480 บ้านดินกับความคิดที่พอเพียง


เกิดที่ใจ

 

บ้านดิน กับความคิดที่พอดีพอเพียง

ช่วงหลังนี้ คนพูดถึงบ้านดินกันมาก จนกลายเป็นกระแสหนึ่งของคนไทยทั้งคนกรุงที่มีอันจะกิน คนธรรมดาที่ไม่ได้มีอันจะกิน เช่นผม ต่างพากันสร้างบ้านดินกันเป็นแถว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ขอสนับสนุน และในฐานะที่ผมอยู่ที่อินเดีย ได้เห็นบ้านทั้งบ้านดินและบ้านอิฐ(ก่อเอง) ของคนอินเดียระดับล่างหรือชาวบ้านทั่วไปนั่นแหละ จึงอยากจะขอคิดต่อในเรื่องนี้ด้วย

อินเดียมีคนจนเยอะกว่าคนรวยหลายเท่า แต่เนื่องจากจำนวนประชากรที่มากถึงพันสองร้อยล้าน แม้จะมีคนรวย คนรวยเพียงร้อยละ 10 และคนมีอันจะกิน ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นคนชั้นกลางรุ่นใหม่ ทำให้ตัวเลข 400 กว่าล้านคนสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนรวยของประเทศพัฒนาแล้ว ยิ่งในปัจจุบันอินเดียได้ชื่อว่าประเทศที่มีคนอายุน้อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร อินเดียจึงได้ชื่อว่าประเทศที่ยังเยาว์ Young Nation

คนจนอินเดียซึ่งได้แก่คนวรรณะต่ำ เกษตรกร ล้วนมีชีวิตอยู่อย่างติดดิน บ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านก่ออิฐและบ้านดินซึ่งแน่นอนว่าสร้างกันเอง ในรัฐพิหารที่ผมเคยไปสัมผัสมา เกือบทั้งร้อยเป็นบ้านอิฐบ้านดินที่ก่อกันเอง ซึ่งมีทั้งชั้นเดียวและสองชั้น บ้านชั้นเดียวเห็นชัดว่าก่ออิฐกันเองเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังคามุงสังกะสีแล้วเอาก้อนอิฐทับแค่นี้เอง เป็นบ้านได้แล้ว ส่วนบ้านสองชั้นจะใช้เสาปูนเสริมเหล็กเส้น นอกนั้นก็ก่ออิฐกันเองเช่นกัน ชีวิตของเกษตรกรหรือคนจนอินเดียจึงอยู่กันง่ายๆ  พอเพียงพอดี แม้คนที่มีฐานะก็อยู่บ้านดินหรือบ้านอิฐแต่มีวัวควายผู้หน้าบ้านมากหน่อยซึ่งแสดงถึงความมีฐานะ

 

นี่คือบ้านของเกษตรกรในสารนาถ สร้างกันเอง

มีเพียงห้องนอนกับห้องครัว

ผมเคยไปแวะดูบ้านอิฐก่อของเกษตรกรอินเดียแถวๆ วัดไทยสารนาถ ก็พบว่า นี่คือสิ่งที่คล้ายบ้านดินที่บ้านเรากำลังนิยมกันอยู่นั้นแหละ แต่ของอินเดียเขานิยมมานานแล้วและก็ยังนิยมอยู่ต่อไป (ไม่นิยมสร้างห้องน้ำในบ้าน)

นี่คือห้องครัวที่ติดกับห้องนอน สังเกตุดูดีๆ จะได้ความรู้ว่าคนแถวสารนาถมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและติดดิน

จากบ้านดินบ้านอิฐของอินเดียถึงบ้านดินของไทย มีความคล้ายกันคือเป็นที่อาศัยของมนุษย์ที่ใช้การได้ดี เข้าแนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยหรูหราเกินความจำเป็น ทำให้คนธรรมดาสามารถมีบ้านของตนเองได้โดยไม่ต้องมีเงินมากมายอะไร  แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือบ้านดินของไทย ไม่ใช่คนธรรมดาเท่านั้นที่อยู่บ้านดิน แต่คนมีฐานะมีเงินในสังคมก็เริ่มนิยมสร้างบ้านดินกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้านต่างอากาศหรือบ้านหลังที่สามหรือหลังที่สี่ ซึ่งผมก็ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนรวยสามารถเรียนรู้กับวิถีชีวิตที่ธรรมดาได้เหมือนกัน อันจะทำให้เข้าใจหัวอกคนจนได้ดีขึ้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากเรื่องนี้คือความสุดโต่งไม่พอดีของมนุษย์ในเรื่องวิถีชีวิต โดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัย ในเมืองไทยและในหลายประเทศ การสร้างบ้านเป็นที่พักอาศัยสักหลังต้องมีเงินหลายล้านขึ้นไปถึงจะสร้างได้ ในขณะที่คนในรัฐพิหารสร้างบ้านก่ออิฐด้วยอิฐไม่กี่ร้อยก้อน มุงสังกะสี อยู่ได้แล้วทั้งครอบครัว

แต่ที่ทำให้อึ้งทึ่งก็คือที่มุมไบ คนตระกูลอัมบานีสร้างบ้านแพงที่สุดในโลก สูง 27 ชั้น มูลค่าพันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจะอยู่เพียงครอบครัวเดียว

บ้านดินจึงเป็นเสมือนทางออกสำหรับคนจนธรรมดาหรือข้าราชการธรรมดาที่ไม่ได้มีฐานะอะไร แทนที่จะไปสร้างบ้านสมัยใหม่ด้วยเงินล้าน ก็ลดลงมาในระดับพอเพียงด้วยการสร้างบ้านดินราคาไม่กี่หมื่นบาท ก็อยู่ได้แล้ว ผมเองก็อยากจะมีบ้านดินสักหลังที่สร้างด้วยตัวเองเหมือนกัน

แต่จะว่ากันไปแล้ว ทั้งสองเรื่องอาจจะสุดโต่งเหมือนกันหรือไม่ คนจนฝันอยากจะมีบ้านราคา 5 ล้าน 10 ล้าน กับคนมีฐานะอยากจะมีบ้านดินราคา 5 หมื่น

ทำไมไม่ใช้หลักของความพอดี ในการสร้างที่อยู่อาศัยที่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราเกินความจำเป็น บ้านก่อปูนและก่ออิฐก็น่าจะไม่แพงมากหากมีชั้นเดียว โดยเฉพาะหากโครงบ้านทำด้วยปูนเสริมเหล็ก ก็สามารถก่ออิฐหรือก่อก้อนดินเป็นฝาผนังได้เช่นกัน สิ่งที่จำเป็นพื้นฐานที่ต้องมี เช่นสุขภัณฑ์ ก็ต้องมีไป แต่หากลดความหรูหราฟุ่มเพือยตรงวัดสุก่อสร้างได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ราคาก่อสร้างลดลง แต่ก็นั่นแหละอาจไปกระทบต่อบริษัทก่อสร้างบ้านมีระดับทั้งหลายที่พยายามให้คนมีรสนิยมสูงสร้างบ้านในราคาเกินล้าน

มาถึงตรงนี้ นึกถึงเวลาผมเกษียณ อาจจะไม่จำเป็นต้องไปสร้างบ้านดินอยู่ในต่างจังหวัด และก็คงไม่ซื้อบ้านราคา 5-7 ล้าน แต่อาจจัดการบ้านที่มีอยู่ให้ใช้การได้โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นและเกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งหมดนี้ ใจที่พอเพียงและพอดีสำคัญและต้องมาก่อนอะไรทั้งหมดครับ

คำสำคัญ (Tags): #บ้านดิน
หมายเลขบันทึก: 448930เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2011 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กำลังอยากได้สักหลังครับ

ตอนนี้มีบ้านสวนโสภณไว้รองรับหลังเกษียณแล้ว1หลัง

http://www.gotoknow.org/blog/agriculturesopon/442212

อยากได้บ้านดินไว้อีกทีละหลังสองหลัง เพื่อรองรับ

งานเผยแพร่ เกษตรพอเพียง เกษตรอินทรีย์อะไรทำนองนี้ครับ

Ico48

 

อจ.โสภณครับ

แวะไปเยี่ยมชมบ้านสวนมาแล้วครับ ให้ภาพและข้อมูลที่ชัดเจนครับ

ในราคานี้ ไม่ทราบว่าเป็นค่าวัสดุและค่าแรงเท่าใดครับ

ส่วนที่ต่างจากบ้านคนอินเดียระดับชาวบ้านก็คือ อิฐจะเป็นอิฐที่ชาวบ้านท้องถิ่นทำเอง  และมักไม่ค่อยฉาบฝาบ้าน หลังคาส่วนใหญ่ไม่นิยมทำเป็นหลังคาจั่วแบบบ้านเราครับแต่จะเป็นดาษฟ้าแทนเพราะได้พื้นที่เพิ่ม โดยดาษฟ้าจะเป็นเสมือนลานตากผ้าและลานอเนกประสงค์ ตอนเย็นเห็นคนขึ้นไปนั่งเล่นกันทั้งครอบครัว

ฝาบ้านนั้นค่อนข้างหนากว่าบ้านเราเพราะเวลาเรียงอิฐจะเรียงแนวขวางทำให้ฝามีความหนามาก แต่ก็คงมั่นคงมากกว่า ช่องลมมีเหมือนบ้านเราแต่หน้าต่างไม่ค่อยมีมากนักเพราะหน้าหนาวที่อินเดียหนาวกว่าบ้านเรามาก

ห้องน้ำก็มักแยกออกจากตัวบ้านและมักไม่มีระบบการเก็บน้ำเพราะจะนิยมใช้น้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่ครับ

Ico24 มะปรางเปรี้ยว, Ico24 อ.นุ,

ขอบคุณ คุณมะปรางและคุณ อ.นุ ครับ

ผมรู้สึกว่าความพอพเพียงพอดีของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะทำให้เราเลือกวิถีชีวิตที่กลางๆ ไม่สุดโต่ง คืออาจไม่ต้องไปอยู่บ้านดิน แต่ก็ไม่ต้องมีบ้านราคา 5 ล้าน

ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท