บุคคลสำคัญชุมชนเมืองหนองบัว : ช่างตีมีด(๕)


บุคคลสำคัญชุมชนเมืองหนองบัว : ช่างตีมีด(๕)

หมายเหตุ...บทความชิ้นนี้อาตมาได้รับจากคุณวิฑูรย์ ขำสุข ซึ่งเป็นบุตรของทายกว่อนหรือช่างว่อน ขำสุข ช่างทำมีดและอีกหลายสถานะหลายบทบาทที่คนหนองบัวรู้จักกันดี บันทึกนี้นับเป็นบันทึกที่มีความสมบูรณ์เกี่ยวกับการทำมีดทุกขั้นตอนเลย ที่บันทึกได้ละเอียดมากอย่างนี้ ก็เพราะผู้บันทึกนี้เคยเป็นลูกมือช่วยพ่อของเขาทำมาระยะหนึ่งนั่นเอง

เหตุที่ได้นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ ก็เพราะอาตมาเคยขอร้องผู้บันทึกให้ช่วยบันทึกความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทำมีดและอื่นๆที่พ่อของเขาทำมาตลอดและตัวเขาก็มีส่วนได้ช่วยทำบ้างในระหว่างที่ว่างจากการเรียน

จึงรู้สึกภูมิใจและมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้ และขอขอบคุณคุณวิฑูรย์ ขำสุขอย่างมากที่มอบเรื่องราวดีๆเช่นนี้มาให้เผยแพร่ คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อชุมชนหนองบัวอย่างมากเรื่องหนึ่งทีเดียว

                                

                                      พ่อว่อน  ขำสุข (๒๔๗๒ - ๒๕๕๒)

                                              โดย : วิฑูรย์   ขำสุข 

จะขอกล่าวเล่าขานตำนานมี            เสียงวจีอันไพเราะเสนาะหู 
ยามเอื้อนเอ่ยบทความตามฤดู         น่าเชิดชู ชื่นชม สมฤทัย
ทั้งงานบุญงานมงคลทุกหมู่บ้าน       เสียงกังวานชวนคิดสะกิดใจ
ทั้งข้อคิด คติธรรม นำมาให้            ทุกผู้ใช้ ล้วนแล้ว สุขร่มเย็น 

อีกทั้งงาน ฝีมือ ชื่อลือเลื่อง             ช่างปราดเปรื่อง ทุกแขนง ที่ได้เห็น
มีทั้งมีด จอบเสียม ของจำเป็น         ยังไม่เว้น เช่นอุปกรณ์ ใช้หาปลา
ขอสรรเสริญ คุณความดี ที่พ่อสร้าง  เป็นแบบอย่าง ให้ลูกเห็น เป็นแนวทาง
มัธยัสถ์ กตัญญูรู้คุณ มิควรจาง        ลูกจะสร้างความดีสืบต่อไป    

รวบรวมประวัติการทำมีดของช่าง ” แห่งอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

      “ ว่อน  ขำสุข ” ชื่อนี้ถ้าพูดถึงกันแล้ว ว่าคนหนองบัวหรือบริเวณใกล้เคียง น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก (ยกเว้นคนรุ่น หลาน ,เหลน)ด้วยอัธยาศัยไม่ตรีที่น่าชื่นชมแล้ว  ว่อน  ขำสุข ท่านยังเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสามารถหลากหลายแขนง ด้วยกัน เป็นต้นว่า

       เป็นหมอ ทำขวัญบ่าวสาว เมื่อมีงาน มงคลสมรส (คนหนองบัวส่วนใหญ่แล้ว จะได้รับการเข้าพิธีทำขวัญ บ่าวสาว จากท่าน ในพิธี ท่านก็ได้ให้ข้อคิดในการครองเรือน ตลอดจนถึงการประพฤติปฏิบัติตนต่อ บิดา และมารดา ) 

ท่านก็ยังเป็นทายก วัดหนองบัว(หนองกลับ) อีกด้วย เพราะน้ำเสียงที่เปล่งออกมา เมื่อผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ต่างก็ชื่นชมไปตาม ๆ กันว่า มีความไพเราะและเสียงกังวาน ที่เป็นเอกลักษณ์นชมแล้ว นองบัวหรือบริเวณใกล้เคียง น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ( ยกเว้นคนรุ่น หลาน , เหลน)ของท่าน 

ความสามารถทางด้านดนตรี ท่านมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีไทย และเครื่องดนตรีสากล ได้หลากหลายชนิดอีกเช่นกัน เป็นต้นว่า ขลุ่ย  ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ปี่ แซคโซโฟน ทรัมเป็ต

ความสามารถในด้านการร้องเพลง ท่านเอง ก็เป็นผู้ที่ร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายเพลง ส่วนเพลงที่ใช้ตอนแห่นางแมว ผมเองเคยเห็นท่านได้จดเนื้อเพลงที่ถูกต้อง ไว้ให้กับพี่สาวของผมเอง ครั้งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่

ความสามารถทางด้านจักสาน ท่านเองก็เป็นผู้ที่สามารถทำงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดี และงานออกมาค่อนข้างละเอียดมาก อย่างเช่น การสานตะแกรงสำหรับหาปลา ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ การสาน กระม่องใส่ปลา กระด้ง กระบุง ฯลฯ

ความสามารถทางด้านการเย็บ , ถัก  ท่านสามารถเย็บแห (ถี่ ,ห่าง) ไว้ใช้เอง และจำหน่ายด้วย ซึ่งท่านจะใช้เวลาหลังจากเสร็จงานในตอนกลางวันแล้ว หลังจากทานอาหารเย็นเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะใช้เวลาหลังจากนั้นเย็บแห จนถึง สี่ทุ่ม หรือห้าทุ่ม ท่านก็จะเข้านอน  ท่านก็ยังถักตาข่ายสำหรับเอาไว้ดักนกคุ่ม ในป่าด้วย (ในสมัยผมยังเด็กอยู่) การนำก้านและใบเป้ง นำมามัดและถักเป็นไม้กวาดสำหรับกวาดพื้น

ความสามารถทางด้านงานไม้  ท่านเองก็มีฝีมือในการทำบ้าน วงกบ ประตู หน้าต่าง ทำกังหันขนาดใหญ่ เมื่อมีลมพัดมาในคราใด ก็จะได้ยินเสียงของใบพัดของกังหันดังลั่นเลยทีเดียว  และท่านก็ยังได้นำไม้มาทำเปล ไว้แกว่งไกวให้เด็กเล็กเวลาจะนอน ( ซึ่งเปลนี้ปัจจุบันก็ยังอยู่ ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่พี่ชายคนโต พี่สาว ตัวผมเอง และจนถึงลูกของผมเองก็ยังได้ใช้เปลอันนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับรวมอายุของเปลแล้วก็เกือบจะหกสิบปีแล้วนะครับเนี่ย )

ความสามารถในงานฝีมืออีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อและเป็นที่เรื่องลือไปไกลก็คือ

การตีมีด และเครื่องมือใช้งานต่าง ๆ มีด และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในสมัยก่อนนี้ ถึงแม้จะมีขายตามท้องตลาดมากมายก็ตาม  แต่ผู้คนในอำเภอหนองบัวหรือเขตใกล้เคียง ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช้งานได้ไม่คงทน บิ่นง่าย ต่างก็เสาะแสวงหาว่า มีช่างตีมีดที่ไหนบ้างหนอ ที่ทำมีดแล้วมีคุณภาพดี  ซึ่งในสมัยนั้น ช่างตีมีดในอำเภอหนองบัว มีอยู่ด้วยกัน ประมาณ 3 -4 คนด้วยกัน ก็คือ ช่างหริ  ช่างสวง ช่างกลิ้ง  และ ช่างว่อน

       ซึ่งมีด และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ช่างว่อน ได้ทำออกมาและจำหน่ายออกไปนั้น ต่างก็มีเสียงตอบรับออกมาค่อนข้างดีและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเดิมทีก่อนที่จะมีการตีมีดนั้น ช่างว่อน ได้เคยตีเหล็กเป็นวงกลมขนาดเท่ากับล้อเกวียน โดยเหล็กที่ทำออกมาแล้วจะเรียกว่า เหล็กรัดล้อเกวียน

ซึ่งจะช่วยให้ล้อเกวียนคงทนไม่แตกหักได้ง่ายในขณะใช้งาน (เริ่มทำเมื่อปี พ.ศ. 2507)

      หลังจากทำเหล็กรัดล้อเกวียนได้สักระยะหนึ่ง เมื่อมีการใช้รถแทนเกวียนเกิดขึ้น พ่อว่อน ก็เลยศึกษาวิธีการทำมีดกับ ปู่บุญ  บุญบาง ซึ่งปู่บุญท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความชำนาญในการตีมีด เท่าที่ผมจำได้ พ่อว่อนเคยเล่าให้ฟังว่า ปู่บุญท่านนี้เอง ที่เป็นคนตีมีดทำมีดด้ามงาให้กับหลวงปู่เดิมในสมัยนั้น เมื่อพ่อมีความสนใจในการทำมีดเป็นอย่างมาก เพราะพ่อว่อนเคยพูดบอกกับลูก ๆ ว่า พ่อได้มองถึงในอนาคตต่อไปข้างหน้าว่า เครื่องมือ เครื่องใช้ ภายในครัวเรือน ของชาวบ้านเรา ทั่วไปทุก ๆ บ้านก็มีมีดไว้ใช้งานกันทุกบ้านอยู่แล้ว ท่านจึงตัดสินใจขอเป็นลูกศิษย์ ของปู่บุญ และเริ่มทำมีดเรื่อยมา(เริ่มตีมีประมาณปี 2520 ) จนเกิดความผิดปกติกับร่างกายของพ่อว่อน คือ ผิวหนังของมือและเท้า เกิดการลอกออกเป็นแผ่น ๆ  ซึ่งสาเหตุเกิดจากการไม่ได้ยกครูเหล็ก ดังนั้น เมื่อทราบสาเหตุที่ชัดเจนแล้ว จึงได้ไปหาปู่บุญและได้เล่าอาการให้ฟัง ปู่บุญก็ได้ทำพิธีครอบครูเหล็กให้กับพ่อว่อน ขำสุข ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาการต่าง ๆ ก็ได้หายไปจนเป็นปรกติ พ่อว่อนก็ประกอบอาชีพเป็น ช่างตีเหล็กมาโดยตลอด จวบจนท่านอายุได้ 77 ปี บรรดาลูก ๆ ต้องการให้พ่อว่อน ได้เลิกตีมีด เนื่องจากวัยของท่านสมควรที่จะได้พักผ่อนได้แล้ว ซึ่งต่างจากคนรุ่นเดียวกัน พ่อว่อน เป็นคนแข็งแรง ไม่เคยมีโรคประจำตัว ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยเลยสักครั้ง  

 รายละเอียดเกี่ยวกับการตีมีดของ   “พ่อว่อน  ขำสุข ”

     ในชุดแรก ๆ มีที่ทำออกมาแล้วและได้จำหน่ายไป ไม่ได้มีการทำตราหรือสัญลักษณ์ ลงบนตัวมีด ทางพ่อว่อนเองก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า เราควรจะมีสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง อยู่กับตัวมีดหรืออุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมา เพื่อเป็นการบ่งบอกได้ว่า มีดหรือ เครื่องมือต่าง ๆที่ทำออกมานั้น มาจากการทำของท่าน  ดังนั้นท่านจึงได้กำหนดว่า จะใช้ตัวพยัญชนะตัว  “  ว  ” เพื่อสื่อความหมายว่า ช่างว่อน ตีเหล็ก หลังจากได้ใช้ตัว “  ว  ” สลักลงบนมีด พร้อมทั้งสลักปี ที่ทำลงบนตัวมีดด้วย

กระบวนการทำมีด(มีดเหน็บ) 

      ก่อนอื่นขอกล่าวถึงวัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่ใช้ในการทำมีดกันก่อนนะครับ

1. เหล็กที่ใช้สำหรับตีมีด  เช่น เหล็กสำเร็จ , เหล็กแหนบรถบรรทุก , บาร์เลื่อยยนต์ , เลื่อยไฟฟ้า , เหล็กบาร์รางรถไฟ

2. ค้อนสำหรับตีมีด ขนาด 3 ปอนด์ 5 ปอนด์ และขนาด 8 ปอนด์

              
ค้อนขนาดเล็กและขนาด 3 ปอนด์  ค้อนขนาด 8 ปอนด์

3. คีมสำหรับจับเหล็ก (ทำขึ้นเอง) จำนวน  2 - 4 อัน แล้วแต่ขนาด

                    
4. ทั่ง สำหรับรองตีมีด 
5.พัดลมสำหรับเป่าเตาไฟ ( ซึ่งสมัยก่อนจะใช้เป็นแบบสูบลม เข้าเตา)

                      

6. ถ่าน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ถ่านสำหรับตีมีด กับถ่านไม้ลวก ไว้สำหรับเผามีดตอนชุบ
7. ตะไบหยาบและตะไบละเอียด สำหรับขัดผิว และทำคม

                  

 8.เหล็กสกัด เอาไว้สำหรับตัดเหล็กออกให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ ( ทำขึ้นเอง )

                  

 เหล็กสกัดแต่ละขนาด        เหล็กสกัดที่พร้อมใช้งาน
9.โต๊ะที่ตัดตั้ง ปากกาจับชิ้นงาน
10.สายรัดยางพลาสติก
11.ไม้สำหรับทำด้ามีด ขนาดประมาณ 8 นิ้ว

                    

 

ตะไบ บ้ง สำหรับตะไบด้ามมีด
สว่านมือ,ดอกสว่านสำหรับเจาะไม้

12.  ตะไบ บุ้ง สำหรับตะไบด้ามมีด
13.  สว่านมือ , ดอกสว่านสำหรับเจาะไม้ 
14.  ดินสอดำ ( แท่งใหญ่ ) 
15.  น้ำ สำหรับเอาไว้รดถ่านในเตา เพื่อให้ถ่าน สามารถใช้งานได้นาน ๆ
16.  ค้อนขนาดกลางเพื่อใช้ตกแต่งรูปทรงมีด

                      
17. ไม้ลวก สูงประมาณ 100 cm. สำหรับค้ำปลายมีด เวลาตะไบคูมมีด
18. หินเจียไฟฟ้า สำหรับเก็บงานหยาบ

                     
                       
19. เลื่อยตัดเหล็ก  
20. ไม้วัดขนาด(นิ้ว,ซอก)
                     
เพิ่มเติม : กรณีใช้เหล็กสำหรับทำมีดโดยเฉพาะ(พ่อว่อนจะเดินทางไปซื้อเหล็กที่บางมูลนาค จังหวัดพิจิตร  หรือ ที่ตลาดอำเภอชุมแสง )เหล็ก 1 เส้น สามารถแบ่งออกได้ 4 ชิ้น การแบ่งเหล็ก แต่เดิมเคยใช้วิธีใช้เลื่อยตัดเหล็ก ตัดออกทีละชิ้น  ต่อมาพ่อว่อน ได้เปลี่ยนวิธีการตัดเหล็กมาเป็นการนำเหล็กไปเผาไฟ แล้วใช้เหล็กสกัดตัดออกแทน วิธีนี้จะสะดวก และเร็วกว่าวิธีเดิมมาก ส่วนเหล็กชนิดอื่น ๆ ที่นำมาทำ พ่อว่อน ก็จะใช้วิธีนำแบบมีดมาทาบลงบนเหล็กแล้ว ขีดเส้น หลังจากนั้นก็นำไปเผ่าไฟแล้วนำมาตัดออก

                        

เหล็กเมื่อตัดออกมาเป็นชิ้นที่พอดีสำหรับมีด 1  เล่ม

เหล็กเมื่อตัดออกมาเป็นชิ้นที่พอดีสำหรับมีด 1 เล่ม                             
หลังจากตัดเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มกระบวนการทำมีดดังต่อไปนี้ 

  1. นำเหล็กที่ตัดไว้แล้วเผาไฟให้ร้อนจนเหล็กเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม
  2. นำเหล็กออกมาทำการตีด้วยค้อน 8 ปอนด์ เพื่อทำการรีดเหล็กออกให้ยาวสำหรับทำกั่นมีด

                     

เหล็กก่อนเริ่มตีเป็นมีด

เหล็กที่เริ่มตีบริเวณกั่นมีด

เหล็กที่ทำกั่นมีแล้ว

3.หลังจากทำกั่นมีได้แล้ว ก็จะเริ่มตีเหล็กให้เข้ารูป
                    

4.ทำการตีเหล็กให้แบน เพื่อรีดให้เข้ากับรูปแบบที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเริ่มตีจากปลายมีด ไล่จนมาถึงกั่นมีด
5.หลังจากรีดเหล็กออกมาจนได้เป็นรูปเป็นร่างแล้วด้วยค้อน 8 , 5 และ 3ปอนด์ ที่ผมกับพ่อได้ใช้แล้ว ส่วนที่เหลือจากนี้ พ่อว่อน ท่านจะเป็นคนจัดการเองทุกอย่าง ซึ่งก่อนที่จะทำการตะไบ นั้น พ่อว่อนก็จะทำการสลักตัว ไว้ที่บริเวณตรงกลางของตัวมีด  ส่วนผมจะช่วยอีกทีก็ตอนใช้ตะไบหยาบเพื่อทำการเก็บรายละเอียดของตัวมีดให้สวยงาม และใช้ตะไบละเอียดเพื่อตะไบคมมีดให้มีความคมเพิ่มมากขึ้น  การทำคมมีดนี้ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ควรแทงให้ได้คมที่เท่ากันทั้งสองด้านและมีความคมตลอดทั้งเล่ม

                      
               ทำการสลักตัว และปีที่ทำ ลงบนมีด 

6.หลังจากได้มีดที่มีความคมแล้ว ต่อไปจะเป็นการชุบ มีดให้มีความคมและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ในการชุบมีดนี้ ถ่านที่ใช้ทำเชื้อเพลิงนั้น จะใช้ถ่านคนละอย่างกับที่ใช้ตีมีดในตอนแรก  ถ่านตอนชุบนี้จะใช้เป็นถ่านที่มาจากการเผาไม้ลวก เพราะถ่านไม้ลวกจะให้ไฟที่แรงและความคมจะดีกว่าถ่านไม่ธรรมดา  (ตามที่พ่อว่อนได้บอกไว้)

  วิธีการชุบมีด จะทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ 

  1. เตรียมมีดที่จะทำการชุบคมตัด
  2. ติดเตาไฟและใช้ถ่านไม้ลวก เผาให้ร้อนโดยทั่วกัน
  3. นำมีดเข้าไปวางไว้ในเตา โดยให้เอาบริเวณคมมีดลง เพื่อให้ถูกไฟเผาโดยจะค่อย ๆ เลื่อนตัวมีดไปมา  เพื่อให้ความร้อนของไฟไปได้ทั่วถึงคมมีดทั้งเล่ม
  4. เมื่อคมมีดได้รับความร้อนจนทั่วทั้งเล่มแล้ว พ่อว่อนก็จะนำไปทำการชุบในอ่างน้ำที่เตรียมไว้สำหรับการชุบมีด โดยให้คมมีดสัมพันธ์กับน้ำ ซึ่งลักษณะการฟันมีดลงในน้ำ โดยให้คมมีดสัมผัสน้ำเพียงแค่ประมาณ  5 มิลลิเมตร ก็พอ การฟันมีดลงในน้ำจะเริ่มจากท้องมีด เรื่อยไปจนถึงปลายมีดโดยเวลาที่ใช้ค่อนข้างรวดเร็ว เพราะถ้าช้าจะทำให้ความแข็งของคมมีดเปลี่ยนไป

                 
    ตัวมีดที่ทำออกมาเสร็จแล้ว
5.หลังจากชุบคมมีดเสร็จแล้ว ต่อไปเป็นการเตรียมทำด้ามมีด โดยพ่อว่อน จะใช้ไม้ประดู่ นำมาเลื่อยออกแล้วตัดแบ่งตามขนาดที่ต้องการ โดยความยาวประมาณ 1 คืบของพ่อว่อน หลังจากนั้น พ่อว่อนก็จะนำไม้ที่ตัดแบ่งออก มาตกแต่งให้ได้ตามแบบที่พ่อว่อนออกแบบไว้
6.เมื่อได้ด้ามมีดเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำร่องเพื่อไว้สำหรับสวมปลอกด้ามมีด เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
7.ทำการเจาะรูที่ด้ามมีดเพื่อนำกั่นมีดใส่เข้ากับด้ามมีด การใส่มีดเข้าด้าม จะเริ่มจากเตรียมวัสดุดังนี้
8.ด้ามมีดที่เจาะรูไว้ พร้อมกับใส่ปลอกเรียบร้อยแล้ว
                    

9.1 ตัดยางรัดของความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร จำนวน 5  -  7เส้น
9.2 มีด , เลื่อยตัดเหล็ก
     เริ่มจากนำยางที่ตัดไว้ ใส่เข้าไปในรูที่เจาะไว้ให้เต็ม  จากนั้น ก็ให้นำมีดเผาไฟโดยใช้บริเวณ กั่นมีดเผาให้ความร้อนพอประมาณแล้ว ก็นำมาเสียบกั่นลงไปในรูที่เจาะไว้ก่อน การใส่ให้ดูทิศทางของกั่นมีดกับด้ามให้ตรงกัน หลังจากนั้นก็ให้กดมีดลงไปในด้าม และกระแทกด้ามเพื่อให้มีดลงไปให้สุด ซึ่งขณะใส่เข้าไป ยางที่ใส่ไว้ก็จะละลายติดกับตัวมีดและยึดติดกับด้ามมีดไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความหนาแน่นอีกทางหนึ่งด้วย หลังจากนั้นก็ให้รอจนกว่า ยางที่ละลายเย็นตัวลง เสร็จแล้วก็ให้ใช้เลื่อย ๆ เอาเศษยางที่ทะลักออกมาจากรูของด้ามมีดออกให้หมดทั้งสองด้าน  เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว ถือว่าการทำมีดก็ได้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะจำหน่ายได้แล้ว ซึ่งมีดก่อนที่จะจำหน่ายออกไปนั้น พ่อว่อนจะนำมีดมารับใหม่ให้คม พร้อมที่จะนำไปใช้งานได้ทันที
                    
นอกจากมีดทุกชนิดแล้ว พ่อว่อนได้ทำอุปกรณ์และเครื่องมือไว้หลายอย่างด้วยกัน เช่ 

1. เคียวเกี่ยวข้าว 2. เหล็กขีดปลาหรด 3. ซ่อมแทงปลาไหล 4. กะแหล่ง คล้องคอวัว ควาย 5. มีดขอ มีดหวด มีดอีโต้ มีดสำหรับสับหมู 6. เหล็กขูดหน่อไม้
7. ฉมวกแทงปลา 8. เหล็กแฉลง 9. เสียม 10. จอบ 11. เหล็กขอสำหรับเอาไว้สอยลูกมะพร้าว 12. เหล็กสำหรับปอกเปลือกมะพร้าว 

ตัวอย่างเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้  (บางส่วนที่ยังพอหาได้)

                     

มีดสำหรับหั่นเนื้อหมู,เหล็กสำหรับปอกเปลือกมะพร้าว,ขอเกี่ยวมะพร้าว,เคียวสมัยพ่อว่อนเคยใช้งาน,เคียวที่ยังรอทำคม,มีดสำหรับหั่นเนื้อหมู,มีดขนาดเล็กพร้อมฝัก,มีดขนากลางพร้อมฝัก,อุปกรณ์สำหรับบัดกรีตะกั่ว,ซ่อมแทงปลาไหล(ส่วนปลาย),ซ่อมแทงปลาไหล(ส่วนด้ามจับ)

หมายเลขบันทึก: 443519เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2011 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)
  • เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของไทยเราค่ะ
  • ขอกราบอนุโมทนาด้วยค่ะ
  • คิดได้คำหนึ่ง...สุดยอดเลยท่าน
  • สุดยอดอีกหนึ่ง คือ ลูกชายของท่าน...ไม่ทิ้งแถว
  • อีกสุดยอดหนึ่ง คือ ท่าน  ที่นำมาเผยแพร่ในวงกว้าง
  • แม้ไม่คิดจะทำมีดใช้เอง...แค่รู้ว่าของดีมีผู้สืบทอด....ชื่นใจไปด้วย
  • ขอบพระคุณนะคะ...สำหรับเรื่องราวดี ๆ

เจริญพรคุณโยมSila Phu-Chaya

เมื่อเดือนที่แล้วไปพบบุตรสาวของท่าน สนทนาพูดคุยกันถึงพ่อของเธอ เธอเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า ก่อนที่พ่อที่จะเสียชีวิต มีคราวหนึ่งรายการสารคดีจากช่อง๗ รายการหนึ่ง มาขอบันทึกไปออกอากาศ

ลูกๆเห็นพ่อทำงานอย่างหนัก แล้วการทำงานตีเหล็กนั้น จะใส่เสื้อทำงานคงไม่สะดวก แล้วก็คิดกันไปว่าถ้าพ่อตัวเองได้ออกทีวี โดยไม่ใส่เสื้อคงไม่น่าดูเท่าไหร่ ก็เลยไม่อนุญาตให้ถ่ายทำ

ตอนหลังเมื่อพ่อเสียชีวิตแล้ว มานึกเสียดายว่า รู้งี้ให้ช่อง๗บันทึกเรื่องราวชีวิตช่างตีมีดของพ่อไปออกทีวีก็ดีแล้ว

ลูกๆก็มีกล้องวีดิโอกันด้วย ปรากฏว่าไม่มีใครได้ถ่ายบันทึกภาพตอนพ่อทำงาน ที่กำลังตีมีดไว้เลยแม้แต่ภาพเดียว

ชาวบ้านนั้น มีความคิดว่าถ้ากำลังงานอยู่ใครจะขอไปถ่ายรูป ในชุดทำงานโดยเฉพาะทำนาทำไร่ด้วยแล้ว ยากที่จะทำใจให้ยอมรับภาพอย่างนั้นได้(อาย-แปลกดี)

ขนาดไปงานบุญหรืองานอื่นๆก็ตาม เมื่อเจอกล้องจึงมักจะหลบกันวูบวาบไปทุกที

เจริญพรคุณหมอทพญ.ธิรัมภา

ถ้าเป็นไปตามที่คุณหมอเข้าใจแล้วละก็ จะน่าภูมิอย่างมากทีเดียว
ลูกชายที่บันทึกเรื่องราวของพ่อเขาไว้นี้ ตอนนี้ก็ทำงานบริษัท ไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้เลย แต่ดีหน่อยตอนเป็นเด็กเขาชอบช่วยพ่อทำตลอดเมื่อว่างจากเรียน จึงจดจำและนำมาบันทึกไว้ ทำให้เหลือผลงานไว้บ้างเท่าที่เห็นนี่แหละ

เป็นอันว่าอาชีพตีมีดของช่างว่อนนี้ ไม่มีใครสืบทอดแล้ว และตอนนี้เครื่องมือทั้งหมดลูกๆได้ถวายวัดหนองกลับ ซึ่งวัดนี้มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอยู่ด้วย

ฉะนั้นผลงานทุกชิ้นที่ชาวบ้านมีอยู่ ต้องถือว่าเป็นตัวแทนช่างว่อนชิ้นสุดท้ายแล้ว

 

 

 

-กราบนมัสการพระมหาแล  อาสโย

-ฝีมือ/ภูมิปัญญาไทย ๆ ต้องร่วมกันรักษา  ครับ..

 

อนุโมทนา คุณโยมทั้งสามท่าน และขอบคุณดอกไม้กำลังใจ และการเข้ามาเยี่ยมเยือนทุกๆท่าน   Ico24 ทพญ.ธิรัมภา.   Ico24 Sila Phu-Chaya   Ico24 เพชรน้ำหนึ่ง,

ตามมากราบนมัสการหลวงพี่

ขออภัยที่รับปากไว้ว่าจะเขียนถึงเรื่องหนองบัวสมัยที่ผมไปอยู่ ปี ๒๐-๒๔ ยังไม่ลืมครับ เมื่อมีโอกาศจะลงใน ขํนติพโล ที่หายเงียบไปเพราะมีงานด่วนเยอะมากครับ กราบขออภัย

นมัสการพระคุณเจ้า

เป็นบันทึกที่เห็นกระบวนการทำมีดทุกขั้นตอน หากเพิ่มตำรามีดพกเข้าไปด้วยสวยหรูเลย

เจริญพรโยมวอญ่า

อาตมาก็ไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะได้บันทึกที่มีรายละเอีดยดขนาดนี้มาเผยแพร่
แต่ก็ให้เสียดายและดีใจไปพร้อมๆกัน ที่ว่าเสียดายก็คือบันทึกนี้ทำขึ้นมาเมื่อช่างว่อนเสียชีวิตไปแล้ว ท่านไม่ได้อ่านงานชิ้นนี้ ที่ดีใจเพราะว่ามีส่วนร่วมบ้างเล็กน้อยคืออาตมาได้ขอร้องให้บุตรชายของท่านคือคุณวิฑูรย์ ขำสุข ที่เคยเป็กลูกมือช่วยพ่อทำมาบ้าง เลยยังพอจำได้

และต้องถือว่าคุณวิฑูรย์ทำได้ค่อนข้างดีมากทีเดียว

หากมีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ ก็ยินดีนะครับ เนื้อหาที่ทำออกมานี้นั้น รวบรวมจากประสบการณ์จริง ที่ได้เคยทำร่วมกันกับพ่อว่อน

และต้องขอขอบพระมหาแล ที่ได้นำข้อมูลที่ได้รวบรวมออกมา เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะอีกทางหนึ่ง

ส่วนวิธีการทำมีดพกนั้น คงต้องของเวลาหน่อยนะครับ เพราะส่วนใหญ่ที่ได้ทำจะเป็นมีดเหน็บ มีดโต้และมีดทำครัวมากกว่า แต่ก็พอจำได้บ้างครับ เคยทำมีดสปาต้า มีดดาบยาวประมาณ ๘๐ ซม.อยู่บ้าง แต่ไม่บ่อยครับเพราะไม่ค่อยมีใครสั่งทำ

เจริญพรคุณวิฑูรย์ ขำสุข

ตอนที่อ่านข้อเขียนของท่านวอญ่านั้น นึกถึงทูรย์เลยแหละ ยังคิดว่าทูรย์น่าจะเคยได้ทำมาบ้าง

และเมื่อคืนก่อนที่ทูรย์จะเข้ามเขียนในนี้ หลวงพี่ได้ไปดูที่เฟสบุ๊คนิดนึง เห็นทูรย์ออนไลน์ แต่ไม่ทัก แล้วก็ออกมาดูโกทูโน แล้วก็เห็นพอดีเลย ดีใจจัง

ทูรย์มีข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำมีของพ่อที่คิดอยากจะเพิ่มเติมอะไรได้อีก ก็เชิญได้เลยนะ

เรื่องมีดพกก็อยากให้เขียน ว่างๆมีข้อมูลพร้อมเมื่อไหร่ ก็เอาโลดๆ

คุณอำนาจ(ธนกฤต) รอดแสวงส่งภาพนี้ไปให้หลวงพี่เมื่อหลายเดือนก่อน
เลยขอนำภาพมาฝากทูรย์ในที่นี้ด้วย
เห็นป้าแล้ว ทำให้คิดถึงทั้งลุงทั้งป้าเลย

                                   

เนื้อหาของการทำมีดพกนั้น เท่าที่นึกได้และลองเรียบเรียงออกมาแล้ว ส่วนใหญ่คล้ายกับการทำมีดเหน็บครับ แตกต่างก็ตรงที่ขนาดของมีดเท่านั้นเอง ส่วนรูปแบบก็แล้วแต่ว่าใครต้องการแบบไหน (พ่อว่อน ได้รวบรวมมีดขนาดต่าง ๆ พร้อมกับฝักมีดไว้ให้กับผมหลายเล่มอยู่เหมือนกันครับ ) ขั้นตอนและวิธีการทำบางทีก็อาจจะลืมไปบ้างนะครับ เพราะว่า ๒๐ กว่าปีมาแล้ว

ขอบคุณครับสำหรับรูป (ภาพนี้ผมถ่ายไว้ให้เองครับ)

[ผมทำ slide รูปภาพงานของพ่อและแม่ไว้อย่างละชุด เป็น dvd ไว้ที่บ้านกับให้ผู้ใหญ่ไป คนละชุด เดี๋ยวผมจะส่งให้อีกทีนะครับ]

ขอบคุณล่วงหน้าไว้ก่อนก็แล้วกันนะ สำหรับรูปภาพงานพ่อว่อนและแม่เทียวที่จะส่งไปให้หลวงพี่

ฑูรย์พูดถึงมีดที่มีอยู่ชักนึกอยากเห็นจังเลยเนี่ย
ถ้าเก็บไว้ที่บ้านที่อยุธยาก็น่าจะนำมาลงไว้ให้ได้ชมกันเนาะ

หรือกลับไปหนองบัวก็ลองสำรวจบ้านใกล้เรือนเคียง ถ่ายภาพเครื่องใช้ทางการเกษตรที่เหลืออยู่ตามบ้านญาติ หรือคนบ้านเรา โดยฝีมือช่างว่อนมารวบรวมเผยแพร่ที่นี้ก็ดูจะเข้าท่าอย่างมากเลยแหละ

นี่นอกเหนือจากที่ลูกๆนำไปถวายวัดหนองกลับเพื่อทางวัดจะได้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ของวัด

ถ้าเป็นไปได้หลวงพี่ขอเสนอแนวคิดไว้สักอย่างหนึ่งนะ เผื่อจะมีโอกาสได้ทำในช่วงกลับบ้าน คือทำคล้ายหลวงพ่อไกร โดยการหาเครื่องมือที่พ่อว่อนทำไว้ แต่ตอนนี้อยู่ในการครอบครองของชาวบ้าน บางอย่างไม่ได้ใช้งานแล้ว เช่นเคียว และอื่นๆ

เราน่าจะขอซื้อถ้าชาวขาย หรือถ้าชาวบ้านจะบริจาคเราก็รับไว้ เพื่อจะเก็บรวบรวมงานช่องว่อนไปถวายไว้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหนองกลับอีกที

อันนี้หลวงพี่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างมาก คิดว่าชาวบ้านยังเก็บไว้อยู่บ้าง

ยิ่งได้มากก็จะได้จัดแสดงผลงานของช่างว่อนโดยเฉพาะประมาณนั้น(ถ้าทำได้จะเป็นคนแรกของหนองบัวเลยหนาที่มีผลงานให้ลูหหลานในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญา)

ชวนคิดชวนคุยไปเรื่อยๆอย่างนั้นแหละ

นมัสการพระคุณ เจ้า เข้ามาอ่านอีกรอบ เพราะชื่นชอบ บันทึกทางประวัติศาสตร์ ชาวบ้าน

ชื่นชมในงานฝีใือหลายแขน่งของ อาจารย์ ว่อน (ขอใช้คำว่าอจารย์)เพราะเป็นครูช่างของชุมชน

สมัยก่อนลูกผู้ชายบ้านไหนมีฝีมือถึงขั้นได้สร้างบ้านทำโบสถ์ ถือว่าผ่านวิชาช่างชุมชน

ลูกสาวบ้านไหนมีวิชาการบ้านงานเรือน จนเพื่อนออกปากเชิญ ถือว่าผ่านงานครัว

มีคำพูดถึงความภาคภูมิในในฝีมือของลูกๆว่า......

ลูกสาวพ่อหุงข้าวสวยเหมือนนึ่ง ลูกบ่าวพ่อคนหนึ่งถากไม้เหมือนหมาเลีย"(สมัยก่อนไม่มีกบไสไม้ อาศัยขวานถาก คนทำงานไม้ได้ลื่นแผล็บวาววับ ลื่นเหมือนหมาเลีย ถือว่าสุดยอดช่างชุมชน)

จึงขอคารวะอาจารย์ ว่อนไว้ในบันทึกนี้

  • กราบนมัสการ  พระมหาแล
  • มาอ่านเรื่องราวดี ๆ ของ "ปราชญ์ชาวบ้าน"
    ผู้มีความสามารถหลากหลาย  ยอดเยี่ยมมากค่ะ
  • นำเสนอรายละเอียดการตีมีดทุกแง่ทุกมุม
  • กราบขอบพระคุณในการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าเชิดชูค่ะ

เจริญพรคุณโดยวอ-ญ่า

โยมพูดการมีวิชาของคนรุ่นเก่าเรื่องช่าง เรื่องการครัว เลยทำให้นึกถึงคนสมัยเก่าของชุมชนหนองบัวไปด้วย คือชุมชนหนองบัวนั้นชายเกือบจะทั้งหมดเลยมั้ง มีความรู้เรื่องช่างถึงขั้นดีมากเลยเชียว

สิ่งที่ยันยันคำพูดนี้คือคนเก่าๆเล่าต่อกันมาว่า หลวงพ่อเดิมขี่ช้างมาจากอำเภอตาคลี มาช่วยสร้างศาลาการเปรียญ กุฎี บูรณโบสถ์ ตามคำอาราธนาของหลวงพ่ออ๋อย

หลวงพ่อเดิมมาเห็นชาวบ้านหนองบัว เวลามาช่วยงานวัดทุกคนขัดมีดติดเอวมาด้วย หลวงพ่อท่านประทับที่เวลาท่านเรียกคนไหนใช้งานก็ตาม ทุกคนสามารถทำได้เดี๋ยวนั้น

งานไม้ทุกชนิดทำได้หมด ทั้งกบ เรื่อย ขวาน ไม่มีเกี่ยงกัน อีกทั้งมีความสามัคคีกันดีด้วย

เรื่องนี้ต่อมา มีคนเปรียบเทียบกับอีกชุมชนหนึ่งซึ่งอยู่คนละอำเภอ เล่ากันว่ามีวัดแห่งหนึ่งที่หลวงพ่อเดิมไปช่วยสร้าง ชาวบ้านไม่ค่อยสามัคคีกัน และทำงานไม่ชำนาญด้วย

และชุมชนที่ว่านั้น จนทุกวันนี้ศาลาที่หลังดังกล่าวก็ยังสร้างไม่เรียบร้อยเลย

เจริญพรคุณครูธรรมทิพย์

ขอบคุณคุณครูที่แวะมาเยี่ยมเยียน วิชานี้น่าเสียดายที่ไม่คนสืบต่อ แต่ยังดีที่ลูกๆของท่านได้บันทึกไว้ และก็รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนช่วยเผยแพร่ 

ทางเรามีเหล็กสำหรับทำมีดขายราคาไม่แพงไม่ทราบสนใจไหม. เป็นเหล็กแหนบ. และเหล็กใหม่ ถ้าสนใจโทร 081-4081487

นมัสการพระคุณเจ้า ท่านบันทึกเรื่องราวได้มีชีวิตอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เทคนิคการตีมีดอย่างละเอียดเท่านั้นแต่ได้เห็นถึงชีวิตของช่างที่สัมพันธ์กับลูกหลาน ครอบครัวและชุมชน การบันทึกเรื่องราวภูมิปัญญาไทยทุกเรื่องหากสามารถทำได้เช่นนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกหลานและผู้สนใจมาขวนขวายสืบทอดนะคะ

โยมจะมาขออนุญาตนำเรื่องการทำนาที่ท่านได้เมตตาไปเล่าไว้ที่บล็อกของโยม นำไปเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกใหม่ที่กำลังจะเขียนค่ะ

นมัสการ พระคุณเจ้า

ข่าวนำท่วม ทำให้เป็นห่วงท่านเป็นอย่างไรบ้างครับ ดูแสขภาพด้วย

ขอกราบอภัยที่ไม่ได้เขียนบทความและขาดการติดต่อมานานเพราะยุ่งกับงาน

เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ กันยายน ๕๔ ได้ข่าวนำป่าทะลักท่วมหมู่บ้าวังบ่อ มีลูกศิษย์ แม่ยาย และพระลูกศิษย์เป็นเจ้าอาวาสที่นั้นส่งข่าวเลยคิดห่วงมาถึงท่านด้วย

ส่วนผมตอนนี้อยู่อ.ภาชี จ.อยุธยา ปลอดภัยไม่ท่วม แต่อำเภออื่นๆ เริ่มที่จะหนักตามข่าวแล้วครับ

เจริญพรคุณนายดอกเตอร์

เรื่องราวที่อยู่ในบันทึกนี้ อาตามาได้มาจากบุตรชายช่างว่อน
คุณวิฑูรย์ซึ่งตอนเป็นเด็กเคยช่วยพ่อทำมีด และยังสามารถจำขั้นตอนการทำได้

อาตามากลัวข้อมูลเรื่องนี้สูญหายไป เลยขอร้องให้เขาเขียนเรียบเรียงส่งมาให้
เขาเขียนได้ดี เลยได้ความรู้อย่างอื่นจากช่างว่อนเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหลายเรื่องทีเดียว

ยินดีที่คุณโยมจะนำเรื่องการทำนาที่อาตมาเขียนไว้ในบันทึกของโยมไปเผพแพร่

เจริพรคุณโยมTodsapol

ขอบคุณอาจารย์ที่เป็นห่วง
เรื่องน้ำท่วม ในจังหวัดพิษณุโลกท่วมเยอะมาก แต่ที่วัดศรีโสภณไม่ท่วม

ที่หนองบัวได้ข่าวว่าท่วมเล็กน้อย

ดูข่าวตอนนี้ที่อยุธยาน้ำท่วมมากมายเหลือเกิน
ดูจากข่าวแล้วก็เห็นใจชาวบ้านมาก

นมัสการพระคุณเจ้า ตอนนี้บ้านโยมน้ำเริ่มลดลงทีละน้อยๆ เรื่องน้ำท่วมจนเป็นวิกฤตครั้งนี้ ได้ทำให้หลายๆคนได้คิดนะคะ โยมกำลังรวบรวมข้อคิดของสามีซึ่งเป็นคนอยุธยา เขาเล่าถึงภูมิปัญญาการอยู่กับน้ำหลายประการน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อยู่ในแถบที่ราบลุ่มจะได้ปรับเปลี่ยนความคิด อยู่กับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข น้ำที่มากๆ เราน่าจะได้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างบริหารความคิดตัวเอง ไม่ใช่ไปควบคุมน้ำ หรือไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของน้ำนะคะ

เจริญพรคุณโยมนุช

ได้ติดตามอ่านบันทึกเรื่องที่โยมเขียนเกี่ยวกับน้ำแต่ไม่ได้ฝากร่องรอยไว้เลย
มีตัวอย่างเรื่องเรื่องน้ำท่วมปีที่แล้วมาฝากด้วย

ปรัชญาของคนสองรุ่น
แนวคิดความเชื่อต่างกันทำให้นำไปใช้ต่างกันด้วย
เลยออกแบบที่อยู่อาศัยคนละแบบ
จึงเกิดความไม่สอดคล้องขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วนี่เอง

นมัสการครับหลวงพี่

ตอนนี้ที่บ้านบางปะหัน อยุธยา ระดับน้ำเริ่มลดลงบ้างแล้วครับ ลดไปประมาณ 5 นิ้ว จากเดิม เกือบ 3 เมตร พื้นชั้นสองเดินได้แล้ว ในซอยที่อยู่ ไม่มีไฟฟ้าใช้มาประมาณ 3 อาทิตย์แล้วครับ เลยโทรไปแจ้งที่ 1111 ทางการไฟฟ้าพึ่งจะมาต่อไฟให้เมื่อวานนี้เองครับ ตอนนี้ที่บางปะหันน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว เป็นห่วงก็แต่ในเขตกรุงเทพและปริมณทล ที่จะต้องรับน้ำกันต่อไป ขอให้ทุก ๆ คนจงสู้ ๆ ต่อไปนะครับ



ขอบคุณเจ้าฑูรย์มากๆเลย ที่แจ้งข่าวให้ทราบ
ไม่ค่อยได้ติดตามน้ำท่วมเลย ทราบว่าหลายอำเภอในอยุธยาน้ำท่วม

แต่ไม่ได้เฉลียวใจว่าบ้านฑูรย์น้ำท่วมกับเขาด้วย
ท่วมขนาดเกือบสามเมตรเลยหรือ ข้าวของในบ้านเก็บหนีน้ำได้หมดไหม

นี่ก็ผ่านมาหลายวันแล้วเนาะ เหตุการณ์ต่างๆคงกลับคืนไปสู่สภาพปรกติแล้วมั้ง

นมัสการเจ้าค่ะ ชื่ชมภูมิปัญญาไทย และคุณพ่อผู้รักษาไว้เจ้าค่ะ นมัสการลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท