรรมของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ๑๕ ก.ย. ๔๘

 

ฟังการบรรยายสรุปในพื้นที่

 

เยี่ยมชมแปลงนา

 

ที่โรงนา

 

ฟังการบรรยายสรุปโดยนายเบี้ยว ไทยลา หนึ่งในนักเรียนโรงเรียนชาวนา

 

ฟังการบรรยายสรุปที่มูลนิธิข้าวขวัญ

 

 กล่าวกับนักเรียนโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี

หมายเลขบันทึก: 378729เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2010 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับอารย์  ผมอ่านบันทึกของอารย์บันทึกนี้ได้ข้อสรุปหลายเรื่อง

          เรื่องแรกในรถแท็กซี่

          เรื่องที่สอง บรรยากาศและเรื่องราวในการจัดกิจกรรมของงาน

          เรื่องที่สาม   ย้อนรอยถอยภาพฟื้นฟูสู่ความจำของปูชนียบุคคลของแผ่นดิน

          เรื่องที่สี่      เชิญชวนบริจาคสมทบกองทุน

                 สาระทั้งหมดดีครับอาจารย์  เห็นทีจะต้องตามหาอาจารย์อ่านทุกวันที่อาจารย์บันทึกแล้วละครับ     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท