การพัฒนานักศึกษาให้เป็นพลเมืองของสถาบันด้วยรูปแบบประชุมเชียร์และรับน้องใหม่


ความเป็นพลเมืองของสถาบันการศึกษาสู่ความเป็นพลเมืองของประเทศและพลเมืองอาเซียนในอนาคต

เล่าประสบการณ์จากการไปเป็นวิทยากรให้กับนักศึกษา

โครงการสัมมนาผู้นำกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ ๒๕๕๔

เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลางเพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติ

เรื่อง บนเส้นทางเสริมสร้างความเป็นพลเมืองของนักศึกษาใหม่ในสถาบัน

(Student Citizenship)ระหว่างวันที่  ๒๙-๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ ณ อิงธาร

รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

ตอนที่ ๑ ที่มาที่ไป

           ในอดีตที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในเชิงลบของกิจกรรมดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ทางฝ่ายคณะกรรมการประสานกิจเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลางเพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติได้จัดกิจกรรมการสัมมนาผู้นำกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ในปีที่ผ่านมา  ซึ่งส่งผลให้ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กิจกรรมความรุนแรงมีลดน้อยลง รูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นไปในแนวทางสร้างสรรค์มากขึ้น

       จากการนโยบายส่งเสริมของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้การจัดกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ในสถาบันอุดมศึกษา นำมาซึ่งความรัก ความสามัคคี ความผูกพันระหว่างนิสิตนักศึกษารุ่นพี่ กับ รุ่นน้อง และระหว่างนิสิตนักศึกษาใหม่ด้วยกัน ให้เป็นไปในรูปแบบการดำเนินงานให้สร้างสรรค์ ปราศจากความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ

       ในปี ๒๕๕๔ นี้ ทางทีมอนุกรรมการเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลางเพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติจึงจัดกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้คณะอนุกรรมการพูดคุยกันว่าเราจะเน้นการพัฒนานักศึกษาในด้าน “การเป็นพลเมืองของสถาบัน เพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองของประเทศ พลเมืองโลก และสอดรับกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก ๔ ปีข้างหน้านี้”  การเสริมสร้างให้นักศึกษารู้สึกภาคภูมิใจในสถาบันที่ตนเองอยู่นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงแต่เรียนเพื่อจบเท่านั้น แต่ต้องดึงความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษาด้วย ทีมอนุกรรมการจึงกำหนดรูปแบบการทำกิจกรรม Walk Rally  ๗  ฐาน โดยให้นักศึกษาประชุมเชิงปฏิบัติการ วางแผนการดำเนินกิจกรรม “Walk Rally ด้วยตัวนักศึกษาเอง จัดเอง เล่นเอง”  โจทย์ของเรามีฐานทั้ง ๗ ฐาน  ประกอบด้วย

            ฐานที่ ๑ กิจกรรมสร้างเสริมจิตอาสาในสถาบัน

            ฐานที่ ๒ กิจกรรมร้องเพลงสถาบัน

            ฐานที่ ๓ กิจกรรมสร้างแนวคิดการปรับตัว

            ฐานที่ ๔ กิจกรรมเรียนรู้ปรัชญาสถาบัน

            ฐานที่ ๕ กิจกรรมเสริมสร้างวินัย

            ฐานที่ ๖ กิจกรรมเสริมสร้างกำลังใจ

            ฐานที่ ๗ กิจกรรมเสริมสร้างความสามัคคี

          รูปแบบกิจกรรมในปีที่ผ่านๆมา การจัดสัมมนาจะให้อนุกรรมการซึ่งเป็นอาจรย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆในเขตภาคกลาง(ปีนี้มีอาจารย์มาเข้าร่วม ๗๐ กว่าสถาบัน) มาเป็นวิทยากรประจำฐานแล้วให้นักศึกษาจากสถาบันต่างเข้าฐานในการทำกิจกรรมกับทีมอาจารย์ ซึ่งก็ได้ผลแต่เด็กไม่ได้คิดเองทั้งที่เขาจะต้องกลับไปทำในสถาบันของตนเอง 

          ในปีนี้ทีมอนุกรรมการได้คิดใหม่ทำใหม่ เพราะทีมอนุกรรมการเราเชื่อว่านักศึกษาที่มาล้วนแต่เป็นผู้นำของสถาบัน เป็นคนที่มีศักยภาพที่แต่สถาบันได้คัดเลือกมาแล้ว และต้องกลับไปทำหน้าที่ขยายผลกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่เชิงสร้างสรรค์

          ปีนี้ทีมงานจึงออกแบบกิจกรรมให้ “ นักศึกษาคิดเอง ทำเอง เรียนรู้เอง นำไปใช้เอง” กิจกรรมนี้เริ่มจากการแบ่งกลุ่มนักศึกษา ประมาณ ๑๕๐ คน เป็น ๗ กลุ่ม กลุ่มละ ๒๐ กว่าคน ให้รับผิดชอบฐานในแต่ละฐานที่นักศึกษาเลือกกันเอง โจทย์ที่กำหนดให้นักศึกษาในกลุ่มไปคิดกิจกรรมเพื่อทำ Walk Rally ในวันต่อไป ซึ่งนักศึกษาจะต้องเป็นทั้งวิทยากรประจำกลุ่มและสมมติตัวเองให้เป็นน้องใหม่ไปร่วมกิจกรรมตามฐานอื่นๆของเพื่อนฐานอื่นด้วย ซึ่งงานที่คิดกันมาต้องเข้ากับวัตถุประสงค์ของงานเรื่องการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองของสถาบันด้วย หลังจากนั้นอาจารย์ประจำฐานก็แยกย้ายกันไปประชุมเตรียมงานเป็นวิทยากรประจำฐานให้นักศึกษาในแต่ละฐานที่ตนเองได้รับผิดชอบ ดิฉันได้รับมอบหมายจากทีมงานให้เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม ฐานที่ ๒ คือฐานร้องเพลงสถาบันค่ะ ไว้จะมาเล่าต่อภาค ๒ ว่าผลจากระดมสมองของนักศึกษาฐานร้องเพลงสถาบันเป็นอย่างไรบ้างค่ะ

ตอนที่ ๒  วิทยากรประจำฐานร้องเพลงสถาบัน

           ดิฉันได้รับมอบหมายจากทีมงานให้เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม ฐานที่ ๒ คือฐานร้องเพลงสถาบันคู่กับ “อาจารย์วิโรจน์ นิยมนา” จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอาจารย์วิโรจน์จัดเตรียมเพลง “รักกันไว้เถิด” สมมติให้เป็นเพลงสถาบัน ของนักศึกษาทุกสถาบันในกลุ่ม ฟังดูเรื่องการสอนน้องร้องเพลงเหมือนงานง่ายๆสบายๆ แต่พูดคุยกันเข้าจริงๆ “มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย”  เพราะไอเดียนักศึกษาแต่ละคนบรรเจิดมาก กว่าที่จะตลบให้เขาคิดกันว่า “การร้องเพลงให้เกิดความภาคภูมิใจในสถาบันและรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันต้องทำอย่างไร มีเทคนิคการร้องเพลงอย่างไร  แล้วจะสอนน้องร้องเพลงยังไงให้น้องร้องเพลงได้”   

            ก่อนเริ่มทำกลุ่มมีกฎว่าระหว่างเพื่อนเล่าเราต้องฟัง บางคนก็เล่าน้อย บางคนก็เล่ามาก นักศึกษาก็นั่งฟังเพื่อนเล่ากันตาปริบๆ จากประสบการณ์ของแต่ละคนที่ฏิบัติกันมาในสถาบันตนเอง ดิฉันพอจับประเด็นการฝึกร้องเพลงได้เป็น ๓ แบบ ได้แก่ สอนแบบเอื้ออาทร สอนด้วยท่าทีที่เคารพ สอนแบบน้องร้องไม่จบเลิกคบเป็นตระกูล

           ๑. สอนแบบเอื้ออาทร คือ นัดน้องมาสอนร้องเพลง แบบให้น้องฟังเพลงก่อน หรือเปิดเพลงเสียงตามสายตามคณะ แล้วนัดน้องมาสอนร้องเพลงเป็นกลุ่มๆ หากน้องสอนไม่ได้ก็ค่อยๆสอนจนกว่าจะได้ เป็นต้น

           ๒. สอนด้วยท่าทีที่เคารพ  คือ การสอนแบบพี่สอนน้อง โดยมีอย่างมีระเบียบ วินัย พี่จะมีท่าทางที่เป็นระเบียบสวยงามน่าเคารพเวลาที่สอนน้อง  น้องต้องทำท่าทีที่เป็นระเบียบและให้ความเคารพรุ่นพี่เช่นเดียวกัน หากน้องปฏิบัติตามระเบียบไม่ถูกต้อง ไม่ทำความเคารพรุ่นพี่ก็จะไม่สอนน้องร้องเพลง

           ๓. สอนแบบน้องร้องไม่จบเลิกคบเป็นตระกูล วิธีนี้ฟังดูอาจจะงงๆนิดหน่อย บางสถาบันจะสอนน้องแบบว๊ากคือดุ ใช้รูปแบบ Senior Junior จะสอนน้องแต่ใช้วิธีการกดดันเวลาสอน สอนร้องแล้วให้ไปร้องกับคณะตนเอง หรือพี่รหัส ของตนเอง หากไม่สามารถร้องได้จะไม่รับเข้าคณะหรือตระกูลที่จับรหัสได้ เป็นต้น

          

           นักศึกษาแต่ละคนเล่าประสบการณ์ที่เคยทำมาของสถาบันตนเอง แต่ปัญหาของนักศึกษาในการทำกลุ่มคือ การระดมสมองของ ๒๐ กว่าสถาบันให้เป็น ๑ สถาบัน ตามโจทย์ แต่ยังไม่สามารถสรุปประเด็นได้ว่า “ถ้าทำให้ ๑ สถาบันนี้เป็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมประจำฐานของตนเองในวันต่อไป เมื่อมีเพื่อนต่างสถาบันที่สมมติว่าเป็นรุ่นน้องเข้ามาในฐานจะสอนร้องเพลงอย่างไรให้น้องร้องเพลงได้”  หน้าที่ของวิทยากรจึงต้องคอยตลบเลขาให้นักศึกษาสรุปความคิดเป็นประเด็นๆก่อนว่าที่เพื่อนเล่ามารูปแบบไหนบ้าง รูปแบบไหนของแต่สถาบันที่เหมือน แปลก แตกต่าง และน่าสนใจ”  เพื่อเตรียมคิดต่อให้ง่ายต่อการกำหนดรูปแบบใหม่ไปใช้ในกิจกรรม Walk Rally ของฐานตนเองในวันต่อไป ซึ่งกว่าจะได้ขั้นตอนมาต้องคอยตลบซ้าย ขวา ให้เข้าที่เข้าทางกันหลายรอบมาก กว่าจะได้วิธีการออกมา เล่นทำคุณครูสองท่านปวดหัวกันทีเดียวเชียว และแล้วก็ได้วิธีการของกลุ่มที่มีความผสมผสานจากหลายๆรูปแบบ ตามขั้นตอนดังนี้

           ๑. วิทยากรประจำกลุ่มกล่าวต้อนรับรุ่นน้อง

           ๒. เล่าประวัติและที่มาที่ไปของเพลง คุณค่าของเพลงสถาบัน ที่น่าภาคภูมิใจให้น้องฟัง

           ๓. ร้องเพลงให้น้องฟังโดยรุ่นที่เป็นผู้สอนน้องต้องยืนร้องเพลงด้วยความสุภาพ ร้องเพลงให้น้องฟังก่อนหนึ่งเที่ยว ดัง ชัด กังกวาน

           ๔. รุ่นน้องนั่งฟังด้วยความเคารพ น้องฝึกร้องตาม

           ๕. ฝึกร้องเพลงพร้อมทั้งท่าทางการร้องเพลง

           ๖. ร้องเพลงพร้อมกันทั้งพี่และน้อง ด้วยเสียงที่ดัง ชัดเจน

           

           วันนี้หมดภารกิจของการเตรียมกิจกรรมฐานสอนน้องร้องเพลง ด้วยความสุขสนุกสนาน แล้วจะมาเล่ากิจกรรมทุกฐานของฐานอื่นๆ และผลลัพธ์จากการร่วมกิจกรรมของนักศึกษาให้ฟังต่อค่ะ

                                                                         ศุภิสรา  เจริญไพฑูรย์

 



ความเห็น (2)

ครูเดียร์

  • ขออนุโมทนาสำหรับกิจกรรมดีที่มีต่อเยาวชน
  • ขอบใจต่อการนำกิจกรรมดีมานำเสนอเพื่อให้พวกเราได้นำไปคิด และพัฒนาต่อไป
  • เจริญพร

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราว

พร้อมกับมาชมภาพกิจกรรมดีๆ ค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท