การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน : กุญแจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา


ที่นี่...ไม่มีคำว่า "จงทำตามคำที่ครูสอน แต่อย่าทำตามอย่างที่ครูทำ"

           จากการที่ได้รับผิดชอบผลิตครูมา 34 ปีเต็ม ผู้เขียนมักจะได้ยินคำพูดว่า "จงทำตามคำที่ครูสอน แต่อย่าทำตามอย่างที่ครูทำ" ซึ่งเป็นคำกล่าวเหน็บแนมอาจารย์ที่สอนรายวิชาเกี่ยวกับวิธีการสอน (ในอดีต) หรือวิชาการจัดการเรียนรู้  (ในปัจจุบัน) ว่า เวลาสอนวิชาดังกล่าว อาจารย์จะบอกกับนักศึกษาว่า เมื่อพวกเธอไปสอนนักเรียนให้พวกเธอทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ตัวอาจารย์เองกลับใช้แต่วิธีการสอนแบบบรรยาย ไม่เคยสอนในแบบที่ได้แนะนำไปให้นักศึกษาดูเเป็นตัวอย่างเลย  เมื่อนักศึกษาออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่โรงเรียน เขาและเธอจึงสอนแบบบรรยายตามอย่างที่เห็นอาจารย์สอนพวกตนมา เพราะสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดูจะทำให้นักศึกษาจดจำและนำไปใช้ ถ้าอาจารย์ต้องการให้นักศึกษาจัดการเรียนรู้โดยวิธีที่อาจารย์บอกไป อาจารย์จะต้องให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ดังแนวคิดด้านการเรียนรู้ที่ "ขงจื๊อ (Confucius)" ล่าวไว้ว่า "ถ้าฉันเพียงแค่ได้ยิน ฉันจะลืม แต่ถ้าฉันเห็น ฉันจะจำได้ และยิ่งถ้าฉันได้ลงมือทำ ฉันก็จะยิ่งเข้าใจ" 

                                            

                 Source : http://garr.posterous.com/i-hear-and-i-forget-i-see-and-i-remember-i-do

         ผู้เขียนเองไม่ได้สอนในรายวิชาดังกล่าว ในปีการศึกษา 2550 ได้รับมอบหมายจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ให้ทำตำราและเป็นผู้ประสานงานการสอนวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" ซึ่งเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาหลักสูตร "ครุศาสตรบัณฑิต (5 ปี)"   ผู้เขียนได้เขียนและปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมตำราที่เขียนขึ้นทุกปีจากปี 2550-2553 โดยยึดสาระความรู้และสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพครูตามมาตรฐานความรู้ด้าน  “จิตวิทยาสำหรับครู” ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา ซึ่งได้กำหนด "สาระความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับครู" ไว้ 3 ประการ ได้แก่ 1)   จิตวิทยาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมนุษย์ 2) จิตวิทยาการศึกษา 3)  จิตวิทยาการแนะแนวและให้คำปรึกษา และกำหนด "สมรรถนะทางจิตวิทยาสำหรับครู" ไว้ 4 ประการ ได้แก่ 1) เข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน 2) สามารถช่วยเหลือผู้เรียนให้เรียนรู้และพัฒนาได้ตามศักยภาพของตน  3) สามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้เรียน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4) สามารถส่งเสริมความถนัดและความสนใจของผู้เรียน (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. 2553: 107) ฉบับปี 2553 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดมีปกนอก และปกใน ดังนี้

              

            ในภาคเรียนที่ 1/2554 ผู้เขียนได้รับผิดชอบสอนวิชาจิตวิทยาสำหรับครู 3 Section คือ Section 01, 02, และ 03 การจัดการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นวิชาใดก็ตาม ผู้เขียนจะบูรณาการ "การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้" ให้กับผู้เรียน ลงไปในวัตถุประสงค์เฉพาะของวิชานั้นๆ เพราะผลการวิจัยที่ผู้เขียนได้ทำการวิจัยและพัฒนา  (R&D) มาจากปี 2545-2552 ชี้ว่า การจัดการเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าว จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-directed Learning) ได้อย่างยั่งยืนและเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ทุกรายวิชา การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ทำได้โดย 1) การกระตุ้นให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ 2) การเสริมสร้างพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน และ 3) การพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้จากการฟัง การอ่าน การคิดและการเขียนสื่อความ การสืบค้นทาง Internet การลงมือปฏิบัติจริง และการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ในการจัดการเรียนรู้รายวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่จะให้นักศึกษาเรียนรู้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดทางจิตวิทยานั้น มีลักษณะการดำเนินการเป็นอย่างไร ผู้เขียนจึงได้แสดงให้นักศึกษาดูและให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ตั้งแต่สัปดาห์แรกถึงสัปดาห์สุดท้าย จึงไม่ต้องบอกกับนักศึกษาว่า "จงทำตามคำที่ครูสอน แต่อย่าทำตามอย่างที่ครูทำ" การจัดการเรียนรู้ในสัปดาห์แรก ซึ่งเป็น "กิจกรรมเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน" ตามกฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) ของ Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่มีว่า "เมื่อผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียน จะทำให้เรียนรู้ได้ดีกว่าเมื่อไม่มีความพร้อม" ผู้เขียนได้จัดกิจกรรมโดยกำหนดผลลัพธ์ที่คาดหวังเฉพาะวิชา ไว้ดังนี้  

            1. ผู้เรียนและอาจารย์ประจำวิชา   และผู้เรียนด้วยกันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในตัวตนของกันและกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้ร่วมกัน

            2. ผู้เรียนได้มีโอกาสพินิจพิจารณาและทดสอบตนเองในด้านต่างๆ ทำให้มีความเข้าใจในตนเองมากขึ้น และการมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนเรียน จะทำให้เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล            

            3. อาจารย์ประจำวิชา มีข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ การส่งเสริมการเรียนรู้ และการพัฒนาผู้เรียนให้ถึงขีดสูงสุดตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน 

            4. ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาทางวิชาชีพ และการได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทำให้มีทักษะในการนำหลักการและแนวปฏิบัติทางจิตวิทยาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล การเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการฟัง การตั้งคำถาม การรับรู้และการจำ การคิด และการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น

           นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนกับผู้เขียนในภาคเรียนนี้ ร้อยละ 92.71 เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่เหลือเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84.38) เรียนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ที่เหลือเรียนสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ  ผู้เขียนเริ่มกิจกรรมด้วยการจัดให้ผู้เรียนนั่งเป็นคู่ โดยเลขที่ 1 คู่กับเลขที่ 2 เลขที่ 3 คู่กับเลขที่ 4 ไปตามลำดับ คนที่คูู่กันจะนั่งคู่กันตามแถวตอนเพื่อไม่ให้ชำเลืองดูว่าคู่ของตนเขียนอะไร ต่อจากนั้นแจกกระดาษเขียนตอบให้คนละแผ่น และบอกว่า ต่อไปจะเป็นการทดสอบการฟังเพื่อดูว่าใครจะมีสมาธิและปฏิบัติตามข้อกำหนดได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ให้ถามเพื่อน ถ้าฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจให้ยกมือถามอาจารย์

                       

           เมื่อผู้เรียนพร้อมแล้ว ก็บอกให้ทำไปตามลำดับ เริ่มจากบอกให้เขียนคำว่า Section 01 (02, 03) ในกรอบสี่เหลี่ยมที่หัวกระดาษ และเขียนหมายเลขคู่เป็นเลขไทยถัดลงมาในกรอบสี่เหลี่ยมนั้น ต่อจากนั้นให้กรอกข้อความที่หัวกระดาษให้ครบถ้วน เสร็จแล้วให้เขียนเลขข้อนอกเส้นกั้นหน้าเป็นเลขอารบิก และเติมข้อความในแต่ละข้อ เริ่มจาก

              1.  ข้าพเจ้าเรียนในสาขาวิชา.....จบ ม.ปลายจากโรงเรียน.....(หมู่เรียน และวิชาอยู่ที่หัวกระดาษ)

             2.  อาจารย์ประจำวิชานี้ ชื่อ..............................(นักศึกษาจะรู้ชื่อวิชาและชื่ออาจารย์ประจำวิชาจากการลงทะเบียนออนไลน์แล้ว เพราะในการลงทะเบียนนักศึกษาแต่ละคนจะเลือกว่าจะลงทะเบียนเรียนวิชาใดในวัน-เวลาใด ที่มีใครเป็นผู้สอน) ตามด้วยข้อความว่า 1 คำถามที่ขอถามเพื่อให้รู้จักอาจารย์มากขึ้นคือ..............................เสร็จแล้วก็ให้แลกกันตรวจให้คะแนนการฟังและปฏิบัติตามข้อกำหนดกับคู่ของตน ถ้าที่ใดกรอกถูกต้องจะได้ที่ละ 1 คะแนน รวม 15 แห่ง เต็ม 15 คะแนน ถ้าที่ใดไม่ได้กรอกหรือกรอกไม่ถูกต้องก็จะไม่ได้คะแนน  แล้วแปลความหมายคะแนนรวมที่ได้ตามเกณฑ์ ว่าเป็นผู้มีสมาธิและทักษะการฟังในระดับใด สำหรับคำถามที่ต้องการถามอาจารย์ นั้นวัดทักษะการตั้งคำถาม ว่าถามได้เจาะจงและชัดเจนหรือไม่ เช่น ถ้าถามว่า "อาจารย์จบการศึกษาสูงสุดจากมหาวิทยาลัยใด" จะถือว่าเป็นคำถามที่ชัดเจนและเจาะจง แต่ถ้าถามว่า "อาจารย์จบจากมหาวิทยาลัยใด" ถือว่าไม่ชัดเจน เพราะไม่ชัดว่าเป็นการจบการศึกษาระดับใด (อาจารย์จะตรวจเองภายหลัง) จากนั้นให้ผู้ตรวจบอกตามลำดับเลขที่ว่า เลขที่นั้นๆ ถามคำถามว่าอย่างไร ถ้าเลขที่อื่นๆ ถามคำถามเดียวกันก็ให้บอกได้เลย โดยอาจารย์จะบันทึกคำถามทั้งหมดอย่างรวดเร็ว

            ข้อที่ 3-4 เป็นการทดสอบการติดตามข้อมูลข่าวสารในวงวิชาชีพครูที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวแรกเป็นข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายวุฒิป.บัณฑิตวิชาชีพครู ซึ่งเป็นข่าวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้เขียนว่ารู้หรือไม่รู้ข่าวที่ระบุ ถ้ารู้ให้เขียนย่อๆ ว่า รู้ว่าอย่างไร และข่าวที่สองเป็นข่าวเกี่ยวกับผลการสอบวัดเพื่อประเมินการจัดการศึกษาของชาติ (ONET : Ordinary National Education Test) ในปีการศึกษา 2553 ในระดับชั้น ป. 6, ม. 3 และ ม. 6 โดยให้ระบุว่า 3 กลุ่มสาระใดที่มีผลการสอบต่ำสุดในระดับม.ปลาย  

                  

           ข้อ 5 วัดทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ (ให้วิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยให้เลือกบทกวีบูชาครูของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 1-2 บาทที่ติดกัน ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับบทบาทของครูตามที่กำหนดให้) เสร็จแล้วให้ส่งกระดาษคำตอบที่อาจารย์เป็นคู่ แล้วให้พัก 15 นาที ช่วงที่นักศึกษาพักอาจารย์ก็จะตรวจคำตอบข้อ 3-5 อย่างคร่าวๆ  

                         

        เมื่อนักศึกษากลับเข้าชั้น อาจารย์จะให้ทุกคนยืนเป็นครึ่งวงกลมใหญ่ 1 วง  โดยยืนตามลำดับเลขที่ แล้วอาจารย์ตอบคำถามที่นักศึกษาถามเกี่ยวกับอาจารย์ (วิเคราะห์การตั้งคำถามให้ฟังด้วยว่า ถามอย่างไรถือว่ามีความชัดเจน เจาะจง อย่างไรไม่ชัดเจน หรือไม่เจาะจง) รวมทั้งแสดงหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเวลาติดต่ออาจารย์ (05.00-07.00 และ 21.00-24.00 น.) email-address ห้องทำงานและวิธีส่งงาน  จากนั้นให้ผู้เรียนพิจารณาว่า ตนมีอะไรเป็นลักษณะเด่น และลักษณะนั้นๆ จะแทนด้วยสัญลักษณ์ใด แล้วอาจารย์เรียกชื่อในลักษณะสุ่มแบบกระจาย ผู้ที่ถูกเรียกชื่อให้ยกมือ เมื่ออาจารย์พยักหน้า ให้บอกว่าตนเองมีอะไรเป็นสัญลักษณ์พร้อมด้วยแสดงท่าประกอบสัญลักษณ์นั้นไปในเวลาเดียวกันกับที่พูดคำหรือข้อความนั้น  ทั้งนี้เพื่อให้เพื่อนๆ รับรู้ด้วยสมองทั้งสองซีก (ซีกซ้ายรับรู้เป็นภาษา ซีกขวารับรู้เป็นภาพ) และอาจารย์บันทึกภาพเป็นภาพเคลื่อนไหวไว้ให้นักศึกษาดูบุคลิกภาพด้านการพูดจาและกิริยาท่าทางของตน ในสัปดาห์ถัดไป   

                      

          เมื่อผู้เรียนบอกและแสดงสัญลักษณ์ของตนครบทุกคนแล้ว ให้แต่ละคู่ไปรับกระดาษคำตอบคืน แล้วกลับไปนั่งที่เดิม และเขียนตอบข้อที่ 6

            6. สัญลักษณ์ของเพื่อนๆ ที่ข้าพเจ้าจำได้ มีดังนี้  1).........2).........3)............ (ให้เวลา 5 นาที)  

            7. สัญลักษณ์ของข้าพเจ้าคือ...........หมายความว่า............... (3 นาที)

            8. ให้ผู้เรียนทุกคนเขียนความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งในขณะที่ทำกิจกรรมและหลังทำกิจกรรม โดยเขียนได้ไม่จำกัดทั้งทางบวกและทางลบ (ให้เวลา 3 นาที) โดยชี้แจงไม่ให้กังวลว่าถ้าเขียนทางลบจะเป็นผลเสียต่อผลการเรียนในวิชานี้ เพราะอาจารย์เพียงต้องการข้อมูลย้อนกลับเพื่อนำไปใช้พิจารณาปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ในวิชานี้เท่านั้น และการวัดประเมินทุกๆ ด้านที่ให้นักศึกษาทำ เป็นเพียงต้องการรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพื้นฐานในด้านต่างๆ ของผู้เรียแต่ละคน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ ให้แต่ละกลุ่มไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกัน และนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาผู้เรียนตามพื้นฐานแต่ละด้านของแต่ละคน และจะให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนรู้จักและเข้าใจตนเองในแต่ละด้าน ในสัปดาห์ถัดไป 

           หลังจากที่ผู้เขียนได้นำกระดาษคำตอบของผู้เรียนไปตรวจเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทำตารางวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคลดังตัวอย่างที่แสดงผลการวิเคราะห์นักศึกษา Section 01 จำนวน 7 คน จากทั้งหมด 45 คน ข้างล่าง

     ผศ.วิไล แพงศรี วิชา 1052101 จิตวิทยาสำหรับครู 3 (2-2-5) พฤ. (08.00-11.20) Section 01 ห้อง 32.602

 No/Na         CG

Bra

    Sch

Sym

 M 5

 L3

 R 3

 W 3

 F 3

 C 3

T20

    Questions

2 คมสันต์        Q๑

SS

กันทรลักษณ์ฯ

เลข 1

  4

  3

  2

   3

  1

   2

15

วิธีสอนเป็นอย่างไร

3 วุฒินันท์       Q๒

SS

ศรีเมืองวิทยาฯ

ปลาไหล

  4

  2

  3

   2

  2

   1

14

มีอุปนิสัยแบบไหน

5 พรณะรินทร์ Q๓

S

หนองขอนวิทยาฯ

แก้วน้ำ

  4

  2

  3

   3

  1

   2

15

เกณฑ์การให้คะแนน

6 ชยาภรณ์      M๑ 

S

เขื่องในพิทยาฯ

ดอกไม้

  4

  1

  3

   3

  1

   3

15

เกณฑ์การให้คะแนน

7 ณัฐรดา        C๒

S

เขื่องในพิทยาฯ

นก

  4

  1

  3

   2

  2

   3

15

เป็นอาจารย์ที่นี่กี่ปี

8 ธารดา         Q๔

S

กันทรลักษณ์ฯ

ไม้ไผ่

  4

  1

  1

   1

  1

   2

10

เทคนิคการสอน

9 บุญเนตร       Q๕

S

พิบูลมังสาหาร

นก

  4

  2

  1

   3

  2

   2

14

ความรู้สึกต่อผศ.

          ช่องที่ 1 กรอกเลขที่ ชื่อ รหัส (ตามผลการวัดด้านที่คะแนนดี/ข้อมูลทางชีวสังคม เช่น M๑ คือผู้ที่มีได้คะแแนความจำสูงของกลุ่ม ๑) หมายเลขกลุ่ม ช่องที่ 2 สาขา ช่องที่ 3 จบม.ปลายจาก ช่องที่ 4 สัญลักษณ์ประจำตัว ช่องที่ 5 ระดับความสามารถในการจำ (5 คือ ระดับสูงที่สุด 4 สูง 3 ปานกลาง 2 ต่ำ และ 1 ระดับต่ำที่สุด) ช่องที่ 6 การฟัง ช่องที่ 7 การอ่านเชิงวิเคราะห์ ช่องที่ 8 การเขียนสื่อความ ช่องที่ 9 การติดตามข้อมูลข่าวสาร ช่องที่ 10 การสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ช่องที่ 6-10 ให้คะแนนโดยใช้ Rubrics มีเกณฑ์การประเมิน 3 ระดับ (3 หมายถึง ระดับดี 2 พอใช้ และ 1 ระดับต้องปรับปรุง)  ช่องที่ 11 คะแนนรวม เต็ม 20 คะแนน และช่องที่ 12 คำถามเพื่อให้รู้จักอาจารย์มากขึ้น 

ตัวอย่างสัญลักษณ์และความหมาย (ผู้เขียนได้ปรับคำอธิบายของบางคนให้ข้อความกระชับขึ้น)

           "สัญลักษณ์ (Symbol)"  เป็น "ภาพลักษณ์ (Image)" ที่นักศึกษาใช้แทน "ตัวตน (Self)" ของตัวเอง ดังตัวอย่างสัญลักษณ์และความหมายที่รวบรวมจากนักศึกษาทุก Section  : "เลข 1หมายความว่า ข้าพเจ้าไม่เหมือนใคร และไม่อยากให้ใครเหมือน ทำอะไรก็ต้องแตกต่างจากคนอื่น ..."ปลาไหล" หมายถึง การเคลื่อนที่รวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง เหมือนข้าพเจ้าที่ต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ..."แก้วน้ำ" ซึ่งสามารถนำอะไรมาเติมเต็มได้ตลอด เหมือนข้าพเจ้าที่พร้อมจะรับความรู้-ประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอ...."เสื้อยืดฟรีไซส์" เพราะเข้าได้กับทุกคน..."Z" เพราะชอบง่วงในห้องที่ครูสอนน่าเบื่อ หรือเรียนไม่เข้าใจ..."ไส้เดือนที่กำลังเคลื่อนที่ในพื้นดินแห้งๆ อย่างช้าๆ เพื่อที่จะไปหาความชุ่มชื้น แล้วยังให้ประโยชน์แก่สิ่งอื่นๆ เช่น การพรวนดินให้ต้น เปรียบกับข้าพเจ้าที่ทำอะไรช้าแต่ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จนประสบความสำเร็จ และสามารถช่วยเหลือคนอื่นไปด้วย..."หนังสือที่ถูกปิดไว้" ในหนังสือหนึ่งเล่มมีความรู้และเรื่องราวมากมาย แต่ถ้าไม่มีใครมาเปิดอ่านมันก็ไม่มีประโยชน์  เหมือนข้าพเจ้าที่ผ่านประสบการณ์มาไม่น้อย รอคนสนใจมาเปิดอ่าน เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง..."กล้องถ่ายรูป" ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบเก็บความทรงจำดีๆ ไว้กับตัว เปรียบเหมือนกล้องถ่ายรูปที่เลือกถ่ายสิ่งดีๆ เก็บไว้ และข้าพเจ้ายังสามารถจดจำผู้คนหรือสถานที่ต่างๆ ได้ดี..."แท่งสี" เพราะข้าพเจ้าชอบความสนุกสนาน มีสีสัน..."รูปสี่เหลี่ยม"  เพราะข้าพเจ้าชอบทำอะไรอยู่ในกรอบ รวมถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย รักสันโดษ ..."ก้อนหิน" เป็นคนปากแข็ง ใจแข็ง ไม่ยอมใครง่ายๆ..."ไม้บรรทัดเก่าที่เห็นสเกลบ้างไม่เห็นบ้าง" เหมือนข้าพเจ้าที่ถ้าอยากให้ตัวเองมีระเบียบก็จะใช้บรรทัดนั้นค่อยๆ วัดค่อยๆ ดูสเกล แต่บางครั้งชีวิตก็ใช้ไม้บรรทัดด้วยความไม่รอบคอบ วัดอย่างรวดเร็ว ..."พัดลม" เพราะใครมาอยู่ใกล้ผมจะมีความสุขสบายเย็นใจดี "สมุดบันทึก" เพราะชอบรับฟังประสบการณ์ของคนอื่นโดยไม่โต้แย้ง และ..."สีม่วง" เป็นสีที่เข้ากับสีอื่น ดูสวยงาม หมายถึง เข้ากับคนอื่นได้ง่าย บางมุมก็ดูอ่อนหวาน บางมุมก็ดูเคร่งขรึม ฯลฯ  

ตัวอย่างการเขียนสะท้อนความรู้สึกนึกคิด (ย่อหน้าที่ 1-2 ยกมาทุกตัวอักษร ย่อนหน้าที่ 3 ยกข้อความที่ไม่ซ้ำมา)

           ผู้เข้าเรียนในสัปดาห์แรกมีจำนวน 94  คน (จากจำนวนเต็ม 96 คน) ใน 94 คน มีเพียง 1 คน (ร้อยละ 1.06) ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดทางลบ (Negative Reflection) จากประสบการณ์การเรียนรู้ ที่เหลือ 93 คน (ร้อยละ 98.94) สะท้อนความรู้สึกนึกคิดเชิงบวก (Positive Reflection) ตัวอย่างเช่น (ระบายสีความเห็นที่ไม่ซ้ำ)

         ...เท่าที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาเรียน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ไม่เคยมีอาจารย์ท่านไหนให้ข้าพเจ้าได้ทำกิจกรรมแบบนี้ ข้าพเจ้าประทับใจในกิจกรรมที่ทำวันนี้มาก ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และฝึกความมีระเบียบความรอบคอบในการทำสิ่งต่างๆ และที่สำคัญได้ฝึกคิดอย่างลึกซึ้ง และได้รู้จักตัวตนของเพื่อนๆ ค่ะ...เป็นวิชาที่ฝึกให้ใช้ความคิด การวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อข้าพเจ้าและนักศึกษาทุกคนที่จะนำไปใช้ในวิชาอื่นๆ หรือใช้ในชีวิตประจำวันได้สนุกกับการเรียนวันนี้ค่ะ เพราะอาจารย์มีการสอนที่หลากหลาย ผู้สอนก็อัธยาศัยดีกับนักศึกษา สามารถทำให้นักศึกษารู้จักกันในห้อง มีการบูรณาการไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย มีความคิดสร้างสรรค์ …ข้าพเจ้าไม่ชอบการบีบบังคับ แต่เรียนวิชานี้แล้วรู้สึกว่าข้าพเจ้ามีวินัยมากขึ้น แม้จะเป็นการเรียนเพียงเริ่มต้นเท่านั้น วิชานี้ทำให้ข้าพเจ้ารอบคอบขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจากที่เคยทำงานอย่างปล่อยปละละเลย (คำที่ขีดเส้นใต้ควรใช้คำว่า "สุกเอาเผากิน" : ผู้เขียน) ชื่นชอบอาจารย์อีกอย่างหนึ่ง คือ อาจารย์จัดกฎควบคุมมาก แต่อาจารย์ก็สามารถทำให้นักศึกษารู้สึกผ่อนคลายและสนุกสนานได้ ซึ่งนั่นเป็นหลักอย่างหนึ่งที่ผู้เป็นครูต้องมีในจิตวิญญาณ…

            ...เพียงคาบแรกก็ทำให้รู้สึกประทับใจในรายวิชาและอาจารย์ผู้สอน ทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อนๆ รู้ว่าตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ และอาจารย์ก็เอาใจใส่กับนักเรียนทุกคน (คำที่ขีดเส้นใต้ควรใช้คำว่า "นักศึกษา" : ผู้เขียน) โดยเฉพาะกิจกรรมสุดท้าย ประทับใจมากๆ...อาจารย์มีแบบการสอนที่แตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ นักศึกษาได้พูด อ่าน เขียน ฟัง และคิดวิเคราะห์ในเวลาเดียวกัน ไม่ได้นั่งเรียนตลอด ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อแม้จะเรียนหลายชั่วโมงก็ตาม...ข้าพเจ้ามีความตื่นเต้นเล็กน้อย และรู้สึกว่า วิชานี้มีความท้าทาย สนุกสนานกับการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นความคิดเป็นอย่างมาก และรู้สึกเกร็งเล็กน้อยที่ต้องนั่งเรียนกับรุ่นพี่ แต่ก็มีความสุขในการเรียนวิชานี้... ในการเรียนครั้งนี้ รู้สึกว่าได้เรียนอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่จำเจ ได้ฝึกทักษะในการฟัง การอ่าน การวิเคราะห์ ในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เคยเรียนมา...ดิฉันรู้สึกว่า อาจารย์สอนแบบให้ได้คิด ให้เรารู้จักประเมินผู้อื่น การเข้าเรียนครั้งนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกอยากเรียน ไม่น่าเบื่อ เพราะวิชานี้น่าจะมีประสบการณ์จากอาจารย์อีกมากมายที่จะสอนให้ดิฉันนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน และในการประกอบวิชาชีพครู...ก่อนเรียนวิชานี้ ข้าพเจ้าคิดว่าต้องเป็นวิชาที่น่าเบื่อและเนื้อหาเยอะ แต่พอได้เรียนในครั้งนี้สนุกดีค่ะ อาจารย์ได้นำกิจกรรมมาช่วย ทำให้ไม่น่าเบื่อ แถมยังทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับเพื่อนๆ อีกด้วย...ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า เป็นการสอนในแนวทางแบบเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าสิ่งเล็กๆ เราก็ไม่ควรที่จะมองข้ามไป ทำให้เรารักวิชาชีพครูมากขึ้น  ...อาจารย์เดินเข้ามาตอนแรกเหมือนจะใจร้าย แต่จริงๆ แล้วอาจารย์ใจดีมากๆ มีความกระตือรอร้นกับวิชานี้มาก เพราะอาจารย์มีสิ่งกระตุ้นตลอด ทำให้ไม่ง่วงนอนเลย...

          ...หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิชานี้จะทำให้ข้าพเจ้าพัฒนาขึ้น มีลักษณะเป็นครูอย่างแท้จริง อาจารย์ผู้สอนเป็นกันเองดี...รู้สึกตื่นเต้นเนื่องจากเพิ่งเปิดเทอมและได้เรียนวิชานี้เป็นวิชาแรก (เป็นวันที่ 4 ของการเปิดเรียน  : ผู้เขียน) ได้เรียนในรูปแบบที่แปลกใหม่ เรียนสนุก และมีความท้าทาย ฝึกให้กล้าแสดงออก...รู้สึกประทับใจที่อาจารย์พูดสื่อสารกับนักศึกษาด้วยรอยยิ้ม ...เป็นวิชาที่สอนเราจริงๆ เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวเราและคนรอบข้าง...อาจารย์สอนให้รู้ถึงเหตุการณ์ปัจจุบันทำให้เป็นคนทันเหตุการณ์ และได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า...วิชานี้สอนให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด กล้าแสดงออกซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก...ได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ สนุกสนานดี และอาจารย์เป็นคนที่เอาใจใส่ในทุกเรื่องแบบจริงจังครับ...รู้สึกตื่นเต้นท้าทายในการเรียนอยู่ตลอดเวลาเพราะอาจารย์สอนสนุกมาก มีเนื้อหาสาระปนในกิจกรรมตลอด ไม่เครียด...เรียนวิชานี้ข้าพเจ้ารู้สึกสนุกสนานมากๆ ...เป็นวิชาที่ทำให้เรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นวิชาที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นครู

เปรียบเทียบเสียงสะท้อนทางลบและทางบวกของนักศึกษาสองคนในการเรียนครั้งเดียวกัน 

          ทางลบ : ร้อนมากๆ ทำให้หงุดหงิดไม่มีสมาธิในการเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอนดูเหมือนจะพร้อมแต่กลับไม่พร้อมที่จะเรียนเลย อยากให้อาจารย์หาประสบการณ์ต่างๆ มาพูดแทรกบ้างในเวลาเรียน จะได้ไม่เครียดมากเวลาเรียน 

          ทางบวก : บรรยากาศก็เย็นดี (คำที่ขีดเส้นใต้ควรใช้คำว่า "อากาศ" : ผู้เขียน) อาจารย์ผู้สอนพูดจาไพเราะ เสียงดัง ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง ไม่ซีเรียส ให้เรานั่งกับเพื่อนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน อาจารย์ไม่ดุด่าว่านักศึกษา ชอบการสอนของท่านมากเลยค่ะ ท่านแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยมาก สอนให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราด้วย

         จากการที่มีผู้เรียนเพียง 1 จาก 94 คน ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดทางลบ อาจารย์บางท่านอาจจะไม่ให้ความสำคัญและไม่ใส่ใจ เพราะเห็นว่าเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย (ร้อยละ 1.06) ที่มีอัตราส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับเสียงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98.94)  แต่ถ้าอาจารย์ใช้ "หลักจิตวิทยาในการเป็นครู" คือ หลักการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนทุกคน และหลักการยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล อาจารย์จะไม่ตีตรา (Label) ว่านักศึกษาที่เป็นเสียงส่วนน้อยคนนั้น เป็นคนมีปัญหา (Deviated) แล้วยังจะหาทางช่วยให้เธอได้เรียนรู้อย่างมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย

                                                            แหล่งอ้างอิง 

เลขาธิการคุรุสภา, สำนักงาน. (2553). รวมกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ สำหรับ        

             ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: ยงพลเทรดดิ้ง.

หมายเลขบันทึก: 446177เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)
  • อาจารย์แม่ครับ
  • อ่านแล้วเห้นภาพชัดเจนมาก
  • วันก่อนเห็นอาจารย์แม่ไปอบรมเรื่องจิตตปัญญาศึกษาเลยเอามาฝากด้วย
  •   Download Full Paper
      Download ชุดความรู้ 
  • เอามาจากที่นี่ครับ
  • http://www.ce.mahidol.ac.th/research/index_th.php
  • วันก่อนอาจารย์แม่สนใจเรื่อง ค่ายภาษาอังกฤษ
  • เข้าไปให้นักศึกษาอ่านที่นี่ได้ครับ
  • มีรายละเอียดครบเลยครับ
  • ค่ายภาษาอังกฤษทั่วประเทศ
  • http://portal.in.th/kha-ku/pages/4815/
  • อาจารย์แม่สบายดีไหม เข้าใจว่ากลับไปทำงานต่อแล้ว ตอนอยู่กรุงเทพฯเหนื่อยไหมครับ
  • ผิดค่าย ฮ่าๆๆ
  • ข้างบนเป็นค่ายของครู
  • ค่ายนักเรียนอยู่ทีนี่ครับ
  • http://portal.in.th/kha-ku/pages/5491/

ขอเอาไปทดลองใช้ดูบ้างนะครับท่านอาจารย์ ขอบพระคุณมากครับที่ให้รายละเอียดไว้เป็นอย่างดี อ่านแล้วผมก็อยากยกมือตอบ

ท่านอาจารย์บ้างครับว่า...สัญลักษณ์ของผมคือ นักเรียน ....เพราะเป็นอาชีพที่ทำถนัดที่สุดแล้วครับผม (ฮ่าๆ)

อรุณสวัสดิ์ครับท่านอาจารย์

แวะมาทักทายยามเช้าก่อนตะลุยทำคะแนนปลายภาคส่งคณะฯวันนี้ครับผม

สวัสดีครับ อาจารย์

แวะมาอ่านมาเรียนรู้ วิชาครู รู้จักเพื่อน รู้จักตัวเอง จะได้ไม่หลง

ขอบคุณ "ลุกขจิต"Ico64" "หนูมะปรางเปรี้ยวIco64" และ "อาจารย์หนานวัฒน์Ico48" มากค่ะที่ให้กำลังใจ

  • "ลูกขจิตIco64" ช่างดีกับอาจารย์แม่เหลือเกิน เวลาก็ไม่ค่อยจะมี ยังอุุตส่าห์สละเวลามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Learning Facilitator) ให้กับอาจารย์แม่ ถูกใจอาจารย์แม่จริงๆ เพราะของฝากที่อาจารย์แม่ชอบมากที่สุดพอๆ กัน 2 อย่างก็คือ พันธุ์พืชและแหล่งเรียนรู้นี่แหละ และลูกขจิตก็มีไปฝากอาจารย์แม่ทั้งสองอย่าง
  • ไม่ทราบว่าได้ทำอะไรให้ถูกใจแฟนพ่อที่ไร่พนมทวนบ้างหรือเปล่า อาจารย์แม่เกรงใจท่านอยู่นะคะ ที่มาแอบปลื้มและได้รับน้ำใจอันดีงามจากลูกชายของท่านมานานพอสมควรแล้ว ยังไม่เคยขออนุญาตจากท่านเลย
  • อุตส่าห์ไปเก็บข้อมูลมาว่า อาจารย์แม่ไปอบรมเรื่องจิตตปัญญาศึกษา จริงๆ แล้วไปอบรมรับหลักสูตรอบรมครูแนะแนวกลุ่มผลสัมฤทธิ์ระดับกลาง ซึ่งจะต้องกลับไปจัดอบรมให้ครูแนะแนวจาก 4 จังหวัดรวมเวลา 30 วันให้เสร็จในเดือนสิงหาคม วันนี้ก็ต้องเข้าประชุมในช่วงบ่ายเพื่อเตรียมการในเรื่องนี้ มรภ.อุบลฯ ต้องรับอบรมครูจำนวนมากที่สุดค่ะ (900 กว่าคน) ที่ต้องอบรมครูจำนวนมากอีก 2 แห่ง แห่งละประมาณ 800 คน คือ มรภ.นครราชสีมา และ ม.นเรศวร นอกนั้นรู้สึกจะอบรมแค่ประมาณศูนย์ละ 400 ลงไปค่ะ
  • เรื่องเกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา เป็นเรื่องที่ผู้จัดการอบรม (คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แทรกเข้ามาในครึ่งเช้าของวันแรกของการอบรมซึ่งผู้รับหลักสูตรหลายหลักสูตรรวมสี่ร้อยกว่าต้องเข้ารับฟังพร้อมกัน ถึงอาจารย์แม่จะเคยอบรมหลักสูตรนี้มาแล้วรวม 3 วัน แต่อาจารย์แม่ก็ยังกระหายใคร่เรียนรู้ ในวันอบรมก็ได้ซื้อวารสารของคณะครุศาสตร์จุฬา ฉบับจิตตปัญญาศึกษามาด้วย เมื่อลูกขจิตช่วยเหลือให้อาจารย์แม่มีแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์และสะดวกในการเรียนรู้เช่นนี้ อาจารย์แม่ก็ยิ่งชื่นชอบค่ะ ขอบคุณลูกขจิตจริงๆ
  • แหล่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษประเภทค่ายทั้งค่ายครูค่ายนักเรียนอาจารย์แม่ก็อยากเรียนรู้ทั้งนั้น อาจารย์แม่เป็นคนบ้าเรียนรู้ ผอ.สำนักส่งเสริมการวิจัยฯ บอกว่า อาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัยมีแค่อาจารย์แม่คนเดียวที่ยืมวารสารของสำนักวิจัยไปอ่าน
  • ตอนที่อยู่กทม.อาจารย์แม่เหนื่อยมากค่ะ คืนวันที่ 19 มิ.ย.นอน 3 ชม. แต่ในห้องอบรมวันที่ 20 ก็ไม่หลับนะคะ ทั้งที่เรื่องที่วิทยกรพูดอาจารย์แม่สอนนักศึกษามาแล้วในปี 2553 ดูคนนั่งซ้ายมือหลับทั้งชายทั้งหญิง ขวามือลูกศิษย์หัวกระทิที่อาจารย์แม่สอนทั้งตอนเรียนป.ตรี (จิตวิทยาฯ) ป.โท (วิจัยฯ) ยังหลับเลย เห็นไหมคะรูปที่ถ่ายกับลูกสาวเหนื่อยจนยิ้มไม่ออก แต่เช้าวันที่ 21 อาจารย์แม่ก็ตื่นตีสี่เศษๆ และลุกทำงานได้เหมือนปกติ อบรมวันสุดท้าย (เฉพาะวิทยาการหลักสูตรแนะแนว) ทีมของอาจารย์แม่ทุกคน (7 คน) กลับก่อนหมดเพราะกลับเครื่อง อาจารย์แม่ต้องรับอาสาอยู่โยงเพราะกลับรถไฟสองทุ่มครึ่ง เลิกจากอบรมประมาณห้าโมงเย็นต้องไปนั่งรอลูกสาวที่ Lobby โรงแรมจนเวลาทุ่มครึ่งจึงนั่งแท็กซี่ไปหัวลำโพง เพราะลูกชายรอซื้อต้นรักแรกพบให้คนขายนัดทุ่มหนึ่ง อีก 15 นาทีรถออกเพิ่งไปถึง ยกต้นรักแรกพบสูงเกือบเมตรไปให้ 2 กระถาง เป็นดอกสีแดงทั้งสองกระถางบอกว่าสีเหลืองหายาก (แต่ตอนอาจารย์แม่ไปดูที่จตุจักรเห็นสีเหลืองเต็มไปหมด) พอไปถึงอุบลฯ ก็ต้องรีบเตรียมตัวไปสอน รถเข้า 8 โมงมีตารางสอนเริ่ม 8 โมงแต่บอกนักศึกษาไว้แล้วให้ทำกิจกรรมกลุ่มรอตามที่ได้มอบหมายงานไว้แล้วในสัปดาห์ก่อน นักศึกษาก็น่ารักมาก อยู่กันเรียบร้อยและทำงานตามที่กำหนดได้ถูกต้องเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจารย์ที่เขาไม่ชอบอาจารย์แม่เขาเอาไปนินทาว่า อาจารย์แม่เข้าห้องสอนสายเป็นประจำ เขาไม่รู้หรอกว่า ก่อนเข้าห้องสอนอาจารย์แม่ตื่นตี 4 เศษเพื่อเตรียมการสอน และได้ฝึกการจัดการชั้นเรียนให้นักศึกษาแต่ละกลุ่ม โดยให้เวลาในตอนต้นคาบเรียนสำหรับกลุ่มที่รับผิดชอบประจำสัปดาห์จัดเตรียมความพร้อมในชั้นเรียนเป็นภาพรวม และแต่ละกลุ่มย่อยจัดเตรียมความพร้อมในการเรียนของกลุ่มตนให้พร้อมเรียนก่อนอาจารย์แม่เข้าชั้น เมื่อเข้าชั้นอาจารย์แม่กวาดสายตาดูไม่กี่วินาทีก็รู้แล้วว่าใครไม่เข้าเรียน ส่วนอาจารย์ท่านนั้นจะเข้าชั้นก่อนอาจารย์แม่ แต่ไปเสียเวลาเช็คชื่อนักศึกษาทั้งห้อง เสร็จแล้วก็บรรยายเองหรือให้นักศึกษาออกไปยืนเรียงแถวรายงานกันหน้าชั้น ส่วนเพื่อนๆ ที่เป็นผู้ฟังก็นั่งหลับ คุยกัน หรือเอางานอื่นขึ้นมาทำเป็นส่วนใหญ่   
  • ขอบคุณลูกขจิตสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ดูแลอาจารย์แม่ อาจารย์แม่เริ่มรู้สึกละอายแก่ใจแล้วที่เป็นผู้รับอย่างเดียว แนะนำหน่อยว่า อาจารย์แม่จะทำอะไรที่เป็นการให้ลูกขจิตได้บ้าง 

 

  • ดีใจมากค่ะ ที่ "ท่านวอญ่าIco48" แวะมาคุย อย่างที่เคยบอกน้องคิมไปนะคะ ว่า รักเคารพท่านวอญ่าเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง และรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับท่าน
  • ท่านวอญ่าน่ารักมากค่ะ ที่ใช้ IT ในการเรียนรู้ จัดการความรู้ และสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่เหมือนใครบางคนแถวฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ ทั้งที่เคยสอนและทำเอกสารการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุค "Word จุฬาฯ" และจบปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการศึกษามาด้วย แต่ก็หยุดตัวเองไว้กับอดีต ยก Notebook เครื่องเก่า (ใช้มาเพียง 5 ปี) ให้พร้อมไฟล์ข้อมูลฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ที่รวบรวมมา 5 ปีจากปี 2549-2553 ก็ไม่เคยหยิบจับมาเปิดดู กลายเป็นคนกลัว IT ไปแล้ว ตัวเองต้องไปเป็นที่ปรึกษากลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งจะต้องใช้ IT ในการดำเนินกิจกรรมแต่ก็ผัดผ่อนที่จะเรียนรู้ จนป่านนี้ยังไม่ยอมเริ่มเลยค่ะ
  • ตอนนี้ท่านวอญ่าคงสร้าง Plannet ได้เรียบร้อยแล้วนะคะ

                                                 ด้วยความเคารพรักค่ะ

                                                              วิไล 

  • ขอบคุณ "คุณหนานวัฒน์Ico48" มากค่ะที่กรุณาเข้ามาให้ความเห็นสองครั้งสองครา
  • ที่ยังชลอการตอบเพราะบันทึกนี้ยังไม่สมบูรณ์ ต้องเข้าไปเติมให้สมบูรณก่อน กลับมาเที่ยวหน้าลองแวะเข้าไปดูอีกครั้งนะคะเผื่อจะมีอะไรใหม่ๆ ที่สำคัญคือได้เติมส่วนที่เป็นความรู้จากการสืบค้นทาง Internet และเติมสัญลักษณ์ของนักศึกษาเข้าไปอีก 10 ราย เพราะน่าสนใจทั้งนั้น
  • ด้วยความยินดีค่ะ  ที่คุณหนานวัฒน์จะนำกิจกรรมไปทดลองใช้
  • น่ารักมากค่ะที่ร่วมกิจกรรม "...สัญลักษณ์ของผมคือ นักเรียน ....เพราะเป็นอาชีพที่ทำถนัดที่สุดแล้วครับผม" ก็ขอวิเคราะห์จากสิ่งที่คุณหนานวัฒน์นำมาเป็นสัญลักษณ์ว่า "คุณหนานวัฒน์" เป็นอาจารย์ที่มีจิตจดจ่ออยู่กับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรในวงวิชาชีพครู ผู้บริหารทุกระดับโปรดรับรู้และเสริมแรงบุคลากรในหน่วยงานของท่านด้วยนะคะ  
  • เวลาที่จีนเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมงพอๆ กับที่ Perth, Western Australia เลยนะคะ
  • นึกว่าคุณหนานวัฒน์กลับจากคุณหมิงแล้ว แล้วตกลงจะกลับเมื่อไหร่คะ

 

อรุณสวัสดิ์ครับอาจารย์

เช้านี้ผมกลับมาที่ห้องเรียนของอาจารย์อีกครั้งครับ...หลังจากที่ได้ศึกษาและจินตนาการตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น...พบว่าผมมีปัญหาด้านการวัดและประเมินอย่างร้ายแรง...จึงอยากขอเรียนรู้กับท่านอาจารย์(ทีแรกจะฝากตัวเป็นนักเรียน แต่ท่านอาจารย์ไม่รับลงทะเบียน) ดังนี้ครับ

  1. ช่องที่ 5 ระดับความสามารถในการจำข้อมูลประเมินด้วยข้อความเชิงปริมาณ (5 คือระดับสูงที่สุด 4 ระดับสูง 3 ระดับปานกลาง 2 ระดับต่ำ และ 1 ระดับต่ำที่สุด) ...สำหรับช่องนี้ผู้สอนประเมินจากคำตอบที่นักศึกษาเขียนตอบในข้อใดบ้างครับผม...จากการศึกษาในบันทึกและนึกตาม...ผมสามารถประเมินผล"ความสามารถในการจำข้อมูล"ได้ตั้งแต่คำถามข้อ 1 เลยใช่ไหมครับ....และคำว่าข้อความเชิงปริมาณหมายถึง หากนศ.เขียนได้มาก ก็จะได้คะแนนมากใช่ไหมครับ
  2.  ช่องที่ 6 การฟัง  ...ประเมินจากอะไรได้บ้างครับ ผมอ่านแล้วก็คิดว่าจะดูจากที่เขาเขียนตอบในข้อ 6 "สัญลักษณ์ของเพื่อน"...แต่อย่างไรก็ดี การฟังได้เริ่มต้นตั้งแต่ให้เขากรอกข้อมูลต่างๆตามฟอร์ม หากเขากรอกผิด จะถือว่าการฟังของเขามีคะแนนน้อยหรือไม่ครับ (อันนี้ผมเริ่มหนักใจ เพราะหากผมเองสื่อสารได้ไม่ดี เขาก็คงฟังไม่เข้าหรือทำตามได้ไม่ถูกต้อง)
  3. ช่องที่ 7 การอ่านเชิงวิเคราะห์ ประเมินจากคำถามข้อ 5 , ช่องที่ 9 การติดตามข้อมูลข่าวสาร  ประเมินจากคำถามข้อ 3-4 >>>>>>ใช่ไหมครับ
  4. ช่องที่ 8 การเขียนสื่อความ ประเมินจากที่เขาเขียนตอบในทุกๆข้อว่า เขียนได้ตรงประเด็นได้ดีเพียงใด >>>>>ใช่ไหมครับ
  5. นักศึกษาคนสุดท้าย ได้คะแนนเต็มช่องที่ 5 ด้วยคะแนนเต็ม 5 (35) ...ข้อนี้คือคะแนนปริมาณการจำข้อมูล ...อยากขอความรู้ครับว่าท่านอาจารย์มีวิธีการนับข้อความเชิงปริมาณนี้อย่างไรครับ
  6. การตีความสัญลักษณ์...ทำอย่างไรครับ
  7. ในการกรอกข้อมูลข้อ 1-2........เมื่อเสร็จแล้วก็ให้นศ.แลกกันตรวจกับคู่ของตน ถ้าที่ใดกรอกถูกต้องจะได้ข้อมูลละ 1 คะแนน คะแนนเต็ม 15.... ขออาจารย์ยกตัวอย่าง ข้อมูลที่จะได้คะแนนให้ผมได้ทราบสักนิดหน่อยได้ไหมครับ และกรณีนศ.อยากได้คะแนนตรงนี้มาก โดยเขียนข้อมูลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่เราให้เขาตอบ จะทำอย่างไรครับผม (ผมลองนับประเด็นที่ให้เขาเขียนตอบแล้ว พบว่ามีเพียง 4 ประเด็นคือ ชื่อสาขาวิชา, ชื่อร.ร.เดิม, ชื่อผู้สอน และ 1 คำถามที่อยากถามอาจารย์ ) 

 

ผมมีปัญหามากมายเหลือเกิน (7 ข้อ) ด้วยเพราะไม่เคยเรียนมาทางวิธีการสอน หรือวัดประเมินผลเลยครับ..."ยอมอายแต่อยากรู้และอยากเข้าใจจริงๆ"ครับท่านอาจารย์...

ปล. วิธีการสอนของผมนั้นที่ผ่านมาก็"จำมาจากครู"ทั้งนั้นครับ เพียงแต่ผมเลือกในสิ่งที่ผมชอบเวลาครูสอน มาใช้น่ะครับ...ส่วนอะไรที่ตอนเป็นนักเรียนแล้วไม่ชอบ ก็จะไม่เอามาใช้เลย...ฟังถึงดูไม่เป็น"ศาสตร์"สักเท่าไหร่ แต่ที่ผ่านมา ก็พอเอาตัวรอดมาได้ครับผม (สะท้อนจากที่นศ.เขียนประเมินการสอนครับ)... ผมกลับไทยอาทิตย์หน้าครับท่านอาจารย์ หวังว่าถึงตอนนั้น จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์อย่างเข้มข้นกว่านี้ครับ

สวัสดีค่ะ "อาจารย์หนานวัฒน์Ico48"

  •           ถ้าอาจารย์เป็นผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร "การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการการพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน" จะให้อาจารย์ได้รับผลการประเมินในระดับดีเยี่ยมเลยค่ะ เพราะแสดงถึงการเป็นอาจารย์ที่มีความใฝ่รู้เป็นเยี่ยม
  • เมื่อวานนี้มีการประชุมที่คณะครุศาสตร์เพื่อเตรียมการอบรมครู คณบดีพูดถึงผู้เข้ารับการอบรมที่ท่านเองให้การอบรมมาเมื่อปีการศึกษา 2553 เจอหน้ากันปีการศึกษา 2554 ผู้เข้ารับการอบรมคนหนึ่ง (หลักสูตรผู้บริหาร) บอกกับท่านว่า กระเป๋าที่รับมาจากการอบรมยังไม่ได้เปิดดูอีกเลยหลังจากการอบรม (น่าจะให้ดูอาจารย์เป็นตัวอย่างบ้าง)  
  • เช้านี้ อ.แม่ (ขอใช้คำนี้ได้ไหมคะ ยังไม่เคยใช้คำแทนตัวกับอาจารย์เลย) ตื่นมาตี 2 เปิดดูบันทึกนี้พบว่าข้อความตอนท้ายที่เพิ่มไว้หายไป ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร พอพิมพ์เพิ่มใหม่ก็หายอีก กว่าจะเพิ่มได้สำเร็จก็เช้าพอดี และจะต้องเตรียมจัดการเรียนรู้ 08.00-11.20 น. วันนี้ แล้วจะกลับมาให้รายละเอียดที่ถามไว้บ่ายหรือเย็นนี้นะคะ
  • ขออนญาตนำอาจารย์ไปเป็น "ต้นแบบครูอาจารย์ผู้ใฝ่รู้ให้กับนักศึกษา" ที่เรียนวิชาจิตวิทยาสำหรับครู เช้านี้นะคะ

 

นั่งตอบคุณหนานวัฒน์ Ico48 ยืดยาว จากตี 1 เศษๆ จนเกือบตี 5 อ่านทวนพบว่า มีคำอธิบายไม่ชัด เลบ Copy ไว้ แล้วลบ นำมาวางใหม่ก็วางได้ แต่เมื่อแก้แล้ว Click บันทึก ขึ้นข้อความ Application Error ข้อความที่พิมพ์ไว้และภาพหายหมดเลยค่ะ ตอนนี้ต้องเตรียมสอนแล้ว เอาไว้มาตอบใหม่นะคะ 

อรุณสวัสดิ์ครับ อาจารย์แม่... (ผมอยากเรียกแบบนี้เช่นกันครับผม)

อ่านคำตอบจากอ.แม่แล้วก็ให้สะท้อนใจ... ผมไม่น่าตั้งคำถามมากมาย ในวันทำงานเช่นนี้เลยนะครับ รู้สึกเสียใจที่ทำให้อาจารย์แม่ที่สู้อุตส่าห์เขียนตอบในเวลาที่ควรจะได้พักผ่อน...ไปอย่างเปล่าดาย... ผมรู้ว่าอ.แม่ จะตอบว่าอะไร แต่ความรู้สึกตอนนี้ของผมคือ รู้สึกผิดจริงๆ ยิ่งท่านให้ผมเรียกว่าอ.แม่ ก็ยิ่งรู้สึกทราบซึ้งและคิดว่าตัวเองนี้ช่างใจร้ายกับผู้มีพระคุณต่อตัวเองจริงๆ...ขอกราบขออภัยอีกครั้งนะครับ.... และผมอยากให้อ.แม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ก่อน งานเขียนแบ่งปันนี้ ค่อยเขียนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ได้ครับผม

ด้วยความห่วงใยครับ

สวัสดีค่ะ

ยังพิมพ์ไม่ถนัดค่ะ  แวะมามอบดอกไม้ก่อนนะคะ  จะติดตามมาอีกค่ะ

เมื่อเช้าได้แนะนำให้นักศึกษารู้จักลูกหนานวัฒน์ ทาง Blog และให้ข้อมูลว่า เป็นอาจารย์สังกัดคณะใด ที่มหาวิทยาลัยไหน ได้ไปอยู่ที่คุณหมิงช่วงเวลาที่นานพอสมควร แล้วให้นักศึกษาทายว่าอาจารย์ไปทำอะไร ปรากฏว่า นักศึกษาคนแรกที่ยกมือตอบ ตอบได้ถูกต้องว่า "ไปสอนภาษาไทยค่ะ"

อาจารย์แม่กลับเสียใจที่ทำให้ลูกหนานวัฒน์บอกว่า "รู้สึกผิดจริงๆ" และ "กราบขออภัย" ขออย่าได้รู้สึกเช่นนั้นเลย เพราะลูกหนานวัฒน์ทำให้อาจารย์แม่มีความสุขมาก ที่เห็นอาจารย์รุ่นหลังมีความใส่ใจที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และมีความสุขที่ได้ให้การส่งเสริมสนับสนุน ยิ่งถามมากก็ยิ่งแสดงว่าต้องการเรียนรู้มาก และก็ยิ่งทำให้อาจารย์แม่มีความสุขมากตามไปด้วย รู้ไหมคะความดีความชอบพิเศษไม่อยู่ในสายตาของอาจารย์แม่ แต่ความสุขของผู้เรียนในการเรียนรู้และการแสดงออกถึงความต้องการที่จะเรียนรู้ต่างหากที่เป็นแรงจูงใจให้อาจารย์แม่ทุ่มเทให้กับการจัดการเรียนรู้ จนพ่อใหญ่สอบอกว่าอ.แม่เป็นบ้าที่เอาจริงเอาจังขนาดนี้ ปัญหามันอยู่ที่อาจารย์แม่ประมาทเองที่ไม่พิมพ์ใน Word ก่อน และอาจารย์แม่ก็พิมพ์ช้าด้วย (ไม่ได้พมพ์สัมผัสค่ะ)

เมื่อคืนนี้อาจารย์แม่มีปัญหาท้องร่วงด้วย เลยทำให้ตอนนี้ยังเพลียๆ อยู่ แล้วตอนนี้ระบบ Gotoknow ก็ดูยังไม่ปกติ เรียกเครื่องมือจัดการข้อความก็ไม่ได้ ข้อความท้ายบันทึกนี้ก็ยังไม่สามารถเติมได้เหมือนเดิม คงจะเป็นพรุ่งนี้เช้าที่อาจารย์แม่จะตอบคำถามนะคะ

ดีใจค่ะ ที่น้องคิมแวะมา เป็นไรเหรอคะ ถึงบอกว่า ยังพิมพ์ไม่ถนัด

อรุณสวัสดิ์ครับอ.แม่

รู้สึกเขินน้อยๆครับ ...ที่อ.แม่ (เอาจริง) แนะนำผมให้กับนักศึกษา หากความ"ใคร่รู้"ของผมจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเด็กๆบ้าง ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับผม และคงจะดีกว่านี้นะครับ หากพวกเขามีบล็อกหรือเข้ามาแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ในนี้ด้วย...หรือเผื่อบางทีจะได้มีโอกาสเสวนาวิชาการด้วยกันครับผม.. เพราะไหนๆตอนนี้ก็เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันไปแล้ว(...แน่ล่ะ ผมต้องได้เป็นรุ่นน้องนะครับ เพราะได้เรียนรู้กะอ.แม่ ทีหลังเขา...ฮ่าๆ)

ด้วยความระลึกถึงครับ

เด็กโข่ง

ปล. ครูพี่คิมท่านลื่นหกล้มครับผม...ถึงกับเข้าเฝือกกันเลยทีเดียว...นึกทีไรก็เคืองท่านเจ้าที่อยู่ไม่หายนะครับ

  • มาดูอาจารย์แม่
  • ปกติถ้าไปราชการจะนั่งรถประจำทางไปเองครับ
  • หายท้องร่วงหรือยังครับ ต้องดื่มน้ำเกลือซองมากๆๆครับ
  • ขอบคุณที่บอกภาษาไทยคำว่า มาร์ช  ภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรง
  • ฮ่าๆๆ
  • ขอบตอบอันนี้หน่อย
  • ขอบคุณลูกขจิตสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ดูแลอาจารย์แม่ อาจารย์แม่เริ่มรู้สึกละอายแก่ใจแล้วที่เป็นผู้รับอย่างเดียว แนะนำหน่อยว่า อาจารย์แม่จะทำอะไรที่เป็นการให้ลูกขจิตได้บ้าง 
  • แค่อาจารย์แม่เขียนบันทึก แค่ได้เข้ามาอ่านก็มีความสุขแล้วครับ
  • อยากให้เขียนบันทึกอะไรก็ได้ที่อาจารย์แม่มีความสุขและอยากเขียน  ต่อไปคนรุ่นหลัง น้องๆอาจารย์รุ่นหลังจะได้มาอ่าน ได้ความรู้ว่า ครูอาจารย์รุ่นก่อนๆคิดอย่างไร เมื่ออาจารย์แม่ออกจากราชการไปแล้ว ความรู้เหล่านั้นก็ยังคงอยู่ครับ
  • เย้ๆๆ ขอให้อาจารย์แม่มีความสุขกับการทำงานครับ
  • แวะมารับความรู้เพิ่มเติมจากท่านอาจารย์ค่ะ
  • ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะ ที่แวะไปให้กำลังใจ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

*** ชอบบรรทัดนี้มากและขอนำไปใช้ ขอบคุณทุกบันทึกของอาจารย์ที่ทำให้ดิฉันได้เรียนอย่างรู้อย่างต่อเนื่องค่ะ

ครับอาจารย์ สร้างแพลนเน็ตได้แล้ว และมาส่งข่าวว่า ทางการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคัดเลือกครูสอนดี

ก็ต้องมาฟังความคิดมุมมองคำว่า ครูสอนดี จากบรรด้พี่น้อง แวดวงทางการศึกษา ไปประกอบการพิจารณาครับ อาจารย์

ขอตอบคำถาม "ลูกหนานวัฒน์ Ico48" อาจารย์ม.ราชภัฏลำปางรุ่นใหม่ ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้

  • อันดับแรกขอเริ่มจากการอธิบายคำว่า “เชิงปริมาณ (Quantitative)” กับ “เชิงคุณภาพ (Qualitative) ก่อนนะคะ.... ใน “การประเมิน (Evaluation)”  ซึ่งเป็นการแปลความหมายของคะแนนที่ได้จาก “การวัด (Measurement)” ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นนั้น  บางลักษณะก็เหมาะที่จะใช้ข้อความเชิงปริมาณในการแปลความหมาย เช่น การวัดความจำ การคิด ความพึงพอใจ ฯลฯ ถ้าประเมินเป็น 3 ระดับ ระดับ 3 จะแปลความหมายว่า มากหรือสูง 2 ปานกลาง 1 น้อยหรือต่ำ ถ้าประเมินเป็น 5 ระดับ 5 จะแปลความหมายว่า มากที่สุดหรือสูงที่สุด 4 มากหรือสูง 3 ปานกลาง 2 น้อยหรือต่ำ และ 1 น้อยที่สุดหรือต่ำที่สุด เช่น มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด หรือ มีการคิดสร้างสรรค์ในระดับต่ำ เป็นต้น แต่บางครั้งก็เหมาะที่จะใช้ข้อความเชิงคุณภาพในการแปลความหมาย เช่น การประเมินผลการเรียนของมรภ. อุบลฯ  จะแปลความหมายโดยใช้ข้อความเชิงคุณภาพ คือ ผลการเรียน A แปลว่า ดีเยี่ยม (Excellent) B+ ดีมาก (Very Good) B ดี (Good) C+ ดีพอใช้ (Fairy Good) C พอใช้ (Fair) D+ อ่อน (Poor) D อ่อนมาก (Very Poor) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับข้อความเชิงคุณภาพที่ใช้บอกระดับคุณภาพของเพชร 5 ระดับ ได้แก่ระดับดีเยี่ยม (Excellent) ดีมาก  (Very Good) ดี (Good) พอใช้ (Fair) และ แย่ (Poor) ดังภาพ 

                               

                                                               Source : Jewelryfancub.com

  • การวัดและประเมินที่อาจารย์แม่ใช้ เป็น "การวัดประเมินเพื่อวินิจฉัย (Diagnostic Measurement and Evaluation)" คือ วินิจฉัยว่า ก่อนเรียนผู้เรียนแต่ละคนมีลักษณะต่างๆ ที่เป็นสมรรถภาพด้านทักษะในการเรียนรู้ ในระดับใดเพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ให้ผู้เรียนได้รู้ระดับพื้นฐานของตนเอง ว่าตนมีอะไรที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว ซึ่งก็จะต้องพัฒนาให้น่าพอใจมากขึ้นไปอีก และมีอะไรที่อยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งจำเป็นจะต้องหาทางพัฒนาให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เช่น การประเมินการฟัง (L) การอ่านเชิงวิเคราะห์ (R) การเขียนสื่อความ (W) การติดตามข้อมูลข่าวสาร (F) และการสะท้อนความรู้สึกนึกคิด (C) ถ้าได้รับการประเมินระดับ 1 จะแปลว่ามีทักษะในระดับต้องปรับปรุง  ระดับ 2 พอใช้ ระดับ 3 ดี และการประเมิน ความจำ (M) ถ้าได้รับการประเมินระดับ 1 จะแปลว่ามีความสามารถในการจำต่ำที่สุด 2 ต่ำ 3 ปานกลาง 4 สูง 5 สูงที่สุด
  • การวัดคุณลักษณะ (มีสมาธิจดจ่อ) และทักษะ (สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนด) ในการฟัง วัดจากการเขียน Section ว่าเขียนในที่ที่กำหนดให้เขียนหรือไม่ (1) การเขียนหมายเลขคู่ (เขียนเป็นเลขไทย 1 เขียนถูกที่ 1) การกรอกข้อความที่หัวกระดาษซึ่งอาจารย์บอกว่าให้กรอกให้ครบถ้วน (มีที่ให้กรอก 9 แห่ง) การเขียนเลขข้อนอกเส้นกั้นหน้า (1) การเขียนคำนำหน้าชื่ออาจารย์ (1) และการเขียนคำถามตามจำนวนที่กำหนด (1) มีหลายคนเขียนมากกว่า 1 คำถาม  รวม15 คะแนน ถ้าได้คะแนนรวมอยู่ในช่วง 0-5 แสดงว่ามีคุณลักษณะและทักษะการฟังในระดับ 1  (ต้องปรับปรุง) ช่วง 6-10 ระดับ 2 (พอใช้) ช่วง 11-15 ระดับ 3 (ดี) และตรวจสอบการฟังอีก 2 ครั้งประกอบ (เพื่อที่จะดูว่าถ้าไม่บอกว่าจะทดสอบการฟัง ผู้เรียนจะมีสมาธิและสามารถปฏิบัติตามได้ถูกต้องหรือไม่) ถ้าปฏิบัติตามได้ไม่ถูกต้องในครั้งหลังแม้เพียงครั้งเดียว ผลการประเมินจะลดระดับลงมา 1 ระดับ แล้วกรอกผลการประเมินในช่องที่ 6 (L: Listening)
  • การประเมินความสามารถในการอ่านเชิงวิเคราะห์ จะประเมินตาม Rubrics ที่กำหนดไว้ ซึ่งมีหลักการว่า ถ้าเลือกบทกวีได้ตรงกับบทบาท จะได้ระดับ 3 : ดี ระบุได้ใกล้เคียง ระดับ 2 : พอใช้ ระบุได้ไม่ตรงและไม่ใกล้เคียง ระดับ 1 : ต้องปรับปรุง (ใน Rubrics จะระบุไว้ชัดเจนว่าบทกวีบาททใดตรง บาทใดใกล้เคียง แต่เปิดเผย ณ ที่นี้ไม่ได้เพราะเป็นแบบทดสอบค่ะ) แล้วกรอกผลการประเมินในช่องที่ 7 (R: Reading)
  • การวัด-ประเมินความสามารถในการเขียนสื่อความ จะวัดจากการเขียนอธิบายสัญลักษณ์ และเขียนสะท้อนความรู้สึกนึกคิด แล้วประเมินตาม Rubiics ที่กำหนดว่า เขียนได้ตรงประเด็น ใช้ภาษาได้ถูกต้องตามหลักการเขียน สื่อความหมายได้ชัดเจน และมีความกระชับ ไม่วกไปวนมา ให้ระดับ 3 : ดี เขียนได้ตรงประเด็น ใช้ภาษาได้ถูกต้องตามหลักการเขียน สื่อความหมายได้ชัดเจนพอสมควร แต่ข้อความไม่กระชับ เขียนวกไปวนมา ให้ระดับ 2 : พอใช้ เขียนได้ไม่ตรงประเด็น หรือใช้ภาษาไม่ถูกต้องตามหลักการเขียน หรือเขียนสื่อความหมายไม่ชัดเจน และข้อความไม่กระชับ เขียนวกไปวนมา ให้ระดับ 1 : ต้องปรับปรุง แล้วกรอกผลการประเมินในช่องที่ 8 (W: Writing)        
  • การวัด-ประเมินพฤติกรรมการติดตามข้อมูลข่าวสาร  วัดจากการคำถามข้อ 3-4 แล้วประเมินตาม Rubiics ที่กำหนดไว้ว่า รู้ข่าวทั้ง 2 ข่าว และให้สาระสำคัญได้ถูกต้อง ให้ระดับ 3 : ดี รู้ข่าวเดียวและให้สาระสำคัญได้ถูกต้อง ให้ระดับ 2 : พอใช้ ไม่รู้ทั้ง 2 ข่าว ให้ระดับ 1 : ต้องปรับปรุง แล้วกรอกผลการประเมินในช่องที่ 9  (F: Following)  
  • การวัด-ประเมินการสะท้อนความรู้สึกนึกคิด พิจารณาจากความหลากหลายของประเด็นที่สะท้อน ไม่ใช่จากทิศทางของการสะท้อนว่าเป็นทางบวกหรือทางลบ โดยกำหนดเกณฑ์ว่า ถ้าสะท้อนได้ 1-2 ประเด็นจะได้ระดับ 1 : ต้องปรับปรุง สะท้อนได้ 3-4 ประเด็นจะได้ระดับ 2 : พอใช้ และสะท้อนได้ 5 ประเด็นขึ้นไปจะได้ระดับ 3 : ดี แล้วกรอกผลการประเมินในช่องที่ 10  (C : Comment) 
  • ช่องที่ 11 T20 คือ คะแนนรวม กำหนดเกณฑ์ในการแปลความหมายว่า ถ้าได้คะแนนในช่วง 0-4 คะแนน แปลว่ามีทักษะในการเรียนรู้ในระดับต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง (1) ช่วง 5-8 คะแนน แปลว่ามีทักษะในระดับต้องปรับปรุง (2) ช่วง 9-12 คะแนน แปลว่า มีทักษะในระดับพอใช้ (3) ช่วง 13-15 คะแนน แปลว่า มีทักษะในระดับดี (4) และช่วง 16-20 คะแนน แปลว่ามีทักษะในการเรียนรู้ในระดับดีเยี่ยม (5)
  • การตีความสัญลักษณ์ ประจำตัวก็แปลตรงๆ ตามคำอธิบายสัญลักษณ์ที่เจ้าของสัญลักษณ์ได้อธิบายไว้ เช่น ผู้เรียนที่ใช้สัญลักษณ์ประจำตัวและเขียนอธิบายว่า "แก้วน้ำ" ซึ่งสามารถนำอะไรมาเติมเต็มได้ตลอด เหมือนข้าพเจ้าที่พร้อมจะรับความรู้-ประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอ ก็ตีความว่า ผู้เรียนคนนั้น เป็นคนที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่จะช่วยให้เรียนรู้ได้ดีและเป็นลักษณะที่อาจารย์คาดหวังให้มีในผู้เรียนทุกคน โดยต้องเป็นแก้วที่ต้องไม่มีน้ำเต็ม เพราะจะไม่สามารถเติมน้ำเข้าไปได้ เรียกว่า เป็นพวก "น้ำชาล้นถ้วย" ผู้เรียนที่ใช้สัญลักษณ์ประจำตัวและเขียนอธิบายว่า"เสื้อยืดฟรีไซส์" เพราะเข้าได้กับทุกคน ก็ตีความว่า ผู้เรียนคนนั้นเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี และแซวซักหน่อยว่า แต่ก็ต้องเรียนด้วยนะไม่ใช่มาเรียนเพื่อมาแสวหาคนรู้ใจเท่านั้น และผู้เรียนที่ใช้สัญลักษณะประจำตัวและเขียนอธิบายว่า "Z" เพราะชอบง่วงในห้องที่ครูสอนน่าเบื่อ หรือเรียนไม่เข้าใจ ก็ตีความว่า ผู้เรียนคนนั้นเป็นโจทย์ปัญหาให้อาจารย์หาทางแก้ไข เพราะเธอพร้อมที่จะหลับถ้าอาจารย์สอนน่าเบื่อ หรืออาจารย์สอนไม่น่าเบื่อแต่ตัวเธอเองเรียนไม่เข้าใจเพราะไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจ มีเทคนิคง่ายๆ ว่า ถ้าใช้อารมณ์ขันในการตีความก็จะสร้างบรรยากาศได้ดี อาจสุ่มให้นักศึกษา 3-5 คนบอกว่า ชอบสัญลักษณ์ใด เพราะเหตุใด  
  • การให้นักศึกษาเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับลูกหนานวัฒน์ เอาเป็นว่า อาจารย์แม่จะให้นักศึกษาที่สมัครใจเข้าไปแสดงความเห็นในบันทึกของลูกหนานวัฒน์โดยผ่านการเข้าระบบของอาจารย์แม่แล้วกันนะคะ เพราะถ้าจะให้สมัครเป็นสมาชิก เกรงจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ Web.Blog GotoKnow.org ที่ระบุว่า ต้องการให้เป็นช่องทางในการจัดการความรู้ของคนทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ
  • ท้ายนี้ก็ขอแสดงความชื่นชม "ลูกหนานวัฒน์" อีกครั้ง ที่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ขอเป็นกำลังใจนะคะ ถ้าการตอบคำถามยังไม่ครบถ้วนหรือมีอะไรยังไม่ชัดเจนก็ถามไปใหม่ได้นะคะ

 

 

  •    หวังว่า "น้องคิมIco48 " คงไม่เป็นอะไรมากและหายเป็นปกติโดยเร็วนะคะ สังคมยังรอมือของน้องคิมให้สร้างสรรค์อยู่อีกเยอะ  

  Ico48 ลูกขจิต คะ

  • ขอบคุณที่เป็นห่วงและแนะนำวิธีแก้ท้องร่วง อ.แม่หายแล้วค่ะ พ่อใหญ่สอบอกว่า อ.แม่เป็นคนประหลาด ป่วยเองหายเองได้โดยไม่ต้องกินยา เพราะอาจารย์แม่ไม่ชอบใช้ยา ไม่ถูกกับสารสังเคราะห์และไม่อยากให้สารเคมีสะสมในร่างกาย ตรงกันข้ามกับแก เป็นอะไรนิด กินยาทันที
  • อ.แม่บอกว่า "ขอบคุณลูกขจิตสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ดูแลอาจารย์แม่ อาจารย์แม่เริ่มรู้สึกละอายแก่ใจแล้วที่เป็นผู้รับอย่างเดียว แนะนำหน่อยว่า อาจารย์แม่จะทำอะไรที่เป็นการให้ลูกขจิตได้บ้าง" แล้วลูกขจิตตอบว่า "แค่อาจารย์แม่เขียนบันทึก แค่ได้เข้ามาอ่านก็มีความสุขแล้วครับ อยากให้เขียนบันทึกอะไรก็ได้ที่อาจารย์แม่มีความสุขและอยากเขียน  ต่อไปคนรุ่นหลัง น้องๆ อาจารย์รุ่นหลังจะได้มาอ่าน ได้ความรู้ว่า ครูอาจารย์รุ่นก่อนๆ คิดอย่างไร เมื่ออาจารย์แม่ออกจากราชการไปแล้ว ความรู้เหล่านั้นก็ยังคงอยู่ครับ" ก็แสดงถึงตัวตนของลูกขจิต ว่าเป็นผู้ที่ "มีจิตสาธารณะเป็นยอด" คิดอะไรก็คิดเพื่อสังคมโดยรวม
  • วันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ขอซักหน่อย "ถ้านักการเมืองและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะมีจิตสาธารณะแม้เพียงเศษเสี้ยวของลูกขจิต ประเทศไทยคงพัฒนาไปได้ดีกว่านี้มาก"
  • เห็นบอกในบันทึกของคุณครูกิติยาว่า ตอนเรียนมัธยมอยากแสดงละครเป็น "พระอภัยมณี" แต่เขาให้เป็นสุดสาคร อาจารย์แม่ว่าเป็นสุดสาครน่ะดีแล้วล่ะค่ะ เพราะสุดสาครเป็นเด็ก และมีจิตบริสุทธิ์ แต่พระอภัยเป็นคนเจ้าชู้ มีภรรยาทั้งที่ เป็นยักษ์ และเป็นปลา ที่เป็นคนก็มีทั้งที่เป็นคนชาติเดียวกันและเป็นคนต่างชาติ 
  • อย่าลืมดูแลสุขภาพด้วยนะคะ เห็นภาคเช้าอยู่มหาวิทยาลัย ภาคบ่ายตะลอนออกภาคสนามทุกวัน  

 

    ขอบคุณ "คุณครูอัมพรIco48" ค่ะที่ไปมาหาสู่...และขอบคุณ GotoKnow ที่อำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัลยาณมิตรในวงวิชาชีพครู

       ขอบคุณ "คุณครูกิติยาIco48" ที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง และอนุญาตให้ ผศ.วิไล นำไปใช้เป็นกรณีศึกษาในการอบรมครูแนะแนวจาก 5 จังหวัดจำนวน 894 คน (10 รุ่น รุ่นละ 3 วัน) โดยอบรมใน Module ที่ 4 การจัดกิจกรรมแนะแนวตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการจัดการเรียนรู้ "วิชาจิตวิทยาสำหรับครู" หน่วยที่ 3 การเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน (จิตวิทยาการศึกษา)  

    สวัสดีค่ะ "ท่านวอญ่าIco48"

  • ไปอ่านเจอว่าท่านวอญ่าบอกหนูมะปรางเปรี้ยวไปว่า จริงๆ แล้วได้สร้างแพลนเน็ตไว้นานแล้ว แต่ไม่ได้ใช้เลยลืมไปเลย
  • ทางการตาถึงนะคะที่แต่งตั้งให้ท่านเป็นกรรมการคัดเลือกครูสอนดี
  • ปกติเขาก็จะกำหนดเกณฑ์กว้างๆ ไว้นะคะว่า "ครูสอนดี" มีข้อบ่งชี้ไว้อย่างไรบ้าง จริงๆ แล้วคำที่ใช้ไม่ค่อยตรง ควรใช้คำว่า "ครูดี" ในประเภทครูผู้ปฏิบัติการสอน เพราะข้อบ่งชี้ไม่ได้มีเฉพาะด้านการสอน มีทั้งด้านการครองตน ครองคน ด้วย
  • ในระดับอุดมศึกษาเขาจะมีการคัดเลือกครูสอนดีสาขาวิชาภาษาไทยด้วย ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในจังหวัดอุบลฯ ก็มีแค่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เลยปรากฏว่า อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย (ในอดีต) ได้เป็นครูสอนดีทุกคน สลับกันเป็นกันคนละปี
  • ดิฉันเองก็เคยมีอดีตคณบดีคณะครุศาสตร์มาจูงมือให้ไปกรอกข้อมูลเพื่อจะได้ส่งเข้ารับการคัดเลือกเป็นครูสอนดี ของคณะ แต่ดิฉันเองไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเท่าไหร่ค่ะ ไม่ชอบส่งตัวเองเข้าประกวดก็เลยขอปฏิเสธอย่างแข็งขันไป
  • เชื่อใจ และเชื่อมือค่ะ ว่าท่านวอญ่าจะคัดเลือกครูสอนดีหรือครูดี ได้อย่างเหมาะสม ไม่มีเสียงยี้ตามมาเหมือนส.ส.บางคนที่ได้รับเลือก (วันนี้เป็นวันเลือกตั้งเลยขอสักหน่อยค่ะ)  

สวัสดีครับอ.แม่

ได้รับคำอธิบายนี้แล้วผมมีความมั่นใจในการนำกิจกรรมไปใช้มากขึ้น(เยอะ)เลยครับ ขอบพระคุณอ.แม่มากครับผม

ปล.ผมเจอเด็กๆในชม.เรียนวันจันทร์หน้า ได้ผลแล้วจะเอามาแบ่งปัน(สอบถาม)อีกครั้งครับผม

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ หวังว่าอาจารย์ มีความสุขสบายดี นะครับ

แอบเข้ามาอ่านอีกครั้ง จะเอาไปปรับใช้บ้างครับ

อาจารย์ขาอ่านแล้วรู้จักการพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นค่ะ หนูจะนำไปใช้ค่ะ "ถ้าฉันเพียงแค่ได้ยิน ฉันจะลืม แต่ถ้าฉันเห็น ฉันจะจำได้ และยิ่งถ้าฉันได้ลงมือทำ ฉันก็จะยิ่งเข้าใจ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท