จาก teach สู่ task



          นี่คืออีกวาทกรรมหนึ่งของ 21st Century Learning   คือต้องเปลี่ยนจากการสอนสู่การทำงาน  คำว่า task ในที่นี้คำเต็มคือ performance task  คือการลงมือทำ เพื่อฝึกให้เกิด performance ซึ่งก็คือการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  คือให้ได้ตามขั้นสูงๆ ของ Bloom’s Taxonomy of Cognitive Domain  ซึ่งเขามีการนิยามเพิ่มขึ้นว่า สูงสุดไม่ใช่ Evaluation  แต่เพิ่ม Create เป็นระดับสูงกว่า   

          นี่คือการเรียนรู้ของผม ระหว่างนั่งฟังการนำเสนอของ Dr. Marc Chun แห่ง CLA  เรื่อง Collegiate Learning Assessment : Principles, Practices and Challenges   ซึ่งนำเสนอวิธีจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เขาเรียกว่า วิธี Performance Task ซึ่งเขาบอกว่าคล้ายแต่ไม่เหมือนกับวิธี PBL (Project-Based Learning)    

          ผมจับความได้ว่า ครูมีความท้าทาย ที่จะต้องออกแบบการทำงานเพื่อเรียนรู้ของ นศ. ที่เป็นงานสมมติ เพื่อเตรียมความรู้ไว้ทำงานในอนาคต ที่เวลานี้ยังไม่มี ยังไม่เกิดงานนั้น   ให้ นศ. เรียนรู้จากการทำงาน (task) สมมติอย่าง “มีความหมาย” (meaningful)   เขาบอกว่า หากโจทย์ของ performance task learning (PTL) ไม่มีความหมายต่อ นศ.   ตัว นศ. จะไม่สนใจ  นศ. สมัยนี้มีสิ่งเร้ามาก   ความสนใจเรียนน้อย   หากตัวกระตุ้นการเรียนไม่มีพลัง ไม่ดึงดูด ก็สู้แรงดึงดูดอื่นไม่ได้

          เขายกตัวอย่างโจทย์ Cancer Performance Task  แสดงโจทย์ที่เหมือนจริง มีข้อมูลต่างๆ จากหลากหลายแหล่ง (ของจริง) เหมือนในชีวิตจริง  แล้วมีแบบฝึกหัดให้ ว่าจะแนะนำญาติที่เป็นมะเร็งเต้านมให้ใช้ยา ก หรือไม่  โดยที่เห็นชัดว่า เป็นการฝึก Critical Thinking ระดับสูงมาก และน่าสนใจมาก   เขาระบุลักษณะสำคัญของ performance task 6 ประเด็น ดังนี้

1. Focus on student learning, not teaching
2. Real world, authentic problems that are holistic
3. Intentional focus on transfer
4. Based on neuroscience and learning theory (emotion, motivation,)
5. 21st Century skills (higher order thinking)
6. Alignment of teaching, learning and assessment

          ชีวิตครูต้องฝึกวิชาแย่งชิง ที่เป็นการแย่งชิงความสนใจของศิษย์ มาสู่การเรียน   โดยการออกแบบบทเรียนที่เร้าใจ ที่ นศ. รู้สึกว่ามีความหมายต่อตัวเขา   และครูต้องเรียนศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการแย่งชิงนั้น  ซึ่งก็คือศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้สมัยใหม่นั่นเอง

          CLA เขามีบริการจัด 2-Day Workshop เพื่อฝึกอาจารย์ ให้เขียนโจทย์ PTL ได้อย่างเร้าใจโก๋ (นศ.)   แต่ผมกลับคิดว่า แทนที่เราจะเขียนสถานการณ์สมมติ ก็หันมาใช้สถานการณ์จริงเลย   โดยอาจารย์ต้องมีวิธีทำให้สถานการณ์จริงนั้นมีคุณค่า มีผลกระทบจริงๆ ทั้งต่อชุมชนหรือสังคมโดยรอบ  และในขณะเดียวกัน ช่วยให้ นศ. ได้เรียนทักษะที่ยังไม่ต้องการใช้ในขณะนี้ แต่อาจต้องใช้ในอนาคต

          ผมกำลังคลั่งใคล้ PBL  วันนี้ได้รู้จัก PTL เพิ่มขึ้น   รวมทั้งได้รู้จักว่าเราจะต้องเอาการประเมิน Learning Outcome ลงสู่อาจารย์ในชีวิตประจำวันด้วย  อ่านเอกสารประกอบการประชุมของสถาบันคลังสมองได้ที่นี่ ,   ของ Dr. Marc Chun เรื่อง Looking Where the Light is Better : A Review of the Literature on Assessing Higher Education Quality ที่นี่   และเรื่อง Taking Teaching to (Performance) Task : Linking Pedagogical and Assessment Practices ได้ที่นี่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ เม.ย. ๕๔

 

 
บรรยากาศในห้องประชุม

 

Dr. Marc Chun

หมายเลขบันทึก: 440006เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2011 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์

คำอธิบายให้ค่าให้รู้ค่า "การงาน" ที่ได้ทำและที่ให้รุ่นน้องหรือนักศึกษาทำ เป็นอย่างดีเลยค่ะ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้การพูดคุยหลังการเรียนรู้จากการงาน จะทำให้เจตนารมณ์ ความคิด ความเชื่อ พลัง ค่อยๆหลอมเป็นหนึ่งเดียว..เข้าใจกันมากขึ้น ชัดขึ้น คมขึ้น ขออนุญาติเอาไปเล่าสู่กับเพื่อน พี่น้องที่ทำงานด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท