น้ำพา "เถาขี้กา" มางอกงามให้ชื่นชม


นับตั้งแต่น้ำท่วมผ่านพ้นไปเมื่อปลายปีที่แล้ว จนบัดนี้ท่าน้ำบ้านผู้เขียนก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูปลูกผัก กล้วย มะละกออย่างที่เคยเป็น เคยมีเสมอมา นี่แหละค่ะ ไม่มีอะไรแน่นอน ต้องมีความสุขกับปัจจุบันขณะให้เป็น

ท่าน้ำก็ต้องทำใหม่ให้มั่นคงแข็งแรง ยังทำไม่เสร็จเลยค่ะ แต่ก็สะดวกพอที่พวกหาปลาจะมาเทียบเรือขายกุ้ง ปลาแม่น้ำให้เรา ในภาพพี่น้อยกำลังเลือกซื้อค่ะ

ตอนนี้เลยใช้วิธีชมพืชพรรณไม้หลากหลายที่แม่ธรรมชาติอำนวยให้งอกงาม ดีกว่าเห็นดินโล้นๆหลังน้ำลดใหม่ๆ ช่างเป็นความงามในความรกที่เขียวขจี ในบรรดาพืชที่ขึ้นใหม่มากมายหลายสิบชนิด ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่คนปัจจุบันเรียกว่า วัชพืช ทั้งๆที่ชาวบ้านสมัยก่อนได้ใช้เป็นทั้งอาหารและยา เช่น ผักเป็ด ผักโขมหิน ผักกระสัง หญ้าน้ำนมราชสีห์

 

 

ที่เป็นชนิดแปลกเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเคยมาขึ้นที่ท่าน้ำนี้ ก็คือ เถาขี้กา เลื้อยคลุมดินเป็นบริเวณกว้าง ออกลูกมากมาย ลูกที่ยังไม่สุกก็สีเขียวเป็นลายๆทางสีขาว ราวกับแตงโมลูกน้อยๆ แต่พอสุกจัดสีนั้นส้มแดงเห็นโดดเด่นตัดกับใบสีเขียวเข้ม

 

ค้นข้อมูล เถาขี้กา มาฝากกันสักนิดค่ะ จาก scratchpad.wikia.com/wiki/ขี้กาขาว

เถาขี้กา มีชื่ออื่นๆหลายชื่อ ทางกาญจนบุรีเรียกว่า แตงโมป่า ชลบุรีเรียกว่า มะกาดิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Trichosanthes bracteata (Lam.) Voight (T.palmata Roxb.)

วิธีใช้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ นำผลมาต้มในน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา ใช้ทาบริเวณหนังศีรษะเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ

แก้เม็ดผดผื่นคันโดยการนำเถามาต้ม แล้วนำน้ำไปอาบ

นำใบสดมาตำให้พอละเอียดแล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็นฝี

คุยกับชาวบ้านเขาบอกว่า ยอดอ่อน นั้นกินได้ เอามาลวกราดกะทิจิ้มน้ำพริกอร่อยดี ยังไม่เคยลองเลยค่ะ

เคยอ่านจากบันทึกของ คุณ ลุงเชษฐ์ Ico64นาย สุรเชษฐ์ เดชะศิริ

เล่าว่าสมัยเด็กๆอยู่ริมแม่น้ำน่าน ลงเล่นน้ำ เคยถกเถาขี้การวมๆกันลอยในแม่น้ำให้ปลามาชุมนุม น่าสนใจที่เด็กๆสมัยก่อนได้เล่น ได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่ในภูมิศาสตร์ของตน มีความรู้มากมายเป็นความรู้ที่สอดประสานอยู่ในวิถีชีวิต ทำให้ชีวิตรู้สึกเต็ม มีความร่ำรวยจากธรรมชาติ มีความสุขแม้ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง

พอคิดจะเขียนบันทึกถึงเถาขี้กา เลยได้เขียนอีเมล์ถามรายละเอียดจากคุณ ลุงเชษฐ์ ได้เรื่องเล่าแสนมีชีวิตชีวาที่ยากจะได้ยินได้ฟังในสมัยนี้มาฝากกันด้วยค่ะ

“.....ได้อ่านเรื่องเถาขี้กาของคุณนุชแล้ว ก็ดีใจที่คนรุ่นราวคราวเดียวกัน มองเห็นในสิ่งเก่าๆที่ผ่านมาอย่างมีคุณค่า และนำมาเก็บไว้เพื่อแบ่งปันต่อๆกันไปที่G2K ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเล่าให้คุณนุชฟังครับ

สมัยนั้น แม่น้ำน่าน ที่ อุตรดิตถ์ ในหน้าแล้งน้ำจะแห้ง มีหาดทรายริมน้ำตลอดลำน้ำ เพราะยังไม่มีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ (เขื่อนสิริกิติ์สร้างประมาณปี 2511) บริเวณหาดทรายจะมี เถาขี้กา ขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่นเต็มไปหมด และงอกงามดีมากเพราะได้ปุ๋ยอย่างดีที่มากับน้ำหลากในหน้าน้ำทุกๆปี แต่ก็ไม่เห็นมีใครนำไปใช้ประโยชน์อะไรอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว จะมีบ้างก็เฉพาะพวกหาปลาที่ใช้ วิธีชักแห ในแม่น้ำ

โดยเขาจะปักหลักไม้ไผ่เป็นวงกลมขนาดเท่ากับแหที่กางให้กว้างอย่างเต็มที่ เขาขึงแหให้ลอยอยู่เหนือน้ำบนปลายของหลักไม้ไผ่ มองดูเหมือนกระโจม มีเสาที่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางสูงกว่าต้นอื่น และศูนย์กลางของแหซึ่งเรียกว่า จอม ก็คลุมอยู่ที่ปลายเสาต้นกลางนี้ ที่ผิวน้ำก็จะมี เถาขี้กา หอบใหญ่ผูกติดไว้เพื่อเป็นเหยื่อล่อให้ปลาตะเพียน ปลาตะพาก ปลาบ้า ปลากาและปลากินพืชต่างๆ เข้ามากิน

เจ้าของแหที่นั่งเฝ้าดูอยู่ที่บนฝั่งก็จะกระตุกเชือก ทำให้แหที่กางขึงไว้หลุดลงมาจากหัวเสาทุกต้นพร้อมกัน แล้วครอบคลุมปลาเหล่านั้นไว้ เขาก็จะลงไปปลดเอาแหพร้อมกับปลาขึ้นมาปลดปลาบนฝั่ง ได้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โชค

ส่วนเรื่องเล่นสนุกสนานในวัยเด็กของพวกผมนั้น (ต้องเรียกว่าพวกเพราะเล่นคนเดียวไม่ได้) ผมและพี่ๆน้องๆรุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อลงจากบ้านไปอาบน้ำใน แม่น้ำน่าน ตอนเย็นๆ ประมาณห้าโมงเย็น หากวันไหนนึกสนุกอยากจะจับปลาเล่น ก็จะชวนกันออกแรงถก เถาขี้กา ด้วยมือเปล่า แล้วม้วนเป็นฟ่อนกลมยาวประมาณ 20 เมตร หนาก็ประมาณ 40 - 50 ซ.ม. (เหมือนม้วนพรมผืนยาวๆ)

จากนั้นก็จะช่วยกันลากลงน้ำ ซึ่งต้องออกแรงกันพอสมควรเพราะ เถาขี้กา มีน้ำหนักและต้องลากไปตามพื้นทราย เมื่อเถาขี้กาลงไปลอยอยู่ในน้ำแล้วก็จะรู้สึกเบาขึ้นเยอะ ลากง่ายขึ้น

เถาขี้กานี้แทนอวนที่เขาลากจับปลาในบ่อปลาทั่วๆไป เป็นเครื่องมือจับปลาเล่นของเด็กๆที่อยู่ริมแม่น้ำน่านในสมัยนั้น ปัจจุบันนี้ไม่มีโอกาสได้เล่นเพราะสภาพแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องธรรมดาของทุกๆสิ่ง

เวลาลากเถาขี้กาในน้ำนั้น จะเริ่มลากจากท้ายน้ำขึ้นไปต้นน้ำ คือลากสวนกระแสน้ำ แต่ไม่ใช่ลากขวางทางน้ำ คนลากกลุ่มหนึ่งอยู่ที่ปลายเถาขี้กาด้านท้ายน้ำ เลาะไปตามตลิ่ง คนลากอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ปลายด้านต้นน้ำ ลากเถาขี้กาออกห่างจากตลิ่งมากว่าด้านท้ายเล็กน้อย เพื่อเป็นการต้อนปลาให้เข้าไปอยู่ข้างใน ลากเลาะไปตามตลิ่ง ในลักษณะที่เกือบจะขนานกับตลิ่ง

สักพักหนึ่งเมื่อกะประมาณว่ามีปลาเข้าไปว่ายอยู่ด้านในของอวนเถาขี้กาพอสมควรแล้ว ก็จะพร้อมกันออกแรงรีบลากเถาขี้กาขึ้นไปบนตลิ่งให้เร็วที่สุด เพราะถ้าช้าปลาก็จะว่ายน้ำหนีออกไปได้ โดยเฉพาะทางด้านหัวและด้านท้ายต้องรีบลากขึ้นไปบนตลิ่งก่อน เป็นการล้อมกักปลาไว้ข้างใน จากนั้นก็ต้องรีบดึงเถาขี้กาทั้งหมดขึ้นไปตลิ่ง แล้วช่วยกันจับปลา

ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่จะเป็น ปลาสร้อย ตัวยาวประมาณนิ้วมือ ปลาแขยง ปลาสังขะวาด ก็เคยได้ ในสมัยนั้นปลาเหล่านี้ชุกชุมมาก มองเห็นว่ายไปมาเป็นฝูงๆเลาะอยู่ตามชายตลิ่ง พวกผู้ใหญ่เขาไม่ได้สนใจอะไรกับปลาเหล่านี้เลย แต่สำหรับเด็กๆอย่างพวกผมในตอนนั้นถือเป็นเรื่องที่สนุกสนาน น่าตื่นเต้นมากทีเดียว ปลาที่จับได้นั้นบางทีย่าก็เอาขึ้นบ้านไปทำเป็นกับข้าวให้พวกเรากิน แต่บางครั้งก็ปล่อยกลับไป ส่วนเถาขี้กานั้นก็จะช่วยกันลากขึ้นไปทิ้งไว้บนตลิ่ง ไม่นานมันก็เน่าเปื่อยผุพังไป

ปัจจุบันนี้นานๆผมจึงจะเห็นเถาขี้กาขึ้นอยู่ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ไม่มากมายและไม่อวบไม่งามเหมือนในสมัยก่อน หากคุณนุชไม่ได้มาชวนผมคุยถึงเรื่องเถาขี้กาในวันนี้ ผมก็อาจจะลืมเถาขี้กาไปเลยก็ได้ ต้องขอบคุณคุณนุชมากที่ช่วยให้ผมต้องย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องเถาขี้กาในอดีตอีกครั้งหนึ่ง

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่เรื่องยอดอ่อนของเถาขี้กาต้มจิ้มน้ำพริกได้ ผมเพิ่งจะรู้เดี๋ยวนี้นี่เอง จะได้ลองดู หากดีจริงจะได้บอกต่อ..."

ขอบคุณ คุณ ลุงเชษฐ์ อย่างยิ่งค่ะที่ยินดีแบ่งปันความรู้หายากนี้ให้เราได้นึกถึงภาพชีวิตผู้คนกับธรรมชาติที่อยู่อย่างมีความสุข และอาจเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังทำงานเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเพียงแรงเล็กๆหรือหรือเป็นโครงการใหญ่ๆ

หมายเลขบันทึก: 446844เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2011 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)
  • ไม่ได้เห็นเถาขี้กานาน
  • ตอนเด็กๆชอบเอาลูกสีแดงๆมาเล่นครับ
  • ล่าสุดไปตราดกับกลุ่มเรารักษ์เกาะช้าง
  • นักเรียนยังถามผมว่ามันคือเถาอะไร
  • ขอบคุณมากครับ
  • พี่นุชเจ้า..
  • 

ได้ฤกษ์มาทำความรู้จักกับ "เถาขี้กา" ค่ะ  ^^  ไม่แน่ใจว่าเคยเห็นมาก่อนไหม?  อาจจะไม่....    และต้อมว่า..หลายครั้งต้อมแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งไหนคือ "พืช" หรือ "วัชพืช"   เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งมีชีวิต   บ้างก็มีคุณประโยชน์  บ้างก็เกะกะ (จริงหรือ)

 

ป.ล. คิดถึงมากสุดค่ะ ^^

อ่านข้อความของคุณลุงเชษฐ์ก็นึกถึง "วัยเด็ก" ของตัวเองมั่ง อิอิ ^^ เคยหนีที่บ้านไปจับปลาด้วย เลอะขี้โคลนหมดเลย

ไม่ค่อยจะได้สนใจเลยครับ

เห็นก็สักแต่ว่าเห็น

อ้าว เพิ่งรู้ยอดกินได้ด้วย เยี่ยมเลยครับ

สวัสดีค่ะพี่นุชที่คิดถึง

•เถาขี้กาที่ว่านั้น ที่บ้านหนูรี เรียกว่า "ลูกแตงหนู"

•ขอบคุณความงามจากวัชพืช และธรรมชาติริมน้ำที่งดงาม ขอบคุณค่ะ^^

 

พี่นุชคะ

พืชผักหนึ่งชนิด แต่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคได้ด้วยชื่อเรียกที่แตกต่างกันและยังเป็นตัวชูโรงการเล่าเรื่องราวของลุงเชษฐ์ Ico64 ได้อีกด้วย ดีจังเลยนะค่ะ^^

 

สวัสดีครับคุณนาย นุช มีปริศนาคำทาย ว่า "สุกแดงกิมไม่ได้ สุกไหม้กินดี สุกสองทีกินอร่อย"

ข้างบนคือสุกแดงกินไม่ได้ครับ

ศุกร์สุขสันต์ค่ะพี่นุช

เถาขี้กา น่าจะไม่เคยเห็น แต่อ่านบรรยากาศแล้วนึกถึงสมัยเด็กไปหากุ้งกับป๋าค่ะ

ทางนี้ฝนยังพรำพราย ส่งผ่านความคิดถึง อิ่มอร่อยมื้อเย็น ณ ริมน้ำนะคะ จะอิ่มลำ หนมเส้นน้ำเงี้ยว เผื่อนะคะพี่นุช :)

 

เป็นความงดงามจากธรรมชาติจริงๆค่ะพี่นุช

หลังบ้านมีให้ชมเยอะเลยค่ะ

ตอนนี้เริ่มปีนรั้วเข้ามาแล้ว...อิอิ

สวัสดีค่ะพี่นุช

รู้จักดีเลยค่ะ

ตอนเด็กๆชอบเอามาเล่น

ทำเป็นล้อรถบ้าง

ทำเป็นขนมต่างๆบ้าง

แต่ทำไมเรียกขี้กาก็ไม่ทราบนะคะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง เถาขี้กาพบได้ทั้วไทย ที่ตราด เกาะช้างก็ยังมีด้วยหรือคะ ดีจังเลยที่เด็กๆที่นั่นมีโอกาสได้เห็น

เดินทางทุกทิศทั่วไทยเลยนะคะน้องชายเรา

สวัสดีค่ะคุณต้อมเนปาลี สาวน้อยจอมบู๊และแสนซน สมัยเด็กๆการได้ไปเล่น ลงน้ำสัมผัสโคลน เลนบ้างเป็นธรรมดาของเด็กต่างจังหวัดนะคะ พี่ก็เคยลงลุยโคลนตอนเด็กๆ แต่ไม่กล้าจับปลา

วัชพืช หรือ พืชทั่วไปที่มนุษย์รู้จักเอามาใช้ประโยชน์ สำหรับพี่ล้วนเป็นพืชเหมือนกัน คิดว่าเขาน่าจะต้องมาเกิดอย่างมีจุดมุ่งหมายสักอย่างบนโลกใบนี้ เหตุผลคงมีแต่เราไม่ละเอียดพอ ไม่มีปัญญามากพอที่จะ "รู้" คุณค่า ขนาดพืชที่เคยเป็นทั้งอาหารและยาในสมัยก่อน คนปัจจุบันก็หลงลืม ไม่รู้จัก ตีรวมพืชที่ขึ้นเองตามป่า ตามข้างทางว่า วัชพืช ไปเสียหมดค่ะ

เรื่องยอดเถาขี้กากินได้นี่ คงจะเป็นจริงนะคะ ชาวบ้านเขาบอก จากที่ค้นเน็ตมาก็เขียนไว้ตรงกัน แต่รสชาตินี่ไม่ทราบเป็นอย่างไร เดี๋ยวรอคุณลุงเชษฐ์พิสูจน์ให้ หรืออาจารย์โสภณ เปียสนิท จะทดลองด้วยกันก็ได้ค่ะ นุชจะรอฟังจากทั้งสองท่านก่อน^___^

แหม ชาวใต้ตามกันมาติดๆเลยนะคะ ทั้งน้องหนูรี น้องมะปรางและท่านผู้เฒ่าฯ

  • ขอบคุณค่ะน้องหนูรี ชื่อ ลูกแตงหนู ก็ฟังน่ารัก สมตัวเขาดีนะคะ ก็ลูกไม่ได้ใหญ่ เล็กกว่าลูกมะนาวเสียอีก ตอนนี้พี่ก็ได้มองความงามเหล่าพืชที่เทวดาให้มาอย่างนี้แหละค่ะ

 

 

สวัสดีค่ะ

ตอนเด็กๆเคยเห็นพ่อเคยใช้ใบขี้กาขยี้ทาผื่นคัน

แต่ไม่รู้ว่าพ่อใส่อะไรลงไปด้วย...

เลยไม่ได้ภูมิปัญญาพ่อมาต่อเนื่องเลยค่ะ

น้องมะปรางเปรี้ยว ชี้ความงามของ G2K ในเรื่องนี้ได้อย่างตรงประเด็นและชัดเจนมากค่ะ

คุณลุงเชษฐ์นั้นใจดีมากค่ะ เขียนไปถามก็รีบตอบให้ แถมเล่าอย่างเห็นภาพ พี่ดีใจที่อยากเขียนเรื่องเถาขี้กาจึงทำให้คิดถามคุณลุงเชษฐ์ หากพี่ไม่ได้มองเห็นความงามในสิ่งเล็กๆ เถาขี้กาคงแค่ได้ขึ้นรกที่เปล่าๆค่ะ

ท่านผู้เฒ่าวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--คะ เจ้าลูกแดง ลูกเขียว ผิวเรียบเกลี้ยงนี้มันเป็นตระกูลเดียวกันกับลูกขี้กาที่บ้านนุชหรือไม่คะ น่ารักจริงๆเลยค่ะ

ปริศนาลูกแดงกินไม่ได้ สุกไหม้กินดี สุกสองทีกินอร่อย แปลว่าต้องเอาลูกสุกไปย่างไฟก่อนกินหรือคะ เฉลยหน่อยค่ะ อยากรู้ แล้วอย่าลืมบอกมาด้วยว่าลูกนี้ที่บ้านท่านเรียกชื่อว่าอะไรนะคะ

ขอบคุณค่ะที่มาแวะเยี่ยมและนำภาพปริศนามาฝาก

สุขสันต์วันหยุดสุดสัปดาห์ค่ะน้องปูจ๋าPoo น้องได้หยุดพักผ่อนบ้างหรือเปล่า อิ่มลำแต๊ๆกับขนมจีนน้ำเงี๊ยว ช่างดีกับสุขภาพจริงๆ

ชีวิตที่ได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติและมีเวลาได้ชื่นชมอยู่ตรงไหนก็แสนสุขนะคะ

ค่ะน้องอาร์ม กลับมาทำงานกับทีมเมื่อไหร่ได้สัมผัสธรรมชาติที่มอ.สุดยอดค่ะ แถมมีแต่ของอร่อย ^___^

เชื้อเชิญเขาเลื้อยเป็นไม้ประดับก็ดีนะคะคุณครู ป.1 ดอกสีขาวเขาก็น่ารักมาก บานตอนเย็นแปลกดีค่ะ ลูกทั้งเขียวทั้งแดงก็น่าเอ็นดู ไม่ต้องเลี้ยงดูประคบประหงม

สวัสดีค่ะ

ที่บ้านก็มีเยอะเลย...แต่เพิ่งทราบว่าเรียกว่าอะไร

 

สวัสดีค่ะน้องบุญรุ่งตันติราพันธ์ ช่างเล่นมีจินตนาการจังค่ะ

พี่คิด(เอาว่า)ที่เรียกขี้กา เพราะ เมล็ดข้างในที่สีเขียวปี๋ออกดำๆ คงเหมือนอึกา แต่ก็ไม่เคยเห็นอึกา คงต้องหาถามคนที่แก่กว่า หรือ ไม่ก็เจ้ากามันไปกินผลแล้วเที่ยวถ่ายเมล็ดออกมาทุกหนแห่ง ทำให้มีพืชนี้ขึ้นทั่วไป เดาๆค่ะ ^___^ เดี๋ยวอาจมีผู้รู้มาช่วยไขปัญหา

สวัสดีค่ะ

ได้ความรู้เรื่องพืชเพิ่มขึ้นอีกแล้วละค่ะ....ไม่เคยสังเกตเลย....

คิดถึงนะคะ....

สวัสดีค่ะอาจารย์ลำดวน อาจารย์โชคดีนะคะที่ได้เห็นคุณพ่อใช้สมุนไพรหลายอย่าง

กำลังคิดถึงอาจารย์อยู่ พอดีได้หนังสือที่อาจารย์บอกว่าอยากได้ รอพิมพ์ใหม่อีกนาน จะส่งให้อาจารย์เร็วๆนี้ค่ะ

ขอบคุณคุณแดงค่ะ ดอกไม้ที่นำมาฝากสวยจังเลยค่ะ

ดีใจที่ทำให้เจ้าเถาขี้กา เป็นที่รู้จักมากขึ้นค่ะ

คิดถึงเช่นกันค่ะคุณคุณแจ๋ว

พวกพืชที่ขึ้นเองหากเรามีเวลาค่อยๆพิจารณา ชื่นชม แต่ละชนิดก็สวยงาม แปลกตามากเลยค่ะ เป็นความสุขเล็กๆที่ไม่ต้องใช้เงิน

^_____^ รูปสวยด้วยค่ะ ชัดแจ๋วเลย

.....มาอ่านเวปพี่นุช....ก็เป็นความสุขยิ่ง....ความสุขที่ไม่ใช้เงินค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณนายนุช.....

ชักจะไม่แน่ใจว่าเป็นเถาวัลย์พันธ์เดียวกันหรือเปล่า เพราะลูกขี้กาทางปักษ์ใต้ขนาดเท่าลูกมังคุด

และเท่าที่รู้มาไม่เคยได้ยินใครเอาลูกขี้กามากิน

จึงมีปริศนาคำทายว่า

สุกแดงกินไม่ได้ สุกไหม้กินดี สุกสองทีกินอร่อย

เฉย

สุกแดงกินไม่ได้ คือลูกขี้กา (ไม่เคยมีเด็กคนใหนทางใต้ที่กินลูกขี้กา ทั้งๆที่ผลน่ากินมาก)

สุกไหม้กินดี คือลูกมังคุด (มังคุดต้องรอให้สีผิวเป็นสีน้ำตาล ถึงจะกินอร่อย)

สุกสองที กินอร่อย คือข้าว (สุกในนาตอนเป็นรวง และมาสุกในหม้อ อีกที สุกครั้งที่คือสุกสองครั้งถึงจะอร่อย....)

ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นครับ

ลูกขี้กา เอามาให้ดูชัด กินไม่ได้ครับท่าน

เป็นชีวิตที่ "งดงาม" จริง ๆ ครับ พี่นุช คุณนายดอกเตอร์

ชีวิตของมนุษย์เราก็เพียงต้องการเพียงความสุข สงบ และเย็น

ไม่ต้องเร่งร้อนตามกระแสของโลกมากนัก

ไม่ต้องทะยานอยาก ตอบสนองกิเลสตัณหาของตัวเองมากเกินไป

ชอบ ๆ ครับพี่นุช ;)...

ถูกใจอีกแล้วบันทึกนี้..พี่ใหญ่เองชื่นชมต้นเล็กใบน้อยที่ขึ้นงามตามธรรมชาติ..ก่อนจะเก็บถอนต้องถามผู้รู้ถึงประโยชน์ก่อนเสมอ..บางทียอมให้สวนรกบ้างค่ะ..ตัวอย่าง พริกขี้นก พุ่มนี้..งอกงามเองได้เมล็ดพริกหลายรุ่นแล้วค่ะ..ต่างจากบางพันธุ์ที่เพาะด้วยความตั้งใจ..มีแต่ใบทั้งนั้น..ไม่กล้าเก็บภาพไปอวดคนให้เมล็ดพันธุ์..

ขอบคุณคุณคุณแจ๋วค่ะมาหลายรอบเลยและยังตามไปอ่านบันทึกเที่ยวญี่ปุ่นหลายตอนด้วย เป็นแฟนมาให้กำลังใจกันอย่างนี้น่ารักจริงๆค่ะ

ว้าวท่านผู้เฒ่าฯวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ลูกขี้กาเมืองใต้ใหญ่เท่ามังคุด น่าตื่นเต้นจัง ไม่เคยเห็นเลยค่ะ ขอบคุณค่ะที่มาเฉลยปริศนาให้ทราบ มิฉะนั้นก็คงเอ๋อไปอีกนานค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn มาให้กำลังใจ เราเป็นเพื่อนร่วมเดินทางด้วยกันค่ะ พบความสุขในสิ่งรอบตัวได้ง่ายๆอย่างนี้ สบายใจดีค่ะ

พริกขี้นกของพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณน่าเอ็นดูมากเลยค่ะ สิ่งที่งอกงามเองตามธรรมชาติเป็นอย่างพี่ใหญ่ว่าจริงๆค่ะ คือเขาจะงาม จะแผ่ขยายไปได้รวดเร็ว ทีเราลงแรงปลูก ประคบประหงมดูเหมือนช่างเอาใจยาก ไม่งามเท่าไหร่

วัชพืชหลายชนิดไม่ทราบชื่อ ลืมเลือนกันไปหมด ไม่ทราบจะถามใคร หนังสือก็ไม่ค่อยมีให้ค้นคว้า อ้างอิง น่าเสียดายมากค่ะ

แสดงว่าเถาขี้กานี้ เหนียวมากๆเป็นอวนลากดักปลาได้เลย  ดาพึ่งมาทราบเจ้าดอกหญ้าสีขาวนี้ไม่นานว่าเป็นดอกของเถาขี้กา เวลาดาไปบ้านสุพรรณจะพบบนริมคันนา ล่าสุดก็เก็บภาพดอกมา ส่วนลูกก็เคยถ่ายภาพมาครั้งหนึ่งไม่ชัดต่ะ

มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมายด้วย มีทั้ง  ขี้กาขาว และขี้กาแดง

ดาขอบอกสรรพคุณทั้ง 2 ชนิด จะได้นำมาใช้ให้ได้ประโยชน์ได้ถูกต้องนะคะ

 

ขี้กาขาว    เป็นพืชจำพวกเถาขนาดเล็ก 

ใบ     รสขม ตำสุมกระหม่อมเด็ก แก้หวัดคัดจมูก

เถา    รสขม บำรุงน้ำดี ดับพิษเสมหะและโลหิต ชำระเสมหะให้ตก ฆ่าเลือดไร หิด เหา

ดอก  รสขม ถ่ายพิตานซาง ขับพยาธิ ถ่ายเสมหะ แก้ตับ ปอดพิการ

ราก   รสขม  ต้มดื่ม บำรุงร่างกาย บดเป็นหงรับประทาน

        แก้ตับหรือม้ามโต รากสด ตำผสมน้ำมันทาแก้โรคเรื้อน

 

ขี้กาแดง  แตงโมป่า(กาญจนบุรี) มะกาดิน(ชลบุรี) กายิงอ(มลายู)

              เป็นพืชจำพวกเถา

ใบ   รสขม  ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ ตำคั้นเอาน้ำให้เด็กกินแก้ท้องเสีย

หัว   รสขม  บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต

ราก  รสขม  บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ตับพิษไข้ แก้ปวดศรีษะ แก้จุกเสียด

                 บดทาฝีฝักบัว แก้ตับไต ม้ามย้อย อวัยวะในช่องท้องบวมโต

ลูก   รสขม  บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก

                แก้พิตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่าย ใช้ควันรมแก้หืด

ทั้งเถา  รสขม  ต้มอาบ  แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษ ไข้กาฬ

                    ต้มดื่ม   บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด

 

ข้อมูลจากหนังสือ  ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย เภสัชกรรมไทย

                      รวมสมุนไพร ฉบับปรับปรุง โดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช

ขอบคุณมากค่ะคุณดากานดา น้ำมันมะพร้าว หนังสือที่คุณดาใช้ค้นคว้าข้อมูลนี้ เห็นทีจะต้องหาไว้ใช้อ้างอิงบ้างแล้วล่ะคะ มีข้อมูลชัดเจนดีมากค่ะ

ดอกขาวๆของเถาขี้กานี่เขามักบานตอนเย็น ไม่มีแสงอาทิตย์แล้ว แปลกนะคะ เรามักเห็นพวกดอกวัชพืชบานกลางวันเป็นส่วนใหญ่

.....พวกหาปลาจะมาเทียบเรือขายกุ้ง ปลาแม่น้ำให้เรา....  มีความสุขนะคะอาจารย์

เคยเห็น "เถาขี้กา" มาตั้งแต่เด็ก  แต่ไม่รู้ชื่อ  ก็ได้รู้วันนี้

สวัสดีค่ะ

รู้สึกดีจังค่ะที่ยังมีคนสนใจพวกลูกขี้กาอยู่ เห็นรูปที่คุณเยาวนุชโพสและอธิบายไว้แล้วก็ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคนนะคะ ก่อนอื่นขอแก้ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชตัวนี้นะคะ ชื่อที่ถูกต้องของมันคือ Gymnopetalum scabrum ค่ะ พืชในสกุลนี้จะเจริญทอดตัวไปตามพื้นดิน

ส่วนรูปที่ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei โพสมานั้นคือ สกุล Trichosanthes ซึ่งสกุลนี้จะเลื้อยเกาะขึ้นสูง ไม่อยู่ตามพื้นดิน ในประเทศไทยมีรายงานไว้ 18 ชนิด ผลของหลายชนิดจะมีลักษณะคล้ายกับรูปที่เห็นนี้ ถ้าเห็นเฉพาะผลจะไม่สามารถระบุชื่อพืชได้ แต่ถ้าแกะดูเมล็ดข้างในจะมีรูปร่างแตกต่างกันมากค่ะ ถ้าใครสนใจลองหาอ่านจากหนังสือพรรณพฤกษศาสตร์ของไทยสิคะ Flora of Thailand volume 9 part 4: Cucurbitaceae ค่ะ

ส่วนที่ว่าทำไมถึงเรียก ขี้กา คิดว่าน่าจะมาจากสีของเนื้อหุ้มเมล็ดที่มีสีดำเขียวและรสขมปี๋นั่นละค่ะ คงจะเหมือนกับอึของอีกา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท