KM หนุนเสริมบริการปฐมภูมิ ตอน 1


แค่กระจกใสบางๆ ที่กั้นตรงกลางเท่านั้น ได้แค่เพียงเห็นหน้ากัน แต่ไม่มีวันได้ใจ

ผมถูกชวนมาเป็น "คุณอำนวย" การถอดบทเรียนและจัดการความรู้ ทีม สปสช.ซึ่งติดตามหนุนระบบบริการปฐมภูมิ หรือ บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ใกล้ใจ เป็นของประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นบริการสาธารณสุขที่มีจุดให้บริการกว่า 9 พันแห่ง กระจายทั่วทุกตำบลของประเทศไทย ชาวบ้านรู้จักในชื่อ "สถานีอนามัย" ซึ่ง ขณะนี้เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนป้าย เป็น รพ.สต. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล นั่นเอง

 

ในนานาอารยประเทศ เช่น อังกฤษ สวีเดน เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ จุดบริการ (หรือ สถานีอนามัย) ซึ่งอยู่ชิดใกล้ประชาชนที่สุดนั้น มีความสำคัญที่สุด มิได้เป็นบริการชั้นสอง หรือราคาถูก หรือแบบกะดิน แต่ประการใด

 

สถานที่จัดประชุมอยู่ที่ โรงแรมรามาดา พลาซ่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้เข้าร่วมมาจากสำนักงาน สปสช.ส่วนกลาง (ซึ่งดูแลงบประมาณแสนล้าน!!!) ทีมจาก สปสช. เขตต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป๋นตัวจริงเสียงจริงทุกท่าน

ทิวทัศน์ริมแม่น้ำนั้นสวยงาม และมีชีวิต

แต่ก็ท้าทายคุณอำนวยมาก เพราะเรือแล่นไปมาตลอดเวลา สมาธิของผู้เข้าร่วมนั้นไปจรดจ้องที่ภาพการสัญจรในแม่น้ำ...นอกกระจกกั้น

ผมปิ๊งไอเดีย นำวิกฤติเป็นโอกาส เริ่ม check-in โดยเชื้อเชิญผู้เข้าร่วมทุกท่าน

มองไปทางแม่น้ำ แล้วเปิดเพลง "แค่กระจกกั้น" โดยคุณบี น้ำทิพย์

ซึ่งมีสร้อยว่า


* แค่กระจกใสบางๆ ที่กั้นตรงกลางเท่านั้น
ได้แค่เพียงเห็นหน้ากัน แต่ไม่มีวันได้ใจ
อยากเดินเข้าไปกอด และบอกว่ารักมากมาย
แต่แล้วที่ฉันทำได้ ก็เพียงแค่มอง

 

แล้วเสริมว่า ในชีวิตจริงนั้น ผู้เข้าร่วมแต่ละท่านและผู้อื่นต่างมี"กระจกกั้น" โดยไม่รู้ตัว เป็นเช่นนี้เนินนานจนเราคุ้นชิน

วันนี้เราต่างเอากระจกซึ่งเคยกั้นออก นำใจมาสัมผัสใจผู้อื่นจะดีไม่น้อย

ผู้เข้าร่วมคล้อย และใจ+อารมณ์น้อมไปทางนี้ ทางที่นำกระจกซึ่งกั้นใจตนออก

ต่างสนใจบุคคลที่สนทนาเบื้องหน้าในกลุ่มตน

และแล้วความวุ่นวายของเรือในแม่น้ำ ก็มิได้เป็นอุปสรรคลดทอนสมาธิ อีกต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #km#primary care#ปฐมภูมิ
หมายเลขบันทึก: 443294เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

Mood&Tone บรรยาการศ อารมณ์ และการบันทึกความรู้ผู้เข้าร่วม หลังจากที่...ทุกคนยกกระจกซึ่งเคยกั้นใจออก

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

หนูขออนุญาตรอติดตามตอนต่อไปค่ะ ^_^

บรรยากาศกลางเมืองที่ดูเป็นธรรมชาติมากนะครับ

แล้วกลุ่มคนจาก สปสช.มองการพัฒนาปฐมภูมิบ้านเราเป็นอย่างไรบ้างครับ

สปสช. เห็นว่าระบบปฐมภูมิบ้านเรานั้นงอกงาม จากรากที่มั่นคง คนมีคุณภาพในทุกองค์กร ส. สธ. กระทรวงสาธารณสุข สสส. สช. สวรส. สปสช. และ สพฉ. ต่างมี "ประสบการณ์ตรง" จากปฐมภูมิทั้งสิ้น

ทุก ส. มีเป้าร่วม ที่จะหนุนปฐมภูมิ

ขณะนี้กำลังออกแบบการก้างเดินร่วมกัน จากจุดแข็ง และบทบาทของแต่ละองค์กรครับ

หมอปฐมภูมิ จากลำปาง

การพัฒนาระบบ ปฐมภูมิ ในปัจจุบัน อิงกับ กรอบ ชีววิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ ส หอคอยงาช้าง ทั้งหลาย ลงมาถึง สสจ สสอ

การคิด จึง สนใจแต่ตัวเลข ค่า ชีว ระดับ ความดัน ระดับน้ำตาล หรือ ค่าอื่นที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาล

บางทีคนไข้ 70 80 ปี แล้ว ยังตามตรวจเฝา แต่ตัวเลข ตัวชี้วัด

มัน เป็นการชี้นำ ที่แสนจะ รักษา โรค แต่ท่านๆ ที่หอคอย ปากโพทนาว่า ดูแล มุนุษย์เป็นศูนย์กลาง

ความจริง เราให้บริการ มี เป้า ตัวเลข เป็นศูนย์กลาง

สงสัย ต้องมาท้าทายระบบ คิด กันใหม่ ในชุมชนส่วนใหญ่ ของประเทศไทย ที่ไม่ใช่ศูนย์การแพทย์เฉพาะโรค อย่างในเมืองใหญ่

เรา คือ หมอของชาวบ้าน ( ไม่ใช่หมอผู้ทำงานตามเกณฑ์ตัวชี้วัด ของ สารพัดผู้เชี่ยวชาญ) ชาวบ้านต้องการอยากเห็น หมอ พยาบาล ดูแล รักษา อย่างไร

เจาะเลือดตรวจระดับ ตัวบ่งชี้บ่อย ตามเกณฑ์ หรือ หมอที่ผสมผสาน องค์ความรู้ ในการรักษา และ หนุนเสริม ภูมิปัญญา วัฒนธรรมการดำรงชีวิต

การวัด คุณค่า ของ หมอปฐมภูมิ ที่ยิ่งใหญ่ จึงต้องหัดคิดออกนอกกรอบ ชีวเวชศาสตร์ แต่เป็นกรอบคิดองค์รวม

การคิดออก นอกกรอบ จึงต้องหัดคิด นอกกรอบ การบริหารงบประมาณ การเป็นผู้วางแผนซื้อบริการ

ให้เป็นกรอบคิด การหนุนเสริมพลัง ความเข้มแข็งของ ประชาชน และท้องถิ่น รวมทั้ง หมอปฐมภูมิ

การหนุนเสริมพลัง ทำได้อย่างไร ก็คงไม่อาจจะใช้เกณฑ์ เป้าตัวชี้วัด แบบเดียว ทั้งประเทศ ควรจะมีกลุ่มตัวชี้วัด ถึง

ความเป็นมนุษย์ และ ความเป็นองค์รวม ให้เลือกติดตาม หรือ เลือกใช้วัดความก้าวหน้า

ตัวอย่าง

ร้อยละของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่สามารถมั่นใจ ในการดูแลสุขภาพของตนเอง จากการให้บริการปฐมภูมิ

ร้อยละของผู้ป่วย ที่ทราบ และ ปฏิบัติตนได้ จริง และพึ่งพายาลดลง จากการให้บริการปฐมภูมิ

ผมเห็นมามากเลย เราจัดบริการปฐมภูมิด้วยกรอบ ชีวเวชศาสตร์ ด้วยการมียาทุกอย่าง อย่างที รพศ มีใช้

เราตรวจเลือดติดตามผู้ป่วย ที่ ปฐมภูมิ ด้วยมาตรฐานเดียวกับ คลินิคอายุรกรรม

ผู้บริหาร รพ มองปฐมภูมิ คือการลดความแออัด คือ การเอายา และการตรวจเลือด ลงไปยัง ปฐมภูมิ ให้ได้มาตรฐานเดียวกับ คลินิคอายุรกรรม ของ รพ.ใหญ่

ดังนั้น ปฐมภูมิในวันนี้ คล้ายกับ เป็นเพียง สาขาลูก ของคลินิค อายุรกรรม เท่านั้นเอง

มากกว่า จะ เป็น พัฒนาสุขภาพประชาชน เป็นเพียงแค่หน่วยรักษาโรคแจกยา เพราะมันถูกสั่งมาให้วัดผล ระดับน้ำตาล ระดับความดัน

ไม่ใช่วัด ติดตาม การพัฒนาคน การพัฒนาชุมชน วัดความเข้มแข็งของชุมชน ร่วมกับการวัดภาวะสุขภาพ อย่างที่ควรจะได้เห็น

ขอบคุณสำหรับข้อเสนอเชิงระบบครับ ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซนต์

ปฐมภูมินั้นคือ "ชีวิต" มิใช่ โอ.พี.ดี.ย่อย ของ รพ.ใหญ่

ระบบสุขภาพชุมชน มิใช่จำกัดอยู่ในวงสาธารณสุข เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องใหญ่

ที่จังหวัดน่าน ขณะนี้พี่น้องสาธารณสุขสนใจ "หมอเขียว" ต่างหันมาดูแลสุขภาพตนเองโดยวิธีการที่ไม่ต้องรอนโยบายเบื้องบน

ผมเข้าใจว่า หมอเขียวทำให้เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องธรรมดาครับ

หมอปฐมภูมิ จากลำปาง

ผมเริ่ม เห็นความหวังของ ระบบสุขภาพชุมชน และ บริการปฐมภูมิ ที่จะมีชีวิต ชีวา แล้วครับ

แม้เป็นเพียง หนึ่งเดียว ที่เห็น ของ พี่พี่กลุ่ม สปสช ที่ เข้าใจชีวิต มากไปกว่า บริการสุขภาพและ กลไก การจ่ายเงิน

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ มิได้เกิดจาก "ไข่แดง"

หรือ ผู้บริหาร ณ ศูนย์กลางแห่งอำนาจ(และความมั่นคง) หรือ safe zone

แต่แทบทุกครั้ง กระเพื่อมจากชายขอบ ซึ่งสัมผัสผู้คน สัมผัสชีวิต

ผมเคยคุยไว้ที่

http://www.gotoknow.org/blog/c4hnews/441567

คนรั้นกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ไม่สยบยอมกับความมันคง แต่ได้สร้างสังคมที่สดใหม่ตลอดเวลา

 

ลองอ่านงานแปลของสฤณี อาชวานันทกุล พลังของคนหัวรั้น  (แปลจาก The Power of Unreasonable People โดย John Elkington และ Pamela Hartigan)

เธอมีบล็อก "คนชายขอบ" http://www.fringer.org

น่าติดตามคุณสฤณีและคนรั้นกลุ่มนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท